สารคดี : ขนมไทยในบ้านบางคู้
สุชาดา โมรา
ชาวบ้านหมู่ที่ ๑๓ ต.บางคู้ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีเวลาว่างชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว แต่ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถทำงานหนักได้จะใช้เวลาว่างทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เช่น การทำขนมไว้รับประทานเองภายในครอบครัวหรือเพื่อจำหน่ายในหมู่บ้าน ซึ่งขนมที่ทำก็เป็นขนมง่าย ๆ สามารถหาวัตถุดิบได้ภายในท้องถิ่น
ขนมไทยในหมู่ ๑๓ ต.บางคู้นั้นมีหลากหลายชนิดทั้งขนมที่มีมาแต่โบราณหรือขนมไทยแบบสมัยปัจจุบัน เช่น ขนมกง ฝอยทอง ทองหยอด เม็ดขนุน ขนมกวน กล้วยบวชชี ตะโก้ ปลากริมไข่เต่า ขนมเปียกปูน ลอดช่อง บัวลอย ครองแครง ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมฟักทอง กล้วยตาก ขนมดอกดิน กระยาสารท ข้าวต้มมัด มันเชื่อ เผือกกวน ถั่วกวน สับปะรดกวน มะม่วงกวน ขนมเทียน ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวเปียก ข้าวเหนียว ขนมปิ้ง ขนมหม้อแกง ขนมเปียกสาคู เป็นต้น
การทำขนมไทยนั้นนอกจากจะทำขึ้นเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวหรือเพื่อจำหน่ายแล้ว การทำขนมไทยตามงานเทศกาลต่าง ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ใน หมู่ ๑๓ ต.บางคู้ยังมีขนมไทยหลงเหลืออยู่อีกมาก งานเทศกาลต่างๆ ที่ชาวบ้านนิยมทำขนมไทยก็เช่น ประเพณีสารทไทยจะทำกระยาสารท วันตรุษจีนทำข้าวเหนียวแดงกับขนมเทียน วันสงกรานต์ทำขนมกวน ขนมปิ้ง ขนมหม้อแกง วันออกพรรษาทำข้าวต้มมัด หรือในงานบุญต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท งานขึ้นบ้านใหม่ ก็จะทำขนมที่มีคำว่า ทอง เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ชีวิตร่ำรวยมีเงินทองใช้คล่องมือ หรือทำขนมไทยตามฤดูกาลเพราะขนมไทยบางชนิดสามารถหาวัตถุดิบได้บางฤดูกาลเท่านั้น เช่น ฤดูร้อนทำมะม่วงกวน กล้วยตาก ขนมฟักทอง ฤดูฝนทำขนมดอกดิน เป็นต้น แต่ขนมไทยบางชนิดสามารถทำได้ตลอดทั้งปี เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมตาล ฯลฯ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน
แม้ว่าในบ้านหมู่ที่ ๑๓ ต.บางคู้จะมีขนมไทยหลายชนิดแต่ในปัจจุบันพบขนมไทยเพียงไม่กี่ชนิดที่ยังคงทำกันอยู่ เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมฟักทอง ขนมถ้วยฟู เม็ดขนุน และฝอยทอง ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำขนมไทยนี้จะเป็นผู้ที่มีอายุ ๕๐ - ๖๐ ขึ้นไป โดยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากมารดาของตนเองหรือใช้การจดจำจากการเป็นผู้ช่วยในงานต่าง ๆ
สาเหตุที่ขนมไทยในหมู่ ๑๓ ต.บางคู้บางชนิดสูญหายไปนั้นเกิดจากความนิยมรับประทานขนมไทยลดน้อยลงคนรุ่นใหม่นิยมรับประทานขนมสำเร็จรูปที่บรรจุหีบห่อสวยงามมากกว่า และขาดความสนใจที่จะศึกษากรรมวิธีการทำขนมไทย เพราะเห็นว่าขึ้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลามาก วัตถุดิบอย่างบางหายาก ต้องใช้ความชำนาญอย่างสูงจึงจะได้ขนมไทยที่มีรสชาติอร่อยการซื้อรับประทานจะสะดวกกว่า
ความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร หมายถึง ความเชื่อของบุคคลที่เกิดจากการรับรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นจากการับประทานอาหารบางชนิด หรือความเชื่อในผลที่จะเกิดในชาติหน้า
ความเชื่อเกี่ยวขนมไทยในหมู่ ๑๓ ต.บางคู้ มีพียงเล็กน้อยและชาวบ้านก็ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเหตุใดจะต้องทำขนมชนิดนี้ในเทศกาลนั้น สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำจะมาจากการบอกเล่าของบิดามารดาว่าจะต้องทำแต่ไม่ได้บอกถึงความหมายของการทำหรือไม่ทำ เช่น ในงานแต่งงานจะทำข้าวเหนียวแดง ขนมกวน ขนมเปียก เพราะเชื่อว่าจะช่วยว่าให้คู่แต่งงานอยู่กันอย่างเหนียวแน่นปรองดองกัน การใช้ถั่วและงาในขนมขันหมากก็เชื่อว่าเป็นการสอนให้คู่บ่าวสาวรู้จักทำมาหากิน โดยใช้ถั่วและงาเป็นสัญลักษณ์แทนการเพาะปลูก ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่จะใช้ขนมที่มีคำว่า ทอง เพราะเชื่อว่าเป็นการเรียกเงินเรียกทองเข้าบ้าน หรือการไม่นำขนมดิกดินใส่บาตรเพราะเชื่อว่าเกิดมาชาติหน้าจะตัวดำ เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นขนมไทยชนิดไหนจะมีความเชื่อที่ดีหรือไม่ เราเป็นคนไทยเราก็ต้องรักษาของไทยเราไว้เพื่อลูกหลานจะได้มีวัฒนธรรมทางด้านอาหารสืบทอดต่อ ๆ กันไป