การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไช การเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตย / ประเวศ วะสี โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 กันยายน 2551 15:00 น. ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไชเป็นที่เอือมระอาน่ารังเกียจเบื่อหน่ายแก่ผู้รู้เห็นทั้งแผ่นดิน จึงพากันพูดถึงการเมืองใหม่ คนไทยทุกภาคส่วนทุกองค์กร ควรเคลื่อนไหวทำความเข้าใจว่าการเมืองใหม่ที่เป็นอารยะประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร ในการมองระบบการเมืองเก่าและใหม่ ควรมองทั้งระบบเหมือนมองคนทั้งคน จะไปมองเฉพาะอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ การมองทั้งระบบต้องมองทั้งที่เป็นนามธรรม (จิต) รูปธรรม รูปลักษณ์ การทำหน้าที่ และผลลัพธ์ ก. เปรียบเทียบการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่ ตารางข้างล่างสรุปเปรียบเทียบการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่ และขยายความดังต่อไปนี้ 7 ข้อ >การเมืองเก่าแก่หนอนชอนไช / การเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตย 1. จิตสำนึก > หีนจิต / จิตสำนึกแห่งความเป็นคน 2.ลักษณะสังคม >สังคมปิด อำนาจนิยม / สังคมเปิด สังคมธรรมนิยม 3.บทบาทประชาชน > เลือกตั้งอย่างเดียว ขาดจิตสำนึกและความมีส่วนร่วมทางการเมือง / มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงนำการเลือกตั้ง 4.องค์กรทางการเมือง >อัปลักษณ์ / ศุภลักษณ์ 5.หน้าที่ขององค์กรทางการเมือง >แสวงหาประโยชน์ / ทำประโยชน์ 6.ลักษณะการทำงานองค์กรทางการเมือง > ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่โปร่งใส มิจฉาพัฒนา/ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนส่งเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้สัมมาพัฒนา 7.ผลลัพธ์ > ประชาชนไม่หายจนขาดความเป็นธรรมขัดแย้งสูง ความรุนแรง / แก้ความยากจนได้มีความเป็นธรรม สมานฉันท์สันติภาพ (๑) จิตสำนึกประชาธิปไตย ประชาธิปไตยต้องมีรากลึกอยู่ในจิตสำนึกที่ดีงาม จะมีแต่กลไกไม่ได้ คนเราต้องมีจิตสำนึกแห่งศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคน เคารพความถูกต้องดีงาม มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่ใช่มีหีนจิตหรือจิตคับแคบต่ำทรามม มีอกุศลมูลที่เป็นตั้งอันเป็นบ่ออเกิดของการเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไช (๒) ลักษณะสังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมเปิด เป็นสังคมธรรมนิยม ใช้ความรู้ ใช้เหตุผล ทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่สังคมปิดและสังคมอำนาจนิยม ซึ่งเป็นเผด็จการไม่ใช่ประชาธิปไตย (๓) ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง ระบอบเผด็จการจะปิดบทบาททางการเมืองของประชาชน ให้มีแต่การเลือกตั้งจอมปลอม ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองสูงและมีส่วนร่วมทางการเมืองในการกำหนดนโยบายทิศทางการพัฒนา และตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ การเมืองภาคประชาชนต้องเป็นวิสัยของระบอบประชาธิปไตย (๔) องค์กรทางการเมือง ในการเมืองเก่าที่เน่าหนอนชอนไช องค์กรทางการเมืองเป็นองค์กรอัปลักษณ์ ประกอบด้วยเสือสิงห์กระทิงแรดอันธพาล คนขี้คุกขี้ตะราง ขาดความรู้ ขาดความสุจริตและการอุทิศเพื่อบ้านเมือง เพราะถูกบงการโดยคนคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ เป็นคณาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ในระบอบอารยะประชาธิปไตย องค์กรทางการเมืองต้องเป็นองค์กรศุภลักษณ์ ไม่ใช่องค์กรอัปลักษณ์ (๕) หน้าที่ขององค์กรทางการเมือง ในการเมืองเก่าเป็นองค์กรแสวงประโยชน์ ในการเมืองใหม่เป็นองค์กรทำประโยชน์ (๖) ลักษณะการทำงานขององค์กรทางการเมือง ในการเมืองเก่าจะขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่โปร่งใส ปิดบังการตรวจสอบ พัฒนาผิดๆ หรือมิจฉาพัฒนา ในการเมืองใหม่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรม มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ทำการพัฒนาที่ถูกต้อง หรือสัมมาพัฒนา (๗) ผลลัพธ์ของการเมืองเก่ากับใหม่ เนื่องจากการเมืองเก่านำไปสู่มิจฉาพัฒนา จึงแก้ความยากจนของประชาชนไม่ได้ ขาดความเป็นธรรม นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ส่วนการเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตยนำไปสู่สัมมาพัฒนา ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข แก้ความยากจนได้ สร้างความเป็นธรรม จึงนำไปสู่สมานฉันท์และสันติภาพ ที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างของการมองการเมืองใหม่ทั้งระบบ โดยยังไม่ได้ลงไปสู่กลไกขององค์กรทางการเมือง ควรจะระดมความคิดกันอย่างกว้างขวางว่าการเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตยนั้นคืออย่างไร ควรเริ่มด้วยจินตนาการใหญ่ ซึ่งจะให้พลังมาก อย่าลงไปสู่กลไกเร็วเกินไปซึ่งจะทำให้แคบ ข. คนไทยทุกภาคส่วนร่วมสร้างการเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตย คนไทยเป็นคนดี แต่ระบบการเมืองเก่าที่เน่าหนอนชอนไช ทำให้บ้านเมืองเศร้าหมอง หมดสง่าราศี เต็มไปด้วยความชั่วร้ายและวิกฤตมากขึ้นๆ ทุกๆ ทาง ถึงเวลาที่คนไทยทั้งมวลจะต้องลุกขึ้นจับมือกันสร้างความความเป็นอารยะประชาธิปไตย คนไทยทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ต้องเคลื่อนไหวคุยกันว่าอารยะประชาธิปไตยนั้นคืออย่างไร ควรมีการสื่อสารทุกรูปแบบให้มีความตื่นตัวทางการเมือง การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มน้อยอีกต่อไป การเมืองต้องเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน เมื่อประชาชนมีจิตสำนึกทางการเมืองสูงเคลื่อนไหวรวมตัวสถาปนาอารยะประชาธิปไตย ขบวนการมหาประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเป็นกรอบหรือระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้รัฐธรรมนูญและองค์กรทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากนักการเมือง ประชาธิปไตยเกิดจากประชาชน ประชาธิปไตยต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญ นักการเมืองเป็นผู้ปฏิบัติตามกรอบที่ประชาชนวางไว้และกำกับให้มีความถูกต้อง ควรระดมความคิดว่าองค์กรทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้มาอย่างไร จึงจะเป็นองค์กรศุภลักษณ์ การเมืองภาคประชาชนเป็นปัจจัยชี้ขาดให้การเมืองมีคุณภาพ ศิลปินทั่วประเทศควรเข้ามารณรงค์สร้างจินตนาการและจิตสำนึกประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยทั้งหมด นิสิตนักศึกษาทั้งหมด ผู้ใช้แรงงาน องค์กรภาคธุรกิจ สื่อมวลชนทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรทางการแพทย์และสาธารณสุข แม่บ้าน และคนไทยอื่นใดที่ต้องการเป็นความผาสุกในบ้านเมือง ต้องร่วมรณรงค์อารยะประชาธิปไตย วงการการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหมดต้องถือว่าเรื่องอารยะประชาธิปไตยเป็นกรอบใหญ่ของสุขภาพสังคม เพราะการเมืองเก่าที่เน่าหนอนชอนไช เป็นเครื่องบ่อนทำลายสุขภาวะของประชาชนที่ร้ายแรงที่สุด ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ถ้าการเมืองขาดศีลธรรม มหาชนชาวสยามจะมีความผาสุกได้อย่างไร ฉะนั้นมวลมหาประชาคมทางสาธารณสุขทั้งหมด ควรทุ่มกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังทรัพย์ เคลื่อนไหวสนับสนุนให้ประชาชนสถาปนาอารยะประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวเพื่ออารยะประชาธิปไตย ควรมีความหลากหลาย หลายรูปแบบ หลายระดับ หลายผู้นำ แต่เมื่อเคลื่อนไหวไปๆ อะไรที่เป็นสัจจะและความถูกต้องก็จะเข้ามาเชื่อมกันเอง อะไรที่ไม่ใช่ของจริงของแท้ก็จะตกหล่นไปตามทาง อะไรที่เป็นกระบวนการสาธารณะจะทำให้เห็นแก่ตัวได้ยาก พลังแห่งการรวมตัวของมหาชนจะยุติความชั่วร้ายทั้งปวง เมื่อประชาชนสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญและองค์กรทางการเมืองทั้งหลายก็จะเป็นระบบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของมวลชน เกิดศีลธรรมทางการเมือง เมื่อการเมืองเป็นอารยะประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ศีลธรรม ความเจริญ ความเข้มแข็ง ความผาสุก ก็จักเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา คนไทยทั้งมวลจึงต้องรณรงค์สร้างอารยะประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการที่ใจกว้าง รวมคนทั้งหมดเข้ามาด้วยกัน ไม่แยกข้างแยกขั้ว ไม่มีการโค่นล้มอะไร เพราะเป็น การสร้าง เหมือนการสร้างบ้านที่สวยงามน่าอยู่ที่ทุกคนร่วมกันสร้าง ระบอบอารยะประชาธิปไตยคือบ้านของเรา ที่เราจะอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก.- http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=951000011431
1 ตุลาคม 2551 10:10 น. - comment id 101869
ด้วยมือสองมือ ตาสองตา ขาสองขา หนึ่งใจ ไกลแสนไกล นานเท่าไร เราต้องไปให้ถึง เส้นทางทุกข์ทน ทนทุกข์ไป ใจอย่าคิดพรั่นพรึง เดินก้าวไปให้ถึง ถึงยังฝั่งแห่งฝัน วันที่เราเฝ้าฝัน คงจะอีกไม่ไกล การเมืองใหม่ ประชาภิวัฒน์
1 ตุลาคม 2551 10:40 น. - comment id 101870
24 ตุลาคม 2551 17:23 น. - comment id 102126
ขอให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย