สารคดี : ภูมิใจไทยทำ ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว
สุชาดา โมรา
สภาพทั่วไปของหมู่บ้านบางคู้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีแหล่งสาธารณูปโภคที่อุดมสมบูรณ์ แม่น้ำ ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนที่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้อย่างสะดวกสบาย แต่ปัจจุบันกระแสความผันผวนของเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รายได้น้อยกว่ารายจ่าย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้จึงมีอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำอาชีพหลัก คือ การทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ที่ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ผู้คิดริเริ่มคือ คุณดาวเรือง มั่งคั่ง อายุ ๓๙ ปี ได้คิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าว ในช่วงเวลาที่ว่างต้องอยู่บ้านเฝ้าคุณแม่เพราะซึ่งป่วยมานานแล้ว เกิดอาการเครียดเพราะเป็นห่วงมารดาจึงคิดที่จะทำเพื่อให้ผ่อนคลายจากอาการดังกล่าว ช่วงแรกที่ทำยังไม่มีเครื่องมือแต่ก็จินตนาการรูปแบบในการทำและค่อย ๆ สร้างสรรค์งานมีลูกมือคอยช่วยเหลือมาตลอดคือ คุณกัณหา มั่งคั่ง อายุ ๓๗ ปี ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของคุณดาวเรืองนั่นเอง
บ้านคือแหล่งงาน คุณดาวเรืองและคุณกัณหา ได้ใช้พื้นที่ว่างใต้ถุนบ้านเป็นแหล่งในการทำผลิตภัณฑ์บริเวณดังกล่าวจะเต็มไปด้วยกะลามะพร้าว มะพร้าวแห้งและเศษกะลาที่เหลือจากการประดิษฐ์ผลงาน ทั้งสองคนจะช่วยกันประดิษฐ์ผลงานโดยอาศัยความรู้ด้านช่างไม้และการใช้เครื่องมือจากภูมิปัญญาดั้งเดิม นำมาผสมผสานจนเกิดชิ้นงานแบบใหม่ขึ้น
คุณกัณหาเล่าว่า คุณดาวเรืองจะอาศัยทำในช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพราะเมื่อมารดาเสียแล้วคุณดาวเรืองก็จะไปทำงานหลักตามเดิมคือ นักบัญชี แต่ยังคงทำอยู่และสิ่งที่สำคัญที่มีการพัฒนาคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำนั้นต้องมีความแข็งแรง ทนทาน มีคุณภาพและเห็นว่าหากตัดบางส่วนและเสริมส่วนผลิตภัณฑ์น่าจะสวยงามและแข็งแรงทนทานกว่าเดิม จึงตัดสินใจทำจนได้ผลดังคาด ผลิตภัณฑ์ที่ทำส่วนมากจะได้รับการยอมรับและเป็นรู้จัก คือ โคมไฟ นาฬิกา ถาดรองแก้ว ที่วางโทรศัพท์ ออมสินรูปแบบต่าง ๆ สัตว์ที่เอาไว้ตั้งโชว์ มด แมลงมุม เต่า ฯลฯ
มะพร้าวแห้งคือวัตถุดิบที่สำคัญ คุณกัณหาอธิบายว่า การทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นต้องใช้ผลของมะพร้าวแก่ที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ จะไม่ใช้กะลามะพร้าวที่นำเนื้อและน้ำมาใช้ประโยชน์ เพราะกะลามะพร้าวที่ร่วงจากต้นมีคุณสมบัติตรงที่ผลแก่จัดสีของกะลาจะดำ เมื่อนำมาประดิษฐ์แล้วจะช่วยให้เกิดความสวยงาม นอกจากนั้นความแก่ของมะพร้าวจะช่วยให้เนื้อของกะลาอยู่ตัวไม่หดง่ายเหมือนกะลาที่นำมาจากผลมะพร้าวตามปกติ
หากมองอย่างผิวเผินการทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อคุณดาวเรืองทดลองทำให้ดูก็พบว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนไม่น้อย โดยเฉพาะคุณสมบัติก็สำคัญในการทำงานประเภทนี้คือผู้ทำต้องเป็นคนใจเย็นไม่น้อยกว่าการประดิษฐ์ผลงานประเภทอื่นที่ต้องใช้สมาธิเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ที่สำคัญสำหรับงานนี้ก็เป็นเครื่องมือของช่างไม้ทั่วไป เช่น
เครื่องเจียน สว่านไฟฟ้า สว่านมือ เครื่องยิง วงเวียนไม้ เลื่อย มีด บุ้ง ค้อน กระดาษทราย กาว และปากกา ส่วนอุปกรณ์เสริมมี ทินเนอร์ แลกเกอร์สำหรับการเคลือบเงา
คุณดาวเรืองเริ่มลงมือทำด้วยการนำผลมะพร้าวแห้งที่กองไว้มาปลอกเปลือกจนหมดก่อนจะเกลาด้วยมีดโต้ให้เสี้ยนกะลาหลุดออกมากที่สุด จากนั้นจะใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำว่าลูกค้าต้องการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ประเภทใดเพราะมีความหลากหลาย และแต่ละแบบจะมีชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกันโดยใช้กาว จากส่วนประกอบทั้งหมดนั้น คุณกัณหาจะขัดด้วยกระดาษทรายหรือเครื่องเจียนจนเงางามก่อนจะนำมาประกอบเป็นชิ้นงานสมบูรณ์ต่อไป ผลงานที่ได้ในขั้นตอนนี้ นับว่าสวยงามตามธรรมชาติ แต่หากต้องการให้เกิดความสวยงามมากยิ่งขึ้นไป ต้องใช้น้ำมันทาเคลือบผิวอีกขั้นหนึ่ง ทิ้งไว้จนแห้งจะได้ผลงานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้ ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านงานช่างไม้จนได้ชิ้นงานอันทรงคุณค่าในที่สุด
แหล่งจำหน่ายส่วนมากเมื่อทำเสร็จแล้วจะตั้งโชว์ไว้ในตู้กระจกใต้ถุนบ้านเพราะไม่มีเวลานำออกไปจำหน่ายยังสถานที่ต่าง ๆ จะมีลูกค้ามาเที่ยวชมแล้วสนใจก็ซื้อและสั่งทำแล้วมีการบอกต่อ ๆ กันไป ราคาก็จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการทำ ความคิดในการสร้างสรรค์ทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวเกิดจากแรงบันดาลใจและจินตนาการเพื่อที่ต้องการจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อให้ไปอบรมวิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา หมู่บ้าน และมีนักเรียนนักศึกษามาฝึกหัดทำที่บ้านจนถึงแหล่งนับได้ว่าเป็นงานภูมิปัญญาที่ท้องถิ่นให้การขานรับเป็นอย่างดี
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าวนี้ นับเป็นงานที่โดดเด่นอันเกิดจากฝีมือของชาวบ้านที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเป็นผู้นำในด้านการคิดค้นและประดิษฐ์สินค้าชนิดใหม่ออกสู่ตลาด จึงควรยิ่งที่จะได้รับว่าเป็นผลงานทางภูมิปัญญาของชาวบ้านจังหวัดลพบุรี แม้ว่าผลงานจากภูมิปัญญาของทั้งสองจะโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จัก แต่ยังขาดการส่งเสริมในด้านการตลาดหากหน่วยราชการในท้องถิ่นและภาคเอกชนให้การสนับสนุนก็จะเกิดกำลังซื้อและสำนึกเพิ่มขึ้นตาม และยังรวมถึงโอกาสของการสร้างงานแก่ผู้อื่นในท้องถิ่นด้วย
รักเมืองไทย ซื้อของไทย ร่วมใจ ยกย่อง เชิดชู ภูมิปัญญาของท้องถิ่น