มูลเหตุนะโม
สายรุ้ง
เรื่องนะโมนี้ในคัมภีร์มหาวงศ์ อันพระอรรถกถาจารย์เจ้าทั้งหลาย ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
พระบาลี นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมสัมมาสัมพุทธัสสะ นี้เป็นบาลีนมัสการนี้ ไม่ใช่เกิดมาจากปัญญาของอาจารย์ตกแต่งเอามาตั้งไว้ พระบาลีนี้เป็นพระพุทธฎีกา ของสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาไว้ในพระจตุราคมนิกายว่า นะโม สาตาคิรายักโข เป็นอาทิ ซึ่งได้กล่าวนมัสการสมยานามของพระพุทธคุณ พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายจึงเอาบาลี นะโม ฯลฯ นี้ขึ้นสู่สังคายนาถึง ๓ ครั้ง โบราณจารย์ทั้งหลายเห็นว่ามิเป็นการเคลือบแคลงสงสัยแก่สัตว์โลกทั้งปวงแล้ว จึงเอามาตั้งไว้ในบุรพบอันปรารถนาจะกระทำซึ่งพุทธกรรมวิธีทั้งหลายเป็นศาสนพิธีแบบพุทธ ดังนี้
เทพเจ้ากล่าว
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นี้ในเบื้องแรกนั้น เทพเจ้าเป็นผู้กล่าวนมัสการพระพุทธองค์ก่อนดังพระองค์ตรัสเทศนาไว้ใน พระจตุราคมนิกาย ดังนี้
๑. ณ กาลสมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเรานี้ เสด็จไปทรมานอารวกะยักษ์ แคว้นอารวีนคร ขณะที่พระองค์เสด็จไปประทับรออารวกะยักษ์อยู่ในวิมานนั้น อารวกะยักษ์ไปประชุม ณ เทวสันนิบาตยังไม่กลับมา สาตาคิรายักษ์กับสหายเหมวะตายักษ์ออกจากวิมานแห่งตนแล้วเหาะไป เพื่อจะนมัสการพระองค์ที่พระเชตวันวิหาร ณ กรุงสาวัตถี เมื่อไม่พบพระพุทธเจ้าจึงเหาะกลับมาทางวิมานของอารวกะยักษ์ ขณะที่เหาะมาข้ามวิมานของอารวกะยักษ์ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ภายในนั้น ด้วยอานุภาพ สาตาคิรายักษ์กับเหมวตายักษ์ก็หมดกำลังฤทธิและตกลง เมื่อยักษ์ทั้ง ๒ เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในวิมานของอารวกะยักษ์นั้นจึงประคองมือขึ้นนมัสสการกล่าวว่า นะโม แปลว่า ข้าพเจ้าของถวายความนอบน้อม เป็นคำรพแรกในสมัยพุทธกาล อันเป็นที่มาของบท นะโม
๒. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เสด็จประทับอยู่ ณ เวฬุวันวิหาร แขวงกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น อสุรินทราหู มหาอุปราชของท้าวเวปจิตติ ในอสูรพิภพ ได้มานมัสการพระพุทธเจ้าและกล่าวว่า ตัสสะ แปลว่า ผู้มีกิเลสอันสิ้นแล้ว ดังนี้
๓. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เสด็จประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ในคราวที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ นั้น ตะปุสสะกับภัลลิกะพานิชชาวเมืองสะเทิมได้น้อมนำข้าวสตุก้อนสตุผงเข้าไปถวายแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธและพระธรรม ครั้งนั้นท้าวจาตุมหาราชได้นำบาตรไปถวายพระพุทธองค์เพื่อเป็นภาชนะรับอาหาร แล้วได้กล่าวนมัสการว่า ภะคะวะโต แปลว่า พระผู้มีพระภาค
๔. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เสด็จประทับอยู่ในกุฏี ณ ป่าไม้สน ใกล้นคร สาวัตถี พระองค์ทรงประชวรลงพระโลหิตท้าวสักกะเทวราชได้นำเอาผอบทองมารองรับพระบังคนแล้วยกขึ้นทูลพระเศียรของพระองค์ไปเททิ้งในแม่น้ำ พร้อมด้วยกล่าวนมัสการว่า อะระหะโต แปลว่า ผู้เป็นพระอรหันต์
๕. ในคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเสด็จไปทรมานพกาพรหม ผู้มีทิฏฐิเห็นผิดเป็นชอบโดยเห็นว่าตายแล้วสูญ บาปบุญไม่มี ท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่และสร้างโลกเป็นต้น ณ พรหมโลกครั้งนั้น เมื่อพระองค์ทรงทรมานพกาพรหมด้วยวิธีเปลี่ยนกันซ่อนตัวและเที่ยวหา พกาพรหมพ่ายแพ้และยอมฟังพระธรรมเทศนา เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิเห็นชอบแล้วจึงกล่าวนมัสการว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
บทนมัสการทั้ง ๕ ตอนนี้ แต่ละตอนเทพเจ้านำมากล่าวเริ่มแรกเป็นนมัสการต่างคราวต่างวาระกัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้ในคัมภีร์จตุราคมนิกาย รวมความเป็น นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถวายความนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบพระองค์นั้น ดังนี้