รักต่างวัยไดอารีออนไลน์ ตอนที่ 2

เชษฐภัทร วิสัยจร

เมื่อวานนี้ตอนสอบเสร็จผมเดินไปร้านนายอินทร์ท่าพระจันทร์ เผอิญเห็นชุดหนังสือของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วอดนึกถึงตอนที่พี่ตะวันอ่านเรื่อง "ซูสีไทเฮา"ให้ผมฟัง ตอนที่ผมขับรถกลับจากสุโขทัยไม่ได้
ผมเห็นว่ามีหลายเล่มน่าสนใจเลยลองหยิบมาอ่านดู
แต่เล่มที่อยากจะพูดถึงที่สุดก็คือเรื่อง "พม่าเสียเมือง"
แต่ไม่รู้อะไรมาป่วนใจ พออ่านจบแล้วเหมือนผมรู้สึกอยากจะอาเจียนออกมาเป็นสำเนียงเมาะตะมะอย่างไรอย่างนั้น 
ถึงตอนนั้นผมก็พอจะเข้าใจแล้วว่า เหตุใด ส.ศิวรักษ์ถึงได้จงเกลียดจงชังแกนัก 
พี่ ๆ บอกว่า เราต้องทำความเข้าใจว่าคนเขียนเป็นใคร มีปูมหลังอย่างไร อ่านแล้วก็อย่าเชื่ออะไรมาก ควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูตามหลักกาลามสูตรเสียก่อน แล้วค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม ที่สำคัญเราควร "อ่านตาไว้ตา"
ผมล่ะอยากรู้เสียจริง ว่าเอกสาร พงศาวดารพม่าจะบันทึกเรื่องพวกนี้ไว้อย่างไร
ผมเล่าเรื่องนี้ให้หลวงพี่ฟัง หลวงพี่ลงความเห็นว่า "ภววิสัย" (objectivity) ไม่มีในโลกหรอก แค่เรารังเกียจ "อัตวิสัย" (subjectivity) ของนักเขียนสักคน และร้องเรียกหา "ภววิสัย" ก็ถือว่า เป็น "อัตวิสัย" อย่างหนึ่งแล้ว ถึงแม้เราจะพยายามค้นคว้าหาข้อมูลมาทำให้ ความรู้ของเราฟัง "ขึ้น" แค่ไหนก็ตาม 
ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นการตีความของปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น
ในทางวรรณคดีก็เช่นกัน ผมเคยอ่านกวีนิพนธ์ของกวีหลายคนทั้ง ไทย และ ต่างประเทศที่เขียนเพ้อพร่ำพรรณนาถึงหญิงที่ตัวเองรักซึ่งทิ้งเขาไป 
หลายคนเขียนตัดพ้อต่อว่า รำพึงรำพรรณบ้าบอคอแตก
อย่าง นาย Sir Philip Sydney อย่างงี้ เขียนบริภาษภรรยาเก่าตัวเองว่า เป็น "cocquette" ซึ่งผมจะขอไม่แปลละกัน แต่ที่แน่ ๆ ความหมายไม่ดีเท่าไหร่ 
เท่าที่ผมอ่านดู ผมก็ไม่เชื่อเสียทีเดียว หรอกว่า ภรรยาของนายคนนี้จะเป็น "coquette" อย่างที่ท่าน(มัน)อ้าง ผมเดาว่า มันคงโดนเขาทิ้งมากกว่า แล้วเกิดนึกแค้นเลยหาที่ระบายอารมณ์
ถ้ากวีคนนั้นมันเลว หน้าตัวเมียถึงขั้นเขียนด่า ภรรยาเก่าตัวเองได้ขนาดนั้น อยากถามว่า เหตุใดคนถึงได้หลงใหลศึกษางานชิ้นนี้มากว่าสี่ซ้า ห้าร้อยปี
คำตอบก็คงจะเป็นว่า 
1. คนอ่านคงดูเฉพาะฉันทลักษณ์ อักขรวิธี ความเปรียบและความงามความคิดรวมถึงการสรรคำมากกว่า เนื้อหาสาระ
2. คนอ่านในระดับที่มีความรู้อ่านกวีนิพนธ์ได้แตก คงจะสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่า อะไรเป็น "อัตวิสัย" ของใคร อย่างไร และอะไรควรเชื่อในระดับใด
ที่ยกตัวอย่างมาเนี่ย ไม่ได้มี แค่ Sir Philip Sydney แม้แต่ sonnet หลาย ๆ ชิ้นของ William Shakespeare เองก็มีเนื้อหาไปในทำนองอย่างนี้ 
รวมถึงกวีร่วมสมัยระดับรางวัลโนเบลอย่าง Pablo Neruda 
กวีซีไรท์ของไทย อย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์หรือไพวรินทร์ ขาวงาม ก็เขียนงานทำนองนี้กันโดยมิได้นัดหมายทั้งนั้น
(รวมถึงพวกแต่งเพลงวัยรุ่นอกหักของค่ายเพลงทั้งหลายอีกด้วย)
ถามว่าทำไมพวกเขาถึงกล้าเขียน พวกเขาไม่กลัวโดนประณามว่า หน้าตัวเมียหรอกหรือ?
ลุงเพิ่มเคยบอกผมว่า "หากจะเขียนบทอัศจรรย์ ต้องสรรคำ และใช้กลวิธีให้ได้ดี ถ้าทำได้ไม่ถึงขั้น คนเขาจะประณามเอาเปล่า ๆ ว่าไม่มีฝีมือ"
และผมเห็นว่า แนวคิดของลุงเพิ่มสามารถเอามาปรับใช้ กับกลอนแนวนี้ได้ เพราะความงามของฉันทลักษณ์ อักขรวิธี รวมถงกลยุทธ์ในการนำเสนอ จะบดบัง กิเลสความเห็นแก่ตัวของผู้ประพันธ์ได้เอง 
แต่ต้องมั่นใจว่าฝีมือคุณถึงขั้นรึเปล่า
----------------------
ปู่เนาว์เคยบอกไว้ว่า "จุดเริ่มต้นของคนเขียนกวี เพราะต้องเกิดมาเขียนกวี ล้วนกำเนิดมาจากกลอนอกหักทั้งนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นก็ตาม"
อาจารย์ Simon Wright เคยบอกไว้ว่า "The greatest piece of art originates from human being's greatest pain"
(งานศิลปะที่ยิงยงเกิดมาจากความเจ็บปวดของมนุษยชาติ)
ฟังความคิดเห็นของทั้งสองท่านแล้วนึกถึงตัวผมเอง
ต้องยอมสารภาพเลยว่า ในวันแรกที่พี่ตะวันบอกจะเลิกคบกับผมนั้น ผมโกรธมาก และตั้งใจเอาความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ มาเขียนงานชุดใหม่
พอเวลาผ่านไป แม้ผมจะยังอยากเขียน แต่จิตใต้สำนึกของผมมันไม่เอาด้วย 
สาเหตุก็คงจะเป็นเพราะว่า ผมได้ก้าวผ่านระดับ "เริ่มต้น" ของการเขียนกลอนไปแล้ว เหมือนเด็กเรียนชั้นป.สาม จะให้มานั่งคัด ก.ไก่ ข.ไข่ เหมือนชั้นอนุบาล ให้ทำก็คงพอทำได้ แต่ถ้าจะทำจริง ๆ จัง ๆ เด็กมันก็คงจะเบื่อ และขี้เกียจ สู้ไปหาอะไรอย่างอื่นหนุก ๆ ทำดีกว่า
แลถ้าจะให้ผมกลับไปเขียนกลอนอกหัก เหมือนในหนังสือ "บนหมารองรางรถไฟฟ้อน" ก็คงจะดูกระไรอยู่
พี่ตะวันจำได้ไหม ในหนังสือเรื่อง "สงคริดสักสาม" นั่น ผมฝืนเกือบตาย ผมดัดจริตที่จะไม่เขียนกลอนตัดพ้อต่อว่าผู้หญิง แล้วพองานที่ออกมา ก็โดน อาจารย์ตรีศิลป์ตำหนิว่า ช่างขาดความจริงใจสิ้นดี 
"มันเหมือน เด็กพยายามเอาเสื้อผ้าผู้ใหญ่มาใส่ แล้วใส่ไม่ได้ ดูหลวม ดูตลก"
ผมภูมิใจนะ ที่ตอนนี้ ผมเขียนงานตัดพ้อต่อว่า งานอกหักไม่ลง โดยที่ไม่ต้องเสแสร้งดัดจริต
มันก็คงเหมือนกับ เด็กที่โตขึ้นแล้ว จะให้ ย้อนกลับไปใส่เสื้อผ้าตอนที่เด็กกว่า ก็คงใส่ไม่ได้
อย่างไงอย่างงั้น
 
รักเสมอ
จากต้นไม้				
comments powered by Disqus
  • ละอ่อนดงนารี

    20 สิงหาคม 2552 10:26 น. - comment id 107354

    ดีมีสาระ17.gif48.gif48.gif49.gif41.gif40.gif47.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน