23 กันยายน 2546 08:47 น.

ผ่านมา..แล้วก็ผ่านไป

เวทย์

 เยือนที่นี่วันนี้ปีที่แล้ว
มาเห็นแววไมตรีมีสนอง
อบอุ่นจนประทับใจในครรลอง
ทำให้ต้องอยากมอบสิ่งตอบแทน

คนรุ่นเยาว์เหล่านั้นฝันสวยใส
รอเพียงใครนำทางอย่างถูกแผน
แต่การให้ความรู้เหมือนดูแคลน
เขาหนักแน่นหรือเปล่าควรเข้าใจ

นักเลงกลอนรุ่นเก่าเฝ้าครุ่นคิด
อยากชี้ทิศบอกทางสว่างไสว
คำถามนี้มีแน่.แกเป็นใคร
เก่งแค่ไหนกล้าสอนเขียนกลอนกานท์

จึงเกิดนามปากกาชื่อว่าเวทย์
ใช่วิเศษวิศิษฏ์อย่าผิดสาร
คือ..พึงรู้..แล้วทำจนชำนาญ
สร้างชิ้นงานเกื้อหนุนคนรุ่นเยาว์

ใช่หวังฝากฝีมือสร้างชื่อเสียง
แต่หวังเพียงกวีไทยไม่อับเฉา
กลัวเสื่อมสูญสิ่งดีที่รุ่นเรา
จึงทนเฝ้าเก็บฝันกลั่นบทกลอน

เป็นแบบอย่างวางไว้ให้เรียนรู้
สำหรับผู้ใฝ่หาอุทาหรณ์
แฝงหลักการงานประพันธ์ทุกขั้นตอน
เหมือนวิงวอนให้เขาเอาไปตรอง

อาจจะเป็นหนึ่งปีที่เหนื่อยล้า
แต่คุ้มค่าผลลัพธ์กลับสนอง
หวังรสความรสคำนำทำนอง
สร้างมือทองรุ่นใหม่ในวงวรรณ 







เพื่องานเลี้ยงเลิกราน่ารำลึก
ฝากบันทึกแทนใจไว้กล่อมขวัญ
ความทรงจำแสนหวานนานนิรันดร์
ยิ้มให้กัน..ลาก่อนบ้านกลอนไทย


เป็นงานชิ้นสุดท้ายของผมสำหรับที่นี่
จากนี้ไปคงแค่แวะมาทักทายบ้างเท่าที่โอกาสอำนวย				
19 กันยายน 2546 13:39 น.

พจน์

เวทย์

ราวสายลมเริงร่ายล้อสายหมอก
ก่อนเย้าหยอกภูผาผืนป่าปก
แล้วกล่อมเห่ห้วงฝันอันสะทก
ในอ้อมอกคืนวันแห่งพันธะ

เจือความงามความหมายสู่ลายลักษณ์
กอบถ้อยทิพย์ผจงถักสร้อยอักขระ
อุดมการณ์บานบ่มคมวาทะ
นำสัจจะบรรจุมธุรส

โศกก็โศกยิ่งกว่าพญาโศก
ประโลมโลกก็หวานปานจะหยด
ครั้นเสียดสีสาสมอารมณ์ประชด
บริบทโดยตลอดก็สอดรับ

วิญญาณแห่งบทกวีสุนทรีทิพย์
สมควรจิบเรื่อยร่ำเรียงลำดับ
เพื่อให้ถ้อยทุกถ้อยค่อยซึมซับ
ผ่านเสียงขับของโศลกโลกทรรศน์

ความอ่อนหวานอ่อนไหวในพิภพ
จงบรรจบผสานเกลียวเกี่ยวกระหวัด
มโนภาพซาบซึ้งช่วยรึงรัด
เป็นอาณัติกำหนดบทบาทมนุษย์

อย่าเจื้อยแจ้วแล้วคล้อยเลื่อนลอยลับ
แทรกทุกศัพท์ด้วยคติบริสุทธิ์
เผยเงื่อนงามตามธรรมพระสัมพุทธ
ให้เป็นจุดเกิดแสงแห่งชีวิต				
18 กันยายน 2546 09:15 น.

ฝันร้าย ?

เวทย์

ป้องกันสิทธิ์ส่วนตัวด้วยรั้วล้อม
ความโอบอ้อมอารีมีสิ่งขวาง
สายสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนจึงเลือนลาง
เมื่อเส้นทางไมตรีจิตถูกปิดตาย

ในสังคมคนเมืองอันเคืองเข็ญ
ที่ความเป็นชุมชนกลับหล่นหาย
เหมือนหลงป่าที่เปลี่ยวเพียงเดียวดาย
อันตรายเร้นหลืบรอคืบคลาน

เมื่อต่างคนก็อ้างว่าต่างอยู่
ไม่รับรู้เรื่องราวของชาวบ้าน
คำว่าความร่วมมือหรือเจือจาน
เป็นตำนานล้าสมัยใกล้ลบเลือน

สัญชาตญาณระวังภัยใช้พร่ำเพรื่อ
จนไม่เหลือศรัทธาคำว่าเพื่อน
สังคมที่มีแต่ความแชเชือน
บ่อยครั้งเราเผาเรือนเพื่อนกันเอง

ท่ามกลางความอึกทึกน่าครึกครื้น
ทุกวันคืนครองชีพอย่างรีบเร่ง
เมืองที่ไม่เคยหลับกลับวังเวง
คนคว้างเคว้งขาดใครให้พึ่งพา

วันที่ความสันโดษตามโขดเขา
รอแค่เราเปลืองแรงแสวงหา
หลังอ่อนเพลียล้มพับนอนหลับตา
ฝันไปว่าทั้งหมดนั้นแค่ฝันไป				
17 กันยายน 2546 14:33 น.

เสียงกลอน (ฉบับย่อ)

เวทย์

แจ้วจำเรียงเพียงพ้องทำนองเสนาะ
ความไพเราะบทกลอนตอนขับขาน
หากใคร่ครวญจัดคำอย่างชำนาญ
ย่อมบันดาลผู้ฟังนั่งเคลิ้มตาม






ความจริงกลอนก็เหมือนโคลง หรือร้อยกรองไทยอื่นๆ ตรงที่แต่เดิมใช้ขับ หรืออ่านทำนองเสนาะ 
เสียงจึงต้องเหมาะกับท่วงทำนองในการขับ พูดง่ายๆคือกลอนก็เหมือนเนื้อเพลง
จึงมีการไล่ระดับเสียงสูงต่ำตามธรรมชาติของคำไทยที่มีเสียงวรรณยุกต์ 
เปลี่ยนเสียงก็กลายเป็นคนละคำ คนละความหมายไป
และการไล่ระดับเสียงก็ไม่ใช่กระชากโหนสูง หรือดิ่งต่ำแบบหัวทิ่มดิน ไม่ผิดหรอกแต่ไม่ไพเราะน่ะ

ก่อนอื่นขอพูดคร่าวๆถึงเสียงของคำท้ายวรรคก่อนว่าท่าน(ใครก็ไม่รู้)กำหนดไว้อย่างไร
กลอนบทหนึ่งมี ๔ วรรค ก็มีการกำหนดว่าเสียงท้ายแต่ละวรรคควรเป็นดังนี้
๑. กลอนสลับ ได้แก่ กลอนวรรคต้น คำสุดท้าย ใช้คำเต้น คือนอกจากเสียงสามัญ แต่ถ้าจะใช้ ก็ไม่ห้าม 
๒. กลอนรับ ได้แก่ กลอนวรรคที่สอง คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงจัตวา ห้ามใช้เสียงโท, สามัญ, ตรี, และวรรณยุกต์เอกมีรูป วรรณยุกต์เอกไม่มีรูป ไม่ห้าม แต่ต้องให้คำสุดท้าย ของกลอนรอง เป็นเสียงตรี 
๓. กลอนรอง ได้แก่ กลอนวรรคที่สาม คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงสามัญ ห้ามใช้เสียงจัตวา หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำตายเสียงตรี ก็ได้ ถ้าวรรครับใช้คำตายเสียงเอกส่งมา 
๔. กลอนส่ง ได้แก่ กลอนวรรคที่สี่ คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงสามัญ ห้ามใช้คำตาย และคำที่มีรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำตายเสียงตรี บ้างก็ได้ 
ที่ว่ามานี้ลอกมาจากตำรา แต่ขอบอกว่าผมเองก็ไม่ได้เคร่งครัดนักในหลายๆจุด 

เห็นผมโหมโรงด้วยเสียงคำท้ายวรรค อย่าเพิ่งด่วนเข้าใจว่าเสียงกลอนมีเฉพาะเสียงคำท้ายวรรคเชียวนา
แต่ต้องเริ่มตรงนี้ก่อน เพราะเห็นว่าถ้าเสียงคำท้ายวรรคไม่เสียก็ถือว่าพอกล้อมแกล้มไปได้น่ะ

ขอบอกไว้นิดว่า ที่จริงแล้วฉันทลักษณ์นั้นเริ่มจากการไม่มีกฏอะไรหรอก
ก่อนจะมีคนมาบอกว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็เชื่อตามๆกันมา
แต่ทางที่ดีก็ฟังเอาไว้ อย่าไปวิวาท เพราะลางเนื้อชอบลางยา

ตานี้ก็ขอขยายความหน่อยว่ากลอนนั้นแบ่งเป็น ๒ บาท (รวม ๔ วรรค)
ปกติแล้วบาทแรกนิยมให้ไต่ขึ้นสูง ขณะที่บาทหลังเป็นการ landing หรืออย่างน้อยก็ลดระดับลงจากบาทแรก
ตรงนี้แหละที่เป็นกรอบในการกำหนดเสียงท้ายวรรครวมทั้งเสียงในวรรคแต่ละวรรค

การที่ท้ายวรรคแรกไม่นิยมให้ใช้เสียงสามัญ แต่ให้ใช้คำเต้น
เพราะถ้าเป็นเสียงสามัญก็ขัดกับหลักการที่จะให้ไล่ระดับเสียงในบาทแรกไต่ขึ้น  
แถมจะทำให้เสียงจืดชืดเวลาอ่านทำนองเสนาะด้วย
จากวรรคแรกก็คือวรรคสอง
ในความคิดของผม วรรคสองเป็นวรรคที่สำคัญที่สุด และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า วรรครับ ก็สมชื่อ เพราะรับสัมผัสมาจากบทก่อนหน้า
บางตำราท่านว่าเสียงท้ายวรรครับนี้ให้ใช้แต่เสียงจัตวา กับคำตายเสียงเอก
ซึ่งกรณีหลังนี้โดยปริยายคือรับกับคำตายเสียงตรีที่ส่งมาจากบทก่อน ดังนั้นถ้าเป็นบทแรกจึงไม่นิยมใช้เสียงเอกตรงนี้ 
บางตำราไม่เคร่งขนาดนั้น คือยอมให้ใช้ทั้งเสียง เอก โท และจัตวา (จัตวาน่ะแหงอยู่แล้วน่ะ)
ในส่วนของเสียงโท ผมว่าน่าจะไม่มีปัญหา เพราะอ่านดูก็ไม่เห็นสะดุดตรงไหน
แต่เสียงเอกถ้าเป็นกรณีมีรูปวรรณยุกต์ก็จะนิยมใช้เพื่อรับกับเสียงตรีที่ส่งมา 
ทีนี้ก็มาถึงวรรคที่สาม หรือวรรครอง
ท้ายวรรคนี้เสียงต้องลดลงมาจากวรรครับละ
ถ้าให้ดีก็เสียงสามัญไปเลย แต่ถ้าวรรครับเล่นคำตายเสียงเอกไว้ก็ต้องคำตายเสียงตรีโดยธรรมชาติ
ความจริงวรรคนี้ทั้งวรรคควรให้เสียงต่ำกว่าวรรครับด้วย
มิฉะนั้นตอนลงในวรรคสุดท้ายจะลงแรงเกินไป
สำหรับวรรคสุดท้าย หรือวรรคส่ง  ก็ทำนองเดียวกับวรรคที่สามนั่นแล

ยังนะครับ เรื่องยังไม่จบ ......ฮี่ ฮี่ ฮี่

คีตกวีประพันธ์เพลงโดยใช้ระดับเสียงและจังหวะที่แตกต่างกัน
ก็สามารถสะกดคนฟังให้มีอารมณ์กลมกลืนไปกับทำนองเพลงได้
ถ้าเราเข้าใจตรงจุดนี้ และนำหลักการเดียวกันมาใช้ในกลอน
ก็ย่อมจะให้ผลในทำนองเดียวกัน
แบบนี้เขาเรียกว่าเอามุมมองของสหวิทยาการมาใช้

ภาษาไทยมีคุณสมบัติพิเศษกว่าภาษาอื่นตรงที่ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรี 
คำแต่ละคำมีระดับเสียงสูง-ต่ำ สั้น-ยาว และหนัก-เบา แตกต่างกัน
ที่น่าทึ่งก็คือ ระดับเสียงกับความหมายจะสอดคล้องกันด้วย
คำว่า สูง ก็เสียงสูง คำว่าต่ำ ก็เสียงต่ำ
คำว่า รัก เสียงหวาน ส่วนคำว่า เกลียด เสียงดุ
สั้น-ยาว หนัก-เบา ก็เหมือนกัน ฯลฯ

ขอขยายไว้หน่อยว่า เสียง ตรี และ จัตวา ให้สำเนียงหวาน
ขณะที่ เสียง เอก และ โท จะดุ

เอาอย่างนี้ดีกว่า ช่วยอ่านกลอนต่อไปนี้หน่อย

เธอโกรธเกลียดเคียดขึ้งพึงเข่นฆ่า..............พี่โหยหานุชน้องปองถนอม
จะเยาะเหยียดเหยียบย่ำก็จำยอม...............รักแล้วพร้อมยอมพลีแม้ชีวา

แล้วบอกตัวเองว่าเป็นอย่างไร ฮี่ ฮี่

แต่ภาษาไทยมีการยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้เยอะแยะมาก
และคำที่ยืมมาจากภาษาอื่นก็จะไม่ค่อยมีคุณสมบัติที่ว่านี้
ทำให้การใช้คำที่ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ ก็ต้องระวังมากขึ้นในเรื่องเสียง
ที่อาจไปคนละอารมณ์กับเนื้อความ เช่น
ประหวัดจิตพิสวาทนาฏแน่นหนัก 
คงคนละอารมณ์กับ
หลงรักน้องปองถนอมในอ้อมแขน
คำไทยแท้ๆก็เถอะ ถ้าไม่จัดใจความให้ดี ก็พาสะดุดหูได้เหมือนกัน

นอกจากนี้เสียงและจังหวะของกลอนควรจะสอดรับกับเนื้อความด้วย
จะอ้อยอิ่ง หวานหวาม โหยหวน หรือกระชากกระชั้น ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อความ

อย่าง.เดินทอดน่องแป๊บนึงถึงจุดหมาย.อย่างนี้ก็ไม่ไหว
ต้อง.ค่อยค่อยเดินเพลินชมธรรมชาติ........ดารดาษมาลีหลากสีสัน

สรุปคือ เสียงของกลอนไม่ได้มีแค่ระดับสูงต่ำ
แต่ความซาบซึ้งในเสียงจะสมบูรณ์ก็ด้วยเนื้อความที่สอดรับกัน 
พอความคิดเคลิ้มตามรสความก็ทำให้สัมผัสเสียงได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย
เสียงจึงมิใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวสำหรับความไพเราะของกลอน
ถ้ามีแต่เสียง ก็เหมือนฟังเพลงบรรเลง ก็คงไม่ง่ายที่จะเข้าถึงความรู้สึกของเพลง
ข้อสำคัญคือ ต้องให้สอดคล้องกับเนื้อความ ตรงนี้ห้ามลืมเด็ดขาด

แปลว่า ยังไงๆก็อย่าทิ้งรสความเน้อ 
				
16 กันยายน 2546 09:10 น.

สัมผัสใน(โดยสังเขป)

เวทย์

สัมผัสในใส่หน่อยค่อยรื่นหู
แต่หากดูรกตาก็อย่าฝืน
กลอนไพเราะเพราะอารมณ์ที่กลมกลืน
ความไหลลื่นไม่สะดุดจุดสำคัญ


สัมผัสในของกลอน
สัมผัสใน - ( เป็นสัมผัสไม่บังคับ ) ใช้สัมผัสสระหรือสัมผัสอักษรก็ได้ 
โดยที่กลอน 8 นั้น  วรรคหนึ่งจะมีถึง 8 คำ   ถ้าแต่งโดยไม่ใช้คำคล้องจองกันเลย ก็จะขาดความไพเราะ 
กวีจึงเติมสัมผัสลงในวรรค  วรรคละแห่งหรือ 2 แห่ง ตามตำแหน่งดังนี้ 
00000000
คำที่ 3  สัมผัสกับคำที่ 4 
คำที่ 5  สัมผัสกับคำที่ 6หรือคำที่ 7 
ตัวอย่าง
1..ฉุดความหวัง  สังคม  ล้มละลาย
2..มันเกินที่  ทนดู  แล้วอยู่นิ่ง

สัมผัสตกกระทบ - เป็นเทคนิคในการแต่งกลอนอย่างหนึ่ง โดยใช้สัมผัสอักษรเดียวกัน ในจังหวะตกกระทบตามการแบ่งจังหวะการอ่านกลอน คือ      00000000     อักษรตกกระทบคือคำที่ 3 , 5 และ 8
ตัวอย่าง
1..ความรู้สึก  อดสู  มิรู้สิ้น
2..เฉกหลักค้ำ  สำคัญ  หากสั่นคลอน
3..ลบคำหมิ่น  เคยมี  ที่แล้วมา

นอกจากนี้  บางตำราใช้การเล่นล้อคำ  แบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ  สระ  อักษร และ สำเนียงอักษร  ที่น่าสนใจนำมาใช้เล่นในวรรคของกลอนได้แก่

สระ
สระเดียวเรียง 2 คำเป็น  เคียง
. เฉกหลักค้ำ  สำคัญ  หากสั่นคลอน
สระเดียวเรียง 3 คำเป็น เทียบเคียง
.คือฝันร้าย  ยุคล่า  อาณานิคม
สองสระเรียงกันสระละ 2 คำเป็น ทบเคียง
ฉุดความหวัง  สัง     คม  ล้มละลาย

อักษร
อักษรเดียวเรียง 2 คำเป็น คู่
 จากจารีตนครบาลกาลกระโน้น
อักษรเดียวเรียง 3 คำเป็น เทียบคู่
..ละหลักการกฎเกณฑ์ควรเป็นไป
อักษรเดียวเรียง 4 คำเป็น  เทียมรถ
ให้เห็นจริงจะแจ้งแจง ปัญหา
อักษรเดียวเรียง 5 คำเป็น  เทียบรถ
.   มากมุบมิบโมเมเล่ห์พลิกแพลง
สองอักษรเรียงกันอักษรละ 2 คำเป็น  ทบคู่
ค่อยอ่อนโอน เนื่องนำอำนวยผล

สำเนียงอักษร
สำเนียงอักษรเดียวแฝงอยู่หน้าคำเรียง 2 คำ เป็น  สังขะ
.กี่คนเคยเสวยสวรรค์อันเรืองรอง

นอกจากนี้  ยังมีการเล่นล้อคำกันอีกหลายวิธี  แต่ที่ไม่นำมากล่าวไว้ที่นี้เพราะเกรงจะทำให้สับสนจึงขอให้ผู้ที่สนใจลองสังเกตจากกลอนดีๆที่มีผู้แต่งไว้กันเอาเอง
หรือจะศึกษาจาก กลบท บางชนิดก็ได้

การสอดแทรกสัมผัสในลงไปในวรรคของกลอนนั้นเราสามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีคละเคล้ากันสุดแต่โอกาสจะอำนวย   โดยทั่วไปแล้ว  นิยมกันว่าในช่วงท้ายวรรคของทุกวรรคควรมีสัมผัสสระ  ส่วนในช่วงแรกจะเปลี่ยนเป็นสัมผัสอักษรหรือไม่มีเลยก็ยังไม่เป็นไร  
  
เนื่องจาก สัมผัสใน  มีไว้เพียงเพื่อเติมความไพเราะให้กลอน  ทำให้อ่านแล้ว รื่นหู  
แต่การที่กลอนจะรื่นหูนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสัมผัสในทุกจุดจนแพรวพราว  
เพราะปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กลอนไม่สะดุดหูนั้นขึ้นอยู่กับ ความหมายที่สื่อ และ เสียง  
กวีจึงให้ความสำคัญกับ  ความหมายที่สื่อ และ เสียง  มากกว่า สัมผัสสระ หรือ สัมผัสอักษร  ตามตำแหน่งเสียอีก
กลอนของสุนทรภู่เองมีหลายวรรคที่ไม่ได้มีสัมผัสในจนครบตำแหน่ง  บางวรรคก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำไป  เช่น...
                       แต่ปางหลัง  ยังมี  กรุงกษัตริย์
                      สมมติวงศ์  ทรงนาม  ท้าวสุทัศน์
                      ครองสมบัติ  รัตนา  นามธานี
                      อันกรุงไกร  ใหญ่ยาว  สิบเก้าโยชน์
                      ภูเขาโขด  เป็นกำแพง  บุรีศรี
จะเห็นว่าในสองวรรคแรกจะไม่มีสัมผัสในที่ช่วงหลังของวรรค  โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายนั้นไม่มีสัมผัสในสักแห่งด้วยซ้ำ  แต่อ่านแล้วยังรื่นหูโดยไม่มีอาการสะดุด

 กลอนบางวรรคแม้จะมีสัมผัสในแพรวพราว  แต่ถ้ามีลักษณะกลอนพาไปหรือเนื้อความเลอะเลือนวกวน  ก็พาให้สะดุด  สู้กลอนที่แม้ไม่มีสัมผัสในเลยแต่อ่านรื่นหูไม่ได้   บางคนถึงกับบอกว่าการเขียนโดยไม่มีสัมผัสในแล้วยังรื่นหูได้นั้นต้องอาศัยฝีมือยิ่งกว่าเขียนให้มีสัมผัสในแพรวพราวด้วยซ้ำ

				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเวทย์