การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๒
nidhi
ดังที่บอกแล้วว่าฉันเป็นธนบัตร ๕๐๐ บาท รูปลักษณะของฉันเป็นอย่างไรนั้น เชื่อว่าคนบางคนยังไม่เคยเห็น หรืออาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าของฉันมาก่อนเลย นี่จะเป็นเพราะความยากจนด้อยโอกาสหรือเป็นเพราะเหตุใดนั้น
ฉันไม่บังอาจขอวิจารณ์แต่อย่างใด กระนั้นก็ดีฉันใคร่ขอถือโอกาสนี้บรรยายภาพลักษณ์ของฉันเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักฉันได้ดีขึ้นดังต่อไปนี้
ด้านหน้าของฉันจะมีพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในชุดฉลองพระองค์เต็มยศ คอปกตั้งกลัดสัญลักษณ์พระคทาไขว้ สวมฉลองพระเนตร(แว่นตา) พื้นธนบัตรเป็นสีออกม่วง ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาเรียกธนบัตรชนิดราคานี้มาแต่ดั้งเดิมว่าแบงก์ม่วง และเนื่องจากธนบัตรสมัยก่อนจะมีรูปช้างเผือกสัญลักษณ์คู่เมืองไทยอยู่ด้วย เขาจึงมักจะเรียกกันอย่างรู้กันทั่วว่า ธนบัตรแต่ละฉบับ ก็คือ ๑ เชือก และกำหนดชนิดของธนบัตรตามสี เช่นธนบัตร ๕๐๐ บาท เรียก ช้างม่วง ธนบัตร ๑๐๐ บาท เรียกช้างแดง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ฉันจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป
มาว่าเรื่องรูปลักษณ์ของฉันที่ปรากฏในปัจจุบันต่อดีกว่า มุมซ้ายบนของฉันด้านหน้าธนบัตรจะเป็นตราครุฑขนาด ๑ ซม. มีแถบสีเงินแวววาวพิมพ์ตราสัญลักษณ์พระราชลัญจกร ภปร พิมพ์คาดทับปีกครุฑลงมาสุดด้านล่าง และมีตัวเลขไทย ๕๐๐ มุมบนด้านขวามือเป็นอักษรอาระบิก 500 พิมพ์หมึกเขียวด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งต้องใช้วิธีเอียงธนบัตรส่องดูจะเห็นเป็นสีเขียวและเมื่อเอียงออกไปอีกมุมหนึ่งจะเห็นเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำสลับสีกัน
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการพิมพ์เลขอาระบิก 500 ตัวจิ๋วจำนวนมากติดต่อกัน ลงบนตัวเลขไทย ๕๐๐ บนพื้นที่ช่องว่างของพื้นที่ตัวเลขแต่ละหลักไว้ด้วย ซึ่งต้องใช้วิธีส่องกล้องหรือใช้เลนส์ขยายดูจึงจะเห็นได้ชัด กับมีเลขหมวดอักษรไทยและตัวเลขไทยพิมพ์ไว้ที่มุมบนด้านซ้ายถัดจากเลขบอกชนิดราคาธนบัตร
ส่วนมุมขวาด้านล่างเป็นเลขอาระบิกและอักษรอังกฤษระบุเลขและหมวดหมู่ธนบัตร กับสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือคำว่า รัฐบาลไทย พร้อมลายเซ็นประจำตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคำว่า "ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" กับอักษรระบุราคา ห้าร้อยบาท แล้วยังรวมถึงตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล (ตราภปร ) ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงลวดลายรูปแบบอบ่างอื่นของธนบัตรด้วย คิดแล้วก็น่าฉงนมากว่าเขาสามารถบรรจุรายละเอียดตั้งเยอะแยะเหล่านี้ลงไปบนกระดาษแผ่นเล็กๆอย่างธนบัตรได้อย่างไรถึงขนาดนี้
สำหรับด้านหลังธนบัตร นอกจากมีตัวเลขไทยและอาระบิกบ่งบอกชนิดราคาธนบัตรแล้ว ที่มองเห็นเด่นเป็นสง่าก็คือ ภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๓) ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายกุมพระแสงดาบ ด้านซ้ายของพระบรมฉายาทิสลักษณ์เป็นรูปโลหะปราสาท ที่วัดราชนัดดาวรวิหารที่อยู่ตรงข้ามป้อมมหากาฬ ถนนราชดำเนิน
(เดิมสถานที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สร้างให้เห็นมองเด่นเป็นสง่าเวลาที่เรารับแขกบ้านต่างเมืองกัน ก็จะมีพิธีมอบกุญแจเมือง ก็บริเวณนี้แหละ เดี๋ยวนี้จุดตรงข้ามป้อมมหากาฬดังกล่าวซึ่งมองไปแล้วเห็นโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯที่ด้านหลังนี้เขาเรียกว่า ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์)
ส่วนด้านขวาตอนมุมบน เป็นตราครุฑ ถัดตรงลงมาเป็นรูปเรือสำเภาแล่นใบกลางคลื่นทะเลสวย กับถัดลงมาเป็นพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พ.ศ๒๓๓๐-๒๓๙๔ ว่า
การงานสิ่งใดของเขาที่ดี
ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา
แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว
เมื่อกล่าวถึงภาพรวมที่ปรากฏบนด้านหลังธนบัตร ๕๐๐ บาท จะเห็นได้ว่าเป็นการรำลึกถึงพระบารมีของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯสนับสนุนการค้าต่างประเทศ ซึ่งสมัยนั้นใช้เรือสำเภาแต่งสินค้าออกไปค้าขาย ขากลับก็จะเอาเครื่องลายคราม อับเฉา ปูนปั้นต่างๆ และสินค้าเครื่องเทศ กับสินค้าเครื่องประดับจำพวกหินหยก ต่างๆเข้ามาเมืองไทยด้วย จึงนับเป็นพระราชกฤษฎานุภาพประการหนึ่งของในหลวงพระองค์นี้
สำหรับท่านที่ไม่เคยเห็นเรือสำเภาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ก็สามารถไปชมดูได้ที่วัดยานนาวา ที่เขตยานนาวา เพราะมีการจำลองเรือสำเภาสร้างเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู
บรรดาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ นับว่าน่าจะเป็นการบรรยายภาพลักษณ์ของฉันที่ปรากฏบนธนบัตร๕๐๐ บาทได้
อย่างเพียงพอตามสมควรแล้ว หากจะพิศดูรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็คงจะต้องเอาธนบัตร๕๐๐ มาดูก็จะเห็นรายละเอียดพิสดารที่ยังมิได้กล่าวอีกมาก เมื่อทราบความเป็นมาของภาพสัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏบนแผ่นธนบัตรแล้ว น่าภูมิใจที่เราเกิดมาเป็นคนไทยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลมหาราช