22 พฤศจิกายน 2548 08:10 น.
เวทย์
เหตุผลพระราชกฤษฎีกา ยุบเลิกกฟผ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย คณิน บุญสุวรรณ
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2548 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอันส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประโยชน์ได้เสียของประชาชนอย่างลึกซึ้ง รวม 2 ฉบับ
พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548
และพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน)
พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 23 มิถุนายน 2548 ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา
พูดง่ายๆ คือ ประกาศปุ๊บก็ใช้ปั๊บเลยทีเดียว
ผลบังคับแบบเฉียบพลันทันใด ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 คือ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ เป็นอันยกเลิก นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 5 ฉบับ ซึ่ง ณ วันนี้ ได้กลายเป็น "อดีต" ไปแล้วโดยสมบูรณ์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535
ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่ยังพูดปาวๆ แบบไม่อายฟ้าดินว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่แล้วละก้อ ใครคนนั้นถือว่า "พูดความจริงครึ่งเดียว" แต่ "พูดโกหกเต็มคำ"
ที่ว่าพูดความจริงครึ่งเดียว คือ ขณะนี้กระทรวงการคลังอาจจะถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ยอมพูด คือ "ไม่ช้าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ก็ต้องขายหมด"
ส่วนที่ว่า "โกหกเต็มคำ" นั้น คือ ที่บอกว่าบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ เพราะในความเป็นจริงนั้น การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น ถือเป็น "นิติฆาตกรรม" ซึ่งลบล้างและยุติความเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ในฐานะเป็น "หน่วยงานของรัฐ" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งถือกำเนิดและดำเนินกิจการมาตลอด 37 ปี ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
การที่องค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันต่อสู้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้สั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนำไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น
จุดสำคัญ อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของภาคประชาชนในครั้งนี้อยู่ที่บทบัญญัติมาตรา 11(2) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า "ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี"
เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย รวมทั้งระบบกฎหมายไทย ที่ราษฎรธรรมดาๆ สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ออกมาใช้บังคับโดยอาศัยเพียงแค่อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้
เพราะก่อนหน้านั้น "ไม่ว่าผู้ใดจะได้รับความเดือดร้อนแค่ไหน จากผลการบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกา" ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปร้องขอให้ศาลหรือองค์กรใดๆ ยกเลิก "กฎ" นั้นได้
อย่างดีก็เพียงแค่ไปฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อขอความคุ้มครองเป็นรายๆ ไปเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น ศาลยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอน "กฎ" หรือ "พระราชกฤษฎีกา" นั้นได้
โดยปกติ การออกพระราชกฤษฎีกาก็จะเป็นการออกมาเพื่อรองรับพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยศักดิ์ทางกฎหมายแล้ว ต้องถือว่าพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ
เหตุผลก็คือ พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร แต่พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ออกโดย "คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา" ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ
และด้วยเหตุนี้ ถ้ารัฐบาลใดเห็นว่าสมควรยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับใด สิ่งที่จะต้องทำ และทำจนเป็นประเพณีในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การเสนอเป็น "ร่างพระราชบัญญัติ" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
จะมียกเว้นก็แต่เฉพาะในยุคเผด็จการทหารเท่านั้น ที่ออกประกาศคณะปฏิวัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติกันเป็นว่าเล่น
แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ในยุคปฏิรูปการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก กลับมาทุบโต๊ะออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติเสียเอง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นเสมือนฟ้าฟาดลงมากลางใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า คือ การออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวดเดียว 5 ฉบับ ภายในวันเดียว คือ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 และพร้อมกันนั้น ก็ทำการแปลงสมบัติชาติซึ่งอยู่คู่คนไทย และคนไทยเป็นเจ้าของมาตลอด 37 ปีเต็ม ให้กลายไปเป็นทรัพย์สินของเอกชนและนายทุนชาวต่างชาติอย่างเป็นการถาวร
และนี่คือเหตุผลหลักที่ราษฎรธรรมดาๆ ที่รักชาติรักแผ่นดินและหวงแหนสมบัติชาติ จะสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้ เพื่อให้ กฟผ.กลับมาเป็นสมบัติของชาติอย่างเดิม
ข้อกล่าวหา ก็คือ เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อประเพณีอันดีงามของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่สำคัญ เป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและของประชาชน
พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน
เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ออกกฎหมายเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับคำแนะนำและยินยอมจากรัฐสภาตามกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ โดยที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 92 มาตรา 221 และมาตรา 230 วรรคสอง และยังขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย
พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารทำการถ่ายโอนหรือแปลงสภาพ "ทรัพย์สินและกิจการของรัฐ" หรือที่เรียกกันว่า "สมบัติชาติ" ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน ไปเป็นทรัพย์สินและกิจการของเอกชน ซึ่งเป็น "สมบัติส่วนตัว" ของผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในจำนวนผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้น มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย
ในขณะที่ยังบังคับให้ประชาชนทั้ปงระเทศต้องแบกรับภาระ "หนี้" ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) นั้นต่อไป โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน "หนี้" ดังกล่าว ถึงแม้จะแปลงสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ยังมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ที่บัญญัติว่า "รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม และกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค" อีกด้วย เพราะพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเปิดโอกาสให้เอกชนซึ่งรวมทั้งนายทุนต่างชาติ เข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการ หรือถึงขั้นผูกขาดด้วย
การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
ซึ่งในเบื้องต้นศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว ให้ระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อแปลงสภาพองค์กรนี้ตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
จากนี้คงขอบารมีและความยุติธรรมอันสูงส่งของศาลปกครองสูงสุด จงเป็นที่พึ่งแก่ปวงประชาราษฎรผู้รักชาติ รักแผ่นดิน รักความเป็นไทย รวมทั้งลูกหลานไทยตาดำๆ ด้วยเถิด
9 พฤศจิกายน 2548 08:24 น.
เวทย์
แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์
ครองสมบัติรัตนานามธานี
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์
ภูเขาโขดเป็นกำแพงบุรีศรี
สะพรึบพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี
ชาวบุรีหรรษาสถาพร
ผมเอากลอนต้นเรื่อง พระอภัยมณี มาสำหรับเป็นอุทาหรณ์ว่าทัศนคติที่กำหนดให้ สัมผัสใน อันแพรวพราวเป็นคุณสมบัติสำคัญของ กลอนสุนทรภู่ นั้น น่าจะคลาดเคลื่อน
เมื่อแบ่งวรรคแต่ละวรรคของกลอนแปดหรือกลอนตลาดซึ่งสุนทรภู่ใช้ประจำออกเป็นช่วงๆ ตามที่นิยมกันมาคือ
OOOOOOOO
ก็ถือเป็นแบบอย่างกันต่อๆมาว่าจะต้องมีสัมผัสในระหว่างคำที่ 3 กับ 4 และคำที่ 5 กับ 7 (หรือ 5 กับ 6 ก็อนุโลมให้) และบางคนเคร่งครัดถึงขนาดบอกว่าหากกลอนวรรคใดไม่มีสัมผัสในครบตามนี้ก็ถือว่าไม่ไพเราะ
แต่ถ้ามีครบถ้วนเช่นที่กล่าวมาก็จะได้รับการยอมรับว่าตรงตาม แบบฉบับกลอนสุนทรภู่ขนานแท้
ตอนนี้ลองย้อนกลับไปอ่านกลอนต้นเรื่อง พระอภัยมณี อีกสักรอบ (หรือหลายๆรอบก็ไม่ผิดกติกา)
ลองดูว่ามีวรรคที่เราโมเมว่านั่นคือแบบฉบับกลอนของสุนทรภู่กี่วรรค เอาแบบวรรคต่อวรรคกันเลย
เริ่มจากวรรคแรก เห็นจะๆว่าช่วงท้ายวรรคไม่มีสัมผัสใน
วรรคที่ 2 เหมือนกันกับวรรคแรก
วรรคที่ 3 ได้มาหนึ่งวรรคละที่สัมผัสในไม่ขาดไป
วรรคที่ 4 ถ้าช่วงท้ายถือตามเสียงโดยไม่ดูรูปสระ ก็เป็นอันอนุโลมได้
วรรคที่ 5 ปลอดสัมผัสในโดยสิ้นเชิง
วรรคที่ 6 ช่วงหน้ายักเยื้องมาเล่นสัมผัสอักษร ถือว่าใช้ได้
วรรคที่ 7 ไม่มีสัมผัสในที่ช่วงหน้าวรรค
สรุปว่ามีวรรคที่ถือว่าตรงตามแบบฉบับแค่ 3 วรรค ซึ่งไม่ถึงครึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรคที่ 5 ถึงกับไม่มีสัมผัสในเลยด้วยซ้ำ
ความจริงแล้วกลอนของสุนทรภู่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี หรือเล่มอื่นๆ ก็มีวรรคที่มีสัมผัสในไม่ครบนี้อยู่มาก (ถ้าใครขยันและมีเวลาพอก็ลองไปนั่งค้นหาดู) แต่ดูเหมือนไม่ค่อยจะมีใครตั้งข้อสังเกต ด้วยว่าเมื่อเทียบจำนวนกันแล้ว วรรคที่มีสัมผัสในครบแห่งก็ยังมีมากกว่า ที่สำคัญก็คือแม้กระทั่งวรรคที่ไม่มีสัมผัสในเลยก็อ่านรื่นไม่สะดุดเสียด้วย
บางคนอาจกำลังฉงนว่า แล้วมันน่าใส่ใจตรงไหน เขียนกลอนยาวๆ ขนาดนั้น มันก็ต้องมีที่ใส่สัมผัสในได้ไม่ครบบ้างเป็นธรรมดา
ก็ขอบอกว่า ถ้ากลอนที่ผมยกมานี่อยู่กลางเรื่อง ก็คงเป็นธรรมดา แต่นี่เป็นต้นเรื่อง แปลว่าถ้าท่านจะเขียนให้มีสัมผัสในแพรวพราวขนาดไหนก็น่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรอก
แล้วทำไมสุนทรภู่ไม่ได้ใส่สัมผัสในให้แพรวพราวตรงจุดนี้ ?
ห้ามตอบว่าเป็นเพราะตอนต้นๆอย่างนี้ เครื่องยังไม่ร้อน เพราะจะเป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดิน แถมดูแคลนความสามารถของสุนทรภู่อีกต่างหาก
ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะสุนทรภู่แต่ง พระอภัยมณี ในช่วงต้นๆ ของชีวิต ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในนิราศเมืองเพชร ซึ่งเชื่อว่าเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายในชีวิตท่านก็มีหลายวรรคที่เป็นอย่างนี้ เช่น
1) ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม........คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
2) ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์..................ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน
หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร...............คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี
3) ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องมี...............มาถึงที่ก็จะต้องนองน้ำตา
4) พฤกษาออกดอกลูกเขาปลูกไว้.............หอมดอกไม้กลิ่นกลบอบละอองฯ
5) สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง...................เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ากลอนช่วงหลังของสุนทรภู่ วรรคที่มีสัมผัสในไม่ครบแห่งหรือไม่มีเลยจะเป็นวรรคคู่ของกลอน
วรรคคี่ (ต้น,รอง) กับวรรคคู่ (รับ,ส่ง) ของกลอนนั้น แตกต่างกันตรงที่วรรคคี่จะมีเพียงคำท้ายวรรคเท่านั้นที่ต้อง รับ-ส่ง สัมผัสนอก กับวรรคอื่น จึงไม่มีการพันกันระหว่างสัมผัสนอกและสัมผัสใน ในขณะที่วรรคคู่เพิ่มคำรับสัมผัสนอกที่ตรงกลางวรรคเข้ามาซ้อนตำแหน่งกับสัมผัสในด้วย โอกาสพันกันก็มีมาก
บางตำราถือว่า หากคำใดรับสัมผัสนอกซึ่งเป็นสัมผัสสระแล้ว หากรับ-ส่งสัมผัสสระเป็นสัมผัสในอีก ก็จะทำให้เลือกไม่ถูกว่าจะเอาคำไหนเป็นคำรับสัมผัสนอก จึงตำหนิว่าเป็น สัมผัสเฝือ
จะเห็นว่าสุนทรภู่ท่านก็ไม่ค่อยจะเอาคำที่รับสัมผัสนอกไปสัมผัสในด้วยสัมผัสสระอีก แต่จะยักเยื้องเป็นสัมผัสอักษร หรือสัมผัสตกกระทบ
และบางที ท่านก็ทิ้งสัมผัสในตรงช่วงนั้นไปดื้อๆ (ไม่รวมที่ท่านทิ้งสัมผัสในไปทั้งวรรค)
มีข้อน่าศึกษาว่า ทำไมตรงจุดที่ท่านทิ้งสัมผัสในไปเสียจึงไม่มีอาการสะดุด ?
ตรงนี้แหละเป็นจุดที่ผมเห็นว่าทัศนคติที่กำหนดให้ สัมผัสใน อันแพรวพราวเป็นคุณสมบัติสำคัญของ กลอนสุนทรภู่ นั้น น่าจะคลาดเคลื่อน
เพราะผมสังเกตว่าท่านได้เอา สัมผัสใจ เป็นหลักยิ่งเสียกว่าสัมผัสใน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเด่นประการสำคัญของกลอนสุนทรภู่อีกอย่างหนึ่งก็คือความคมคายของเนื้อความ พูดง่ายๆ คือกลอนของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยรสความ ที่ท่านบรรจงฉายผ่านคำจน กินใจ ผู้อ่าน
และเมื่อใดที่ท่านต้องเลือกระหว่างสัมผัสในกับสัมผัสใจแล้ว ท่านเลือกอย่างหลังทุกครั้ง
อาจมีวรรคที่ไม่ได้เล่นสัมผัสในจนแพรวพราวหรือแม้กระทั่งไม่มีสัมผัสในเลยแทรกปนอยู่ทั่วไปในกลอนสุนทรภู่ แต่ผมไม่เคยเห็นว่ามีสักวรรคที่ เสียความ
ความต่อเนื่องสอดคล้องของเนื้อความ บวกด้วยความราบรื่นของจังหวะและเสียงในวรรคกลอนของสุนทรภู่นี่เองที่มาแทนที่สัมผัสในได้อย่างกลมกลืน จนเราไม่รู้สึกสะดุดเวลาอ่าน
และกลอนหลายๆบทของท่านที่เราต่างจำขึ้นใจนั้น มิใช่เพราะ ความ ที่กินใจของมันหรอกหรือ ?