11 มีนาคม 2549 08:27 น.

ไม่เรียนหนังสือ แล้วจะเสียใจ

เวทย์

ไม่เรียนหนังสือ แล้วจะเสียใจ วัยรุ่นมะกัน "รู้ซึ้ง" กันแล้ว!!!

คอลัมน์ สรรหามาเล่า

raikorn@hotmail.com

หยิบมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเด็กๆ ในบ้านเราที่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่ตอนนี้ จะได้รู้ว่านี่คือ "โอกาสทอง" ของชีวิตที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป จะได้ไม่ต้องมานั่ง "เสียใจ" ภายหลังเหมือนหลายคนที่เคยปล่อยโอกาสนั้นไป แล้วกำลังนั่ง "เสียดาย" เสียใจอยู่ทุกวันนี้ ทั้งยังว่า หากย้อนเวลาได้ พวกเขาจะไม่ยอม "เลิกเรียน" เด็ดขาด!!

และ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นผลการสำรวจการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทว่ามีข้อมูล "น่าสนใจ" ไม่น้อยเลยทีเดียวที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนในแวดวงการศึกษาจะได้รู้ไว้ โดยเฉพาะ "เหตุผล" ที่ทำให้เด็กตัดสินใจเลิกเรียน!!!

สำหรับผลการสำรวจชิ้นนี้ จัดทำโดยบริษัทวิจัยปีเตอร์ ฮาร์ต (Peter Hart Research Association) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนในการทำสำรวจจากมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ฟาวน์เดชั่น (Bill and Melinda Gates Foundation) ที่ทำการสุ่มสอบถามเยาวชนอายุระหว่าง 16-25 ปี จำนวน 467 ราย จากหลายเมือง หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคันเรียนไม่จบระดับไฮสคูล หรือมัธยมศึกษา ซึ่งพบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ต่างบอกว่าเสียใจที่ทำลงไป ขณะที่บางคนบอกว่า หากในโรงเรียนมีการเรียน การสอนที่น่าสนใจ พวกเขาก็คงไม่ออก!!

และที่ทีมนักสำรวจบอกว่า "ผิดคาด" มากก็คือ เด็กที่ทิ้งการเรียนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เด็ก "สมองทึบ" เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือเป็นเด็กที่ชอบสร้างปัญหา เหมือนที่คนส่วนใหญ่คิด แต่เป็นเด็กมีผลการเรียนดีเลยทีเดียว โดยจากผลสำรวจพบว่า มีเด็กถึง 6 ใน 10 คนที่ทำคะแนนได้เกรดซี (C) หรือทำเกรดได้ดีเยี่ยมกว่านั้นอีกขณะตัดสินใจเลิกเรียน แต่ส่วนใหญ่เล่าว่าที่ตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึก "เบื่อ" ระบบการเรียน การสอนที่ไม่มีความสัมพันธ์ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

"ครูได้แต่ยืนอยู่หน้าห้อง แล้วก็พูดเรื่องอะไรไม่รู้ ที่ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับเราเลย" เด็กสาวจากบัลติมอร์บอก ขณะที่เด็กหนุ่มจากเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้มีความฝันอยากเรียนต่อวิทยาลัย แต่เรียนไฮสคูลได้เพียงปีเดียวก็ลาออก และตอนนี้ก็กลายเป็น "คนตกงาน" เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลิกเรียนว่า "ไม่มีใครในโรงเรียน ที่ทำให้ผมรู้สึกอยากอยู่ต่อ"

ในบรรดาเหตุผลต่างๆ นานา ก็มีเหตุผลนี้อยู่ด้วยจากวัยรุ่นคนหนึ่งที่บอกว่า "ไม่เห็นเราจะได้เรียนรู้อะไรเลย เราก็แค่เข้าไปนั่งในชั้นเรียน แต่ไม่เคยได้เรียนรู้อะไรที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้เลย"

ในผลสำรวจ ยังพบด้วยว่า มีวัยรุ่นถึง 3 ใน 4 ที่บอกว่า หากย้อนเวลาได้พวกเขาจะเลือกเรียนต่อไปให้จบ และมีถึง 8 ใน 10 ที่ยอมรับว่า ใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาระดับไฮสคูลมีความสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิต โดยจากสถิติ มีตัวเลขรายได้แจกแจงให้เห็นว่า คนที่เรียนไม่จบไฮสคูล มีรายได้เฉลี่ยต่อปีราว 9,200 ดอลลาร์ (ราว 358,800 บาท) เท่านั้น!!

ทั้งนี้ จอห์น บริดจ์แลนด์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายภายในประเทศของ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้สำรวจครั้งนี้เล่าว่า แต่ละปีมีเด็กอเมริกันทิ้งการเรียนปีละราว 1 ล้านคน และที่น่าเสียดายก็คือ มีเด็กหลายคนที่เรียนดี และมีเป้าหมายในชีวิต แต่ไม่อยากเรียน เพราะรู้สึกว่าบรรยากาศการเรียน การสอนในโรงเรียนน่าเบื่อ!!!

"สิ่งที่สะดุดใจเราก็คือ มีเด็กหลายคนที่ฝันอยากเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นวิศวกร เป็นนักสำรวจอวกาศ แต่ต้องทิ้งความฝัน เมื่อมาอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนที่ขาดแรงบันดาลใจ รู้สึกไม่มีส่วนร่วม และรู้สึกไม่ปลอดภัย"

ในโอกาสเดียวกันนี้ บริดจ์แลนด์มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา ควรจะมี "ทางเลือก" ต่างๆ ในโรงเรียนให้เด็กมากขึ้น ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็ต้องให้ความใส่ใจลูกหลานให้มากขึ้นด้วย 

............................................................................................

อ่านแล้วนึกถึงประเทศไทยแฮะ				
6 มีนาคม 2549 15:53 น.

กวีการเมือง

เวทย์

ห้วงยามเศร้าสร้อย รันทดท้ออาลัย หลายคนย่อมหวนถวิลหากวีซึ้งใจสักบทปลอบประโลมจิตใจคลายพลัดพราก รานร้าว เฉกเช่นเดียวกับบทกวีการเมืองที่ถักถ้อยร้อยรัดศรัทธา อารมณ์ ความรู้สึก การเคลื่อนไหวต้านคานอำนาจอยุติธรรมทางการเมืองของผู้คนหลากหลายเข้าด้วยกันอย่างแน่นแนบ ยิ่งวิกฤตจริยธรรมการเมืองฉ้อฉลคอร์รัปชันรานรุกคุกรุ่นดังปัจจุบันด้วยแล้ว ยิ่งทบทวีพวยพุ่งพลังตราตรึงงดงามของกวีการเมืองจนมิอาจปฏิเสธ
       
       ด้วยวัฒนธรรมการเมืองไทยในสายตารัฐยามปะทะพลังการเมืองภาคประชาชน มักจบด้วยการหยามหมิ่นถิ่นแคลนและโศกนาฏกรรมหาญหักประหัตประหาร แม้บางคราประชาชนพานพบชัยชนะช่วงท้าย แต่ล้วนแล้วรองรับด้วยซากปรักหักพังทางกายและจิตวิญญาณเพื่อนพ้องร่วมอุดมการณ์ กระนั้นประชาชนไม่น้อยก็ก้าวกล้าแตกหักกับอธรรม ด้วยศรัทธา เชื่อมั่นของตัวเองถูกสะท้อนตอกย้ำทิศทางเดียวกับความจริงแท้ที่ถ่ายทอดผ่านอักขระในบทกวีการเมือง
       
