บรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance)

กวินทรากร

คำถามที่สำคัญคือ ประเด็นการแลกเปลี่ยนผลผลิต ทางการค้าและการลงทุนในยุค IT ที่สามารถเชื่อมโยงประสานถักทอ เป็นเครือข่ายเชื่อมเราให้เข้าไปสู่ วาทกรรมหลักของบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Discourse) "บรรษัทภิบาล" มิใช่คำแปลกใหม่ในสังคมไทย หากแต่มีผู้เริ่มนำคำว่า "ธรรมาภิบาล (Good Governance)" มาเผยแพร่ และได้กระแสการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี คำว่า "ธรรมาภิบาล" เกิดจากคำว่า "ธรรม" สนธิกับคำว่า "อภิบาล" (การรักษายิ่งซึ่งธรรม)     มาจากคำในภาษาอังกฤษคือคำว่า Good Governance คำนี้คณะกรรมการบัญญัติศัพท์รัฐศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติไว้ว่า "วิธีการปกครองที่ดี" แต่ทางผู้แทนราษฎรได้ใช้คำว่า     "ธรรมรัฐ" ซึ่งไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษ เพราะ"ธรรมรัฐ" แปลว่า "รัฐที่มีธรรม" ทาง คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.กพ.) ก็ได้บัญญัติศัพท์ใหม่ว่า "สุประศาสนการ" แต่ทาง          ราชบัณฑิตยสถานก็ยังไม่เห็นด้วย 
ปฐมเหตุของ ธรรมาภิบาล หรือ ธรรมรัฐ ก็คือการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Good Governance) อีกทั้งเป็น วาทกรรมทางการเมือง ที่ องค์กรเหนือรัฐ คือธนาคารโลก ได้นำเสนอหยิบยื่น ให้กลุ่มประเทศ ที่ 3 (ประเทศลูกหนี้) นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศักราช 1980 เป็นต้นมา เพราะเล็งเห็นความไม่ได้มาตรฐานสากลในการบริหารบ้านเมือง ของกลุ่มประเทศดังกล่าว อันเนื่องมาจาก ความไร้ประสิทธิภาพ และการคอร์รัปชันของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ ในแถบลาติน อเมริกาและ แอฟริกา ที่ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้เงินกู้จากธนาคารโลก โดยได้ให้คำนิยามความหมายของ Good Governance ว่า เป็นลักษณะและวิถีทางของการใช้อำนาจรัฐ เพื่อการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนา ในขณะที่ Commission on Global- Governance ได้ให้ คำนิยาม Governance ในเอกสารที่มีชื่อว่า Our Global Neighborhood ว่า หมายถึง ผลลัพธ์ของการจัดการ กิจกรรมซึ่งบุคคลและ สถาบันทั้งในภาครัฐและเอกชนมีผลประโยชน์ ได้กระทำลงในหลายทาง มีลักษณะ เป็นกระบวนการ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผสมผสานผลประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ โดยการร่วมมือกัน จัดการในเรื่องนั้นๆ ด้วยเหตุนี้เองคำว่า ธรรมาภิบาล จึงถูกนำมาใช้ในภาครัฐ และเมื่อเวลายิ่งผ่านไป กระแสเรียกร้อง ให้องค์กรภาคธุรกิจ ปฏิบัติตามหลัก ธรรมาภิบาล สำหรับภาคองค์กรธุรกิจ หรือ "หลักบรรษัทภิบาล" ก็ยิ่งมากขึ้น เป็นเงาตามตัว เพราะสืบเนื่องมาจาก วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรงและมีผลมาจนถึงปัจจุบัน อันเกิดจากภาคธุรกิจ และเอกชนโดยเฉพาะสถาบันการเงิน แต่อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจเอกชนถูกควบคุมโดยกลไกของรัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ การที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น นั่นแสดงว่ากลไกของรัฐ ในการเข้าไปดูแลในการบริหารจัดการ ภาคธุรกิจเอกชน ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้หน่วยงานเอกชนหรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ มีกติกาการทำงานที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ซื่อตรงเป็นธรรมต่อลูกค้า มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพ จึงทำให้เป็นที่มาของ บรรษัทภิบาล 
ในลำดับต่อไปนี้เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับคำว่า บรรษัทภิบาล อันเป็นคำศัพท์บัญญัติซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคือคำว่า Corporate Governance คำว่า Corporate หรือ Corporation นั้นตามกฎหมายอังกฤษ นอกจากหมายถึงบริษัทการค้าแล้วยังหมายถึงองค์กรอื่นที่มีสภาพนิติบุคคลด้วย แบ่งเป็น กรณีที่หนึ่ง Corporation Aggregate คือมีหลายคนประกอบการ เช่น นายกเทศมนตรีกับ Alderman ในฐานะผู้บริหารเมือง (Incorporated town) กรณีที่สอง Corporation Sole คือมีบุคคลคนเดียวเป็นองค์กร เช่น Bishop หรือ Vicar เป็นต้น สำหรับคำว่า Governance หรือ Govern นั้นเป็นคำกริยาซึ่งแปลว่า ใช้บังคับ ครอบคลุม ปกครอง  (ถาวร โพธิ์ทอง 2544, 65) 
ส่วนพจนานุกรมในภาคภาษาอังกฤษนั้นได้ให้คำจำกัดความคำว่า Corporate และ Governance ไว้ดังนี้คือ 
Corporate adj. Forming a body politic or Corporation; forming one body of many individuals; of, belonging to, a body politic; ~ town, (hist.) town with municipal right, and corporation. 
(The New Oxford Illustrated Dictionary 1978, 374)
Governance n. Act, manner, fact, or function, of governing; sway, control. 
(The New Oxford Illustrated Dictionary 1978, 729) 
จะเห็นได้ว่าในคำแปลทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้น  ล้วนแล้วแต่มีความใกล้เคียงกันมาก ในส่วนของความหมายเพราะเหตุที่ว่า บรรษัทภิบาล เป็นคำศัพท์ที่ไทยเราบัญญัติขึ้นมาจากคำว่า Corporate Governance ซึ่งเป็นคำในภาษาอังกฤษนั่นเอง สำหรับคำจำกัดความ หรือคำนิยาม ที่กล่าวอธิบายความหมายของคำว่า บรรษัทภิบาล นั้น ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิกล่าวไว้มากมายในหนังสือหลายๆ เล่ม รวมไปถึงตามหน้าเวปไซต์ต่างๆ อาทิเช่น 
Corporate Governance เป็นแนวคิดและกระบวนการหรือข้อพึงปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎีที่มีการพิสูจน์แล้ว ไม่มีรูปแบบเดียวเป็นมาตรฐานตายตัวแม้ในแต่ละประเทศ ไม่มีรูปแบบที่แต่ละกิจการจะหยิบมาใช้ได้เป็นสูตรสำเร็จ Corporate Governance ดังที่เป็นอยู่ พึ่งสามัญสำนึกและดุลพินิจเป็นหลักใหญ่นั่นคือในท้ายที่สุดแล้วสาระมีความสำคัญเหนือรูปแบบ (นวพร เรืองสกุล 2545, 3) 
บรรษัทภิบาล คือ หลักการบริหารจัดการธุรกิจ ให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยการสร้างกลไกควบคุมการดำเนินงาน ขององค์กรให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ลูกค้าตลอดจนรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือถ้าจะพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ เป็นจรรยาบรรณของคนทำธุรกิจ ที่ใส่ใจกับหลักคุณธรรมควบคู่ไปกับความอยู่รอดเติบโตขององค์กรและสังคม   
Governance ตลาดหลักทรัพย์ใช้คำว่า การกำกับดูแลกิจการ พอพูดถึง Good Governance ภาครัฐใช้ ธรรมรัฐ บ้าง ธรรมาภิบาล บ้าง ส่วนภาคเอกชนใช้ บรรษัทภิบาล บ้าง การกำกับดูแลที่ดี บ้าง (นวพร เรืองสกุล 2545 , 7) 
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคงพอจะฉายภาพของคำว่า Corporate Governance คิดว่าคงทำให้หลายๆ ท่านเริ่มที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า บรรษัทภิบาล เป็นอย่างดีแล้ว ในลำดับต่อไปจะกล่าวถึงองค์ประกอบของบรรษัทภิบาล โดยแต่ละองค์กรแต่ละประเทศ ก็ย่อมที่จะมีเกณฑ์กำหนดแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้คือ 
ง	ปฏิบัติกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม
 	 คือมุ่งปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้ซื้อสินค้า ผู้ขายสินค้า พนักงาน เจ้าหนี้ รัฐบาล และสังคมโดยรวม อย่างยุติธรรม นั่นหมายความว่าองค์กรมีความจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันระหว่าง ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายย่อย และไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศโดยถือผู้ถือหุ้นทุกรายมีความสำคัญต่อองค์กรทั้งสิ้น 
ง	การเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศและความโปร่งใส (Disclosure and transparency) 
 	ความเชื่อมั่นของนักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้เกี่ยวข้อง เกิดจากความโปร่งใส ในการดำเนินงานขององค์กร องค์กรที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งกำหนดภารกิจของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และทันเหตุการณ์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยข้อมูลที่เปิดเผยมีความสม่ำเสมอคือได้รับจัดทำและบันทึกด้วยหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดมีมาตรฐาน สามารถเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งอื่นได้อย่างสะดวก 
ง	ลดความเสี่ยง 
 	แม้ว่าองค์กรจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจนและมีการวางแผนการปฏิบัติอย่างมืออาชีพตลอดจนกำหนดกระบวนการควบคุมและตรวจสอบผลการปฏิบัติอย่าง รัดกุมแล้วแต่ก็ยังคงต้องมีกระบวนการบริหารความเสี่ยง และเน้นปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจแล้วกำหนดระดับความสำคัญของความเสี่ยง มีมาตรการควบคุม และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด  การมุ่งผลอันเป็นเลิศในองค์กร คือการมุ่งปฏิบัติอันเป็นเลิศ ซึ่งใช้ได้ผลดีมาแล้วจากหน่วยงานอื่นๆ จากนั้นจึงประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพงานขององค์กร นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมการปฏิบัติอันเป็นเลิศแก่บุคลากรทุกฝ่าย โดยผลักดันให้ทุกหน่วยงานพัฒนาตนเอง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศตลอดเวลา  
ง	ความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ 
 	ในฐานะที่องค์กรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประเทศชาติ องค์กรจึงควรคืนกำไรสู่สังคมผ่านทางกิจกรรมการกุศลต่างๆ ตามความเหมาะสม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สภาวะแวดล้อมและสนับสนุนกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม  การให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ องค์กรควรตระหนักถึงการสร้างมูลค่าขององค์กรในระยะยาวไม่ควรคำนึงแต่เพียงผลตอบแทนระยะสั้น รวมทั้งมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไม่หยุดนิ่ง อันหมายถึง ความเพียรพยามที่จะให้เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและยั่งยืนนาน 
ง	การรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ (Accountability) 
ในการทำงานนั้นเมื่อให้มี ข้อมูลนำเข้า (Input) และมีการทำงานที่เป็นกระบวนการ (Process) ย่อมนำไปสู่ ผลผลิต (Output) และเสียงตอบรับ (Feed back) ผลผลิตในที่นี้ ไม่ว่าจะตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ได้คาดหวังไว้หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าผลผลิตนั้นจะให้คุณ หรือให้โทษต่อองค์กร ย่อมต้องถือเป็นผลผลิตรวมขององค์กรทั้งสิ้น จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญขององค์กรภาคธุรกิจที่จะต้องให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตน เพราะถือว่าเป็นจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจด้วย 
ง	คณะกรรมการเป็นอิสระและเข้มแข็ง (Actively independent board) 
คณะกรรมการ (Board) คือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจในการตัดสินใจภายในองค์กรภาคธุรกิจ ส่วนคำว่าอิสระ ในที่นี้หมายถึงอิสระในการตัดสินใจกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ คณะกรรมการบริหาร ควรมีความเป็นอิสระสูง และควรที่จะต้องมี จิตวิญญาณสาธารณะ (Public Sprit) นั่นหมายถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สำหรับคำว่า ความเข้มแข็งในที่นี้นั้น หมายถึงความเข้มแข็งทางด้านจิตใจและการกระทำ ของผู้บริหารซึ่งต้องยึดมั่นในการกระทำความดีเพื่อความดี 
ทุกวันนี้มนุษย์เรามักจะถามถึงการกระทำความดีว่า เราควรทำดีเพื่ออะไร ? เราต้องสามารถตอบได้ทันทีเลยว่า เราทำความดีเพื่อความดี และเราทำความดีเพื่ออุดมการณ์อันดีงาม และถ้ามีคำถามที่สองถามตามมาอีกว่า อุดมการณ์ อันดีงามกินได้หรือเปล่า ? เราสามารถตอบได้เลยทันทีว่า อุดมการณ์กินไม่ได้เพราะอุดมการณ์ไม่ใช่ไก่ KFC ไก่ KFC กินแล้วอิ่มท้อง อุดมการณ์กินแล้วไม่อิ่มท้องแต่กินแล้วอิ่มใจ เมื่อใจอิ่มจิตใจเราก็พร้อมที่จะทำตาม อุดมการณ์อันดีงามต่อไป ประมาณว่าเท่ห์แต่กินไม่ได้ทำนองนั้น 
ในทาง พุทธศาสนานั้นยึดถือเกียรติยศศักดิ์ศรีเป็นรองลงมาจากองค์ความรู้ และถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุดมการณ์อันสำคัญสูงสุดปรัชญาเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ใน โคลงโลกนิติบทที่ 64 ความว่า
๏ เสียสินสงวนศักดิ์ไว้...............วงศ์หงส์ 
เสียศักดิ์สู้ประสงค์.....................สิ่งรู้ 
เสียรู้สู้ดำรง...............................ความสัตย์ ไว้นา 
เสียสัตย์อย่าเสียสู้......................ชีพม้วยมรณา 
(เดชาดิศร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา 2543,109)
บทสรุป บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หมายถึง การกำกับดูแลกิจการในภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยความโปร่งใส รับผิดชอบ และเที่ยงธรรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคการปฏิบัติ โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจในบรรษัทภิบาลที่ดี จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท (shareholder) และควรปฏิบัติอย่างเสมอภาค เพื่อการดำเนินการภายในองค์กรให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดนั่นเอง โดยทั้งนี้ทั้งนั้นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากสมาชิกทุกคนภายใน องค์กร โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมอย่างมีจิตสำนึกหรือ จิตสาธารณะ (Public consciousness) ตลอดจนความสมัครสมานสามัคคีร้อยรัด ของสมาชิกที่เข้ามาเพื่อรังสรรค์ สิ่งที่ดีงามแก่องค์กรธุรกิจโดยรวม 
บรรณานุกรม
เดชาดิศร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ,กรมพระยา.โคลงโลกนิติ.กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย 
         กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ, 2543.
นวพร เรืองสกุล.บรรษัทภิบาล เรื่องที่นักลงทุนและกรรมการต้องรู้ .กรุงเทพฯ : มาสเตอร์คีย์, 
         2545.
ถาวร โพธิ์ทอง.พจนานุกรมกฎหมายและศัพท์ที่เกี่ยวข้อง อังกฤษไทย  Dictionary of law and
        relevant words English - Thai. กรุงเทพ, 2544.  
 The E d i t o r, บรรษัทภิบาลช่วงนี้ได้ยินบ่อยจัง.
          [http://www.theeditor.org/0-1_110900/columnistsbubble.htm]. 22 April 2003.
___________. The new oxford illustrated dictionary. Tokyo: Oxford university press, 1978.				
comments powered by Disqus
  • ตู่นุดี

    30 เมษายน 2546 18:54 น. - comment id 68577

    IR พร้อม !!!!
    กรู๊ววว์  เหอๆๆ
    
    ไงก็ขอให้พี่ตะเอ๋าได้รางวัลละกันนะคะ
    เป็นกำลังใจให้ค่ะ....
    
    
  • ราชิกา

    30 เมษายน 2546 21:03 น. - comment id 68579

    อ่านแล้ว..เข้าใจดีค่ะ...เพราะเรียนมาทางนี้อยู่แล้ว...ช่วงทำวิทยานิพนธ์...ก็ได้นำเอาหลักของ..ธรรมาภิบาลมาใช้เช่นกัน....ได้ความรู้เพิ่มขึ้นค่ะ....
  • ตะเอ๋า

    2 พฤษภาคม 2546 20:41 น. - comment id 68597

    ยังไม่ได้ทำบรรณานุกรมอ่ะ แย่จัง 555

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน