สารคดี : คุ้มร่วมใจ......ในบ้านหม้อ
สุชาดา โมรา
ปัจจุบันการร่วมตัวแบบในอดีตที่ผ่านมาเริ่มลดน้อยลง ชาวบ้านจะอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่สนใจว่าบ้านใครจะทำอะไรกันและก็จะรู้กันแต่ในบ้านของตัวเอง ด้วยเหตุนี้คน ต.บางคู้ หมู่ ๑๓ จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยสร้างความสามัคคีให้แก่คนในหมู่บ้าน จึงได้มีการจัดตั้งคุ้มบ้านขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เป็นศูนย์รวมของคนในคุ้มนั้น เช่น ใช้ในการประชุมเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในหมู่บ้าน โดยทุกคนมีสิทธ์มีเสียงเท่าเทียมกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เช่น ลูกหลานบ้านใครมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องติดยาเสพติด ก็จะมีการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขในทางที่ถูกต้อง และที่สำคัญคุ้มก็ยังเป็นที่ผักผ่อน หย่อนใจของคนชุมชนด้วย คือ จะมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน มีการเล่นหมากรุก และเป็นที่ชุมนุมคนแก่ในหมู่บ้าน ที่จะมาพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันนั้นคุ้มได้เข้ามามีบทบาทสำคัญของคน ต.บางคู้ หมู่ที่ ๑๓ เป็นอย่างมาก
ลักษณะของคุ้มที่มีในชุมชน ต.บางคู้ หมู่ที่๑๓ นั้นจะมีรูปแบบเป็นศาลาและใช้เสาทั้งหมดสี่เสา มีที่นั่งและมุ่งหลังคาด้วยใบจาก และจะมีความแตกต่างจากในอดีตคือ ในคุ้มจะมีการแบ่งสมาชิกว่าแต่ละครอบครัวว่าอยู่ในคุ้มไหน โดยสมาชิกของแต่ละคุ้มนั้นจะเป็นผู้อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ในแต่ละคุ้มจะมีหัวหน้าที่สมาชิกจะเรียกว่า หัวหน้าคุ้ม หัวหน้าจะเป็นผู้ที่ถูกสมาชิกเลือกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของตนเองและคุ้ม ซึ่งการเลือกนั้นหัวหน้าคุ้มจะต้องเลือกจากผู้ผู้ที่มีความสามารถ เป็นที่เคารพของคนในคุ้มและหมู่บ้าน เพราะหัวหน้าคุ้มจะเป็นผู้เข้าประชุมเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมาชิก หรือในบริเวณคุ้มของตัวเอง เช่น ในวันพ่อ ก็จะร่วมตัวกันพัฒนาบริเวณคุ้มของตนเองหรือเมื่อมีการประชุมที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหมู่บ้านก็จะนำมาแจ้งผู้ใหญ่บ้านอีกทีหนึ่งทราบหาวิธีการแก้ไขต่อไป
ในขณะเดียวกันการจัดตั้งคุ้มก็ถือว่าเป็นกลไกลในการทำงานของผู้ใหญ่บ้านอีกทางหนึ่งคือเวลาประชุมประจำเดือนก็จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกันหรือเมื่อมีเรื่องมาจากทางอำเภอก็จะแจ้งกับหัวหน้าคุ้มเพื่อไปบอกให้แก่สมาชิกทุกคนให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
การจัดตั้งคุ้มของคนในหมู่ ๑๓ ยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ได้มีการนำชื่อของสมุนไพรไทยมาตั้งเป็นชื่อคุ้ม โดยมีทั้งหมด ๕ ชื่อด้วยกัน คือ ม้ากระทืบโรง หนุมานผสานกาย ฟ้าทะลายโจร โด่ไม่รู้ล้ม ประคำดีควาย ซึ่งทำให้เห็นว่าคนในหมู่ ๑๓ นั้นมีความคิดที่สร้างสรรค์อย่างมาก และจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ที่ตั้งชื่อคุ้มแล้วทำให้ทราบถึงสาเหตุและที่มาของชื่อคุ้มที่เป็นสมุนไพรได้ดังนี้
๑. เพื่อเป็นเอกลักษณ์ในการจดจำชื่อคุ้มได้โดยง่ายของคนในหมู่บ้าน
๒. ชื่อทุกชื่อล้วนเป็นชื่อของสมุนไพรไทยที่มีความหมายถึงเรื่องของการผสานบาทแผล หรือบำรุงกำลัง และเพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าทุกคนความมีความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและต้องสามัคคีกันในหมู่บ้าน
๓. เพื่อให้ลูกหลานที่กำลังจะลืมคุณค่าของสมุนไพรได้ทราบถึงประโยชน์และเพื่อเป็นการอนุรักษ์
แนวทางในการพัฒนาคุ้มบ้านนั้นจากการพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านทำให้ทราบว่ามีความพอใจอยู่ในระดับหนึ่งแต่อีกสิ่งที่ต้องการให้คนในหมู่บ้านทำคือหากิจกรรมต่างๆมาทำกันเช่นมีกิจกรรมในทุกวันหยุด โดยให้แต่ละคุ้มพาลูกหลานมาพูดคุยกันมีการฝึกเล่นดนตรีหรือมีหนังสือให้เยาวชนอ่านเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
จะเห็นได้ว่าการจัดตั้งคุ้มบ้านนั้นสร้างประโยชน์ให้แก่คนในหมู่ ๑๓ เป็นอย่างมากเพราะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจกันมากขึ้น และภาพการแบ่งปันและพึ่งพาอาศัยกันของคนในหมู่ ๑๓ กำลังจะกลับมาอีกครั้งดังที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตมาแล้ว