ก่อบ้าน สร้างเมือง

สร้อยแสงแดง

และเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ผมก็พบการตอกย้ำแนวคิดของเรื่องนี้โดยบังเอิญ ผมขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวระยอง ขากลับลองขับกลับทางฉะเชิงเทราด้วยกลัวรถติด ผมขับมาตามทาง ๓๓๑ เลี้ยวซ้ายไปทางแปลงยาวแล้วมาเลี้ยวซ้ายอีกทีที่สี่แยกบางคล้า ขับเข้าสู่ฉะเชิงเทราด้วยความเร็วสบายๆ สักครู่ก็มาหยุดที่เก๋งจีนด้านซ้ายมือ อาคารทรงจีนโมเดอร์นน่ารักทีเดียว มีป้ายเขียนไว้ว่า ตั้งเซ่งจั๊วะ ซึ่งเป็นร้านทำขนมเปี๊ยะที่มีชื่อของบางคล้ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ร้านนี้ถือว่าเป็นเทือกเถาที่สามนับแต่ต้นตระกูลมาตั้งรกรากทำมาหากินที่บางคล้า  พอเดินเข้าสู่บริเวณก็นึกชอบ ภรรยาผมซึ่งเป็นคนบางคล้าบอกว่าหลานชายร้านนี้เป็นสถาปนิก มิน่าเล่าจึงออกแบบได้โดนใจทีเดียว เหมือนกับตั้งใจจะยกเอาอำเภอบางคล้ามาใส่อาคารนี่เสียทั้งหมด เราเดินผ่านซุ้มขนาดกะทัดรัดเข้าไปในอาคารทรงจีน เปิดประตูเข้าไปก็มองเห็นเรือนแถวไม้เก่าสร้างตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเหมือนเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ยังไงยังงั้น เรือนแถวสร้างไว้ห้องเดียวมีเล่าเต๊ง จำได้ว่าหลังจากประสพอัคคีภัยเมื่อราว ๒๐ ปีก่อน ห้องแถวไม้สองชั้นในบางคล้าทั้งอำเภอก็แปรสภาพเป็นอาคารแถวก่ออิฐถือปูน สามสี่ชั้น เหลือของเดิมไว้ให้เห็นเพียงไม่กี่ห้อง  และห้องที่จำลองขึ้นในร้านขนมเปี๊ยะนี้ก็ช่างสะท้อนอดีตได้ดีเหลือเกิน นอกจากขนมเปี๊ยะหลากชนิด ยังมีชา กาแฟ ไว้ขายและให้บริการ ส่วนที่แตกต่างออกไปจากร้านอื่นๆก็คือ ความตั้งใจของผู้ออกแบบที่พยายามจะถ่ายทอดอดีตและประวัติของบรรพบุรุษด้วยการนำเสนอภาพในอดีต เรื่องราวของอำเภอบางคล้า ของที่ระลึกระดับตั้งแต่ยี่ห้อตนเองจนถึงระดับอำเภอไปจนถึงค้างคาวแม่ไก่ที่คงไม่ได้ค่าสปอนเซอร์ สรุปโดยรวมแล้วต้องขอชมเจตคติของผู้ออกแบบ เจ้าของร้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้แต่ลูกชายผมยังถามเลยว่า ทำไมต้องทำเสียดีเลย แค่ร้านหนมเปี๊ยะ ผมอึ้งสักครู่แล้วตอบไปนำขุ่นๆ อ้าว ก็ รุ่นหนึ่งต่อสู้กระเสือกกระสน รุ่นสองเสริมสร้างฐานะด้วยการทำงานหนักจนรวย รุ่นสามก็ต้องเอ็นจอยน่ะซี  ไม่น่าถามเลย ลูกชายผมก็เลยเสริมต่อว่า อ๋อ เรียกว่า ๓ ยุคใช่ไหมพ่อ คือยุค กระเสือกกระสน ทุรนทุราย สบายลูกหลานไง ผมก็ได้แต่ตอบในใจ เออว่ะ เออว่ะ
มายังไง
โจทย์ที่ผมได้รับมาคือขอให้เขียนเรื่องก่อบ้านสร้างเมืองนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่อธิบายถึงการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯในด้านสถาปัตยกรรมโดยรวม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีผู้เขียนที่ทรงคุณวุฒิมากมายท่านได้เขียนไว้ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแข็งแรงที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนบางกอกตั้งแต่วันวานจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นผมจึงใช้เวลาค่อนข้างนานที่จะหาอรรถาธิบายอีกทั้งแรงดลใจในการที่จะพยายามอธิบายหัวเรื่องดังกล่าวในลักษณะความเข้าใจพื้นๆที่ไม่ต้องเป็นสถาปนิกก็อ่านได้มากกว่า จึงต้องเรียนให้ทราบตั้งแต่ต้นว่าทั้งบ้านทรงสเปนและร้านขนมเปี๊ยะกลายเป็นแรงบันดาลใจในแนวคิดของเรื่องนี้ ต้องขอขอบคุณ
ก่อบ้าน สร้างเมือง
ที่จริงคำว่า ก่อบ้าน ไม่น่าจะเกิดในบ้านเรามาก่อน แต่คงจะเป็นเพราะการต้องการความหมายเก๋ๆของชื่อ ทั้งนี้เพราะ คนไทยไม่ก่อบ้าน แต่จะก่อสิ่งที่เป็นโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิความเชื่อมากกว่าเช่นก่อพระเจดีย์เป็นต้น โดยความรู้สึกพื้นๆแล้วเราน่าจะเรียกว่า ผูกบ้าน หรือ สับบ้าน เพราะบ้านไทยแต่โบราณมีเพียงเรือนผูกหรือเรือนสับเท่านั้น คราวนี้เราลองมานั่งจินตนาการให้เห็นการอยู่ร่วมกันของสัตว์ต่างๆเช่นแมลงดูบ้าง เราก็คงจะเริ่มเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันจนในที่สุดจากสังคมบ้านก็ขยายกลายเป็นสังคมเมือง เพราะจากแมลงเม่าไม่กี่ตัวต่อมาก็กลายเป็นจอมปลวกมหึมา เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากสัญชาติญาณทั้งสิ้น มนุษย์ในฐานะที่เข้าใจเองว่าประเสริฐกว่าสัตว์อื่นก็นำสัญชาติญาณเหล่านี้มาคิดพิจารณาจนกลายเป็นกฎเกณฑ์เพื่อนำมาบังคับตนเองตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
ตั้งแต่สมัยที่เรียกกรุงเทพว่า ขนอนบางกอก หรือท่าผ่านเรือบางกอกที่ชาวเรือจะต้องแวะก่อนเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือออกปากอ่าวไทย ถ้าลองนับดูก็น่าจะถอยหลังเข้าไปจนถึงสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ที่ขนอนบางกอกทำหน้าที่เมืองท่าและเมืองผ่าน แต่น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ไทยพยายามที่จะเน้นสถานที่ต่างๆในลักษณะความสำคัญของกลุ่มมากกว่าสังคม ชื่อบางกอกจึงมีประวัติอยู่เพียงตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมาเท่านั้นเอง
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเป็นไปได้ของสังคมเมืองของบางกอกน่าจะมีอายุอย่างน้อยก็ห้าร้อยปี โดยช่วงสามร้อยปีแรกเป็นสังคมอิสสระที่ต้องอาศัยการค้าขายเป็นจุดรวมของสังคม ถ้ามองให้ลึกถึงอุปนิสัยของชาวสยามด้วยแล้ว ผมยิ่งกล้าพูดได้เลยว่าขนอนบางกอกในอดีตแทบจะไม่มีชาวสยามพันธุ์แท้อยู่ในสังคมนี้เลย ด้วยไม่มีนิสัยรักการค้าขายแต่กลับรักบ้านรักถิ่น ทำไร่ทำนาตามฤดูกาลเท่านั้น ดังนั้นก็พอจะอนุมานได้ว่าสังคมเมืองของบางกอกยุคต้นและกลางเป็นแหล่งที่พำนักของชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าชาวภารตะเดินทางมาสยามเป็นเวลานับพันปีมาแล้ว ส่วนจีนมีการค้าขายกันมานานพอๆกัน แม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็มีการติดต่อกับสยามมากว่าหกร้อยปี นอกนั้นยังมีชาวยุโรป ฯลฯ อีกมากมาย ดังนั้นขนอนบางกอกน่าจะเป็นสังคมเมืองที่หลากหลายและมีความเป็นนานาชาติยิ่งกว่าที่ใดในสยาม และถ้าจะคิดแบบคนรักชาติด้วยแล้ว ถ้าคนบางกอกเป็นเพียงชาวสยามพันธุ์แท้แต่กลุ่มเดียวแล้วละก้อ ชาวบางกอกยุคนั้นคงจะโดนข่มขืนทางใจจากอิทธิพลของทั้งอารยะและอนารยะประเทศเป็นแน่แท้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเหล่านั้นให้เราเห็นกันเลย ผมจึงเชื่อว่าวิถีชีวิตของชาวบางกอกเกิดจากการคัดสรรสิ่งที่ดีๆและรับได้จากนานาวัฒนธรรมที่หลั่งล้นจากแหล่งอื่นจนกลับกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคล้ายๆกับเมืองท่าที่มีชื่อเสียงต่างๆในโลก
จากสมมุติฐานที่กล่าวมา มันก็น่าแปลกที่พฤติกรรมต่างๆก็มิไดเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เป็นต้นว่ากรุงเทพฯในปัจจุบันก็ยังนับเมืองท่าที่สำคัญ เป็นแหล่งที่ยังคัดสรรสิ่งที่ดีๆจากที่อื่นและน่าจะมีการผสมผสานของเชื้อชาติมากกว่าสังคมเมืองอื่นๆในเมืองไทย แถมยังกลายเป็นแหล่งโคจรเพื่อทำมาหากินของชาวเมืองต่างๆของทุกภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ ไต้ ตะวันออก ตะวันตก ดังนั้นการที่จะอธิบายถึงคุณลักษณะของกรุงเทพฯแล้ว คงจะต้องใช้คำจำกัดความที่หลากหลายความหมายเสียเหลือเกิน จึงเพียงขอให้เข้าใจความหลากหลายนี้เป็นพื้นฐานเพียงเท่านี้ก่อน
เมื่อภาพในอดีตเริ่มปรากฏลางๆเบื้องหน้า การที่จะนำสู่หัวข้อเรื่องก็น่าจะมองในมุมของสิ่งก่อสร้างเป็นแกนนำ ซึ่งในที่นี้ก็ได้เกริ่นมาก่อนว่าสถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งชี้สังคม แต่สถาปัตยกรรมเองก็ไม่มีอิทธิพลพอที่จะคงรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ ทั้งนี้สังเกตได้จากการแปรผัน (น่าจะมีความหมายดีกว่าคำว่า พัฒนา) ของสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในปัจจุบัน โดยที่อิทธิพลแปลกๆใหม่ๆเกิดขึ้นทุกขณะ ทั้งจากครูบาอาจารย์ ผู้ออกแบบ ผู้เลียนแบบ ผู้ลอกแบบ ผู้ขโมยแบบ ฯลฯ จิปาถะ โดยเฉพาะผู้ออกแบบที่เผลอสลัดความเป็นคนไทยออกไปชั่วขณะ   และเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าจะแบ่งเป็นยุคๆแล้วละก้อ ยุคที่หนึ่งน่าจะกินเวลาถึง ๓๐๐ ปีเป็นอย่างน้อย พอมาถึงยุคที่สองก็กินเวลาราว ๒๐๐ ปี และยุคสุดท้ายก็น่าจะเริ่มเอาตอนมีบ้านจัดสรรกันนี่แหละ และก็ยุคที่สามอีกเช่นกันที่เกิดอิทธิพลนานาจิตตังอย่างรุนแรงที่สุด และผลที่เห็นชัดเจนที่สุดคือความหลากหลายของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สเปนจรดอเมริกา ตั้งแต่โรมันจนจรดถึงบาหลี ดังนี้เป็นต้น และยิ่งมีการพัฒนารูปแบบและระบบการก่อสร้างอีกทั้งวัสดุก่อสร้างใหม่ๆขึ้นมาตลอดเวลา ก็น่าจะประเมินไว้ได้เลยว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างของกรุงเทพนอกจากจะอยู่ในยุคสบายลูกหลานแล้ว ยังจะต้องมีการแข่งขันชนิดเอาเป็นเอาตายกันเลยทีเดียว
ยุคที่ ๑ กระเสือกกระสน
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว การก่อสร้างบ้าน ในยุคแรกนี้คงไม่ได้ใช้ฝีมือในเชิงช่างอะไรมากมาย งานก่อสร้างที่อยู่อาศัยก็คงเป็นแค่หนึ่งในสัญชาติญาณ ของมนุษย์ ด้วยแนวคิดง่ายๆเช่น หลังคากันฝนกันแดด ผนังไว้บังลม พื้นยกสูง ไว้ป้องกันสัตว์ร้ายและน้ำหลาก ผมไม่รู้ว่าสุภาษิตที่ว่า ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน มีใช้มานานเท่าไรแล้ว แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือ บ้านเรือนของผู้ที่มีอันจะกิน น่าจะอยู่ลึกเข้าไปในริมคลองใหญ่น้อย ส่วน พ่อค้า ชาวบ้านทั่วไป คงจะมารวมกันอยู่เป็นจุดๆ เช่น ตลาดแก้วตลาดขวัญที่สาบสูญแถวๆนนทบุรี เป็นต้น ลักษณะของที่อยู่อาศัยจึงน่าจะเป็นรูปแบบสะเทินน้ำสะเทินบก โดยมีการปลูกเรือนบนพื้นดิน และปลูกกันเป็นแพ เพื่อผลทางการค้า โดยมีการปลูกเรือนบนพื้นดิน และปลูกแพเพื่อผลทางการค้า ดังนั้น จึงน่าจะแยกประเภทอาคารออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มชาวนาชาวสวนและกลุ่มค้าขาย ตรงนี้แหละที่อาจจะแยกส่วน ชาวสยามพันธ์แท้กับพันธ์ทางได้ชัด ด้วยอุปนิสัยพื้นฐาน กลุ่มพันธ์แท้ ก็คงยึดมั่นอยู่กับการทำไร่ทำสวนทำนา ปีหนึ่งๆก็ว่างเสียกว่าครึ่ง จึงหาทางแก้เหงาด้วยกุศโลบายหลายแบบ จนเกิดเป็นประเพณีมากมาย ตลอดจนอุปนิสัยที่ติดมาถึงปัจจุบัน เช่น การละเล่นต่างๆ การดื่มสุรา การร้องเพลงเกี้ยวกันฯลฯ สวนทางด้านพันธ์ทางนั้นเพียงแค่ยึดถือประเพณีที่ตนนำมาจากบ้านเกิดเมืองนอน มาปฏิบัติจะเกิดความแน่นเเฟ้นขึ้น เช่น การไหว้เจ้า  การไหว้พระจันทร์ การแห่บูชาเทพเจ้าของแขก ฯลฯ เมื่อมีความแปลกแยกในขนบประเพณี ความแตกต่างก็กลายเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ความปรองดองกันชนิดที่บ้านเมืองอื่นเค้าไม่รู้จักกัน เราลองมามองดูแถบชุมชนที่ต่างกันกันแต่อยู่รวมกันมานับร้อยๆปี เช่น บ้านหม้อ พาหุรัด วังบูรพา ที่มีทั้ง จีน แขก กลุ่มไทย ซึ่งต่างฝ่ายก็ทำมาหากินกันไปอย่างไม่มีปัญหา แบบนี้ รัฐน่าจะมองเป็นตัวอย่างก็จะดี
	คราวนี้เราก็กลับมาที่การก่อสร้างอีกครั้ง เราได้ว่าถึงช่างสร้างบ้านที่ใช้สัญชาติญาณมากกว่าความรู้ทางด้านวิชาชีพในยุคแรกๆนี้หาได้เป็นวิชาชีพไม่ แต่ทุกคนเรียนรู้ต่อๆกันมา เมื่อไม่แน่ใจก็สอบถามเอาความแล้วก็ไปทำการก่อสร้างกันเอง เครื่องไม้เครื่องมือก็ใช้ชนิดหยาบๆแค่ ตัด ถาก เหลา ไม่ถึงกับแกะสลักหรือกลึงเกลา โดยคำนึงถึงความแข็งแรงเป็นเกณฑ์ ดังนั้นความสวยงามของอาคารจึงขึ้นอยู่กับความเป็นธรรมชาติของวัสดุที่ใช้ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องไม้ เรื่องวัสดุแปรรูปคงไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ห้องหับที่มิดชิดเช่นส้วมก็ปลูกห่างออกไปจากเรือนใหญ่เพราะปัญหาเรื่องสุขอนามัย ส่วนฝ่ายพันธ์ทางก็ระบายลงแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปย่อยสลายตามธรรมชาติ 
	แม้ว่าชุมชนกรุงเทพจะเป็นรูปแบบสังคมเมืองมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ความหนาแน่นมิได้เป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ดังนั้นปัญหาสุขาภิบาลและขยะมูลฝอยจึงกลายเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่มีใครพูดถึงกัน เรื่องประเภทน้ำเสียบ้านโน้นไหลเข้าบ้านนี้เป็นอันว่าลืมไปได้เลยเพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นร่องสวนเป็นแนวโดยรอบอยู่แล้ว ปัญหาของสยามพันธ์แท้ในเรื่องที่พักอาศัยจึงเป็นประเภทแยกกันโดยเด็ดขาด เขยิบเข้ามาตามจุดแออัดก็ไม่น่าจะเลวกว่าที่เป็นตามริมแม่น้ำลำคลองในปัจจุบัน สิ่งที่น่าสังเกตในยุคนี้ก็คือรูปแบบการขยายตัวของชุมชนที่แตกต่างกันสองแบบ นั่นก็คือแบบไทยแท้และแบบไทยปน
	ในขณะที่ชุมชนไทยแท้คัดสรรสมาชิกชุมชนด้วยรูปแบบเครือญาติ การขยายตัวของชุมชนนี้จึงเป็นไปในลักษณะใกล้ชิดมีแบบแผนและการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่าลูกชายจะปลูกเรือนติดเรือนใหญ่ ลูกเขยก็จะไกลออกไปหน่อยแต่ก็ยังมีกิจกรรมร่วมกันอยู่ ส่วนสังคมทาสก็มีชุมชนของตนเองภายไต้การควบคุมของเจ้าบ้านเป็นต้น ส่วนสังคมไทยปนกลับขยายตามลักษณะภูมิศาสตร์ ทำเลการประกอบอาชีพ แม้จะต้องแยกครัวออกไปเพราะไม่มีพื้นที่ลงหลักปักฐานใกล้เคียงกับบุพพการีก็ตาม ดังนั้นกลุ่มพ่อค้าจึงขยายตัวไปได้ไกลและกว้างขวางกว่าชาวไทยเดิม 
	การที่ผมจำแนกรูปแบบชุมชนออกเป็นเพียงสองชนิดนั้นมิได้ใช้เชื้อชาติหรือศาสนาเป็นตัวกำหนดแต่ใช้อุปนิสัยของชุมชนนั้นๆเป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าชุมชนมุสลิมที่บ้านครัวฯลฯ มิได้มีอุปนิสัยในทางค้าขายแบบคนจีนที่สำเพ็งหรือชาวภารตะที่พาหุรัด พวกเขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองเด่นชัด ยิ่งมองในแนวถิ่นที่อยู่อาศัยหรือในด้านสถาปัตยกรรมด้วยแล้ว เราก็จะเข้าใจในพื้นฐานความเป็นอยู่ ความเป็นระเบียบและความรักสวยรักงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความเป็นอยู่ชนิดเอาตัวรอดเกิดขึ้นดาษดื่นในยุคนี้ เป็นยุคที่ชาวจีนเรียกว่ายุคเสื่อผืนหมอนใบ เป็นยุคที่ผู้มาเยือนทุกตนต้องกระเสือกกระสนทำมาหาเลี้ยงชีพชนิดหนักเอาเบาสู้ กระแสการโยกย้ายเข้ามาหากินในสยามยุคนั้นดูเหมือนว่าในบางกอกเองจะมีชาวต่างชาติมากกว่าชาวสยามอยู่หลายเท่าทีเดียว ในขณะที่ความเป็นอยู่ของชาวสยามในบางกอกก็ดำเนินไปเนิบๆไม่ขึ้นกับตัวแปรใดๆ 
	ในช่วงที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ขนอนบางกอกก็ถือว่าเป็นแหล่งชุมชนใหญ่แล้ว แถมเป็นชุมชนนานาชาติ มากเผ่าหลายพันธ์เสียด้วย ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ก็มีการพัฒนาการก่ออิฐถือปูนสำหรับอาคารสำคัญที่เคยเป็นมาก็ได้รับการถ่ายทอดมาก่อสร้างบ้านเรือนร้านค้ามากมาย ระยะรอยต่อสุโขทัย อยุธยา จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการพัฒนาสังคมเมืองของบางกอก มีการสร้างป้อมปราการที่ก่อด้วยอิฐโดยชาวยุโรป ซึงที่จริงก็ไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าหาประโยชน์ใส่ตน กอบโกยทรัพยากรท้องถิ่นโดยท่าทีว่าจงรักภักดีเสียเหลือเกิน บางกอกจึงเป็นชุมชนที่ค่อนข้างแปลกกว่าที่อื่น บางกอกเป็นแหล่งที่ทุกๆ คนจ้องหาประโยชน์กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถึงขนาดมีการ ขึงโซ่ไว้ใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อดักเรือที่ไม่เสียภาษีปากเรือ แล้วรายได้ก็นำไปประเทศของตนเอง ฝ่ายชาวเอเชียที่มาอาศัยอยู่ก็ทำมาหากิน ก่อร่างสร้างตัวกันไป ที่เหลือก็คือชาวสยามพื้นเมืองที่มีชื่อเรียกเสียโก้ว่า ไพร่ มีหน้าที่เป็นทหารกองหนุนคอยรับใช้ประเทศชาติ ปล่อยให้คนอื่นกอบโกยทรัพยากรมีค่าไปเรียบ ดังนั้นรอยต่อของยุคที่ 1 มายุคที่ 2 จึงแยกออกเป็น สังคมพ่อค้าวานิช สังคมไพร่เมือง ฯลฯ รูปแบบของสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ในช่วงนั้นก็น่าจะมีอิทธิพลยุโรปเข้ามาเผยโฉมในรูปแบบอาคารศาสนา ฯลฯ เราคงจะหนีคำว่าชุมชนเมืองนานาชาติ (Cosmopolitan) ไม่พ้นตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว
ยุคที่ ๒ ทุรนทุราย
	หลังจากขนอนบางกอกเปลี่ยนโฉมมาเป็นเมืองท่าสำคัญเป็นประตูสู่อาณาจักรศรีอยุธยา บางกอกก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของชนชาติไทยไป โดยเป็นที่รองรับชุมชนที่มาจากทุกมุมโลก อาคารบ้านเรือนก็เริ่มเป็นตึกใหญ่โต ศูนย์การค้าขายเกิดขึ้น ตามจุดรวมชุมชนบริเวณปากคลองต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีการบันทึกโดยชาวต่างชาติมากมาย ครั้นบางกอกกลายมาเป็นมหานครที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก ก็ยิ่งทำให้ความสำคัญของกรุงเทพโดดเด่นขึ้น การค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการตั้งรกรากโดยชาวต่างชาติมากมายขึ้น และยิ่งอุดมไปด้วยชาวต่างชาติ ความโดดเด่นของหมู่เหล่าก็ชัดเจน เช่น บ้านญวน บ้านเขมร บ้านลาง บ้านมอญ กุฎีจีน ชุมชนวัดกาลหว่า ฯลฯ ในตอนต้นของยุคนี้เริ่มมีอาคารบ้านเรือนรูปร่างแปลกออกไป ตั้งแต่แบบ กอธิค (Gothic) หนักๆ ไปจนถึง เก๋งจีน สวยงาม ระยะนี้ชาวไทยสยามเองก็รับอิทธิพลเหล่านี้มาผสมผสานอย่างกลมกลืน น่าจะเป็นช่วงนี้เองที่เกิดวิชาช่างก่อสร้างที่แตกแขนงมากมาย แต่อยู่คนละกลุ่มกับช่างสิบหมู่ เป็นต้นว่า ช่างไม้ ช่างปูน ช่างเหล็ก ช่างกระจก ฯลฯ ส่วนมากช่างเหล่านี้ก็มักเป็นช่างต่างชาติที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในสยาม เราเคยเรียกกันว่า ช่างไหหลำบ้าง ช่างกวางตุ้งบ้าง ต่างก็มีฝีมือกันคนละแบบ ส่วนลูกน้องก็เป็นคนสยามที่มาจากถิ่นอื่นๆ ภาพของวิชาชีพทางก่อสร้างก็เริ่มชัดเจนขึ้น 
	เราเริ่มเห็นสถาปัตยกรรมที่หลากหลายในกรุงเทพ มีตึกรามบ้านช่อง ปราสาทราชวังที่งดงาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการติดต่อไปมาหาสู่ทางน้ำมาเป็นทางบกมากขึ้น มีการใช้ยวดยานพาหนะหลากหลายขึ้น มีการพัฒนาปรับปรุงที่ดินที่ห่างจากน้ำข้น แต่ก็ยังกระจายกันอยู่ทั่วไป ในยุคนี้น่าจะเป็นรุ่นลูกของ นักผจญภัยที่มาตั้งรกรากรุ่นแรก จึงมีการแข่งขันกันในด้านธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ เสริมด้วยการล้นทะลักเข้ามาของชาวจีนมากเป็นพิเศษ โชคดีที่มีช่างฝีมือติดเรือมาพอสมควร ธุรกิจการก่อสร้างจึงเจริญเติบโตด้วยพื้นเพนิสัยของผู้ประกอบการ กล่าวได้ว่า การก่อสร้างช่วงนั้นมีความสมดุลดีทีเดียว ด้วย แบบฝรั่ง ช่างจีน กรรมกรนานาชาติ ผลงานที่ออกมาจึงเข้าข่ายสวยงามโอฬาร
	เมื่อหันกลับมาดูวิถีชีวิตไทยสยาม กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนักนอกจาก การประกอบสัมมาอาชีวะเปลี่ยนไป มีการทำเรือกสวนไร่นาลดลง เพราะส่วนหนึ่งไปรับราชการ ที่ค้าขายก็แค่ทำแต่พอตัว ในรูปแบบหาบเร่ ส่วนแผงลอยเกิดจากการจับจองสถานที่ในตลาดซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ในสมัยนั้นก็ยังเห็นสตรีสยามพายเรือร้องขายของตามแม่น้ำลำคลองส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็หาบของเร่ขายไปตามตรอกซอกซอยเป็นกิจวัตร ที่พักอาศัยของไทยสยามก็ยังหนีไม้ไปไม่พ้น มีการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้เหมือนเดิม แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป มีการยอมรับการปลูกบ้านที่ยกพื้นไม่สูงนักมากขึ้น แบบบ้านก็ออกไปทางทรงมนิลามากขึ้น หลังคาก็มาการใช้วัสดุหลากหลายเช่น สังกะสี กระเบื้อง ปั้นลม เชิงชาย หางหงส์ ก็เริ่มหายไป กลายเป็น หลังคาทรงปั้นหยาเรียบๆ โดยยังรักษาระดับเพดานสูง เพื่อช่วยระบายอากาศไม่ให้ร้อนมาก การถ่ายเทอากาศก็ยังอาศัยร่มเงาของไม้ใหญ่ใกล้บ้าน ในช่วงนั้นการคายความร้อนของอาคารเหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยในการออกแบบเลย ตรงกันข้ามกับอาคารก่ออิฐถือปูน ก็มีการนำกระเบื้องหินอ่อนมาใช้เพื่อลดอุณหภูมิภายในอาคาร มีการนำกระจกสีมาประดับตกแต่งช่องแสง มีการแกะฉลุไม้เป็นลวดลายตามชายคาชายน้ำ มีการทำสวนปลูกไม้โดยรอบเพื่อลดความร้อนที่สะท้อนเข้าบ้าน ถนนคอนกรีตในช่วงนั้นยังไม่เด่นชัดนัก ยกเว้นถนนสำคัญบางสาย กรุงเทพจึงดูร่มเย็น ไม่ร้อนรุ่มอย่างในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำลำคลองก็ยังใสสะอาด เสียส่วนมาก ยกเว้น แหล่งชุมชนที่ปลูกอาคารติดคลอง เช่น แถบคลองมหาพฤฒาราม คลองผดุงกรุงเกษม ฯลฯ ที่ผู้อยู่อาศัยถือโอกาสถ่ายเทของเสียลงคลอง  อาคารราชการมีการสร้างใหญ่โตด้วยอิทธิพลจากยุโรปแสดงให้เห็นความอลังการและความขลังของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในขณะที่ร้านค้าก็มีการขยายและพัฒนารูปแบบออกไป ถ้าจะมองเซี่ยงไฮ้ในตอนนั้นเป็นราชินีแห่งตะวันออกไกล กรุงเทพก็คงจะไม่ด้อยกว่ากันสักเท่าไรนักในด้านความเจริญ การค้าและธุรกิจ 
	จากความหนาแน่นที่จับเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในบริเวณชุมชน ระบบประปาสุขาภิบาลก็เริ่มมีบทบาทที่ผู้อยู่อาศัยต้องปรับตัวเข้าหา ห้องน้ำห้องส้วมที่เคยออกแบบไกลจากตัวบ้านก็โดนบีบให้เข้าไปอยู่ในบริเวณบ้านหรือห้องแถวด้วยความแออัดของพื้นที่ใช้สอย จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่ถูกสุขลักษณะอีกทั้งไม่เป็นที่รบกวนต่อเพื่อนบ้าน ส้วมซึมดูเหมือนจะเป็นพระเอกก่อนใครๆ และในที่สุดก็แพร่ไปสู่บ้านไทยสยามเดิมจนเป็นที่ยอมรับ 
	ในระยะหลังๆ ของยุคนี้ ที่อยู่อาศัย ทำเลการค้ากลายเป็นตัวกำหนดสภาวะของสังคมนั้นๆ บางแห่งก็ดูดีมาก บางแห่งก็กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ยกตัวอย่างด้านถนนเยาวราช ย่านสำเพ็ง ก็แทบจะกลายเป็นต่างประเทศไปโดยไม่รู้ตัว แต่ปัจจุบัน เราก็ยังพบคนจีนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ทั้งๆที่มาอยู่กรุงเทพหลายสิบปีแล้วก็มี ด้านพาหุรัดก็อุดมไปด้วยชาวภารตะมากมาย ทั้งๆที่พูดกันคนละภาษา ขนบประเพณีที่แตกต่างกัน ทางฝั่งสีลมสาธรก็เต็มไปด้วย ชาวยุโรปและชาวจีนที่มีฐานะ ลองมามองทางด้านบางลำพู ก็มีชาวมุสลิมมากมาย จึงน่าแปลกที่กระแสต่างวัฒนธรรมเหล่านี้กลับผสานกันได้อย่างสงบสันติตลอดมา และในที่สุดความกลมกลืนเหล่านี้ก็กลายเป็นหนึ่งเดียว เสมือนเมล็ดพืชต่างชนิดกันกลับมารวมกันเป็นกองได้ด้วยยางไม้ และยางไม้ที่ว่าก็คือ ชาวไทยสยามที่อยู่กรุงเทพมาตั้งแต่รุ่นขนอนบางกอกนั่นเอง มีคนเคยพูดว่า บรรดาพ่อค้าวาณิชที่มาตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพนั้นขายของให้ใคร ใครซื้อ ใครสนับสนุน คำตอบก็น่าจะชัดว่าใครใคร่ขายอะไรก็ขาย นอกจากจะซื้อบริโภคกันเองแล้ว ไทยสยามพื้นเมืองนั่นแหละ คือผู้ที่จรรโลงธุรกิจให้อยู่ได้มั่นคง
	ยิ่งนานเข้าความสัมพันธ์เหล่านี้ยิ่งแข็งแรงกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเมือง ที่มีความหลากหลายในตัวเองเสมอมา แหล่งพำนักอาศัยก็เช่นกัน ดูเหมือนว่า รูปแบบต่างๆ ที่นำเข้ามาจากต่างชาติก็จะค่อยๆ หลอมละลายกลายเป็นสถาปัตยกรรมไทยใหม่ เช่น การสร้างบ้านติดดินมีสองชั้นเป็นอย่างน้อย มีการนำเอางานไม้มาผสมกับงานปูนได้แนบเนียนขึ้น จนกลายเป็น บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ และตรงส่วนต่อนี้เอง สถาปัตยกรรมไทยแท้เป็นอันว่าโดนเบียดออกไปจากสังคมเมืองกรุงเทพแทบจะหมดสิ้น ที่เหลืออยู่ก็แค่นับจำนวนได้เท่านั้นเอง
	ในยุคนี้มีการเน้นความจำเป็นของช่างก่อสร้างขึ้นพร้อมๆ กับวิชาชีพทางด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ในช่วงนั้น มีการใช้กระแสไฟฟ้า น้ำประปา การสุขาภิบาล ฯลฯ ทำให้วิชาชีพด้านช่างแตกแยกออกหลายแขนง แม้กระทั่งช่างสี ที่เริ่มเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะงานทาสีอาคาร ราชการ ร้านค้า ฯลฯ ในขณะที่บ้านไทยเดิมที่ยังเหลือ ก็ยังสงบเสงี่ยมนิ่งอยู่ ยุคนี้ดูเหมือนว่าเหล่าเสื่อผืนหมอนใบเริ่มมีฐานะมั่นคงและกลายเป็นชนชั้นที่เชื่อมไพร่กับผู้ดีได้อย่างสนิทจึงไม่น่าแปลกที่ลูกหลานชุมชนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้ที่มีฐานะทางสังคมเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
ยุคที่ ๓ สบายลูกหลาน
เมื่อมองภาพรวมของกรุงเทพอย่างคร่าวๆ ด้วยสายตาที่ละทิ้งความเป็นวิชาการ จะเห็นในยุคที่ ๑  เป็นยุคที่ทุกคนพยายามปรับตัวเข้าหากันในรูปแบบของสังคมรวม พอตกยุคที่ ๒ ก็คือยุคที่ กรุงเทพ รองรับความอลังการของอยุธยาในฐานะเมืองด่านต่อกันช่วง สถาปนา กรุงเทพเป็นราชธานี เป็นยุคที่ทุกคนทำมาหากินหาความร่ำรวย ด้วยกรรมวิธีต่างๆกัน ในขณะเดียวกันความเป็นอยู่ก็สะท้อน สถาปัตยกรรมของไทยให้แปลกออกไป มีการยอมรับมากขึ้น อีกทั้งการผนวกเอาวัฒนธรรมต่างๆ คัดสรรมาเป็นของตน จึงไม่แปลกอะไรที่กรุงเทพสามารถฉลอง ตรุษจีน ตรุษไทย ตรุษแขก ตรุษฝรั่ง ได้อย่างไม่เคอะเขิน มิหนำซ้ำยังนำเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้มากมาย ผลพวงเหล่านี้เห็นได้ในยุคที่ 3 คือยุคปัจจุบันที่คนกรุงเทพสามารถปรับตัวเปลี่ยนสภาพมาเป็นรูปแบบชุมชนสากลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก 
ในยุคสุดท้ายนี้อิทธิพลเดิมๆของ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ค่อยๆถูกกลืนไปเหมือนโดนซับด้วยกระดาษซับ ในขณะที่อิทธิพลตะวันตก เช่น ยุโรป และ อเมริกา ค่อยๆหลั่งไหลมาอย่างไม่หยุดยั้ง ที่จริงน่าจะพูดว่าเราต่างหากที่ไปไขว้คว้ามาเสียเป็นส่วนใหญ่
มองในด้านประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นโกลาหลนี้ น่าจะเริ่มในช่วงสมัย เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย มีการส่งเด็กไทยไปร่ำเรียนในประเทศตะวันตกมากขึ้น  การไปเห็นสิ่งที่ผิดแผกจากบ้านเราก็กลับกลายเป็นปีศาจจอมตื้อ ตามหลอกหลอนจิตใต้สำนึกของคนไทย คนที่ไม่เคยไปเมืองนอกก็กลายเป็นผู้ไม่รู้ไป ส่วนนักเรียนนอกทั้งเทียมทั้งแท้ก็ระดมสรรพความคิดเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตกันใหญ่โต ยิ่งเมื่อมีโทรศัพท์ โทรทัศน์ เข้ามาก็ยิ่งไปกันใหญ่ ข่าวสารมีการแลกเปลี่ยนกันมากยิ่งขึ้น ในด้านวิชาสถาปัตยกรรมซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นวิชาชีพที่สำคัญ ก็ขยายตัวอย่างหาขอบเขตไม่ได้ การก่อสร้างด้วยสรรพเทคนิค ก็มีการนำมาใช้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้บรรดาอาคารบ้านเรือนก็แปรรูป แปรการใช้สอยออกไป โดยเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นมากมาย ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ความหนาแน่นของชุมชนในยุคต้นๆนั่นน้อยมาก ความร้อนเทียมที่เกิดจึงน้อยมากเช่นกัน แต่ต่อมาเมือมีงาน คอนกรีต และวัสดุดูดความร้อน สะท้อนความร้อนเช่นกระจก ยางมะตอยฯลฯ มากขึ้น การคายความร้อนจากถนนโครงสร้าง อาคาร บ้านพัก จึงมากขึ้น ผู้ร้ายตัวสำคัญที่เห็นได้ชัดก็คือ ความร้อนเทียมที่กำเนิดจาก เครื่องยนต์ของยวดยานพาหนะ ทั่งหลายทั่งปวงนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กรุงเทพ มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ การได้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือนจึงเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกที่การใช้กระแสไฟฟ้าในกรุงเทพสูงขึ้นตลอดเวลา และเจ้าอุปกรณ์ทำความเย็นต่างๆเหล่านี้ก็มีบทบาทในการแปรผันการออกแบบสถาปัตยกรรม มากทีเดียว แต่เดิมเราอาศัย สวนได้ธรรมชาติเป็นที่ลดอุณหภูมิของชุมชน ปัจจุบันแทบว่าจะต้องติดเครื่องปรับอากาศกันตามถนนเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สวนสาธารณะ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในภาวะที่กรุงเทพ มีพื้นที่สีเขียวลดลงทุกๆปี จะสังเกตได้ว่าปัจจุบัน ฟ้าบางกอกไม่สวยอย่างในอดีตเสียแล้วเพราะเต็มไปด้วย มลภาวะที่สกปรก อันเป็นปัจจัยหรือที่ทำให้สุขภาพของชุมชนโดยรวมแย่ลง
จากสังคมที่แน่นแฟ้น เกื้อกูลกัน แม้จะอยู่ห่างๆกัน ก็กลายเป็นสังคมที่ปิดมากขึ้น ในยุคนี้เป็นยุคทองของ วิชาชีพทางด้านออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรม เป็นยุคที่รอคอยวัสดุใหม่ๆที่จะนำมาทดแทนวัสดุธรรมชาติ เป็นยุคเทียมๆที่ สบายๆถ้ามีเงินมีทอง
ยุคที่ลูกหลานสบายนี้ เป็นยุคที่ลูกหลานเสวยสุขจากพ่อแม่ที่คอยหาไว้ให้ เป็นยุคแห่งการลองของ เห็นได้จากการออกแบบที่อยู่อาศัยที่อิงอิทธิพลต่างชาติที่เด่นชัด การนำธรรมชาติอัดเข้าสู่บ้านตนเองที่มีที่ดินผืนน้อยนิด สังคมเมืองนี้จึงกลายเป็นสังคมปิด ประเภท โลกาภิวัฒน์  คือ บ้านใกล้กันแต่ไม่คบหากัน กลับไปคบผู้ที่อยู่ห่างออกไป แต่ละบ้านพยายามที่จะปกป้องรักษาทรัพย์สมบัติของตัวเอง
ผมเคยจำได้ว่านั่งเรือเข้าไปในคลองแถวๆกรุงเทพฯกับคุณพ่อคุณแม่ ได้ยินเสียงคนตะโกนกันด้วยภาษาที่น่ารักว่า อ้าวไปยังไงมายังไงนี่ แล้วกินข้าวหรือยัง ในปัจจุบันคงไม่ได้ยินการแสดงออกแบบนี้อีกแล้ว แต่คงได้ยันว่า มากันได้ยังไงนี่ พอดีไม่มีใครอยู่เลย ทีหลังเอสเอ็มเอสมาก่อนนะ 
ถ้าจะเรียกวัฒนธรรมยุคนี้ คงหนีไม่พ้น วัฒนธรรมพลาสติก เพราะ ทุกอย่างประกอบด้วย พลาสติกทั้งหมด แม้แต่สีทาบ้าน ดั้งนั้น กระบวนการ ก่อบ้านสร้างเมือง เราก็คงหนีไม่พ้น ฝาพลาสติก หลังคาพลาสติก พื้นพลาสติก  สุขสุขภัณฑ์  พลาสติก ฯลฯ ที่เป็นพลาสติก ตามด้วยสัพลาสติกเป็นแน่แท้ 
ว่างๆ ผมอยากให้ผู้อ่านลองศึกษาต่อนะครับว่ายุคที่ ๔ หลังปีสองพันน่าจะเป็นยุคอะไรดี				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน