ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๔ เที่ยวมณฑลปราจิณ
nidhi
บทที่ ๒๔ สัมนาสัญจรวันที่หก เที่ยวมณฑลปราจิณ
บรรยากาศการสัมนาเริ่มเต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรี เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเพราะย่างเข้าวันที่หกของการสัมนาแล้ว วันนี้คณะสัมนาสัญจรจะเดินทางไปที่จังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้ว
เดิมปราจีนบุรีเป็นจังหวัดชายแดนติดประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย(Democratic Kampuchea) แต่เมื่อสระแก้วแยกตัวไปเป็นจังหวัดสระแก้วแล้ว จังหวัดสระแก้วจึงอยู่ติดกับชายแดนเขมรมากกว่า ปราจีนบุรีเคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งต่สมัยทวารวดี ต่อเนื่องมาถึงสมัยลพบุรี พบหลักฐานซากเมืองโบราณที่เรียกว่า “เมืองศรีมโหสถ” และชุมชนโบราณอายุร่วมสมัยเดียวกัน โดยพบซากโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมศาสนกิจ และโบราณวัตถุ ได้แก่พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางประกงดังเช่นในปัจจุบัน สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “เมืองปราจีน” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังเรียกว่า เมืองปราจิณ หรือมณฑลปราจิณ จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกมณฑลปราจิณ และเปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัด เรียกชื่อใหม่ว่า จังหวัดปราจีนบุรี
จังหวัดปราจีนบุรี แบ่งการปกครองเป็น ๗ อำเภอ คือ อำเภอเมืองปราจีนบุรี บ้านสร้าง ประจันตคาม ศรีมโหสถ ศรีมหาโพธิ กบินทร์บุรี และนาดี มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดนครนายก
คำขวัญประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีว่า “ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวาราวดี”
สำหรับตราประจำจังหวัดปราจีนบุรีเป็นรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ซึ่งชาวเมืองเชื่อกันว่าเมื่อราวปี พ.ศ. ๕๐๐ สมณทูตจากอินเดียที่เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ ได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยาที่เป็นพันธุ์จากต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับบำเพญธรรมจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้ามาปลูกไว้ที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ์ ราษฎรทั้งใกล้และไกลพากันมาเคารพกราบไหว้บูชาและจัดงานนมัสการตลอดมามิได้ขาด และอันเนื่องมาจากการที่สมัยก่อนที่ยังมิได้แยกสระแก้วออกมาเป็นจังหวัด ปราจีนบุรีมีอาณาเขตติดต่อประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ฉะนั้นคำขวัญเดิมของจังหวัดจึงมีว่า “สร้างปราการให้แกร่งกล้า พัฒนาให้ก้าวไกล”
สำหรับสถานที่น่าสนใจในจังหวัดปราจีนบุรี มีดังนี้
อำเภอเมืองปราจีนบุรี ได้แก่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานอยู่ ณ สี่แยกเนินหอม ตำบลบ้านพระ เป็นพระบรมรูปในท่าประทับยืน , พิพิธภัณฑ์พระครูอุทัยธรรมธารี(เส็ง สุขิโต), กองพลทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์, พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์, วัดแก้วพิจิตร, ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี, ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศณ, วัดสง่างาม,วัดโบสถ์ ภายในวัดมีพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ พระพุทธรูปปางลีลา พระนามว่า “พระสิริมงคลนิมิต”, พระพุทธรูปปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า “พระสรรพสิทธินาวา” และพระพุทธรูปปางประทับนอน พระนามว่า “พระมหาชินไสยาสน์”, สวนพันธุ์ไผ่,น้ำตกเหวนรก,น้ำตกธารรัตนา, อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์(เนินพิศวง หรือเนินมหัศจรรย์) และน้ำตกเขาอีโต้
อำเภอบ้านสร้าง ได้แก่ค้างคาวแม่ไก่วัดบางกระเบา
อำเภอศรีมโหสถ ได้แก่ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ,หลวงพ่อทวารวดี ปัจจุบันเก็บไว้ที่วิหารหน้าที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานธรรมสร้างจากหินทรายสีเขียว อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ,กลุ่มโบราณสถานสระมรกต, โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ
อำเภอศรีมหาโพธิ ได้แก่อนุสาวรีย์ลายพระหัตถ์ ร.๕ ,หลุมเมือง,โบราณสถานพานหิน
อำเภอประจันตคาม ได้แก่น้ำตกธารทิพย์,น้ำตกส้มป่อย, น้ำตกตะคร้อ และน้ำตกสลัดได
อำเภอกบินทร์บุรี ได้แก่อุทยานกบินทร์เฉลิมราชย์ และพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำ บ้านบ่อทอง
อำเภอนาดี ได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ,แก่งหินเพิง,สวนนงนุชแคมป์ปิ้ง รีสอร์ท
กิจกรรมน่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ การเดินป่า และล่องแก่งหินเพิง ซึ่งมีบริษัทตัวแทนหลายแห่งให้เลือกตามใจชอบ หรือท่องเที่ยวเชิงเกษตร ขี่จักรยานเที่ยวชมสวนผลไม้
เทศกาลงานประเพณี ได้แก่ งานมาฆปูรมีศรีปราจีน, งานแห่บั้งไฟ, งานวันเกษตรและของดีเมืองปราจีน, งานสัปดาห์ล่องแก่งหินเพิง, งานแข่งเรือยาวประเพณี และงานลอยกระทง
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ผลิตภัณฑ์จากใบลาน,ถ่านไม้ไผ่,ผลไม้และผลผลิตการเกษตร,ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร,เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่,ไม้กวาดดอกหญ้า,หัตถกรรมจักสานจากไม้ไผ่ และผ้าไหมไทย
บทต่อไปจะกล่าวถึงจังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดที่แยกออกไปจากจังหวัดปราจีนบุรี