ถ้ามีใครว่า ทำไม...ต้องทำมือ? เออ! อย่าเผลอตอบแบบกำปั้นเชียว เดี๋ยวโดนกำปั้นจริงๆ แล้วจะหนีไม่ทันเพราะเหมือนเสียดสี นักเขียนและนักอยากเขียนเลยว่างั้นเถอะ ก่อนจะรู้ว่าต้นสายปลายเหตุของหนังสือทำมือ ลองมาตีความคำว่า หนังสือ กับ ตำรา ให้กระจายอีกนิดจะได้คิดไปในทางเดียวกัน คำว่า หนังสือ ตามที่ ราชบัณฑิตช่วยกันคิดแล้วลงความเห็นเป็นพจนานุกรม ฉบับล่าสุด ให้นิยามว่า เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียงหรือคำพูด, ลายลักษณ์อักษร, จดหมายที่มีไปมา, เอกสาร, บทประพันธ์, ข้อความที่พิมพ์หรือเขียนเป็นต้น แล้วรวมเป็นเล่ม อีกนัยหนึ่งที่สั้นกระชับกว่า คือ เอกสารที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้น ส่วนคำว่า ตำรา ความหมายแคบลงหน่อย เพราะ ราชบัณฑิตตีความสั้นๆว่าเป็น แบบแผนที่ว่าด้วยหลักวิชาต่างๆ ด้วยความแตกต่างๆกันนี้เอง งานเขียนของนักเขียนอย่าง เรื่องสั้น,บทกวีและอื่นๆ เสมือนเป็นการกลั่นกรอง ความรู้สึก ประสบการณ์ แง่มุมงามๆยามเหงาๆ เกิดอารมณ์และสร้างจินตนาการ กลายเป็นหนังสือสื่อความรู้สึกนึกคิดผู้เขียนโดยตรง ผิดแผกไป จาก ตำรา ดู เหว่ว้า อ่านแล้วเหมือนโดนตีตรา อยู่ในซอกเหลือบความคิดของใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องจำ ทุกถ้อยทุกคำ เพื่อไปพูดย้ำหน้าชั้นเรียน ตอนครูเขียนให้ท่องอย่างจำใจ ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง หนังสือ กับ ตำรา และบางทีเราคิดว่าเป็นคำ ที่มีความหมายกันเดียวกัน แท้จริงแล้วมันใกล้เคียงกันมากกว่า หนังสือทำมือ เป็นทางเลือกหนึ่ง ช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงผู้เขียนมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์พิจารณาผลงาน 3-4 เดือน ด้วยเหตุผลทางการค้า ที่ทำให้วรรณกรรมดีๆไม่มีเป็นรูปเล่ม ให้นักอ่านได้อ่านกันและอีกอย่างหนึ่ง ทำเองกับมือดูมีค่าทางจิตใจกว่า หลังจากทานมื้อเที่ยงของวันที่ 30 มกราคม วันสุดท้ายของงานนี้ ดูคึกคัก มีหนังสือทำมือวางขายเต็มไปหมด เดินสำรวจไปเรื่อยๆตามประสาคนชอบอ่านและนักอยากเขียน ได้เห็นมุมมองแปลกของผู้เขียนหนังสือทำมือหลายท่าน บางทีก็หัวเราะเพราะคิดได้ไง กับคำบางคำ ประโยคบางประโยค มันแฝงแง่คิด ที่คิดได้เอง โดยไม่ได้อ้างตำราเล่มใด เป็นผู้ตั้ง กฎ และทฤษฎี ชี้นำแนวทางความคิด อาจารย์สวัสดีครับ ผมเห็นอ.ธีรพล อันมัย ภาควิชาการสื่อสารมวลชน กำลังเดินเข้าไปคุยกับกลุ่มคนขายหนังสือทำมือ อาจารย์หันมาพร้อมรอยยิ้มประจำตัว ประมาณว่า ยักษ์ซดน้ำร้อนก็ไม่ปานแต่รู้สึกถึงความจริงใจได้เลย ฟันขาวสวยทุกที ที่เห็นรอยยิ้มของอาจารย์ที่ผมเคารพรักคนนี้ ผมเลยยิ้มตามแบบอาจารย์กลับไป งานนี้อาจารย์ช่วยทุกอย่างเท่าที่ช่วยได้ทีเดียว เออ ! มานี้ครูจะแนะนำแก่ให้พี่เขารู้จัก อาจารย์มองนำสายตาผมไปยัง ชายร่างทะมัดมะแมง นั่งอยู่มุมโต๊ะ วาดสีน้ำเป็นการ์ดสวยๆบรรจงตวักเส้นลายสุดฝีมือ นี่ พี่มาโนช พรหมสิงห์ นักเขียนใหญ่ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ หนังสือทำมือฯ ครั้งที่ 1 พี่มาโนชเงยหน้ามามองอาจารย์และผมและอาจารย์ก็คุยต่อว่า ลูกศิษย์ คนนี้ชอบเขียนกลอน วันหนึ่งๆ เขียนวันละ4-5 บทเลย ผมยิ้มเขินคำอาจารย์พูดเล็กหน่อย แต่กลับหัวเราะเสียงดังแทนเมื่อ พี่มาโนชพูดขึ้น ดูหน้าดูตานึกว่าช่างทำกลอน รับเหมาทำประตู มุขเรียบๆของนักเขียนทำให้คนรอบหัวเราะไปกันใหญ่ ผู้ที่หลายคนอาจจะได้ยินมาบ้างแล้ว แหละก็มีนักเขียนหลายคนด้วยสิที่มากัน อาทิ เช่น ไพฑูรย์ ธัญญา มากล่าว ปาฐกถาพิเศษ คลื่นความคิดมีมุมให้คิดเสมอ พอหันขวาไปนิดเห็น พรชัย แสนยะมูล นักเขียนที่วัยรุ่นนักอ่านรู้จักดี ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ก็มาช่วยงานนี้ด้วย มีหลายท่านที่พบปะกันในงานวันนั้น อย่างที่ทราบกันดีงานครั้งนี้ มีกลุ่มที่ทำหนังสือทำมือหลายกลุ่ม เท่าที่เดินรอบงานก็พอจำได้บ้าง ดังนี้ กลุ่มหิ่งห้อย ,กลุ่มคมดาว และกลุ่มลำนำอีเกิ้ง มาไกลจาก อุบลฯ มีหนังสือหลายเล่มที่อ่านแล้ว โลกเศร้าหรือสวยขึ้น ทันทีที่อ่านเลยหล่ะ แหม กลุ่มเจ้าของพื้นที่ก็มากันเยอะไม่ให้น้อยหน้าหรอก สโมสรนักเขียนอีสาน , ชุมนุมหนังสือทำมือ ร.ร. สาธิต มมส , กลุ่มสารคามเสวนา และกลุ่มใต้ฟ้าเดียวกัน งานเขียนหลายคนที่ผมรู้จัก ได้ร่วมเป็นรูปเล่มช่างน่าภูมิใจแทนความตั้งใจของทุกคนจริงๆ แถมมากับ กลุ่มคืนดิน ขอนแก่นนี้เอง ถ้าลงมาเลียบเลาะ อีสานใต้บ้าง มี สโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์ มีนักเขียนคุ้นชื่ออย่าง ไชยา วรรณศรี นำขบวนหนังสือมาแสดง พร้อมกับ กลุ่มตะวันแดง จากเมืองยโสธร งานนี้คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ นิสิตและบุคลากร มหาวิทยาลัยแห่งนี้ สังเกตเห็นหลายคนชวนกันมาดูเยอะพอสมควร แต่ไม่เห็นซื้อให้เป็นกำลังใจเลย แต่สิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่าของผู้มาเยือนหลายกลุ่ม คือการได้สร้างมันขึ้นมา เสียงหัวเราะ กับเสียงพูดคุยกันยังดังอยู่ในความคะนึงความคิดเสมอว่า อีสานเรายังมีกลุ่มคนที่ศรัทธาในการ สร้างวรรณกรรมอยู่ไม่คลาย ไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆในประเทศนี้ เสียงเพลงจาก วงฮักแพง แว่วแผ่วผ่านโสตประสาทในครั้งนั้น คิดถึงความฝันของตัวเอง ว่าเมื่อไหร่จะมีหนังสือเป็นของตัวเองซักเล่มเสียที.
10 กุมภาพันธ์ 2546 10:54 น. - comment id 67362
หนังสือทำมือ .. ผ่านมาสัก 2-3 ปีที่แล้ว ผม ได้สัมผัส กับหนังสือ ทำมือในกทม. บ้างเป็นบ้างเล่ม ความชื่นชมบังเกิดขึ้นพร้อมๆกับ การสูญเสียทรัพย์สิน ((แหะๆ )) ผมหยิบจับ อ่านแล้วก็ อ่าน แล้วก็รับความนึกคิดต่างๆในของผู้ลำดับตัวอักษรในหนังสือที่ทำลายสินทรัพย์ ของผม (( แหะๆ )) ปัจจุบัน หนังสือหล่านั้นยังอยู่อย่างดี บนกองหนังสือของผม ลำดับแรกทรัพย์สินที่เสียหายย่อมแลกมากับความพึงใจในลีลาอักษรบนกระดาษ ลำดับต่อมาความพึงใจที่กำเนิดจากลีลาอักษรเปล่งบวมถึงความรู้สึกของศิลป์และศาสตร์ในส่วนที่เคยพบ หรือเคยพบแต่เลือนลาง และไม่เคยพบเลย และสุดท้ายหนังสือทำมือ ไม่อาจแสดงความอหังการ์ อย่างหนังสือในร้าน หรือในห้างใหญ่ๆใด แต่ผมก็ เก็บถนอม เทียบเท่ากัน ด้วย อักษรที่ใช้ เป็น ภาษาเดียว การใช้ภาษาชนิดเดียวกัน ตลอดจน การบรรจุความรู้สึกต่างๆ ผ่านอักษรมีความตั้งมั่นเท่าๆกัน และด้วยการรับความรู้สึก นี้ ผมยินดีอย่างยิ่งกับ ผู้ทำหนังสือทั้งหลายทั้งมวล ..
11 กุมภาพันธ์ 2546 23:45 น. - comment id 67370
เห็นคุณค่าของหนังสือทำมือด้วยคนครับ หนังสือทำมือเป็นหนังสือที่เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดครับ ชอบครับ