เขาประทับช้าง

คีตากะ

โครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรง
จากการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างมากยิ่งขึ้นสำหรับเด็กปฐมวัย......
บรรดาคุณครูและผู้ดูแลเด็กก็ได้ประชุมกันว่าปีนี้จะพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาเรียนรู้ที่ไหนกันดี ผลสรุปออกมา
ว่าสถานที่ที่จะไปก็คือ “เขาประทับช้าง” อย่างไม่รอช้า เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ข้าพเจ้าคว้ามอเตอร์ไซค์
คันเก่า ถามว่าเก่าขนาดไหนก็น่าจะราวๆ สัก ๒๐ กว่าปีเห็นจะได้ ก็เพื่อออกไปสำรวจว่า เขาประทับช้าง
อยู่ที่ไหนกันแน่ ? เพราะแม้จะอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีสถานที่แห่งนี้มาก่อนเลย ลองถาม
คนละแวกแถวนี้ดู ก็ไม่มีใครสักคนที่รู้จัก เพียงเพราะมีคุณครูคนหนึ่งที่อ้างว่าเคยไปมาก่อนเมื่อนานมาแล้ว
เท่านั้นเสนอมา เมื่อค้นหาจาก GooGle Map ก็ปรากฏว่ามีสถานที่นี้อยู่จริงๆ และพอดูจากเส้นทางระยะห่าง
จากบ้านแล้วก็ไม่นับว่าไกลเท่าไรนัก การเดินทางก็เริ่มต้นขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับข้าพเจ้าการ
ขี่มอเตอร์ไซค์เป็นการเสพสุขประการหนึ่ง สมัยก่อนเคยขี่มอเตอร์ไซค์สำรวจลุ่มน้ำแม่กลองจากต้นน้ำมาจรด
ถึงปลายน้ำ ซึ่งใช้ระยะทางไกลกว่านี้ จึงคิดว่าครั้งนี้ระยะทางใกล้กว่ามากไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งเป็นการ
คาดคิดที่ผิดพลาดทีเดียว....
การขับขี่มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านทำให้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนที่มีความหลากหลาย ตลอดจน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จากชุมชนหนึ่งไปสู่อีกชุมชนหนึ่ง 
หลังจากที่ออกจากบ้านวิ่งเลียบคลองของชุมชนชื่อ “คลองตาคด” เห็นคลองสายเล็กๆ ตัดผ่านระหว่าง
หมู่บ้าน มีลักษณะคดเคี้ยวไปมาเหมือนกับงูไม่มีผิด ไม่ทราบต้นสายและปลายสายของคลองนี้ 
เพราะไม่เคยสำรวจมาก่อน...
        ถึงตาคดชื่อคลองมองคดเคี้ยว
สายน้ำเชี่ยวแทรกไปในไพรสนฑ์
เห็นหมู่บ้านรายเรียงเคียงฝั่งชล
หัวใจคนจะคดไหมอยู่ใกล้คลอง?
จนตัดผ่านหน้าวัดพระศรีอารย์ เห็นโบสถ์สีทองตั้งตระหง่านอยู่ภายในกำแพงวัดระยิบระยับเปล่งประกาย
ภายใต้แสงอาทิตย์ยามสาย ดูไปเคร่งขรึมอลังการยิ่ง
ผ่านหน้าวัดพระศรีอารย์ตระการใหญ่
ปานสร้างไว้รอองค์พระทรงศรี
มาตรัสรู้ในธรรมเลิศคัมภีร์
ณ วัดนี้เบื้องหน้าอนาคตกาล
 ไม่นานก็ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ไหลมาจากจังหวัดกาญจนบุรี เห็นสายน้ำกำลังเอื่อยไหลมุ่งหน้า
ลงสู่ใต้ ซึ่งจะไหลไปลงทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม เส้นทางนี้เป็นเส้นทางลัดตัดผ่านหมู่บ้าน
ไม่ใช่เส้นทางหลัก การจราจรจึงเงียบเหงาจนถึงขั้นวังเวง ไม่มีรถวิ่งผ่านมาเลยสักคัน โดยเฉพาะช่วง
ระยะทางที่ตัดผ่านทุ่งนาข้าวที่ทอดยาวไกล เสมือนพื้นพรมสีเขียวสะอาดตา มันเป็นทุ่งนาข้าวของหมู่บ้าน
ที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ข้าพเจ้าเก็บโทรศัพท์ใส่กระเป๋าเสื้อจนแบตเตอรี่หมดไปนานแล้ว ไม่มี GooGle 
คอยช่วยบอกทางอีก สิ่งเดียวที่พอจะบอกทางได้ก็คือป้ายที่ติดตามท้องถนน ซึ่งค่อนข้างจะหายาก
ในเส้นทางเปลี่ยวร้างแบบนี้ แต่ภาพรางเลือนในสมองตามที่ได้จดจำเส้นทางมาจาก GooGle Map 
ก็พอจะคลำทางต่อไปได้ไม่ติดขัด โรงแรมบางแห่งก็ดูเงียบเหงา เพราะย่านนี้ถึงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ของจังหวัด แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเทียวอย่างข้าพเจ้าที่จะไปไหน
มาไหนมักไม่ค่อยจะวางแผนอะไรนัก นึกจะไปก็ไป เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า ซึ่งบ่อยครั้งก็หลงทาง 
แต่โชคดีที่ยังมีปาก ภาษิตว่า “ถามทางดีกว่าวิ่งเร็ว”จึงยังสามารถถามทางจากชาวบ้านได้อยู่ ไม่ถึงกับ
ดื้อแพ่ง หัวชนฝา มั่นใจในตัวเองสูง สุดท้ายก็ไปไม่ถึงจุดหมายในที่สุด เห็นท่าไม่ดีก็หยุดรถถาม
ชาวบ้านเอาแถวนั้นแหละ 
ป้าครับ รู้จักเขาประทับช้างเปล่าครับ” เมื่อมาถึงทางตัน ทำท่าว่าจะหลงทาง แบตเตอรี่โทรศัพท์
ก็หมด อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ จึงเปิดจาก Google ไม่ได้ ก็หยุดรถสอบถามป้าคนหนึ่งที่กำลังเข็ญรถอะไร
บางอย่างอยู่ข้างถนน คำตอบที่แกตอบกลับมาคือ 
ป้าไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย” ขอบคุณครับป้า ก่อนจะขี่รถต่อไป ได้ยินเสียงป้าตะโกนมา
ตามหลังว่า
 "ลองไปถามคนแถวๆ เขางูดูซิ น่าจะรู้จัก !” ขอบคุณครับป้า!
ข้าพเจ้าจดจำได้ว่า เพิ่งจะขี่รถผ่านเขางูมาสักครู่นี้เอง จึงขี่รถวนกลับไปที่บริเวณหน้าเขางู ทำให้นึกถึง
เพลงลูกทุ่งชื่อเพลง “นิราศรักนครปฐม” ที่มีเนื้อเพลงว่า.....
รถเมล์รับจ้างประจำทางสายเพชรบุรี
ผ่านองค์ปฐมเจดีย์สีทองมองสูงตระหง่าน
เมื่อเดือนสิบสองทุกปีต้องมีงานออกร้าน
กราบพระร่วงอธิษฐานได้พบนงคราญรักร่วมใจ
ขอลาร้อยชั่งกลับเขาวังเมืองเพชรบุรี
อย่าลืมพี่นะคนดี สิ้นปีจะย้อนมาใหม่
ได้กินข้าวหลามของคนงามช่างหวานติดใจ
กลับถึงบ้านจึงลืมไม่ไหว คิดถึงขวัญใจนครปฐม
ฝากอนงค์ไว้กับองค์มหาเจดีย์
ขอให้ช่วยคุ้มน้องของพี่
อย่าให้มีใครลอบมาชม
ย้อนมาคราวหน้าจะมาหอมแก้มเอวกลม
จะยื่นข้าวเกรียบที่เขานิยม
มาฝากคนสวยพร้อมด้วยน้ำตาล
รถเมล์รับจ้างประจำทางสายเพชรบุรี
จากองค์ปฐมเจดีย์ลับตาพาเสียวใจซ่าน
ผ่านราชบุรีเห็นมีงานเขางูออกร้าน
เหลือบเห็นจ้าวข้าวหลามตาหวาน
คิดถึงนงคราญนครปฐม…
พระพุทธฉายถ้ำฤษีเขางู” บริเวณอุทยานหินเขางู ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมืองจังหวัดราชบุรี 
เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่สลักบนผนังหินยุคสมัยสุวัณณภูมิประทับห้อยพระบาท 
พระหัตถ์ขวาอยู่ในปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางในพระเพลา (ตัก) ระหว่างพระบาทมีจารึกว่า 
บุญวระฤษีงูคิรฺ สมาธิคุปฺต" แปลว่า “บุญพระฤษีคุ้มครองสมาธิ ณ เขางู” เนื้อหินปูนจะเห็นรอยเซาะ
ยืนยันอยู่ ตามจารึกในกระเบื้องจารที่ค้นพบจากการขุดค้นที่คูบัว จังหวัดราชบุรี พระพุทธรูปดังกล่าว
เป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นในไทยหรือสุวัณณภูมิเป็นองค์แรก เมื่อพุทธพัสสาที่ 44 (ก่อนพุทธองค์เสด็จ
ดับขันธ์ปรินิพพาน 1 ปี/พุทธพัสสาเริ่มนับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ โดยพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน
เมื่อพระชมม์มายุได้ 80 ปีหรือพุทธพัสสาที่ 45 หรือพรรษาที่ 45) ตามหนังสือ “พุทธสาสนสุวัณณภูมิ
ปกรณ ราชบุรีวัตถุกถา ตำนานเมืองขุนไทย” ของพระธรรมวงศ์เวที (อ่ำ) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ 
จำนวน 808 หน้า ได้บันทึกเรื่องราวตำนานบรรพบุรุษและพุทธศาสนาของไทยตั้งแต่ครั้งยุคสมัยต้นมนุษย์
จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน ตั้งแต่ขุนสรวง เมืองสรวง จนถึงเมืองแผน เมืองแมน เมืองทอง 
สุวัณณภูมิราชพลี ราชบุรี สรุปได้ว่าชนชาติไทยตั้งถิ่นฐานและมีภาษาไทย ตลอดจนวัฒนธรรม
ความเป็นไทยมีมาตั้งแต่ 8,000 ปีมาแล้ว สำหรับในส่วนของพระพุทธศาสนาก็มีกล่าวเอาไว้ว่า...
สุวัณณภูมิ มีสถานที่ตั้งเมืองและดำรงมาอยู่นานมานั้น แต่ก่อนก็เป็นที่มา-ไปของพระอรหันต์ทั้งหลาย 
แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพร้อมกับพระอรหันต์สงฆ์ 500 มาก็เป็นที่รับและเป็นที่ประทับแรมคืน
กับประทับพระฉายในถ้ำเขางู พระมหาปุณณะเถระได้สลักเป็นพระพุทธฉาย และจารึกชื่อไว้ด้วย
...พ.ศ. 235 พระเถระปัญจวัคคมีพระโสณเถระเป็นต้น (พระมหาเถระที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมา
เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวัณณภูมิ) ได้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัด 
มีนิมิตสีมา พ.ศ. 300 พระเจ้าตะวันอธิราชได้สร้างวัดสุวัณณภูมิทำฐานและพระเจดีย์บรรจุอัฏฐิธาตุ
พระอรหันต์ 5 องค์ที่มานั้น จึงมีวัดโขงสุวัณณภูมิหรือวัดโขงสุวรรณคีรี (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว 
อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี) และอื่นๆที่ยังหลงเหลืออยู่มากมาย” 
นั่นแสดงว่าพระพุทธองค์ก็เคยเสด็จมา ณ ดินแดนแห่งนี้สมัยครั้งพุทธกาล เนื่องจากมีพระสาวก
ที่เป็นคนไทย ซึ่งทูลขอให้พระองค์เสด็จมาเพื่อโปรดชาวสุนาปรันต (พระปุณณเถระ ชาวสุนาปรันตชนบท
/สุนาแปลว่าสวน ส่วนปรันตะคือปราน รวมกันเป็น สวนปราน พริบพลี หรือจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน) 
ซึ่งเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ตามตำนานท่านเกิดในตระกูลพ่อค้าชาวสุนาปรันตชนบท ดินแดนสุวัณณภูมิ
นายปุณณะได้นำเกวียนบรรทุกสินค้าเดินทางไปค้าขายจนถึงเมืองสาวัตถีนครหลวงแห่งแคว้นโกศล
แวะพักเกวียนอยู่ใกล้กับพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพระผู้มีภาคเจ้าประทับอยู่ เห็นผู้คนจำนวนมาก
เข้าไปสู่พระวิหาร จึงถามชาวเมืองได้ความว่า....
 “รัตนะ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะเหตุนี้ มหาชนจึงพากันไปฟัง
ธรรมกถาของพระพุทธเจ้า
 เขาจึงชักชวนพรรคพวกในกองเกวียนไปฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วบังเกิด
ดวงตาเห็นธรรม เกิดศรัทธาในพระศาสดา มีความปรารถนาอยากบวช จึงทูลนิมนต์พระศาสดา 
เสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ เช้าวันรุ่งขึ้นเขาได้ถวายมหาทานแด่หมู่สงฆ์ ซึ่งมีพระศาสดาเป็นประธาน 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาในบุญของเขา แล้วเสด็จกลับพร้อมหมู่สงฆ์
พอพระศาสดาไปแล้ว เขาเรียกบริวารทั้งหมดมารวมกัน ประกาศว่า.... 
ท่านทั้งหลายข้าพเจ้าจะออกบวช ฉะนั้นสินค้าและบ้านช่องทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ พวกท่าน
ช่วยมอบให้แก่น้องชายของข้าพเจ้าด้วยเถิด” 
จากนั้นเขาก็ไปเข้าเฝ้าพระศาสดาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา แล้วพากเพียรบำเพ็ญ ในข้อปฏิบัติทั้งหลาย 
ตั้งอกตั้งใจประพฤติกรรมฐาน แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุธรรมได้จึงเกิดความคิดว่า.....
 “เราสมควรไปขอกรรมฐานจากพระศาสดา แล้วกลับคืนสู่ชนบทเดิม อันเป็นที่เหมาะแก่การปฏิบัติ
ธรรมของเรา” 
พระภิกษุปุณณะ จึงออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า.... 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ 
พอที่ข้าพระองค์ ได้สดับธรรมแล้ว พึงเป็นผู้เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีใจเด็ดเดี่ยว 
มีความเพียร ส่งตนไปธรรมอยู่เถิด” 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า.....
ดูก่อนปุณณะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะบอกให้รู้ดังนี้
รูปที่เห็นได้ด้วยตา หรือเสียงที่ได้ยินด้วยหู หรือกลิ่นที่ได้ดมด้วยจมูก หรือรสที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น 
หรือสัมผัสที่ได้แตะต้องด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชวนให้ใคร่ ชวนให้
กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน ยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันติดใจในสิ่งนั้น ความใคร่อยาก
ย่อมเกิด นั่นแหละทุกข์จึงเกิด แต่ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพัน
ติดใจในสิ่งนั้น ความใคร่อยากย่อมดับไป นั่นแหละทุกข์จึงดับ
พระศาสดาตรัสถึงตรงนี้ มีภิกษุรูปหนึ่งในที่นั้น อดใจไม่ได้ที่จะทูลถามด้วยความสงสัยว่า.....
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ
 และ ความสลัดออกแห่งสัมผัสในอายตนะทั้ง 6 (คือ 1. รูปสัมผัสตา 2. เสียงสัมผัสหู 
3. กลิ่นสัมผัสจมูก 4. รสสัมผัสลิ้น 5. สิ่งที่สัมผัสกาย 6. อารมณ์สัมผัสใจ)"
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า....
"ดีล่ะ! ภิกษุ เธอจงพิจารณาเห็นให้ดี ด้วยปัญญาอันถูกตรงตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า 
ตา-หู-จมูก-ลิ้น - กาย - ใจ นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา หากเธอ
พิจารณาสัมผัสในอายตนะทั้ง 6 ได้ดังนี้ เป็นอันว่าเธอละขาดแล้ว เพื่อความไม่เกิด อีกต่อไป"
แล้วทรงหันมาถามภิกษุปุณณะว่า....
"ดูก่อนปุณณะ เรากล่าวสอนเธอแล้วด้วยโอวาทย่อๆ แล้วเธอจะไปอยู่ในชนบทไหน"
"ข้าพระองค์จะไปยังสุนาปรันตะชนบท พระเจ้าข้า"
พอทรงสดับว่าเป็นชนบทนั้น พระศาสดาทรงถามต่อทันทีว่า....
"พวกชาวสุนาปรันตะนั้น ดุร้ายหยาบคายนัก ถ้าพวกเขาด่าเธอ กล่าวโทษเธอ เธอจะคิดอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาด่า กล่าวโทษเรา ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ได้ทุบตีเราด้วยฝ่ามือ"
"ก็ถ้าพวกเขาทุบตีเธอด้วยฝ่ามือเล่า เธอจะคิดอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาทุบตีเราด้วยฝ่ามือ ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ขว้างปาเราด้วยก้อนดิน"
"ก็ถ้าพวกเขาใช้ก้อนดินขว้างปาเธอเล่า เธอจะคิดอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาขว้างปาเราด้วยก้อนดิน ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ทำร้ายเราด้วยท่อนไม้"
"ก็ถ้าพวกเขาทำร้ายเธอด้วยท่อนไม้เล่า เธอจะคิดอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาทำร้ายเราด้วยท่อนไม้ ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ใช้อาวุธมีคมฟันแทงเรา"
"ก็ถ้าพวกเขาฟันแทงเธอด้วยอาวุธมีคมเล่า เธอจะคิดอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาฟันแทงเราด้วยอาวุธมีคม ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ฆ่าเราให้ตาย"
"ก็ถ้าพวกเขาเจตนาฆ่าเธอให้ตายเล่า เธอจะคิดอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะคิดว่า ภิกษุบางรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อึดอัดระอา เกลียดชังร่างกาย 
และชีวิตนั้นมีอยู่ จึงแสวงหาอาวุธฆ่าตัวตาย แต่นี่เราไม่ต้องแสวงหาเลย ก็ได้ตายแล้ว"
"ดีละ ! ปุณณะ เธอมีทมะ (การฝึกข่มใจในกิเลสตน) และอุปสมะ (ความสงบใจจากกิเลส) เช่นนี้ 
จะอยู่ใน สุนาปรันตะชนบทได้แน่"
หลังจากนั้น ภิกษุปุณณะก็เดินทางไป จนกระทั่งถึงสุนาปรันตะชนบท อยู่จำพรรษาในที่นั้น
ในระหว่างพรรษานั้นเอง พระปุณณะเถระสามารถทำให้ชาวสุนาปรันตะชนบทเกิดศรัทธาอย่างยิ่ง กลับใจ 
จากมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มาแสดงตนเป็นอุบาสก (ชายที่ยึดถือพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์
เป็น ที่พึ่ง) 500 คน แสดงตนเป็นอุบาสิกา (หญิงที่ยึดถือพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง) 500 คน 
และทำตนให้รู้แจ้งในวิชชา 3 (คือ 1. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้ระลึกชาติ ของกิเลสได้ 2. จุตูปปาตญาณ
= รู้การเกิดและดับของกิเลสสัตว์โลกได้ 3. อาสวักขยญาณ = รู้ความหมดสิ้นไป ของกิเลสตนได้) 
ภายในพรรษานั้นด้วยเช่นกัน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว จึงได้ประกาศว่า....
"ในโลกนี้ ศีลเท่านั้นเป็นเลิศ แต่ผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด ความชนะ (กิเลส) ย่อมมีเพราะศีล
และปัญญา ทั้งในหมู่มนุษย์ (ผู้มีจิตใจประเสริฐ) และหมู่เทวดา (ผู้มีจิตใจสูง)"
โดยระยะทางจากสาวัตถีมาถึงสุนาปรันตะนี้ ตามอัฎฐกถากล่าวว่าทางประมาณ 300 โยชน์ 
(1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร) หรือเท่ากับ 4,800 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางโดยประมาณเท่านั้น 
(ระยะทางจากจังหวัดเพชรบุรีถึงอินเดียโดยประมาณ)
สำหรับย้อนขึ้นไปก่อน 8,000 ปี มีตำนานจากหนังสือดังกล่าวเล่าว่า.......
ขุนอิน ครองเมืองแผน มีน้องสาวชื่อ นางฟ้าอยู่เรือน ทั้งคู่ยังไม่มีคู่ครอง น้องได้กล่าวชื่อนางกวัก 
หรือ กวักทองมา ลูกสาวคนเดียวของขุนเขาเขียวและนางขวัญทองมา เจ้าเมืองอินว่าสวยงาม 
ขุนอินจึงทำตัวเป็นขอมคือผู้มีความรู้ไปเที่ยว ได้พบกันเมื่อนางกับเพื่อนสาวอาบและเล่นน้ำริมบึงใหญ่ 
ขุนอินจึงมุดไปโผล่จับตัวได้ เกิดรักกัน เพื่อนๆ สาวก็รู้จึงหลบไป นางพาขุนอินไปอยู่ในถ้ำห้องตัว 
ขุนเขาเขียวและขุนหญิงแม่รู้เข้าไปจับขังไว้ กลางคืนนางกวักทองมาได้เปิดแก้ปล่อย  ได้ร่วมกันเดินทาง
มาเมืองแผนรุ่งเช้า ขุนเขาเขียวพาพรรคพวกตามา พบกันแล้ว ต่างก็ถือท่อนไม้เข้าสู้กัน เมื่อขุนเขาเขียว
เสียท่า ขุนอินเงื้อท่อนไม้จะฟาด นางกวัดร้องว่าอย่าฆ่าพ่อ ขุนอินจึงยั้งมือไว้ ครั้นขุนเขาเขียวได้ท่า 
จึงเงื้อท่อนไม้จะฟาด นางกวักร้องว่าอย่าฆ่าผัว ขุนเขาเขียวยั้งมือไว้ ร้องถามลูกว่า มึงได้ผัวแล้วหรือ 
นางรับว่าได้หลายครั้งแล้ว ทั้งคู่เข้าไปก้มไหว้ ขุนเขาเขียวรับขุนอินเป็นลูกโดยตั้งชื่อให้ว่า ขุนอินเขาเขียว 
เอาชื่อตัวต่อให้หมายว่ายอมรับเป็นผู้สืบไปในข้างหน้า.....
ถึงตอนนี้ทำให้คิดถึงเพลงชื่อ”นางกวักมหาเสน่ห์”
โอมปู่เจ้าเขาเขียว
มีลูกสาวคนเดียว
งามเพียบพร้อมบุญหนัก
โสภาอ่าองค์ยิ่งนัก
เธอชื่อว่านางกวัก
ใครเห็นใครรักลุ่มหลง
งามรูป งามใจ
งามทั้งวาจาสูงส่ง
ชวนให้พะวง
งวยงงตะลึงจังงัง
งามรูปคิ้วคันศร
ขนตางอนแก้มอิ่มสีนวลปลั่ง
เสียงนางดั่งเสียงระฆัง
ซึมซาบเหมือนมนต์สั่ง
คนชังหลงกลับมาชม
เลื่องลือไกล
หญิงและชายนิยม
บุญแม่สร้างสม
เกิดมาให้คนบูชา
เสน่ห์เมตตามหานิยม
หญิงชอบชายชมทั่วทั้งธารา
สาวหนุ่มรักกันอธิษฐานใจ
ชาวบ้านทั่วไปขอพึ่งบุญญา
หนุ่มสาวยามความรักโรยรา
บนบานได้ดั่งจินตนา
แม่แผ่เมตตาทั่วไป
โอม ลูกนี้ขาดรัก
วอนกราบแม่นางกวัก
ช่วยกวักรักมาให้
เมตตาอย่าให้ลูกแก่ตาย
ด้วยถูกหญิงแหนงหน่าย
เห็นใจช่วยโปรดดูแล
มนต์เมตตามหานิยมของแม่
สาวสาวแอบชะเง้อ
หันแลด้วยแม่กวักมา
ตามจารึกจากกระเบื้องจารคูบัวและที่อื่นๆ หลวงปู่อ่ำได้แปลและเรียบเรียงเป็นตำราความตอนหนึ่ง
ได้เขียนถึงต้นกำเนิดคนไทยเอาไว้ว่า....
......ชื่อเมืองสรวง และขุนสรวงกับขุนนางสาง ประกาศว่าเป็นต้นคนไทย จึงเป็นปางครั้งที่ 1 เล่าว่า
นอนหลับตื่นขึ้นเห็นทุกอย่างมีอยู่แล้ว ต่อมาได้เห็นผีฟ้าแสงลอยมาปรากฎตัวกินง้วนดินแล้วหลับไป
เข้าไปมองดูเห็นว่าแปลกกว่าตัวเองก็เข้าไปจับตัวไว้ จึงเริ่มคำพูดกันขึ้นต่อมานาน จึงรู้สืบพันธุ์
มีลูกชายหญิง เล่าว่าได้สืบสายเชื้อไว้ในเลือด ทั้งส่วนขุนสรวงและขุนนางสาง..
พุทธันดรที่ 1 - สมัยพระกกุสันธพุทธเจ้า
พุทธันดรที่ 2 - สมัยพระโคนาคมนพุทธเจ้า
พุทธันดรที่ 3 - สมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
พุทธันดรที่ 4 - สมัยพระโคตมพุทธเจ้า (ยุคปัจจุบันนี้)
  สมัยพุทธันดรที่ 1 สมัยพระพุทธเจ้านามว่า “พระกกุสันธพุทธเจ้า” …ขุนสรวงเดิมเป็นผีฟ้าแสง 
(อภัสสรกาย ชั้นอาภัสสรเทพ พรหม) ได้เที่ยวมาสู่หล้านี้ ได้กลิ่นอายง้วนดินติดใจ จึงลงมาและใช้มือ
จับกินเข้าไป มีรสอร่อยหวานมัน กลืนเข้าไป-เข้าไปมากกระทั่งอิ่ม เกิดง่วงนอน จึงนอนหลับ ด้วยอำนาจ
ธรรมชาติอายดิน และอายฟ้ากระทำร่างผีฟ้าแสงให้กลับเป็นร่างคนแล้ว ได้เปลี่ยนให้ลืมหมด
ในขณะหลับนั้น นานเท่าไรไม่ปรากฏ เมื่อตื่นขึ้น กลับรู้สึกสมบูรณ์แล้ว ได้มองดูรอบๆ รู้แต่ว่าอยู่ที่ภูเขา
เป็นเกาะ มีน้ำล้อมรอบ มีกลางคืน กลางวัน มีนก ปลาอยู่แล้ว และที่มีอยู่คนเดียว ขุนสรวงจึงยังไม่มีคำพูด 
และไม่มีข้อคิดระอาย จึงอยู่อย่างธรรมชาติ ไม่มีเครื่องแต่งตัว เมื่อหนาวเข้าถ้ำหินดิน เมื่อร้อนเข้าร่มไม้ 
เข้าเพิง เมื่อหิวกินดิน กินไม้ กินลูกไม้ กินน้ำกินปลา กินไข่นก มีผีฟ้าแสงมาเที่ยวหลายคราว แต่ไม่มีคำพูด
ได้แต่นึก ไม่รู้จัก เพียงว่าเขามาเที่ยวแล้วก็จากไป นานเนิ่นมานานมีผีฟ้าแสงมาเที่ยวหลายคราว 
และหลายผู้ และนานเท่าไรไม่รู้ เที่ยวไปทางไหนบ้างก็จำไม่ได้ พักอยู่หลายแห่งหนกระทั่งคราวหนึ่ง 
มีผีฟ้าเหลืองทองพุ่งลอยมาลงอยู่ ณ พื้นราบขาวสะอาด ขุนสรวงแฝงร่างเข้าไปมองดูเห็นเห็นผีฟ้าแสงนั้น
คุกเข่า ใช้สองมือกวักง้วนดินกินอย่างเอร็ดอร่อย จึงนึกเรื่องของตัวได้ว่า ตัวเองก็เคยเป็นผีฟ้าแสงอย่างนี้ 
และมากินง้วนดินอย่างนี้ จึงง่วงและหลับไป พลังแสงหายหมด จึงกลับไปที่เดิมไม่ได้ เมื่อนึกรู้แล้ว 
นึกว่าคงจะกินมากแล้วจะหลับ พลานุภาพแสงนั้นจะหายหมด และกลับไม่ได้ จะได้อยู่เป็นเพื่อนกัน 
จึงสงบนิ่งมองดูอยู่........
……..ผีฟ้าเหลืองทองนั้น เมื่อกินง้วนดินนั้น ได้เกิดติดรสอร่อยหวานมันนั้น ก็กินเข้าไป กินเข้าไปชนิด
เพลิดเพลิน กระทั่งอิ่มและบังเกิดง่วงนอนโงกไปมา ที่สุด แสงแดดอ่อนลงก็ล้มตัวลงนอนหงายเหมือนรูป
กองไฟมีแสงกระจ่างออก เมื่อตะวันลับไปก็ยังปรากฏแสงกระจ่างโพลงอย่างอย่างนั้น ขุนสรวงมองดูอยู่
กระทั่งรุ่งขึ้น ผีฟ้านั้นก็ยังหลับอยู่ตามเดิม เข้าคืนที่ 2 แสงค่อยจางและหรี่ลง ปรากฏร่างขึ้น มีเงาที่อก
ทั้งสองข้างสูง ขุนสรวงมองดูทั้งของผีฟ้าและของตัว ปรากฏว่าไม่เหมือนกัน กระทั่งตะวันขึ้น แสงนั้นจาง
ลงไปมาก แต่ก็ยังหลับอยู่ เมื่อเข้าคืนที่ 3 แสงนั้นมีอาการหรี่และโพลงขึ้นเป็นระยะๆ ร่างก็ชัดเจนขึ้น 
ปรากฏพร้อม กระทั่งรุ่งเช้าแสงจางไปเกือบหมด เมื่อแสงแดดกระทบร่างแผดส่องอยู่นาน แสงเดิมก็ค่อย
หายไปในแสงแดด และผีฟ้านั้นสะดุ้งตื่นขึ้น เมื่อมองดูตัวแล้ว ไม่มีแสงอาภรณ์ประดับอยู่ ได้ทะลึ่งลุกขึ้น
กระโดดเพื่อลอยไปก็ไม่ได้ กลับลงมาตามเดิม ขุนสรวงคิดว่านางจะหนีไป จึงวิ่งออกไปกระโดดจับไว้
------ขุนสรวงเมื่อจับถูกตัวนางปรากฏว่านิ่มมือ นางหลับตากระโดดจะเหาะลอยหนีก็ไม่ขึ้น เมื่อถูกจับยึดไว้
ได้ตกใจร้องดุว่า อะ อ้า ซึ่งเป็นคำต้นที่พูดกันในกาลนั้น เมื่อนั้น ยังไม่มีชื่อและคำพูดใดอื่น เมื่อขุนสรวง
จับยึดไว้ นางคุ้นเข้าก็เลยหยุดนิ่ง และยอมอยู่ด้วย ขุนสรวงมองดูตัวเห็นยังมีแสงเลืองๆ อยู่บ้างจึงเรียกว่า
 “สาง” และนางก็ทำมือให้รู้ว่าขุนสรวงตัวสูงกว่าจึงเรียกว่า “สรวง”.................เดิมทียังไม่รู้จักการสืบพันธุ์ 
ต่อมาเมื่อรู้จักแล้วก็แพร่ลูกหลานต่อมาจนถึงปัจจุบัน......
ตำนานน้ำท่วมโลกในไทย (ยุคแถน-ไทยแถน-สมัยขุนแถนเทียนฟ้า-ขุนนางสีทองงาม)
............เหตุการณ์สำคัญอีกช่วงหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างพุทธันดรที่ 2 กับพุทธันดรที่ 3 ซึ่งตรงกับสมัย
พระพุทธโคนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า เมืองทอง เมืองแก้ว (ชื่อเมืองไทยสมัยนั้น) ได้ล่วงผ่านยุคสมัย
ขุนสรวงมาแล้ว ไทยทอง-ได้มีขุนไทยแก้วแล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นไทยแก้ว ครั้นมิคสัญญี คนที่ดีได้หลบภัย
เข้าอยู่อาศัยตามถ้ำ เมื่อหมดภัยแล้ว ผู้ที่ยังเหลืออยู่ต่างได้ออกมาพบเห็นกัน จึงรวมกันแล้วให้แถนเทียนฟ้า
เป็น-ขุนแถนขึ้น (กษัตริย์) ได้ร่วมช่วยกันสร้างบ้านเมืองกันสืบต่อมา ครั้นขุนต้นล่วงไปแล้ว ที่ 2 ก็ได้แต่งตั้ง
สถาปนาตามชื่อต้นนั้นว่า-แถนเทียนฟ้า เช่นเดียวกัน จึงมีชื่อว่าไทยแถน หรือ ยุคแถนเป็นที่ 2 จากยุค
ขุนสรวงนั้น กาลเวลาได้ล่วงมาตลอดหลายชั่วขุน พระธรรมคำสั่งสอนของพระกกุสันธพระพุทธเจ้า
ก็ยังเหลือคงอยู่บ้าง ได้จำกันไว้บ้าง กาลนานมากเข้าก็เลือนรางจางหายไป ทั้งการประพฤติปฏิบัติ กับทั้ง
-พระศาสนธรรม ก็สูญหายไปทั้งหมด ชาวชนทั้งนั้นประพฤติแต่อกุศลกรรม ขวบกาลที่ไขขึ้น
เจริญยืนยาว จึงค่อยลดลง แม้ขุนสรวง และขุนแก้วผู้ต้นก็ยังอยู่คอยคุ้มครองป้องกันอยู่ จึงชื่อว่า
-ยังเคารพนับถือ บำบวง บวงสรวงต้นผีกันมา
.............ครั้นเมื่อขวบกาลอายุลดลงมาเหลือเพียง 7 หมื่นปี ขุนสรวงและขุนแก้วได้มาบอกว่า-อีก 10 ปี
จะมีฝนหนัก ทั้ง-น้ำแข็งก็ละลายเป็นน้ำล้นท่วมโลกหล้า ชาวชนและปวงสัตว์จะตายหมด 
พวกเจ้าขุนแถนหัวหน้าพร้อมกับหมู่คนชาวเมือง จงร่วมสร้างเรือใหญ่หลายลำ จงใช้แผ่นเหล็กปลอด
ตอกประสักขันเกลียวตรึงให้แน่นแข็งแรงทุกลำ ทำทุ่นให้มากขนาบตลอดมัดให้ติดกันเป็นกลุ่มเรือพ่วง 
เอาเสาเท่าๆ กันวางขนาบบนกลาบและใต้ท้องเรือเจาะรูใหญ่ให้ตลอดคานที่วางขนาบทั้งบนและล่าง
ทุกตัวแล้วเอาท่อนประสักใส่ตรึงบนกับล่างใช้หัวเกลียวขัน หรือผ่าแล้วตอกลิ่มประสักตรึงให้แน่นแข็งแรง
ก็ได้ ใช้กระดานแผ่นหนาปูบนเป็นพื้น เอายางรักประสมชันและปูนยาให้ทั่ว ทำกลาบนอกให้สูงพอ เจาะรู
พอให้น้ำไหลออกได้ ทำห้องติดกลาบเรือนั้นมีหลังคาแค่กลาบนั้นให้ตลอดทุกลำจะได้พออยู่ ตรงส่วนกลาง
ทำเป็นพื้นดินปลูกไม้เล็กและผักหญ้า ทำคอกวัว ควาย ช้าง ม้า เก้ง กวาง ลา ล่อ อย่างละคู่ 
มากนักคงไม่พอ ทำให้เสร็จใน 9 ปี อีก 1 ปี ให้จับสัตว์ต่างๆ มาขังฝึกหัด และปลูกต้นไม้ผักหญ้า เรือทุ่น
ที่ทำเสร็จแล้วให้คงที่ไว้บนคานนั้น ถึงคราวน้ำท่วมท้นขึ้นมาพอก็จะเคลื่อนลอยไปได้เองและสั่งว่า
พอน้ำท่วมท้นแล้ว ขุนสรวงและขุนแก้ว-จะมาเป็นเจ้าพ่อทะเล แม่สางและแม่แก้วขวัญฟ้าจะเป็น 
แม่ย่านาง” หรือเป็นจ้าวแม่ทะเล ช่วยกันประคับประคองเรือให้โต้คลื่นลมพายุได้ ซึ่งจะประคับประคอง 
พร้อมกับจะคอยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายให้ กระทั่งปลอดภัยจากภัยพิบัติเพราะน้ำท่วมโลกนั้น
.........ยังเหลืออยู่อีก ก็บอกให้มารวมกันที่ใกล้เรือ ทั้งช้างม้าวัวควายเก้งกวางหมาแมวก็นำมาอย่างละคู่
เรือทุ่นกลุ่มนั้นใหญ่และสูง จึงทำสะพานบันไดทอดขึ้นลง พอฝนตกหนักเข้า ก็ลงไม่ได้ต่างก็หลบฝนอยู่
ในประทุนเรือนั้น และช่วยกันต้อนสัตว์ต่างๆ ขึ้นเรือทุนนั้น พวกช่างต่างตรวจดูเรือ และเตรียมเครื่องมือวัตถุ
ซ่อมแซมไว้พร้อมในภายในใต้ท้องเรือทุ่นนั้น ทุกอย่างจึงครบบริบูรณ์
......น้ำเริ่มสูงขึ้น ได้ท้นท่วมที่ราบลุ่มทั้งหมดและเอ่อสูงขึ้นท่วมคานแล้วหนุนเรือกลุ่มให้ลอยอยู่บนพื้นน้ำ 
คนสัตว์ที่เหลือต่างก็ปีนขึ้นต้นไม้ ขึ้นหลังคา ขึ้นดอน และปีนขึ้นภูเขา ครั้นท่วมท้น กระทั่งยอดมอ 
และยอดไม้จมอยู่ใต้น้ำ แม้ยอดภูเขาเทือกย่อยก็จมน้ำ แม้ยอดเขาอีโก้ก็ปริ่มน้ำแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นได้ 
ลมก็แรงบางคราวก็เป็นพายุ ฝนก็ตกกระหน่ำหนัก คลื่นก็ลูกใหญ่ซัดกระแทกตลอด ในกลางวัน ทั่วท้องฟ้า
ก็มืดมัวไม่มีแสงแดด กลางคืนก็ยิ่งมืดครึ้มทึบตลอด ทั้งคนสัตว์ที่เหลืออยู่กับพื้นก็ได้ว่ายน้ำหาที่พักอาศัย 
พอหมดแรงต่างก็จมน้ำตายหมด แม้คนทั้งหลายในเรือทุ่นก็ไม่มีหวังรอดพ้นภัยนั้น คราวแรก เรือทุ่น
กลุ่มนั้นซึ่งได้ใช้พวนผูกตรึงโยงไว้กับต้นตอไม้ใหญ่ๆ นึกว่าพอจะอยู่ได้ กระนั้น เมื่อลมคลื่นซัดพัดกระพือ
กระแทกบ่อยๆ ตลอดวันคืนไม่หยุดหย่อนผ่อนเบา แม้ขุนสรวง ขุนแก้ว กับแม่สาง แม่แก้วย่านางจะมา
ควบคุมคุ้มครองอยู่ ณ หัวเรือ และเสากระโดง พวนที่มัดล่ามโยงผูกตรึงไว้นั้นก็ขาดหมด เรือทุ่นกลุ่มนั้น
ก็เลื่อนลอยไปตามกระแสคลื่นลม หมู่คนสัตว์ที่เหลือยู่ในเรือนี้ พอมีหวังว่าจะอยู่รอดได้ กระนั้น เฉพาะหมู่คน
ก็อยู่ไปวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น ที่มีโอกาสรู้ และทำสร้างเรือนั้น มีอยู่หลายหมู่ แต่ก็ทำเรือได้ไม่ใหญ่โต
และไม่มั่นคงแข็งแรงพอก็ถูกลมคลื่นซัดกระแทกแตกเสียหายจมน้ำตายไปเป็นส่วนมาก ยังมีที่เหลืออยู่
ก็ที่เรือไม่แตกหรือที่แตกแต่ไม่กระจายและที่ทะลุก็ยังเป็นที่พยุงตัวอยู่ได้ก็ถูกคลื่นลมซัดกระพือไปไม่จำกัด
ทิศทาง ไปถึงบริเวณน้ำแข็ง ณ ทะเลเหนือใกล้ขั้วโลกเหนือก็มี ไปถึงแผ่นดินอื่นคือ อเมริกา ก็มี ทั้งไปได้
ถึงโปลา และไนไตลนี ก็มี
........เฉพาะแถนไทย ด้วยอานุภาพพ่อขุนสรวง และพ่อขุนแก้ว กับแม่นางสางและแม่แก้วขวัญฟ้าซึ่งได้
เป็นจ้าวพ่อทะเลและจ้าวแม่ทะเลหรือแม่ย่านางในกาลนั้นได้รักษาคุ้มครองเรือทุ่นนั้นให้เลื่อนลอยวนเวียน
เป็นวงกว้างอยู่ ณ บริเวณนั้นเป็นแรมเดือน เมื่อน้ำลดลงเหลือครึ่งขุนเขานั้น เรือนั้น ได้ถูกลมคลื่นพัดซัด
กระหน่ำให้วิ่งไปในห้วงน้ำเป็นวงกว้างนั้นแล้วก็ได้วนเข้ามา ณ บริเวณเดิมนั้น ก็ได้ถูกคลื่นลมพัดซัดกระแทก
เรือทุ่นกลุ่มนั้นให้หัวเรือพุ่งเข้าชนคอภูเขาลูกหนึ่งกระทั่งคอเขานั้นทะลุ ภูเขานั้นจึงมีชื่อว่า-เขาทะลุ 
ได้เรียกกันมาทุกวันนี้ เรือนั้นได้กระดอนเซออกมากระแทกกับคอภูเขาอีกลูกหนึ่ง กระทั่งคอยอดบิ่น กระเด็น
บินออกไป ภูเขานั้น จึงมีชื่อว่า-เขาบิ่น และเขาบิน เวลานี้ เรียกกันว่า-เขาบินเป็นประจำ เรือนั้น จึงเฉียดไป
กระแทกจนแตกแล้วได้ลมแรงกระพือพัดหนุนท้ายให้แล่นไปทางตะวันตกถึงห้วงบึงใหญ่ ส่วนนั้นเป็นแถบ
ถิ่นดินสูง และน้ำลดลงมากแล้ว ท้องฟ้าก็แจ่ม แดดออกให้ความอบอุ่นแล้ว เรือได้เกยตื้นตอม่อหินใต้น้ำ 
ก็แตกกระจายออก ส่วนหัวได้พุ่งไปเกยตื้นเชิงเขาลูกหนึ่ง ทั้งคนและสัตว์ได้ขึ้นบกอยู่อาศัย ณ ภูเขานั้น 
ต่อมาจึงสร้างเมืองขึ้นรอบภูเขานั้น ภูเขานั้นจึงมีชื่อว่า-เขากลางเมือง ใช้เป็นชื่อเรียกกันมาตลอดกาลนาน 
กระทั่ง พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชได้เสด็จประพาสได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า-
เขาถ้ำจอมพล- จึงเปลี่ยนเป็น เขาถ้ำจอมพล กระทั่งกาลบัดนี้ และในถ้ำภูเขานี้ ซึ่งเป็นถ้ำภูเขาหินปูน 
จึงมีหินงอก และย้อยทั้งถ้ำ ณ พื้นถ้ำ ซึ่งเป็นหินปูนโคลนเมื่อยังเป็นดินโคลนอยู่นั้นอย่างน้อยสุดก็มีอายุถึง
2 แสนปี ซึ่งยืนยันว่ามีคนอยู่มาแล้ว จึงมีรอยเท้าหรือรอยตีนใหญ่ที่ชัดเจนปรากฏอยู่ถึง 5 รอย เป็นรอย
ใหญ่โตมาก ซึ่งยาวถึง 36 นิ้วฟุต (90 เซนติเมตร/0.9 เมตร) กว้าง 18 นิ้วฟุต (45 เซนติเมตร/0.45 เมตร) 
ที่ไม่ชัดเจนเช่นมีเพียงหนึ่งกับรอยเล็กๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งก้าวก็ปรากฏว่ายาวกว่าคนสมัยนี้ 
เมื่อลองดู-ยังต้องกระโดดจึงถึงคงเป็นหลักฐานยุคสมัยขุนแถนไทย อันตรงกับกาลพระโคนาคมนได้ 
และก็ส่วนกลางของเรือทุ่นกลุ่มนั้นซึ่งขาดออกกระดอนออกมาจมลงตรงกลางห้วงบึงน้ำใหญ่เสากระโดง
ยังคงตั้งอยู่ ฉะนี้ ห้วงบึงใหญ่นี้ จึงมีชี่อว่า-บึงจมเรือ-หรือ-บึงเรือจม-ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อว่า-จอมบึง
-ให้เหมือนชื่อพระราชทานว่า-ถ้ำจอมพล-ทุกวันนี้จึงเรียกกันเป็นประจำว่า-จอมบึง ในกาลประมาณก่อน 
พ.ศ. 2470 ยังมีผู้เห็น-ตอเสานี้โผล่อยู่กลางบึงนั้น ยังเล่ากันเสมอว่า-ไม่รู้ว่าใครปักไว้ ส่วนท้ายเรือได้ลอย
ไปเกยอยู่กับพื้นตื้นเชิงเขาลูกหนึ่ง ผู้คนได้ขึ้นไปอยู่อาศัย ณ ภูเขานั้น เมื่อเจริญขึ้นทำผลผลิตได้แล้ว
จึงนำมาเป็นสินค้าซื้อขายกัน ต่างได้ตั้งชื่อภูเขานี้ว่า-เขากลางตลาด
.........ก็กาลที่น้ำท่วมโลกนั้น ได้ท่วมท้นอยู่นาน พอลดลงมากแล้ว ณ ที่สูงๆ ซึ่งเปียกชื้นอยู่แล้วทั้งมีฝน
ตกมาบ้าง พืชพรรณผักหญ้ากับต้นไม้ และย่านพุ่มป่าก็งอกงามเจริญขึ้นทั่วไป สัตว์ที่เหลืออยู่ครั้นเรือ
แตกแล้วต่างก็ขึ้นบก จึงได้อาศัยพืชพรรณผักหญ้าใบไม้นั้นๆ เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต คนที่ขึ้นจากเรือนั้น 
ก็ขึ้นอยู่อาศัยตามเพิงผาถ้ำภูเขา ที่ขึ้นอยู่ตามเนินโคก ก็เอาต้นไม้ที่เป็นตอตายเพราะถูกน้ำท่วมเอามา
ทำเสาตั้งขึ้นแล้วเอาไม้ไผ่ ทำขื่อ แป อกไก่ ตง รอด ใช้ใบไม้และหลังคามุงโดยเกลี่ยใช้ไม้ขนาบ
ใช้เถาวัลย์ผูกมัด ใช้ไม้ไผ่ผ่าสับเป็นฟากปูเป็นพื้นอยู่อาศัยกัน พอน้ำแห้งตลอดพื้นที่ราบที่เป็นโคลนตม
ก็แข็งแน่นแล้ว ต่างก็ออกมาจากถ้ำได้ช่วยกันปลูกสร้างเรือนบ้าน แบ่งที่ใกล้-หนอง บึง ห้วย คลอง แม่น้ำ 
ทำนา สวน ไร่ ทุ่ง ทำนาปลูกข้าว ทำสวนต้นไม้ จึงเป็นบ้านเมือง ตลาด สนาม ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ฉะนี้ 
ถิ่นแดนแถบนั้น จึงมีธรรมชาติซึ่งมีชื่อประจำเนิ่นนานมาแล้วจนชิน และรู้ตลอดไปแล้วว่า-เขาทะลุ เขาบิ่น 
เขากลางเมือง เขากลางตลาด บึงจม บึงเรือจม (จอมบึง) ทุ่งหลวง ทุ่งหญ้า สนามหญ้า ฯลฯ ประจำอยู่แล้ว 
ชาวชนต่างได้ฟังและรู้เรื่องกันมา จึงต่างได้กระทำกราบไหว้ บวงสรวง บำวง ต้นผีสางไทยกันมา 
และกระทำเป็นประจำมา....
........ภายหลังจากสอบถามพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่ให้บริการอยู่บริเวณหน้าเขางูแล้ว ข้าพเจ้าก็ทราบเส้นทางไป 
เขาประทับช้าง” เลยเขางูมาหน่อยก็เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางลัดตัดผ่านท้องทุ่งและชุมชนที่สงบเงียบ
ห่างไกลจากความวุ่นวายของชนชาวโลกที่น้อยครั้งจะพบพาน ราวกับมุ่งเข้าสู่เมืองลับแลก็ปาน 
อากาศกำลังเย็นสบาย มองไปโดยรอบจะพบเทือกเขาและแนวป่ารายล้อมตลอดแนวถนน บริเวณที่ราบ
ก็เป็นท้องทุ่งสีเขียวขจี ภายหลังจากหลงทางอยู่หลายครั้ง ในที่สุดข้าพเจ้าก็มาถึงเบื้องหน้าทางเข้า
เขาประทับช้าง บริเวณโดยรอบเป็นป่าไม้ขนาดใหญ่จนบดบังท้องฟ้าจนหมดสิ้น อากาศเย็นชื้นรู้สึกหายใจ
สบายปอดเป็นอย่างยิ่ง
........เขาประทับช้าง ตั้งอยู่ ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ปากทางเข้าอยู่ตรงกันข้ามกับ
ถ้ำเขาบิน
พี่ครับวันนี้สวนสัตว์ปิดหรือครับ” ข้าพเจ้าถามขึ้นเมื่อขี่มอเตอร์ไซค์มาหยุดอยู่หน้าทางเข้า 
สวนสัตว์เปิดเขาประทับช้าง” ซึ่งมีป้ายเขียนเอาไว้ชัดเจน และมีป้ายชั่วคราวขนาดเล็กเขียนว่า..... 
ปิดทำการ” 
.......อาจเป็นเพราะศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์เขาประทับช้างไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนสายหลักที่มุ่งสู่ตัวอำเภอ
จอมบึง จึงมีคนรู้จักสถานที่แห่งนี้ไม่มากนัก เจ้าหน้าที่คนหนึ่งใส่ชุดลายพรางคล้ายเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้
ได้ตอบขึ้นว่า.....
ช่วงนี้สวนสัตว์ปิดปรับปรุงครับ” ข้าพเจ้าจึงถามต่อไปว่า
ไม่ทราบจะเปิดให้บริการอีกเมื่อไรครับ” เจ้าหน้าที่ตอบว่า
ผมก็ยังตอบไม่ได้ครับ เพราะยังไม่มีกำหนดแน่นอน เอาเบอร์โทรไว้ คุณค่อยโทรมาสอบถาม
ใหม่ในภายหลังดีกว่าครับ” เจ้าหน้าที่เสนอทางออก
ขอบคุณครับ” ข้าพเจ้าจดเบอร์ที่เจ้าหน้าที่ให้มาและขี่รถออกไปสำรวจบริเวณโดยรอบของอำเภอจอมบึง
ห่างออกไปจากเขาประทับช้างประมาณ 10 กว่ากิโลเมตรจะพบกับ” ถ้ำจอมพล” ถัดจากถ้ำจอมพล
ออกไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตรจะพบกับ "เขากลางตลาด" ถัดจากเขากลางตลาดไปประมาณ 6 กิโลเมตร
จะพบกับเขาทะลุมิติ” แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกันนั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอ
จอมบึงทั้งสิ้น ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อว่า “คนไทยที่รอดพ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในตำนาน
จะเป็นคนแถวย่านนี้” และกลายเป็นต้นบรรพบุรุษไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันผ่านกาลเวลามากว่า 8000 ปี....
จอมบึงคือจอมคนต้นไทยแท้
ฤาเพียงแค่ตำนานเขาขานไข
อนุสรณ์รอยทัศน์พิบัติภัย
ฝากรอยไว้ให้เห็นเป็นพยาน....
        Be Vegan Make Peace 
1.เขาทะลุมิติ
881048352531842.jpg
265639975421383.jpg
2.เขาประทับช้าง
113073446397781.jpg
3.ถ้ำจอมพล
361359433264517.jpg
4.ถ้ำเขาบิน
791039571305302.jpg
888130232492197.jpg
5.เขางู
531152512019270.jpg
6.จอมบึง
486176956691816.jpg
7.ท้องทุ่ง
637139145473794.jpg
192700670473302.jpg
149708974881431.jpg
 
8.ตำนานน้ำท่วมโลก
239089513272554.jpg
303747664332581.jpg
727099393882836.jpg
52340995303206.jpg
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน