29 มกราคม 2549 09:10 น.
เวทย์
ผมได้อ่านบทความของ โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ในมติชน
เห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดลอกมาให้อ่านกัน
..........................................................................
ความเข้าใจเรื่องของอารมณ์เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญมากและมีผลต่อการนำมาปฏิบัติในชีวิตจริงๆ และมีผลต่อวิถีชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนในแต่ละขณะเวลาหนึ่งจะต้องมีอารมณ์กันทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บทความในวันนี้เขียนชื่อไม่ผิดครับ "มาใช้อารมณ์กันเถอะ" ไอเดียเรื่องนี้มาจากคุณณัฐฬส วังวิญญู ที่พูดขึ้นมาครั้งหนึ่งในวงสุนทรียสนทนาที่พวกเราทำกันอย่างสม่ำเสมอที่เชียงราย คุณณัฐฬสบอกว่า "พวกเราควรจะต้องพูดคุยกันด้วยอารมณ์ให้มากๆ" คำว่า "อารมณ์" ในความหมายของณัฐฬสนั้นเป็นกลางๆ คือเขาไม่ได้มองคำว่า "อารมณ์" เป็นเรื่องที่ไม่ดีไปเสียหมด ในความหมายนี้ณัฐฬสต้องการให้ผู้เข้าร่วมวงสุนทรียสนทนาใช้อารมณ์ด้านบวกของตัวเองใส่เข้ามาในการพูดคุยด้วย ไม่ใช่พยายามใส่แต่ความคิดความเห็นซึ่งจะทำให้วงสนทนาขาดความสมดุลในมิติของอารมณ์ไป เป็นมิติของคนที่ใช้สมองมากกว่าใช้หัวใจ
อย่างไรก็ตามคำว่า "ใช้อารมณ์" ได้ถูก "ตีความหมาย" ไปใน "ทางลบ" ตั้งแต่ต้น ถ้าใครพูดว่า "ใช้อารมณ์" ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง เป็นพวกที่ไม่รู้จักอดกลั้นอดทน เป็นพวกมุทะลุดุดัน แต่นั่นก็เป็นเพียง "ความหมายหนึ่ง" หากว่าเราจะมอง "ความหมายของอารมณ์" ในอีกความหมายหนึ่งแบบเดียวกันกับที่คุณณัฐฬสได้ลองโยนประเด็นเข้ามาในวงสนทนาก็จะพบว่า "อารมณ์" นั้นเป็นไปได้ทั้งบวกทั้งลบ เป็นไปได้ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เราอาจจะยังไม่ควรด่วนตัดสินให้เป็นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
คุณเดวิด สปิลเลน ที่ร่วมโครงการจิตวิวัฒน์ด้วยกันได้ส่งหนังสือเล่มใหม่มาให้ผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ชื่อว่า "Consciousness & Healing" ตีพิมพ์ในปี 2005 นี้เอง โดยสถาบัน IONS (Institute Of Noetic Sciences) ในสหรัฐอเมริกา เป็นหนังสือเล่มหนาเกือบหกร้อยหน้าแถมตัวอักษรยังเล็กนิดเดียวอีก เป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขชั้นนำจำนวนมากกว่า 50 ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "สุขภาพแบบใหม่" ซึ่งให้ความสำคัญกับ "เรื่องของอารมณ์"
ใน DVD ที่แถมมากับหนังสือเล่มนี้มีคุณหมอผู้หญิงท่านหนึ่งเป็นกุมารแพทย์ เธอสารภาพว่าเธอจะต้องแอบร้องไห้ทุกครั้งที่คนไข้ของเธอเสียชีวิต ในตอนแรกเธอคิดว่าเรื่องนี้เป็น "ความด้อย" ของเธอที่เธอมักจะ "ใช้อารมณ์" ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับว่าเธอจะ "ไม่สามารถควบคุมอารมณ์" ของตัวเธอเองได้และดูจะไม่เป็น "มืออาชีพ" เลย แต่หลังจากที่เธอได้ลองศึกษาเรื่องอารมณ์อย่างจริงจัง เธอพบว่าถ้าเธอสามารถ "เปลี่ยนพลังงาน" ด้านลบคือความเศร้าเหล่านั้นให้เป็นพลังงานด้านบวกได้ เธออาจจะกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ "การใช้อารมณ์" แบบนั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายทางวิชาชีพใดๆ เลย ในทางตรงกันข้าม "การเข้าถึงอารมณ์" ที่อ่อนไหวแบบนี้กลับจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่นับวันจะเสื่อมสลายลงไปนั้น ได้รับการแก้ไขเยียวยาและ "เกิดความรู้สึกที่ดีๆ" เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากยิ่งขึ้น
เมื่อหลายปีก่อนในเว็บไซต์ทางการแพทย์แห่งหนึ่ง ผมเคยเข้าไปร่วมแจมในกระทู้หนึ่งซึ่งเรื่องราวที่พูดคุยกันในกระทู้นั้นมีประเด็นว่า "ในกรณีที่มีทางเลือกในการรักษาคนไข้หลายๆ ทางแพทย์จะมีวิธีการ "ตัดสินใจ" เลือกวิธีการรักษาอย่างไร?" เช่นสมมุติว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่ต้องผ่าตัดดี ควรจะให้ยารักษาหรือควรจะใช้รังสีรักษาดี อะไรทำนองนี้เป็นต้น
ในตอนนั้นผมเข้าไปร่วมแจมในกระทู้นี้และผมเขียนลงไปในเว็บบอร์ดว่า สำหรับผมแล้วผมชอบวิธีการที่อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมว่าน่าจะลองคิดว่าคนไข้ที่เรากำลังรักษาอยู่นั้นเป็นญาติเรา เป็นพ่อเป็นแม่เราหรือเป็นพี่เป็นน้องของเราแล้วเราจะรู้เองว่าเราควรจะเลือกวิธีการรักษาแบบใดให้กับคนไข้รายนี้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการ "ใช้อารมณ์" และ "ความรู้สึก" เพื่อ "สร้างสายใยแห่งความผูกพัน" ระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้เป็นอย่างดี
ปรากฏว่าได้มีแพทย์หลายท่านไม่เห็นด้วย เขียนติดในเว็บบอร์ดบอกว่าวิธีการของผมประมาณว่า "ไม่เป็นมืออาชีพ" แพทย์ก็ส่วนแพทย์ คนไข้ก็ส่วนคนไข้ เราจะต้องรักษาสถานภาพไม่เกี่ยวกัน ถ้าเรานำความคิดว่าคนไข้มาเป็นญาติเรา อาจจะส่งผลทำให้เรา Bias ต่อวิธีการรักษาได้ เช่นแทนที่จะใช้วิธีการผ่าตัดก็กลับมาใช้วิธีการให้ยาหรือในทางกลับกันเป็นต้น
ผมคงจะไม่ได้บอกว่าแนวคิดแบบใดจะถูกต้อง หรือจะมาเขียนเพื่อจะเอาดีหรือเอาชั่วใส่ตัวหรือใส่คนอื่นๆ นะครับ เพียงแต่อยากจะเล่าเรื่องแบบนี้ไว้เพื่อยกเป็นตัวอย่างให้เห็นตามสมมติฐานที่ว่า การปฏิบัติของคนเรานั้นเกิดจากมุมมองหลักระหว่างวิทยาศาสตร์เก่าที่แยกส่วนกับวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มองเห็นความเชื่อมโยงนั้นจะส่งผลต่อการกระทำที่แตกต่างกันไปได้จริงๆ
ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งยังใช้วิทยาศาสตร์แบบเก่าเป็นกรอบคิด) นอกจากจะสอนให้เรา "ไม่ใช้อารมณ์" ซึ่งจะทำให้มนุษย์กลายเป็นหุ่นยนต์ไปทุกทีแล้ว เรายังจะถูกสอนให้แยกอารมณ์และความรู้สึกออกไปจากงานอีกด้วย ในเรื่องหนึ่งวิธีคิดหรือกรอบคิดแบบนี้ก็ได้กลายไปเป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนถึงไปหลายตอนแล้วประมาณว่าเวลาทำงานก็ทำงานอย่าเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาในที่ทำงาน เวลาพักผ่อนก็พักผ่อนห้ามทำงานห้ามคุยเรื่องงานเด็ดขาด จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ "ในระบบวิชาชีพเฉพาะต่างๆ" ที่ไม่เพียงเฉพาะแพทย์เท่านั้นที่เกิดเรื่องทำนองนี้ แต่เกิดขึ้นกับทุกวิชาชีพ ในบริษัทส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้พนักงานพูดเรื่องส่วนตัว ไม่ให้พนักงานแสดงอารมณ์ส่วนตัวในเวลางาน เพราะถือว่าเวลางานก็ทำงานเรื่องส่วนตัวเก็บเอาไปที่บ้าน อะไรทำนองนั้น
ในความเป็นจริงเราก็จะพบว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วในเวลาทำงานเราไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกไปจากเรื่องงานได้เลย
ความเข้าใจผิดด้วยมุมมองหลักที่แยกส่วนแบบวิทยาศาสตร์เก่านี้ ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีแค่ "การฝึกนำอารมณ์มาใช้" กันให้มากๆ ขึ้นเหมือนกับที่คุณณัฐฬส วังวิญญู ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ อาจจะสามารถช่วยให้เกิดความสมดุลของสมองกับหัวใจขึ้นมาได้บ้างหรืออาจจะสามารถช่วยคลี่คลายความไม่ลงรอยความไม่เข้าอกเข้าใจกันอันนำไปสู่ความสุขและศานติในสังคมได้บ้างหรือไม่
.........................................................................
น่าจะลองใช้มุมมองของสหวิทยาการประยุกต์มาใช้กับการเขียนด้วยได้
28 มกราคม 2549 08:13 น.
เวทย์
ในยุคที่สังคมนิยมความเร่ง รีบ รวดเร็ว แน่นอนว่าทุกอย่างรอบตัวต้องได้รับผลกระทบจากความนิยมที่ว่า และเรื่องของภาษาก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบ โดยเฉพาะในสังคมแวดวงการอ่านเริ่มลุกขึ้นมาบอกว่า กวีไทยใกล้ตาย,หรือ คำถามที่ว่า ฤ จะถึงทางตันของวรรณกรรมไทย และอีกหลายๆ ปรากฏการณ์อันนำมาซึ่งคำถาม แต่อย่างไรคนในแวดวงก็ยังคงมีความเชื่อในพลังแห่งวรรณศิลป์ที่สื่อสารผ่านตัวอักษรอยู่ และเมื่อเร็วๆ นี้หนึ่งในพลังแห่งความเชื่อที่ว่า ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งจัดงาน "วรรณกรรมสู่แผ่นดิน วรรณศิลป์สู่สังคม"ไป โดยในงานมีการมอบรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ครั้งที่สองและมีผู้ชนะเลิศประเภทหนังสือทำมือ ในหัวข้อ "เสียงเล่าจากคนชายขอบ" คือ นายสัญญา พานิชยเวช กับผลงาน "เพลงดอกไม้" และในประเภทเรื่องสั้น หัวข้อ "เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน" ผู้ชนะคือ นายณรรธราวุธ เมืองสุข กับผลงาน "ถนนสายนี้ กลับบ้าน" นอกจากการมอบรางวัลแล้วยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "คุยกับนักเขียน วรรณศิลป์สู่สังคม" โดยมีสองวิทยากรผู้หลงรักวรรณศิลป์อย่าง ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์ และ จักรภพ เพ็ญแข ร่วมแสดงความคิดเห็น
โดยก่อนอื่น จักรภพ ขอนิยามสิ่งที่เรียกว่าวรรณศิลป์ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าเป็นสิ่งที่แสดงออกมาในรูปของตัวอักษร แล้วสามารถทำให้หัวใจอ่อนไหวละมุนละไมรู้สึกไปกับสิ่งนั้นได้ และสมควรอย่างยิ่งจะให้วรรณศิลป์นี้คงอยู่เพื่อกล่อมเกลาสังคมต่อไป
และแน่นอนว่า หากจะให้คงอยู่ต้องมีการถ่ายทอดสู่สังคมวงกว้าง แม้ปัจจุบันความเป็นไปในสังคมจะต่างจากอดีต
"เรื่องของวรรณกรรมก็มีทั้งยุคเข้มข้น สังคมการเมือง ยุคความรัก สายลมแสงแดด และต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดของศิลปะการประพันธ์อันเป็นสุนทรียะนั้นมิใช้มีไว้เพื่อเสพคนเดียว หรือในกลุ่ม แต่ระดับหนึ่งมันเป็นเครื่องมือรับใช้จิตสำนึกทางสังคมการเมือง หรือจิตสำนึกสาธารณะได้"
"เมื่อเราได้อ่านหนังสือดีๆ เราอาจเข้าใจชีวิตมากขึ้น ยุคหนึ่งเราอาจจะอยากเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก แต่เมื่อเราอ่านหนังสือเราจะรู้สึกว่าสิ่งแรกที่ต้องปฏิวัติ คือข้างในตัวเอง ถ้าเราได้สร้างสันติภาพในใจ มีสวนดอกไม้ในใจตัวเองแล้วค่อยขยายไปสู่เพื่อนบ้าน ไปสู่คนอื่นในมิติที่กว้างออกไป" ไพวรินทร์กล่าวอย่างเชื่อมั่น
ซึ่งจักรภพ เองก็เชื่อเช่นนั้น โดยเฉพาะวรรณศิลป์จากบทประพันธ์ที่ร้อยเรียงด้วยฉันทลักษณ์แล้วเขายิ่งมั่นใจว่ามันมีพลัง
"เราลองสังเกตภาษาให้ดีว่ามันมีพลังแค่ไหน อย่างผมประเภทชอบร้อยกรองฉันทลักษณ์ ชอบความลงตัว ความคล้องจอง ในแบบของมัน รู้สึกชอบภาษา ก่อนที่จะชอบความหมายด้วยซ้ำ เพราะบางทีรู้สึกว่าจังหวะของภาษานั้นยิ่งส่งให้พลังในความหมายในคำแจ่มชัด"
มาถึงตรงนี้ ไพวรินทร์เองเห็นด้วยอย่างยิ่งถึงพลังภาษา และท่องทำนอง ที่เขาเชื่อว่าต้องสื่อด้วยใจ
"ผมเคยไปงานกวีนานาชาติ แล้วมาเลเซียก็อ่านบทกวีในภาษาถิ่นของเขาซึ่งเราฟังไม่รู้เรื่อง แต่ขนลุกในพลังของมัน แสดงว่าคนที่เขาเปล่งคำออกมาไม่ใช่อยู่ๆ จะเปล่งออกมาได้ต้นกำเนิดมันคือหัวใจ กวีหรือศิลปะอะไรก็แล้วแต่ที่สุดแล้วมันก็เริ่มจากหัวใจ ผ่านรูปแบบ แล้วไปสู่สาธารณชน ผมเชื่อว่าพลังศิลปะมีจริง แต่บางครั้งในสังคมวุ่นวาย สิ่งเหล่านี้ถูกลืมไป" ไพวรินทร์กล่าว
และบอกด้วยความเชื่ออีกว่าชีวิตทุกชีวิตยังคงต้องการ การกล่อมเกลาจิตใจ เยียวยาอารมณ์ จากวรรณศิลป์
"คนไม่จำเป็นต้องกระด้างตลอดเวลา อย่างทหารบางทีเครียดกับระเบียบวินัยมา อาจต้องน้ำตาไหลเมื่อนั่งฟังเพลงเงียบๆ คนเดียวนั่นคือการกล่อมเกลา ผมคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะกับหมู่ศิลปิน หรือกวีเองก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับกวี แต่ควรอยู่กับมนุษย์ทุกคน"
แต่หากในยุคนี้ที่วรรณศิลป์ต้นกำเนิดอย่างกลอนจะถูกมองว่าเชยนั้น จักรภพ บอกว่าไม่ทั้งหมด แต่อยู่ที่ที่ทางที่เหมาะสม
"ที่ที่ไปอ่านกลอน หรือเห็นกลอนติดไว้ แล้วรู้สึกว่าเชยนั้น มักเป็นที่ๆ กระด้าง อย่างถ้าเราเห็นกลอนติดแถวสีลมแน่นอนคงเชย แต่ถ้าติดในโรงเรียน โรงพยาบาล ต่างๆ กลับไม่ให้ความรู้สึกนั้น เพราะฉะนั้นเราคงพูดได้ว่าจริงๆ แล้ววรรณศิลป์เป็นสิ่งที่ลดทอนความกระด้างของสภาพแวดล้อม" จักรภพ สรุป
และที่สุดแล้วหากถามถึงอนาคตวรรณศิลป์ไทย ทั้งจักรภพ และไพวรินท์ เองยังแอบยิ้มแบบมีความหวังว่าจริงๆ แล้วมันซึบซับอยู่ในจิตใจของทุกคน เพียงแต่จะเสพเข้าไปด้วยวิธีใดมากกว่า จะรับมา หรือเป็นผู้สร้าง ซึ่ง ณ วันนี้ต้นกล้าความคิดก็ยังพร้อมจะเติบโตให้เห็นอยู่
...................................................................
คัดลอกจากมติชน ๒๘ กพ ๒๕๔๙
22 มกราคม 2549 09:28 น.
เวทย์
ความจริงในคำคม
โดย มุกหอม วงษ์เทศ
..............................................................................................................
"ข้าพเจ้าสามารถหักห้ามใจในทุกสิ่ง ยกเว้นความเย้ายวนใจ"
"Paradox" มักจะเป็นคำที่ใช้ทับศัพท์ แต่ก็มีคำแปลอันเยี่ยมยอดว่า "ความย้อนแย้ง" ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคิดยุ่งเหยิงว่า อะไร "ย้อน" มา "แย้ง" กับอะไร ที่แน่ๆ นั้น Paradox ไม่ใช่ถ้อยคำที่รื่นหูหรือลื่นปาก เพราะโดยรากศัพท์แล้ว Paradox แปลว่า สิ่งที่ไปไกลกว่าความเชื่อปกติของคนส่วนใหญ่
"ชีวิตมีความสำคัญเกินกว่าที่จะไปพูดถึงมันอย่างจริงจัง"
"Aphorism" เป็นคำที่นิยามและแปลยาก ถ้า "Maxim" แปลกันว่า คติพจน์ และ "Axiom" แปลกันว่า สัจพจน์ เราก็อาจแปล "Aphorism" ทื่อๆ ได้ว่า "คำคม" (ซึ่งรวมถึงพวกสุภาษิต คำพังเพย คำจำกัดความด้วย) เนื่องจาก Aphorism เป็นคำกล่าวสั้นกระชับที่ "กลั่น" มาจากประสบการณ์ มุมมอง และความคิดต่อสรรพสิ่ง Aphorism จึงมักจะแสดงความหลักแหลมและปฏิภาณของผู้กล่าว
ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าแอบกังขาวาทะบางวาทะอยู่เป็นประจำ การปะทะกับวาทะไม่ใช่การวิวาทหรือวิวาทะ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ประสงค์ความอึกทึก และปรารถนาจะกังขาในความสงัด
ความน่าสงสัยในคำคมบางคำคือ "ความจริง" ในคำคมนั้นๆ ด้วยธรรมชาติและเจตนาที่จะให้ "คม" นั่นเองที่ทำให้เนื้อหาของ Aphorism ดูจะ "จริง" ไปด้วย ส่วนใหญ่แล้ว การเป็นที่จับใจและติดหูของ Aphorism ก็มักจะอยู่ที่ความบรรเจิดและงามสง่าของถ้อยคำ มากกว่าค่าความจริงของข้อความ
Eco แยกความแตกต่างระหว่าง Paradox กับ Aphorism ไว้ว่า ไม่จำเป็นว่า Aphorism จะดูเฉียบแหลมเสมอไป ทั้งยังไม่ได้มุ่งหมายที่จะเสนออะไรที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย Aphorism จึงเป็นข้อความที่ต้องการแสดงความลึกซึ้งและความกระจ่างแจ้งในสิ่งที่เป็นที่เข้าใจรับรู้อย่างผิวเผินกันอยู่แล้ว พูดอีกอย่างได้ว่า Aphorism แสดงความคิดเห็นที่ธรรมดาๆ ด้วยลีลาอันบรรเจิด โดยไม่ได้ทำให้เราเห็นอะไรเพิ่มเติมจากที่เห็นๆ อยู่แล้ว เช่น
"แอลกอฮอล์ คือ ของเหลวที่ฆ่าคนเป็นและรักษาคนตาย"
"อย่ามองโลกอย่างที่มันเป็น แต่มองอย่างที่มันควรจะเป็น"
เมื่อใดที่ Aphorism ขัดแย้งกับความเห็นส่วนใหญ่อย่างรุนแรงจนกระทั่งดูราวกับว่ามันจะกล่าวความเท็จ และต่อเมื่อได้สกัดรูปแบบที่ดูเกินจริงของข้อความออกไปจนพอจะมองเห็นความจริงบางอย่างแล้วนั่นแหละ ความเป็น Paradox จะเผยร่างพรางกายออกมา
แล้วเราจะทดสอบความจริง (truth) ของ Aphorism ได้ยังไงล่ะ? Eco เสนอให้เราลองกลับ (reverse) ประโยคดูว่า Aphorism ที่ "คมๆ" นั้น หากถูกกลับความหมายแล้วจะยังฟัง "คม" และ "จริง" เหมือนเดิมไหม ถ้าปรากฏว่าความหมายที่กลับแล้วยังคงจริงอยู่ ก็แสดงว่าความจริงของคำคมนั้น "จริง" เพียงบางส่วนเท่านั้น (พูดแบบนี้ก็ถูก พูดกลับตาลปัตรก็ถูกอีกเหมือนกัน) Aphorism ต่อไปนี้จึงน่าเคลือบแคลง เพราะถึงจะกลับหัวกลับหางข้อความตั้งต้นแล้ว มันก็เป็นความจริงได้พอๆ กัน
"ใครๆ ก็สร้างประวัติศาสตร์ได้ เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สามารถเขียนประวัติศาสตร์" เ "ใครๆ ก็เขียนประวัติศาสตร์ได้ เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์"
"มีผู้หญิงบางคนที่ไม่สวย แต่มีไอแห่งความงาม" เ "มีผู้หญิงบางคนที่สวย แต่ไม่มีไอแห่งความงาม"
"ใครที่เห็นความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย คนคนนั้นไม่มีทั้งสองอย่าง" เ "ใครที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย คนคนนั้นไม่มีทั้งสองอย่าง"
"ยิ่งเราศึกษาศิลปะมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งใส่ใจธรรมชาติน้อยลงเท่านั้น" เ "ยิ่งเราศึกษาธรรมชาติมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งใส่ใจศิลปะน้อยลงเท่านั้น"
"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เ "ความรู้สำคัญกว่าจินตนาการ"
"ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" เ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่อื่น"
Aphorism ที่เมื่อกลับความหมายให้ตรงกันข้ามแล้วยังคงความจริงอยู่ได้ ก็ย่อมแปลว่ามันไม่ได้ใส่ใจความจริงอย่างแท้จริง การที่คำคมอย่างนี้ดูเหมือนจะนำเสนอความจริง เป็นเพราะลีลาภาษาที่ดูสวยงามเฉลียวฉลาดเคลือบเอาไว้ต่างหาก
แม้จะดูคลับคล้ายคลับคลาในบางครา Paradox กลับไม่ได้มีอุปนิสัยใจคออย่าง Aphorism ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่าเราไม่สามารถกลับประโยคที่เป็น Paradox เพื่อที่จะทำให้ประโยคนั้นจริงได้ เพราะ Paradox เป็นการพลิกกลับวิธีคิดที่เป็นที่ยอมรับในสังคมแต่แรกอย่างแท้จริงอยู่แล้ว Paradox จึงเป็นวิถีทางตรรกะอันยอกย้อนไปสู่ความจริง ถ้าประโยคแบบ Aphorism ทำให้เรารู้สึกคล้อยตามและแทงใจในวูบแรกที่อ่าน ประโยคแบบ Paradox กลับจะทำให้เรารู้สึกสะดุดชะงัก มึนงง และยากจะเชื่อในทันทีจนต้องคิดกลับไปกลับมาอีกหลายๆ ครั้ง
"เพื่อที่จะเป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดที่เธอต้องการก็คือข้อบกพร่องสักอย่างหนึ่ง"
"การลงทัณฑ์มีไว้ขู่พวกที่ไม่ต้องการทำบาป"
"ฉันฝันถึงความเป็นจริง ช่างโล่งอกเสียนี่กระไรที่ได้ตื่นจากฝัน!"
"แม้แต่ในขณะที่เขากำลังอยู่ในความเงียบ ก็ยังมีความผิดพลาดทางไวยากรณ์"
"เฉพาะพวกที่ตื้นเขินเท่านั้นที่รู้จักตัวเอง"
"ความทึ่มเป็นช่วงวัยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความซีเรียส"
ถ้าคำคมไม่ได้คมจริงๆ มันจะยังเป็นคำคมอยู่หรือไม่? วัฒนธรรมของเรารู้จัก-ไม่ต้องทะเยอทะยานไปถึงสันทัด-การตรวจสอบคำคมกันบ้างหรือเปล่า? นอกจากสุภาษิตคำพังเพยเก่าๆ แล้ว เรามีปัญญาและปฏิภาณในการสร้างคำคมใหม่ๆ กันบ้างไหม? หรือว่าส่วนใหญ่ที่พอจะมีกลับมักจะเป็นคำทื่อๆ ที่แสดงหรือตอกย้ำวิธีคิดดาษๆ ที่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ทั้งที่คิดในกรอบและคิดนอกกรอบอยู่แล้ว? หรือถ้าเข้าข่ายเป็นคำคมก็อาจจะคมแบบเฝือๆ หรือเป็นประเภท reverse ได้!
บางทีวิถีแห่ง Paradox ที่ลึกล้ำที่สุดวิถีหนึ่งคือวิถีแห่งเต๋า
"The words of truths are always paradoxical." - Lao Tzu
บางที Paradox ก็เป็นสิ่งสูงส่งจนเจ็บแสบ
"Take away paradox from the thinker and you have the professor." -Soren Kierkegaard
คำที่คมไม่จริง ต้องเพ่งนานๆ จึงจะเห็น แต่การจะเห็น Paradox ได้ ต้องหลับตา
ข้าพเจ้าไม่คิดว่าคำที่เพิ่งกล่าวไปนี้ "คม" แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้มันไม่ "จริง"
1 มกราคม 2549 09:18 น.
เวทย์
"เคานต์ดาวน์"สวัสดีแฮปปี้นิวเยียร์
โดย : ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ
ได้เวลา "นับถอยหลัง" สิบ เก้า แปด เจ็ด หก ห้า สี่ สาม สอง หนึ่งศูนย์เสียงไชโยต้อนรับ "ปีใหม่มนุษย์" กระหึ่มก้อง กังวานไกลไปทั่วจักรวาล อันเป็นเทศะที่ไร้ขอบเขต ไปถึงดาวบางดวงที่อยู่ไกล หลายล้านปีแสง ใช้เวลาเดินทางหลายล้านล้านปีเสียง
เวลาเดินทางมาหาเรา หรือเราเดินทางไปหามัน ตั้งแต่เราเกิดจนเราตาย ชีวิตเดินทางไปหาความตาย หรือความตายเดินทางมาหาชีวิต คงไม่มีใครคิดถึงความตายขณะกำลัง "เคานต์ดาวน์" ต้อนรับปีใหม่
คำว่า "เกิด" และ "ตาย" คือความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คำพระว่า "อนิจจัง" เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนอยู่เช่นนี้
เป็นเช่นนั้นเองคำพระว่า "ตถาตา" ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปตามเหตุและปัจจัย ถ้า "ตั้งอยู่" คือปัจจุบัน การ "เกิด" ก็คืออดีต "ดับไป" ก็คืออนาคต แต่ "อนิจจัง" คือความเคลื่อนไหวเป็น "วัฏฏะ" เป็นวงกลม ไม่มีต้น ไม่มีปลาย
มนุษย์กำหนด "เวลา" ตามเหลี่ยมเล่ห์แห่ง "เทศะ" โลกหมุนรอบตัวเองทำองศากับตะวัน ซึ่งมีแสงสว่างในตัวเอง ทำให้เกิดกลางวันกลางคืน มืดและสว่าง
ถ้าโลกใบใหญ่กว่านี้สักครึ่งเท่า หนึ่งวันของโลกย่อมยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง หนึ่งเดือน หนึ่งปี ก็ย่อมยาวนานออกไปตาม "ตัวเลข" ที่มนุษย์กำหนดนับ
หากไม่มีเกณฑ์กำหนดนับ มนุษย์คงไม่สามารถบอกได้ถึงความรู้สึกที่ตนมีต่อ "เวลา"
เราเคยได้ยินการ "นับถอยหลัง" ในหลายครั้ง หลายกาละและเทศะ
การปล่อยจรวดส่งยานอวกาศสู่เวิ้งจักรวาล ก็มีการ "เคานต์ดาวน์"
การจุดชนวนระเบิดทำลายล้างก็มีการ "เคานต์ดาวน์"
วินาทีที่นักบินคนหนึ่งจะกดปุ่มทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา ก็มีการ "เคานต์ดาวน์" จากภาคพื้นดิน
เด็กๆ เล่นซ่อนหาไม่นับถอยหลัง แต่นับไปข้างหน้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ
กรรมการมวยบนเวทีก็นับไปข้างหน้า นับช้าๆ ด้วยจังหวะสม่ำเสมอ ให้เวลาแก่ผู้พลาดพลั้งที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
บางครั้ง การนับหนึ่งถึงสิบในใจของใครคนหนึ่ง คือการตั้งสติข่มใจให้อดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ตน ให้โอกาสตนเองพบหนทางที่ถูกต้อง
การนับหนึ่งถึงสิบ ด้านหนึ่งคือการแสดงพลังอำนาจของ "เวลา" ที่ครอบงำมนุษย์ไว้ อีกด้านหนึ่งคือพลังของมนุษย์ที่จะต่อต้านขัดขืน
31 ธันวาคม-1 มกราคม เวลาเที่ยงคืนตรง คือรอยต่อของปีเก่าและปีใหม่
เราจ้องมองเข็มนาฬิกาอย่างใจจดใจจ่อ ไม่เห็นความเคลื่อนไหวของเข็มชั่วโมง เห็นเพียงอาการเคลื่อนไหวของเข็มวินาที ขณะที่เข็มนาทีรอคอยอยู่อย่างนิ่งงัน กระทั่งเข็มวินาทีเคลื่อนมาถึง เข็มนาทีจึงขยับหนึ่งก้าว พร้อมเสียงสัญญาณบอกเวลาเที่ยงคืนตรง ตามด้วยเสียงไชโยโห่ร้อง ขณะที่เข็มวินาทีเคลื่อนที่ต่อไปโดยไม่มีใครสนใจมองมัน
ทุกสรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งแม้แต่ขณะเรานั่งอยู่นิ่งๆ หัวใจของเราก็ยังเต้นตึกๆ บีบตัวและคลายตัวตามจังหวะที่อยู่เหนือความควบคุมของเรา กระแสเลือดในกายคงไหลเวียน ลมหายใจเคลื่อนไหว เข้า-ออก เข้า-ออก
เหลียวมองไปรอบกาย มนุษย์ สัตว์ และพืชทั้งหลายต่างเคลื่อนไหวไปตามกิริยาและอิริยาบถทางกาย ยานยนต์ที่มนุษย์สร้างเคลื่อนที่ไปตามประสงค์ของมนุษย์ มีความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวที่เราเห็นได้ด้วยตา ความรวดเร็วจนเราแทบมองไม่ทัน อย่างเชื่องช้าจนเราแทบสังเกตไม่เห็น
เราตื่นใจกับซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุนับล้านล้านปี ตื่นใจกับโครงกระดูกของลิงบรรพบุรุษมนุษย์ เด็กๆ ตื่นเต้นที่เห็นเมฆก้อนใหญ่เคลื่อนไหวคลี่คลายเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ในชั่วขณะแห่งจินตนาการ หญิงสาวคนหนึ่งปลื้มปีติล้นเหลือทุกขณะจิตต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ตน
ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสสาร ปฏิกิริยา ปฏิสัมพันธ์ เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
ส้มผลนั้นเริ่มบวมช้ำ, เนื้อชิ้นนั้นเริ่มเน่าและโชยกลิ่น, ดอกไม้ดอกนั้นโปรยกลีบแห้งร่วงโรยลง แพร่พันธุ์และขยับขยายเนื้อที่อยู่ในร่างกายของใครคนหนึ่ง, ความคิดชั่วร้ายกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในกะโหลกศีรษะใบหนึ่ง
โลภะ โทสะ โมหะ คือการเคลื่อนไหวของมโนกรรม กำลังเคลื่อนขบวนออกทางวจีกรรม และกายกรรม มีความเคลื่อนไหวอยู่ภายนอก มีความเคลื่อนไหวอยู่ภายใน ความเคลื่อนไหวที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ และที่มนุษย์ควบคุมได้
มนุษย์มองความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยสายตาแห่งสติปัญญา และด้วยจิตใจที่นิ่งแน่ว เพื่อเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกและภายในมโนกรรมของตนเองอย่างละเอียดลึกซึ้ง
ยังมีความเคลื่อนไหวของสายลมสายหนึ่งซึ่งคนเรามักละเลย คือลมหายใจเข้า-ออกของเราเอง
ขณะที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุซึ่งก่อผล และเป็นผลซึ่งก่อเหตุ ต่อเนื่องไปไม่รู้จบ
การเกิด เจ็บป่วย เจ็บปวด ความตาย การสืบพันธุ์ ความรัก ความเกลียด สรรเสริญ นินทา การกิน การอยู่ การบ้าน การเมือง เศรษฐกิจ เคียดแค้น เข่นฆ่า อคติ ฉันทาคติ ความรู้สึก นึก คิด
บางทีการเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของลมหายใจตน อาจเป็นทางออกสู่แห่งแสงสว่าง
"เคานต์ดาวน์" ปีใหม่ ขอให้ทุกท่านมีความสุข สงบ สันติ เทอญ
สิบ เก้า แปด เจ็ด หก ห้า สี่ สาม สอง หนึ่งศูนย์ศูนย์ คือความว่างจากอัตตา นำมาซึ่งความสุข สวย สันติ ของมนุษยชาติทั้งมวล