พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรือ อาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวนั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่า ใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น" โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลอให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง พุทธศาสนาไม่ประสงค์คาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นๆ แม้จะมีคนอื่นๆมาบอกให้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหมือนหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้ คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริง หรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจ และมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน และด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย ความจริงของคนหนึ่งๆนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆกัน ฉะนั้น ถ้าจะ เอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนา ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆครบทุกอย่างที่จะให้คนดู ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาศที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฏกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆเพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่ เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆมา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้ เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆอย่างมากมาย (พุทธศาสนาเนื้องอก เช่นพิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกียวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกัน อย่างเคร่งครัด การบวชนาคก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช้พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนาก็ได้ ถ้ามองด้วนสายตานักศิลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศิลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญุกตเวที ความสามัคคี ความเป็นเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มากหรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่ใช้ตัวตน (อนัตตา) หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจธรรม พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฎิบัติ ซึ่งได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฎิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้จริง นี้เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคาย หรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นได้ประจักษ์ แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ (Science) โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษา ค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง "ถ้าหากว่าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิด หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (The Modern Scientific mind) แล้วศาสนานั้นก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง" "ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาแห่งสากล ซึ่งล่วงพ้นจากความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย โดยมีหลักการที่จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธาที่เกิดจากความสะสมประสบการร์ในทุกๆด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติ และด้านจิตวิญญาณอย่างมีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นคำตอบสำหรับหลักการนี้" อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20) (ค.ศ. 1879-1955) "ผมตกตะลึง และรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พบว่า งานวิจัยของผมกลับกลายมาวางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่ดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย เมื่อมันถูกนำไปเชื่อมสัมพันธ์กับพุทธรรรมคำสอนในศาสนาพุทธ" จอฟฟรีย์ ชิว (Geoffrey Chew) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21) "มนุษย์ได้ฝึกฝนความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของตนเพื่อเอาชนะธรรมชาติภายนอกด้วยวิทยาศาสตร์ และประยุกต์วิทยา (Science and Technology) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรแสวงหาแสงสว่าง หรือสติปัญญาที่สูงลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้ ฟรานซิส สตอรี่ (Francis Story) (นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ) สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมากที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยฌฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้นฯ แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่างๆออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา มีผลดียิ่งกว่าไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศิลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติอะไร และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูชมน่าเลื่อมใส น่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศิลบริสุทธิ์ มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตนั้น มันทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่น่าเบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิงแล้วคนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้จริงแล้ว ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บุคคลสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้ อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถูชนนั้นก็ถูกแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความสงบระงับในใจชนิดดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั่งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งงไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" "กลางคืนอัดควัน" นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายมือก่ายหน้าผาก คิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆที่ตนปราถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมือค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนอดนอนอัดควันอยู่ ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งไปตามความต้องการของ "ควัน" ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า "กลางวันเป็นไฟ" เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลส และตัณหา "กลางคืนอัดควัน" ร้อนรุ่มอยู่แล้วตลอดคืน "กลางวันยังเป็นไฟ" คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้ ถ้าคนเราต้อง "กลางวันอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลกไปทีเดียว โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างๆกัน ก็เห็นรูปต่างๆกัน ได้ประโยขน์ต่างๆกัน แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช้ความกลัวที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏแปลกๆ แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็นๆ กันอยู่ พุทธศาสนาตัวแท้ ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอก เล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งไม่ใช้ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฎิบัติด้วยกายวาจาใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตอง หรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ โดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่แหละคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย พุทธศาสนิก แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ ที่ว่ารู้นั้น หมายถึงรู้อะไร? ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงที่เป็นจริงนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง เราจึงต้องปฏิบัติจรเรารู้ได้เอง เมื่อรู้ถึงที่สุด แล้วไม่ต้องกลัว กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายให้สิ้นไป ความไม่รู้ (อวิชชา) ก็จะดับไปทันที ในเมื่อความรู้ได้เกิดขึ้นมาก ฉะนั้นข้อปฏิบัติต่างๆจึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิด สรุปความว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็นอะไรถูกต้องจริงๆแล้วไม่ต้องมีใครมาสอนเรา หรือมาแนะนำเรา เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆถูกต้องได้ด้วยตนเอง แล้วกิเลสก็จะหมดไปเอก เราเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งขึ้นมาทันที หรือที่ชอบเรียกกันว่า มรรคผลนิพพาน นี้ได้ด้วยตนเอง เพระาการที่เรามีความรู้อะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดอย่างแท้จริงเท่านั้น รัตนตรัย หมายถึง สิ่งลำค่า 3 ประการ หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศานิกชน 3 อย่าง พระพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความประพฤติ พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
26 พฤศจิกายน 2550 21:44 น. - comment id 98382
ถาม: ......................................... ตอบ : อุเบกขาในการงานก็เหมือนกัน จบลงแล้วตรงที่ตรงนั้นก็ให้มันจบลง หมายความว่าหมดวันปุ๊บกองงานเอาไว้ที่ทำงาน ตัวเราก็กลับเป็นของเรา อีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่พ้นจากที่ทำงานกลับคืนบ้าน ก็เป็นเวลาที่เราจะกอบโกยผลบุญของทาน ศีล ภาวนา ของเราให้มันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าบางคนต้องใช้คำว่าความจำเป็นในหน้าที่การงาน ทำให้รักษาศีลได้ไม่ครบข้อ อาจจะต้องพูดในลักษณะโกหกเขาบ้าง อาจจะต้องมีการสังคมเอนเตอร์เทนกับลูกค้าบ้างอะไรบ้าง ก็เผลอไปกรึ๊บไวน์เข้าไปบ้าง เบียร์บ้าง สุราบ้าง ช่วงนั้นถ้ามันขาดให้มันขาดไป ถือว่าเราไม่ยอมขาดทุนตลอด ๒๔ ชั่วโมง อย่างน้อย ๆ ๒๔ ชั่วโมงให้มีวาระมีเวลาที่เรียกว่าให้เราได้ทำความดีบ้าง ถึงเวลาเราก็รักษาให้แน่นแฟ้นไป ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงที่ทำงานระยะเวลาอาจจะ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ให้เราอยู่กับศีลอยู่กับทานของเราอยู่กับธรรมะของเรา พอถึงเวลาเริ่มต้นการงานปุ๊บรักษาเท่าที่รักษาได้ ถ้าสามารถประคับประคองได้ตลอดก็ดี แต่ถ้าไม่สามารถประคับประคองได้ก็ตั้งใจไว้เลยว่าผลบุญตั้งแต่เช้าขึ้นมาจนถึงที่ทำงานที่เรารักษามา ก็ขอให้มันส่งผลให้เรามีความคล่องตัวใหน้าที่การงาน ท้ายสุดขอให้เข้าพระนิพพานได้ พอถึงเวลาเลิกจากงานไปตอนนี้ปล่อยวางทุกอย่างแล้ว ปล่อยวางอารมณ์ให้เป็นอุเบกขา งานทั้งหมดกองอยู่ตรงนั้นแหละไม่ต้องเอาตามเรากลับบ้านมา ถึงเวลาเดินทางกลับบ้านจนกระทั่งถึงบ้าน จนกระทั่งก่อนจะนอน ตลอดระยะเวลานั้นให้ใจของเราอยู่กับศีลธรรมก็ให้มันมีระยะเวลาที่ทำของมันอย่างจริง ๆ จังบ้าง กำลังใจก็จะทรงตัวได้ง่าย ทรงตัวได้เร็ว ก้าวไปข้างหน้าแล้วต้องไม่ลืมที่หลวงพ่อสอน ท่านบอกว่าถ้าได้กรรมฐานกองหนึ่งแล้ว ก่อนจะทำกรรมฐานกองอื่น ให้ทวนกองเก่าให้มีความคล่องตัวชำนาญ อารมณ์ได้เต็มที่ของมันก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนกองใหม่ ถ้าหากว่าได้ ๒ แล้วจะทำกองที่ ๓ ก็ทวน ๑,๒ ให้มันขึ้นใจก่อนแล้วค่อยไป ๓ ต่อ วิมังสา การไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ถ้าเป็นเรื่องของหน้าที่การงานก็คือ ต้องสรุปและประเมินผล เมื่อวานนี้สอนพวกเขาให้หัดสรุปประเมินผล นอกจากสรุปประเมินผลแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ด้วยว่าสิ่งที่เราทำนั้น ตอนนี้เป็นที่พอใจไม่พอใจอย่างไร ตัวเราตอนนี้ยืนอยู่ตรงจุดไหน จุดหมายปลายทางที่เราตั้งใจไปอยู่ตรงจุดไหน เราจะได้รู้ว่าเราใกล้ไกลแค่ไหน ต้องขวนขวายเร่งรีบหรือว่าทำสบาย ๆ แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าหากว่าในเรื่องของทางพระ เขาไม่ให้ประมาท เพราะฉะนั้นทุกวันต้องเต็มที่ ในเมื่อทุกวันต้องเต็มที่ ทำเหมือนกับวันนี้เป็นวันสุดท้าย พ้นจากวันนี้ไม่มีอีกแล้วสำหรับเรา เราก็จะทำหน้าที่ประจำวันของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงดีได้ ถึงเวลาจะไปก็ไปอย่างสง่างามที่สุด เริดเชิดเป็นนางเอกไปเลย ไม่ต้องง้อใคร... ค่อย ๆ ไป ถอยอย่าให้คนรู้เขาเรียกว่า รุกอำพรางถอย ลักษณะเหมือนอย่างกับบุกไปข้างหน้าตลอดนั่นแหละ นั่นเป็นเพียงเปลือกที่ให้คนอื่นรู้ แต่ตัวเราเองค่อย ๆ ถอยมาตามจังหวะ ตามวาระของมัน ต้องเตรียมการยังไง ค่อยๆ ทำไปไม่ต้องไปกระโตกกระตากให้ใครรู้ อยู่ ๆ ก็เซอร์ไพรส์หายวับไปกับตา สมัยที่บวชก็ทำอย่างนี้แหละคนอื่นเขาก็ยังคิด ของเราเองไม่รอดแน่เลย ไหน ๆ ก็มีน้องมีนุ่งตามไปเป็นกระตั้ก ๘ คน ๑๐ คน อย่างนี้ จะบวชกันได้ยังไงแต่เราทำได้ ภาระทางโลกรังแต่จะดึงเราให้จมอยู่กับมัน ภาระทางใจมันก็เลยไม่รู้จักจบสิ้นสักที เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไปถึงจุด ๆ หนึ่ง รู้สึกว่าพอก็โอเคไปได้ละ ตอนช่วงที่อาตมาเป็นฆราวาสอยู่อาจจะเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ทำมันถือว่าประสบความสำเร็จ จังหวะทุกอย่างมันลงตัว มันให้พอดี พ่อก็ได้ดูแล แม่ก็ได้ดูแล น้องก็ได้ส่งให้เรียน หลานก็ได้ส่งให้เรียน หน้าที่การงานก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดแล้ว ขณะที่คนอื่นเขาตะเกียกตะกายแทบตาย เขายังทำตรงจุดนั้นไม่ได้ แต่เราได้มาแล้ว เอ้า พอ...เข้าวัดดีกว่า แต่คราวนี้ว่าถ้าหากอยู่ ๆ เลี้ยวเข้าไปเฉย ๆ มันก็อาจจะอยู่ลักษณะโลกช้ำธรรมเสีย ในเมื่ออยู่ลักษณะนั้นเราก็ต้องรอระยะ รอจังหวะเวลาเหมือนกัน จิตใจมุ่งมั่นต่อเป้าหมายอย่าพยายามเบี่ยงเบนไป อย่าให้มันเบี่ยงเบนไปโดยเราไม่รู้ตัว เพราะว่ากระแสโลกมันแรง บางทีมันก็ดึงเราอยู่ตรงเราอยู่ยังไม่พอ ยังดึงเราลอยตามมันไปอีก งั้นต้องหาจังหวะ หาเวลาที่ดีที่สุด ช่วงนั้นจังหวะและเวลาที่ดีที่สุดก็คือหลวงพ่อท่านถามว่าจะบวชให้ฉันได้ไหม ? ก็พอเหมาะพอดีโป๊ะเชะเลย ทีนี้อ้างกับเขาได้เต็มปากเต็มคำแล้วนี่ ไปดีกว่า ไหน ๆ หลวงพ่อก็ชวนแล้ว โอกาสอย่างนี้ทั้งชาติไม่รู้ว่าจะมีอีกรึเปล่า ? รอจังหวะ รอเวลา รอเหมือนอย่างกับนกที่รอจังหวะจะบินออกจากกรง เมื่อไหร่มันจะได้ช่องนะ ทนได้เมื่อไหร่ก็สบายเมื่อนั้น สงสารผู้ชรา เวทนาผู้อ่อนวัย ทำได้ไหมอย่างนี้ ? เขาเรียก อัปมัญญาพรหมวิหาร สงสารผู้ชรา สภาพร่างกายย่ำแย่ลงไปทุกวัน แต่ว่าความทุกข์ยังเหมือนเดิมก็เลยดูเหมือนทุกข์มากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าสงสาร เมื่อไหร่เขาจะพ้นทุกข์ได้ เวทนาผู้อ่อนวัย เกิดมาก็ทุกข์ยากลำบากจนขนาดนี้แล้ว มีอะไรที่เราพอจะแบ่งเบา พอจะช่วยเหลือเขาได้ก็ทำไปเถอะ นึกว่าเราได้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อไทย ไม่หมองหม่น ไม่น้อยใจโชคชะตากล้าผจญ แม้บางคนไม่เคยทุกข์ทุกยุคกาล เคยได้ยินรึเปล่า? ในหลวงพระราชนิพนธ์เพลงความฝันอันสูงสุดนะ ขอฝันใฝ่ ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่ไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโลมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส ถึงทุนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน ยังยืนหยุดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย สมเด็จพระเทพท่านขยายความ... ท่านขยายว่า “ฝันจะทำความดีนี้แสนยาก ต้องลำบากกว่าจะรุดถึงจุดหมาย ย่อมน่าขำสำหรับผู้อยู่สบาย มิเคยกรายใกล้ระกำน้ำตากระเด็น พบศึกหนักสักเท่าใดไม่หวาดหวั่น แต่สู้ใจตนนั้นแสนยากเข็ญ ถึงหนักหน่วงสู้แน่แม้ยากเย็น เลือดกระเซ็นก็เพราะห่วงหวงแผ่นดิน ถ้ายามมีทุกข์มาผจญจะทนสู้ ถึงมีผู้กล่าวหยามประณามสิ้น ถูกทอดทิ้งเดียวดายหมายชีวิน เจียนพังภินท์ยังสู้ผู้รุกราน แม้จะมีภยันตรายมากรายกล้ำ ศัตรูล้ำโหมหนักเข้าหักหาญ จะฝ่าฟันเสี่ยงชีวิตพิชิตพาล ให้ชาติผ่านผองทุกข์ยุคเข็ญคลาย เราเป็นเพียงปุถุชนธรรมดา ใช่เทวาเพราะร่างยังเสื่อมสลาย มีอารมณ์เปลี่ยนไปไม่เว้นวาย จะแน่แน่แก้ให้หายไม่ช้าพลัน แม้ชีวิตเป็นสิ่งยิ่งแหนหวง แต่ความรักใหญ่หลวงใช่ความฝัน รักผืนแผ่นดินแม่แน่นอนครัน ยอมสละแม้ชีวันไม่หวั่นภัย ยอมสูญเสียชีวารักษาสัตย์ รักษารัฐสีมาที่อาศัย ดีกว่าสูญธรณินทร์สิ้นชาติไทย สิ้นธงชัยจะชักสู่ทิฆัมพร แสนเห็นใจเพื่อนไทยที่หวาดหวั่น อาสาพลันทอดชีพสู่สมร บุกระเบิดฝ่ากระสุนในดงดอน เพื่อนิกรผาสุกทุกนาที ตั้งจิตมั่นในพระธรรมอันล้ำเลิศ ทำแต่สิ่งประเสริฐมิหน่ายหนี ไม่ท้อถอยมุ่งทำล้วนความดี ถ้าถึงที่ยอมสละละลมปราณ เราก็มีเลือดเนื้อที่ปวดเจ็บ แต่ต้องเก็บความรู้สึกอย่างอาจหาญ จะมุ่งมั่นฝ่าฟันทุกวันวาร เพราะยึดในอุดมการณ์ต้องอดทน คิดว่าได้เกิดมาทำหน้าที่ เพื่อศักดิ์ศรีเพื่อไทยไม่หมองหม่น ไม่น้อยใจโชคชะตากล้าผจญ แม้บางคนมิเคยทุกข์ทุกยุคกาล มอบเลือดเนื้อกายใจพลีให้ชาติ อย่างแกล้วกล้าสามารถองอาจหาญ ถึงสิ้นชีพไว้ลายว่าชายชาญ มอบวิญญาณเลือดเนื้อเพื่อบ้านเมือง ปณิธานเพื่อชาติศาสน์กษัตริย์ ร่วมขจัดเสี้ยนหนามเมื่อยามเฟื่อง สมานสามัคคีไทยให้รุ่งเรือง เกียรติกระเดื่องแดนดินทั่วถิ่นไกล คงไม่มีแต่เราเพียงเท่านั้น ที่ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายได้ ผู้อื่นอาจปราด เปรื่องเลื่องลือชัย หมายผดุงทุกสิ่งไว้ให้ยุติธรรม์ สักวันหนึ่งเขาคงเข้าใจว่า การมีชาติศาสนาทุกสิ่งสรรพ์ มีไตรรงค์ธงชัยพร้อมใจกัน นั่นคือสิ่งยึดมั่นที่ควรตรอง ขอเดชะบารมีที่ปกเกล้า บุรพกษัตริย์เจ้าไทยทั้งผอง บันดาลดลคนไทยให้ปรองดอง ไม่ผยองอิจฉาผลาญรุกรานกัน แล้ววันที่ปรารถนาคงมาถึง จะตราตรึงความดีที่บากบั่น โลกมนุษย์สุดสะอาดปราศทุกข์ทัณฑ์ เพราะเรานั้นเข้าใจกันได้ดี เขาจะรู้ว่าเหตุใดไม่ยอมแพ้ เพราะถึงแม้ถูกเหยียดถูกเสียดสี หาว่าอยากเด่นดังหวังชื่อดี อยากครอบครองปฐพีก้องกำจาย ไม่เคยคิดหวังเป็นวีรบุรุษ แต่ก็สุดจะเห็นชาติพินาศสลาย ด้วยเผ่าไทยมอบชีวีพลีใจกาย มามากมายเหลือที่จะลืมเลือน จะถมร่างกายนี้พลีชีวิต เพื่อพิชิตไพรีที่เชือดเฉือน เพื่อแผ่นดินของไทยไม่สะเทือน เพื่อให้เพื่อนผองไทยปลอดภัยเทอญ” ถาม : .......................................... ตอบ : ต้องใช้คำว่า กติกา อย่างหนี่งว่า ถ้าหากว่าต้องการหลุดพ้นจริง ๆ ก็ต้องเจอข้อทดสอบที่ค่อนข้างโหดร้ายกว่าในสายคนอื่นหน่อย แต่ว่าถ้ายิ่งทดสอบ ๆ ไปเหมือนกับเรายิ่งทำแล้วยิ่งโง่ เพราะมันจะเห็นความผิดพลาดบกพร่องในส่วนที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ ของตัวเราเอง ส่วนที่ละเอียดจริง ๆ ก็พอ ๆ กับส่วนที่หยาบนั่นแหละ สังเกตไหมว่าถ้าเมื่อก่อนเวลาเราโกรธใคร อาจจะประเภทด่าเลย กระโดดกระทืบเท้าชี้หน้ากัดฟันอะไรก็ว่าไป นั่นเป็นส่วนหยาบและเราละได้ง่ายมาก แต่ว่าพอนานไป ๆ ถึงตอนสุดท้าย ๆ เป็นส่วนละเอียดแล้วอาการทางกายไม่ออก อาการทางวาจาไม่ออก แต่อกมันจะแตกตาย เพราะว่ามันเป็นการขังความโกรธไว้ในอก กลายเป็นว่ากายหยุดแล้ว วาจาหยุดแล้ว แต่ใจยังหยุดไม่ได้ เพราะว่าไม่สามารถดับที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง ก็เลยเป็นว่ายิ่งทำเหมือนตัวเองยิ่งโง่ไปเรื่อย ๆ แต่ว่าความจริงไม่ใช่ ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถขุดคุ้ยตัวละเอียดมากขึ้น ๆ ได้ทุกที ๆ และถึงเวลานั้นก็ต้องใช้สติปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาของเรามีเท่าไรเอาใช้งานทั้งหมด เมื่อระดมผลที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ก็จะพอเหมาะพอสมกับคู่ต่อสู้ในช่วงนั้น ถ้าเราก้าวผ่านตรงจุดนั้นได้ เราจะไม่แพ้อีก เขาก็เอาสิ่งที่ละเอียดกว่านั้นมาสู้กับเราต่อไป ถาม : อารมณ์เหมือนกับที่เราไปเจออะไรที่ทำให้เรารู้สึกโกรธ เราก็จะมองคนที่ทำให้เราโกรธว่านี่มนุษย์หรือ จากภาพที่เราเห็นสวยงามจิตใจเขาทำได้แบบนี้เชียวหรือ ? ตอบ : อันนั้นก็คือตัวปัญญาที่แท้จริง เขาเรียกว่า ธรรมสังเวช คือมันรู้สึกสลดใจว่า อ๋อ! สภาพที่แท้จริงเขาเป็นอย่างนี้เองหรือ ทุกรูปทุกนามก็เป็นอย่างนี้ เราเองก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน บุคคลที่เคยกระทำอย่างนี้มาก่อนแล้ว คนอื่นมากระทำต่อเหมือนผู้นั้นรับมรดกจากเราไป ภาษาพระ เรียกว่า ธรรมทายาท(ทายาทโดยธรรม) เพราะฉะนั้นเขาก็ถือเป็นลูกหลานของเรานั่นเอง เพราะเป็นผู้รับมรดกจากเราไป ในเมื่อลูกหลานทำในสิ่งไม่ดีที่เราเคยทำมาก่อน เราก็ไม่ควรจะโกรธเขา เราก้าวพ้นตรงนั้นมาได้ เราเห็นทุกข์เห็นโทษของมันแล้ว เหมือนกับเราเห็นลูกหลานทำผิด เพราะฉะนั้นถ้าสามารถสงเคราะห์เขาได้ก็สงเคราะห์เขา ถ้าสงเคราะห์เขาไม่ได้ในตอนนั้น เพราะกำลังใจเขาไม่ยอมรับจริง ๆ เราก็ปล่อยวางไว้ก่อน มีโอกาสเราค่อยสงเคราะห์เขาใหม่ ถ้าสามารถพิจารณาอย่างนี้ได้โลกนี้ไม่มีอะไรน่าโกรธเลย ถาม : อย่างนี้ไม่กลายเป็นว่าเรายกตนเหนือคนอื่นหรือคะ ? ตอบ : ไม่ใช่จ้ะ ตัวนี้เป็นการคิดเพื่อที่จะได้ไม่สะสมอารมณ์เอาไว้ แต่ขณะเดียวกันอย่าลืมตัวสติกับตัวปัญญาของเรา สติกับปัญญาของเราต้องรู้เท่าทันอยู่เสมอ ถ้าหากว่าเราไปยกตัวเองขึ้นมาในลักษณะที่ว่าอย่างไร ๆ เราก็เหนือกว่าอยู่แล้ว ตัวนี้มันจะเป็นตัวที่เรียกว่า มานะ(สักกายทิฏฐิ) คือเห็นว่าตัวเราดีกว่า ถ้าหากว่าสติของเราขาดจากจุดนี้เมื่อไหร่ ก็เสร็จเมื่อนั้น เรื่องของธรรมะละเอียดมาก ถาม : ห้ามพลาดในแต่ละวัน ? ตอบ : นิดเดียว ดีกับชั่วเดินก้าวเดียวกันเลย ยกเว้นก้าวสุดท้ายอันหนึ่งพาลงล่าง อันหนึ่งพาขึ้นบนเท่านั้น ยิ่งทำไปจะยิ่งเห็นความสามารถของกิเลส สุดยอดจริง ๆ ถาม : บางทีมันเหมือนพิจารณารู้สึกว่าเป็นไปได้หรือ ? ตอบ : ทำถึงแล้วจะรู้ ถ้าเราทำยังไม่ถึงก็ชมสมบัติเขาไปก่อน คุณทักษิณมีหลักทรัพย์ตั้ง ๒-๓ หมื่นล้านอย่างนี้เป็นไปได้หรือ ในที่นี้เราควรจะคิดว่าเราทำได้อย่างเขาหรือ มี ๑๐ นิ้วเท่ากัน เขาทำได้เราก็ทำได้ ถาม : ตอนนี้ข้องใจในสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติอยู่ ไม่คิดว่าเราจะทำได้ในการฝึกขึ้นไปพระจุฬามณีเฝ้าองค์สมเด็จไม่เห็นเครื่องทรง เห็นแต่องค์ท่านเฉย ๆ แต่ข้าง ๆ ไม่เห็นอะไรเลยเหมือนจิตเราปรุงแต่งเอง ? ตอบ : เหลือเฟือแล้วจ้ะ อาตมาเองบางทีป่วยมาก ๆ เห็นแต่ยอดเกศแหลมอยู่แค่นี้ ไม่เห็นองค์เสียด้วยซ้ำไป แต่เรามั่นใจว่าท่านอยู่ตรงนั้น ถ้าความรู้สึกมั่นใจว่าท่านอยู่ตรงนั้นก็กราบตรงนั้น ต่อให้ไม่เห็นเลยแต่มั่นใจว่า ท่านอยู่ตรงนั้นก็กราบลงตรงนั้นเลย กำลังใจสำคัญอยู่ตรงสุดท้าย ๑) เรื่องของมโนมยิทธิเขาต้องไม่กลัว บางคนกลัวไปแล้วจะตายเลย กลัวว่าไปแล้วจะเจอสิ่งที่น่ากลัวน่าเกลียดอะไรพวกนั้นเลยทำให้ไปไม่ได้ ๒) ต้องไม่อยาก กำลังที่ต้องการจะเป็นตัวอยากตอนนั้น เราภาวนาแล้วอย่าไปอยาก คิดอยู่อย่างเดียว่าเราทำเพื่ออะไรแล้วตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไป ๓) ต้องไม่ขึ้สงสัย สิ่งที่เราฟังคนอื่นเขามากับสิ่งที่เราพบเห็นอาจจะคนละเรื่องกันเลยก็ได้ และข้อสุดท้าย ๔) ต้องมั่นใจในตนเอง ถ้าหากว่าเรามีความมั่นใจ ตัวมโนมยิทธิจะก้าวหน้าเร็วมาก แต่ขณะเดียวกันให้กำกับอยู่เสมอว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้เห็นรับเอาไว้ด้วยความเคารพ แต่อย่าเพิ่งเชื่อในตรงนั้น จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะพิสูจน์ได้แล้วถึงเชื่อ รักษาความเป็นคนขี้สงสัยเอาไว้แล้วจะปลอดภัย ไม่งั้นโอกาสโดนหลอกมีสูง ยิ่งเห็นภาพชัดเจนเท่าไหร่โอกาสโดนหลอกจะยิ่งมาก เหมือนกับคนฉลาดยิ่งฉลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งโดนหลอกได้ง่าย เคยอ่านสามก๊กไหม ? ขงเบ้งหลอกได้แต่คนฉลาด ให้ไปหลอกคนโง่ขงเบ้งก็เดี้ยงเหมือนกัน เพราะเขาคิดมากเกินไป แต่คนที่โง่นี่เขาเอาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นไปวางกล ๓ ชั้น ๘ ชั้นมันไม่สนใจหรอกมั่นดุ่ย ๆ ของมันไปเรื่อย เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเป็นดังประเภทที่ว่า อย่าไว้วางใจอะไรง่าย ๆ ถ้าหากว่าไว้วางใจอะไรง่าย ๆ เดี๋ยวจะโดนหลอกง่าย ๆ เหมือนกัน ให้รับทราบไว้ด้วยความเคารพ ขณะเดียวกันถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามนั้นเมื่อไหร่ หรือว่าทำแล้วเป็นไปจริงเมื่อไหร่ ? ค่อยเชื่อ ท่านบอกวิธีมา เราตรึกตรองดูแล้วมีเหตุมีผล ลองปฏิบัติดูเกิดผลแล้วถึงเชื่อ ท่านบอกว่าเหตุอะไรจะเกิดขึ้น รอจนกระทั่งเหตุนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วค่อยเชื่อ แต่ถ้าท่านบอกว่าจะเกิดดีเกิดร้ายกับเรา ให้เราเตรียมใจรับเอาไว้เท่านั้นพอ แต่อย่าไปเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่ามันจะเป็นไปตามนั้น เพราะว่าการพยากรณ์ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้าตอนนั้นเท่านั้น เขาขับรถด้วยความเร็ว ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งจะไปถึงกาญจนบุรี นี่คือการพยารณ์ตามความเร็วของรถตอนนั้น แต่ถ้าเขาเหยียบมากกว่า ๑๒๐ กิโลเมตรมันจะถึงก่อนชั่วโมงครึ่ง หรือลดจาก ๑๒๐ ลงมามันก็จะช้ากว่าชั่วโมงครึ่ง การพยากรณ์จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้า ถ้าเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงเรื่องมันจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย บางคนคิดว่า เราก็ทำกำลังใจเหมือนกับทุกครั้ง แล้วทำไมครั้งนี้เรารู้ผิด รู้ผิดเพราะเราไปสร้างปัจจัยทำให้เหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงเอง ถาม : จริง ๆ แล้วไปได้ อยากรู้ค่ะ แต่พอไปรู้เรื่อง...................... ? ตอบ : ไม่ได้บอกอะไรหรอกจ้ะ เลิกได้เลย เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วไม่ต้องไปพิสูจน์ให้เสียเวลาก็ได้ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตรงไปเลย กติกาของความเป็นพระโสดาบันมีอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง ถาม : ..................................... ? ตอบ : ทำไมกลัวกิเลสจะเศร้าหมอง เดี๋ยวไม่มีคบหากับมัน ๆ จะโศกเศร้ามากเลย ถาม : เข้มก็แย่อยู่แล้วนะคะ ตอบ : พระโสดาบัน ก็คือชาวบ้านชั้นดี เป็นบุคคลที่อยู่ในศีลในธรรมไม่ยอมล่วงศีล เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ๆ ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปพระนิพพาน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อายุ ๑๖ ท่านแต่งงานมีลูก ๒๐ มีหลาน ๔๐๐ คน ทำมาหากินตามปกติ รวยไม่รู้จะรวยอย่างไร เครื่องประดับชิ้นเดียวราคา ๙ โกฎิ โกฎิหนึ่งตามบาลีว่า ๑๐ ล้าน เครื่องประดับชิ้นเดียวราคา ๙๐ ล้าน นั่นแหละพระโสดาบัน ชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่ต้องไปกลัวกิเลสมันเศร้าหมองหรอก เพียงแต่พระโสดาบันท่านเรียกว่า พระอริยเจ้า คือเป็นผู้มีแต่ความเจริญขึ้นในส่วนเดียว กำลังใจในด้านชั่วท่านไม่เอา เพราะว่าท่านไม่ยอมละเมิดศีล ถ้าศีลจะต้องขาดท่านยอมตายดีกว่า ในเมื่ออยู่ลักษณะนั้นแล้ว ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าหากว่าเราตั้งหน้าปฏิบัติเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน กลายเป็นบุคคลชั้นดีในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป เพราะเราเป็นผู้ที่อยู่ในศีลในธรรมของเรา กำลังของเราในด้านของธรรมะก็จะไม่ตกต่ำ มีแต่เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนปกติเพียงแต่ ความรัก โลภ โกรธ หลง ของท่านจะมีศีลเป็นเกราะ โกรธแต่ไม่ฆ่าใคร รักยังมีผัวมีเมียได้ แต่ไม่ละเมิดลูกเมียใครต้องเป็นไปตามศีลตามธรรมเท่านั้น เป็นเรื่องปกติ ถาม : ศีลต้องเข้มใช่ไหมคะ ไม่ดื่มสุรา แล้วเราอยากจะกินแต่เราละ ? ตอบ : ให้อย่างนั้นยิ่งดีจ้ะ เพราะว่าถ้าเราอยากและเราระงับตัวเองได้ นั่นถึงจะเป็นศีลที่แท้จริง คนไม่กินเหล้าเลย แล้วไปคุยว่ามีศีลนี่ยังไม่แน่นะ กินเข้าไปแล้วเขาอาจติดก็ได้ แต่ว่าคนที่อยากจะกิน แล้วห้ามตัวเองได้นั่นแหละ ถึงจะเป็นยอดมนุษย์จริง ๆ ข้อสุรา สุรา สิ่งที่กลั่นขึ้นมา ประกอบด้วย แลกอฮอล์ มัชชะ ของมึนเมาที่เสพเข้าไปแล้วทำให้ขาดสติหรือว่าสติฟั่นเฟือนไป เพราะฉะนั้นพวกยาเสพติดทั้งหมดก็อยู่ในพวกนี้ด้วย แต่ว่าเขาแปลสุราอย่างเดียว ศีลข้อ ๕ สุรา เมรัย มัชชะ ๓ อย่าง เมรัยพวกไวน์ก็จัดอยู่ในเมรัย ถาม : ถ้าพวกมะกอกดอง มะขามดอง ล่ะคะ ? ตอบ : อันนั้นกินไปเถอะ กินเท่าไหร่มันก็ไม่เมาหรอกจ้ะ คำว่าเครื่องดองของเมา มันหมักดองแล้วเกิดแอลกอฮล์ขึ้นมา ตัวแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้แปรปรวน ทำให้ขาดสติ ประเภทผักดอง ผลไม้ดองกินไปเหอะตันสองตันไม่มีใครว่า ถาม : จะได้สบายใจที่จะกิน ตอบ : จ้ะ รีบกินไปเลย เหลือก็เอามาถวายพระบ้าง ถาม : เพราะว่าแต่ก่อนจะกินเหล้า บางทีก็จะมีอารมณ์ มีความอยากอยู่ ตอบ : เมื่อก่อนไม่มีใครว่าหรอกจ้ะ แต่ตอนนี้รู้ตัวว่ามันไม่ดีก็รีบเลิกได้แล้ว รีบห้ามตัวเอง คนที่อยากแล้วห้ามตัวเองได้เป็นยอดมนุษย์จริง ๆ เพราะว่ากำลังใจแบบนั้น คนที่ไม่อยากเขาไม่รู้หรอกว่ามันต้องต่อสู้กับตัวเองขนาดไหน เพราะฉะนั้นเรามีโอกาสที่จะเป็นยอดมนุษย์ เราจะเป็น supergenius เราอาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่สำหรับคนที่ไม่มีกำลังใจที่จะทำเลย แม้แต่ศีลข้อเดียวเขายังรักษาไม่ได้ ๔ ข้อ นี่เราได้ ขาดข้อ ๕ ข้อเดียว เราก็ระมัดระวังในข้อที่เราคิดว่าบกพร่องให้มันมากไว้
27 พฤศจิกายน 2550 10:45 น. - comment id 98384
ทุกคนมีห้องเก็บกรรม -------------------------------------------------------------------------------- ทุกคนมีห้องเก็บกรรม คัดมาจากหนังสือ โอวาท จากดวงพระวิญญาณบริสุทธิ์ สมเด็จโต พรหมรังสี ทรงจากสำนักปู่สวรรค์ เคยพิมพ์ใน น.ส.พ. ไทยเดลี่ ฉบับประจำวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ผู้ถามคือ อาจารย์ชุบชีพ นกแก้ว : กรรมใดที่ได้กระทำมาแล้ว ดีก็ตามชั่วก็ตาม ผู้ที่ได้กระทำไปแล้วย่อมได้เสวย ถ้าหากว่าได้กระทำกุศลกรรมก็ไปเสวยกุศลกรรม เหมือนกับว่าได้บันทึกเอาไว้ในจิตใจ เช่นเดียวกับเมื่อทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ในเทวสูตร หรือไตรโลกวิจารณ์ บอกว่ามีท้าวจตุโลกบาล หรือท้าวธตรฐ ท้าวกุเวร ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก มาจดบาปบุญของมนุษย์ในโลกมนุษย์ ในวันพระ ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ถ้าเทวดาทั้ง๔องค์ มาจดบาปบุญ แต่เฉพาะวันพระ อย่างนั้น ถ้าเป็นวันที่ไม่ใช่วันพระ คนที่ทำบาปก็ไม่ได้รับผล สมเด็จอาจารย์มีความเห็นอย่างไร ผู้ตอบคือ สมเด็จโต : การที่มนุษย์เราประกอบกรรมนั้น จะเป็นกรรมอันใดก็แล้วแต่ กรรมอันนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อประกอบด้วย ๓กรรม คือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทีนี้ในเรื่องการบันทึกของเทวดานั้น ท่านอย่าลืมว่า เทวโลกมีเทวดาเป็นล้านๆ โกฏิ ล้านๆจักรวาล ในด้านแห่งความจริงของมนุษย์ ถ้าจะเอาความจริงกันแล้วก็คือ ทุกคนมีห้องเก็บกรรมในโลกวิญญาณ กรรมของวิญญาณใด ก็จะคอยติดตามสนองวิญญาณนั้นๆ ที่มาปฏิสนธิเป็นเทวดาก็ดี เป็นพระพรหมก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี หรือที่ปฏิสนธิลงสู่ยมโลกก็ดี เรื่องนี้ต้องศึกษา ให้เข้าซึ้งถึงความจริงในโลกวิญญาณ และอาตมาก็เคยบอกแล้วว่า ในตำราทั้งหลายองค์สมณโคดม ไม่เคยสอนให้ยึดคำสอนของพระองค์เป็นสรณะ แต่ต้องการให้ท่านปฏิบัติจนถึงสภาพแห่งการ"รู้" อันบริสุทธิ์ของพุทธะเป็นสรณะ เพื่อเป็นเรือเป็นการช่วยตัวเอง ให้พ้นจากกฎแห่งวัฏฏะ ของทะเลซึ่งมีแต่คลื่นของความบ้าคลั่ง ในกามตัณหา ทีนี้เมื่อมาแยกแยะถึงการจดกรรมของเทวดาแล้วไซร้ ท่านพูดอะไร ท่านทำอะไร หรือแม้แต่คิด อย่างไร ขณะใดก็ถูกบันทึกไว้หมด เพราะเทวดามีทั่วทุกพิภพ ในเหล่าแห่งท้าวจตุโลกบาลทั้ง๔ นี้มีหน้าที่พิทักษ์ทิศทั้ง๔ แห่งจักรวาลของโลก หนึ่งในหมื่นจักรวาลนี้ เรียกได้ว่าท่านเป็นหัวหน้าหน่วย ในการรับทราบถึงการบันทึกทั้งหลายนั้น เพราะฉะนั้น การอ่านพระไตรปิฏก จึงอย่าอ่านเพียงเพื่อคุย ถ้าถามความจริง ขององค์สมณโคดมแล้ว องค์สมณโคดมจะบอกว่า "ท่านจงวางหมดทุกตำรา ท่านจงมาค้นจิตในจิต ท่านจงมาค้นกายในกาย เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่าวิญญาณอยู่อย่างไร " ในแนวแห่งพระสูตรดังกล่าวนั้น อรรถกถาจารย์ ฎีกาจารย์ ในกาลต่อมา ไม่เข้าซึ้งถึงเรื่องวิญญาณ ไม่เข้าซึ้งถึงเรื่องกรรมจึงเขียนออกมาเช่นนั้น ตามหลักแห่งสัจธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อ ตามหลักแห่งการปฏิบัติจิตเป็นสรณะ ให้ขัดเกลาอกุศลกรรมออกจากกาย นี่คือหลักความจริง ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการ พระไตรปิฏกเพียงแต่เป็นพื้นฐาน ให้อ่านแผนผัง ถ้าท่านยึดท่านก็ยังไม่ถึงธรรม ทุกคนมีห้องเก็บกรรมอยู่ในโลกวิญญาณ ท่านพูดอะไร ท่านทำอะไร หรือแม้แต่คิดอะไร ขณะใดก็ถูกจดบันทึกไว้หมด เมื่อถึงวาระตายจากโลกมนุษย์ เขาจะรวบรวมสถิติแห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรม รวมพร้อมทั้ง มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม แล้วจึงวินิจฉัยสภาพการทำถูกผิดของบุคคลนั้น ขอขอบคุณทีมงาน ธรรมจักร