สารคดี : โรงสีชุมชน
สุชาดา โมรา
เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไปทำให้คนต่างจังหวัด เริ่มอยู่อย่างตัวใครตัวมันมากขึ้น ความมีน้ำใจเริ่มหมดไป ความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทนที่ จากที่เคยอยู่กันอย่างเครือญาติ อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ก็แยกตัวออกมาเป็นอิสระ ความเป็นญาติที่ใกล้ชิดกลับเป็นเพียงญาติห่าง ๆ ความรักความสามัคคี การช่วยเหลือจุนเจือกัน ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลดน้อยลงจนเริ่มจางหายไปในที่สุด
ในปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทกับสังคมของคนชนบททำให้สิ่งทั้งหลายเริ่มหายไป แต่บางอย่างก็ยังคงอยู่ เช่น การขอแรงกันไปช่วยหุงข้าวทำกับข้าวในงานบุญต่าง ๆ ซึ่งยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่ดีที่ควรอนุรักษ์ไว้และในงานบุญต่าง ๆ ในสมัยก่อน ชาวบ้านยังไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันตำข้าวเพื่อให้เปลือกข้าวหลุด เมื่อตำเสร็จแล้วจึงมาใสกระด้งฝัดให้เปลือกออก และนำข้าวที่ได้มาหุงทำให้เกิดความสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน แต่พอมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ทำให้ภาพความสามัคคีที่เกิดขึ้นในอดีตหายไป จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในตำบลบางคู้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต ทำให้เกิดโรงสีชุมชนขนาดเล็กที่ชาวบ้านหมู่ ๑๓ ตำบลบางคู้ ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อสีข้าวให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงรวมทั้งบุคคลทั่วไปด้วย ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนสร้างความรักความสามัคคีและความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านให้เกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
โรงสีชุมชนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ โดยการระดมหุ้นจากชาวบ้านในหมู่บ้าน ได้ทุนในการดำเนินกิจการ ๒๔๕,๐๐๐ บาท และที่ดินที่ใช้ในการสร้างชาวบ้านต่างยินยอมยกให้ใช้จัดตั้งโรงสีชุมชน เมื่อโรงสีสามารถดำเนินการได้ก็สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้านได้ดี เช่น ปัญหาการขาดอาชีพ เมื่อมีโรงสีทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการบริหารจัดการ ปัญหาข้าวที่สีแล้วมีราคาแพง ช่วยให้ชาวบ้านซื้อข้าวในราคาที่ถูกลงหรือใครจะนำข้าวของตนมาสีก็ได้แต่ทางโรงสีจะขอแกลบ ปลายข้าว รำข้าว เอาไว้ขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำค่าไฟ และใช้ในการดูแลรักษา นอกจากนี้โรงสีชุมชนยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบลบางคู้ด้วย
นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของคนในชุมชนแล้ว โรงสีชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วยเพราะจะมีผู้ขอมาศึกษาดูจากงานเป็นจำนวนมาก
ต่อมาโรงสีชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนชุมชนเพื่อสังคมเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๔ ในการปรับปรุงโรงสีชุมชนเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตและเพิ่มคุณภาพของการสีข้าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ได้รับงบสนับสนุนจาก สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จัดสรรงบถ่ายโอนผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นทุนดำเนินการโครงการจัดซื้อข้าวเปลือกแก่โรงสีชุมชน เป็นเงิน ๓๔๐,๐๐๐ บาท จากเงินส่วนนี้ทำให้โรงสีชุมชนมีทุนในการซื้อข้าวเปลือกมาสีขายให้กับชาวบ้าน
ข้าวเปลือกที่หาซื้อได้ก็ได้จากชาวบ้านในหมู่บ้านเพราะคนในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักทำให้มีข้าวที่ชาวบ้านนำมาสีเพื่อไว้เองหรือที่โรงสีชุมชนซื้อมาจากชาวบ้านเพื่อสีขาย และซื้อข้าวจากนอกพื้นที่มาขายเช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมกุหลาบ เป็นต้น มาสีขายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด
อย่างไรก็ตามโรงสีชุมชนก็ถูกสร้างขึ้นมาจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเพื่อประโยชน์ของคนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนรวมทั้งสามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ทำให้ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ของคนต่างจังหวัดกลับมาเยื้อนจนทำให้เราสามารถรำลึกถึงบรรยากาศแห่งน้ำใจไมตรีได้อีกครั้งหนึ่ง