มิงกะลาบา (สวัสดี) ค่ะ สำหรับวันนี้เราตื่นกันเช้ากว่าปกติเนื่องจากนัดกันว่าจะขึ้นไปใส่บาตรบนพระธาตุอินทร์แขวนกันอีกรอบค่ะ ตามความเข้าใจของเราการใส่บาตรก็คือถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ ดั่งที่บ้านเราทำกันเป็นประจำแต่การณ์กลับปรากฎว่าการใส่บาตรของที่นี่คือการซื้ออาหารชุดที่เขาจัดไว้ซึ่งจะมีราคาแตกต่างกันไป ตามแต่ประเภทของอาหารที่เขาจัดไว้ค่ะ มีชุดตั้งแต่ 300 จ๊าด จนถึง 500 จ๊าด แล้วนำไปถวายแด่องค์พระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเมื่อขึ้นมาแล้วก็ไม่ให้เสียความตั้งใจค่ะกลุ่มเราจึงซื้ออาหารหนึ่งชุดและถวายพร้อมกันค่ะ เผื่อว่าเกิดชาติหน้าอาจจะได้พบกันอีก อากาศข้างบนนี้ยังเย็นชุ่มฉ่ำเหมือนเมื่อวาน หมอกลงหนาเหมือนเดิม เรียกว่าเราต้องใส่เจ้าเสื้อกันฝนตลอดเวลา ลงจากพระธาตุแล้วพวกเราก็จัดการกับภารกิจของตัวเองนั่นคือเตรียมเสบียงให้กับท้อง แต่คราวนี้ดูทุกคนจะกินกันไม่เยอะ เหตุก็เพราะว่าเดี๋ยวเราจะต้องถูกแบกโดยเสลียงลงไปเชิงเขาด้านล่างกันอีกรอบ ขาลงนี่เร็วค่ะเนื่องจากว่าฝนลงตลอด พวกแบกหามก็เลยต้องรีบเดินลงให้เร็วที่สุดค่ะ ลงมาถึงข้างล่างพวกเราก็ให้ทิปกันไปตามระเบียบที่ตกลงกันไว้ เขาเองเป็นชาวพม่าแต่เขาอยากได้เงินไทยค่ะ เพราะว่าเงินไทยของเรามีค่ากว่าเงินจ๊าดของเขามากนัก แต่บางทีอะไรที่เราทำผิดระเบียบปฏิบัติกันออกไปก็ทำให้ยากต่อการควบคุมค่ะ สถานที่ต่อไปที่เราจะแวะกันก็คือ พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียว เป็นพระนอนที่มีความยาว 55 เมตร สูง 16 เมตร ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวพม่าทั่วประเทศ และเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามที่สุดของพม่า จากการแวะชมแวะเที่ยวสถานที่สำคัญของพม่าหลายแห่งพบว่า ถ้าอยากถ่ายรูปต้องยอมเสียเงินค่ะ ค่าถ่ายรูปกล้องละประมาณสิบห้าบาทค่ะ เมื่อจ่ายเงินแล้วเขาจะมีบัตรให้ถ่ายรูปได้ติดไว้ที่กล้องถ่ายรูป เรียกว่าไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ์ แต่ส่วนใหญ่พวกเราก็ยอมจ่ายค่ะ ก็เราไม่ใช่มาเที่ยวกันบ่อยนี่นะ ก็ต้องยอมเพื่อจะได้รูปสวย ๆ กลับไปได้ยลกัน อ่านกันมาจนถึงตอนที่สี่แล้ว อย่าพึ่งเบื่อกันนะคะว่าพาทัวร์แต่วัด ก็บอกแล้วไงละว่างานนี้มาเพราะอยากทำบุญค่ะ สถานที่ต่อไปก็เป็นวัดอีกค่ะ แต่ต้องบอกว่าวัดที่นี่ไม่เหมือนวัดบ้านเราหรอกค่ะ เพราะวัดบ้านเราน่ะจะมีโบสถ์ ศาลา และกุฎิพระ แต่ของพม่าน่ะสถานที่ของเขาจะมีแต่โบราณวัตถุค่ะ สังเกตุจากวัดที่เราไปทุกที่จะมีแต่พระพุทธรูป หาพระภิกษุสงฆ์ได้น้อยมากค่ะ วัดต่อไปที่เราจะพาไปชมก็คือ เจดีย์ไจ๊ปุ่น ซึ่งมีการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2019 มีพระพุทธรูปปางประทับนั่งโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ประกอบด้วย องค์สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า (ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ) กับพระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์คือ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน (ทิศใต้) พระพุทธเจ้ากกุสันโธ (ทิศตะวันออก) และพระพุทธเจ้ามหากัสสปะ (ทิศตะวันตก) พระพุทธรูปทั้งสี่พระองค์สร้างโดยสี่สาวพี่น้องที่อุทิศให้กับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการสร้างพระพุทธรูปแทนตนเอง และสาบานตนว่าจะไม่ข้องแวะกับบุรุษเพศ สถานที่แห่งนี้ ซอมีคำถามถามพวกเราว่า พระพุทธรูปองค์ใดที่เกิดการชำรุดและพังทลายลงมาจนต้องมีการบูรณะใหม่ ผู้เขียนกับพี่ที่เดินไปด้วยกันทายว่าพระพุทธรูปองค์ที่สามนั่นก็คือ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน เนื่องจากดูแล้วว่ามีความสดใสและดูใหม่กว่าทั้งสามองค์ที่เหลืออยู่ แต่จากการเดินดูโดยรอบแล้วทั้งสี่องค์ก็ไม่มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ เลยชักไม่แน่ใจว่าที่ทายไว้ถูกหรือไม่ จนเมื่อซอเฉลยให้ฟังนั้น เราก็ทายถูกค่ะ แต่ซอบอกว่าให้ดูจาก พระนลาฏขององค์พระ เนื่องจากจะไม่เหมือนกับสามองค์ที่มีอยู่ค่ะ แต่เอาเป็นว่าผู้เขียนทายถูกแล้วกัน (555) ระหว่างทาง ซอมีเกมมาให้พวกเราเล่นค่ะนั่นก็คือให้ทายว่าอายุเฉลี่ยของคณะเรานั้นอยู่ประมาณเท่าไหร่ (อันนี้ขออุบเนอะ) แต่ว่าผู้เขียนทายถูกเป็นอันดับสองค่ะ มีน้องคนหนึ่งทายได้ตรงเปะ ผู้เขียนทายสูงไป 2 ปีค่ะ แต่อย่างไรก็ได้ของรางวัลจ้า
สำหรับความเดิมตอนที่แล้วก็คือเราถูกแบกโดยเสลียงขึ้นไปบนเขาไจ้เที่ยวเป็นที่เรียบร้อย ช่วงเวลาที่เหลือของพวกเรา ก็คือการเก็บสัมภาระที่ติดตัวมาเพียงแค่พอใช้ ส่วนที่เหลือฝากไว้ที่โรงแรมที่เราจะต้องกลับไปพักกันอีกหนึ่งคืนก่อนจะเดินทางกลับ และนัดหมายกันว่าจะเดินขึ้นไปสักการะ พระธาตุอินทร์แขวน อากาศข้างบนนี้เย็น เนื่องจากฝนตก หมอกลงทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวขาวไปหมด ตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอกอาคารพวกเราต้องใส่ เจ้าเสื้อกันฝนที่ซอ นำติดมาให้ได้ประโยชน์จากการกันฝน และยังให้ความอุ่นด้วยค่ะ ตลอดทางเดินขึ้นองค์พระธาตุอินทร์แขวน เย็นสบายอย่างที่บอก แต่สิ่งที่กังวลในใจคือ จะได้ภาพถ่ายสวย ๆ ติดมาให้ได้ยลหรือเปล่าหนอ แต่อุปสรรคทุกอย่างก็หมดไป ไม่ใช่ว่าฝนหยุดตกนะคะ ละอองฝนยังร่วงหล่นตลอดเวลา เหมือนเทพปะพรมน้ำพุทธมนต์ให้พวกเรา ที่บอกว่าอุปสรรคหมดไปก็เพราะว่าหลังจากสักการะองค์พระธาตฺอินทร์แขวนเรียบร้อยแล้ว เราสามารถถ่ายรูปได้บ้างค่ะ อย่างน้อยในชีวิตนี้ก็นับว่าเป็นบุญที่ได้สัมผัส องค์พระธาตุที่มีความเชื่อว่าพระอินทร์ท่านทรงนำมาแขวนไว้ เนื่องจากความมหัศจรรย์ขององค์พระธาตุที่ประดิษฐานอยู่บนก้อนหินอีกก้อนหนึ่งอย่างหมิ่นเหม่แต่ไม่มีวันจะร่วงหล่น ความสุขที่ได้รับจากการยืนอยู่ท่ามกลางไอหมอก และละอองน้ำ และรู้สึกว่าชีวิตนี้มีค่าเพิ่มขึ้นอีกมากจากการเดินทางขึ้นองค์พระธาตุ และสำหรับใครที่เกิดปีจอเขาว่าพระธาตุที่ต้องสักการะก็คือพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเมื่อพระอินทร์ท่านทรงนำพระธาตุอินทร์แขวน มาประดิษฐานนะที่แห่งนี้แล้วก็ให้เป็นตัวแทนพระธาตุดังกล่าวสำหรับคนปีจอค่ะ สำหรับผู้เขียนแล้วพระธาตุที่ต้องสักการะอยู่บ้านเรานี่เองค่ะ พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่บนยอดเขา Paung Laung ในเมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า ลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของพระธาตุอินทร์แขวนคือ มีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ ท้าทายแรงดึงดูดของโลก โดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ ประวัติความเป็นมาของพระธาตุอินทร์แขวนที่เล่าสืบกันมาแต่โบราณนั้นก็มีมากมายแตกต่างกันไป ตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล ฤาษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้าที่ได้มอบไว้ให้เป็นตัวแทนพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ ส่วนฤาษีติสสะกลับนำไปซ่อนในมวยผม เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงคราวที่ฤาษีติสสะ จะต้องละสังขาร เขาตั้งใจว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศรีษะของเขา ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทรและนำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ พระธาตุอินทร์แขวน ปัจจุบัน ชาวพม่าและชาวมอญนั้นจะเรียกพระธาตุอินทร์แขวนว่า ไจ้ก์ทีโย (Kyaikhtiyo) ซึ่งเป็นภาษามอญ หมายถึงเจดีย์บนหินที่มีรูปร่างคล้ายศรีษะฤาษี และก็มีบางตำนานเล่าว่า มีฤาษีองค์หนึ่งซ่อนพระเกศาที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้นมาโปรดสัตว์ในถ้ำ ไว้ในมวยผมมาเป็นเวลานาน เมื่อใกล้ถึงวาระที่จะต้องละสังขารจึงตัดสินใจมอบพระเกศาให้กับพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของลูกศิษย์ที่นำมาฝากให้ฤาษีช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก แต่ก่อนอื่นพระเจ้าติสสะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายศรีษะของฤาษี โดยมีพระอินทร์เป็นผู้ช่วยค้นหาจากใต้สมุทร นำมาวางไว้ที่หน้าผา และนี่ก็เป็นที่มาของชื่อพระธาตุอินทร์แขวนอีกตำราหนึ่ง สำหรับพระธาตุอินทร์แขวนนั้นสามารถสักการะได้ทั้งกลางวันกลางคืน รวมทั้งสามารถนั่งสมาธิหรือสวดมนต์ แต่ถ้าจะสักการะกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเตรียม เสื้อกันหนาว รวมถึงเบาะรองนั่งด้วยค่ะ เพราะอากาศข้างบนนั้นจะเย็นมากและพื้นที่นั่งก็มีความเย็นมากด้วยเช่นกัน พระเจดีย์องค์นี้เปิดตลอดคืนแต่ประตูเหล็กสำหรับบุรุษเปิดถึงเวลา 22.00 น. พระธาตุอินทร์แขวนนี้เป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า นอกจากนั้นยังเป็นที่มาและแรงบันดาลใจให้ มาลา คำจันทร์ แต่งวรรณกรรมจนได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2534 ชื่อว่า เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ขอหยิบยกเนื้อหาบางตอนจาก เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน มาให้ได้อ่านกันสักนิดค่ะ โอยอิ่นดูพระธาตุแท้ โศกหมอง บ่แม่น ทิพย์แท่งคำควรครอง ค่าล้าน เป็นแต่ดินกี่กอง ปูนเก่า ดินเก่า ปุนขะสรดโศกไหม้ม้าน ห่วงห้อยอาทวา ดินกี่=อิฐ อีกสักบทค่ะ สาธุพระธาตุเจ้า เจดีย์ ทิพย์แท่งคำสิงคี คู่ฟ้า ผุพ่ายลุหลายปี เปลืองเปล่า ดายเปล่า บุญส่งบ่ตกช้า จักกู้เหิงนิรันดร์ สิงคี=ทอง เหิง=นาน สำหรับตอนนี้หรือวันนี้พอก่อนค่ะ อ่านแล้วอย่าพึ่งงงกับผู้เขียนนะคะ สำหรับตอนที่สองและตอนที่สามน่ะเป็นวันเดียวกันค่ะแต่อยากให้อ่านเรื่องต่อเนื่องกันเกี่ยวกับ พระธาตุอินทร์แขวน สำหรับตอนที่สี่จะขอเขียนเกี่ยวกับพระธาตุอินทร์แขวนเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยค่ะ
ตอนที่แล้วได้แนะนำเกี่ยวกับชื่อของสหภาพพม่า และได้พาไปไหว้พระมหาเจดีย์ชเวดากอง พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับพระมหาเจดีย์ สำหรับวันนี้ผู้เขียนจะนำท่านไปไหว้เจดีย์ชเวมอดอว์ หรือ พระธาตุมุเตา และนำชมพระราชวังบุเรงนอง รวมถึงพาชมพระธาตุอินทร์แขวนค่ะ คณะพร้อมแล้วคุณผู้อ่านพร้อมหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วเราเริ่มเดินทางสู่เมืองหงสาวดี อดีตราชธานีของกษัตริย์มอญและพม่าที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนไทยคุ้นเคยจากตำนานบุเรงนอง (ผู้ชนะสิบทิศ) และจากภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเรานั่นก็คือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พะโค หรือ หงสาวดี เป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของอาณาจักรมอญโบราณอายุมากกว่า 400 ปี สถานที่แห่งนี้ได้มีการเริ่มขุดค้นและบูรณะปฏิสังขรณ์ พระราชวังบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ. 2533 จากซากปรักหักพังที่คงหลงเหลืออยู่และสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นพระราชวังของพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งปัจจุบันการขุดค้นยังไม่เสร็จสิ้น แต่ทางการของพม่าได้มีการสร้างพระราชวังจำลองขึ้นมาซึ่งก็นับว่าสร้างได้งดงามค่ะ ส่วนของเจดีย์ ชเวมอดอว์ หรือ พระธาตุมุเตา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตนั้นภายในบรรจุพระเกศาพระธาตุของพระพุทธเจ้า มีลักษณะและสถานที่คล้ายกับพระมหาเจดีย์ชเวดากองค่ะ มีพระเจ้า 4 องค์ประดิษฐานรอบพระธาตุคล้ายกัน และที่ขาดไม่ได้ก็คือพระเจ้าทันใจ (แบบบ้านเราค่ะ ใครใคร่ขอก็ตามสบายค่ะ) สำหรับวันนี้จะว่าอากาศไม่เป็นใจก็ไม่ได้ค่ะ เรียกว่าพวกเรายังพอมีบุญอยู่บ้างดีกว่าเพราะว่าพอขึ้นรถฝนก็ตก แต่พอถึงจุดที่จะต้องลงฝนก็หยุดค่ะ อากาศก็เลยกำลังสบายค่ะไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไป เพราะถ้าอากาศร้อนพวกเราคงจะแย่แน่เลยค่ะ เนื่องจากอากาศของที่นี่ร้อนมาก ๆ ค่ะ พาชมพระราชวังบุเรงนองแล้ว ชมเจดีย์ชเวมอดอว์แล้ว ขอพักกินข้าวกันก่อนค่ะ เนื่องจากว่ากองทัพเดินด้วยท้องค่ะ ร้านอาหารที่เราแวะกินข้าวกันนี้ชื่อร้านตองห้าค่ะ (555) เป็นร้านอาหารแบบตึกแถวพวกเราต้องขึ้นไปที่ชั้นสองของอาคาร อาหารของที่นี่ก็พื้น ๆ เรียกว่ากินได้สำหรับคนไม่เรื่องมาก (แต่ต้องขออภัยค่ะไม่ได้ถ่ายรูปอาหารมาให้ชม) เพราะบอกไปแล้วค่ะกองทัพเดินด้วยท้องของมาก็กินหมดค่ะ ใครไปพม่าถ้าจะขอข้าวเพิ่มก็ให้บอกว่า ทะมิ๊น นะคะแต่พวกเราเรียกว่า ทะมิน ค่ะ จำง่ายดี ขอบคุณ ก็ใช้คำว่า เจซูติน อิ่มแล้วเดินทางต่อดีกว่าค่ะ อ้อลืมเล่าให้ฟังค่ะคนที่นี่เขาก็ไม่ต่างจากบ้านเราค่ะมีทั้งคนมีและคนไม่มีค่ะ ที่หน้าร้านอาหารจะพบเห็นกลุ่มคนที่ไม่มีค่ะ เห็นแล้วก็ให้นึกถึงว่าครั้งหนึ่งเคยได้ไปพบเห็นที่ ซัวเถา ค่ะ เดินขอเศษเงินและอาหารกัน ถ้าให้คนหนึ่งก็จะตามมาอีกหลายคนเลยค่ะ สำหรับภาคบ่ายที่พวกเราต้องผจญก็คือ คิมปูนแค้มป์ (เชิงเขาไจ้เที่ยว) เราใช้เวลาเดินทางจากร้านอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ แล้วหลังจากนั้นพวกเราก็จะต้องเปลี่ยนรถจากรถบัสโดยสารเป็น รถขนหมู อย่าแปลกใจค่ะคุณอ่านไม่ผิดค่ะที่ต้องบอกแบบนี้ก็คือรถที่เราจะใช้ขึ้นไปเชิงเขาก่อนจะเดินทางต่อไปพระธาตุอินทร์แขวนนั้นเป็นรถแบบนี้จริง ๆ ค่ะ เพราะเขาจะใช้รถบรรทุกหกล้อแบบบ้านเราที่ใช้ขนหมูนำไม้มาวางพาดกันประมาณ 10 แถวแล้วรอบข้างรถก็จะทำที่กั้นไว้ค่ะ (แต่ขอบอกว่าสนุกได้ใจเลยละ) การผจญภัยของเรายังไม่หมดแค่นั้น เพราะก่อนมาพม่านั้นเราจะถูกขู่เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวน และแล้วพวกเราก็พบว่ามันเป็นความจริง เพราะเมื่อรถบรรทุกพาพวกเรามาถึงเชิงเขาแล้วพวกเราต้องเปลี่ยนการเดินทางเป็นการนั่งเสลียง เสลียงของที่นี่เขาใช้เก้าอี้ชายหาดแบบบ้านเราวางพาดบนไม้ไผ่สองลำแล้วก็มีผ้าพลาสติคทำเป็นที่วางขา ให้พวกเรานอนแล้วเขาก็แบกพวกเราขึ้นไปโดยใช้สี่คนหาม (แต่ไม่มีคนแห่นะคะ) สำหรับระยะทางในการเดินจากการดูด้วยสายตาของตัวเอง และจากการที่เคยเดินข้ามเขามาแล้วในการท่องเที่ยวที่ทีลอเล และจากการขึ้นภูกระดึงคิดว่าตัวเองเดินขึ้นได้สบายค่ะ แต่เขาไม่ให้เราเดินขึ้นเองเพราะนั่นเท่ากับประชากรของเขาขาดรายได้ ค่านั่งเสลียงคนละประมาณ 800 บาทใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เวลาไม่มากเกินไปแต่ว่างานนี้ต้องบอกว่าตัวใครตัวมันค่ะ เพราะว่าพี่พม่าเขามีทีเด็ดไว้หลอกพวกเรา แต่เนื่องจากว่าพวกเราได้รับการเตือนกันมาล่วงหน้าแล้ว แกก็เลยโดนพี่ไทยอย่างพวกเราวางเฉยค่ะ ก็ลองคิดดูค่ะว่าแค่ตัวเราเองเดินขึ้นเขายังเหนื่อยแทบแย่ แต่นี่เขาต้องแบกพวกเราขึ้นเขาน่ะเหนื่อยขนาดไหน เขาก็เลยงัดกลเม็ดในการแวะพักตามร้านขายน้ำที่มีอยู่สองข้างทาง และร้านที่แวะพักก็ใช่อื่นไกลค่ะ เป็นบ้านพี่เมืองน้องทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภรรยา หรือว่าญาติพี่น้องกัน เขาเองไม่ได้อยากกินน้ำหรอกค่ะ แต่อยากให้เราอุดหนุนเพราะว่านั้นคือรายได้ที่เขาจะได้รับเพิ่มค่ะ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเสลียงนั่นก็คือ การทำนาบนหลังคน พวกพี่ที่ไปด้วยกันบอกว่าเป็นเพราะชาติก่อนเขาเคยทำกับเราไว้ ชาตินี้เขาเลยต้องมาชดใช้ให้เรา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ชาตินี้ก็ขออโหสิกรรมแก่กันและกันด้วยค่ะ การผจญภัยยังไม่หมดแค่นั้นค่ะพอขึ้นถึงบริเวณที่พักเขาก็จะรอทิปจากพวกเราซึ่งต้องบอกไปว่าทิปพรุ่งนี้ค่ะ เนื่องจากว่าเขาต้องแบกเราลงอีกหนึ่งรอบ เรื่องราวยังไม่ได้จบแค่นี้ค่ะ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องราวต่อจากนี้ควรจะต่อเนื่องกันตามความคิด จึงขอรวบยอดเป็นตอนต่อไปเพื่อให้ได้อ่านเรื่องราวที่ควรจะต่อเนื่องกันค่ะ อดีตก็คืออดีตค่ะ เราเรียนรู้อดีตจากปัจจุบัน เรื่องราวที่เราได้รับรู้และเรื่องราวที่เขาได้รับรู้ต่างข้อมูล ต่างกรรม ต่างวาระกันค่ะ เรากลับไปแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้ดีได้ค่ะ เขาเองไม่ได้สุขสบายมากกว่าเราค่ะ ทุกวันนี้เขาอยู่กันอย่างหวาดกลัวเพราะการเมืองภายในประเทศของตัวเองและเฉกเช่นเดียวกับเรา เพราะปัจจุบันเราเองก็อยู่ด้วยความหวาดกลัวกลับสถานะการบ้านเมืองของเรา
เยี่ยมเยือน เมืองพม่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณศูนย์ศึกษาเอเชียอาคเนย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ทำให้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน เมืองพม่า การไปเที่ยวครั้งนี้ก็เพื่ออยากจะเห็นว่าประเทศที่เคยมีอดีตในด้านการสงครามกับประเทศเรานั้นเป็นอย่างไรบ้าง และที่สำคัญคือการได้ไปไหว้พระ เมืองที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนก็คือ ย่างกุ้ง สิเรียม และหงสาวดี การไปครั้งนี้ทำให้ได้พบได้เห็นและได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่ามากมาย จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่จะพยายามบอกเล่าให้ฟังเท่าที่จะมีข้อมูล "ท่านผู้ใดที่ได้อ่านแล้วพบเห็นว่ามีข้อผิดพลาดประการใด และช่วยกรุณาชี้แจง ถือว่าเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ" วันแรกคณะของเราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิสู่สนามบินย่างกุ้งด้วยสายการบินเมียนมาร์ การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเหตุระทึกใจบ้างซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการเดินทางบนน่านฟ้า (ตกหลุมอากาศ เนื่องจากอากาศแปรปรวน) สถานที่ของการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมในการเดินทางที่จะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปมาระหว่างย่างกุ้ง-สิเรียม-ย่างกุ้ง แต่เป็นการท่องเที่ยวในย่างกุ้งก่อน ในวันแรกของการเดินทาง มีเรื่องตลกขำขันระหว่างการเดินทางโดย ซอ ซึ่งเป็นไกด์นำเที่ยวของทริปนี้บอกกล่าวกับพวกเราว่า ห้ามเรียกเขาว่า ลีซอ และ ซออู้ ทุกคนในคณะเดินทางต่างแปลกใจกันหมดจนมาหายสงสัยเมื่อ ซอ เฉลยให้ฟังว่าคำว่า ลี ในภาษาพม่าก็คือคำเรียก ควาย ในภาษาอีสานและส่วนคำว่า อู้ แปลว่า ไข่ ข้อห้ามอีกอย่างที่ซอบอกกับพวกเราก็คือ พม่าห้ามพูดเรื่องการเมืองค่ะ สหภาพพม่า เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมชาวตะวันตกเรียกประเทศนี้ว่า Burma กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2532 พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Myanmar ชื่อใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ แต่บางชาติเช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อนี้ เนื่องจากไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ ปัจจุบันหลายคนใช้คำว่า Myanmar ซึ่งมากจากชื่อประเทศในภาษาพม่าว่า Myanma Naingngandaw ไม่ว่าจะมีความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลทหารอย่างไรก็ตาม คำว่าพม่า (เมียนมาร์) เป็นการทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า Myanmar แต่โดยแท้แล้วเขาเรียกชื่อเขาเองว่า มยะหม่า หลังจากอิ่มหนำสำราญกับอาหารมื้อกลางวันจากร้านอาหารในเมืองพม่าที่ตกแต่งได้อย่างงดงามเรียบร้อยแล้ว คณะก็เดินทางต่อไปยัง มหาเจดีย์ชเวดากอง หรือที่เรียกว่า พระบรมธาตุชเวดากอง ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ทองคำที่งดงามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง (เมืองหลวงเก่า) มีความสูงประมาณ 109 เมตร ประดิษฐานอยู่บนเนินดินที่ชื่อ SINGUTTARA ซึ่งมีลานรูปสี่เหลี่ยมและเป็นเนินที่สูงที่สุดในเขตปริมณฑลเมืองย่างกุ้ง มีความยาวโดยรอบประมาณ 473 เมตร รอบฐานพระมหาเจดีย์รายล้อมไปด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๆ อีกร้อยองค์ มีซุ้มประตูสี่ด้านยอดฉัตรองค์พระมหาเจดีย์ประกอบด้วยเพชรและพลอยมากมาย นับเป็นงานสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพม่าที่งดงามหาที่เปรียบมิได้ สันนิษฐานว่าเริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษแรก ๆ เชื่อกันว่าภายในองค์พระมหาเจดีย์ได้บรรจุเส้นพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น พระมหาเจดีย์นี้ยังคงฐานะของพุทธสถานอันเป็นที่พึ่งทางใจของคนพม่าในทุกชั้นวรรณะทุกเพศและทุกวัย พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เป็นของคู่บ้านคู่เมืองพม่า ซึ่งมีผู้คนทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติมากมายพากันสักการะทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างไม่ขาดสาย ว่ากันว่า ทองคำที่ใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมพระมหาเจดีย์แห่งนี้มากมายมหาศาลกว่าทองคำที่เก็บอยู่ในธนาคารชาติอังกฤษ ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้บูรณะพระมหาเจดีย์ชเวดากองให้คงความงดงามยิ่งใหญ่สมเป็นมหาเจดีย์องค์สำคัญที่งดงาม (ภาพถ่ายทางอากาศที่เขาถ่ายไว้ค่ะ ผู้เขียนถ่ายซ้ำมาอีกทีค่ะ) (ภาพถ่ายที่ผู้เขียนนำมาให้ชมค่ะ) ที่นี่มีกฎข้อห้ามว่า ห้ามนุ่งสั้น และห้ามใส่รองเท้า เข้าไปด้านใน (ซึ่งก็คล้ายกับของทางบ้านเรา) แต่ของพม่านั้นต้องล้างเท้าด้วยค่ะ เขาจะให้ถอดรองเท้าภายในอาคารที่เราต้องมาจ่ายค่าเข้าภายในมหาเจดีย์ค่ะ และให้เราล้างเท้าเพื่อชำระสิ่งสกปรกก่อนจะเดินขึ้นไปบนมหาเจดีย์ มีคำกล่าวบอกว่าใครมีโอกาสได้มาไหว้มหาเจดีย์แห่งนี้ถือว่าเป็นคนมีบุญค่ะ จากการที่นับได้ว่าเป็นบุญที่ได้มาไหว้มหาเจดีย์แห่งนี้ต้องบอกว่าอลังการสมคำร่ำลือจริง ๆ ค่ะ ยิ่งใหญ่สวยงาม เรียกว่ารวมความงดงามวิจิตรบรรจงมาก และจากการที่ได้ชมพร้อมทั้งได้รับข้อมูลจากซอ จะพบว่ามหาเจดีย์แห่งนี้ไม่ได้เป็นทองทั้งองค์ค่ะ เพราะส่วนของฐานนั้นจะเป็นทองแดงค่ะ ส่วนฐานชั้นที่สองก็ใช้แบบทองแผ่นบ้านเรา และส่วนชั้นที่สามจนถึงยอดมหาเจดีย์เป็นทองคำค่ะ เพราะว่าสีของชั้นทองทั้งสามจะเป็นคนละสีเลยค่ะ รอบมหาเจดีย์จะมีพระเจ้า 4 พระองค์ประดิษฐ์สถานอยู่ทั้ง 4 ทิศค่ะ และมีพระประจำวันเกิดรายรอบ ซอแนะนำว่าการไหว้มหาเจดีย์ชเวดากอง จะมีจุดอธิษฐานอยู่ 1 จุด และการอธิษฐานนั้นจะต้องอธิษฐานพร้อมดอกบัวและต้นแห่งชัยชนะ เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็ให้ไปสรงน้ำพระประจำวันเกิด โดยสรงตามกำลังของแต่ละวันซึ่งจะมีจำนวนไม่เท่ากันค่ะ การสรงน้ำก็จะมีวิธีการสรงคือให้สรงน้ำ องค์พระ ,เทวดาประจำวัน, เสาหลัก และสัตว์ประจำวัน เรียงตามลำดับค่ะ ผู้เขียนเกิดวันศุกร์ค่ะกว่าจะสรงเสร็จก็นับไปค่ะ 21x4 สำหรับวันนี้ขอแค่เรียกน้ำย่อยค่ะ เยี่ยมเยือนเมืองพม่าคงจะมีประมาณสี่ถึงห้าตอนจะพยายามไม่ให้เกินนี้ค่ะ มีข้อติชมอย่างไรยินดีน้อมรับค่ะ สำหรับตอนที่สองนั้นอดใจรอหน่อยนะคะ รับรองว่ามีเรื่องขำ ๆ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูเมื่อได้ยินเสียงเพลงดังขึ้น กดรับเมื่อเห็นเป็นเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งโทรมา "พี่มลอวยนะ" "จ้า" "อวยจะโทรมาบอกว่า หนูนาคลอดลูกแล้วนะ" "คลอดแล้วหรือ" "ใช่จ้ะพี่มล แล้วเราจะซื้ออะไรให้ดีละ" "อวยดูเอาแล้วกัน ไปซื้อมาแล้วมาเก็บเงินนะ ดูของดีๆ หน่อยแล้วกัน" "ได้พี่มล งั้นเดี๋ยวอวยจัดการเลยนะ แล้วสงกรานต์พี่มลไปเที่ยวไหนละ" "ยังไม่มีโปรแกรมเลย" "งั้นไปชุมพรบ้านหนูมั้ย" "ชุมพรหรือ อืม! ก็ดีเหมือนกันนะ กำลังเบื่อๆ อยู่พอดี" "ตกลงพี่มลไปนะ งั้นสงกรานต์เจอกัน" "จ้า แล้วสงกรานต์เจอกัน" ฉันวางสายแล้วก็ทำงานต่อ ผ่านไปยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก หยิบขึ้นมาดู เห็นเป็นน้องอีกคนหนึ่งโทรเข้ามา "พี่มล ออจ้ะ" "รู้แล้วจ้ะ ว่าไงมีอะไรหรือ" "เมื่อกี้ออโทรคุยกับอวย เห็นอวยบอกว่าพี่มลจะไปชุมพรหรือ" "ใช่ มีอะไรหรือเปล่า" "ออ ไปด้วยนะ" "อ้าว นึกอย่างไรละ" "ไม่รู้ละ พออวยบอกว่าจะไปชุมพรกับพี่มล ออก็เลยบอกว่าออไปด้วย" "เอ้า ไปก็ไปสิ พี่เองกำลังเบื่อ ๆ อยู่พอดี พอเจ้าอวยเอ่ยปาก ก็คิดว่าดีเหมือนกันขืนอยู่บ้านก็คงได้แต่นอนแน่ๆ" "นั่นแหละ ออก็คิดแบบนี้แหละ แต่ที่แน่คือพอรู้ว่าพี่มลไปออก็ไปด้วยเลย" "จ้างั้นสงกรานต์เจอกันนะ" วางสายจากเจ้าออไม่ถึงห้านาทีเจ้าอวยก็โทรเข้ามา "พี่มล" "ไงจะโทรมาบอกว่าออไปด้วยใช่หรือเปล่า" "ใช่แล้วพี่มล พอหนูบอกว่าพี่มลไปด้วย มันร้องตามเลยละ" "อืม งั้นเดี๋ยวใกล้ๆ นัดกันอีกทีแล้วกันนะ" "จ้าพี่มล หวัดดีจ้ะ" "หวัดดีจ้ะ" นั่นคือที่มาของการไปเที่ยวชุมพร ช่วงสงกรานต์ ซึ่งผิดแปลกไปจากทุกปี ปกติแล้วฉันมักจะไม่ชอบไปไหนหน้าเทศกาล เนื่องจากไม่อยากไปแย่งกันอยู่แย่งกันกินกับคนอื่น แต่ปีนี้ฉันยอมเปลี่ยนทัศนคติอันนั้นเสียเพราะได้เอ่ยปากกับเพื่อนคนหนึ่งว่า ปีนี้ฉันจะเที่ยว พอมีคนเอ่ยปากชวนฉันก็ไม่ปฏิเสธ อาจจะเป็นเพราะว่าฉันรู้สึกเบื่อๆ กับสิ่งรอบข้าง หรือเบื่อตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เลยลองหาโอกาสออกไปข้างนอกเพื่อพักผ่อนซะบ้าง ทริปนี้ที่ไปกัน ก็มีฉัน เจ้าอวย (เจ้าบ้าน) เจ้าออ พี่ตัวเล็ก พี่อ๊อด พี่หนุ่ย และเจ้าแขก ทัวร์ทริปนี้เป็นทัวร์ตามสบายไทยแลนด์ คือไปไหนไปกัน กินไหนกินกันแล้วก็นอนไหนนอนนั่น สี่วันกับสามคืนนะริมหาดแถวปะทิว ช่วยให้ฉันเย็นใจขึ้นแม้จะเจอกับฝนบ้างปะปราย วันแรกพวกเราได้ไปกราบ "เสด็จกรมหลวงชุมพร" เพื่อความเป็นสิริมงคล เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ชมกัน อีกสองวันที่เหลือก็ประเภทไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก แต่ส่วนใหญ่จะอยู่แถบชายทะเลซะมากกว่า อ้อพวกเราได้ไปกราบองค์พระโพธิสัตย์กวนอิมแถวบ้านถ้ำธง ชายทะเลแถวนั้นสวยมาก แต่น่าขำเจ้าถิ่นที่บอกว่าไม่เคยมาเที่ยวชายทะเลบ้านตัวเองเลย ไม่รู้อำกันหรือเปล่า ยิ่งมีคดีความกันเยอะอยู่ด้วย นอกจากนั้นพวกเราได้แวะไปหมู่บ้านปลา และธนาคารปู ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถานที่ที่งดงามมากๆ เช่นกัน ที่จะลืมบอกไม่ได้เลยก็คือ ชุมพรยังมีชายทะเลซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นสถานที่สวยงามและร่มรื่นมากๆ อีกเช่นกันค่ะ อีกอย่างหนึ่งก็คืออาหารมื้อเด็ดเกือบทุกมื้อของเราที่เจ้าภาพเลี้ยงรับรองก็คือ เจ้าพวกนี้ค่ะ เจ้าภาพบอกว่าพวกเรากินปลาจนจะหมดอ่าวอยู่แล้ว แถมบอกอีกว่าชาวประมงแถวนี้ขึ้นบัญชีรายชื่อเอาไว้ว่าถ้าคราวหน้ากลุ่มนี้มาจะไม่ให้เข้า..อิอิ เที่ยวทริปนี้สนุกค่ะ ตัวโจ๊กและหัวโจกคือเจ้าแขกทั้งทำให้โกรธและหัวเราะได้ ทั้งฉันและเจ้าออส่ายหน้าตลอด ก็เจ้าตัวดีพูดได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ไม่รู้ไปสรรหาเรื่องมาได้จากไหนกัน ทริปหน้าจะพาเที่ยวต่างประเทศค่ะ