ปฏิรูปสังคม

คีตากะ

ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า...
                   คำกล่าวที่ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" ด้วยการปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคม จึงมีการถ่ายทอดความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ ทางความคิด ทางถ้อยคำ ทางการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ กัน ตามแต่จารีต วัฒนธรรม การศึกษา หรือพื้นเพปูมหลังของคนเหล่านั้น ได้ก่อให้เกิดค่านิยม ทัศนคติ แนวความคิดหรือมุมมองต่างๆ ในรูปแบบองค์รวม จนถูกหล่อหลอมให้เกิดเป็น "สังคม" โดยรวมที่มีความซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละมุมโลก
          ไม่น่าแปลกที่คนในสังคมเดียวกันจะมีแนวความคิดในมุมมองต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันและแตกต่างจากสังคมอื่นๆ แม้ระบบโซเชี่ยลจะมีอิทธิพลสูงมากขึ้นในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะหล่อหลอมให้ไปสู่สิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมเดียว ในทางตรงกันข้ามกลับมีผลกระทบยิ่งทำให้สังคมเพิ่มความขัดแย้งกันมากขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ต่างๆ เหล่านี้ของสังคมหนึ่ง แตกต่างไปกับอีกสังคมหนึ่ง นั่นเกิดจากสาเหตุใด? แน่นอนถ้าพิจารณาระดับปัจเจกชน แล้วพบว่าปัจเจกชนเป็นพวกที่ไม่รู้หรือรู้ผิดเกี่ยวกับความจริงแท้แห่งเป้าหมายที่คนในสังคมคาดหวังจะให้เป็นไป จริงๆแล้วคนในสังคมต้องการสิ่งใดกันแน่? ความอยู่ดีกินดี ความสุข หรือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน? ปัจเจกชนเหล่านี้ก็ย่อมจะสร้างสถาบันครอบครัวจนถึงสังคม ประเทศชาติในแบบเดียวกัน นั่นคือสังคมแห่งอวิชชา สังคมแห่งความมืดบอด
          สิ่งที่ปรากฏให้เห็นสะท้อนในสังคมมาจากหน่อยย่อยเหล่านี้ หากรากฐานของตึกไม่แข็งแรง ทั้งตัวตึกก็ตกอยู่ในอันตราย พร้อมจะเสื่อสลายลงได้ในทุกเวลานาที ผู้รู้กล่าวว่าปัญญานั้นมีอยู่แล้วเต็มเปี่ยมในแต่ละปัจเจกชน แม้เขาเหล่านั้นจะไม่เคยผ่านระบบการศึกษาใดๆ เลยจากสังคม การตระหนักรู้ในตนเองจะทำให้เขาได้รับปัญญากลับคืนมา และเข้าใจจุดมุ่งหมายของการได้ถือกำเนิดเกิดมาอีกครั้ง สังคมก็มีจุดมุ่งหมายดุจเดียวกัน สังคมแห่งปัญญาจึงเป็นสังคมแห่งความสุขโดยแท้ เนื่องเพราะปัญหาทั้งหลายเกิดจากการด้อยซึ่งปัญญา และความทุกข์ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน
         การตลาดในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นให้มองหาความต้องการของคนในสังคมและพยายามตอบสนองต่อความต้องการนั้น มากกว่าจะรับผิดชอบความเสื่อมทรามของสังคมที่ตามมา การผลิตสินค้าและบริการจึงมีทิศทางไปสู่ทางนั้น นั่นคือตอบสนองความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของคนในสังคม จนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า "มุ่งสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า"หรือไม่ก็ "ลูกค้าคือพระเจ้า" การแข่งขันกันแบบรุนแรงดุเดือดทางธุรกิจจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือใครจะเป็นผู้มารับผิดชอบความเสื่อมทรามของสังคม? เมื่อผู้ชนะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นผู้สำเร็จ ส่วนผู้พ่ายแพ้พบแต่ความทุกข์ ในเมื่อการผลิตและบริการยังคงพยายามตอบสนองความต้องการของปัจเจกชนที่ขาดปัญญา ผลที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยากจน ภาระหนี้สิน อาชญากรรม ยาเสพติด คอรัปชั่น และความไม่ยุติธรรมต่างๆ มากมายในสังคม แล้วท้ายที่สุดสังคมจะมีสภาพเป็นเช่นใด?
        การตลาดที่แท้จริงจึงควรมุ่งไปในเรื่องความเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ มากกว่าเปลือกภายนอก หรือทำเพียงแสวงหาผลกำไรเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเท่านั้น โดยหลงลืมเป้าหมายสูงสุดของการสร้างสังคนตลอดจนสร้างโลกใบนี้ เมื่อทุกคนเอาแต่กอบโกยก็ย่อมไม่มีใครจะแบ่งปัน รัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการรักษาสมดุจ และเข้าใจถึงเป้าหมายของการสร้างสังคมอย่างแท้จริง...
          
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน