***รู้ไว้ใช่ว่า: ปริศนาธรรม***

ลุงแทน

ความหมายบางอย่าง ที่คนไทยได้สัมผัส แต่ไม่เคยรู้
เพิ่งรู้เหมือนกัน.....เอ้าอ่านๆ กันซะจะได้ปลงๆ ชีวิตก็เป็นเช่นชะนี้เอง
ความจริงแล้วปริศนาธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานศพนั้นมีอยู่หลายข้อ
ซึ่งก็สงสัยอยู่เหมือนกันตั้งแต่เด็กมาแล้ว
แต่พ่อกับแม่ก็ไม่เคยเล่าให้ฟังเลย
เหมือนกับว่าเขาให้ทำก็ทำกันไป โง่อยู่ตั้งนาน
พอได้มาอ่านหนังสือธรรมลีลาของธรรมสภาแล้วก็ตาสว่างขึ้น
มีอีกหลายข้อดังนี้
1. มัดตราสังข์สามเปราะ มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก
มัดที่มือ หมายถึง บ่วงรักสามี - ภรรยา
มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ
ติดอยู่สามบ่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้
ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏไม่มีจบสิ้น
2. เคาะโลงรับศีล ไม่ใช่ให้คนตายมารับศีล
แต่เพื่อเป็นการบอกคนที่มาร่วมงานว่า
อย่าเอาแต่มัวประมาทขาดสติ ไม่สนใจในหลักธรรมคำสอน
เมื่อตายไปหมดโอกาสทำความดี จะเคาะจนโลงแตกก็ลุกขึ้นมาไม่ได้
3. สวดอภิธรรม มักสวดเป็นภาษาบาลี คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง
จึงนึกว่าสวดให้คนตาย แต่จริงๆ แล้วเป็นการสวด
เพื่อสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้นำหลักธรรม
ไปปฏิบัติให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นแม้จะฟังไม่เข้าใจแต่เพื่อให้การฟังสวดอภิธรรมเกิดผล
ควรสำรวมส่งจิตไปอยู่กับเสียงพระสวด
ให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเสียงพระสวดก็จะเกิดสมาธิจิตได้
4. บวชหน้าไฟ มักเข้าใจกันว่า เป็นการบวชจูงผู้ตายขึ้นสวรรค์
ความจริงนั้น ไม่ใช่ เพราะการบวชหน้าไฟ
เป็นการปลงธรรมสังเวชต่อการเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุด
มนุษย์ก็มีเท่านี้ ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย
ไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาส แล้วพอใจในสมณะเพศ
มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
5. การนิมนต์พระจูงออกหน้าศพ
เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ให้ได้สำนึกว่าตอนที่ยังอยู่
ต้องเดินตามหลังพระ หมายความว่าให้ดำเนินชีวิตตามพระธรรม
คำสั่งสอนพระพุทธเจ้านั่นเอง จึงจะอยู่ดีมีสุข มีความเจริญก้าวหน้า
6. การเวียนซ้าย 3 รอบ หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสาม
อันมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ ด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอุปทาน
ก็จะเป็นทุกข์ไม่จบสิ้น ฉะนั้นต้องทวนกระแสกิเลส
เป็นการสอนธรรมชั้นสูง จึงได้พาศพเวียนซ้าย
7. การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เพื่อชี้ให้เห็นว่า
น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาด บริสุทธิ์ ผู้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
ต้องชำระจิตให้สะอาดด้วยน้ำทิพย์จากพระธรรม
8. การแปรรูป หลังจากเผาแล้ว มีการเก็บอัฐิ
และมีการเขี่ยขี้เถ้าผู้ตายให้เป็นรูปร่างกลับไปกลับมา
เพื่อจะบอกว่าได้กลับชาติใหม่แล้ว
ตามวิบากของกรรมต่อไป
จากวารสารธรรมลีลาเพื่อดุลยภาพของสังคม				
comments powered by Disqus
  • ลุงแทน

    20 มกราคม 2551 10:40 น. - comment id 98917

    ...คัดลอกว่า...
    
     ปริศนาธรรม..ที่คนดูตามไม่ทัน
    
    " ความสุข คือการไม่ต้องการความสุข ความทุกข์ คือการที่เราอยากมีความสุข "
    
    -------------------------------------------
    
    คนที่ดูละคร เพลงรักฯ ของช่อง 7 เมื่อวานนี้
    
    คงจะได้ชมและเห็นกันมาแล้ว
    
    บางคนดูแล้วก็ผ่านไป ใส่ใจกับเนื้อหาในส่วนอื่นๆ
    
    ที่เรียกเรตติ้งได้มากกว่าปริศนาธรรม....
    
    ที่สอดแทรกมาเพียงแค่แวบเดียว
    
    จะมีใครบ้างที่สนใจ...น้อยคนนะฉันคิดแบบนั้น
    
    เพื่อนฉันเปิดดูเรื่องนี้สลับไปมากับหนังอีกเรื่องของฃ่อง 3
    
    เนื้อหาแตกต่างกัน เรื่องราวเหมือนนิยานน้ำเน่าทั่วๆไป
    
    แต่มีจริงอยู่ในโลก ทุกๆที่
    
    " ความสุข คือ การไม่ต้องการความสุข
    
    ความทุกข์ คือ การที่เราอยากมีความสุข "
    
    ฉันนั้งคิดอยู่นาน พอได้ยินประโยคนี้
    
    ฉัน...ถามเพื่อนว่าเข้าใจมั้ย แต่...ก็ไม่มีใครสนใจประเด็นนี้
    
    สำหรับฉันเหมือนจะเข้าใจได้ว่า หากเรา ต้องการ...ความสุข
    
    ก็จะแสวงหา และพยายามทำทุกอย่างให้เรามีความสุข
    
    จนกลายเป็น ความทุกข์
    
    หากเราไม่มีความต้องการแล้ว
    
    "ความสุข" ก็จะอยู่กับเราเอง โดยที่ไม่ต้องแสวงหา
    
    ------------------------------------------
    
    แล้วคุณล่ะ?....เข้าใจปริศนาธรรมนี้ เหมือนกันมั้ย
    
    ฉันคิดว่าคงมีอีกหลายคนที่เข้าใจความหมาย
    
    และสื่อออกมาได้ดีกว่าฉันแน่ๆ...
    
    edit @ 2007/05/02 11:41:03
  • ลุงแทน

    20 มกราคม 2551 10:57 น. - comment id 98918

    ........ปริศนาธรรม ในสมัยพระเพทราชา........
    
       พระราชปุจฉาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
    ว่าด้วยอัฏฐธรรมปัญหาเมื่อปี พ.ศ. 2233 พระราชสมภารเจ้านิมนต์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ให้เฉลยปัญหาปฤษณาธรรม 8 ประการ ว่า
    
    (1) ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร
    
    (2) ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด
    
    (3) หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร
    
    (4) ไม้โกงอย่าทำกงวาน
    
    (5) ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง
    
    (6) ถ้าจะให้เปนลูกให้เอาไฟสุมต้น
    
    (7) ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา
    
    (8) ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง 4 เสีย
    
    
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชนา (ความย่อ)
    
    (1) ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร หมายถึงทาง 2 ทาง คือ กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบด้วยกามสุขในเบญจกามคุณทั้งหลาย 1
    อัตตกิลลมถานุโยค ประกอบด้วยวัตรปฎิบัติ อันให้เกิดทุกข์ลำบากแก่ตน 1 ทั้งสองนี้นับเป็นทางใหญ่อย่าเที่ยวจรไป
    
    2) ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด หมายความว่า ลูกอ่อนนั้นได้แก่วงศาคณาญาติ และอุ้มนั้นมี 2 อย่างอุ้มแล้วรัดอย่างหนึ่งอุ้มแต่มิให้รัดอย่างหนึ่ง อุ้มหมายความว่าอุปการอุดหนุน แต่อย่าอุ้มรัด คืออุปการบำรุงด้วยตัณหาอุปาทานให้เปนแต่อุปการรักษาญาติวงศ์ทั้งหลาย แต่ตามประเพณีอันมีเมตตาจิตอย่าขัดให้ติดตัวด้วย สามารถละตัณหาอุปาทานดุจดังบุคคลอุ้มลูกอ่อน และมิได้รัดเข้าให้ติดตัวฉะนั้น
    
    
    (3) หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร หมายความว่า หลวงเจ้าวัดได้แก่จิต อันเป็นประธานเป็นใหญ่แก่เจตสิกทั้งปวง
    เช่นเดียวกับหลวงเจ้าวัด อันเป็นประธานแก่ภิกษุลูกวัด ที่ว่าอย่าให้อาหารนั้นคือ อย่าให้จิตยินดีต่ออาหารทั้ง 4 คือ กวรึการาหาร ผัสสาหารมโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เพราะว่าอาหารทั้ง 4 นี้ กอร์ปด้วยภัย 4 ประการ คือ นิกันติภัย อุปคมนภัย อุปปัตติภัย และปฎิสนธิภัย
    
    (4) ไม้โกงอย่าทำกงวาน หมายความว่า กงวานทั้งปวงเป็นอุปการแก่สำเภาให้แข็งแรงมั่นคง สำเภาที่ไม่มีกงวานมิอาจทนทานกำลังระลอกในท้องทะเลได้ ก็จะอับปางลงมิอาจข้ามทะเลได้กงวานนั้นให้เอาไม้ตรงทำอย่าเอาไม้โกงมาทำฉันใด พระโยคาวจรผู้ปราถนาจะข้ามทะเลคือ สังสารวัฏ ให้ถึง นฤพาน ก็ฉันนั้น อย่าส้องเสพด้วยคนอันคดอันโกง อันเป็นอสัตบุรุษ ให้ส้องเสพด้วยคนอันซื่อตรง
    เป็นสัตบุรุษจึงจะข้ามสงสารถึงนฤพานได้ตามปราถนา อันว่ากัลยาณมิตร อำมาตย์ ทาสกรรมกรนั้น เปรียบด้วยกงวานสำเภาจิตแห่งโยคาวจรนั้น ดุจพานิชนายสำเภาแล
    
    (5) ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง หมายความว่า ช้างทั้งหลายมิได้ยินดีจะอยู่ในเมือง ย่อมยินดีจะอยู่แต่ในป่าอย่างเดียว ฉันใด
    พระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ฉันนั้น มิได้ยินดีในสังขารธรรมทั้งปวง แต่ยินดีอยู่ในนฤพานอันระงับกิเลสธรรมนี้
    ให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ช้างสารคือพระโยคาวจรอย่าผูกนั้นคือ นิพพิทานุปัสสนา กลางเมืองนั้นคือสังขารธรรม
    
    (6) ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น หมายความว่า ลูกนั้นได้แก่ผลทั้ง 4 คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล
    และอรหัตตผล ไฟนั้นได้แก่มรรคญาณทั้ง 4 คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรคต้นนั้นคือกิเสสธรรมอันมีอวิชชาตัณหาเป็นมูล พระโยคาวจรผู้ปราถนาผลทั้ง 4 นั้นให้ฟังเจริญวิปัสสนากรรมฐานเผาเสียซึ่งกิเลสธรรมอันเป็นสัญโยชน์อันเป็นมูลเสีย ดุจเอาไฟสุมต้น ฉะนั้น
    
    (7) ถ้าจะให้ล่มให้บรรทุกแต่เบา หมายความว่าสำเภาอันบรรทุกสินค้าเบา มีฝ้ายและผ้าแพรไหม เป็นต้น
    หาศิลากดท้องอันเป็นอับเฉามิได้นั้น พอชักใบกระโดงขึ้นให้เต็มกำลัง ครั้นลมแรงพัดต้องใบนั้น สำเภาก็จะหกคว่ำลงฉันพลัน
    ถ้ามีศิลาหรือของหนักเป็นอับเฉาแล้ว สำเภานั้นก็มิได้ล่ม และจะท่องเที่ยวไปมาอยู่ในท้องทะเลสิ้นกาลช้านาน
    อันพระโยคาวจรผู้ปราถนาจะให้ถึง อนุปาพิเสสนิพพานธาตุ มิให้บังเกิดในวัฏสงสารสืบไปนั้น พึงบรรทุกแต่ของเบาคือกุศลธรรมทั้งหลายจึงจะพลันถึงนฤพาน มิได้ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารดุจสำเภาอันบรรทุกแต่เบาและพลันล่มลงฉะนั้น
    
    (8) ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง 4 เสีย หมายความว่รา คัมภีร์ในโหรานั้น ได้แก่วิชชา 3 คือ ทิพพจักษุญาณบุพเพนิวาสญาณ และอาสวักขยญาณ อาจารย์ทั้ง 4 นั้นได้แก่ อุกศลธรรมทั้ง 4 คือ โลภะ โทสะ โมหะ และมานะ
    
    พระโยคาวรผู้ปราถนาวิชชา 3 ประการนั้น ก็พึงฆ่าอาจารย์คือ อกุศลธรรมทั้ง 4 นั้นเสีย
  • ลุงแทน

    20 มกราคม 2551 11:07 น. - comment id 98919

    อาหารทั้ง 4 คือ กวรึการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เพราะว่าอาหารทั้ง 4 นี้ กอร์ปด้วยภัย 4 ประการ คือ นิกันติภัย อุปคมนภัย อุปปัตติภัย และปฎิสนธิภัย

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน