"เราสู้" เพลงพระราชนิพนธ์ ๒

ลุงแทน

๔. เราสู้ : ความเป็นมา
ตามประวัติที่เป็นทางการ "เราสู้" เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ ๔ บทใน พ.ศ. ๒๕๑๖" โดยที่ "คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทาน แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า ๑๘๗) "และได้ทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน" (ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์, หน้า ๓๓๓)
จากข้อมูลนี้ เราอาจตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า "เราสู้" ต่างกับอีก ๔ เพลงพระราชนิพนธ์ของช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ ที่มีลักษณะ "การเมือง" ในแง่ที่ว่าขณะที่ ๔ เพลงดังกล่าวเกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถให้มีผู้ประพันธ์คำร้อง (ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็นสำคัญ) แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, "เราสู้" มีต้นกำเนิดมาจากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง เท่ากับว่าได้ทรง "พระราชนิพนธ์คำร้องโดยอ้อม" ซึ่งหมายความว่า "เร้าสู้" น่าจะสะท้อนพระราชดำริทางการ เมืองของพระองค์เองได้มากกว่าเพลงอื่น ๆ
แต่อันที่จริง "เราสู้" มีความพิเศษยิ่งไปกว่านี้ ขอให้เราได้พิจารณาความเป็นมาของเพลงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ประวัติที่เป็นทางการกล่าวว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง "เราสู้" ก็ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์ มาตีบรรทัด ๕ เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไข ก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า ๑๘๗)
เมื่อได้อ่านประวัติที่เป็นทางการของเพลง "เราสู้" นี้ครั้งแรก ผมรู้สึกงุนงงไม่น้อย เพราะถ้าประวัตินี้ถูกต้อง ก็หมายความว่าการที่เพลงพระราช นิพนธ์นี้ถูกเผยแพร่ในฐานะเพลงปลุกใจที่ฝ่ายขวาใช้ในการต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาในปี ๒๕๑๙ นั้นเป็นเรื่อง "บังเอิญ" กล่าวคือ เพลงนี้ได้เกิด ขึ้นมาก่อนหน้านั้นอย่างน้อย ๒ ปี และถ้าพิจารณาจากปีที่ว่านายสมภพประพันธ์กลอนจากพระราชดำรัสคือปี ๒๕๑๖ ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พระ ราชดำรัสเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย เพราะในปี ๒๕๑๖ นั้นยังไม่เกิดการต่อสู้เช่นนี้ขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพลง "เราสู้" กับการเมืองปี ๒๕๑๙ เป็นเรื่องบังเอิญมากขึ้นอีก
แต่ในอีกด้านหนึ่งเนื้อเพลงหลายตอนก็ดูราวกับว่าแต่งขึ้นเพื่อสถานการณ์ปี ๒๕๑๘-๑๙ เพื่อตอบโต้ฝ่ายซ้ายขณะนั้นโดยเฉพาะ ("ถึงขู่ฆ่าล้างโคตร ก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู") และถ้าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะมีสมมุติฐานล่วงหน้าได้ว่าใน การแต่งคำกลอนจากพระราชดำรัสนั้น นายสมภพคงต้องพยายามให้เนื้อหาของกลอนใกล้เคียงกับพระราชดำรัสให้มากที่สุด ก็ชวนให้คิดว่า พระราชดำรัสดั้งเดิมน่าจะมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่อสู้ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นพระราชดำรัสปี ๒๕๑๖ ไปได้ (จริงอยู่ ในปี ๒๕๑๖ มีการต่อสู้กับ "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" แต่ถ้าพระราชดำรัสในปีนั้นจะพูดถึงการต่อสู้กับ "ผ.ก.ค." ก็ไม่น่าจะมีเนื้อหาอย่าง ที่เป็นอยู่)
ผมได้ตรวจดู ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เป็นประจำ ทุกปี พบว่าตลอดปี ๒๕๑๕ และ ๒๕๑๖ ไม่มี "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" แต่อย่างใด ที่จริงไม่มีบันทึกการเฝ้าเช่นนี้ของกลุ่มบุคคลลักษณะนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียวในระยะ ๒ ปีนั้น
จริงอยู่ บางครั้ง ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท มีการตกหล่นที่สำคัญโดยไม่มีคำอธิบาย เช่น ฉบับสำหรับปี ๒๕๑๖ ขาด พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อบ่ายวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งได้ทรงแนะ ให้นักศึกษาสลายการชุมนุมหลังจากรัฐบาลปล่อย ๑๓ ผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว "เมื่อนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมายและได้ รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ" (ดูพระบรมราโชวาทฉบับนี้ได้ใน ขบวนการประชาชน ตุลาคม ๒๕๑๖, หน้า ๒๐๓: อันที่จริงยังทรงมีพระราชดำรัสต่อกรรมการศูนย์ฯ นอกเหนือจากพระบรมราโชวาทฉบับนี้ด้วย ดู เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๗๙-๑๘๑) หรือ ฉบับสำหรับปี ๒๕๒๑ ขาดพระราชดำรัสแก่ผู้มาเข้าเฝ้าถวายพระพร วันที่ ๔ ธันวาคม อย่างน่าประหลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีพระราชดำรัส "เราสู้" นี้การไม่ปรากฎใน ประมวลพระราชดำรัส สำหรับปี ๒๕๑๕ และ ๒๕๑๖ น่าจะเพราะไม่ได้ ทรงพระราชทานในปีนั้นจริง ๆ ทั้งนี้ นอกจากพิจารณาจากความไม่น่าจะเป็นของเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่สำคัญ ผมพบว่ามีพระราชดำรัส ที่พระราชในปี ๒๕๑๘ ครั้งหนึ่งที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเพลงอย่างมาก อันที่จริง ผมอยากจะเสนอว่า นี่คือพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดที่แท้จริง ของเพลงนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ผมกำลังพูดถึง "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวาย พระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๘ ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘" (นี่คือชื่อเรียกที่เป็นทางการของพระราชดำรัสนี้ตามที่ปรากฎใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานใน โอกาสต่าง ๆ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๘, หน้า ๓๑๕ : น่าสังเกตที่มีคำว่า "นักศึกษา" ขึ้นก่อนเมื่อพระราชดำรัสนี้ถูกตีพิมพ์ใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชื่อ เรียกได้ถูกเปลี่ยนเป็น "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ..." 
. การพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องใน โอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในครั้งนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่ง - ถ้าไม่ใช่ครั้งที่ มากที่สุด - ในตลอดรัชสมัยของพระองค์ (ผมหมายถึงการเมืองในความหมายแคบที่เข้าใจกันทั่วไป)
ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับความสำคัญของการที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าผู้มาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรนับหมื่นคนในวันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปีเป็น อย่างดีล่าสุด พระราชดำรัสเมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ("การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ...") ถูกหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ระดับชาติ ครั้งใหญ่เพื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง" พระราชดำรัสของปี ๒๕๑๘ นั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีลักษณะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแหลมคมชนิดที่ยากจะหา ช่วงอื่นในประวัติศาสตร์มาเทียบได้ : เพียงวันเดียวหลังการปฏิวัติสังคมนิยมลาวซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ ("เจ้ามหาชีวิต") สิ้นสุดลง และเพียง ครึ่งปีเศษหลังชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในเขมรและเวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในลาวนั้น ด้วยเหตุผลทางสังคมและประวัติศาสตร์ ที่ มีความใกล้ชิดอย่างมากกับประเทศไทย ได้ก่อให้เกิด "คลื่นความตกใจ" ในหมู่ชนชั้นสูงของไทยอย่างกว้างขวาง สะท้อนออกมาที่พาดหัวตัวโต ของ Bangkok Post ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม โดยอ้างคำพูดของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น : No threat to our Throne
ก่อนที่จะพิจารณาพระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘ อย่างละเอียด ผมขอพูดถึงประเพณีที่ให้ความสำคัญกับการพระราชทานพระราชดำรัสใน วันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปีในปัจจุบันเล็กน้อย ผมเข้าใจเอาเองว่า การพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคมแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ เป็นจำ นวนมากนับหมื่นคนและผ่านสื่อโทรทัศน์ไปทั่วประเทศที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคล กลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นตัวแทนขององค์การทางศาสนาต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษาผมเข้าใจว่าในปีแรก ๆ ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ นั้น การเข้าเฝ้าของคณะบุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นสิ่งที่เราอาจจะเรียกได้ว่า "ส่วนเสริม" ของการเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร ที่นอกเหนือไปจากคณะ อื่น ๆ เช่นทูตานุทูต (พูดแบบสามัญง่าย ๆ คือ เมื่อมีตัวแทนของต่างประเทศแล้ว ก็มีตัวแทนของต่างศาสนาด้วย)
ในปี ๒๕๑๑ มีการเข้าเฝ้าฯ ของ "สถาบันและองค์การที่เกี่ยวกับศาสนา" โดยมี "ครูและนักเรียน" แยกเข้าเฝ้าฯ อีกคณะหนึ่งในวันที่ ๕
ปีต่อมา มีการเข้าเฝ้าฯ ของ "ผู้แทนองค์การศาสนาและผู้แทนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ"
ปี ๒๕๑๓ มีการเข้าเฝ้าฯ ของ "คณะผู้แทนสมาคมและองค์การเกี่ยวกับศาสนา ครูและนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ กับนักศึกษามหาวิทยาลัย รวม ๓๖ คณะ"
ปี ๒๕๑๔ ผู้เข้าเฝ้าฯ ถูกเรียกแบบเดียวกับปีก่อนเพียงแต่ไม่ได้ระบุจำนวนคณะ และมี "ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน คณะกรรมการของมูลนิธี สมาคม และสโมสรต่าง ๆ" เข้าเฝ้าฯ อีกคณะหนึ่งในวันที่ ๕
ปี ๒๕๑๕ ไม่มีการพระราชทานพระราชดำรัสวันที่ ๔ ธันวาคม ทั้งนี้ถือตามหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส ผมไม่แน่ใจว่าปีนั้นไม่มี จริง ๆ หรือหนังสือตกหล่น ถ้าเป็นกรณีแรก ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับการที่ในปี ๒๕๑๔ ทรงมีพระราชดำรัสที่อาจจะตีความได้ว่าเป็นการ "กระทบ กระเทือน" ต่อ "คณะปฏิวัติ" ของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เพิ่งยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน หรือไม่ : "ที่จริงก็ไม่สมควรที่จะพูด เพราะ ว่าจะเป็นการกระทบกระเทือน แต่ก็ขอพูดสักเล็กน้อย เพราะว่าถือเป็นกันเอง...ที่มีวิกฤติการณ์ในทางการเมืองในปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งที่ได้อ้างว่า เป็นเหตุผลที่จะต้องมีวิกฤติการณ์ทางการเมืองก็คือนักศึกษา นักศึกษาถูกอ้างว่าจะก่อความไม่เรียบร้อย... ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่ สนใจและผู้ปฏิบัติในทางศาสนกิจต่าง ๆ และในทางการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็ขอให้ร่วมกันคิดในทางที่เหมาะสม... สร้างบ้านเมืองและสังคมของ เราให้มั่นคงไม่ต้องปฏิวัติกัน"
ทั้งปี ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๗ คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ วันที่ ๔ ธันวาคม ถูกเรียกทำนองเดียวกับปี ๒๕๑๓-๑๔ ("องค์การทางศาสนา, ครู, นักเรียน , นักศึกษา") ปี ๒๕๑๗ มี "๑๐๕ คณะ" จำนวนประมาณพันคน เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี ๒๕๑๖ ในหลวงยังทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยการเจาะจง ขอบใจเฉพาะ "ผู้แทนขององค์การและกิจการเกี่ยวข้องกับศาสนา" ทำนองเดียวกับทุกปีก่อนหน้านั้น แม้ว่าในชื่อเรียกผู้เข้าเฝ้าฯ จะมีการระบุถึง "คณะนิสิตและนักศึกษา" และแม้จะเพิ่งเป็นเวลาเพียงสองเดือนหลัง ๑๔ ตุลา ในทางกลับกัน เมื่อถึงปี ๒๕๑๗ แม้ผู้เข้าเฝ้าฯ จะถูกเรียกขึ้นต้นว่า "คณะผู้แทนสมาคมองค์การเกี่ยวกับศาสนา..." แต่ทรงรับสั่งขอบใจ "ท่านทั้งหลายที่มาให้พรในวันนี้" อย่างไม่เจาะจง
ปี ๒๕๑๘ ปีของพระราชดำรัส "เราสู้" เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการระบุถึงองค์การทางศาสนาเป็นการเฉพาะและเป็นอันดับแรกอีกต่อไป กลายเป็น การเข้าเฝ้าฯ ที่มีลักษณะทั่วไปแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ชื่อพระราชดำรัสในหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส กล่าวถึง "นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่าง ๆ" และในเชิงอรรถอธิบายความเป็นมาของพระราชดำรัสมีการกล่าวถึง "ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ" เพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่มีระบุถึงคนกลุ่มนี้ในผู้เข้าเฝ้าฯ ๔ ธันวาคม หลังจากนั้น คือจากปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ชื่อเรียกพระราชดำรัสวันที่ ๔ ธันวาคมใน ประมวลพระราชดำรัส จะระบุเพียงว่าเป็นพระราชดำรัสที่ "พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล..."
ไม่เพียงแต่ "สาขาอาชีพ" เท่านั้น ขนาดของผู้เข้าเฝ้าฯ ๔ ธันวาคมก็เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ดังที่ในหลวงเองทรงมีรับสั่งแบบติดตลกในปี ๒๕๒๑ ว่า "งานในบ่ายวันนี้เป็นงานที่มีเป็นประจำมาหลายปีและไม่ได้รับชื่อ นอกจากเรียกเป็นภายในว่า งานอนุสมาคม มีงานมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทราฯ แล้วก็มีงานอนุสมาคมที่นี่ แต่งานอนุสมาคมนี้ปรากฎว่าใหญ่โตกว่ามหาสมาคม (เสียงหัวเราะ)" [1] อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม การให้ความสำคัญกับพระราชดำรัส ๔ ธันวาคมแบบในปัจจุบันนั้นเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของทศวรรษ ๒๕๓๐ ขอให้นึกถึงพระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ปี ๒๕๓๒ เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ, ปี ๒๕๓๔ เรื่อง "รู้รักสามัคคี", ปี ๒๕๓๗ เรื่อง "ทฤษฎีใหม่", และปี ๒๕๔๐ เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" แม้แต่จำนวนผู้เข้าเฝ้าฯ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในทศวรรษที่แล้วนี้เอง : ในปี ๒๕๒๔ มีผู้เข้าเฝ้าฯ จำนวน ๕,๗๐๐ คน เจ็ดปีต่อมาในปี ๒๕๓๑ จำนวนผู้เข้าเฝ้าฯ ยังคงอยู่ที่ระดับ "เกือบหกพันคน" แต่ในปี ๒๕๓๕ เพิ่มขึ้นเป็นถึง ๘,๘๐๐ คน วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ มีผู้เข้าเฝ้าฯ ๑๖,๗๕๙ คน ในแง่นี้จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า พระราชดำรัส "เราสู้" ปี ๒๕๑๘ เป็นจุดเปลี่ยนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ของการพระราชทานพระราชดำรัส ๔ ธันวาคม แต่ความสำคัญของพระราชดำรัสนี้ก็หาได้ลดลงไปในฐานะ พระราชดำรัสที่มีเนื้อหาการเมืองเข้มข้นแหลมคมที่สุด, และ ในรูปแบบของเพลง "เราสู้" ถูกนำมาใช้ในการรณรงค์ทางการเมืองอันดุเดือดรุนแรง ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ ๖ ตุลา [2]
-ตอนที่ ๖-
[1] สิบปีต่อมา ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓ ทรงมีพระราชดำรัสถึงความเป็นมาของงานนี้อีกครั้งดังนี้ "แต่ก่อนนี้ในงานวันเกิดก็มีการออกมหาสมาคม อย่างเดียว คือเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่ในราชการได้มาให้พรที่พระที่นั่งอมรินทร์ ต่อมาก็มีการมาให้พรที่สวนจิตรลดานี้ในวันที่ ๕ หลังจากมหาสมาคม ซึ่งมีผู้แทนของเอกชน ของโรงเรียน ของสมาคม และกลุ่มต่าง ๆ ได้มาให้พรอีกคำรบหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้น ก็ได้มีการให้พรนอกจากที่มหาสมาคม และหลังจากมหาสมาคม ก็มีการให้พรของกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ และกลุ่มเกี่ยวข้องกับการศึกษา คือของผู้ที่กำลังเรียนตั้งแต่ชั้นโรง เรียน ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนกระทั่งถึงขั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย แยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่งในวันที่ ๔ เช่นในวันนี้ ต่อมาเห็นว่าการที่ได้ พบในรายการที่เรียกว่าอนุสมาคม ๒ รายการก็ทำให้ต้องใช้เวลามาก เพราะว่าในวันที่ ๕ ธันวาคมหลังจากมหาสมาคมก็ทำให้ต้องใช้เวลาหลาย ชั่วโมงและจะต้องไปงานในตอนบ่ายอีก จึงรวมหมดมาวันที่ ๔ เช่นวันนี้ มีทั้งข้าราชการ ทั้งสมาชิกสโมสร สมาคม โรงเรียน สมาชิก คณะศาสนา ต่าง ๆ และอื่น ๆ มาในวันที่ ๔ นี้แต่ก็ยังมีคณะต่าง ๆ ที่ได้พบกันที่บนตำหนักสวนจิตรลดานี้ มาทีหลังก็เลยรวมหมด เพราะว่าใครก็ตามที่มาให้พร ก็พร้อมกันมา จนกระทั่งมาเป็นการให้พรเช่นที่เห็นกันวันนี้"
[2] ในสมัยสฤษดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสที่มีลักษณะการเมืองสนับสนุนรัฐบาล และที่สำคัญคือแอนตี้คอมมิวนิสม์หลาย ครั้ง เช่น ในโอกาสปีใหม่ ๒๕๐๕
สถานการณ์ภายในของชาติบ้านเมืองนั้นโดยทั่วไปก็กล่าวได้ว่าผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ในขวบปีมาแล้ว แม้จะมีอุทกภัยอัคคีภัยในท้องที่บางแห่ง ก่อความเสียหายและความทุกข์ยากขึ้นบ้าง แต่ภัยเหล่านี้ก็ย่อมได้รับการควบคุมให้อยู่ในขอบเขตและบรรเทาลง ถ้าท่านทั้งหลายและเจ้าหน้าที่ ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันระมัดระวังป้องกันให้มาก อนึ่งรัฐบาลก็พยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความ สมบูรณ์พูนสุขของประเทศชาติ และลงมือปฏิบัติตามโครงการต่าง ๆ เพื่อการนี้อยู่แล้ว ถ้าท่านทั้งหลายให้ความร่วมมือในการนี้แก่ทางราชการด้วย ก็จะช่วยให้งานเหล่านี้สำเร็จเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ
แม้ว่าในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ กำลังพยายามที่จะทำความตกลงในข้อขัดแย้งระหว่างกัน ความตึงเครียดหาได้คลี่คลายลงไม่ กลับทวีขึ้นเป็นลำดับ ไป เฉพาะในด้านอาเซียอาคเนย์เหตุการณ์ในอาณาเขตใกล้เคียงมีลักษณะทำให้น่าวิตก จะวางใจเสียไม่ได้ เราจำต้องใช้ความระมัดระวังสอดส่อง อย่าให้เหตุการณ์ซึ่งเป็นภัยเช่นนั้นเข้ามาคุกคามประเทศเรา ภัยดังกล่าวนี้เป็นภัยที่ร้ายแรงน่ากลัว ถ้าปราศจากการตรวจตราเพ่งเล็งอย่างกวดขันแล้ว อาจแทรกซึมเข้ามาทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว คอยบั่นทอนความสามัคคีกลมเกลียว และความเป็นปึกแผ่นของชาติ ปลุกปั่น ทำลายความศรัทธาเชื่อ ถือในสิ่งที่เราทั้งหลายยึดมั่น ที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษของเรา และในกรณีเช่นนี้ ทุก ๆ คนอาจตกเป็นเป้าหมายในการมุ่งทำลายจากภัยนั้นได้ง่าย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือทำลายตัวเราเอง
และประเทศชาติที่รักของเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน