22 กันยายน 2550 14:28 น.
แสงเหนือ
หมั่นฝึกใจใฝ่ธรรมเนกขัมมะ
อยู่อย่างพระละบ่วงตัดห่วงหา
อยู่ด้วยจิตอิสระละกามา
เนกขัมม์พาสงบเย็นเห็นนิพพาน
หมั่นสำรวมกายวาจารักษาจิต
ให้พ้นผิดบริสุทธิ์ตามวุฒิฐาน
ถือศีลสัตย์จัดนิสัยไตรทวาร
ให้ประสานเป็นศีลสมบ่มอินทรีย์
หมั่นน้อมจิตพิจไปในเหตุผล
หมั่นฝึกค้นสัจธรรมนำวิถี
หมั่นชนะอธรรมด้วยกรรมดี
ฝึกให้มีนิสัยใช้ปัญญา
หมั่นฝึกเพาะเมตตามหาจิต
แผ่ทั่วทิศคิดแต่ปรารถนา
ให้เป็นสุขสวัสดีทุกชีวา
สัตว์ถ้วนหน้ารักให้เท่าเรารักตน
หมั่นฝึกใจใฝ่อยู่เป็นผู้ให้
ทานมัยพาถึงซึ่งมรรคผล
ให้เพื่อรื้อถือทั่วในตัวตน
ให้เพื่อพ้นบ่วงอัตตาที่คาใจ
หมั่นพูดแต่ความจริงสิ่งประเสริฐ
ไม่ละเมิดสัตย์จริงทิ้งวิสัย
ดั่งบุรุษมหาอาชาไนย
ไม่หวั่นไหวเอนเอียงเลี่ยงสัจจา
หมั่นตั้งจิตเป็นนิตย์อธิษฐาน
เพื่อประสานจิตตั้งดั่งภูผา
ดุจเปลวเทียนสงบยิ่งนิ่งงามตา
ย่อมนำพาผลประเสริฐเกิดพลัง
หมั่นพากเพียรให้สุดอุตสาหะ
วิริยะกล้าแกร่งเรี่ยวแรงขลัง
จนกว่าได้ประโยชน์เสร็จสำเร็จดัง
จิตที่ตั้งเพียรชอบประกอบการ
หมั่นฝึกตนอดกลั้นมีขันติ
สมาธิตั้งในหทัยฐาน
จิตผนึกฝึกตนให้ทนทาน
ขันติปานเพชรประดับงามจับใจ
หมั่นยกจิตเป็นเอกอุเบกขา
ด้วยปัญญารู้ทันไม่หวั่นไหว
สรรพสิ่งทั่วถ้วนล้วนเป็นไป
ตามวิสัยไตรลักษณ์หลักแห่งกรรม.
๑.เนกขัมมบารมี ๒. ศีลบารมี ๓. ปัญญาบารมี
๔. เมตตาบารมี ๕. ทานบารมี ๖. สัจจบารมี
๗. อธิษฐานบารมี ๘. วิริยบารมี ๙. ขันติบารมี
๑๐. อุเบกขาบารมี
พระพุทธองค์ตรัสที่เมืองสาวัตถี เพราะทรงปรารถสามเณรรูปหนึ่ง ที่เห็นช่างต่าง ๆ ต่างทำงานเพื่อให้ลุประโยชน์ตน ว่า
ช่างไขน้ำทั้งหลาย ย่อมไขน้ำ (เข้านา)
ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดศร
ช่างถาก ทั้งหลายย่อมถากไม้
ส่วนบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมฝึกตน
* พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาตลอดชั่วชีวิต ๆหนึ่ง ทำบารมีข้อหนึ่ง ๆ ให้เต็ม
ในฐานะชาวพุทธคุณคิดว่าเลื่อมใสอยากทำบารมีข้อไหนให้เต็มบ้างครับ?
ภาพโดย คุณ SUPPAKIT (ขออนุญาตและโปรดมีอนุโมทนาจิตยินดีนะครับ)
13 กันยายน 2550 21:40 น.
แสงเหนือ
และวันคอย ก็มาถึง ณ วันซึ่งแสวงหา
ประสบการณ์ผจญป่า ณ ห้วยขาเขาว่าแข็ง
ก็เตรียมการตะลุยไพร และเตรียมใจจะต้องแกร่ง
ตะวันเริ่มจะร้อนแรง ประกายแสงกระทบสินธุ์
ตะลุยเริ่ม ณ ปลายธาร ตะลึงลาน ณ โขดหิน
ระยิบไหลกระแสริน ประดับดั่งมณีไพร
ก็ผาดโผนกระโจนบ้าง ก็เส้นทางมิเป็นใจ
ก็จ้ำเบ้าสิลื่นไป และก้นกบก็เปียกปอน
ณ จิตใจสิกล้าแกร่ง มิราแรงจะถ่ายถอน
จะหนักเป้มิอาทร จะแน่วแน่ตะลุยทาง
ณ แนวป่าพนาเนา พนมเขาทะมึนขวาง
จะยากแสน ณ เส้นทาง ก็ร่วมฝ่าและเคียงกาย
จะแลไหนก็ใบกล้วย ณ ริมห้วยละหานทราย
และกรวดหินก็เรียงราย ณ หาดทรายระยิบธาร
พระคุณเจ้า ! อะไรนี่ ! ก็ตีนหมี นะซีท่าน
เอ๊ะ! นั่นรอย ก็เสือผ่าน มิได้การเถอะรีบจร
ตะวันลอยจะคล้อยเขา ก็เร็วเข้าตะแบกคอน
แน่ะ พี่ฉุยตะลุยก่อน มิเคยอ่อนจะหมดแรง
และพี่ท่านจรูญนั้น ก็คุ้มกันละขันแข็ง
ณ ท้ายแถวมิได้แซง ระแวงเสือระวังหมี
และแล้วเราก็ได้พัก ก็เหนื่อยหนักละวันนี้
ณ วันแรกก็ยิ้มปรี่ สนุกดี ณ ไพรวัน
และค่ำคืนก็พาเสียว จะแลเหลียวก็พาหวั่น
ก็เลือกกินก็แล้วกัน มิรู้มันจะเลือกใคร
ก็แว่วสรรพเสียงกู่ สะท้อนอยู่ ณ ห้องไพร
และโหยหวนก็ชวนไหว วิถีไพรวิสัยพง
และหุบเขาก็เย็นเยือก ณ ทิวเทือกพนาดง
ณ ไพรลึกก็พฤกษ์พง ก็หวาดหวาดมิอาจชิน
พระพายพัดสะบัดโกรก ณ ธารโตรกชะโงกหิน
ระรี่ไหลกระแสริน กระซิบปลอบตลอดคืน
ผจญป่าพนาดอน มิอาจอ่อนหทัยฝืน
ทุกเส้นทางสิโหดหื่น ตะลุยแม้ตำแยดง
และ วันนั้น ณ วันนี้ ก็สุดที่จะลืมลง
และไมตรีที่ป่าดง ก็ดำรง ณ ทรงจำ..
... ( ธันวา 46 )
8 กันยายน 2550 23:20 น.
แสงเหนือ
ทะ ลักทะล้นโลกแล้ว กิเลสคน
ลุ่ม ลึกหลงลวงจน โลกร้อน
ปุ่ม ปมอัตตาล้น ลามโลก
ปู แต่งแต่ร้ายต้อน โลกให้ หวาดผวา ฯ
ทะ มึนนั้นดุจห้วง โลกันต์*
ลุ่ม เล่ห์สุดรำพัน เปรียบอ้าง
ปุ่ม ใดไป่เทียบทัน ใหญ่ยิ่ง
ปู ก่อกรรมสืบสร้าง ห่อนร้าง ฤทธิ์แรง ฯ
ทะ ลวงทลายเถิดทิ้ง อัตตา
ลุ่ม ลึกแห่งปัญญา หยั่งไว้
ปุ่ม ปมแห่งอัตตา เพียรถาก ท่านเอย
ปู แต่งแต่ดีไซร้ จักพ้น โพยภัย ฯ
ทะ เลธรรมเทียวท่องไว้ แวะเวียน
ลุ่ม ลึกหลากหลั่นเพียร เพ่งไว้
ปุ่ม เปลือกเลือกรู้เรียน ถึงแก่น
ปู แต่งแก่นธรรมได้ ชีพนี้ เสมอสวรรค์ ฯ