       * ผลึกคิดต้านต่อทรราช
       
       การสมานสามัคคี ประนีประนอมกับความเลวร้ายต่ำทราม หรือไม่นำพาปัญหาบ้านเมืองด้วยกลัวเกรงความขัดแย้งแตกแยกขจรขจายในสังคมและนำภยันอันตรายมาสู่ตัว ย่อมไม่ใช่วิสัย กวีการเมือง ผู้ตกผลึกคิดต้านต่อทรราชด้วยความพลิ้วไหวงดงามทรงพลังของตัวอักษร ด้วยพวกเขาต่างตระหนักดีว่าพันธกิจสำคัญของกวีที่แท้ มิอาจตัดขาดความเคลื่อนไหวในมุมโดดเดี่ยวเงียบเหงาและลุกโชนร้อนแรงของสังคม ดังอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) และกวีซีไรต์ปี 2529 ก้องประกาศว่า กวีผู้ร้อยเรียงอักขระสรรค์สร้างคุณธรรมในสังคมการเมืองจะต้องมีวิสุทธิ์ทัศนะ
       
       กวีบางคนมองไปถึงขอบฟ้า ขณะอีกคนอาจมองได้แค่หน้าบ้าน กวีควรมองปัญหาแบบพญาเหยี่ยว แบบ Birds Eye View เห็นปัญหาทั้งหมด เมื่อใดกวีมีวิสุทธิ์ทัศนะจะมองปัญหารอบด้าน มุมมองกว้างไกล ไม่อย่างนั้นจะเข้าทำนองเห็นพฤกษ์ไม่เห็นไพร ในสถานการณ์ปัจจุบันขณะรัฐบาลถูกขับไล่หนัก กวีควรสะท้อนสาเหตุแห่งปัญหาความไม่รู้จักพอของผู้นำ มนุษย์ควรรู้จักพอ เสมือนผลไม้ที่สุกก็หลุดร่วง ไม่มากไปกว่านั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาล้วนแจ่มชัดแล้วว่าไม่มีผู้นำคนไหนอยู่ยั้งยืนยง ไม่ว่าจะมีอำนาจมหาศาลเพียงใดหากยังกดขี่ เอารัดเอาเปรียบประชาชน
       
       "การบ่มเพาะเกี่ยวกับทรรศนะของมนุษย์ กวี ศิลปินต้องอยู่กับโลกมนุษย์ อยู่กับจักรวาล ต้องติดตามความเป็นไปของวิถีโลก บทกวีการเมืองที่ดีต้องสอดคล้องสถานการณ์บ้านเมือง ต้องกู้ชาติ ต้องมีเจ้าตากในหัวใจ อย่ามัวรอเสวยสุข" ท่านอังคารเน้น ก่อนแนะว่า ความยากง่ายในการเขียนบทกวีการเมืองไม่ควรคำนึงถึง แม้จะลำบากยากแค้นแค่ไหนก็ต้องบากบั่น มุ่งมั่นรังสรรค์บทกวีงดงามมากมายด้วยคุณค่าต่อสังคมออกมา
       
       ยิ่งการเมืองปัจจุบันพันพัวภาคส่วนต่างๆ ในสังคมกว่าเก่ามาก กวีจะยิ่งต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ดังท่านอังคารที่แม้วัยจะก้าวสู่ทศวรรษที่ 8 แล้ว แต่ยังคงยึดหลัก 'สุ จิ ปุ ลิ' ตามติดสถานการณ์บ้านเมืองจากหนังสือพิมพ์หลายหัวทุกวัน วิเคราะห์ เปรียบเทียบกลวิธีคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ ที่นักการเมืองแต่ละยุคใช้ ก่อนกลั่นกรองร้อยเรียงเป็นบทกวีที่พุ่งเป้าโจมตีทรพีแผ่นดินไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ 35 และทรราชขายชาติ 49
       
       "กวีควรพึ่งพิงทั้งพรสวรรค์และพรแสวง เพราะถ้ากวีไม่ศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมจะเขียนอะไรโง่ๆ บ้องตื้นออกไป เปรียบดังคางคกในกะลา เห็นท้องกะลาก็บอกว่าท้องฟ้า เห็นขอบกะลาก็นึกว่าขอบฟ้า"
       
       ทำนองเดียวกับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีผู้คว้ารางวัลศิลปินแห่งชาติและซีไรต์เหมือนท่านอังคารเพียงต่างปีกัน และเรียงร้อยถ้อยกวี 'อาทิตย์ ถึง จันทร์' จากช่วงวันมหาวิปโยค สะท้อนความเป็นตัวตนของกวีการเมืองชัดเจนจับใจว่า กวีการเมืองนอกจากสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกที่พ้นจากตัวเองและร้อยรัดอารมณ์ของสังคมในห้วงยามนั้นๆ แล้ว ควรกอปรด้วยมุมมองการสะท้อนปัญหา ชี้นำสังคม และทางออกของวิกฤตการณ์ ด้วยท่วงทำนองงดงามสละสลวยทางวรรณศิลป์
       
       "ก่อนจะเขียนบทกวีการเมือง ควรเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ของสังคม เข้าใจการเมือง ซึมซับรับรู้เรื่องราวการเมือง เพื่อจะสัมผัสได้ถึงพลัง ความรู้สึกทางการเมืองและสังคมในขณะนั้น" เนาวรัตน์เผย พลางย้ำว่าบทกวีการเมืองที่ถึงพร้อมควรผสานการสะท้อนปัญหา สาเหตุอย่างเป็นจริง ควบคู่กับการชี้ทางออกด้วยกระบวนการศิลปะ
       
       คำเดียว วรรคเดียวอาจสะท้อนได้ทั้งหมด เช่น บทกวีอีสานของนายผี (อัศนี พลจันทร) ที่ว่า 'ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบ บ่ รอซึม' หรือ เปิบข้าวของจิตร ภูมิศักดิ์ 'เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน' บทกวีทั้ง 2 มิเพียงสะท้อนปรากฏการณ์ความเป็นจริงของสังคมในห้วงยามนั้น ทว่ายังเป็นแรงดลใจแห่งกวี และจุดประกายมุมมองผู้อ่านต่อความอยุติธรรมต่างๆ ที่รายรอบ กดทับ ที่สำคัญยังผลักดันประชาชนรวมตัวร่วมลุกขึ้นสู้เปลี่ยนแปลงสังคมด้วย
       
       กวีซีไรต์ปี 2523 ยังย้ำด้วยว่า จิตสำนึกทางการเมืองของกวีควรคุกรุ่นลุกโชนตลอดเวลา ต้องมองพ้นจากตัวเอง มองอนาคตของมนุษยชาติเป็นสำคัญ คงมั่นอุดมการณ์ ปรารถนาสังคมยุติธรรม ประชาชนอยู่ดีกินดี จิตสำนึกทางการเมืองที่อิงแอบแนบแน่นกับหลักธรรมจึงเป็นภาวะที่กวีการเมืองทุกคนควรใฝ่หา ครอบครองจิตสำนึกทางการเมืองในตัวกวีจะเป็นดัชนีชี้ขาดว่าพร้อมมากน้อยแค่ไหนกับภารกิจร่ายรำปากกาถ่ายทอด สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกร่วมของสังคม กระนั้นการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงย่อมได้บทกวีหนักแน่น มีสีสัน ชีวิตชีวามากกว่า ด้วยลำพังจิตสำนึกอาจไม่สามารถพัฒนาเป็นองค์รวมของจิตสำนึกที่เป็นปัญญาได้
       
       "การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองจะประทับแน่นในความรู้สึก ก่อนถูกกลั่นกรองเป็นบทกวีที่มีทั้งจิตนาการ ประสบการณ์ บรรยากาศ มุมมอง เป็นองค์รวมของปัญญาที่หนักแน่นกว่าความคิด จิตสำนึกที่ไม่ผ่านประสบการณ์จริงย่อมมีวันสั่นคลอน"
       
       จะว่าไปแล้ว กวีการเมืองหลายครั้งวิวัฒน์จากภาคปฏิบัติ คลุกคลีเคลื่อนไหวทางการเมืองของกวีโดยตรง ดังหนึ่งผลึกน้ำค้างพร่างพราวจากยุคสมัยเผด็จการต้านต่อทรราชจากห้วงพลังนักศึกษาเบ่งบาน 14 ตุลา 2516 จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์จากกวีนิพนธ์ 'ใบไม้ที่หายไป' ในปี 2532 เล่าว่า วัตถุดิบ ความจัดเจน แหลมคมยามร้อยเรียงบทกวีการเมือง ส่วนหนึ่งคลี่คลายจากประสบการณ์ตรงขับไล่ทรราชในช่วงวัยนิสิต
       
       วัตถุดิบจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะถูกกลั่นกรอง สอดร้อยกับเหตุการณ์ ก่อนถักถ้อยออกมาเป็นบทกวีอันประจักษ์ชัดถึงจุดยืนของกวีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงยามนั้น บางคราวบทกวีจะสำแดงเพียงเรื่องราวขัดแย้ง ขณะหลายคราก็ชี้นำสังคม พร้อมเสนอแนะทางออกจากกับดักความขัดแย้ง
       
       * อัปลักษณ์อัปรีย์อันตรึงตา
       
       คุณค่าทางวรรณศิลป์มิเพียงสะท้อนแค่ความงดงามของธรรมชาติและอลังการงานศิลปะของมนุษย์เท่านั้น ทว่ายังถ่ายทอดความอัปลักษณ์อัปรีย์ของรัฐบาล สังคม ผู้นำ ความไม่รู้จักพอ หลงลำพองของมนุษย์ได้อย่างสละสลวยรวยรุ่มพลัง บทกวีการเมืองจึงเผยความอัปรีย์ตรึงตาตรึงใจในจิตวิญญาณประชาชนรากหญ้าผู้หิวกระหายชิ้นเนื้อความยุติธรรม หลังถูกขโมย ทึ้งกัดโดยผู้มีอำนาจรัฐบางคน
       
       "ต้องผสานเนื้อหาและฉันทลักษณ์เป็นเอกภาพ เพราะหากเน้นแค่รูปแบบแต่ไม่สนใจเนื้อหา อาจเข้าถึงอารมณ์ผู้คนได้เพราะสละสลวย แต่ขาดน้ำหนักในการรับรู้ ขณะเดียวกันถ้ามุ่งเน้นแต่เนื้อหา ไม่มีความสวยงามทางฉันทลักษณ์ จะกลายเป็นแค่บทความ บทกวีการเมืองจึงควรผสานทั้งเนื้อหาและฉันทลักษณ์" เนาวรัตน์ถ่ายทอดคุณลักษณะกวีการเมืองอันพึงประสงค์ ก่อนชี้ว่าถ้าฝึกฝน ท่องจำฉันทลักษณ์จนเชี่ยวชาญ บทกวีจะตราตรึงงดงามด้วยเนื้อหาและท่วงทำนอง แม้เนื้อหาจะไม่ได้พรรณนาความสวยงามของธรรมชาติหรือมนุษย์เลยก็ตาม
       
       "กวีที่เชี่ยวชาญ เป็นนายของภาษาจะกำหนดลีลาของบทกวีที่เขียนให้มีจังหวะจะโคนสอดรับได้อย่างอัตโนมัติ มีเสียง มีน้ำหนัก มีการขับเคลื่อนพลิ้วไหว โดนใจ อย่างไรก็ตาม อย่ายึดติดรูปแบบเกินไป เพราะจะขาดคุณค่าของเนื้อหาได้ เพราะถ้าเน้นแค่รูปแบบ ผลในการซึมซับจะได้น้อยกว่า"
       
       เนาวรัตน์เน้นด้วยว่า ศิลปะการนำเสนอสำคัญมาก ก่อนกวีจะหลุดพ้นกรอบยึดทางฉันทลักษณ์ได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการฝึกพื้นฐานรูปแบบฉันทลักษณ์ เขียนกาพย์ โคลง กลอนให้ได้ก่อน ไม่ต่างอันใดกับจิตรกรที่คร่ำเคร่งฝึกเทคนิคร่างเส้นตรง วงกลม ก่อนจะก้าวสู่ประตูจิตรกรใหญ่
       
       หากบทกวีขาดหายความงามทางฉันทลักษณ์และเนื้อหาสารัตถะที่ปรารถนาจะถ่ายทอดแล้ว ความพร่าพรางทางศิลปะและหลงใหลในความรู้สึกส่วนตัวจะเด่นชัด ขับเน้นจนบทกวีนั้นขาดหายคุณค่า ความชัดเจน เรื่อยเอื่อย ไม่สื่อสารอะไรกับสังคม ผู้อ่านในท้ายสุด
       
       สอดคล้องกับมุมมองจิระนันท์ ที่ว่าการฝึกฝนฉันทลักษณ์จนเชี่ยวชาญ จะเรียงร้อยอักขระเพื่อเสกสรรค์บทกวีการเมืองอันทรงพลังและสวยงามได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกังวลจะแต่งไม่ไพเราะ ไม่ถูกฉันทลักษณ์ สุดท้ายบทกวีที่กลั่นกรองออกมาจึงลื่นไหลทั้งท่วงทำนองวรรณศิลป์ หนักแน่นซาบซ่านความหมาย
       
       "กวีการเมืองถ่ายทอด สะท้อนอารมณ์การเมืองโดยไม่ต้องแฉข้อมูลมากมาย โดยเฉพาะหลังการไฮปาร์กจบลง กวีการเมืองจับต้องอารมณ์ของสังคมการเมืองในห้วงเวลานั้นๆ ได้มากกว่าสื่ออื่น เช่น ตื่นเถิดเสรีชน แม้จะกระชับ แต่เร้าใจ มีความหมายยิ่งใหญ่มากสำหรับสังคมที่ขาดหายประชาธิปไตยมานาน"
       
       ด้านท่านอังคารเน้นไปในทางเดียวกันว่า กวีการเมืองต้องมุ่งเนื้อหา เขียนให้ได้ความ สื่อสารกับผู้อ่านได้ แม้จะตีความได้หลายทางก็ยังดีกว่าเขียนไม่รู้เรื่อง ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้ฉันทลักษณ์ อ่านกวีโบราณ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผนบ้าง เช่นเดียวกับศิลปินที่จะต้องฝึกฝนเขียนกนก หากเขียนไม่เป็น ก็ไม่อาจเขียนลายไทยให้ลือเลื่องได้
       
       "บทกวีดี มีพลังจะต้องเขียนให้ถึงสัจจะ อุดมการณ์ ความงามที่เป็นสากล เขียนเพื่อมวลมนุษยชาติ เขียนเพื่ออารยธรรม" ท่านอังคารเผย ก่อนย้ำหนักแน่นว่าพัฒนาการด้านการเขียนบทกวีการเมืองจะก้าวหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลังลงคลอง ล้วนเรียกร้องการลดอัตตาตัวตนในกวีอย่างมาก ด้วยต้องพิจารณาส่วนวิเศษของผู้อื่น และตรวจสอบข้อบกพร่องของตัวกวีเอง เพื่อจะยกระดับงานของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
       
       ขณะ วสันต์ สิทธิเขต กวีผู้แน่นแนบศิลปะและการเคลื่อนไหวภาคประชาชน มองว่าการประมวลความรู้ สถานการณ์บ้านเมือง ก่อนจะถักทออักขระออกมาเป็นบทกวีการเมืองนั้นสำคัญมาก แม้บางครั้งจะขาดหายซึ่งความงามทางวรรณศิลป์ แต่ถ้าถ่ายทอดเนื้อหาได้ชัดเจน ลุ่มลึก จริงแท้แล้ว กวีบทนั้นก็มีคุณค่าต่อสังคม
       
       "บทกวีคือเสียงของความคิดที่ออกมาเป็นถ้อยคำ มีชีวิต มองเห็นภาพ จินตนาการ ใช้อารมณ์ ความสะเทือนใจสะท้อนความรู้สึกของสังคม ผู้จะเขียนกวีการเมืองได้ อย่างน้อยต้องรักชีวิต รู้จักธรรมชาติ เข้าใจหลักชีวิตพอสมควร รู้การเมือง อ่านเกมการเมืองออก" วสันต์เน้น ก่อนเผยแก่นแกนความคิดในการต้านเผด็จการมายาวนานหลายทศวรรษว่า 'ศิลปะคืออาวุธ ใช้ขุดโค่นอำนาจร้าย ต้องพลีชีพทั้งใจกาย คือความหมายแห่งศิลปิน'
       
       บทกวีการเมืองที่จะคงความเป็นอมตะ จุดประกายความคิด ศรัทธาในเจนเนอเรชันต่อไปไม่เสื่อมถอย นอกจากต้องถึงพร้อมความงดงามทางฉันทลักษณ์แล้ว ความหมายที่สะท้อน ถ่ายทอดยังต้องสากล ไม่ขึ้นกาลเวลา ดังวสันต์มองว่าบทกวีที่สะท้อนโลกทัศน์อย่างลุ่มลึก ย่อมส่งผลสะเทือนเปลี่ยนแปลงชุมชนไม่ว่าจะอ่านเมื่อใด ยิ่งอ่านยามต้านต่อทรราชด้วยแล้ว ยิ่งฮึกเหิม กร้าวแกร่ง
       
       * ผลิชีพจรรากหญ้าประชาธิปไตย
       
       บนเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรก่อนคลี่คลายเป็นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บทกวีการเมืองยามขับขานย่อมขับเคลื่อนผนึกผสานเอกภาพของประชาชนเรือนแสนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยทุกอักขระที่ถักถ้อยร้อยรัดเข้าด้วยกันนั้นล้วนเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยาก มุ่งคร่าอธรรม ขับไล่ทรราช ขจัดปัญหาแผ่นดินไทย ในห้วงวันเวลาที่การตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) ของสังคมง่อยเปลี้ยเสียศรัทธา
       
       แม้ความสลับซับซ้อนของปัญหาจะเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตย-เผด็จการทหาร สู่การเมืองภาคประชาชน-เผด็จการทุนนิยมในปัจจุบัน แต่ท้ายสุดแล้ววังวนปัญหาเดิมๆ ไม่เคยเคลื่อนถอยจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐผู้ยึดติดอวิชชาบนคราบน้ำตาและสายเลือดประชาชน บทกวีการเมืองจึงไม่เคยว่างเว้นบอกเล่าเรื่องราวรากหญ้าประชาชนเหยื่ออยุติธรรมทางการเมือง เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาสอดคล้องกับห้วงสมัยที่เปลี่ยนแปร
       
       "บทกวีการเมืองเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากเคยบอกเล่าเรื่องราวขัดแย้งระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐที่มาจากทหาร ก็ปรับเปลี่ยนเป็นประชาชนกับเผด็จการทุนนิยม บทกวีในวันนี้จะต้องถ่ายทอดอันตรายจากการผูกขาด ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเศรษฐกิจการเมือง" เนาวรัตน์เผยเส้นทางพัฒนาการกวีการเมืองไทย ก่อนเน้นภารกิจกวีว่านอกจากเข้าใจความลักลั่นซับซ้อนของทุนนิยมแล้ว ยังต้องเพียรพยายามมากขึ้นในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่นับวันจะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ
       
       "กวีการเมืองย่อมสะท้อนพัฒนาการ ล้มลุกคลุกคลานประชาธิปไตยไทย กวีคือผลผลิตของสังคม เป็นอารมณ์ความรู้สึกร่วมของสังคม ผู้เขียนกวีการเมืองได้ดีจะต้องไม่ดัดจริต ต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองเป็นอย่างน้อย" เนาวรัตน์เผย พลางย้ำว่าแม้กวีการเมืองจะทรงพลังในการขับเคลื่อนภาคประชาชน แต่ก็ไม่มีศักยภาพมากพอจะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยลำพัง ต้องสอดประสานพลังภาคส่วนอื่นๆ อย่างเป็นกระบวนการ
       
       กวีการเมืองคือชีพจรสังคม จึงยุติธรรมที่ผู้คนจะเรียกร้องให้กวีออกมารับผิดชอบสังคม แม้ห้วงยามปกติไม่ใคร่เห็นความสำคัญของกวีเลยก็ตาม ด้วยบทกวีคือความรู้สึกของสังคม ประคับประคองความรู้สึกของผู้คน ประชาชนปรารถนาเสพบทกวีเพราะพวกเขาต้องการผู้ที่จะมาพูดแทนความรู้สึกตัวเอง ยิ่งโมงยามคอร์รัปชันรานรุกหนัก
       
       "บทกวีการเมืองจุดประกายจิตสำนึก ปลุกประชาชนตื่นจากหลับใหลยาวนานของเผด็จการทุนนิยม เผด็จการรัฐสภาได้ บทกวีการเมืองจะเป็นทัพหน้าและธงนำความรู้สึก เชิดชูความรู้สึกของสังคมราวกับแสงเทียนส่องทาง เป็นทั้งกำลังใจของประชาชนและอาวุธทิ่มแทงศัตรู" เนาวรัตน์มองสอดคล้องกับกวีซีไรต์ปี 2532 ที่ว่าบทกวีการเมืองในปัจจุบันควรสะท้อนความซับซ้อนของเผด็จการ คอร์รัปชัน แม้จะยากลำบากกว่าเดิมมากในการถ่ายทอดความฉ้อฉลเชิงวรรณศิลป์
       
       "กวีการเมืองเป็นพลังสมทบในการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ต้องควบคู่กับการเคลื่อนไหวภาคส่วนอื่นๆ จึงจะมีพลังมากพอเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างกรณีขายหุ้นของผู้นำ คงยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ด้วยบทกวี เพราะลำพังตัวกวีเองก็ยากจะเข้าใจความซับซ้อนนี้ จึงต้องเป็นหน้าที่นักวิชาการที่จะอธิบายความไม่ชอบธรรมให้สาธารณชนเข้าใจโดยง่าย"
       
       ...ยามกวีการเมืองผลิดอกออกผลพราวพรั่งมักจะเป็นห้วงวันประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน เฟื่องฟูอยุติธรรม คอร์รัปชันเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ราว 2 ด้านของเหรียญประชาธิปไตย หากวันใดการเมืองเข้มแข็ง โปร่งใสย่อมไม่มีใครกระหวัดถึงกวีการเมือง ทว่าเมื่อใดการเมืองไร้ธรรมาภิบาล จริยธรรมผู้นำ เมื่อนั้นกวีการเมืองจะผงาดเด่น
       
       3 กวีซีไรต์ 1 กวีศิลปินต่างมองปรากฏการณ์เคลื่อนไหวนี้คล้ายคลึงกัน ด้วยล้วนเชื่อมั่น ศรัทธาในพลังกวีการเมืองว่ามีศักยภาพมากพอจะคลี่คลายสถานการณ์เลวร้ายทางการเมือง พลิกผันสังคมสู่ความยุติธรรม เสริมสร้างพลังการเมืองภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ยิ่งนำเสนอผ่านบทเพลง บทละคร อย่างสอดคล้อง พร้อมนำเสนอถูกจังหวะ เวลา ย่อมส่องประกายกวีบทนั้นจนตราตรึงจิตใจประชาชนยิ่งขึ้น
       
       ความสุขุมลุ่มลึก เยือกเย็นย่อมร้อยรัดกับห้วงการเดินทางของวันเวลา ภารกิจกวีการเมืองทั้งเก่า-ใหม่ล้วนแล้วหนีไม่พ้น ขจัดคราบเปื้อนเปรอะจากการกระทำเลื่อนเลอะเทอะของนักการเมืองผู้พิศสมัยกติกู-กติกา-เงินตรามากกว่าคุณธรรม จริยธรรม เหนืออื่นใดจะต้องรัดร้อยถ้อยถักอักขระให้ประชาชนเข้าใจว่าความขัดแย้งย่อมนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาถึงได้ หากผู้ที่หาญหักด้วยนั้นคือทรราชผลาญชาติ ขายแผ่นดิน
       
       ******************************
       
       เรื่อง/ ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเวทย์