ฟังดูชื่อเรื่องแล้ว บางท่านอาจจะงง มีด้วยหรือ กรรมฐานประจำวันเกิด ? เคยได้ยินแต่กรรมฐานที่เหมาะแก่ จริตต่างๆ…. แต่สำหรับกรรมฐานประจำวันเกิดนั้น ไม่เคยได้ยินจริงๆ แล้ว ในตำรา ท่านก็ไม่ได้ระบุไว้ โดยตรง หรอกครับ เป็นแต่เพียงเห็นว่า ลักษณะจริตนิสัยของคนที่เกิดในแต่ละวันนั้นเราสามารถเอาเรื่องของกรรมฐาน เข้าไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อบั่นทอนลักษณะนิสัยที่ไม่ดี และส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้น ก็จึงได้ รวบรวม เพื่อให้เป็นแนวทางได้ศึกษากัน ถ้าประโยชน์อันใด ที่จะพึงบังเกิดมี จากบทความเรื่องนี้ก็ขอน้อมถวาย เป็นพุทธบูชา และอุทิศประโยชน์นี้ ให้แก่เพื่อนร่วมโลก ทุกรูป ทุกนาม แต่ถ้ามีข้อผิดพลาดบกพร่อง อันใด ก็ต้องขอน้อมรับผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว กรรมฐานคืออะไร ก่อนที่จะว่ากันถึงรายละเอียด ว่ากรรมฐานประจำวันเกิดในแต่ละวันนั้น มีอะไรบ้าง ? เราก็ควรจะได้มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่เรียกกันว่า กรรมฐานๆนั้น คืออะไรกันแน่ กรรมฐาน มาจากคำ ๒ คำ คือคำว่า กรรม + ฐาน กรรม แปลว่า การกระทำก็ได้ หรือแปลว่าการงานก็ได้ ส่วน ฐาน นั้นแปลว่า ที่ตั้ง ฉะนั้น ในเมื่อเอาคำ ๒ คำนี้ มารวมกัน แล้วแปลให้ได้ความ ก็ควรจะแปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงาน ทางใจ คือพูดง่ายๆ หางานให้ใจมันทำซะ อย่าปล่อยใจให้ว่างงาน ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวมันจะฟุ้งซ่านแล้วนำความรำคาญ มาสู่จิตใจ กรรมฐานมี ๒ ขั้น กรรมฐาน หรืองานทางใจนี้ ยังมีถึง ๒ ขั้น ขั้นแรก เป็นงานทางใจในระดับต้น ที่จะช่วยกวาดล้างอารมณ์ฟุ้งซ่านต่างๆ ให้ออกไปจากใจ ทำใจให้สงบ ประณีต ไปโดยลำดับ ซึ่งมีวิธีการฝึก อยู่หลายอย่าง หลายวิธี ซึ่งจะได้แนะนำกันต่อไป… ขั้นนี้ เราเรียกว่า ขั้นสมถกรรมฐาน หรือ สมาธิ พอขั้นต่อมาก็เป็นขั้นของการพัฒนาความเห็น ให้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง.. สิ่งใดไม่เที่ยง ก็เห็นโดย ความจริง ว่าไม่เที่ยง… สิ่งใดเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็เห็นโดยความจริง ว่าเป็นทุกข์….สิ่งใดเป็นอนัตตา บังคับบัญชา ให้เป็นไปอย่างใจไม่ได้ ก็เห็นโดยความจริงว่าเป็นอนัตตา… การเห็นความจริงอย่างนี้ ในทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ( นิพพิทา ) และคืนคลายถ่ายถอน ความยึดมั่นติดใจ ( อุปาทาน ) ในสิ่งทั้งหลายลงได้ และเมื่อนั้นความทุกข์ทางใจ ก็จะมลาย หายไปสิ้น… ขั้นนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า ขั้นของ วิปัสสนากรรมฐาน เอาล่ะเมื่อได้ทราบแล้วว่า กรรมฐานมีถึง ๒ ขั้นอย่างนี้ ทีนี้ก็เข้าสู่ประเด็น สำคัญของเรื่องล่ะ คือคนเกิดวันไหน ควรฝึกกรรมฐานอย่างใด
30 พฤศจิกายน 2550 19:39 น. - comment id 98482
กรรมฐานของคนที่เกิดวันอาทิตย์ ดาวอาทิตย์ ตามตำราโหราศาสตร์ ถ้าพูดถึงนิสัย ก็หมายถึง นิสัยที่เย่อหยิ่ง ค่อนข้างจะถือตัว เข้าทำนอง ฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้ ว่างั้นเถอะ และก็มีลักษณะใจร้อน คล้ายๆลักษณะของดวงอาทิตย์ คือชอบอะไรเร็วๆ ช้าไม่เป็น คนที่มีลักษณะนิสัยอย่างนี้ ถ้าอยากจะฝึกกรรมฐาน ก็ควรฝึกกรรมฐาน ดังต่อไปนี้ คือ ๑. จตุธาตุววัตถาน คือการพิจารณาร่างกาย ให้เห็น เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ๒. มรณัสสติ คือการนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ๓. พรหมวิหาร คือการแผ่ความรักความสงสารไปยังเพื่อนมนุษย์ ๔. วิปัสสนากรรมฐาน ทำไมจึงแนะนำให้เจริญกรรมฐานทั้ง ๔ นี้ ?…. ก็เพื่อแก้นิสัยที่เป็นจุดอ่อน ดังต่อไปนี้ - นิสัยเย่อหยิ่ง ถือตัว ต้องแก้ด้วย จตุธาตุววัตถาน, มรณัสสติ หรือ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นความจริงของร่างกาย จะได้คลายจากความถือตัวถือตนลง - นิสัยใจร้อน ต้องแก้ด้วยการเจริญพรหมวิหาร เพื่อทำจิตใจให้เย็นลง ทีนี้ ถ้าจะลงมือปฏิบัติล่ะ จะทำอย่างไร ? อย่างการเจริญ "จตุธาตุววัตถาน" ได้แก่การพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ เราก็ต้องแยกแยะเป็นว่าอะไรเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ธาตุดิน ก็ได้แก่ พวกที่เป็นของแข็ง… มีอะไรในร่างกายบ้างล่ะ ที่เป็นพวกของแข็ง ? ท่านลองนึกดู… ก็มีพวกโครงกระดูก, พวกเล็บ, พวกฟัน, พวกเอ็น ฯลฯ เป็นต้น ลองนึกดู ธาตุน้ำ ก็ได้แก่ พวกที่เป็นของเหลว… มีอะไรในร่างกาย บ้างล่ะ ที่เป็นพวกของเหลว ? ท่านลองนึกดูซิ… ก็มีพวกน้ำเลือด, น้ำลาย, น้ำปัสสาวะ ฯลฯ เป็นต้น ธาตุลม ก็ได้แก่พวกที่เป็นอากาศเคลื่อนไหว…..ที่เห็นได้ชัดก็คือลมหายใจ เข้าออก หรือที่ภาษาพระท่านเรียกว่า ลมอัสสาสะ - ปัสสาสะ นั่นแหละ และธาตุสุดท้าย คือ ธาตุไฟ ได้แก่ความอบอุ่น หรือถ้าจะพูดให้ทันสมัยหน่อย ก็คือ อุณหภูมิ ในร่างกายนี่เอง ถามว่า แยกแยะอย่างนี้แล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ได้ประโยชน์แน่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เราได้เห็น ความจริงว่า ร่างกาย ที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวเราของเรานั้น ที่แท้ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ อย่าง มาประชุมกันขึ้นเท่านั้น มันไม่ได้มีความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ประการใดเลย ในเมื่อมันไม่ได้มี ความเป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง ควรแล้วหรือ ที่เราจะถือตัวในเมื่อตัวจริงๆ มันก็ไม่มีให้ยึดถือ มีแต่ธาตุ ๔ ที่รอเวลาเสื่อม รอเวลาสิ้นเท่านั้น…. แล้วเราจะถือตนถือตัวให้มันหนักใจไปทำไม ? เอ้า ! มาว่าถึงกรรมฐาน ที่จะช่วยละคลายความเย่อหยิ่ง ถือตัว อย่างที่ ๒ กันต่อดีกว่า นั่นก็คือ กรรมฐานที่ชื่อว่า "มรณัสสติ" มรณัสสติ ชื่อก็บอกแล้วว่า คงจะเกี่ยวกับความตายแหงๆ จริงอยู่ ! มรณัสสติ ถึงแม้จะเป็นการระลึก ถึงความตาย แต่ก็ไม่ใช่ระลึก เพื่อจะให้เราเกิดความหวาดกลัว แต่ระลึก เพื่อไม่ให้ประมาทต่างหากความตาย ทุกคนรู้ ว่าไม่มีใครหลีกพ้น แต่ทุกคนก็อดที่จะหวั่นหวาดเสียมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ไม่นึกถึงความตาย เอาเลย พอต้องเผชิญหน้ากับความตายเข้าจริงๆ ก็อดใจหายมิได้ ให้เรามานึกถึงความตาย ในแง่ของความเป็นจริงว่า คนเราเมื่อตายแล้ว ศักดิ์ศรีที่เคยมีทุกอย่าง มันก็หมดไปด้วย ต่อให้มีคนมาถ่มน้ำลายรดก็นอนให้เขา ถ่มเฉย แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ล่ะก้อ ใครขืนมาทำอย่างนี้…..ฮึ่ม ! น่าดู ฉะนั้น การนึกถึงความตายหรือเจริญมรณัสสติบ่อยๆ มันก็ช่วยทำให้การถือตนถือตัวลดน้อยลงไปได้เหมือนกัน ต่อไป ก็เป็นกรรมฐานที่จะละคลายความถือตนถือตัว อย่างสุดท้าย และถือว่า เป็นสุดยอดของการละคลายกิเลส ในใจ นั่นก็คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเรื่องของการเจริญวิปัสสนา หลักใหญ่ๆ ก็อยู่ที่ว่า ทำอย่างไร จึงจะมี สติเห็นความจริง เพิกถอนสิ่งสมมุติ ( คือความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ) ออกจากใจเสียได้แล้วเข้าไปเห็น ความจริง คือความเป็น รูป และ นาม เท่านั้น แค่นั้นยังไม่พอ เมื่อเห็นว่า ชีวิตของมนุษย์เรา มีแต่ธรรมชาติ ๒ อย่าง ที่เรียกว่า รูป และนาม แล้ว ก็จะต้องเห็นความจริงต่อไปว่า รูปและนามทั้งหลายเหล่านั้น ก็ล้วนมีความจริง อิงอาศัยอยู่… ความจริงที่ว่า ก็คือ ไตรลักษณ์ หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง เมื่อเห็นรูปนาม โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยประจักษ์ชัดแล้ว มันก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ( นิพพิทา ) คลายความติดใจ ( วิราคะ ) และหลุดพ้น ( วิมุตติ ) จากการยึดมั่นถือมั่นในที่สุด… นี่แหละ คือสุดยอดอุบายวิธี ที่จะละความเย่อหยิ่งถือตัวล่ะ ทีนี้ มาพูดถึงกรรมฐานอีกข้อหนึ่ง ซึ่งจะช่วยละนิสัยใจร้อน นั่นก็คือการเจริญพรหมวิหาร การเจริญพรหมวิหาร ก็คือการแผ่ความรักและความสงสารไปยังเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย วิธีแผ่ที่ง่าย และได้ผลก็คือ ถ้าใครมีครอบครัว และมีลูกแล้ว ก็ให้นึกถึงความรู้สึกที่รักลูก ว่าเป็นอย่างไร แล้วให้แผ่ความรู้สึกนั้น ไปยังคนอื่น สัตว์อื่น ให้มีความรักในบุคคลเหล่านั้น เหมือนกับเป็นญาติมิตร หรือลูกหลานของเราจริงๆ พูดง่ายๆ คือ พยายามทำความรู้สึกว่า ถึงแม้เขาจะไม่ใช่ลูกหลานของเรา แต่ก็ให้รักเขา เสมือนเป็นลูก เป็นหลาน… นี่แหละ คือความรู้สึกที่เรียกว่า เมตตา… แผ่เมตา คือแผ่อย่างนี้ แต่ถ้าใครยังไม่มีครอบครัว นึกไม่ออก ว่าความรักลูก เป็นอย่างไร ก็ให้ใช้วิธี นึกถึงเด็กเล็กๆ ที่น่ารัก น่าเอ็นดู พอจะนึกออกไหมความรู้สึกที่รักเด็ก เอ็นดูเด็กเป็น อย่างไร นั่นแหละ ความรู้สึกที่เรียกว่าเมตตา ให้แผ่ความรู้สึกอย่างนั้น ไปยังคนรอบข้าง และสัตว์รอบข้าง และ พยายามนึกแผ่ออกไปให้ไกลที่สุด เท่าที่จะไกลได้ นี่ก็เป็นการแผ่เมตตา อีกวิธีหนึ่ง การแผ่เมตตา โดยอุบาย ดังกล่าวนี้ จะช่วยทำให้ใจ ที่เคยร้อน มีความสงบเย็นลงอย่างไม่น่าเชื่อ ใครที่รู้ตัวว่าเป็นคนใจร้อน ควรลองทำดู
30 พฤศจิกายน 2550 19:40 น. - comment id 98483
........... กรรมฐานของคนที่เกิดวันจันทร์ ลักษณะของดาวจันทร์ ตามตำราของโหราศาสตร์นั้น บ่งบอก ถึงความอ่อนหวาน อ่อนโยน น่ารัก มีเสน่ห์ ขี้สงสารคน และเป็นคนเกิดความศรัทธา ในสิ่งต่างๆได้ง่าย คนที่มีศรัทธาง่าย อย่างคนที่เกิดวันจันทร์นี้ ถ้า หากจะเจริญกรรมฐาน ก็ใคร่ขอแนะนำให้เจริญกรรมฐาน หมวดอนุสติ คือการระลึกถึงคุณ ของสิ่งที่ดีงามเช่น ๑. พุทธานุสติ คือการนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ๒. ธัมมานุสติ คือนึกถึงคุณของพระธรรม ๓. สังฆานุสติ คือการนึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ ๔. สีลานุสติ คือการนึกถึงคุณของศีล ที่ตนได้รักษา ๕. จาคานุสติ คือการนึกถึงคุณ แห่งทานบริจาค ที่ตัวได้กระทำเอาไว้ ๖. เทวตานุสติ คือการนึกถึงคุณธรรม ที่ทำให้เป็นเทวดา อนุสติทั้ง ๖ ประการนี่แหละ คือกรรมฐานที่เหมาะ สำหรับคนวันจันทร์ ซึ่งเป็นคนที่มากด้วยศรัทธา คือ มากด้วยความเชื่อ จะพึงเจริญ เหตุที่ให้ใช้กรรมฐานทั้ง ๖ ก็เพราะว่า ความเชื่อ เป็นเรื่องของคุณธรรม แต่ใน ขณะเดียวกัน ก็ต้องประคองความเชื่อนั้น ให้อยู่ในทางที่ถูกต้องด้วย ไม่เช่นนั้น ความเชื่อ ก็อาจจะเป็นไปใน ทางที่ลุ่มหลงงมงายได้ง่ายๆ ในเมื่อเป็นคนที่มีใจ น้อมไปทางด้านศรัทธาอยู่แล้ว กรรมฐานที่ใช้ ก็จึงควรเป็น กรรมฐาน ที่จะช่วยพยุงความเชื่อ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม… ซึ่งไม่มีอะไรที่ดีกว่า อนุสติทั้ง ๖ ดังกล่าวแล้ว ทีนี้มาพูดถึงวิธีปฏิบัติ ในกรรมฐานทั้ง ๖ กันบ้าง กรรมฐานข้อแรก คือ พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า มีคุณความดีอย่างไร ที่น่า ประทับใจ ให้เรานึกดู ข้อแรกก็คือ พระองค์ไม่ติดในยศฐาบรรดาศักดิ์ และสิ่งสะดวกสบาย เหมือนที่คนทั้งหลายแสวงหากัน แต่ กลับเห็นความสำคัญของจิตใจ ยอมสละความสุขทางวัตถุ มาปฏิบัติธรรมเพื่อหาความสุขทางใจแทน จนได้ตรัสรู้และหลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงใช้เวลาตลอดพระชนม์ชีพในการทำประโยชน์ โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีเงินเดือน และไม่มีโบนัสสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น การทำงาน บางครั้งก็เสี่ยง ต่อภัยตราย เช่น ในคราวไปโปรดโจรองคุลิมาล เป็นต้น ประกันชีวิตก็ไม่มี แถมไปไหน ก็ไม่มีรถมาคอยรับส่งอีกต่างหาก แต่พระองค์ก็ทรงทำหน้าที่ โดยไม่ บกพร่อง ทำเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เรียกว่า เป็นนักทำงานชั้นยอดก็ว่าได้ พระองค์จะทรงตื่น แต่เช้ามืด… เมื่อ ตื่นขึ้นมาแล้ว ก็จะทรงเข้าสมาบัติ ตรวจดูสัตว์โลก ว่าใครจะมีวาสนาบารมี ควรแก่การ ที่จะเสด็จไปโปรด พอตอนเช้า ก็เสด็จออกไปบิณฑบาต โปรดสัตว์โลก ผู้ต้องการทำบุญ พอตกเย็น ก็ทรงแสดงธรรม แก่ประชาชนย่ำค่ำ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ เที่ยงคืน ต้องตอบคำถาม ให้แก่เทวดา ที่มาถามปัญหา… กว่าจะเสร็จ ก็คงไม่ ต่ำกว่าตี ๒ หลังจากนั้น ก็ทรงบรรทม พอตี ๔ - ตี ๕ ทรงตื่น เข้าสมาบัติ ตรวจดูสัตว์โลกอีกแล้ว ดูเอาเถอะ พระองค์ทำงาน แทบไม่มีเวลาพักทีเดียว ทำอย่างนี้ ตลอด ๔๕ ปี ที่ทรงพระชนม์อยู่…. ใครจะ ทำได้ อย่างพระองค์ ด้วยคุณความดีดังกล่าวนี่แหละ เราชาวพุทธ จึงได้กราบพระองค์ อย่างสนิทใจ แม้พระองค์ จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไปถึงสองพันกว่าปีแล้วก็ตาม… และนี่ก็คือ คุณงามความดีของพระพุทธเจ้า ที่เราควรจะระลึกถึง เพื่อยังจิตใจเราให้สงบ และเกิดกำลังใจ ทีนี้มาถึงกรรมฐานข้อที่ ๒ ซึ่งเหมาะกับคนวันจันทร์ กรรมฐานที่ว่านั้น ก็คือ ธัมมานุสติ ได้แก่ การระลึกถึง คุณของพระธรรมคำสอนพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็คล้ายๆทำนบกั้นน้ำ คือเป็นสิ่งกั้นคนเรา ไม่ให้ตกไปสู่โลกที่ชั่ว เช่นโลกของอบายมุขต่างๆ คนมีธรรมะรักษาใจ และสนใจที่จะ ปฏิบัติธรรมทุกคน ไม่มีใครที่จะตกไปสู่ทางที่ชั่วได้เลย เนื่องจากธรรมะรักษาไว้นั่นเอง… และนี่ก็คือคุณงาม ความดี ของพระธรรมคำสอน ซึ่งเมื่อนึกแล้ว ก็จะช่วยทำให้ใจสงบได้อีกทางหนึ่ง จะพูดถึงกรรมฐาน ของคน วันจันทร์ ต่ออีกสักข้อ คงไม่ทันแล้ว เพราะเนื่องจากหน้ากระดาษหมดพอดี เอาไว้ตอนหน้าจะนำเรื่องกรรมฐาน ที่เหมาะสำหรับคนมาจันทร์ ในข้อที่ ๔ มาเสนอกับท่านผู้สนใจต่อไป ขอได้โปรดติดตาม กรรมฐานข้อที่ ๓ ซึ่งคนที่เกิดในวันจันทร์ ควรจะเจริญ นั่นก็คือ สังฆานุสติ "สังฆานุสติ" คือการนึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ พระอริยสงฆ์ มีคุณความดีอย่างไรบ้างล่ะ ? ก็มีคุณความดีอยู่ ๔ ข้อ คือ ๑. สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี คือทำแต่ความดี พูดแต่ถ้อยคำที่ดี และคิดแต่ในทางที่ดี ไม่ทำร้ายใคร ไม่พูดจา ใส่ร้ายใคร และไม่คิดร้ายต่อใคร ๒. อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือตรงต่อหน้าที่ และตรงต่อเพศภาวะ ไม่ประพฤติ ตน เป็นคนลวงโลก ๓. ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตน เพื่อมุ่งออกจากทุกข์ และมุ่งทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นที่ตั้ง… ไม่ได้ปฏิบัติ เพื่อมุ่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ประการใด ๔. สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตนสมควรแก่การกราบไหว้ กล่าวคือ มีจิตใจในระดับสูง ที่ว่า มีจิตใจอยู่ใน ระดับสูงนั้น ก็คือ มีจิตใจสูงกว่าชาวบ้าน ชาวบ้านอยู่กันด้วยความโลภ คิดแต่จะกอบโกย ให้ได้มากๆ. แต่พระ ท่านกลับอยู่ อย่างเสียสละ และเป็นผู้ให้ชาวบ้านอยู่กันด้วยความโกรธ มีอะไรไม่พอใจขึ้นมา ก็พร้อมจะห้ำหั่น 1ประหัตประหาร กันได้ทันที…. แต่พระท่านกลับอยู่ด้วยเมตตา และพร้อมที่จะให้อภัยชาวบ้านอยู่กันด้วยความหลง ไอ้นั่นก็ของเรา ไอ้นี่ก็ของเรา…. แต่พระท่านกลับอยู่ ด้วยการปล่อยวาง สมบัติพัสถานทุกอย่าง สักแต่ว่าเป็นปัจจัย เครื่องอาศัยเท่านั้น การระลึก นึกถึงคุณความดี ของพระอริยสงฆ์ โดยนัยนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า เจริญสังฆานุสติ ซึ่งเป็นกรรมฐานข้อหนึ่ง ที่เหมาะสำหรับคนวันจันทร์จะเจริญ กรรมฐานข้อ ๔ ที่เหมาะกับจริตอัธยาศัยของคนที่เกิดวันจันทร์ นั่นก็คือ สีลานุสติ สีลานุสติ ก็คือการระลึก นึกถึงความบริสุทธิ์แห่งศีล ที่ตนได้รักษาคนใดก็ตาม ที่ได้สมาทานศีลจากพระ และพยายามตั้งใจรักษาศีล ให้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ด่างพร้อย ย่อมจะได้รับอานิสงส์ ก็คือจะทำให้เกิดความอิ่มอกอิ่มใจทุกครั้ง เมื่อนึกถึงศีลด้วยเหตุนี้ การนึกถึงศีล ที่ตัวเองรักษา ได้อย่างบริสุทธิ์ ก็เป็นวิธี ที่จะช่วยทำให้จิตใจ เกิดความสงบได้ประการ หนึ่ง จึงจัดเป็นหนึ่ง ในบรรดาอารมณ์กรรมฐานและกรรมฐานข้อนี้ ก็เหมาะอย่างยิ่ง ถ้าคนที่เกิดวันจันทร์จะเจริญ กรรมฐานข้อ ๕ สำหรับคนที่เกิดวันจันทร์ ควรจะเลือกเจริญ นั่นก็คือ จาคานุสติ จาคานุสติ คืออะไร ? จาคานุสติ ก็คือ การนึกถึงทานบริจาค ที่เราได้บำเพ็ญไว้ดีแล้ว ว่า "โอหนอ เป็นบุญลาภของเราหนอ ที่ใจเรา ปราศจากความโลภ และความตระหนี่ และได้มีโอกาสสร้างความสุขอันประเสริฐ ให้เกิดขึ้นในใจตนเอง นั่นคือ ความสุข ที่เกิดจากการให้" ทานบริจาคอันใดก็ตาม ที่เราได้บริจาคไว้ดีแล้ว มิใช่จะก่อให้เกิดความสุขใจ เฉพาะ ตอนที่ให้เท่านั้น แม้แต่การให้ จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เมื่อเรามาระลึกถึงครั้งใด ความสุขใจ ความอิ่มใจ ก็จะเกิดขึ้น ทุกครั้ง ฉะนั้น จึงเป็นเรื่อง ที่ควรจะนึกถึงให้บ่อยๆ กรรมฐาน ข้อที่ ๖ ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย ซึ่งเหมาะกับจริตอัธยาศัย ของคนที่เกิดวันจันทร์ ก็คือ เทวตานุสติเทวตานุสติ ก็คือการระลึก นึกถึงคุณธรรม ที่ทำให้คน เกิดเป็นเทวดา คุณธรรม ที่ว่านั้น ก็คือ หิริ = ความละอาย ต่อบาป และ โอตตัปปะ = ความเกรงกลัวต่อบาป คุณธรรมทั้ง ๒ ข้อนี้ ถ้าเราพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีอยู่พร้อม ในใจ ของเราแล้ว ก็ให้พึงปีติใจเถอะว่า เหล่าเทวดา ไปเกิดในเทวโลก ด้วยคุณธรรมใด คุณธรรมนั้น ก็มีพร้อมอยู่ในใจ ของเราแล้ว ฉะนั้น เทวโลก ย่อมเป็นที่ไป สำหรับเรา อย่างแน่นอน… นี่คือการเจริญเทวตานุสติ และทั้งหมดนี้ ก็คือกรรมฐาน ๖ อย่าง ที่คนเกิดวันจันทร์ ควรจะเจริญ เพื่อเป็นเครื่องเสริมสร้างศรัทธา ซึ่งมีอยู่แล้ว ให้เป็นไป ในทางที่ถูกต้องและดีงามคือในเมื่อจะเชื่อ ก็ควรเชื่อในคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระอริย-สงฆ์ เชื่อในคุณของทาน คุณของศีล ที่มีอยู่ในตน และเชื่อในคุณธรรม ที่ทำคน ให้เป็นเทวดาเพียงเท่านี้ ก็เป็นการเสริมส่งความเชื่อ ให้เป็นไปในทางที่ดีงามแล้ว
30 พฤศจิกายน 2550 19:41 น. - comment id 98484
............ กรรมฐานของคนที่เกิดวันอังคาร ก่อนที่จะไปพูดถึงกรรมฐานที่เหมาะกับคนเกิดวันอังคาร เราควรจะได้รู้จักนิสัยใจคอของคนที่เกิดวันอังคารซะก่อนคนที่เกิดวันอังคารนั้น ท่านผู้รู้บอกว่า นิสัยแมวเป็นอย่างไร คนที่เกิดวันอังคาร ก็มีนิสัยดุจเดียวกันอย่างนั้นตามธรรมดา ธรรมชาติของแมว ไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็ตาม ท่านลองดูก็ได้ ถ้าท่านดึงมันมาทางซ้าย มันก็พยายาม จะไปทางขวา ถ้าดึงมาทางขวา มันก็ต้องพยายาม ไปในทิศทางตรงกันข้าม คือทางซ้ายให้จงได้หรือไม่เช่นนั้น ลองดึงมาข้างหลัง มันก็พยายาม จะรั้นไปข้างหน้า พูดง่ายๆ คือขอให้ได้ทำ ตรงกันข้าม ก็แล้วกัน…. ทำแล้วสบายใจท่านสังเกตดูเถอะ ถ้าคนในครอบครัวท่าน มีใครก็ตาม เกิดวันอังคาร ท่านลองสังเกตพฤติกรรมของเขาดู ดูๆไป ก็คล้ายๆคนขวางโลก ยังไงยังงั้น ไม่ค่อยสนใจคำสั่งสอนของคนอื่น เชื่อตัวเอง จนกระทั่งบางครั้ง ก็กลายเป็นความดื้อรั้น ทำให้คนรอบข้าง เกิดความเอือมระอาไปตามๆกันฉะนั้น ถ้าใครมีลูกเต้าเกิดวันอังคาร หรือมีลูกน้องเกิดวันอังคาร ก็อยากจะแนะเทคนิคการปกครอง กันไว้สักนิด คนวันอังคารนี้ ปกติจะเป็นคนดื้อ ถึงแม้จะไม่ใช่ดื้อเปิดเผย แต่ก็เป็นประเภทดื้อเงียบ คือจะว่ายังไง ว่าไปเถอะ คนประเภทนี้ ไม่เถียง แต่ก็ไม่ทำ ในเมื่อเรารู้นิสัยเขาอย่างนี้แล้ว เราอยากจะให้เขาทำยังไง ก็ลองบอกให้เขาทำ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามดูซิเช่น คนวันอังคาร ที่ยังอยู่ในวัยเรียน ถ้าเราอยากจะให้เขาอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมสอบ ก็ให้ลองพูด ในทางตรงกันข้าม ว่าใกล้สอบแล้ว ไม่ต้องอ่านหนังสือ ก็น่าจะได้กระมัง เขาก็จะบอกขึ้นมาทันทีว่า ไม่ได้หรอก ใกล้สอบแล้ว ต้องอ่าน ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวสอบไม่ผ่านแต่ถ้าเราบอกว่า ใกล้สอบแล้ว ให้ไปอ่านหนังสือเดี๋ยวนี้เขาก็จะพูดเบี่ยงบ่าย ว่ายังไม่ต้องรีบหรอก ยังมีเวลา อะไรประมาณนั้นคือขอให้ได้ทำ ในสิ่งที่ตรงกันข้าม กับคนอื่นพูด ก็แล้วกัน… นี่คือคนเกิดวันอังคาร นอกจากนั้น ตำราทางโหราศาสตร์ ยังได้แสดงลักษณะนิสัย ของดาวอังคารไว้ว่า มีทั้งส่วนดี และส่วนเสียส่วนดีของดาวอังคาร คือความกล้า และความขยันขันแข็ง แต่ส่วนเสีย ก็คือ ความเป็นคนเลือดร้อน หงุดหงิดง่าย และพร้อมที่จะทะเลาะได้ทุกเมื่อนิสัยอันใดดีแล้ว ก็ไม่ต้องแก้ แต่ส่วนใดที่ไม่ค่อยดี ก็ควรแก้ โดยการใช้กรรมฐาน กรรมฐานสำหรับคนเกิดวันอังคาร ในเมื่อนิสัยส่วนเสีย ของคนที่เกิดวันอังคาร คือความเป็นคนเลือดร้อน หงุดหงิดง่าย กรรมฐานที่ใช้ จึงควรเป็นกรรมฐาน ที่จะช่วยทำใจให้สงบเย็นกรรมฐานที่ว่านั้น คงไม่มีกรรมฐานหมวดใด ดีเท่ากับ กรรมฐานในหมวดของ พรหม-วิหารพรหมวิหาร 4 คือการแผ่ความรู้สึกที่ดี 4 อย่าง ออกไปรอบๆตัว จนกระทั่งจิตใจเกิดความสงบ และเยือกเย็น ด้วยคุณธรรม ดังกล่าวนั้นความรู้สึกที่ดี 4 อย่างนั้น มีอะไรบ้างล่ะ ? ความรู้สึกที่ดีอย่างแรก ก็คือ เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเห็นว่า เพื่อนมนุษย์ทุกคน ล้วนเต็มไปด้วยทุกข์ กันคนละมากๆ ฉะนั้น มนุษย์ไม่ควรเบียดเบียนกัน ไม่ควรทำร้ายกัน ควรรัก และควรปรารถนาดีต่อกันให้มากๆ… นี่คือการแผ่เมตตา ซึ่งเป็นพรหมวิหารข้อแรก ทีนี้ ความรู้สึกที่ดี อย่างที่สอง ก็คือ กรุณา ได้แก่ความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ เห็นใครทุกข์ยาก ก็อดที่จะสงสาร และคิดช่วยเหลือมิได้… นี่คือการแผ่กรุณา ซึ่งเป็นพรหมวิหาร ข้อที่ 2 ความรู้สึกที่ดี อย่างที่สาม ก็คือ มุทิตา ได้แก่ ความพลอยยินดี เมื่อเห็นคนอื่น ได้ดีมีสุข ความรู้สึกในข้อนี้ จะช่วยจัด ความอิจฉาริษยาได้อย่างมาก ฉะนั้น ถ้าใครรู้ตัวว่า มีความอิจฉาริษยาในใจมาก ก็ควรเจริญมุทิตาให้มากๆ เวลาเห็นใครได้ดีมีสุข ก็ให้นึกในใจว่า ดีแล้วล่ะ ขอให้มีความสุขความเจริญ ยิ่งๆขึ้นไปเถิด แล้วจิตใจเราจะสงบเยือกเย็น จากแรงริษยา… นี่คือการแผ่มุทิตา ซึ่งเป็นพรหมวิหารข้อที่ 3 ทีนี้ มาถึงข้อสุดท้าย คือ อุเบกขา ได้แก่ความวางเฉย เรื่องของการแผ่อุเบกขา การที่ท่านวางไว้เป็นข้อสุดท้าย ก็เพื่อเป็นคุณธรรม ที่จะช่วยกั้นใจเรา ไม่ให้เป็นทุกข์ กับเรื่องราวของคนอื่น มากจนเกินไป โดยให้คิดถึงเรื่องกฎแห่งกรรมให้มาก ว่าแต่ละคน ล้วนมีกรรมเป็นของๆตน และเป็นไปตามกรรม ที่ตัวเองได้ก่อเอาไว้ทั้งสิ้น ฉะนั้น ในเมื่อเราใช้เมตตาต่อคนอื่น อย่างถึงที่สุดแล้ว ยังช่วยอะไรเขาไม่ได้ ก็ต้องนึกถึงเรื่องกรรม แล้วางอุเบกขาซะ ใจเราก็จะสงบเย็นลงได้และทั้งหมดนี้ ก็คือกรรมฐาน ที่เหมาะสำหรับคนเกิดวันอังคารจะพึงเจริญ
30 พฤศจิกายน 2550 19:42 น. - comment id 98486
........... กรรมฐานของคนที่เกิดวันพุธ ก่อนที่จะว่าถึงเรื่องกรรมฐานประจำคนที่เกิดวันพุธ เราควรที่จะได้มารู้จักลักษณะนิสัยของคนที่เกิดวันพุธกันก่อน คนที่เกิดวันพุธ ถ้าจะว่ากันตามหลักโหราศาสตร์แล้ว ท่านว่าเป็นคนที่อ่อนหวาน พูดเก่ง คุยเก่ง มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นคนพิถีพิถัน ในทุกๆเรื่อง เช่น เรื่องการแต่งตัว จะไปไหนที ก็ต้องเลือกชุด ที่เข้าสีกัน เรียกว่า ต้องเป็นระเบียบ ตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้าทีเดียว…นี่คือลักษณะทั่วๆไปของคนที่เกิดวันพุธ แต่จุดเสียของคนที่เกิดวันพุธ ก็คือ มักจะเป็นคนที่อ่อนไหว และเปลี่ยนแปลงงง่าย ด้วยเหตุนี้ โบราณาจารย์ ท่านจึงไม่ให้คู่บ่าวสาวแต่งงานกันในวันพุธ เพราะเกรงว่าชีวิตสมรสจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงง่ายนั่นเอง… นี่คือความเชื่อในทางโหราศาสตร์ เกี่ยวกับดาวพุธ หรือคนที่เกิดในวันพุธ วันพุธ ในทางโหราศาสตร์ ยังแบ่งออกเป็นพุธกลางวัน และพุธกลางคืนอีกด้วย พุธกลางวัน ก็ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ส่วนพุธกลางคืนนั้น ทางโหราศาสตร์ เรียกว่า วันราหู ราหู ในที่นี้ หมายถึงเงามืด ซึ่งแสดงถึงความลุ่มหลง หรือที่เรียกว่า โมหะนั่นเอง ฉะนั้น สรุปได้ว่า คนที่เกิดวันพุธนั้น มีจุดอ่อน ที่จะต้องแก้ไขด้วยกรรมฐาน อยู่ 2 เรื่องคือ ๑. ความเป็นคนอ่อนไหวง่าย ๒. ความลุ่มหลงมัวเมา กรรมฐานสำหรับคนเกิดวันพุธ นิสัยที่ต้องปรับปรุงประการแรก ก็คือ ความเป็นคนอ่อนไหวง่าย ความอ่อนไหวง่าย จะแก้ไขได้ ด้วยกรรมฐานข้อใด ? ก็ขอตอบว่า สมถกรรมฐานทั้ง 40 อย่าง แก้ได้หมด แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำเป็นพิเศษเพราะเหมาะกับชาวบ้านทั่วไป ที่จะปฏิบัติ นั่นก็คือ อานาปานสติ อานาปานสติ คืออะไร ? ก็คือการหายใจอย่างมีสติ คือรู้ตัวทุกครั้งเมื่อหายใจเข้า และรู้ตัวทุกครั้งเมื่อหายใจออก ตามปกติคนเราก็ต้องหายใจกันอยู่แล้ว หายใจตั้งแต่เกิด และจะต้องหายใจต่อไป จนกว่าจะตาย…… แต่น่าประหลาด ที่เราไม่เคยรู้ตัวเลย ว่าตอนนี้เรากำลังหายใจเข้า หรือกำลังหายใจออก พอไม่รู้ลมหายใจ ก็เลยรู้เรื่องอื่น ซึ่งมีแต่จะจูงใจให้ฟุ้งซ่าน และทำให้จิตใจ เกิดความอ่อนไหว ไปตามอารมณ์ต่างๆ ฉะนั้น วิธีแก้ใจ ไม่ให้มันอ่อนไหว ไปตามอารมณ์ต่างๆ ก็คือ ต้องหายใจอย่างมีสติ เมื่อเราหายใจ โดยมีสติกำกับ ใจก็จะสงบนิ่ง อยู่กับลมหายใจ ไม่ฟุ้งซ่าน และไม่หวั่นไหว เหมือนอย่างแต่ก่อน… นี่ก็คือวิธีแก้ ความเป็นคนอ่อนไหวง่าย โดยใช้กรรมฐาน ข้อ อานา-ปานสติ เป็นตัวแก้ ทีนี้นิสัยที่ควรปรับปรุงอย่างต่อไป ก็คือเรื่องความลุ่มหลง อารมณ์ลุ่มหลง ซึ่งเหมือนกับความมืดนั้น ต้องแก้ด้วยปัญญา ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่างและปัญญาที่ว่านั้น ก็ต้องเป็นปัญญาในทางธรรม เช่นปัญญาในขั้นของวิปัสสนา จึงจะแก้ได้ ถ้าจะถามว่า ปัญญาในขั้นของวิปัสสนา คือปัญญาในลักษณะไหน ? อย่างไร ? ก็ต้องตอบว่า คือปัญญาที่รู้เท่าทัน ความเป็นจริงของโลกและชีวิต ทีนี้ถามต่อว่า แล้วความเป็นจริงของโลกและชีวิต มีอะไรบ้างล่ะ ? ก็มีอยู่ ๓ อย่าง กล่าวคือ ๑. อนิจจัง… ความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ๒. ทุกขัง…….การถูกบีบคั้น จนทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ๓. อนัตตา…..การอยู่นอกเหนือการควบคุม นี่แหละคือความจริงของโลกและชีวิต ที่เราต้องรู้เท่าทัน ถามว่า เมื่อรู้เท่าทันแล้ว จะได้ประโยชน์อะไรกับจิตใจบ้าง ? ตอบว่า ได้เยอะครับ… โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทำให้เรายึดมั่นในสิ่งต่างๆน้อยลง เมื่อยึดมั่นน้อยลง ความลุ่มหลงในสิ่งเหล่านั้น ก็ย่อมจะน้อยลง เมื่อความลุ่มหลงน้อยลง ความทุกข์ที่เกิดจากความลุ่มหลง ก็จะลดน้อยตามไปด้วย และนี่ก็คือกรรมฐาน ที่จะช่วยบรรเทาความลุ่มหลง ซึ่งเหมาะกับคน ที่เกิดวันพุธ (กลางคืน) เรื่องของคนที่เกิดวันพุธ ไม่ว่าจะเป็นพุธกลางวัน หรือพุธกลางคืน ( ราหู ) ก็คงจะมีเรื่อง ที่พึงอธิบาย เพียงแค่นี้……….
30 พฤศจิกายน 2550 19:44 น. - comment id 98487
.......... กรรมฐานของคนที่เกิดวันพฤหัสบดี วันพฤหัสบดี ท่านถือว่า เป็นวันครู ฉะนั้น ผู้ที่เกิดในวันพฤหัสบดี ทางตำราโหราศาสตร์จึงถือว่า มีลักษณะของความเป็นครูอยู่มิใช่น้อย คือเป็นคนฝักใฝ่ ในการศึกษาหาความรู้ และชอบสอน ชอบแนะนำคนอื่น คนที่เกิดวันพฤหัสบดี ถ้าจะสงเคราะห์ เข้าในจริต ๖ ก็เรียกว่า เป็นคนพุทธิจริต คือเป็นคนเจ้าปัญญา เจ้าเหตุผลคนที่เกิดวันพฤหัสบดี ถ้าเป็นหญิง จะมีลักษณะที่สังเกตได้อย่างหนึ่ง คือมักจะเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ชอบเก็บ ชอบสะสม ถ้าเอาเงิน ฝากธนาคารไว้ ก็มักจะเอาสมุดฝาก มาดูบ่อยๆ และถ้าเห็นว่า เงินพร่องจากบัญชีไป เขาจะรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากทีเดียว…. นี่คือผู้หญิง ที่เกิดวันพฤหัสบดี มักจะเป็นอย่างนี้ซะส่วนมาก ฉะนั้น สรุปนิสัยของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี ก็คงจะแบ่งเป็น ลักษณะนิสัย ข้อใหญ่ๆ ได้ ๒ ข้อ คือ ๑. เป็นคนฉลาด มากด้วยเหตุผล ๒. เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ชอบสละ ชอบแต่สะสม ทีนี้ นิสัยแต่ละอย่าง จะเอากรรมฐานข้อใดมาแก้ในส่วนของนิสัยฝ่ายดี ที่ชอบเหตุชอบผลนั้น กรรมฐานที่เหมาะก็คือ ต้องเป็นกรรมฐาน ประเภทที่ใช้ความคิด พินิจพิจารณา ตัวอย่างเช่น อาหาเรปฏิกูลสัญญา ( การพิจารณา ความเป็นปฏิกูลในอาหาร ), จตุธาตุววัตถาน ( การพิจารณาร่างกาย โดยความเป็นธาตุ ๔), อุปสมานุสติ ( การระลึกถึงความดี ของพระนิพพาน ) ในส่วนของนิสัย ที่ตระหนี่ถี่เหนียวนั้น ต้องแก้ ด้วยกรรมฐาน ๒ ข้อ กล่าวคือ จาคานุสติ ( การระลึกนึกถึงคุณของการบริจาค ), และ มรณัสสติ ( การนึกถึงความตาย อันจะมาถึงตน ) ทีนี้ เราไปดูรายละเอียดของกรรมฐานแต่ละอย่างกัน อาหาเรปฏิกูลสัญญา คำว่า "อาหาเรปฏิกูลสัญญา" ถ้าจะแปล ก็ต้องแปลว่า การพิจารณา ความเป็นปฏิกูล ในอาหาร คืออาหารทุกอย่าง ที่เราทานเข้าไปนั้น ล้วนมีความเป็นปฏิกูลทั้งสิ้น ตอนแรก อาจจะยังมองไม่เห็น ความเป็นปฏิกูล แต่พอเข้าสู่ปาก คลุกเคล้ากับน้ำลาย และกลืนลงท้อง ความปฏิกูลก็ย่อมจะฉายแววออกมาให้เห็นเด่นชัดขึ้นและเมื่อไหร่ ที่อาหารซึ่งกินเข้าไป ถูกขับถ่ายออกมาเป็นของเสีย เมื่อนั้น เราก็จะสะอิดสะเอียน แทบอาเจียนทีเดียว … นี่แหละ เห็นหรือยัง ว่าอาหาร มันเป็นของปฏิกูลอย่างไร คนที่เฉลียวฉลาด อย่างคนที่เกิดวันพฤหัสบดีนั้น ถ้าพิจารณากรรมฐานข้อนี้ ก็จะเห็นความจริง โดยไม่ยาก ้ จตุธาตุววัตถาน กรรมฐานข้อนี้ ก็คือ กรรมฐานที่ต้องใช้ความคิด อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเหมาะกับคนที่เกิดวันพฤหัสบดี จะพึงพิจารณา จตุธาตุววัตถาน ก็คือการพิจารณาร่างกายนี่เอง ทีนี้ถามว่า พิจารณาในแง่ไหนล่ะ? ก็พิจารณาในแง่ที่ว่า ร่างกายนี้ ประกอบขึ้น จากธาตุทั้ง ๔ แล้วธาตุทั้ง ๔ มีอะไร? กี่อย่างล่ะ? ก็มีอยู่ ๔ อย่าง คือ ๑. ธาตุดิน ได้แก่ ส่วนที่เป็นของแข็ง ถ้าจะถามว่า แล้วส่วนที่เป็นของแข็ง ในร่างกายนี้ มันมีอะไรบ้างล่ะ? ก็มีตั้งหลายอย่าง ท่านลองนึกดูซี….กระดูก นี่ก็แข็งใช่ไหม?… หัวกระโหลก นี่ก็แข็ง….เอ็นนี่ก็แข็ง พวกที่มีลักษณะแข็งทั้งหมดนี่แหละ ที่ท่านเรียกว่า ธาตุดิน ๒. ธาตุน้ำ ได้แก่ ส่วนที่เป็นของเหลว ถ้าจะถามว่า แล้วส่วนที่เป็นของเหลว ในร่างกายนี้ มันมีอะไรบ้างล่ะ? ก็มีตั้งหลายอย่าง อาทิเช่น น้ำเลือด , น้ำหนอง, น้ำตา , น้ำเหงื่อ เป็นต้น พวกนี้เป็นของเหลวทั้งหมด และของเหลวทั้งหมด ที่มีอยู่ในร่างกายนี้นั้น ท่านก็สมมติ เรียกว่า ธาตุน้ำ เพราะมีลักษณะเหลว เหมือนน้ำ ๓. ธาตุไฟ ได้แก่ ความร้อน หรือความอบอุ่นในส่วนของ 2 ธาตุอย่างแรก เราเอง พอจะมองเห็นได้ง่าย แต่พอมาถึงข้อนี้ มองยากสักหน่อย เพราะพอพูดถึงไฟ คนเราก็มักจะนึกถึง ไฟในเตา ซึ่งมีลักษณะเป็นเปลวสีเหลืองๆ และเต็มไปด้วยความร้อน แต่ความหมายของธาตุไฟ ในกรรมฐานข้อนี้ ท่านหมายเพียงลักษณะของความร้อน หรือความอบอุ่นเท่านั้น ถ้าอย่างนี้ ก็พอจะมองห็นเหตุผลได้ไม่ยาก เพราะลักษณะความอบอุ่นในร่างกายเราก็มี ที่เรียกว่า อุณหภูมิยังไงล่ะ อุณหภูมิ คือความอบอุ่นในร่างกายนี่แหละ ที่เรียกกันว่า ธาตุไฟ ๔. ธาตุลม ได้แก่ อากาศที่เคลื่อนไหวที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือลมหายใจ ที่หายใจเข้า หายใจออก อยู่ทุกวี่ทุกวันนี่แหละ คือธาตุลม ในกรรมฐานข้อนี้ การพิจารณาร่างกาย ให้เห็นเป็นแต่เพียง ธาตุ ๔ ถือว่าเป็นกรรมฐาน ที่เหมาะสำหรับคน ที่เกิดวันพฤหัสบดี อีกข้อหนึ่ง ที่ควรเจริญกรรมฐาน สำหรับคนที่เกิดวันพฤหัสบดี กรรมฐานที่ว่านั้น ก็คือ มรณัสสติ มรณัสสติ มรณัสสติ ก็คือการระลึก นึกถึงความตาย อันจะมาถึงตน การระลึกถึงความตาย ท่านอาจจะสงสัย ว่าช่วยแก้นิสัยผู้หญิงที่เกิดวันพฤหัสบดีได้อย่างไร ? ถ้าใครได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น ก็คงจะทราบ เพราะเราได้เคยบอกถึง ลักษณะอุปนิสัย ที่เด่นๆ ของคนที่เกิดวันพฤหัสแล้วว่า นอกจากจะเป็นคน ที่สนใจใฝ่รู้แล้ว คุณผู้หญิงที่เกิดวันพฤหัส ยังมีลักษณะเด่น ที่เห็นได้ชัด อีกอย่างหนึ่งก็คือ มักจะเป็นคนที่ไม่ชอบสละ แต่ชอบสะสม ลักษณะนิสัยอย่างนี้ ถ้าเราได้นึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ มันจะช่วยทำให้ละคลายนิสัยที่ชอบสะสมไปได้มากทีเดียว เพราะลองคิดดูเถอะว่า คนเรา ที่เอาแต่สะสมนั้น ก็เพราะลืมคิดถึงเรื่องของความตาย คนเรา ต่อให้สะสมทรัพย์สิน ไว้มากมายขนาดไหนก็ตาม แต่พอตายลงวันใด สิ่งที่สะสมไว้ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ก็ไม่สามารถจะติดตามคนตายไปได้ ล้วนจะต้องทอดทิ้งทรัพย์สินเหล่านั้น ไว้ในโลกนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น การหวงแหนทรัพย์สิน จนไม่ยอมสละ ให้เป็นทานเลย จึงไม่เป็นประโยชน์อันใด ใครที่มีนิสัย ที่ชอบตระหนี่ ไม่ชอบสละ ไม่ชอบให้ใคร ก็ลองเอากรรมฐาน ข้อ "มรณัส-สติ" นี้ไปภาวนาดูซีครับ จะช่วยได้มากทีเดียว
30 พฤศจิกายน 2550 19:45 น. - comment id 98488
......... กรรมฐานของคนที่เกิดวันศุกร์ ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องกรรมฐาน ที่เหมาะกับคนเกิดวันศุกร์ เรามาพูดถึงอุปนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์กันก่อนดีกว่า ดาวศุกร์ ตามหลักโหราศาสตร์ หมายถึง ความรักทางโลกีย์ สิ่งสวยงาม ความบันเทิง และอารมณ์ร่าเริง เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของดาวศุกร์ทั้งนั้น ฉะนั้น ลักษณะนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์ ตามหลักโหราศาสตร์ ที่จะเห็นได้ค่อนข้างเด่นชัดก็คือ จะเป็นคนที่รักสวยรักงาม อารมณ์ร่าเริง ชอบร้องรำขับร้อง แต่ก็มีจุดอ่อน ที่ต้องคอยแก้ไขอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นสุภาพสตรีที่เกิดในวันศุกร์ มักจะมีนิสัยที่เรียกได้ว่า อาจจะเป็นจุดอ่อนก็ว่าได้ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. เป็นคนค่อนข้างจะห่วงคนอื่น มากกว่าตัวเอง บางครั้งก็เอาเรื่องของคนอื่น เช่นความทุกข์ของคนรอบข้าง มาใส่ใจ จนกระทั่งทำให้ตัวเอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับก็มี 2. เป็นคนที่มักจะเผลอไผล ในเรื่องของคำพูดคำจา อยู่เป็นประจำ เช่นคิดไว้อย่าง แต่เวลาพูด กลับพูดไปอีกอย่าง จนกระทั่งทำให้เกิดเรื่องให้ชวนขำอยู่บ่อยๆ และนี่ก็คือ ลักษณะนิสัยโดยทั่วๆไป ของคนที่เกิดในวันศุกร์ ้ กรรมฐานสำหรับคนที่เกิดวันศุกร์ ทีนี้มาพูดถึงกรรมฐาน ที่จะใช้แก้นิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์กันบ้าง ก็อย่างที่บอกในตอนต้นแล้วว่า ลักษณะนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์นั้น ถ้าจะสรุปเป็นข้อๆ เพื่อหากรรมฐานมาแก้ได้ง่ายขึ้น ก็คงพอสรุป เป็นข้อๆได้ ดังต่อไปนี้ 1. เป็นคนที่ติดในเรื่องของกามารมณ์ และสิ่งสวยงามต่างๆ 2. เป็นคนที่มักจะทุกข์กับเรื่องของคนอื่น มากจนเกินไป 3. เป็นคนที่มักจะเผลอไผล ในเรื่องของคำพูดคำจา ในบรรดานิสัยทั้ง 3 ข้อนี้ กรรมฐานที่จะช่วยบรรเทาได้ ก็จะมีดังต่อไปนี้ 1. ต้องใช้อสุภะ แก้เรื่องความติดใจ ในกามารมณ์ 2. ต้องใช้อุเบกขาพรหมวิหาร แก้ในเรื่อง ชอบทุกข์กับเรื่องของคนอื่น มากเกินไป 3. ต้องเจริญสติปัฏฐาน เพื่อแก้นิสัยที่เผลอไผล ทีนี้กรรมฐานแต่ละอย่างๆนั้น มีวิธีปฏิบัติอย่างไร กรรมฐานที่จะช่วยแก้นิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์ อุปนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์ และก็ได้สรุปไว้ว่า นิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์ แต่ละอย่างๆนั้น จะแก้ได้ ด้วยกรรมฐานหมวดใด โดยวิธีปฏิบัติ ในกรรมฐานแต่ละหมวดนั้น จะนำมาขยายความ กันในตอนนี้ โดยเริ่มจาก กรรมฐานหมวดแรก นั่นก็คือ…. ิ อสุภกรรมฐาน อสุภะ คำนี้ หมายถึง สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม ซึ่งได้แก่ ซากศพต่างๆนั่นเอง พวกซากศพต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เพื่อแก้นิสัย ที่ติดในความสวยงาม ได้เป็นอย่างดี ใครก็ตาม ที่รู้ตัวว่า เป็นคนที่ติดในสิ่งสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องกามารมณ์ต่างๆ ท่านจะละเลยกรรมฐานข้อนี้ ไปไม่ได้เลย ทีนี้ มาพูดถึงวิธีปฏิบัติกันบ้าง การที่เราจะนำเอาซากศพต่างๆ มาเป็นเครื่องเ พ่งพิจารณานั้น ถ้าเอาศพจริงๆมาพิจารณา คงจะทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยนี้ ถ้าเป็นในสมัยก่อน ยังพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปพิจารณาศพในป่าช้า ยังพอทำได้ง่าย กว่าในปัจจุบัน แต่สำหรับปัจจุบันนี้ ถ้าใครอยากจะเจริญอสุภะ ท่านอาจจะใช้วิธี ไปหาภาพซากศพในลักษณะต่างๆ มาพิจารณาก็ได้ เมื่อได้ภาพมาแล้ว ก็ให้เอามาเพ่งดู แล้วจำภาพนั้นให้ได้ พร้อมกับให้น้อมพิจารณา เข้ามาหาตัวเอง ว่าอีกไม่นาน ถ้าเราตาย เราก็จะมีสภาพที่ไม่น่าดู ไม่น่าชม อย่างนี้เหมือนกัน อย่าว่าแต่รูปจะไม่น่าดูเลย แม้แต่กลิ่น ก็ไม่น่าพิศมัยเช่นกัน ใครว่ากลิ่นหมาเน่า มีกลิ่นเหม็นที่รุนแรง แต่กลิ่นศพ ของคนที่ตายแล้ว ก็รุนแรงไม่แพ้กัน ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะช่วยลดละความติดใจ ในเรื่องของกามารมณ์ ไปได้มากทีเดียว และนี่ก็คือกรรมฐานหมวดแรก ที่เหมาะกับคน ที่เกิดวันศุกร์ อุเบกขาพรหมวิหาร ทีนี้ มาถึงนิสัยอย่างที่ 2 ของคนที่เกิดวันศุกร์ ก็คือนิสัยที่ชอบเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนคนอื่นอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆที่บางที เรื่องนั้น มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย แต่เราก็อดที่จะออกรับแทนเขาเสียมิได้ นิสัยอย่างนี้ กรรมฐาน ที่จะช่วยแก้ ได้ดีที่สุด คงไม่มีอะไรเกิน อุเบกขา ในพรหมวิหาร ความจริง พรหมวิหาร มี 4 ข้อ แต่สำหรับในกรณีนี้ ให้เน้นที่อุเบกขาพรหมวิหารอย่างเดียว อุเบกขา ที่ว่านี้ ก็คือ การรู้จักทำใจวางเฉย เพราะมานึกถึง เรื่องกฎแห่งกรรม ว่าแต่ละคน ต่างมีกรรมเป็นของตัว ใครทำกรรมอะไรไว้ คนนั้นก็จะต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่มีใคร ช่วยใครได้ บางครั้งเราไปวิตกกับเรื่องของคนอื่นจนเกินไป โดยลืมคิดไปว่า เขาเหล่านั้น ก็ต่างมีกรรมเป็นของๆตัว และแต่ละคน ก็ต่างทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ผลที่ได้รับ จะให้เป็นไปอย่างใจเราทุกอย่าง คงไม่ได้ เมื่อเรามานึก ถึงเรื่องกรรม ได้อย่างนี้ จะทำให้เรา วางใจเป็นกลาง ได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น ใครที่รู้ตัวว่า เป็นคนที่ชอบ เป็นทุกข์เป็นร้อน กับเรื่องของคนอื่น จึงควรมาเจริญอุเบกขาพรหมวิหาร โดยการนึกถึงเรื่องกรรม ของแต่ละคน ให้มากๆ มันจะช่วยคลายเรื่องนี้ ไปได้เยอะทีเดียว สติปัฏฐาน ทีนี้ มานิสัยอย่างสุดท้าย คือนิสัย ที่พูดอะไร พลั้งๆ พลาดๆ อยู่เรื่อย บางทีคิดอย่าง แต่กลับพูดไปอีกอย่าง อย่างนี้ มีวิธีแก้ได้อย่างเดียว คือต้องเจริญสติให้มาก แบบฝึกหัดในการเจริญสติ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน มีการฝึก ตั้งแต่หยาบที่สุด ไปจนกระทั่ง ละเอียดที่สุด แต่ที่อยากจะแนะนำในเบื้องต้นนี้ ให้ฝึกแบบหยาบๆไปก่อน เพราะฝึกง่าย ใครๆก็ฝึกได้ เพราะร่างกายมีอยู่ ทุกผู้ทุกคน นิสัยที่ชอบพูดพลั้ง พูดพลาด ของคนที่เกิดวันศุกร์นั้น มีวิธีแก้อยู่อย่างเดียว คือต้องเจริญสติให้มาก และแบบฝึกหัดในการเจริญสติ ที่ดีที่สุด คงไม่มีอะไรดีเท่ากับ การเจริญสติ ตามแบบของสติปัฏฐาน ซึ่งมีแบบฝึกหัด การเจริญสติ ตั้งแต่หยาบที่สุด ไปจนกระทั่ง ละเอียดที่สุด การเจริญสติ ตามหลักสติปัฏฐาน แบบฝึกหัดการเจริญสติ ตามนัยแห่งสติปัฏฐาน จริงๆแล้ว มีอยู่มากมาย ที่จะใช้เป็นแบบฝึก แต่คงไม่มีความจำเป็นอันใด ที่จะต้องนำมาใช้ทั้งหมด เอาเฉพาะที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็แล้วกัน จึงใคร่ขอแนะนำ 2 วิธี ให้ท่านได้ลองฝึกกันดู วิธีแรก ให้ใช้ฝึก ในตอนที่ ร่างกายอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหว ในช่วงที่ร่างกายอยู่นิ่งๆนั้น ให้ท่านเอาสติ เข้าไประลึกรู้ อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยให้ตามรู้ ตามดูลม ไปเรื่อย หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ( วิธีนี้ ท่านเรียกว่า อานาปานปัพพะ ) เวลาหายใจเข้า เข้าไปถึงไหน ก็ให้ตามรู้ อย่าให้พลั้ง อย่าให้พลาดได้ เวลาหายใจออกก็เหมือนกัน หายใจออกไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องตามรู้ ไปทุกระยะ แม้แต่ความสั้น-ยาว หยาบ-ละเอียด ของลมหายใจ ก็ต้องมีสติ รู้ตามให้ทัน ว่าอาการของลมหายใจ เป็นอย่างไร เรียกว่า ต้องมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ไปทุกอาการ ว่าอย่างนั้นเถอะ นี่คือ การฝึกเจริญสติ วิธีแรก ซึ่งให้ใช้ฝึก เวลาที่ร่างกายอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหว แต่ธรรมชาติของร่างกาย จะให้มันนิ่งอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป โดยไม่ให้เคลื่อนไหว ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะธรรมชาติของร่างกาย ย่อมมีเคลื่อนไหวบ้าง อยู่นิ่งบ้าง แล้วถ้าเวลาร่างกายเคลื่อนไหวล่ะ เราจะเจริญสติ ด้วยวิธีใด ? ก็ให้ฝึกเจริญสติ ด้วยวิธีที่ 2 ซีครับ วิธีเจริญสติ แบบที่ 2 ก็คือ สัมปชัญญะปัพพะ คือให้มีสติ รู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าร่างกาย จะคู้เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา หรือแม้แต่จะกิน ดื่ม พูด ก็ให้ทำไปด้วยความรู้ตัว อย่าปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหว โดยไร้สติ หมายความว่า ให้มีสติ คอยกำกับการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ นี่เป็นวิธีการฝึก ในขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว การฝึกเจริญสติทั้ง 2 แบบนี้ เราสามารถฝึกได้ตลอดเวลา โดยให้ฝึกสลับกัน เพราะตามปกติแล้ว ร่างกายของคนเรา ก็ต้องมีการเคลื่อนไหวบ้าง เมื่อเคลื่อนไหวมากๆ มันเกิดเมื่อย ก็ต้องพัก โดยการให้ร่างกายอยู่นิ่งๆ ในเมื่อร่างกาย มันนิ่งบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง อย่างนี้ การที่เราฝึกเจริญสติ โดยใช้อานาปานปัพพะ ( การมีสติ ตามรู้ตามดูลมหายใจ ) กับ สัมปชัญญะปัพพะ ( การรู้อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ) สลับกันไป จึงเป็นวิธีที่เหมาะสม สำหรับคนทุกคน วิธีนี้ สามารถฝึกได้ ตั้งแต่ตื่นนอน ไปจนกระทั่งหลับทีเดียว ใครที่ไม่เคยฝึก อยากจะให้ลองฝึกดู ถ้าใครสามารถเจริญสติได้อย่างนี้ ตลอดทั้งวัน ท่านจะมีความรู้สึกว่า ชีวิตของท่าน มีความสุขมากกว่าแต่ก่อน มีสมาธิ ( ความสงบ ) มากกว่าแต่ก่อน อย่างเห็นได้ชัด และสำหรับคนที่มักจะทำอะไร หรือพูดอะไร ผิดพลาด พลั้งเผลออยู่เรื่อยๆ ถ้าท่านฝึกเจริญสติโดยวิธีนี้ ไปสักระยะ ท่านจะรู้สึกว่า ความพลั้งเผลอจะน้อยลง และถึงแม้จะมีเผลอบ้าง แต่ก็จะรู้ตัวได้เร็ว ฉะนั้น การฝึกเจริญสติ จึงมีอานิสงส์ใหญ่อย่างนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว การฝึกเจริญสติ ตามแนวของสติปัฏฐานนั้น ไม่จำเพาะว่า คนวันศุกร์ ควรจะฝึกเท่านั้น แม้แต่คนที่เกิดวันอื่นๆ ก็ควรฝึกเช่นกัน เพราะ สติ ( ความระลึกได้ ) และสัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ) เป็นธรรมะ ที่มีอุปการะมาก และเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ทั้งในระดับต้น จนระดับสูง การที่ใครก็ตาม รักษาสติอยู่ได้ตลอดเวลา ผู้นั้นได้ชื่อว่า ตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท และความไม่ประมาทนี่แหละ พระพุทธเจ้าเปรียบว่า เหมือนกับรอยเท้าช้าง ทำไม ท่านจึงเปรียบความไม่ประมาท เหมือนกับรอยเท้าช้าง ? ก็เพราะว่า รอยเท้าช้าง เป็นรอยเท้าที่ใหญ่ สามารถเป็นที่รองรับรอยเท้าของสัตว์อื่นๆ ได้ทั้งสิ้น อัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท ( การมีสติรักษาใจอยู่ตลอดเวลา ) ก็ย่อมเป็นที่รองรับคุณธรรมอื่นๆอีกมากมาย สุดที่จะคณานับเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การเจริญสติ จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในพระพุทธ-ศาสนา ซึ่งเราไม่ควรจะละเลย ไม่ว่าจะเกิดวันไหนๆ ก็ควรจะได้ฝึกเจริญสติทั้งนั้น ฝึกเจริญแล้ว ประโยชน์ ก็เกิดแก่ผู้ปฏิบัติเองนั่นแหละ หาได้เกิดกับใครไม่
30 พฤศจิกายน 2550 19:46 น. - comment id 98489
........... กรรมฐานของคนที่เกิดวันเสาร์ นิสัยของคนที่เกิดวันเสาร์ ลักษณะเด่นๆของคนที่เกิดวันเสาร์ ก็คือ มักจะคนหงุดหงิดง่าย และใจร้อน และบางคนก็จะมีลักษณะชอบเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ใครก็ตาม ที่มีลักษณะชอบเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ พวกนี้ มักจะเป็นคนที่คิดมาก ฉะนั้น ท่านผู้รู้ ท่านจึงได้แต่งเป็นบทร้อยกรองสอนใจ เอาไว้ว่า อยู่คนเดียว ให้ระวัง ยั้งความคิด อยู่ร่วมมิตร ให้ระวัง ยั้งคำขาน อยู่ร่วมราษฎร์ เคารพตั้ง ระวังการ อยู่ร่วมพาล ต้องระวัง ทุกอย่างไป ถ้าอยู่คนเดียว ก็มักจะอดคิดมากไม่ได้ คิดไปได้สารพัดเรื่องนั่นแหละ เดี๋ยวเรื่องโน้น เดี๋ยวเรื่องนี้ และเพราะความเป็นคนชอบคิดนี่เอง จึงทำให้เป็นคนที่ค่อนข้างเครียดง่าย และช่างจดช่างจำ เจ้าคิด เจ้าแค้น ใครทำให้เจ็บล่ะก้อ จำจนวันตาย นี่แหละ คือลักษณะนิสัย ของคนที่เกิดวันเสาร์ กรรมฐานสำหรับคนที่เกิดในวันเสาร์ ลักษณะนิสัย ของคนที่เกิดวันเสาร์ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ท่านก็คงพอจะเดาออก ว่ากรรมฐานที่จะใช้แก้ไขนิสัย ของคนที่เกิดวันเสาร์นั้น คงจะไม่มีอะไรดี เท่ากับกรรมฐาน 2 ข้อ ดังต่อไปนี้ คือ 1. พรหมวิหาร 4…. กรรมฐานหมวดนี้ จะช่วยแก้นิสัยใจร้อน ทำให้ใจเย็นลง และจากที่เคยหงุดหงิดง่าย ก็จะหงุดหงิดได้ยากขึ้น 2. อานาปานสติ…. กรรมฐานข้อนี้ จะช่วยแก้นิสัย ความเป็นคนชอบคิดมาก เพราะกรรมฐานข้อนี้ เป็นกรรมฐาน ที่จะช่วยตัดกระแสวิตก ได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อรู้แล้วว่า คนที่เกิดวันเสาร์ ควรจะเจริญกรรมฐาน ทั้ง 2 ประเภทนี้ ทีนี้ เราก็จะมาศึกษา ในรายละเอียดกันล่ะว่า กรรมฐานแต่ละประเภท ที่กล่าวมานั้น มีวิธีปฏิบัติกันอย่างไร ? พรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร ถ้าจะแปล ก็ต้องแปลว่า คุณธรรม เป็นเครื่องอยู่ ของพระพรหม พูดง่ายๆก็คือ พระพรหม จะต้องมีคุณธรรม 4 ข้อนี้ จึงจะเป็นพระพรหมได้ ที่เขาสร้างรูปพระพรหม ให้มี 4 หน้า ก็เป็นการจำลองคุณธรรมทั้ง 4 ด้าน ของพระพรหมนั่นเอง และเนื่องจาก คุณธรรมทั้ง 4 ข้อ ของพระพรหมนั้น ไปตรงกับคุณธรรม ของพ่อ ของแม่ พระพุทธเจ้า จึงได้ทรงยกย่อง พ่อแม่ ว่าอยู่ในฐานะ พรหมของลูก ทีนี้ คุณธรรม ทั้ง 4 ข้อนั้น มีอะไรบ้างล่ะ ? ก็มี ดังต่อไปนี้ คือ 1. เมตตา ได้แก่ความรัก ความเอ็นดู ความปรารถนาดี อยากให้ทุกๆชีวิต มีแต่ความสุขความเจริญ 2. กรุณา ได้แก่ความสงสาร เวลาเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็อดที่จะสงสาร อดที่จะช่วยเหลือไม่ได้ 3. มุทิตา ได้แก่ ความพลอยยินดี เมื่อคนเห็นอื่น เขาได้ดีมีสุข 4. อุเบกขา ได้แก่ การรู้จักวางเฉย ไม่ซ้ำเติม เมื่อเห็นคนอื่นพลาดพลั้ง เพราะการกระทำ ของเขาเอง คุณธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ เมื่อเราเจริญ ให้เกิด ให้มี ขึ้นในใจแล้ว มันจะช่วยขจัดอารมณ์เศร้าหมอง อันเปรียบเสมือนสนิมในใจออกไป ได้หลายอย่างทีเดียว ขณะนี้ กำลังพูดถึงกรรมฐาน ซึ่งเหมาะ สำหรับคนที่เกิดวันเสาร์ โดยเมื่อตอนที่แล้ว ได้พูดถึงกรรมฐาน หมวดพรหมวิหาร ซึ่งจะช่วยทำให้ใจ ที่เคยร้อนเย็นลงกว่าเดิม และความหมาย ของพรหมวิหาร แต่ละข้อ ก็ได้อธิบายให้ฟัง อย่างคร่าวๆมาแล้ว ในตอนที่ผ่านมา ยังคงค้างอยู่ ก็เฉพาะในประเด็นที่ว่า พรหมวิหาร แต่ละข้อนั้น ช่วยขจัดอารมณ์เศร้าหมองภายในใจ ข้อใดได้บ้าง… เรามาพบคำเฉลย ในตอนนี้ กันได้เลยครับ พรหมวิหาร ข้อแรก คือ เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้ทุกๆชีวิต มีแต่ความสุข ถ้าใครก็ตาม ที่เจริญพรหมวิหารข้อนี้ ให้เกิด ให้มี ในใจได้ ก็จะทำให้ใจของผู้นั้น ละคลายจากความโกรธเกลียด ซึ่งเป็นอารมณ์เศร้าหมอง ภายในใจได้ ถ้าเจริญ ให้เต็มที่ ถึงที่สุด เราก็จะได้เห็น ความเปลี่ยนแปลง ทางด้านจิตใจ ได้อย่างชัดเจน คือเราสามารถ ที่จะให้อภัยได้ แม้กระทั่ง ผู้ที่เป็นศัตรู อย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา และมีเมตตา เต็มเปี่ยมอยู่ในพระทัย ครั้งหนึ่ง พระอานนท์ได้เคยทูลถามถึงความรู้สึก ว่าพระองค์รู้สึกอย่างไร กับพระเทวทัต ซึ่งตามจ้องล้างจองผลาญพระองค์มาโดยตลอดพระพุทธองค์ ทรงตอบว่ายังไง ท่านทราบไหมครับ ? พระองค์ตรัสตอบว่า "เรารักราหุล พุทธชิโนรส ของเราอย่างไร เราก็รัก และมีจิตเมตตา ในพระเทวทัต ผู้มีจิตคิดประทุษร้ายต่อเรา ฉันนั้น" นี่แหละ คือยอดของความเมตตาจริงๆ คือรัก และให้อภัยได้ แม้กระทั่งศัตรู ถ้าเราเจริญเมตตาให้มากๆ จิตใจเรา ก็จะเป็นอย่างนี้ คือจะไม่มีความเคียดแค้น ไม่พยาบาทใคร และพร้อมที่จะให้อภัย กับคนทุกคน จิตแบบนี้ เป็นจิตที่เยือกเย็น และละเอียดอ่อน ท่านยังบอกอีกว่า ใครก็ตาม ที่เจริญเมตตา อยู่เป็นประจำ ผู้นั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ ถึง 11 ประการด้วยกัน อาทิเช่น หลับก็เป็นสุข, ตื่นก็เป็นสุข, มีสีหน้าที่แจ่มใส, ไปไหนมาไหน มีเทวดาคอยตามอภิบารักษา , ไฟ ศัสตรา ยาพิษ ทำอันตรายไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น ตรงอานิสงส์ที่ว่า ไฟ ศัสตรา ยาพิษ ทำอันตรายไม่ได้ บางท่านอาจจะไม่เชื่อ ว่าจะเป็นไปได้ ก็ใคร่ขอยกตัวอย่างเรื่องจริง ของพระผู้ปฏิบัติดีรูปหนึ่ง คือ หลวงปู่พุทธบาทตากผ้า วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หลวงปู่พุทธบาทตากผ้านั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก ไม่เคย แม้แต่จะดุใคร มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านออกธุดงค์ มีคนมาลองดีท่าน โดยแอบเอายาสั่งใส่น้ำ ถวายให้ท่านดื่ม ด้วยอยากจะลอง ว่าท่านเก่ง จริงหรือไม่ ขณะที่หลวงปู่ กำลังจะยกแก้วขึ้นดื่มนั้น ก็ปรากฎว่า แก้วได้แตกดัง เพล้ง ! โดยไม่มีสาเหตุ เล่นเอาคนที่แอบเอายาสั่งไปถวายท่าน ต้องก้มลงกราบ และขอขมาต่อท่านกันยกใหญ่ ที่เป็นดังนี้ ก็คงเป็นด้วยอานิสงส์แห่งเมตตาที่ว่า ไฟ ศัสตรา ยาพิษ ทำอันตรายไม่ได้ หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดขึ้น จากอำนาจของเทวดา ที่คอยตามอภิบาลรักษาท่าน เพราะความที่ท่านมีจิตเมตตาสูงนั่นเอง ผู้ที่มีจิตเมตตาสูงนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์จะให้ความเคารพบูชาเลย ขนาดเทวดา หรือสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า ก็ยังให้ความเคารพ และคอยคุ้มครอง ให้ปราศจากภยันตราย และนี่ก็คือประจักษ์พยาน ที่แสดงให้เห็นว่า อานุภาพแห่งเมตตานั้น มีอยู่จริง ทีนี้มาถึงพรหมวิหารข้อที่ 2 คือ กรุณา ได้แก่ ความสงสาร ความสงสาร หรือกรุณานี้ ถ้าจะถามว่า ช่วยขจัดอารมณ์เศร้าหมองข้อใด ? ก็ต้องตอบว่า ขจัดความเศร้าหมอง ข้อ วิหิงสา คือการชอบเบียดเบียน รังแกคนอื่น สัตว์อื่น ใครก็ตาม ที่ไม่มีความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ หรือต่อสัตว์อื่น ผู้นั้นก็พร้อมที่จะเบียดเบียนคนอื่นได้ตลอดเวลา ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะขาดความสงสารตัวเดียว ถ้ามีความสงสาร อยู่ในใจแล้ว เราจะเบียดเบียนใครไม่ลง อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงบอกว่า กรุณา ความสงสาร นี่แหละ คือตัวที่จะสังหาร วิหิงสา คือการเบียดเบียน ซึ่งถือว่า เป็นเครื่องเศร้าหมองทางใจอย่างหนึ่ง ทีนี้ พรหมวิหาร ข้อที่ 3 คือ มุทิตา มุทิตา ได้แก่ ความพลอยยินดี เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี พอพูดแค่นี้ หลายท่าน ก็คงจะพอเดาออกว่า มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อเกิดขึ้นในใจใคร ความริษยา ก็ย่อมจะหมดไป จากใจของผู้นั้น มุทิตา ความพลอยยินดี กับความริษยา มันมีลักษณะ ที่ตรงกันข้าม เหมือนน้ำ กับไฟ ยามใด ที่มีมุทิตา ยามนั้น ริษยา ต้องไม่มีอยู่ในใจ แต่ถ้ายามใด ใจเต็มไปด้วยความริษยา เมื่อนั้น มุทิตา ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน อุเบกขา คือการวางเฉย การที่เราจะวางเฉยได้ นั่นก็เพราะ ได้มานึกถึงเรื่องกรรม ของแต่ละบุคคล ทางพระ ท่านก็บอกไว้แล้วว่า กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม คือใครทำกรรมอย่างใดไว้ ผู้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้รับผล แห่งกรรมนั้น ใครก็ตามที่นึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรมของแต่ละบุคคลบ่อยๆ คนประเภทนั้นจะเจริญอุเบกขา คือความวางเฉยได้ง่าย แต่สำหรับใครก็ตาม ที่ไม่นึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรมเลย คนประเภทนั้น เวลามีเหตุการณ์อะไร เกิดขึ้น กับคนรอบข้าง ก็มักจะเป็นทุกข์ เป็นร้อน ทำใจไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ลูกหลานของเรา ถูกจับ ในคดียาเสพติด ถ้าเราเป็นผู้เจริญพรหมวิหารข้อนี้ คืออุเบกขาพรหมวิหาร เมื่อมาระลึกได้ว่า เราได้เคยห้ามปรามเขาแล้ว แต่เขาไม่เชื่อ กลับไปพัวพัน เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด จนกระทั่งถูกจับ ก็ต้องวางเฉยให้เป็น นั่นถือว่า เขาสร้างกรรม ที่จะทำให้ถูกจับ ด้วยตนเอง ไม่มีใคร ไปทำเขา ใจเราก็จะเป็นปกติได้ แต่ถ้าเรา ไม่นึกถึงเรื่อง กรรมใคร กรรมมัน มีแต่คิดว่า ลูกหลานของฉัน จะผิดไม่ได้ จะถูกจับไม่ได้ แล้วก็หาทางวิ่งเต้น เพื่อให้ลูกหลานของตน หลุดพ้นจากคดี อย่างนี้ซีครับ เป็นตัวอันตรายมาก สังคมทุกวันนี้ ที่มันวุ่นวาย เดือดร้อน กันไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักหย่อน ก็เพราะผู้ใหญ่ประเภทที่วางอุเบกขาไม่เป็นนี่เอง ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ( ป.อ.ปยุตโต ) ท่านเคยปรารภไว้ว่า คุณธรรม ในหมวดพรหมวิหารนั้น ที่ท่านต้องวางอุเบกขา ( ความวางเฉย ) ไว้กำกับ เป็นข้อสุดท้าย ก็เพื่อรักษาสภาพใจของผู้เจริญ ไม่ให้เป็นทุกข์ กับผลกรรม ที่คนรอบข้าง จะต้องได้รับ นั่นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็คือ เพื่อรักษาความยุติธรรม ของสังคมเอาไว้ อีกทางหนึ่งด้วย บางท่านอาจจะสงสัย ว่าอุเบกขาพรหมวิหาร ช่วยรักษาความยุติธรรม ให้สังคม ได้อย่างไร ข้อนี้เห็นได้ไม่ยากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้เราไปดูกระบวนการยุติธรรม ของบ้านเมือง คนที่ทำผิดกฎหมาย คนนั้นก็ต้องได้รับโทษ ตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีการยกเว้น ไม่ว่าผู้ทำผิด จะเป็นใครก็ตาม แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ก็ยังมีบุคคลจำนวนไม่ใช่น้อย ที่พยายามหาทางหลบหลีก เพื่อให้พวกพ้องของตนเอง หลุดรอด จากการเอาผิดทางกฎหมาย เช่น พยายามหาทางวิ่งเต้น ติดสินบนเจ้าพนักงาน เพื่อให้พวกพ้องของตนเอง พ้นจากความผิด เป็นต้น โดยไม่สนใจว่า สิ่งที่ตนทำนั้น จะถูกต้องหรือไม่ ถ้าบ้านเมืองเรา เป็นเสียอย่างนี้ ความยุติธรรม คงหาไม่ได้ในสังคม คนทำผิด ถ้ามีเงิน มีอำนาจ ก็พร้อมที่จะพลุดรอด จากการเอาผิดของกฎหมายได้ อย่างนี้ มันก็คงไม่ยุติธรรม สภาพของสังคม มันคงเป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าคนในสังคม ยังวางเฉยไม่เป็น เพราะไม่เคยนึกถึงเรื่อง กรรมใคร กรรรมมัน ท่องอยู่ได้แต่เพียงว่า ลูกฉัน หลานฉัน พรรคพวกฉัน จะผิดไม่ได้ จะถูกจับไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว สภาพสังคมในปัจจุบันนี้ กำลังต้องการผู้ใหญ่ ที่มีใจเป็นอุเบกขา คือพร้อมที่จะวางเฉยได้ทันที ถ้าพบว่า ลูกตัว หลานตัว และพรรคพวกของตัว ทำผิดจริง จะไม่ปกป้องเอาไว้ ให้เสียความยุติธรรมของบ้านเมือง ท่านเห็นหรือยังล่ะครับ ว่า อุเบกขาพรหมวิหารนั้น ช่วยรักษาความยุติธรรมให้บ้านเมืองได้อย่างไร ทีนี้ มาพูดในแง่ ของการรักษาจิตใจ ของผู้เจริญอุเบกขาบ้าง ผู้ที่เจริญอุเบกขานั้น จะทำให้ มีความสุขใจ และมีความสบายใจ มากขึ้นกว่าเดิม แต่เดิม อาจจะเคยเป็นทุกข์เป็นร้อน กับเรื่องราวของบุคคลรอบตัว เช่นลูกบ้าง หลานบ้าง พรรคพวกบ้าง ที่ไปเที่ยวก่อกรรม ทำความผิดเอาไว้ อาศัยที่เรามีเมตตา คือรักเขามาก ก็เลยต้องทำ ทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องเขา ให้พ้นผิด ในกรณีเช่นนี้ ท่านถือว่า ใช้เมตตา ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง คือ ถ้าเขาทำถูก เราใช้เมตตาได้….. แต่ถ้าเขาทำผิด เราต้องวางอุเบกขาเป็น อย่างนี้ต่างหาก จึงจะเป็นการสมควร และถูกต้องตามพุทธประสงค์ การที่เราจะวางอุเบกขาได้ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องระลึก และยอมรับ ในเรื่องของกฎแห่งกรรมให้มากๆ ว่ากรรมใดก็ตาม ที่เรา หรือคนรอบตัวเรา ได้ทำไว้ ผู้ทำจะต้องเป็นผู้ได้รับผลทั้งสิ้น ในเมื่อกล้าทำ ก็ต้องกล้ารับ จะปัดความผิด ไปให้คนอื่นรับแทน หาได้ไม่….ต้องทำใจให้ได้อย่างนี้ แล้วท่าน ก็จะวางเฉยได้ และใจท่าน ก็จะเป็นสุข ไม่ต้องทุกข์ เหมือนแต่ก่อน
1 ธันวาคม 2550 10:06 น. - comment id 98497
ลุงแทน ..... ดีจังเลย ได้ความรู้และประโยชน์ดีมาก แต่ว่า.เราเกิดวันพฤหัส เราไม่ตระหนี่เลยมีแต่หนี้ทำไงดีล่ะ