บทที่ ๔ (ตอนจบ) ปูมหลังปัตตานี (นอกตำรา) ภาค ๑ โดย สอาด จันทร์ดี
sangtien
สิ่งที่เล่ามานี้เป็นปูมหลังของปัตตานี (ในตำรา) ซึ่งจะขอเล่าต่อไปว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ หรือก่อนหน้านี้ ความว่าชื่อของเมืองลังกาสุกะไม่มีเหลืออยู่ในความทรงจำอีกแล้ว มีแต่ปัตตานีชื่อเดียว ปัตตานีในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงสยาม แต่มีอำนาจยิ่งนัก มีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นต่อรัฐปัตตานีอีกต่างหาก
ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปริวิตกกังวลว่าจะเกิดการแข็งข้อ จึงได้แบ่งแยกดินแดนปัตตานีออกมาเป็น ๗ หัวเมือง ให้แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงสยาม หรือกรุงเทพฯ
นี้เป็นจุดเริ่มต้นของความบาดหมางร้ายแรงครั้งประวัติศาสตร์ของชาติไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหัวเมืองครั้งใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงให้ยกเลิกระบบเจ้าเมืองพระยามหานคร อันหมายถึงปัตตานีจะเก็บส่วยจากเมืองต่างๆส่งต่อไปให้เมืองหลวงไม่ได้อีกแล้ว ทางกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนวิธีการใหม่ ให้แต่ละเมืองเก็บส่วยส่งเมืองหลวงโดยตรง ไม่ต้องผ่านปัตตานี ทั้งนี้เพราะเกรงว่าระบบพระยามหานครจะเบียดบังการเก็บส่วย ไม่จัดส่งตามที่เก็บได้มา
ส่วยในที่นี้ หมายถึงระบบภาษีอากรนี้แล
ระบบใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้ เรียกว่า ระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยอาศัยวิธีทรงตั้งข้าหลวงเทศาภิบาล ต่างพระเนตรต่างพระกรรณขึ้นมาดูแลรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินโดยส่วนรวม
คราวนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความบาดหมางรุนแรงยิ่งขึ้น
พระยามหานครที่ไม่พอใจมากที่สุดมีนามว่า อับดุลกาเดร์ เจ้าเมืองปัตตานี โดยได้รับพระราชทานนามในแบบฉบับการปกครองของไทยว่า "พระยาวิชิตภักดี" แต่ปรากฎว่าพระยาพิชิตภักดีไม่มีความยินดีกับชื่อและตำแหน่งจากราชสำนัก
เขาพอใจกับชื่อเดิม "อับดุลกาเดร์" มากกว่า
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ อับดุลกาเดร์ จึงก่อกบฎขึ้น แสดงตนเป็นปฎิปักษ์ต่อกษัตริย์ไทยผู้เป็นใหญ่อย่างเปิดเผย พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นว่าจะเป็นภัยไปกันใหญ่เอาไว้ไม่ได้แล้ว จึงส่งกองกำลังลงมาที่ปัตตานี แล้วคุมตัวอับดุลกาเดร์ไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ
อับดูลกาเดร์พูดภาษาไทยได้ดี เพราะเขาก็เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู แต่ด้วยที่ท่านนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีชื่อตามแบบฉบับของอิสลาม แม้จะพระราชทานนามให้ พร้อมกับยศศักดิ์ เป็นพระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์ก็ไม่ปรารถนา
ในหลวงรัชกาลที่ ๕ สอบสวนแล้ว ทรงมีพระเมตตา มิได้ลงโทษประหาร แต่ได้ถูกส่งไปกักตัวเอาไว้ที่พิษณุโลก ๒ ปีกับ ๙ เดือน แล้วก็ได้เดินทางกลับปัตตานีอีก ในปี ๒๔๔๗ แต่ไม่ให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าเมืองเหมือนแต่ก่อน
จวน (หรือวัง) ของอับดุลกาเดร์ ตั้งอยู่บ้าน "จะบังติกอ" อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่ออับดุลกาเดร์ได้รับอภัยโทษ ปูมหลังปัตตานีในตำรากล่าวว่า
อับดุลกาเดร์ ฮึกเหิมหนักกว่าเดิม คราวนี้ได้โฆษณาชวนเชื่อไปทั่ว มีข้อความโดยรวมดังนี้
เรียกร้องให้ราษฏร ๔ จังหวัดภาคใต้เกลียดชังคนไทย
ยุยงให้กระด้างกระเดื่องทุกวิถีทาง
บอกกล่าวว่า ดินแดนเหล่านี้เคยเป็นอาณาจักรของมลายูมาก่อน แต่ถูกประเทศสยามล่าเป็นเมืองขึ้น แล้วโฆษณาชวยเชื่อต่อไปว่า คนสยามเอารัฐเอาเปรียบคนปัตตานี กดขี่ข่มเหง ขอให้พี่น้องชาวปัตตานี จงลุกขึ้นสู้กอบกู้เอาเอกราชคืนมา
อับดุลกาเดร์ได้แสดงตนเป็นห้วหน้าใหญ่วางแผนจะกบฎซ้ำ แต่ก็ไม่พ้นสายตาของบ้านเมือง ทางบ้านเมืองจึงวางแผนกลางปี พ.ศ. ๒๔๔๘ จะจับกุมตัว ถ้าจับได้คราวนี้คงจะไม่เอาไว้ให้เป็นเสี้ยนหนาม แต่แล้วความลับก็รั่วไหล
อับดุลกาเดร์หนีไปรัฐกลันตันรอดพ้นจากการถูกตะครุบตัวไปได้หวุดหวิด
ขณะอับดุลกาเดร์หลบภัยอยู่มาเลเซีย ทางประเทศไทยก็มีตัวตายตัวแทน
คราวนี้มีหัวหน้าโจรชื่อ "โต๊ะแต" มือขวาของอับดุลกาเดร์ ที่ยังไม่เคยมีข่าวพัวพันกับกบฎ ได้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้ราษฏรลุ่มหลง โต๊ะแตได้ถือโอกาสที่ประชาชนเข้าข้าง ชักชวนไม่ให้เสียภาษี พร้อมกับได้ปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อ จัดตั้งกองกำลังขึ้น ๑๐๐ กว่าคน...
ยกกองกำลังเผาที่ว่าการอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
เหตุเกิดปี พ.ศ.๒๔๕๓
คราวนี้พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตำแหน่งนายอำเภอเบตง ได้พยายามสืบสวนจนจับตัว
โต๊ะแตได้ หลังจากได้สอบสวน เค้นเอาความจริง จึงได้รู้ว่า ผู้บงการอยู่เบื้องหลัง คือ
อับดุลกาเดร์
เมื่อโต๊ะแตถูกจับ ไม่มีโอกาสออกมาปลุกระดม คิดว่าจะหมดเสี้ยนหนาม ปรากฎว่าได้มีคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทนทันที คนนี้ชื่อ หะยีบูละ ซึ่งก็เป็นแขนอีกข้างของอับดุลกาเดร์
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔...หะยีบูละ ก่อการจลาจลขึ้นที่ตำบลจันสตาวา อำเภอยะรัง จังหวัดยะลา เกิดปะทะกับหน่วยปราบปราม ซึ่งนำโดยพระยาศรีบุรีรัฐ นายอำเภอยะรัง
หะยียูละ ใช้มีดดาบฟันมือขวาพระยาครีบุรีรัฐขาดกระเด็น แต่ก็สามารถจับตัวได้ในที่สุด
แม้ว่าอับดุลกาเดร์หนีไปอยู่มลายู หลุดออกไปจากอำนาจแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียงของ
อับดุลกาเดร์กลับทวีความยิ่งใหญ่ขึ้น มีคนเคารพนับถือเป็นประหนึ่ง "แม่ทัพกู้ชาติ" ใครที่ได้พบเขาในประเทศมลายู จะตื่นเต้นดีใจ ถือว่าเป็นบุญ สมุนทั้งหลายจึงทำงานรับใช้อับดุลกาเดร์แบบถวายชีวิต ไม่มีความหวาดหวั่นว่าตัวเองจะเดือดร้อน ไม่เกรงกลัวความผิด
ปี พ.ศ. ๒๔๖๕...ก็เกิดเหตุร้ายรุนแรงขึ้นอีก
คราวนี้ สมุนของอับดุลกาเดร์ชื่อ "เปาะจิกา" เป็นหัวหน้ากบฎ คุมบริวาร ๑๕๐ คน ออกเที่ยวก่อกวนประชาชนไม่ให้สงบสุข มีการปล้นสะดมภ์ ราษฏรกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แม้จะเป็นอิสลามด้วยกัน ถ้าไม่เข้าช่วยเหลือเขา เขาจะปล้นแล้วฆ่าทิ้ง
แผนการของเปาะจิกาคราวนี้มีความแหลมคมมาก ทางบ้านเมืองสืบรู้ว่า กำลังของ
เปาะจิกาจำนวน ๑๕๐ จะยกพวกเข้าโจมตี แล้วยึดฐานเอาไว้ จะมีกองกำลังจากรัฐกลันตันอีกไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน พร้อมที่จะเข้ามาช่วยรบ
คราวนั้น พ.ต.อ. พระยาเหิมประยุทธการ เป็นผู้บัญชาการสู้รบที่ยะลา
ตำรวจไทยปะทะกับกองกำลังของเปาะจิกาครึ่งค่อนวัน ในที่สุด เปาะจิกา ก็ถูกปืนด่าวดิ้น นอนกอดปืนตายในท่านักรบ ส่วนสมุนบริวารถูก พ.ต.อ. พระยาเหิมประยุทธการ ปราบปราม ถูกกระสุนปืนล้มตายนับเป็นสิบคน ตำรวจตายไปหลายคน พวกที่เหลือถูกจับได้เกือบหมด
เมื่อการรบพ่ายแพ้ อับดุลกาเดร์เมื่อรับรู้เข้าถึงกับเป็นโรคหัวใจร้ายแรง เขาเสียใจมากที่ไม่อาจทำการสำเร็จ จึงล้มป่วย แม้ว่าจะป่วยเพราะความเสียใจเพียงใด อับดุลกาเดร์ก็มิได้ย่อท้อ เขายังคงสั่งสอนสมุนบริวารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ จะต้องสู้เอาปัตตานี แยกเป็นรัฐอิสระให้ได้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็จากไปท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบริวาร เมื่ออับดุลกาเดร์สิ้นลมหายใจ...ใช่ว่าเหตุการณ์จะสงบลงได้ ตรงกันข้ามกลับมีตัวตายตัวแทนคนใหม่ปรากฎตัวขึ้นมา คนทึ่ปรากฎตัวขึ้นมาแทนคราวนี้ มีศักดิ์เป็นถึง "ตวนกู" ซึ่งถือว่าสูงมาก มีนามว่า "ตวนกูอับดุลยะลา" ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า นายอดุลย์ ณ สายบุรี
ส.ส. ท่านนี้ได้อภิปรายที่รัฐสภา พระที่นั่งอนันตสมาคม
ปี พ.ศ.๒๔๘๗...ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ผมรวบรวมข่าวในสมัยนั้นได้ความว่า นายอดุลย์ ณ สายบุรี หรือ "ตวนกูอับดุลยะลา"
ส.ส. จังหวัดนราธิวาส ได้ลุกขึ้นอภิปรายกล่าวหาอย่างรุนแรงว่า ประเทศไทยปกครอง ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความไม่เป็นธรรม รัฐบาลข่มเหงรังแกประชาชน ไม่ให้เกียรติศาสนาอิสลาม มีการแบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่อยากเป็นคนไทย เป็นแล้วเสียเปรียบ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลุกขึ้นมาตอบและโต้ว่า ทั้งหมดเป็นการกล่าวหาใส่ความ เราเป็นคนไทยด้วยกัน ประเทศไทยไม่เคยมีเมืองขึ้น คำว่า ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือจะกี่จังหวัดก็ตาม เป็นพระราชอาณาจักรแหลมทองทั้งสิ้น ที่มีพี่น้องต่างชาติอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่อยู่นานวันเข้า ท่านทึกทักเอาเองว่าเป็นเมืองขึ้น
ข้าพเจ้าขอปฏิเสธข้อกล่าวหาของท่าน ส.ส. อดุลย์ ณ สายบุรี
เมื่อออกจากรัฐสภา...จอมพล ป. ได้สืบความลับจนรู้ว่า มี "ตวนกู" ที่โด่งดัง ๓ คนรวมหัวกันทำงานใต้ดิน ตั้งปณิธานจะแบ่งแยกดินแดน
๑. ตวนกูมะหมุดมะไฮยีดิน
๒. ตวนกูอับดุลยะลา หรือ "นายอดุลย์ ณ สายบุรี
๓. ตวนกูกูมัดตารอ
นี้เป็นปูมหลังตามตำราอันเป็นที่มาอีกท่อนหนึ่งของปัญหาแบ่งแยกดินแดน
มันเป็นปูมหลังที่มีอายุรวม ๑๐๙ ปี (นับถึงปี ๒๕๔๙)
แต่เป็นปูมหลังภาค ๑ เท่านั้น ยังมีภาค ๒ เป็นปูมหลังที่จะเขียนเปิดเผยต่อไป
โปรดรับทราบเอาไว้ว่า เรื่องที่ผมนำเอามาเปิดเผย ทั้งที่เป็นปูมหลังนอกตำรา และปูมหลังในตำรา ทั้งปูมหลังภาคที่ ๑ และปูมหลังภาคที่ ๒ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตลอดระยะเวลา ๑๐๙ ปีที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีแต่ความสยดสยอง เข่นฆ่าราวีกันไม่ได้หยุด พวกที่คิดจะแบ่งแยก ก็คิดไปหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบ ได้ถูกนำเอาขึ้นมาตั้งเป็นตุ๊กตา เพื่อจะสืบทอดเจตนารมณ์ของ
อับดุลกาเดร์อย่างไม่มีวันเลิก
ปูมหลังปัตตานีในตำรา จึงเป็นอีกลีลาหนึ่ง ที่สามารถค้นคว้าได้ในหอสมุดแห่งชาติ และ จะสามารถเรีบนรู้ได้จากเครือข่ายพูโต ที่ได้นำอุดมการณ์ของอับดุลกาเดร์มาเป็นแม่บท แล้วทำการขยายความหมายและวีธีการปฎิบัติให้พิศดารมากขึ้น
ถามว่าหลังจากอับดุลกาเดร์แล้ว มีใครบ้างเป็นหัวหน้าใหญ่ มีคำตอบเปิดเผยมากมายหลายคน เช่น หะยี สุหลง อับดุลกาเดร์, เป๊าะสู ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว เมื่อหมดยุคนี้ ก็มีคนรุ่นใหมเข้ามาสืบทอดอุดมการณ์ เผยตัวให้เห็นทั้งในชื่อจริงและชื่อจัดตั้ง จะเป็นใครบ้าง จะได้พบกันในหนังสือเล่มนี้