รักต่างวัยไดอารีออนไลน์ ตอนที่ 3
เชษฐภัทร วิสัยจร
สวัสดีพี่ตะวัน
ตะกี้เพิ่งคุยกับหลวงพี่ ฟังหลวงพี่เทศน์ เรื่อง "ศีลข้อที่สี่และข้อที่ห้า" แล้วอดนึกถึงตอนที่เรา รู้จักกันใหม่ ๆ ก่อนจะเริ่มคบกันไม่ได้
หลวงพี่บอกว่า เวลาที่จิตใจคนเราอยู่ในภาวะสั่นคลอนสุด ๆ อย่างเช่นคนอกหักอย่างผมเนี่ย การจะปรับเรียกสติกลับคืนมาได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องก่อนจะภาวนาชำระจิตใจก็คือ เราต้องชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน
หลวงพี่จึงลองให้ผมพิจารณาตัวเอง โดยยึดอัตวิสัยให้น้อยที่สุด (เพราะได้พูดไปแล้วเมื่อวานว่า "ภววิสัย" ไม่มีในโลก) ว่าผมมีศีลข้อไหนที่ผิดบ่อย
นั่งคิดนอนคิด แล้วศีลข้อที่ผิดอยู่มากกว่าใครเพื่อนก็คงจะมีอยู่สองข้อ ก็คือ ข้อสี่ และข้อที่ห้า
ศีลข้อที่สี่ "มุสาวาทา" นั้นมิได้มีแต่ เพียงการกล่าวเท็จอย่างเดียว หากแต่ยังรวมถึงการพูดส่อเสียด ว่าร้ายคนอื่นทั้งในที่ลับและที่แจ้ง รวมถึงในโลกไซเบอร์ด้วย
เมื่อผมผิดศีลข้อที่สี่ ผลที่ตามมา ก็ย่อมจะมี "เจ้ากรรมนายเวร" มาทวงหนี้ ด้วยการ กล่าวร้ายและส่อเสียดกลับคืน
ส่งผลให้ผมต้องผิดศีลข้อที่ ห้า ก็คือการ "เสพของมึนเมา" ในที่นี้ คือเสพผรุสวาที ของเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายเหล่านั้น
ในกรณีนี้หลวงพี่ท่านได้ตีความศีลข้อห้า ไว้ ว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามทั้งสุราน้ำเมา กาแฟที่ดืมแล้วบ้า รวมถึงคำพูดที่ส่อเสียดทิ่มแทง หากแม้นเสพ เข้าไปแล้วทำให้ เรา "เสียสติ" จนเป็นอุปสรรคแก่การภาวนาสมาธิ แล้วก็ให้หมายรวมไว้ด้วยกันหมด
คุย ๆ กับหลวงพี่เรื่องนี้ ต้องนึกย้อนไปถึงสมัยที่ผมรู้จักกับพี่ตะวันใหม่ ๆ
เมื่อก่อนสมัยที่ผมเขียน diaryhome ใหม่ ๆ ผมเดาเอาว่า พี่ตะวันคงมาติดใจเอาสำนวน การเขียนที่เสียดเย้ย ของผม จนต้องเขียนคอมเม้นใส่ลงในได ผมทุกวัน
ถึงแม้ผมไม่เคยจะตอบ แต่ผมก็อ่านคอมเม้นของพี่ตะวันอยู่เป็นประจำ เพราะมันมักจะยาวเสมอ
จนเมื่อเรามาคบกันแล้ว ยิ่งผมได้รู้จัก กับพี่ตะวัน ผมยิ่งได้รู้ว่า สิ่งที่พี่ตะวัน "เกลียด" ที่สุด สิ่งหนึ่ง ก็คือ การถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์
แม้ผมจะพยายามอธิบายให้พี่ตะวันฟัง ว่าบางครั้งการถกเถียงเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดการสันดาปทางความคิดในทางวิชาการก็ตาม
แต่พี่ตะวันคงยังยืนกรานที่จะต่อต้านท้อปปิกการ "ทุ่มเถียง" ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชามาร หรือวิชาการอยู่ร่ำไป
ทุกวันนี้ผมเข้าใจพี่ตะวันมากขึ้น ว่าเหตุใดพี่ตะวันถึงไม่เรื่องพรรค์อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นในวงวิชาการ วงเหล้า หรือวงไพ่
หากจะสรรหาคำอธิบายในมุมของ พุทธทาสภิกขุเรื่อง ตัวกรูของกรู แล้ว
ลองได้มาเถียงกัน หากปราศจากซึ่งความเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขาเป็นต้นทุนแล้ว คนเรายิ่งมีความรู้สูงเท่าไร อัตราส่วนของความต้องการที่จะสำแดง "อีโก้" ของตัวตน ก็ยิ่งจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ยิ่งพูดยิ่งคุย ยิ่งหลงตัวตนมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งจะเกิด อคติ จนนำไปสู่ โอกาสที่จะผิดศีลข้อที่ สี่และข้อที่ห้า
นี่และมั้ง
ตอนที่พี่ตะวันบอกเลิกผมใหม่ ๆ หลวงพี่บอกว่า "You are what you eat"
"คุณกินคำพูดแบบไหนเข้าไป คุณก็กระวนกระวายไปกับคำพูดพวกนั้นในท้อง และสำรอกและคายคำพูดพวกนั้นออกมา"
หลวงพี่จึงได้แนะนำให้ ผมหาหนังสือสบาย ๆ หนังสือธรรมะ เบา ๆ มาอ่าน รวมถึงให้งดการทุ่มเถียง งดการอ่านคำพูดด่าทอส่อเสียดในทุก ๆ กรณี
"ตอนนี้เราก็เหมือนคนที่กำลังท้องเสีย จะให้กินส้มตำปูปลาร้าลงไป ก็คงจะไม่ไหว คงต้องหาอาหารเบา ๆ กินจนกว่าร่างกายจะฟื้น"
แม้ว่าผมก็ยังอดนึกถึง คำพูดปลอบโยน คำพูดที่เต็มไปด้วยความเข้าใจที่พี่ตะวันทิ้งไว้ในคอมเม้นไดอารี่ของผมช่วงต้นปี 2548 ไม่ได้
ถึงจะกระนั้นก็เถอะ พอก็ยังจำเป็นที่จะต้องเตือนสติตัวเองให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกของตนให้ได้อยู่ดี
คิดถึงที่สุด
ต้นไม้