เจ้าฟ้านักปฏิรูปกระบวนการศึกษา
ลุงแทน
********เจ้าฟ้านักปฏิรูปกระบวนการศึกษา **********
“....เพราะว่าฉันชอบการสอนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ สอนหมด.....
....ชอบสอนหนังสือเด็กๆ มาก เลยคิดว่ายังไงๆ ฉันต้องเป็นครูแน่.....
.....จบกลับมาก็มาสอนที่นี่ เพราะว่าแม่บอกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ควรจะสอนเสียบ้าง แล้วฉันชอบเป็นครูอยู่แล้ว ทีนี้ภาษาฝรั่งเศสจะไปสอนเด็กอนุบาลได้อย่างไร ก็ต้องจุฬา..”
พระปฏิสันถาร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในหลายวโรกาส แสดงถึงพระหฤทัยและจิตวิญญาณในความเป็นครูเต็มเปี่ยม
พระอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา
สมเด็จฯ กรมหลวงฯ ทรงงานสอนเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2495 จนถึงปี 2501 ก็ทรงหยุดสอน และในปี พ.ศ.2512 ทรงรับเป็นพระอาจารย์ประจำที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งทรงงานบริหารด้วย โดยทรงรับเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย และในปี พ.ศ.2516 ทรงจัดทำ หลักสูตรปริญญาตรี สาขาภาษาและวรรณคดีภาษาฝรั่งเศสได้สำเร็จ โดยทรงผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม จนกระทั่งปี พ.ศ.2519 ทรงลาออกจากอาจารย์ประจำ ทรงรับเพียงแค่อาจารย์พิเศษเสด็จไปบรรยายเป็นครั้งคราวเท่านั้น และด้วยพระหฤทัยในความเป็นครู เมื่อมีคำกราบทูลขอพระราชทานอนุญาตเป็นองค์อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยอื่น ก็ทรงรับทุกสถาบัน ทั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
สอน “คนเก่งต้องเป็นคนดี” ด้วย“..ถึงแม้จะได้เหรียญทองมา เก่งแค่ไหนก็ไม่ให้หยุดแค่นั้น เรามีหน้าที่คือทำชีวิตให้ดีขึ้นไม่ใช่เก่งเฉยๆ ต้องใช้ ความเก่งของตนทำประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อช่วยคนที่เก่งน้อยกว่า ไม่ใช่ว่าได้เหรียญทองมาแล้วนำมาคล้องคอด้วยความภาคภูมิใจอย่างเดียว ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เหรียญมีไว้เพื่อเตือนความจำอย่างเดียวว่าฉันเคยเก่ง สิ่งสำคัญต้องช่วยตัวเองก่อน ทำให้ตัวเองมีสภาพชีวิตที่ดีก่อน เมื่อตัวเองแน่นหนาแล้วหันไปมองข้างหลังเพื่อช่วยเหลือคนอื่น อย่าคิดว่าฉันเก่งแล้วจะไปช่วยคนนั้นคนนี้ทันที ต้องช่วยตัวเองก่อน แต่อย่าลืมช่วยผู้อื่นในภายหลังเมื่อมีความพร้อม...”
พระโอวาท สมเด็จฯ กรมหลวงฯ ประทานเตือนสติคณะผู้แทนเยาวชนไทยประจำปี พ.ศ.2539 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2539 ไม่ให้ลืมตัวและให้ตอบแทนสังคมและแผ่นดินไทย ทรงต้องการให้ เป็นทั้ง “คนเก่งและคนดี”
สมเด็จฯ กรมหลวงฯ ทรงสนพระทัยและทรงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางปัญญา ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนในระดับโรงเรียน ด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาในระดับโรงเรียนเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทรงพระดำริว่า โครงการจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ จะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนไทย การแข่งขันระดับนานาชาติจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน ให้มีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์และรัฐบาลกับหน่วยงานเอกชน ได้ร่วมสนับสนุนส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30 ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมันตะวันตก) เมื่อปี พ.ศ.2532 เป็นครั้งแรก และต่อมาได้ไปแข่งขันสาขาอื่นๆ ทุกปี จนถึงปัจจุบัน และทรงตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)
ในปี พ.ศ.2536 เยาวชนไทยได้รับรางวัลเหรียญทองในสาขาชีววิทยา และในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นปีที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันขึ้นในประเทศไทย และกราบทูลเชิญเสด็จเป็นประธานเปิดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 2-9 ก.ค.2538 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครูของครูประชาบาล
“ครูผู้สอนควรทำงานเพื่อเด็กด้วยความอดทนและเสียสละ ควรศึกษาหาความรู้ในสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ป้อนให้แก่เด็ก ควรสอนให้อ่านได้ มิใช่ท่องได้ และครูควรประดิษฐ์อุปกรณ์การสอนขึ้นเอง พยายาม ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายเช่น วัสดุเหลือใช้ หรือที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ควรหวังสิ่งบริจาคเสมอไป”
พระดำรัส สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประทานเป็นปรัชญาในการทำงานครู ทั้งทรงเคยรับสั่งว่าทรงโปรดเด็กเล็กมาก และทรงมีพระประสงค์ที่จะสอนเด็กเล็กมากว่า แต่กลับได้ไปสอนเด็กโตตามมหาวิทยาลัย ในการทรงงานด้านการศึกษาจึงเสด็จไปทรงเยี่ยมศูนย์เด็กหลายแห่ง ทั้งเด็กในวัยเรียน และเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชมดูงานการสอนของครูประชาบาล ได้มีพระดำรัสประทาน ทรงอบรมและประทานคำแนะนำวิธีการสอน ทั้งประทานชุดสื่อการสอนนักเรียนให้เข้าใจง่ายและเร็ว โดยทรงสาธิตประทานคำแนะนำการใช้เพื่อแก้ปัญหา
“...เด็กในต่างจังหวัดไม่ได้เรียนชั้นอนุบาล เมื่อเข้า ป.1 ใหม่ๆ หัดอ่านเสียเวลามากไม่เหมือนนักเรียนในกรุงเทพฯ แต่ปลายปีต้องจบเล่มพร้อมกัน.....”
ทรงตั้งโครงการสอนการอ่านแก่เด็กเล็กในชั้นเตรียมความพร้อมทั่วประเทศ และทรงรับเป็นผู้ดำเนินการทดลองอุปกรณ์การเรียนที่มูลนิธิสมาคม สตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย จัดทำถวาย ไปทดลองสาธิตแก่กลุ่มครูและ นักเรียนระดับประถม ได้แก่ ชุดไปโรงเรียน เป็นชุดเสริมทักษะวิชาภาษาไทย ชุดบันไดงู เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนามัย ชุดเสริมทักษะคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชุดไปตลาด เกี่ยวกับอาหารหลัก 5 หมู่ และชุดแผนที่ประเทศไทยสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ชุดเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตทางวิทยาศาสตร์และยังมีคู่มือสร้างสื่อการสอน แนะวิธีทำสื่อการสอน
ทรงมีจิตวิญญาณครูเต็มเปี่ยม
“ไม่ว่าจะสอนเด็กเล็ก เด็กโต หรือนักเรียนระดับมหาวิทยาลัย สอนวิชาใดก็ตาม จะต้องมีความรอบรู้อย่างที่สุดในสิ่งที่ตนเป็นผู้สอนเท่าที่จะทำได้ และจะต้องเป็นครู คือสอนเป็น ถ่ายทอดวิชาได้ และต้องมีความรู้สำหรับถ่ายทอดด้วย ครูต้องอดทน ต้องรักและนับถือศิษย์ คือเมื่อศิษย์พูดอะไร ต้องฟัง”
พระดำรัส สมเด็จฯ กรมหลวงฯ ที่บ่งบอกว่า สิ่งแรกในการทำหน้าที่ครู คือ ทรงกำหนดอุดมคติในการทรงงานด้านนี้ และแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของครูที่พึงประสงค์ ที่ต้องเริ่มจากการรอบรู้ในศาสตร์ที่จะสอน มีเทคนิคการสอนที่ดี มีคุณธรรม ซึ่งคือ ความอดทน ความรัก ความปรารถนาดีต่อศิษย์ หลักการในการทรงงานด้านนี้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของครู และรวมไปถึงการทำหน้าที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
พระจริยวัตรอันงดงาม ตลอดจนพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แสดงถึงความเป็นนักการศึกษา ผู้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทั้งในฐานะ อาจารย์ ครู ผู้บริหาร นักพัฒนาหลักสูตร รวมถึงนักวัดและประเมินผล
02.54 น. วันที่ 2 มกราคม 2551 วันแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย และนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการศึกษาไทย
แต่พระกรณียกิจเกี่ยวกับการทรงงานการศึกษา ของเจ้าฟ้านักปฏิรูปกระบวนการศึกษาไทย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์อเนกอนันต์แก่การศึกษาไทย และประเทศชาติ จะจารึกในหัวใจของคนไทยตลอดไป.