กันและกัน
ลุงแทน
กันและกัน
“ถ้าบอกว่าเพลงนี้ แต่งให้เธอ เธอจะเชื่อไหม มันอาจไม่เพราะ ไม่ซึ้ง ไม่สวยงาม เหมือนเพลงทั่วไป อยากให้รู้ว่าเพลงรัก ถ้าไม่รัก ก็เขียนไม่ได้ แต่กับเธอคนดีรู้ไหม ฉันเขียนอย่างง่าย...ดาย เธอคงเคยได้ยินเพลงรักมานับร้อยพัน มันอาจจะโดนใจ แต่ก็มีความหมายเหมือน ๆ กัน แต่ถ้าเธอฟังเพลงนี้ เพลงที่เขียนเพื่อเธอเท่านั้น เพื่อเธอเข้าใจความหมายแล้วใจจะได้มี กันและกัน”
คุ้น ๆ หรือเปล่าคะเพลงนี้ น่าชมคนแต่งเพลงนะคะที่เข้าใจนำคำมาเรียงร้อยกันเป็นเพลง เพราะคำว่า กัน ในภาษาไทย ของเราไม่ได้มีเพียงความหมายเดียวเท่านั้น แต่มีความหมายและมีหน้าที่ของคำแตกต่างกัน เช่น (๑) เป็นคำสันธาน ใช้เป็นภาษาปาก หมายถึง คําใช้แทนตัวผู้พูดเพศชายพูดกับผู้เสมอกันหรือผู้น้อยในทํานองกันเอง, ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑
(๒) เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง คําประกอบท้ายกริยาของผู้กระทําตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป แสดงการกระทําร่วมกัน อย่างเดียวกัน หรือต่อกัน เช่น คิดกัน หารือกัน (๓) เป็นคำกริยา หมายถึง กีดขวางไว้ไม่ให้เข้ามาหรือออกไป หรือไม่ให้เกิดมีขึ้น เช่น กันฝน กันสนิม กันภัย, แยกไว้ เช่น กันเงินไว้ ๕๐๐ บาทเพื่อจ่ายในสิ่งที่จําเป็น, กันเอาไว้เป็นพยาน (๔) เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อช้างศึกพวกหนึ่ง มีหน้าที่ป้องกันและล้อมทัพ, หรือใช้เรียกเรือซึ่งกำหนดให้เข้ากระบวนเสด็จทางชลมารค ทำหน้าที่ถวายอารักขา มีหลายลำ ตั้งเป็นแถวขนาบกระบวนเรือพระที่นั่งทั้ง ๒ ข้าง และกันอยู่ท้ายกระบวนระหว่างเรือของเจ้านายที่ตามเสด็จ เรียกว่า เรือกัน
แต่ถ้าพูดถึง กันและกัน จะหมายถึง คําใช้แทนชื่อในลักษณะที่มีการกระทําร่วมกันหรือต่อกันโดยมีบุรพบทประกอบ หน้า เช่น รักซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของกันและกัน เมื่อรู้แล้วก็อย่าลืมมาช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยนะคะ จะได้มีกันและกันตลอดไป.
คัดลอกมาจาก จินดารัตน์ โพธิ์นอก