27 กุมภาพันธ์ 2552 09:33 น.
แทนคุณแทนไท
ความรู้ทั่วไป ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
1. งานวรรณกรรม ( หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ )
2. งานนาฎกรรม ( ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ )
3. งานศิลปกรรม ( จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ฯลฯ )
4. งานดนตรีกรรม ( ทำนอง ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ )
5. งานสิ่งบันทึกเสียง ( เทป ซีดี )
6. งานโสตทัศนวัสดุ ( วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง )
7. งานภาพยนตร์
8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
มาทำความเข้าใจกันก่อนจะ เขียนอะไรดีกว่าครับ
---คู่มือนักเขียน---
บทนิยาม
นักเขียนหมายถึง ผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์งานเขียนประเภทต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี ตำรา บทความ ความเรียง กวีนิพนธ์ ฯลฯ
สิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง
สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองคืองานที่นักเขียนได้สร้างสรรค์ขึ้น ส่วนชื่อเรื่อง แนวความคิด
ข้อมูล สถิติ ข้อเท็จจริง ข่าว หรือบทบัญญัติของกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์
การคุ้มครองงานลิขสิทธิ์
นักเขียนจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือไปจดแจ้งต่อหน่วยงานใด
แม้นักเขียนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในผลงานของตนเองโดยทันที แต่นักเขียนสามารถนำผลงาน (หนังสือหรือแผ่นซีดี) มาแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานเบื้องต้นในการแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ตามนโยบายแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนได้ด้วย
นอกจากนี้ นักเขียนยังอาจแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานของตนโดยแสดงข้อความ เช่น สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย ....... หรือ แสดงสัญลักษณ์ ©
สิทธิของนักเขียน
นักเขียนจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในงานเขียนของตนที่จะทำการใดๆ ดังต่อไปนี้
1. ทำซ้ำ เช่น การทำสำเนา การดาวน์โหลดลงเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจัดพิมพ์งานเป็นรูปเล่ม เป็นต้น
2. ดัดแปลง เช่น การนำงานวรรณกรรมไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ หรือนำไปจัดทำเป็นบทละครโทรทัศน์ หรือบทภาพยนตร์ เป็นต้น
3. เผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น การนำผลงานเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ต่างๆ และการจำหน่าย จ่าย แจกงานเขียน เป็นต้น
4. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ ได้แก่ อนุญาตให้สำนักพิมพ์นำไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย อนุญาตให้ดัดแปลงหรืออนุญาตให้นำไปดาวน์โหลด และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ต่างๆ
5. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น ได้แก่ การโอนผลตอบแทนที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่น
การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์
นักเขียนควรระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น เช่น ชื่อผลงาน ชื่อผู้สร้างสรรค์ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อสำนักพิมพ์ ปีที่สร้างสรรค์ ปีที่พิมพ์/โฆษณา ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้งานได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอม เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ประสงค์จะใช้งาน ในการติดต่อขออนุญาตใช้สิทธิในงานนั้น
อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์งานเขียนจะมีตลอดอายุของนักเขียนผู้นั้นนับแต่สร้างสรรค์ผลงาน และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่นักเขียนผู้นั้นเสียชีวิต
การกระทำอย่างไรคือการละเมิดลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์มีได้หลายรูปแบบ เช่น
- นำผลงานของนักเขียนไปรวมเล่ม(อาทิ นำงานของนักเขียนหลายคนมารวมเล่ม) โดยไม่ได้รับอนุญาต
- นำผลงานไปเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต
- นำผลงานไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มโดยไม่ได้รับอนุญาต
- นำผลงานไปดัดแปลง (อาทิ ใช้เนื้อเรื่องเดิม ใส่ชื่อเรื่องใหม่) โดยไม่ได้รับอนุญาต
ฯลฯ
เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์นักเขียนควรทำอย่างไร
เมื่อนักเขียนถูกละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องดำเนินการดังนี้
1. ในเบื้องต้นนักเขียนจะต้องตรวจสอบผลงานของตนเองกับงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ว่า
มีการทำซ้ำกันหรือไม่ อย่างไร โดยตรวจสอบอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากปัจจุบันมีงานเขียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก
2. เมื่อพบว่ามีการทำซ้ำ จนมั่นใจว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว หากงานที่ถูกละเมิดนั้นเป็นหนังสือ ให้แจ้งไปยังสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ และต้องแจ้งแก่ผู้กระทำละเมิดในทันที
3. เจรจากับสำนักพิมพ์และผู้กระทำละเมิดว่าจะชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร
4. หากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ อาจทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอให้
กรมทรัพย์สินทางปัญญาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
หากการดำเนินการตามข้อ 3 และข้อ 4 ไม่บรรลุผล อาจเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ดังนี้
1) คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตัดสินชี้ขาด คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สุด ไม่สามารถดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีก (เว้นแต่เป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อกฎหมาย)
2) นักเขียนอาจฟ้องร้องให้ดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งทำได้ 2 กรณี คือ
2.1 การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา นักเขียนสามารถฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดีอาญาได้ หรืออาจใช้สิทธิในทางอาญาโดยการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน สรุปสำนวนคดี และเสนอพนักงานอัยการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป
2.2 นักเขียนฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นๆได้อีก ในกรณีที่ค่าเสียหายในคดีอาญาไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี หากนักเขียนไม่ประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำละเมิด นักเขียนอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งเพียงอย่างเดียวก็ได้
อายุความในการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์
เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 3 ปี นับแต่วันที่รู้ว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำการละเมิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีที่นักเขียนต้องแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด
เขียนหนังสืออย่างไรไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
การสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์
การสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ ผู้สร้างสรรค์จะต้องสร้างสรรค์ด้วยตนเองคือไม่คัดลอกงานของผู้อื่น กรณีของงานเขียนก็เช่นกัน นักเขียนจะต้องเขียนงานจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง โดยไม่ลอกเลียน ตัดต่อ หรือดัดแปลงงานเขียนของบุคคลอื่น
การคัดลอกหรืออ้างอิงผลงานของผู้อื่น
กรณีการคัดลอกหรืออ้างอิงงานเขียนของผู้อื่นบางตอนซึ่งทำได้ตามสมควร แต่ต้องระบุที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานที่คัดลอกให้ชัดเจน เพื่อให้รับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว โดยการคัดลอกหรืออ้างอิงจะทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น คือจะต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (กรณีดังกล่าวศาลเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน) หากไม่แน่ใจว่าการคัดลอก อ้างอิงดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือไม่ ก็ควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องทำอย่างไร
เมื่อมีผู้กล่าวหาว่างานเขียนของท่านละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น นักเขียนจะต้องปฏิบัติดังนี้ คือ
1. รวบรวมผลงานต้นฉบับที่เขียนไว้ในแต่ละครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าได้เขียนผลงานด้วยตนเองไม่ได้ลอกเลียน ตัดต่อ คัดลอก หรือดัดแปลงงานของผู้อื่น
2. รวบรวมเอกสารหลักฐานการตีพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์
3. จัดเตรียมและตรวจสอบสัญญาการอนุญาตให้ใช้งานลิขสิทธิ์ (ถ้ามี) ว่าขอบเขตของสัญญาที่ตกลงกันไว้มีแค่ไหน อย่างไร
4. จัดหาพยานบุคคลที่อ้างอิงได้ว่าผู้เขียนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นจริง
5. ตรวจสอบและเปรียบเทียบงานเขียนของท่านว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้กล่าวหาหรือไม่
6. คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา
7. กรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสินชี้ขาด
นักเขียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ สามารถขอคำแนะนำหรือปรึกษาได้ที่ สำนักลิขสิทธิ์กรมทรัพย์สินทางปัญญา
อ้างอิง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 http://www.ipthailand.org/ipthailand/index.php?option=com_docman&task=doc_download&gid=12&Itemid=47