ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๓

nidhi

บทที่ ๒๓ ไปเมืองนายร้อยห้อยกระบี่
คงเพราะแต่ก่อนบ้านเมืองทำนาเราปลูกข้าวกันทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในภาคกลางของประเทศ  จังหวัดนครนายกก็เช่นเดียวกัน ทำนาปลูกข้าวกันเป็นล่ำเป็นสัน คนจึงเรียกกันว่า บ้านนา  เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาดินแดนเมืองนครนายกยังเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน ทำนาหรือเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผลและมีไข้ป่าชุกชุม  ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นกันหมดทำให้กลายเป็นเมืองร้าง  พระมหากษัตริ์ทรงทราบถึงความเดือดร้อนดังกล่าว  จึงโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกภาษีนาในพื้นที่นี้เพื่อจูงใจให้ชาวเมืองกลับไปอยู่ที่เดิม  ทำให้มีผู้อพยพไปอยู่กันมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่เรียกกันติดปากว่า เมืองนายก  เพราะได้ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนานั่นเอง
นครนายกเป็นเมืองโบราณตั้งแต่ครั้งสมัยทวารวดี ดังปรากฏหลักฐานคือ แนวกำแพง เนินดินและสันคูเมืองที่ตำบลดงละคร  และยังปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกในสมัยพระเจ้าอู่ทอง  ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ ทรงจัดลักษณะการปกครองเป็นมณฑล  โดยให้นครนายกอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๔๕ ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำอหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นแทน  และในช่วง พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๙ ได้โอนนครนายกไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรีและสระบุรี  หลังจากนั้นจึงแยกไปเป็นจังหวัดนครนายก
จังหวัดนครนายกจึงมีคำขวัญประจำจังหวัดที่สอดคล้องความเป็นธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ค่อนข้างมากว่า “เมืองในฝันที่ใกล้กรุง  ภูเขางาม น้ำตกสวย รวยธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ”
ในปัจจุบันจังหวัดนครนายกเป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.) ที่เขาชะโงก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงอนุเคราะห์เป็นพระอาจารย์สอนศิลปวิทยาการให้เหล่านักเรียนโรงเรียนนายร้อยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
นอกจากนี้ในเขตอำเภอเมืองนครนายกยังเป็นที่ตั้งของเขื่อนขุนด่านปราการชล  เขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก  และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ(พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต)ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นหนึ่งในอีกหลายโครงการในโครงการเปิดทองหลังพระ-ท่องเที่ยวสืบสานโครงการพระราชดำริ” ด้วย
สำหรับตราประจำจังหวัดนครนายกที่เป็นรูปช้างชูณวงข้าวอยู่ใกล้กองฟางแวดล้อมป่านั้น  รวงข้าวและกองฟาง หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร  ที่เป็นรูปช้างเพราะสมัยก่อนมีช้างมากมายในบริเวณนี้
เมืองนครนายกยังเป็นตำนานของเมืองที่เป็นที่ตั้งของสถาบันวิชาการทางทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพบกไทยด้วย  ตำนานนายร้อยห้อยกระบี่จึงเกิดก่อขึ้นมาให้เราทั้งหลายได้รู้เห็นกันมาตลอด
วันนี้เป็นวันที่ห้าของการสัมนาสัญจร โดยคณะสัมนาสัญจรออกเดินทางจากที่พักที่จังหวัดนครราชสีมามุ่งสู่จังหวัดนครนายกโดยมีจุดหมายปลายทางที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมณี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๔ กิโลเมตร  บริเวณโรงเรียนติดกับเขาชะโงก มีพื้นที่ประมาณ ๑๙,๒๙๐ ไร่  เป็นสถานศึกษาของผู้ที่จะรับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรชองกองทัพไทย  มีสถานที่น่าสนใจได้แก่  พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อย จปร. ประดิษฐานอยู่หน้ากองบัญชาการของโรงเรียน ในชุดฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพไทยแห่งกองทัพบกเต็มยศ ประทับเหนือพระราชอาสน์  ,ศาลาวงกลม(ศาลาลม), อาคารพิพิธภัณฑ์โรงเรียนนายร้อย จปร. ๑๐๐ ปี,ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน และพระพุทธฉาย
อำเภอเมืองนครนายก  นอกเหนือจากโรงเรียนนายร้อย จปร. แล้ว  ยังมีสถานที่น่าสนใจได้แก่  
ศาลหลักเมือง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในศาลาจตุรมุขภายในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙, หลวงพ่อเศียรนคร ที่วัดบุญนาครักขิตาราม(วัดต่ำ), วัดใหม่ทักขิณาราม, วัดพราหมณี และอนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗  ซึ่งในโบสถ์มีพระพุทธรูปปากแดง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ทรงเครื่องดอกพิกุล พระโอษฐ์แดง  ที่ชาวลาวอพยพได้อัญเชิญมาเมื่อสมัยเวียงจันทน์แตก, รอยพระพุทธบาทจำลองเขานางบวช, เมืองโบราณดงละคร, อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ, อ่างเก็บน้ำทรายทอง,น้ำตกลานรักหรือน้ำตกตาดหินกอง,น้ำตกสาริกา,อุทยานวังตะไคร้,น้ำตกนางรอง
อำเภอบ้านนา  ได้แก่น้ำตกกะอาง  อำเภอปากพลี  ได้แก่พิพิธภัณฑ์พิ้นบ้านไทยพวนวัดฝั่งคลอง,น้ำตกวังม่วง,วัดป่าศรีถาวรนิมิต,อ่างเก็บน้ำวังบอน และน้ำตกเหวนรก  อำเภอองครักษ์ ได้แก่ศาลเจ้าพ่อองครักษ์
ส่วนเทศกาลงานประเพณีของจังหวัดนครนายก ได้แก่  งานวันมะปรางหวานและของดีนครนายก,งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับองครักษ์,งานนครนายกมรดกธรรมชาติ,งานประเพณีสารทไทยและแข่งเรือยาวประเพณี  และงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก  ได้แก่ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแหล่งธรรมชาติแทบทั้งสิ้น ได้แก่ มะปราง,ดอกดาหลา,ผลิตภัณฑ์หินอ่อน,ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่,ไม้กวาด,พรมทอจากเศษผ้า,ขนมเปี๊ยะ,กล้วยฉาบ,มันฉาบ,เผือกฉาบ,ผลไม้แช่อิ่ม,ผ้าทอมือพื้นเมือง และไข่เค็มสูตรใบเตยหอม
สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศอีกอย่างหนึ่งก็คือ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือเชิงธรรมชาตินั่นเอง  ซึ่งที่จังหวัดนครนายกก็มีหลายแห่งด้วยกัน เช่น ศูนย์ไม้ดอกไม้ประดับตลอดแนวคลอง ๑๕ และบริเวณใกล้เคียงริมเส้นทางสายรังสิต-นครนายก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชทั้งไม้ดอกไม้ประดับต่างๆที่จัดว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, กลุ่มส้ม โอไอพีเอ็ม ,สวนละอองฟ้า,สวนวังทิพย์,สวนสมบุญการเกษตร,สวนศรียา,ล่องแก่งในลำน้ำนครนายก,จักรยานเสือภูเขา และท่องไพรเขาใหญ่-นครนายก  เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้  สำหรับท่านที่สนใจชมภาพสวยๆของธรรมชาติเขื่อนคลองท่าด่าน สามารถชมดูรายละเอียดได้จากนิตยสาร อนุสาร อสท.ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๔๘  หรือเข้าไปชมที่เวปต์ไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามที่อยู่ข้างต้นได้ตลอดเวลา
ท้ายสุดของบทนี้คุณธนบัตรอยากจะฝากบอกนักท่องเที่ยวว่า ถ้าต้องการความสะดวกสบายเที่ยวไทยได้ทั่วอย่างสนุกมีสาระได้ประโยชน์เต็มที่แล้ว  ก่อนการเดินทางควรเตรียมการต่างๆให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นสัมภาระต่างๆ รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ซึ่งสามารถรับข้อมูลท่องเที่ยวทางโทรสาร ๒๔ชั่วโมง ที่ โทร. ๑๖๗๒  หรือติดต่อศูนย์บริการข่าวสารการท่องเที่ยวสำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่(เปิดทุกวัน ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐น.),ททท.ถนนราชดำเนินนอก,สำนักงาน ททท.เขตประจำภาคต่างๆทั่วประเทศ  และที่ WWW.tourismthailand.org   E-mail   : info@tat.or.th  
เสร็จภารกิจจากจังหวัดนครนายกแล้ว  คณะสันาสัญจรก็เดินทางกลับโรงแรมสีมาธานีที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพักผ่อนตามอัธยาศัย  เตรียมเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้วในวันรุ่งขึ้น				
comments powered by Disqus
  nidhi

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน