สนามแข่งหนู

คีตากะ

f1ffa452-6cd8-11df-91c8-00144feab49a.jpg
           “ สนามแข่งหนู” เป็นการเปรียบเปรยแบบฝรั่งว่าชีวิตลูกจ้างที่ต้องพึ่งพาเงินเดือนตอนสิ้นเดือน ไม่มีโอกาสร่ำรวย ด้วยต้องวิ่งวนอยู่แต่ชีวิตแบบเดิมๆ ดิ้นรนเหมือนหนูในสนามแข่ง เรียกว่าเป็นคำที่ใช้ในตำราของพวกเศรษฐีที่เอามาสอนกันเมื่อไม่นานมานี้ การหนีให้พ้นจากสนามแข่งหนู หรือหลุดออกจากการ “อยู่ได้” ด้วยเงินเดือนประจำ จากการเป็นลูกจ้าง (ตลอดชาติ) เพื่อก้าวเข้าสู่ทางด่วนของการลงทุน จึงเป็นเป้าหมายแรกของ “คนอยากรวย” โดยเขาบอกว่าในโลกนี้มีคน 4 ประเภท ถ้าเราทำงานกินเงินเดือน เราก็เป็นลูกจ้าง หรือ E – Employee ถ้าเรามีธุรกิจส่วนตัวแต่ต้องทำเองเกือบทั้งหมด เช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม คลินิก ฯลฯ เราก็อยู่ในกลุ่ม S – Self Employed  ถ้ารายได้เกิดจากการเป็นเจ้าของกิจการ (ขนาดใหญ่) ก็คือกลุ่ม B – Business Owner และถ้ารายได้มาจากการลงทุน เราก็คือ “นักลงทุน” I – Investor ในโลกสี่แบบของคนสี่ประเภท เขาบอกว่าเพียงแค่รายได้จากการเป็นลูกจ้าง หรือทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ซึ่งคุณต้องลงแรงเองนั้นไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับคนที่ต้องก้าวสู่ อิสรภาพทางการเงิน คุณต้องฉลาดกว่านั้น ซึ่งก็คือก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการหรือนักลงทุน เพื่อที่จะ “ใช้เงินทำงาน” แทนตัวคุณ กุญแจสำคัญที่ทำให้ทุกคนออกจาก “สนามแข่งหนู” ได้ ไม่ใช่ “เงินบนหน้าตัก” ที่อาจได้มาเพราะโชคช่วยหรือลงทุนถูกต้องถูกตัว แต่รายได้ที่เข้ามาต้องสม่ำเสมอจนครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่างหาก ที่จะบอกว่าคุณหลุดพ้น สนามแข่งหนู เพื่อไปตามล่าหาฝันบน “ทางด่วน” ได้ จากนั้นก็ต้องต่อสู้กับสถานการณ์ด้วยไหวพริบและความฉลาดในการจัดการเงินทอง “เงินมองไม่เห็นด้วยสายตา แต่เห็นจากสมอง” อย่ามองดูที่ทรัพย์สิน เช่น บ้าน อสังหา แต่ต้องเห็นไปถึงโอกาสในการสร้างรายได้ของมัน หรืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ของมัน...............................ฯลฯ
            “สนามแข่งหนู” อาจเป็นเหมือนหุบเขาวงกต ที่ไม่มีทางออก ทำให้คิดไปไกลตอนสมัยเป็นเด็ก ในต่างจังหวัดมักจะมีงานวัด และงานวัดนี่เองที่จะมีเกม “หนูลงรู” มีลักษณะวงกลมขนาดใหญ่ ล้อมรอบขอบชิดด้วยแผ่นไม้ต่อกันไปสูงพอที่หนูจะไม่สามารถกระโดดข้ามออกไปได้ ภายในวงกลมจะมีรูขนาดใหญ่กว่าตัวหนูเล็กน้อย มีจำนวนเท่ากับจังหวัดทั้งหมดในประเทศไทย หากมองจากภายนอกจะพบว่าช่องรูต่างๆ นั้นจะเชื่อมต่อกับกระบอกไม้ไผ่ขนาดเท่าขนาดของรูพอดิบพอดี หนูไม่มีทางเล็ดรอดออกไปได้แน่นอน เจ้าของเกมจะนำหนูตัวหนึ่งมาไว้ตรงกึ่งกลางของวงกลมพอดี โดยครอบตัวหนูเอาไว้ด้วยฝาครอบโลหะขนาดใหญ่กว่าตัวหนู ตรงกึ่งกลางโลหะจะผูกเชือกยึดโยงไว้ด้านบนซึ่งเป็นรอก ปลายเชือกจะอยู่ที่มือเจ้าของเกมที่ยืนอยู่ภายนอกวงกลม ผู้จะเล่นเกมต้องจ่ายเงินค่าเล่นในแต่ละครั้งก่อน เพื่อเสี่ยงทายว่าภายหลังจากที่หนูถูกปล่อยแล้วจะวิ่งเข้าไปในช่องรูไหน ซึ่งมีป้ายชื่อจังหวัดติดอยู่ สมมติมี 77 จังหวัด โอกาสในการทายถูกก็คือ 1 ต่อ 77 เมื่อผู้ประสงค์เล่นเกมจ่ายค่าเล่นในแต่ละรอบแล้ว เจ้าของเกมก็จะดึงเชือกยกฝาครอบขึ้น ! นั่นแหละเสียงเชียร์ เสียงตะโกน เสียงปรบมือ ก็จะดังสนั่นไปทั่วบริเวณ เมื่อหนูที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระได้ยินเข้า มันก็จะตกใจสุดขีด และรีบวิ่งหาที่หลบภัย นั่นก็คือ “รู” กระบอกไม้ไผ่ที่มันคิดว่าจะสามารถหนีหลุดรอดจากหุบเขาวงกตนี้ไปได้ แต่น่าเสียดาย ที่นั่นเป็นเพียงที่หลบภัยชั่วคราวเท่านั้น ค่ำคืนหนึ่งมันต้องวิ่งก็รอบ คงไม่มีใครมาเสียเวลานับหรอก คนเล่นเกมที่มีโชคสามารถทายถูกในจังหวัดที่หนูหลบเข้าไปได้ก็จะได้รับรางวัลไป ส่วนคนที่ทายผิดก็กระเป๋าแห้งกันไปตามระเบียบ
 
             โลกแห่งการเงิน หรือโลกแห่งจิตวิญญาณก็คงไม่แตกต่างกันนัก คนอยากรวยมุ่งหวังอิสรภาพทางการเงิน คนอยากพ้นทุกข์มุ่งหวังอิสรภาพทางจิตวิญญาณ แต่จุดหมายก็คงเหมือนกันคือ “อิสรภาพหรือความสุขที่แท้จริง” ซึ่งก็คงเหมือนกับหนูที่วิ่งหาที่หลบภัย ซึ่งใครจะไปหยั่งรู้ได้ว่ามันอาจเป็นเพียง “ที่หลบภัยชั่วคราว” คนรวยเล่นกับเงินจนเข้าใจเกมการเงิน คนหลุดพ้นเล่นกับจิตวิญญาณจนเข้าใจ 2 คนนี้อาจดูไม่แตกต่างกันนักในหลักการ เพียงเป้าหมายเท่านั้นที่ต่างกัน หนทางออกจากสนามแข่งหนูก็อยู่ตรงนั้นแล้ว คุณจะพอใจกับมันหรือไม่? แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเชื่อมั่นคือว่ามนุษย์จะไม่เคยรู้สึกพอใจกับอะไรที่ตัวเองครอบครอง จนกว่าเขาจะค้นพบอย่างแท้จริงว่า “ตัวเองต้องการอะไร”...............    
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน