ควายคนรึคนควาย (อินทรวิเชียรฉันท์ 11)

กวินทรากร

อ้าพ่อลำเภาพักตระพำนักพนาลี
(นายผี) กูเองเป็นคนรูปหล่อ(มีใบหน้างาม) ต้องมาพำนักในป่า 
อ้าพ่อรำพึงพีรยะภาพะอันเพ็ญ
กูเองรำพึงรำพันถึงความกล้าหาญ/ความพากเพียร อันมีอยู่เต็มเปี่ยม 
(พิรย อาจแปลว่า เพียร หรือ กล้า วีระ/พีระ ก็ได้)
อ้าพ่อมหาภัคะสุภาพะเปลี่ยวเป็น
กูเองเคยเป็นคนร่ำรวย อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี (สุภาพ=สุภาวะ=มีภาวะที่ดีเพราะเกิดในตระกูลขุนนางมีคนแวดล้อม)แต่ต้องมาเปลี่ยนเป็นอยู่คนเดียวแสนเปล่าเปลี่ยวนัก
อ้าพ่อผิลำเค็ญครุราวพนาลัย
กูเองแม้ยามนี้ลำเค็ญอย่างหนัก(ครุ)ต้องมาอยู่ราวป่า
อยู่เดียวบดูดายดละภาพะอันไพ-
ถึงอยู่คนเดียวแต่ก็มิได้นิ่งดูดายแต่อยู่อย่างสร้างภาวะอันไพโรจน์
โรจน์เรืองประเทืองในนรลักษณะเล็งลาน
ลานแดประดาสดวงอดิรัตนะเดียวดาล
สร้างภาวะอันไพโรจน์ให้เกิดขึ้นในหมู่นรชน ซึ่งกูได้เล็งแลเห็นอยู่เต็มลานกว้าง แต่ก็เกิดความลนลานในจิตใจอันตกต่ำ (ประดาษ ว. ตกต่ำ เช่น โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเช่นฉลอง เพราะตัวต้องตกประดาษ วาสนา. (นิ. ภูเขาทอง). (ข. ผฺฎาส ว่า ผิดระเบียบ นอกรีตนอกรอย) (เพราะบัดนี้กูถูกลดอำนาจลง ไม่ได้เป็น "สหายนำ" หรือผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ทำให้ อดิรัตน์ =ดวงแก้วอันงามเลิศล้น/ความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่ อันเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งเดียว ที่เคยบันดาลขึ้นในจิตใจ
คือเจตนะจำราญจะริแล้วและรังไฉน
จุดมุ่งหมายหนึ่งเดียวนั้นคือเจตนาที่จะสร้างสังคมใหม่ ตอนนี้คงต้องแหลกราญลงเสียแล้ว ครั้นจะริเริ่มรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ให้แล้วเสร็จ จะต้องใช้เวลาเนิ่นนานเรื้อรังอีกสักเท่าใดหนอ
คิดควรบควรทำทุรโทษะอยู่ไย
แต่กูก็ไม่ควรมานั่งคิดให้เป็น ทุรโทษ อยู่ไปใย
คนคือกระบือไบสุตะศัพทะส่ายเศียร
คนอย่างพวกมันก็เหมือนควายที่ฟังภาษาคนไม่ออกได้แต่ส่ายหัว
อ้าควายบเคยคิดและคำนึงจำเนียรเพียร
สุขเพื่อจะพาเกวียนรึกำเริบประดุจเรา
แต่จะไปเปรียบกะควายก็ไม่ถูกเพราะควายมันก็ไม่เคยคิดกำเริบเสิบสานเหมือนอย่างมนุษย์เรามันพอใจที่จะลากเกวียนเท่านั้น
ควายคนรึคนควายผิมลายและเหลือเขา
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือคนที่โง่เหมือนควาย (อย่างพวกมัน รวมถึงตัวกูเองด้วย) ก็ต้องตายทั้งนั้น แต่ควายตายแล้วยังเหลือเขา(และหนัง)
ควายคนคนาเนา- พะบ่สุขะสำนาน
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือคนที่โง่เหมือนควาย และผู้มาใหม่ (เนาพ=เนาว แปลว่า 9 และแปลว่าใหม่ก็ได้) ตอนนี้ก็อยู่รวมกันอย่างไม่มีความสุขมานานพอแล้ว
คนควายมลายยังศพะย่อมจะรำคาญ
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือคนที่โง่เหมือนควาย ตายแล้วศากศพย่อมมีกลิ่นเหม็นรำคาญ
คนควายมลายมานก็เสมอกะหมาแล ฯ
ไม่ว่าจะควายหรือคน หรือ คนที่โง่เหมือนควายคือคัวกูเอง ตอนนี้คงต้องตายเหมือนหมา แล้วกระมัง
(ไม่ปรากฏวาระการพิมพ์ - รวมบทกวีนายผี) 
ปล.ฉันท์บทนี้เป็นฉันท์บทแรกที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านในสมัยที่เรียนอยู่ชั้น ป.4 คำฉันท์บทนี้ข้าพเจ้ายังท่องจำได้ขึ้นใจ เรียกได้ว่าเพราะฉันท์บทนี้นี่เองทำให้ข้าพเจ้าหันมาสนใจกวีนิพนธ์ สาเหตุน่ะหรือ ก็เพราะอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็เลยอยากอ่านให้รู้เรื่อง อีกทั้งเห็นว่าคำที่ใช้ในคำฉันท์บทนี้ไพเราะจับใจเหลือเกิน (สมัยนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เป็น อินทรวิเชียรฉันท์ 11) อีกทั้งมีความรู้สึกที่ว่าอยากที่จะแต่งอยากที่จะเขียนคำเพราะๆแบบนี้ได้เองบ้าง แม้กระทั่ง เรียนถึงชั้น ม.6 พยามเปิดพจนานุกรมของราชบัณฑิต ดู พอรู้ศัพท์บางศัพท์ แต่ก็ยังไม่รู้บริบท ที่ฉันท์บทนี้พยามที่จะสื่อ สาเหตุเพราะในขณะนั้นข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสได้ศึกษาประวัติของ คุณอัศนี พลจันทร (นามปากกา:นายผี) อย่างถ่องแท้ มาบัดนี้ข้าพเจ้าพอที่จะทราบประวัติของ คุณคุณอัศนี พลจันทร บ้าง เล็กน้อย จึงเริ่มแปลและพอจะที่จะเข้าใจเนื้อหาของอินทรวิเชียรฉันท์บทนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าถูกต้องเพียงใด เพราะนายผี ได้ล่วงลับไปแล้ว ไม่มีโอกาส อรรถาธิบาย วัตถุประสงค์ ในการแต่งฉันท์บทนี้ว่าต้องการสื่อถึงอะไร ฉะนั้นการแปลฉันท์บทนี้จำต้องใช้การอนุมานจากคำประพันธ์ชนิดอื่นๆที่มีเนื้อหาสอดรับกัน มาใช้ในการวิเคราะห์เช่น วิเคราะห์จากเพลง คนล่าสัตว์ ที่นายผีได้ประพันธ์ไว้ความว่า
"อายุหกสิบห้าไม่มีอากาจะสะพาย มีแล้ก็แต่คาร์ไบน์ ถึงปืนไม่ร้ายแต่ใจยังจำ จับปืนขี้เมี่ยง มองเมียงมือคลำ ปังคะมำลงมา นัดหนึ่งคนหนึ่ง นิ้วตึงอกแตก เลือดทะลักซักแหลก และกับเลือดหกตุลา..คม ห้าขวบหย็อยๆอยู่ข้างหน้า หกสิบห้าเหย่าๆตามหลัง ทางภูดูยาวเหยียดหยัด ต้องการสมรรถพลัง สองขาพาไป จะปะอะไรก็ช่าง ถึงปู่ล้มหลานยัง เสียปืนยิงปังก้องพนา... เอ๋ย พนม ปัง ปัง ปัง.. ก้องพนา" ( คนล่าสัตว์ - กินนร เพลินไพร ) 
ในท่อนที่ว่า "ถึงปู่ล้มหลานยัง เสียปืนยิงปังก้องพนา" นั้นมีผู้อรรถาธิบายว่า นายผีช่วงขณะนั้น ลดทอนบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว ฉะนั้นเพลงนี้จึงซ่อนนัยยะทางการเมืองภายในพรรคไว้ ฉะนั้นเพลงนี้จึงเป็นเพลงต้องห้ามในพรรคเช่นเดียวกับเพลงเดือนเพ็ญ ที่คนในพรรคมองว่า เมื่อนำมาร้องแล้วจะทำให้เกิดความคิดถึงบ้านไม่อยากสู้รบ เป็นต้น
การแปลฉันท์ ของนายผีบทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสดุดีนักรบแห่งประชาชน นั่นก็คือ นายผี หรือสหายไฟ ไหม้ฟ้า ผู้ประพันธ์เพลง เดือนเพ็ญ ก็เท่านั้น อีกทั้งเป็นการโต้แย้งตอกย้ำความคิดมิจฉาทิฐฐิ ที่ว่า คำประพันธ์ที่เคร่งขรึม อยู่บนหอคอยงาช้าง นั้นน่าเบื่อหน่ายไม่น่าศึกษาสำหรับชนรุ่นหลัง ข้าพเจ้าคิดว่า ความคิดเยี่ยงนั้นเป็นความคิดที่ดูถูก ศักยภาพของ เยาวชนรุ่นหลังเอามากๆทีเดียว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
สืบเนื่องมาจาก 
http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=thaipoetnet&thispage=1&No=233984				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน