^*^ เกิดมาทำไม? ^*^
ลุงแทน
อุปมาแห่งชีวิต :
เรียบเรียงจากหนังสือธรรมโฆษณ์ /ชุดสันทัสเสตัพพธรรม
พุทธทาสภิกขุบรรยาย
..........“สิ่งสำคัญในพุทธศาสนาที่ได้กล่าวไว้โดยภาษาธรรม
ทำไมจึงพูดโดยหัวข้อนี้ ที่พูดถึงสิ่งสำคัญในพุทธศาสนาพูดไว้โดยภาษาคน
แต่ต้องถือเอาตาม ความหมายตาม ภาษาธรรม?
เพราะว่าคำพูดที่เกี่ยวกับหลักธรรมในพุทธศาสนานั้น
มันเป็นเรื่องที่สูงที่ลึก มีภาษาพูดเป็นของตัวเองเฉพาะ
แต่ทีนี้มันก็พูดไม่ได้เสมอไป
คือ มันยากเกินไปบ้าง มันเข้าใจไม่ได้สำหรับคนทั่วไปบ้าง
ก็ต้องพูด โดยภาษาที่คนธรรมดาพูด แต่ให้มีความหมายพิเศษแปลกออกไป
เพื่อความหมายของผู้ที่รู้ธรรม ที่เรียกว่าการประพฤติพรหมจรรย์
หรือ การเดินไปตามอริยมรรคมีองค์แปด
เป็นการเดินไปทางข้างหน้า ที่สูงกว่า ชีวิตจึงเป็นการเดินทาง
............”สิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าเรื่องการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
การทำความดับทุกข์ เราเปรียบเทียบเป็นอุปมาได้หลายอย่าง เป็นการเดินทางก็มี
เป็นการอะไรก็มี หลายอย่างด้วยกัน ซึ่งจะยกตัวอย่างมาให้ดูสัก ๑๒ อย่างคือโหลหนึ่งพอดี
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าหาก ท่านทั้งหลาย เข้าใจความหมายของคำพูดเหล่านี้โดยถูกต้องแล้ว
จะมีประโยชน์มาก จะสะดวกมากในการที่จะฟังธรรมะ ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะต่อๆไปข้างหน้า ทีนี้ลองฟังดู ในขั้นแรกนี้จะยกหัวข้ออุปมานั้นมาพูด คือพูดแต่โดยหัวข้อก่อนแล้วก็พูดรายละเอียดทีหลัง
ข้อที่ ๑. ข้อที่ สำคัญที่สุด คือมีมากที่สุดที่ใช้พูดกัน ก็คือว่า ชีวิตนี้เหมือนกับการเที่ยวเรือไปในทะเล เหมือนกับพ่อค้าเรือท่องเที่ยวไปในทะเลเพื่อหาสิ่งที่ต้องประสงค์ สมัยก่อนนี้เห็นได้ง่าย เขาไม่มีรถไฟ ไม่มีเรือบิน มันมีเรือเดินทะเล เขาก็เที่ยวกันไปกระทั่งทั่วโลกได้เหมือนกัน ลงเรือไปในทะเลก็เพื่อไปหาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับเขา จนกว่าจะได้ พอได้แล้วก็หยุด หยุดเลิกเที่ยว ชีวิตของคนเราเหมือนกับลงเรือค้า เที่ยวไปค้าขายหาอะไรที่ต้องการ คือ เงิน ตามถิ่นต่าง ๆ จนกว่าจะหยุด
ข้อที่ ๒. ชีวิตนี้เหมือนกับเดินทางไกล เดินทางบก เดินทางเท้าไปที่เมือง ๆ หนึ่ง
ที่เรียกว่าเมืองนิพพาน หรือเมืองอมตะ ก็แล้วแต่จะเรียก มันก็ต้องเดินทางไกล ก็ไป
ด้วยความยากลำบาก อริยมรรคมีองค์แปด เปรียบเหมือนกับเดินทางไกลก็ได้
คนจะเดินทางไกลต้องมีความรู้ เช่นแผนที่ ที่เราจะเดินไปต้องมีการตระเตรียม
ต้องมีการอารักขา ต้องมีเสบียงอาหาร ต้องมียานพาหนะ แม้ที่สุดแต่รองเท้าหรือร่ม นี้ก็เรียกยานพาหนะ จนกว่าจะไปถึงเมืองนั้นชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ก็เดินทางวิญญาณ เดินทางนามธรรม
เดินอยู่ภายใน จนกว่ามันจะถึงจุดหมายปลายทาง การ ปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์แปด
เป็นการเดินทางอยู่ข้างใน.
ข้อ ๓. ชีวิตเปรียบเหมือนกับว่า ออกไปสู่ฝั่งโน้น แผ่นดินฝ่ายนี้มีแต่ เรื่องร้ายกาจทั้งนั้น ก็อยากจะออกไปสู่ฝั่งโน้น ฝั่งนี้เรียกว่า ตีระ ฝั่งโน้นเรียกว่า ปาระ นิพพานเป็นชื่อของปาระ คือฝั่งโน้น, โลกิยะ เป็นชื่อของ ตีระ คือฝั่งนี้ แต่ว่าน้อยคนนักที่จะออกไปสู่ฝั่งโน้นได้ ส่วนมากก็วิ่งเลาะอยู่ตามฝั่งนี้ อย่างบทสวดมนต์ที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน
ข้อที่ ๔. ชีวิตเปรียบเหมือนออกจากโลกไปสู่โลกอุดร ฟังดูคล้ายว่า โลกนี้มันไม่ไหว จะไปสู่โลกอื่น คือโลกอุดร ที่แท้คำว่า “โลกอุดร” แปลว่า เหนือโลก พ้นโลกไม่เกี่ยวกับโลก โลกหรือโลกิยะนี้มันเหลือทน ทีนี้ต้องการจะออกไปเสียจากโลก ไปสู่นอกโลก คือ โลกุตตระ นี้ก็เรียกว่า ๔ อย่างที่กล่าวมานี้เป็นเรื่อง “ ไป ” ชีวิตไม่ได้หยุดนิ่ง เป็นชีวิตที่ ไป-ไป-ไป ฯลฯ เที่ยวเรือไปในทะเล ไปหาที่ต้องการ
หรือว่าเดินทางไกลไปสู่เมืองนิพพาน หรือว่าออกไปเสียจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น หรือออกไปเสียจากโลกไปสู่ โลกุตตระ
ข้อที่ ๕. อุปมาอีกพวกหนึ่ง เป็นเรื่องจะได้เอาอะไร เช่นเปรียบชีวิตหรือการปฏิบัติธรรมเหมือนกับการทำนา การทำนาทุกคนรู้จักดีว่าทำอย่างไร แต่ทำนาตามแบบของพระพุทธเจ้ายังไม่รู้จัก เป็นการทำนาที่มี อมตะ เป็นข้าวเปลือก เนื่องจากมีคนต่อว่าพระพุทธเจ้า ทำนองด่าใส่หน้า ว่าดีแต่กิน ไม่เห็นทำอะไร พระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า ท่านก็ ทำนา เหมือนกัน ทำนาที่มี อมตะ เป็นผล, มีศรัทธา เป็น ข้าวพืช เป็นข้าวกล้า เป็นเม็ดข้าวพืช, มีตบะ เป็นน้ำฝน, มีปัญญา เป็นตัวไถสำหรับไถนา เพราะมันคม, มีหิริ ความละอายบาปที่ทำให้งามเป็นงอนไถ, มีใจ เป็นเชือกไถ มีครบทุกอย่างเหมือนกัน แล้วมีการบรรลุมรรคผลนี้ เป็นการสิ้นสุดฤดูทำนา หยุดการทำนา ได้ผลเป็นข้าวเปลือก เป็นอมตะ ถ้าพูดอย่างนี้กับคนทำนา เขาเข้าใจได้ง่าย ตาพราหมณ์คนนั้นกำลังไถนาอยู่ พระพุทธเจ้าท่านแกล้ง
ท่านทรงแกล้งเข้าไปให้มันด่าเล่น แล้วท่านก็ตอบคำถามนี้ นี้เรียกว่า ชีวิตเป็นการทำนา การปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดนี้เป็นการทำนา จนกว่าจะได้ข้าวเปลือกเป็นอมตะมา
ข้อที่ ๖. ว่าชีวิตนี้เหมือนกับการรักษาคนให้หายจากโรค คนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็พยายามรักษาตนให้หายจากโรค แต่นั่น มันเป็นโรคทางกาย อย่างดีก็เป็นโรคทางจิต ไปโรงพยาบาลธรรมดาไปโรงพยาบาลโรคจิต แล้วก็ไปรักษาให้หาย
แต่โรคที่ร้ายนั้นคือโรคทางวิญญาณ ต้องไปโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า โรคทางวิญญาณ ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรเหล่านี้ที่ มันเสียบแทง เผาลนอย่างยิ่ง ทนทรมานอย่างยิ่ง
ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า แล้วรักษาให้โรคนี้หายไป เปรียบชีวิตนี้ก็เหมือนกับการรักษาตนให้หายโรค เพราะเราเกิดมาก็มี โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นงอกงาม ขึ้นมาเรื่อย ก็เป็นโรคที่เจริญขึ้นเรื่อย ก็หาทางรักษาให้หายไป ชีวิตนี้ ก็เหมือนการรักษาตนให้หายจากโรค
ข้อที่ ๗. ว่า ชีวิตนี้เหมือนกับการถอนลูกศรที่กำลังเสียบอยู่ คือว่าใครคนหนึ่งถูกลูกศรเสียบอยู่ที่ตัว ก็ต้องรีบพยายามอย่างยิ่งที่จะถอนออกมาเสียแล้วก็รักษาแผลให้หายเสีย
อย่ามัวโง่ไปเที่ยวถามอยู่ว่าใครยิงกู ยิงเพราะเหตุไร มันเอาอะไรทำลูกศร มันเอาอะไรทำสายศร
นั่นมันเป็นความคิดที่จะคิดไปโง่ ๆ เสียเวลาเปล่า มันต้องรีบคิดรีบทำไปในทำนองว่า จะเอาออกได้อย่างไร จะรักษาหายได้โดยเร็วอย่างไร อย่าไปมัวโง่ถามว่า วิญญาณมีหรือไม่มี ตายแล้วอะไรไปเกิด เกิดด้วยอะไรอย่างไร มันเป็นคำถามที่โง่ ๆ ไปมัวคิดเรื่องที่ไม่จำเป็น ต้องมีคำถามว่า มันเกิดอยู่แล้วอย่างนี้ มันมีปัญหาคืออะไร จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
มันมีความทุกข์ มันจะต้องดับทุกข์ ทุกข์มันเกิดจากอะไร ก็ต้องแก้ที่นั่น ไม่ต้องมัวถามว่าตายแล้วเกิด หรือไม่เกิดเป็นต้น มันควรจะถามว่า ที่เกิดอยู่นี่ทำอย่างไร ถ้าทำให้เสร็จเรื่องมันก็จบ ถ้าทำเสร็จคือรู้ว่าดับทุกข์อย่างไร ดับได้แล้วนี้มันดับตัวกูของกูหมด ตับตัวตนเสียหมด ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย
นั่นปัญหาเรื่องเกิดเรื่องตายมันก็สูญหายไปเลย เหลือแต่ว่ามีความทุกข์ แล้วก็ดับทุกข์เสียได้
นี้แหละ ชีวิตนี้ เหมือนการ ถอนลูกศร ที่กำลังเสียบ อยู่ที่ตัว เรามีหน้าที่ถอนออกให้ได้เท่านั้น
ข้อที่ ๘. ชีวิตเหมือนกับการดับไฟที่ไหม้อยู่ที่ศีรษะ
นี้ก็คล้ายกับที่แล้วมา เพียงแต่เขาเปรียบเป็นไฟที่กำลังไหม้อยู่บนศีรษะ นี้ ก็เพื่อให้มองเห็นว่าเป็นเรื่องรีบด่วนเหลือเกิน รีบด่วนอย่างยิ่ง อย่าไปมัวรอช้าอย่างอื่น ต้องรีบดับไปที่ไหม้อยู่ที่ศีรษะ ไฟนี้มีความหมายร้อน ร้อนก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ อีกนั่นแหละ
ราคัคคินา ร้อนด้วยไฟ คือราคะ
โทสัคคินา ร้อนด้วยไฟ คือโทสะ
โมหัคคินาร้อนด้วยไฟ คือโมหะ,
หมายถึงมันร้อนมันเผา ส่วนลูกศรนั้นหมายถึงเสียบแทง มันต่างกันเพียงความหมายที่ว่า ร้อนหรือเสียบแทง แล้วก็ต้องรีบดับโดยไม่ต้องไปมัว ค้นว่าต้นไฟอยู่ที่ไหน ใครมันจุด;
นั่นไว้ทีหลัง หรือ ไม่ต้องก็ได้ ดับไฟให้ได้แล้วอย่าให้มันลุกขึ้นมาได้อีกก็พอแล้ว
ข้อที่ ๙. ชีวิตนี้เปรียบเหมือนการพยายามติดตามฆ่ายักษ์มาร ยักษ์มารในภาษาคนมันก็รู้กันอยู่แล้วในนิยายนิทานว่ามีอยู่อย่างนั้น ๆ ติดตามกันด้วยความยากลำบาก อุบายฉลาดฆ่ายักษ์ฆ่ามารสำเร็จไปได้; แต่ความหมาย ทางภาษาธรรม นั้น มันก็ละเอียด เพราะมารนี้ยังไม่รู้อยู่ที่ไหนด้วยซ้ำไป
จะไปฆ่ามันอย่างไร.
กิเลสมาร ขันธมาร สังขารมาร มัจจุมาร เทวปุตตมาร ล้วนแต่เป็นมารทั้งนั้น กิเลสก็เป็นมาร,
ร่างกายตามธรรมชาติก็เป็นมาร , ผลกรรมก็เป็นมาร, ความตายก็เป็นมาร, เทวดาอีกประเภทหนึ่งก็เป็นมาร เทวดาประเภทนี้หมายถึง กามารมณ์ มันเป็นมาร เมื่อเราไม่รู้จักมาร มันก็เป็นมารเสียเอง ตัวเองก็เป็นมารเสียเอง จะไปฆ่ามารอะไรได้ ฉะนั้นเป็นหน้าที่ ที่จะต้องรู้จักมารและเครื่องมือเครื่องใช้อุบายวิธีที่จะฆ่ามาร ชีวิตนี้มันเหมือนกับการพยายามติดตามฆ่ามาร มิฉะนั้นมารก็จะเจริญงอกงามมากขึ้น ๆ นี้ให้รู้จักว่ามารอยู่ที่ตรงไหนคืออะไรบ้าง อุปมาเรื่องมารนี้เขียนเป็นนิยายกันสนุกสนานมาก
ข้อที่ ๑๐. สูงขึ้นไปในทางธรรม ชีวิตนี้เปรียบเหมือนการทำลายเปลือกหุ้มฟองไข่ ออกจากที่ มืด มาสู่ที่ สว่าง ฟองไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกอะไรก็ตามมันหุ้มสัตว์ตัวเล็ก ๆไว้ในไข่นั้น ถ้าสัตว์ตัวเล็ก ๆ นั้น ทำลายเปลือกฟองออกมาไม่ได้ มันต้องตายแน่ มันต้องตายอยู่ในเปลือกไข่ แล้วมันก็ได้ตายไปเป็นส่วนมากเหมือนกัน สำหรับคนเราเปลือกฟองไข่นั้น คือ อวิชชา พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น พระพุทธเจ้า ท่านเป็นบุคลแรก เป็นลูกไก่ตัวแรกที่ทำลายเปลือกฟอง คืออวิชชา ออกมาได้; นี้เป็นพุทธภาษิตที่ท่านตรัสเอง ไม่ใช่ว่าเราพูด อวิชชาเป็นเปลือกหุ้มเหมือนกับเปลือกไข่หุ้มลูกไก่ในฟองไข่ มันก็ใช้ปากดันออกมาให้ทะลุ ใช้เท้าถีบให้แตกออกไป มันออกมาได้ นั้นแหละคือผู้สามารถทำลายเปลือกฟองไข่ คืออวิชชา ผิดกันแต่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นตัวแรก ท่านเรียกพระองค์เองว่า ลูกไก่ตัวพี่ที่สุด ที่สามารถออกเป็นตัวอย่างเป็นตัวแรก แล้วก็มีลูกไก่มากมาย ทำได้ตามอย่าง ออกมาเป็นพระอรหันต์อีกมาก เดี๋ยวนี้ คนเราไม่รู้สึกตัวว่า เรานี้กำลังอยู่ในเปลือกฟองไข่ก็เลยอวดดี ยกหูชูหางอย่างนั้นอย่างนี้ มันหารู้ไม่ว่ามันกำลังอยู่ในเปลือกฟองไข ที่เรา นั่ง นอนยืนเดิน ทำอะไรวุ่นไปหมด อยู่เดี๋ยวนี้
มันอยู่ในเปลือกฟองไข่อย่างไรไม่รู้ทั้งนั้น;
ฉะนั้น ส่วนมากที่สุดมันจึงตายอยู่ในเปลือกฟองไข่ ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนเข้าโลงไป มันมีอาการเหมือนกับตายอยู่ในเปลือกฟองไข่จนตลอดชีวิต ชีวิตที่เป็นการทำลายเปลือกฟองไข่ออกมาได้นี้
นับว่าประเสริฐ เป็นอุปมาที่เป็น ธรรมะ มากขึ้น
ข้อ ๑๑. ที่สูงขึ้นไปเป็นธรรมะยิ่งขึ้นไปคืออุปมาที่ ๑๑ ว่า ชีวิตนี้มันเหมือนกับการหาจุดเย็นที่สุดในกลางเตาหลอม ขอให้นึกถึงเตาหลอม หลอมเหล็ก หลอมอะไรก็ตามใจ มันต้องใช้ ความร้อนสูง มากมันจึงจะทำให้โลหะละลายได้ แล้วเขาบอกให้หาจุดเย็นที่สุดตรงจุดศูนย์กลางของ เ ตาหลอม ก็ลองหลับตามองเห็นภาพเตาหลอมขนาดใหญ่ หลอมเหล็กทีละร้อยตัน มันใหญ่เท่าไร? มันร้อนเท่าไร? แล้วก็หาจุดเย็นที่จุดศูนย์กลางเตาหลอมได้อย่างไร นั้น มันเป็นเรื่องวัตถุ ส่วนเรื่องของจิตใจ นี้เราต้องรู้ว่า สัตว์ที่เวียนว่ายอยู่นี้ นั้นเหมือนกับอยู่กลางเตาหลอม คือว่า โลกทั้งโลก ใหญ่เท่าไรก็ตามใจ รู้เอาเองก็แล้วกัน ว่าโลกทั้งโลกมันเป็นเตาหลอม แล้วมันเต็มอยู่ด้วยไฟ คือโลภะ โทสะ โมหะ ยิ่งสมัยนี้แล้วไฟร้อนจัดขึ้นทุกที สมัยปัจจุบันนี้ความเจริญก้าวหน้าแบบใหม่ของเขานี้ก็คือ ทำโลกให้เป็นเตาหลอมมากขึ้นทุกที ถ้าเราไม่มีปัญญาจะต่อสู้ เราจะสุกไหม้อยู่ในเตาหลอม นั้นแหละ แต่เรามีปัญญา ของพระพุทธเจ้า หรือ หลัก ของพระศาสนามาช่วยเราก็หาพบจุดเย็นที่สุดท่ามกลางเตาหลอม ยิ่งร้อนเท่าไร ยิ่งเย็นเท่านั้น คือมันเท่ากัน : ไฟดวงน้อย ๆ เราดับมันลงไป มันก็เย็นที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวมันจะร้อนเท่าไรก็ตามใจ เราดับได้มันก็เป็นเรื่องเย็นที่สุด มันอยู่ที่ตรงกลาง ท่ามกลางความร้อนที่สุด ความเย็นที่สุดมันอยู่ที่นั่น แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ปรากฏ เพราะว่ามันเป็นความร้อนอยู่ เราโง่ดับไม่ได้ พอดับได้มันก็เป็นความเย็นที่สุดอยู่ที่ตรงนั้นเอง ไม่ต้องไปหาที่อื่น
ที่สวนโมกข์นี้ เรามีสัญลักษณ์ข้อเท็จจริงข้อนี้ ที่ว่า มะพร้าว นาฬิเกร์ อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง: ทะเลขี้ผึ้ง คือ วัฎฎสงสาร ที่เวียนไปตาม อำนาจกิเลส เป็นของร้อน มะพร้าวนาฬิเกร์คือ นิพพาน อยู่ตรงจุดศูนย์กลาง ของวัฎฎสงสาร หรือ ทะเลขี้ผึ้ง. หยุดไม่ทำขี้ผึ้งให้มันเป็นขี้ผึ้ง
คือเดี๋ยวเหลว- เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวดี-เดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวบุญ-เดี๋ยวบาป เดี๋ยวสุข-เดี๋ยวทุกข์
เดี๋ยวอะไรสลับกันไป อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็หยุดและเย็น อยู่ที่ตรงนั้นเอง
ความร้อนมันก็อยู่ที่ความเย็น ความเย็นมันก็อยู่ตรงที่ความร้อน:
เอาความร้อนออกไป ความเย็นก็อยู่ที่นั่น: ความเย็นออกไปความร้อนก็เข้ามา มันก็อยู่ที่นั่น
สภาพที่ตรงกันข้ามอย่างนี้ ถือว่ามันอยู่ที่นั่นโดยไม่ต้องแยกกันไว้คนละทาง
ถ้าเอาไว้คนละทางจะหาไม่พบ คือถ้าเอาพระนิพพานไปไว้เสียทิศหนึ่งแล้ว
เอา วัฎฎสงสารไปไว้ทิศหนึ่ง อย่างนี้มันไม่มีวันหาพบทั้งสองอย่าง;
แล้วโดยแท้จริงมันอยู่ในใจคน ใจของคน เดี๋ยวเป็นวัฏฏสงสาร
เดี๋ยวเป็นนิพพาน เดี๋ยวเป็นวัฏฏสงสาร เดี๋ยวเป็นนิพพาน สลับกันอยู่อย่างนี้ อยู่ที่ใจนั้น.
แล้วแต่ว่าการปรุงแต่งมันจะมีขึ้นอย่างไร ถ้ามีการปรุงแต่งขึ้นมาก็เป็นวัฎฎสงสาร
ร้อนไป ถ้าหยุดการปรุงแต่งเสีย มันก็เย็นอยู่ที่นั่น
ฉะนั้นจึงอุปมาเหมือนกะว่า ท่านทั้งหลายจงหาจุดเย็นท่ามกลางเตาหลอม
ข้อที่ ๑๒. อุปมาสุดท้ายนี้พูดว่า ชีวิตนี้ หาให้พบเพชรที่มีอยู่แล้วที่หน้าผาก
มันมีคนโง่ไปเที่ยวหาเพชร มันก็หาไปจนตายมันก็ไม่พบ เพราะว่าเพชรมันอยู่เสียที่หน้าผากของคน ๆ นั้น นี้เป็นอุปมา ทางวัตถุทางภาษาคน แต่ความหมายในทางภาษาธรรมมันมีอยู่ว่า ในร่างกายนี้ มันมีความดับทุกข์ หรือนิพพานอยู่แล้ว คู่กันกับความทุกข์
ทีนี้เรามันมองไม่เห็น ด้วยอำนาจอวิชชา จากความโง่เขลา มันมองไม่เห็นทั้งที่มันมีอยู่แล้ว เหมือนกับว่ามันมีอะไรอยู่ที่หน้าผาก แล้วมองไม่เห็น ถ้าเอาอวิชชาหรือความโง่เขลาออกไปเสีย มันก็จะว่าอ้าว, มันอยู่ที่ตรงนี้เอง มันใกล้เสียยิ่งกว่าใกล้
ฉะนั้นชีวิตที่แท้จริงนั้น ถ้าทำให้ดีแล้ว มันเหมือนกับหาให้พบเพชรที่มีอยู่แล้วที่หน้าผาก มันไม่ยากเย็นลำบากมันไม่เหลือวิสัย มันไม่อะไรเลย แต่ถ้าหาไม่เป็นแล้วมันยิ่งกว่าเหลือวิสัยนะ คิดดูบางทีแว่นตาสวมอยู่แท้ ๆ มันลืมไป ก็เที่ยวหาแว่นตาอย่างนี้ก็ยังเคยมี เรื่องจะหานิพพานมันก็เหมือนกัน ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เพียงพอมันก็จะหาพบง่าย ๆ เหมือนกับหาพบเพชรที่อยู่ที่หน้าผาก
นี้เท่าที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างก็มากแล้วตั้ง ๑๒ อย่าง พอกันที ใน ๑๒ อย่างนี้ ให้เอาไปพิจารณาดูให้ดี มันก็จะตรงเรื่องของเราเข้าสักอย่างเป็นแน่
ทีนี้จะบอกเคล็ดอันสุดท้ายให้ ซึ่งจะเรียกว่าอุปมาหรือ เคล็ด หรือเรียกอะไรก็ได้ ว่า
“อยู่เฉย ๆ ดีกว่า ไม่ต้องทำอะไร” อย่าทำอะไรขึ้นมา อย่าสร้างอะไรขึ้นมา
คำนี้ฟังยาก นักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงเทพฯหลายคนฟังไม่ถูก ด่าอาตมาอยู่เรื่อย.
ที่ว่า “อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร” มันมีความหมายพิเศษ; บอกแล้วว่าเป็น ภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาคน ในภาษาคน การอยู่เฉย ๆ คือ ไม่กระดุกกระดิก ไม่เคลื่อนไหวมือเท้าอะไร
นี่คือ ไม่ทำอะไร แต่ในภาษาธรรมนั้น คำว่าอยู่เฉย ๆ นั้นคือว่า อย่าให้สังขารปรุงแต่งอะไรขึ้นมา อย่าปรุงแต่งตัวกูของกูขึ้นมา อยู่เฉย ๆ เสีย อย่าให้ความคิดเกิดปรุงแต่งเป็นตัวกูของกูขึ้นมา อยู่นิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ อยู่ว่างๆ หรือจะพูดอีกทีว่า รักษา สภาพเดิมแท้ ไว้ซิ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ จิตนี้มีธรรมชาติเป็นประภัสสร คือไม่มีกิเลส ใสกระจ่างอยู่ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกูอยู่ในความรู้สึกนั่น:
อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลสเสหิ อุปกิสิฎฺฐํ แต่จิตมันเปลี่ยนไปสู่ความมืดมัวเศร้าหมอง เพราะว่ามีอาคันตุกะ คือ กิเลสเข้ามาแทรกแซง นี้หมายความว่ากิเลสนี้มันถูกปรุงขึ้นมาเป็นของใหม่ เรียกว่า อาคันตุกะ ถ้าเราอย่ารับเอาของใหม่ คงเหลือไว้แต่ของเก่า มันก็ประภัสสรอยู่ตามเดิม ฉะนั้นอยู่นิ่ง ๆ อย่าซุกซน อย่าแส่ไปหาเรื่อง ให้เกิดการปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นตัวกูของกูขึ้นมา นี้อันสุดท้ายจะเรียกว่า ข้อที่ ๑๓ ก็ได้ ว่าอยู่เฉย ๆ อยู่เฉย ๆ ชีวิตนี้ที่แท้จริงอยู่เฉย ๆ ก็เป็นความดับทุกข์ เป็นการถึงสิ่งที่ควรถึงคือนิพพาน ยิ่งเดินยิ่งไม่ถึง ยิ่งอยู่เฉย ๆยิ่งถึง ยิ่งเอายิ่งไม่ได้ อยู่เฉย ๆ ยิ่งได้ นี่เป็นอุปมาอย่างนี้.......”
.. ” ปัญหาหนักต่อมา อยู่ที่ว่า ทำอย่างไร จึงจะเฉยได้ ?”
............................................................................................