นอกกรอบกับเทศกาลเช็งเม้ง

อัลมิตรา

เสียงประทัดดังประปรายมาเป็นระยะ ๆ  .. จากวัดที่อยู่ไม่ใกล้นัก แต่ก็พอจะมีเสียงเล็ดลอดมาบ้าง ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในขณะนี้ ทำให้เราคิดว่า การไปเช็งเม้งสำหรับเรานั้น ต้องเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและอดทนจริง ๆ
จำได้ว่า ..เมื่อตอนเราเป็นเด็กไม่บ่อยนัก ที่เราจะติดสอยห้อยตามญาติ ๆ ไปสุสานบรรพบุรุษ .. อาจจะเป็นเพราะเราเมารถ  และเป็นเจ้าตัวเล็กสุด ที่ใครต่อใครไม่อยากพาไปไหนให้ลำบากลำบน เสี่ยงต่อการกลับมาแล้วไม่สบาย แต่เราก็เคยไป ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.สระบุรี ที่เป็นหลุมศพของญาติฝ่ายพ่อ และ จ.ชลบุรี ที่เป็นหลุมศพของญาติฝ่ายแม่ การเดินทางเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่เห็นแสงอาทิตย์ .. เราหอบหมอนไปนอนต่อในรถ เขย่า โขยก เขยก .. สักพัก ก็ต้องรีบเปิดหน้าต่างรถ และสิ้นสุดด้วยการอาเจียนแทบทุกครั้งไป
" ไม่รู้จะร้องตามมาทำไม ..?  อ๊วกแตกอีกแล้ว..เฮ้อ !.."  เสียงบ่นที่เราฟังจนชิน ใครล่ะอยากทรมาน ใครล่ะอยากเมารถ ก็ไม่ยอมพาเราไปไหนต่อไหนให้คุ้นชินกับสภาพการเดินทาง มันก็เลยต้องล้างรถแบบนี้ล่ะ (คิดในใจ)
เราไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกับญาติ ๆ ที่สุสานหรอก และอีกอย่าง เราไม่ค่อยมีความรู้สึกผูกพันกับญาติที่อยู่ในหลุมสักเท่าไหร่ หลายคนที่นอนนิ่งอยู่ในนั้น เราไม่รู้จัก ..ตอนนั้นเรามีเหตุผลอื่นที่เย้ายวนมากกว่า ..
ทันทีที่ถึงสุสาน เราและพี่ชายอีกสองคน ก็รีบเผ่นออกจากรถและเริ่มปฏิบัติการบางอย่างที่ไม่อาจบอกให้ ญาติ ๆ รู้ได้ เราพกพู่กัน กระดาษสีแดงที่ตัดเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ เราพกไว้เต็มกระเป๋ากางเกงสองข้าง ของพวกนี้หาได้ไม่ยาก
เราปันมาจากของที่บ้านเตรียมไว้นั่นล่ะ  
สามคนคอยมองหา เวลามีคนเข้าเขตสุสานก็จะรีบวิ่งไปหา และบอกว่าจะขอติดกระดาษสีแดงให้ พี่ชายก็เตรียมสายรุ้งประดับหลุม งานติดกระดาษแดงจะได้คราวละ 5 - 10 บาท นับว่าเป็นรายได้ไม่เลวสำหรับเด็กในสมัยนั้น แต่เราชอบที่จะลงสีที่ป้ายชื่อหลุมมากกว่า รายได้จะสูงกว่าประมาณ 4-5 เท่า บางหลุมชื่อยาวเหยียดใช้เวลานาน จนบางทีพวกเขา (หมายถึงคนที่ว่าจ้าง) ต้องลงมาช่วย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สามพี่น้องจะได้คนว่าจ้างสักราย เพราะบางทีก็ต้องวิ่งแข่งกับเจ้าถิ่น ชิงลูกค้ากันซึ่ง ๆ หน้า อาศัยว่า การแต่งกายของพวกเรากับรูปพรรณสัณฐาน ทำให้คนที่เข้าไปสุสานพอจะนับเชื้อนับญาติได้บ้างว่าเป็นเผ่าพันธุ์ผสมเหมือนกัน
ก็มีนะ  ที่โดนเจ้าถิ่นแกล้งเอาโน่น เอานี่ มาปาหัวบ้าง .. แต่เราไม่สนใจ เรื่องน่าสนคือ เงินที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า
จังหวะที่พวกเราไปโต๋เต๋ที่หลุมศพอื่น ที่หลุมศพของญาติผู้ใหญ่ของเราก็เริ่มจะคับคั่งไปด้วยจำนวนญาติที่ทยอยกันมาถึง ต่างคนก็ต่างมา ต่างก็แบ่งกันแล้วว่าใครจะเตรียมอะไรมาเซ่นไหว้ เรื่องของหลุมศพญาติ เป็นเรื่องที่พวกเด็กเล็กอย่างเราไม่เกี่ยว รอแต่ว่า เมื่อไหร่จะเรียกไปจุดธูปเท่านั้น และรออีกที ตอนที่กลับเข้ามาในตัวอาคารของสมาคมเพื่อที่จะกินข้าว  บรรดาญาติจะจัดแจงกันเอง หมู เป็ด ไก่ .. 
บรรพบุรุษกินอิ่มหรือยังก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า หลังจากตากแดดอุ่นประเดี๋ยว ก็ยกเข้ามาสับกินกันในที่ร่มแล้ว เศษเหรียญในกระเป๋ากระทบดังกรุ๊งกริ๊ง สามตัวจ้อยสบตากันแล้วยิ้มกริ่ม นี่ถ้าแม่รู้ .. คงโดนเอ็ดเป็นแถว ส่วนพ่อน่ะเหรอ .. ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะพ่อยังช่วยดูต้นทางให้อีกต่างหาก				
กว่าสิบปี .. ที่เราไม่ได้ไปสุสานอีกเลย ความทรงจำทั้งหมดของเรา เหมือนชะงักงันไว้เพียงภาพที่เล่าเบื้องต้น พ่อของเราไม่อยู่ดูต้นทางให้เราอีกต่อไปแล้ว เหมือนใยบาง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกมีความสัมพันธ์บ้างกับผู้ที่ถูกฝังร่าง หายไปด้วย..ทุกวันนี้ แม่ยังคงไปที่สุสาน ทำหน้าที่ของสะใภ้ และทำหน้าที่ของลูกสาวที่ดี หอบข้าวของไปเซ่นไหว้ทุก ๆ ปี พี่ชายกลายเป็นสารถีพาแม่ไปไหนต่อไหน ส่วนเราทำหน้าที่เป็นตู้เอทีเอ็ม แม่มีรายการยาวเหยียดให้เราจ่ายทุน แม่รู้ว่า .. เราจะไม่ไปที่สุสานอีกต่อไป แม่ไม่ได้ถามถึง แต่เรารู้ว่า .. แม่รู้ถึงเหตุผลที่ทำให้เราไม่อยากไป

ไม่รู้ว่าเราจะเป็นคนบาปหรือเปล่า ที่ไม่ได้ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หนำซ้ำ ในงานศพพ่อ เราเฝ้ามองบรรดาคนที่เล่นปาหี่ ด้วยความรู้สึกที่เฉยชา พิธีกงเต็กที่ดูเหมือนเผาทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงความศรัทธาในบางอย่างหายไปด้วย  เราไม่อยากถกเถียงกับบรรดาญาติผู้ใหญ่ .. ทำไมต้องเอาเงินมาละลาย ทำไมต้องเอาเงินมาซื้อกระดาษและเผา .. สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

เรายังจำบทสนทนากับพ่อได้ เมื่อคราวที่เคยมีโอกาสคุยกัน.. พ่อบอกว่า ถ้าพ่อเป็นอะไร ขอให้เผาและทำบุญให้ก็พอ พ่อยังบอกอีกว่า .. "..คนที่อยู่ใต้ดิน ไม่รู้ว่าไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว คนยังกราบไหว้กันอีก..แต่อีกหน่อยคงเหงา คนไม่มา.."

ลูกหลานน่าจะเอาใจใส่พ่อแม่หรือปู่ย่าในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ไปไหว้ตอนเสียชีวิตแล้ว พ่อมักจะกล่าวเสมอว่า ต้องดูแลกันตอนนี้ ตายไปแล้วจะไหว้ยังไงก็ไม่มีประโยชน์ 

ในสายตาของเรา เช็งเม้งเป็นกุศโลบายชั้นเยี่ยมยอด ..  อย่างน้อยก็ทำให้หลาย ๆ คนที่นานทีปีหนจะได้มีโอกาสเจอกันได้ทำอะไรต่อมิอะไรร่วมกัน นอกจากวันตรุษก็น่าจะเป็นวันเช็งเม้งที่ญาติพี่น้องจะได้เจอกันพร้อมหน้า

เอ..เราจะอยู่นอกกรอบเกินไปหรือเปล่า .. ช่างเถอะ บางทีจังหวะที่อยู่ในกรอบมันไม่น่าสนใจเท่าที่ควร				
กำลังคิดเรื่องเช็งเม้งเพลิน ๆ ก็ถูกขัดจังหวะเสียได้

"..ทำอะไรอยู่ครับ.."
"..หายใจทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ อยู่ค่ะ.."
"..???.."
"..ผมมีเรื่องจะแจ้ง อย่างด่วนครับ..."
"..หืม...มาแปลก.."
"..สัมมนาวันที่ 31 - 2 ปลายสัปดาห์นี้.."
"..อะไรจะด่วนปานนั้น.."
"..ติดธุระหรือเปล่า ?.."
"..นิดหน่อย.."
"..เช้งเม้ง ?.."
"..ไม่ใช่ค่ะ.."
"..แล้วว่าไง ตกลงไหม เรื่องสัมมนา.."
"..วันที่ 2 กลับมาถึง กทม.กี่โมงคะ.."
"..???.."
"..จะไปเลือกตั้งค่ะ.."
"..ได้ ขากลับ กลับพร้อมผม.."
"..ถ้าไม่ทันล่ะ..เอ ! ..เป็นแผนหรือเปล่าให้กลับมาเลือกตั้งไม่ทัน.."
"..???.."
"..ล้อเล่นน่ะ กลับมาให้ทันก่อนปิดหีบละกัน.."
"..จะพยายามนะ.."
"..ถ้าคิดว่า กลับไม่ทัน หรือต้องให้ลุ้นตอนเดินทางกลับ จะไม่ไปนะคะ.."
"..โอ้โห คุณนี่.."
"..เถอะน่า จู่ ๆ มาบอกเรื่องด่วน พอมีเงื่อนไขเข้าหน่อย โวยวายไปได้.."
"..ครับ ครับ โอเค เราจะเดินทางกลับหลังอาหารมื้อเช้าละกัน.."
"..โอเชมิวสิค.."				
comments powered by Disqus
  • กุ้งหนามแดง

    28 มีนาคม 2549 15:59 น. - comment id 90268

    ไม่เคยไปเลยค่ะ แต่มีหน้าที่ต้องช่วยเพื่อนสรรหาของไปเช็งเม้ง ทุกที  
    
    ยกน้ำขวดขึ้นรถ ประจำเลย..(สงสัยเพื่อนเห็นเราแข็งแรง หรือใช้ง่ายหว่า อิอิ)
    ..
  • ศิษย์น้องน้อย ขอรับ

    29 มีนาคม 2549 21:43 น. - comment id 90287

    ไม่มีเชื้อจีนอ่ะครับ...ตอนนี้มีแต่เชื้อโรค คิ คิ เต็มไปหมดเลยครับ30.gif
  • อัลมิตรา

    30 มีนาคม 2549 07:25 น. - comment id 90289

    คุณกุ้งหนามแดง .. ๕๕๕ คงเห็นหน่วยก้านดีค่ะ คำตอบอันแรกน่าจะถูก
    
    ศิษย์น้อง .. เชื้อโรค คิ คิ .. เป็นเชื้อเดียวกับที่อาหมอวฤก ต้องตรากตรำอยู่นาน
    เอาน่า .. เป็นหมอ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น กุศลแรงน๊า
  • ฤกษ์(ไม่ได้ล๊อกอิน)

    30 มีนาคม 2549 13:23 น. - comment id 90292

    การหากินกับหลุมศพเดี๋ยวนี้พัฒนาไปมากแล้วไม่ตอ้งรอถึงเช็งเม๊ง เขาขุดทำลายฮวงซุ้ยเอาของมีค่า รายใหม่ๆ เอาโลงจำปาไปขายได้หลายตังด้วย ตอนที่ทำถนนบายพาสที่ชลบุรีเคยอ่านพบ
    ข่าวว่าฮวงซุ้ยถูกทำลายไปมากมายญาติที่ไม่ทราบเรื่องไม่ได้มาย้ายเขาถือว่าไร้ญาติ พอนาน ๆ กลับมาเยี่ยมทีหาไม่เจอซะแล้ว
    
    เราเจ็บไจพวกพันธุ์ผสม เขาเรียกเราคนไทยหน้าดำ ๆว่า ฮวนนั๊งซัวปา เราก็ไม่ค่อยจะรู้ว่าแปลว่าอะไร พอมาถามพวกคนจีนแก่ ๆ เขาบอกว่า พวกนั้นว่าเอ็งเป็นบ้านนอก อิอิ เราไม่ยักโกรธแต่กลับไปหาเรื่องว่ากลับว่าพวกนั้นเป็นพวกเสื่อผืนหมอนใบมาอาศัยเมืองไทย อิอิ ว่ากันไปว่ากันมาลงท้ายที่ว่าใครรวยกว่ากัน เราก็ต้องยอม เพราะพวกนั้นทำไมเขารวย ๆ ทุกคนก็ไม่รู้ อิอิดูอย่างพวกม๊อบ ได้เงินหลายล้าน เลยไม่ยอมเลิกไปหาที่คนรวย ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็ได้เงินมากขึ้นออกข่าวจะไปวันโน้นวันนี้พอเขาเต๊ยเงินให้ก็เปลี่ยน อิอิไม่ทราบว่าแบ่งกันยังไง อิอิ
  • อัลมิตรา

    30 มีนาคม 2549 14:04 น. - comment id 90293

    บรรพบุรุษของอัลมิตราเดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาตั้งรกรากที่เมืองไทยประมาณปลายรัชกาลที่ ๗
    การเดินทางในสมัยนั้น โดยเรือสำเภา ซึ่งก็กินเวลานับเดือนกว่าจะมาถึงเมืองไทย 
    บนเรือสำเภาที่เต็มไปด้วยคนอพยพนั้น .. ตายไปกว่าครึ่ง
    เสื่อผื่น + หมอนใบ เป็นเช่นนั้นตามคำบอกเล่า มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น และต้องใช้แรงกายแลกเงิน
    กว่าจะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ ที่สุขสบาย .. ก่อนหน้านั้นความเป็นอย่างแตกต่างกันอย่างลิบลับ
    
    ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในตระกูลและยังถือบัตรต่างดาว เหลือเพียงอาผู้ชายคนเล็กเท่านั้น นอกนั้น..ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
    เคยถามเหมือนกัน.. ว่าทำไมต้องมาอยู่ในเมืองไทย พ่อบอกว่า 
    \"..หนีสงคราม เมืองไทยร่มเย็นเป็นสุข ในหลวงใจดี.. และคนไทยก็ใจดี..\"
    คนที่ดิ้นรนมาอยู่เมืองไทยในตอนนั้น อัลมิตราเข้าใจว่า หนีร้อนมาพึ่งเย็นมาพึ่งใบบุญพระบารมีฯ
    และที่สำคัญพวกเขามองเห็นความหวัง 
    
    ปู่ส่งเงินไปเมืองจีนทุก ๆ ปี ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ได้ว่า เงินก้อนดังกล่าวจะถูกส่งไปถึงมือญาติพี่น้องที่อยู่เมืองจีนหรือเปล่า
    ปู่ยังเป็นห่วงอีกหลายชีวิตที่ตกค้างอยู่ที่นั่น .. จีนเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วในตอนนั้น 
    
    อัลมิตราใช้ภาษาจีนในช่วงวัยเยาว์ค่อนข้างมาก เพราะรายล้อมไปด้วยบรรดาญาติ ๆ ที่เป็นคนจีน
    แต่ก็จะใช้ภาษาไทย,ภาษาอังกฤษ ขณะที่อยู่ในโรงเรียน และใช้ภาษาไทยปนจีนบ้างกับคนงานในโรงงานที่บ้าน
    
    ฮวงนั้ง ตึ่งนั้ง ... มีอะไรแตกต่างไปจากคำเขียนและคำออกเสียง .. ความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกคัดสรรจากเผ่าพันธุ์
    อย่าเจ็บใจเลย .. หากว่ามีบางคำที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วสะเทือนใจ เพราะความรู้สึกคงเช่นกันกับที่พวกเขาได้ยินคำว่า ..เจ๊ก..
    มันเป็นช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ที่จะประสมกลมเกลียวกันโดยไม่มีข้อแตกต่างและแตกแยก .. 
    อย่าลืมว่า ก่อนหน้าที่คนไทยจะตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ตามประวัติศาสตร์ก็บ่งบอกไว้ว่า อพยพกันมาจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง
    คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะ เข้าใจว่า ถึงแม้จะเป็นลูกครึ่ง ครึ่งลูก เต็มลูก ... หากเกิดบนผืนแผ่นดินไทยแล้ว ก็คือคนไทย
    จะมีเชื้อพันธุ์ผสมมาบ้างก็ไม่เป็นไร ..  ถ้าเชื้อนั้นไม่บ้าบอ .. ไม่ทำลายประเทศชาติ .. ไม่ห้ำหั่นกันเอง ..
  • นุ๊ก

    18 มีนาคม 2551 13:29 น. - comment id 99613

    รักเมย์

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน