"กรุงเทพฯ" ในมุมมองฝรั่ง

แสงไร้เงา

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศแล้ว ถ้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ สถานที่ๆได้รับการบรรจุไว้ในโปรแกรมทัวร์แทบทุกทัวร์เห็นจะหนีไม่พ้นแหล่งบันเทิงเริงราตรี อย่าง ถนนพัฒนพงศ์ หรือ "ซอยเคาบอย" ที่รู้จักกันดีในหมู่ของนักท่องเที่ยวที่ชอบแสง สี ยามราตรี
แต่ เอ๊ะ ... กรุงเทพฯ ของเราออกกว้างใหญ่ มันน่าจะมีอะไรน่าสนใจมากกว่านี้มิใช่หรือ?
แน่ละ ถ้ามีชาวต่างชาติถามคำถามนี้ขึ้นมาว่ากรุงเทพฯมีอะไรน่าเที่ยวกว่าพัฒน์พงศ์ เราคนไทยคงจะรีบตอบปฏิเสธในทันทีเลยว่า...
"พัฒนพงศ์...ไม่ใช่กรุงเทพฯสักหน่อย !"
เคยคิดเล่น ๆ กันบ้างไหมว่าพวกฝรั่งตาน้ำข้าวที่พากันมาเดินตุหรัดตุเหร่เที่ยวชมประเทศไทย หรือพากันมาทำมาหากิน ใส่สูท ผูกเนคไท เดินกันอยู่ตามตึกสูง ๆ ในย่านธุรกิจนี่ เขาคิดอะไรกันอยู่ถึงได้มาเมืองไทย เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าพวกฝรั่งพวกนั้น เขามองประเทศไทยและมองกรุงเทพมหานคร ฯ ของเรากันอย่างไร
คนแรกเป็นนางแบบสาวสวยชาวเยอรมันซึ่งมาร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในงาน Bangkok Fashion City ชื่อ Nadja Auermann เธอคนนี้มาเมืองไทยเป็นครั้งที่สามแล้ว แถมยังเคยไปเที่ยวไกลถึงเกาะพีพีเสียด้วย นางแบบสาวสวยคนนี้บอกว่าเธอชอบช็อปปิ้งซื้อผ้าโสร่ง เครื่องปั้นดินเผาและก็เครื่องประดับในเมืองไทย นอกจากนี้เธอกำลังศึกษาพุทธศาสนาเสียด้วย ไม่เบาเลยแฮะ สรุปได้ว่านางแบบสาวสวยพูดถึงเมืองไทยในแง่ดีค่ะ
จากนางแบบสาวชาวเยอรมันเราไปฟังนักเขียนหนุ่มชาวเยอรมันเขาพูดถึงเมืองไทยบ้าง Christopher G. Moore เจ้าของผลงานเรื่อง Pattaya กับ Land of Smiles Trilogy และ อีกหลายเรื่องที่เขาเขียนเกี่ยวกับเมืองไทย งานเขียนของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และ ไทย มีขายในหลาย ๆ ประเทศ
Christopher เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขามาเมืองไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 หลังจากมาครั้งแรกแล้วเกิดติดอกติดใจเลยย้ายมาอยู่เป็นการถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โน่น ตอนนี้นับไปนับมาก็รวมเวลาอยู่ในเมืองไทยสิบกว่าปีเข้าไปแล้ว Christopher บอกว่าก่อนมาตั้งรกรากอยู่เมืองไทยเขาเคยอาศัยอยู่ที่นิวยอร์คกับลอนดอนมาก่อน และก็เคยไปอยู่ที่โตเกียวกับปารีสมาพักใหญ่ อยู่มาหลายเมืองก็พบว่าไม่มีเมืองไหนที่อยู่แล้วมีความสุขสนุกสนาน ตื่นเต้นราวกับได้ผจญภัยตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเหมือนกับกรุงเทพฯ ของเรา Christopher ให้ความเห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความแตกต่างและความขัดแย้ง ในกรุงเทพฯ มีทั้งวัฒนธรรมเก่า ๆ และความทันสมัย มีความหรูหราและความยากจน ความแตกต่างขัดแย้งเหล่านี้ทำให้นักเขียนอย่างเขาไอเดียบรรเจิด ความคิดสร้างสรรค์กระฉูด มีเรื่องมาเขียนหนังสือขายกินมากมาย
นอกจากความตื่นเต้นสนุกสนานของการได้อยู่ได้เป็นชาวกรุงเทพฯ แล้ว Christopher พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า "ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ นั้นเป็นสิ่งซึ่ง "เติม" กรุงเทพฯให้เต็มขึ้นและในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งซึ่งทำให้กรุงเทพฯ นั้น "ขาด" หลายสิ่งหลายอย่างไป เพราะความเปลี่ยนแปลงพวกนี้นำความเจริญทางวัตถุมาให้กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่มาพร้อม ๆ กับความเจริญทางวัตถุนั้นคือความขาดและการบั่นทอนวัฒนธรรม เอกลักษณ์และตัวตนของกรุงเทพฯ ลงไป สีสันของการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยแสงสีของสังคมเมืองมากขึ้นทุกที ๆ
เป็นไงคะ ความคิดของฝรั่ง ... แต่เมื่อคิดดูดี ๆ ที่เขาว่ามามันก็จริงของเขานะ
ทีนี้มาถึงนักเขียนอีกคนหนึ่ง คนนี้ชื่อ Jake Needhams เจ้าของงานเขียนชื่อ "The Big Mango" กับ "Tea Money" ชื่อหนังสือ Tea Money ของคุณคนนี้อ่านแล้วหัวใจกระตุกอย่างไรชอบกล
Jake อยู่เมืองไทยมานานเป็นสิบปีแล้วเหมือนกัน เขาบอกว่าเขาไม่ได้ไปเที่ยวพัฒนพงศ์มาหลายปีแล้ว ที่เที่ยวกลางคืนแถบซอยนานากับซอยเคาบอยเขาก็ไม่ได้ไป สำหรับเขาความมีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ที่ย่านเริงราตรีเหล่านี้ แต่กรุงเทพฯ มีอะไรที่ดี ๆ น่าสนใจอีกมากมาย ตามความเห็นของ Jake กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ซาน ฟรานซิสโก ลอส แองเจิลลิส วอชิงตัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ปารีส หรือ ลอนดอน
โอ้โฮ...เหมือนกับที่ Christopher ว่าไว้เลย สงสัยในสายตาของบรรดาฝรั่งทั้งหลายนี่ กรุงเทพฯ ของเราคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หาที่ไหนเสมอเหมือนไม่ได้ น่าภูมิใจจัง
เมื่อพูดถึงสถานที่และความน่าสนใจของกรุงเทพฯ Jake บอกว่าเขาไม่ใช่คนชอบเดินชมวัดวาอารามหรือพิพิธภัณฑ์เท่าไรนัก แต่สิ่งที่เขาชอบมากคือถนนหนทางในกรุงเทพฯ นี่เอง เพราะว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องราวของชีวิตหลาย ๆ ชีวิต เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีว่าน่าตื่นเต้น และที่สำคัญคือถนนในกรุงเทพฯ เป็นที่ที่ใครคนหนึ่งสามารถเดินดูโน่นดูนี่ได้ทั้งวันทั้งคืนอย่างค่อนข้างจะปลอดภัย นี่ละ คือสิ่งที่ Jake ชื่นชมมาก
คำว่า "ไม่เป็นไร" เป็นคำที่ Jake เห็นว่าบอกถึงลักษณะเฉพาะของความเป็น "ไทย" ได้ดีและค่อนข้างชัดเจน ตามความเห็นของเขาวิถีชีวิตและวิธีการคิดแบบไทย ๆ เป็นเป็นรากฐานของศิลปะในการดำรงอยู่ในความขัดแย้ง เขาคิดว่าเกือบทุกสิ่งทุกอย่างในวิถีชีวิตของคนไทยนี่ดำเนินไปตามศาสตร์และศิลปของ "การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง" อันนี้คงเป็นเพราะนิสัยประณีประนอม อ่อนน้อมแบบไทย ๆ ของคนไทยหน้ายิ้มแป้นทั้งหลายนั่นแหละนะ ส่วนใหญ่อะไรพูดจาตกลงกันดี ๆ ได้ก็เจรจากันไป ไอ้เรื่องที่จะไปทะเลาะตบตีกันไม่ค่อยมี ความง่าย ๆ เย็น ๆ ไม่เรื่องมาก ไม่ค่อยทะเลาะกันถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริง ๆ นี่ Jake บอกว่าเป็นสิ่งที่ดีมากและทำให้การดำรงชีวิตในสังคมไทยต่างจากสังคมตะวันตกมาก เพราะในสังคมตะวันตกนั้น ทุกคนดูเหมือนจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความขัดแย้ง ถ้าเกิดคนในสังคมตะวันตกมีเรื่องกับใครหรือกระทบกระทั่งกับใครแล้วไม่ทะเลาะกันให้ตายไปข้างหนึ่งนี่ พวกเขาคงไข้ขึ้น
เท่าที่ว่ามานี่ คงพอสรุปได้ว่าในสายตาฝรั่งที่อยู่กรุงเทพฯ นาน ๆ หรือมาเมืองไทยกันหลาย ๆ รอบนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะเห็นทั้งด้านดีและด้านไม่ดีของบ้านเมืองของเรา แต่เหตุผลที่เขาชอบคงเป็นเพราะกรุงเทพฯ ของเราเป็นเมืองแห่งสีสัน มีชีวิตชีวาตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ก็คงเป็นวิถีชีวิตที่เขาเห็นว่าเรียบง่าย ไม่ค่อยมีความขัดแย้ง
ได้ฟังฝรั่งเขาพูดถึงกรุงเทพฯและประเทศไทยที่รักยิ่งของเราในแง่ดีแบบนี้แล้ว ...ดีใจจังค่ะ
Jake Needhams
Christopher G.Moore
Nadja Auerma				
comments powered by Disqus
  • แสงไร้เงา

    14 ธันวาคม 2548 11:08 น. - comment id 87920

    สวัสดีค่ะ คุณเด็กเอ๋อ หรือ Deowstar....36.gif
    
    .....อืม ...อันนี้ก็ไม่รู้นะค่ะ....
    ...............อันนี้ก็เอามาจากหนังสือที่เขาเขียนค่ะ......
    .....................อ่านเจอแล้วเอามาลงให้เพื่อนได้อ่านค่ะ......อิอิอิอิ.....
    
    36.gif
    
    
    ...ขอบคุณค่ะแวะมาทักทายค่ะ...36.gif
    *z#@*!z....!!!...ดูแลสุภาพค่ะ...*z#@*!z....!!!...
  • เด็กเอ๋อ หรือ Deowstar

    13 ธันวาคม 2548 20:28 น. - comment id 87979

    อืมอืม ฝรั่งพูดตรงเป่าว้า อิอิอิ อ่านะ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน