โพลสำรวจย้ายเมืองหลวง

Prayad

Professor Bryan Kline หรือ ศาสตราจารย์ ไบรอันไคลน์ เป็นอาจารย์ชาวฝรั่งที่มาฝังตัวอยู่ทำวิจัยในเมืองไทยเป็นเวลาติดต่อกันมานมนานหลายปี ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาอุทกศาสตร์ ซึ่งหมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของการพยากรณ์ ถึงสภาวะน้ำท่วม หรือ อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาแต่ การเกิดพายุฝน และน้ำท่วมอย่างใหญ่หลวง กว้างขวางและรุนแรง ซึ่งยากต่อการป้องกันและแก้ไข หรือ ถึงขั้นที่อาจจะไม่สามารถป้องกันและแก้ไขอะไรได้เลย ความเชื่อมั่นในข้อมูลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ท่านศาสตราจารย์ ไบรอัน ไคลน์ ยึดมั่นมาโดยตลอดนั้น ทำให้ท่านกลายเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพห้าวหาญ กล้าพูดและกล้าทำในสิ่งที่ท่านคิดว่าถูกต้องตามหลักการและสอดคล้องตามข้อมูลที่ท่านมี ดังนั้นหลังจากที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยในโครงการวิจัยของท่านได้ระยะหนึ่ง บุคลิกดังกล่าวจึงถูกข้าพเจ้าแอบตั้งสมญานามให้ท่านใหม่ (แต่เพียงในใจ) เป็นแบบไทยๆว่า “ศ. บ่ยั่น ใคร” ท่านมีผลงานวิจัยย้อนยุคที่เล่าเรื่องอย่างละเอียดยิบชนิดนาทีต่อนาทีในเหตุการณ์น้ำท่วมโลกอันลือลั่นที่มีหลักฐานพาดพิงถึง ดังที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล คือการต่อเรือโนอาร์ตามคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง นอกจากนั้นท่านก็ยังมีผลงานการสืบค้นประวัติศาสตร์แห่งการถล่มจมหายล่มสลายของทวีปแอตแลนติก ที่เชื่อกันว่าชีวิตและบ้านเมืองของผู้คนทั้งทวีปถูกทะเลกลืนเอาไปลงสู่ใต้ท้องมหาสมุทรอันสุดลึก จนไม่มีหลงเหลือเลยแม้แต่เกาะแก่งเดียว

                “ยู รวบรวมแบบสอบถามที่ส่งออกไปสำรวจความคิดเห็นของผู้คน ได้เท่าไหร่แล้ว” ศาสตราจารย์เอ่ยถามข้าพเจ้า

                “คงสัก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นจะได้ครับท่าน”

                “ยู รู้ไหม ประเทศไทยของยู ไม่ได้มีการวางแผนในเรื่องนี้กันเลย จำเป็นจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนคนไทยอย่างรีบด่วน และนำแผนการอพยพครั้งยิ่งใหญ่เสนอเข้าสู่สภาฯเพื่อพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณกันต่อไป และจะต้องเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย” ศาสตราจารย์สำทับ

                “อะไรจะด่วนจี๋ไปรษณีย์จ๋า อย่างนั้นล่ะครับท่าน” ข้าพเจ้าย้อนถามท่านบ้าง

                “จุ๊ๆ อย่าเพิ่งเอ็ดไป ที่ไหนเขาก็มีแผนสำหรับเรื่องนี้กันทั้งนั้นแหละ ประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีเมืองหลวงอยู่ทางตอนล่างของประเทศ ต่างก็เตรียมแผนโยกย้ายนครหลวงขึ้นไปตั้งอยู่ทางตอนเหนือกันหมดแล้ว อย่างลอนดอน ก็คงจะถูกย้ายขึ้นดอนจริงๆคราวนี้ล่ะ เข้าใจว่าคงจะย้ายขึ้นไปอยู่ดอนแถวๆสะก๊อตแลนด์ ส่วนโยฮันเนสเบิร์กของอัฟริกาใต้จะต้องขยับสูงขึ้นไปอีก คงจะไปตั้งอยู่ในซิมบับเว ในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมสละเกาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนเองทุกเกาะแก่งแล้ว ขณะเดียวกันก็เร่งเจริญสัมพันธไมตรีเป็นอย่างดียิ่งกับชาติมองโกเลีย เพราะเขามีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและห่างไกลจากอุทกภัยล้างโลก เข้าใจว่าคงจะมีแผนผนวกเป็นประเทศเดียวกัน อาจจะเรียกว่า มองโก-เจแปนนิส หรือ ญี่ปุ่นมองโกลเลี่ยน ดังนั้นในอนาคตประเทศไทยของยูอาจจะมีเพื่อนบ้านเป็นชาว ญี่มอง (ญี่ปุ่น-มองโกเลีย) เกาจีน (เกาหลี-จีน) อินม่า (อินเดีย-พม่า) มลาลาว (มาเลเซีย-ลาว) และชาวสิงห์กัมเวียด (สิงคโปร์-กัมพูชา-เวียดนาม)” ศาสตราจารย์หยุดชั่วขณะ

                “ถึงขนาดต้องรวมประเทศเข้าด้วยกันอย่างนั้นเลยหรือครับ” ข้าพเจ้าได้โอกาสขัดจังหวะ

                “ถ้ายูไม่ยอมไปรวมกับเขา ยูก็จมน้ำตายเท่านั้นเอง ยูจะไม่มีแผ่นดินหลงเหลือไว้สำหรับเดินอีกต่อไปแล้ว แม้แต่อเมริกาเองยังได้บรรจุเรื่องสันทนาการใต้น้ำไว้ในแผนระยะยาวของรัฐบาลเขาเลย”

                “มีสันทนาการใต้น้ำด้วย น่าสนใจนะ พวกเขาจะเล่นอะไรกันในอนาคตเหรอครับ” ข้าพเจ้าอดถามไม่ได้

                “ดำน้ำชมเทพีสันติภาพอดีตมหานครนิวยอร์ก” ศาสตราจารย์เอ่ยอย่างเคร่งขรึมเหมือนกับว่ามันเป็นเรื่องจริงๆจังๆ             

                “เอาล่ะ ลองนำข้อมูลเท่าที่ยูรวบรวมได้มาเสนอให้ฟังซิ” ศาสตราจารย์ เดินนำเข้าไปในห้องประชุมย่อย

ข้าพเจ้าจัดการต่อสายไฟกับเครื่องแล็พท็อป แล้วก็ฉายข้อมูลขึ้นสู่จอพร้อมกับรายงานความคืบหน้าให้กับหัวหน้าโครงการฟังตามลำดับโดยไม่ชักช้า

                “ข้อมูลนี้ได้จากการสำรวจความคิดเห็นจากประชากรทั่วราชอาณาจักรไทย อายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น ๖๙ ล้านคน จากประชากรทั้งหมดของประเทศ ๙๖ ล้านคน

ต่อคำถามที่ว่าท่านกลัวน้ำจะท่วมกรุงเทพฯอย่างขนานใหญ่หรือไม่ พบว่า

กลัว : ๒๐ %

ไม่กลัว : ๓๐ %

เฉยๆ : ๕๐ %

ต่อคำถามที่ว่าท่านกลัวอะไรมากที่สุดในชีวิต

พบว่า กลัวตกงานและบ้านถูกยึด ซึ่งเป็นเหตุผลของเพศชายถึง ๙๐ %

           กลัวการหย่าร้างและขาดความมั่นคงในครอบครัว และเป็นเหตุผลของเพศหญิงถึง ๙๐ %

ต่อคำถามที่ว่าเหตุผลใดที่มีความจำเป็นต่อการย้ายเมืองหลวง

พบว่า การจราจรติดขัด : ๕ %

       น้ำท่วมขัง : ๕ %

       สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ : ๕ %

       การเมืองเป็นพิษ : ๘๕ %

ต่อคำถามที่ว่าภูมิภาคใดที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในอนาคตหากเกิดภาวะน้ำท่วมโลก

พบว่า ภาคเหนือ : ๔๐ %

       ภาคอีสาน : ๓๐ %

       ภาคกลาง : ๒๐ %

       ภาคใต้ : ๑๐ %

จากการทำประชาพิจารณ์โดยจำแนกตามแวดวงของวิชาชีพต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้

นักวิชาการ: ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้อยตามข้อมูลที่มีการรณรงค์เผยแพร่โดยศาสตราจารย์ ไบรอัน ไคลน์ ในหมู่นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ต่างก็มีความเชื่อมั่นว่าในเวลาอันใกล้นี้ประเทศไทยจะต้องได้รับผลกระทบกระเทือนจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ทั่วโลก กรุงเทพฯอาจจะตกอยู่ในสภาพจมจ่อมอยู่ใต้น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแผนการย้ายเมืองหลวงจึงจำเป็นจะต้องบรรจุไว้ในแผนแม่บท และกำหนดงบประมาณเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นักการเมือง : ส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในข้อมูลที่ได้รับ บางส่วนเชื่อว่าเป็นโครงการผลาญเงินงบประมาณของชาติอย่างมโหฬาร ซึ่งเกิดจากการรวมหัวกันของนักวิชาการ นักผังเมือง นักสิ่งแวดล้อมและผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อสร้างงานและหาเงินเข้ากระเป๋าโดยอ้างเอาความเชื่อจากคัมภีร์เรื่องน้ำท่วมโลกมาปั่นกระแสให้ผู้คนเชื่อถือในทฤษฎีนี้เท่านั้นเอง ยิ่งไปกว่านั้นนักการเมืองบางกลุ่มยังเป็นห่วงฐานคะแนนของตนจะหดหายหากหันไปให้การสนับสนุนการย้ายเมืองหลวง เพราะมันหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์อันมหาศาลของพ่อค้า นักธุรกิจอีกจำนวนมากราย อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักการเมืองส่วนหนึ่งที่เล็งเห็นความจำเป็นในการย้ายเมืองหลวง ทว่านักการเมืองกลุ่มนี้ก็ถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ อาทิ มีการกว้านซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้า เข้าครอบครองศูนย์การค้า และเขตพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกับที่ดินสาธารณะ และหากถูกเลือกเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่ ที่ดินบริเวณดังกล่าวก็จะกลายเป็นที่ก่อสร้างศูนย์ราชการต่างๆในอนาคตนั่นเอง

นักการทหาร : ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก เนื่องจากทหารส่วนใหญ่ขอสงวนตัวโดยไม่ขอออกความคิดเห็น แต่ก็มีบางส่วนที่เสนอแนะแนวคิดเอาไว้ คือ ทหารพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกเมื่อ อย่างไรก็ตามหากปัญหาการย้ายเมืองหลวงไม่สามารถจะตกลงกันได้ ทหารก็คงจะถ่ายเทงบประมาณไปเพิ่มเติมให้กับกองทัพเรือ หรือ พูดง่ายๆก็คือกองทัพเรือจะเข้ามาทำหน้าที่หลักและเล่นบทบาทแทนกองทัพบกในการรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งเข้าใจว่าในเวลานั้น สภาพทั่วไปของกรุงเทพฯก็จะเป็นมากกว่าเวนิชตะวันออก แต่ผู้คนก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะย้ายเมืองหลวงกันดีหรือไม่ และจะย้ายไปตั้ง ณ ที่แห่งหนตำบลใด บางท่านยังแนะนำว่าควรจะจัดตั้งหน่วยซิล หรือ หน่วยแมวน้ำ ให้มากขึ้นถึงระดับกองพลหรือกองทัพ เพราะชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านจะไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน เนื่องจากน้ำจืดและน้ำทะเลได้ผสมกลมกลืนไหลบ่าจนท่วมไปหมดทั้งชายแดนฝ่ายเราและฝ่ายเขาไม่ว่าจะเป็นฝั่งทางอินม่า มลาลาว หรือ ชาวสิงห์กัมเวียต ดังนั้นโอกาสที่จะถูกแทรกซึมหรือการถูกรุกล้ำอธิปไตยทางน้ำจึงมีสูงมาก

นักวิทยาศาสตร์ : จากแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในแขนง นิเวศวิทยา ชีววิทยาทางทะเล สมุทรศาสตร์ และวิศวพันธุกรรม ได้เสนอทางเลือกใหม่ของมนุษย์ อันที่จริงก็ไม่ใช่ทางเลือกใหม่เสียเลยทีเดียว กล่าวคือแรกเริ่มเดิมทีย้อนยุคไปหลายร้อยล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในทะเลหรือมหาสมุทร จากนั้นได้วิวัฒนาการ กลายเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบ้าง เป็นสัตว์บกบ้าง หรือ แม้แต่เป็นสัตว์ปีก ซึ่งตามทฤษฏีของชาร์ลส์ ดาวิน นักธรรมชาติวิทยา ชาวอังกฤษ ได้เสนอว่า มนุษย์เรานี้ได้วิวัฒนาการมาจากต้นตระกูลเดียวกันกับญาติหนุมานหรือสัตว์จำพวกลิงนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาตามขั้นตอนตามที่เชื่อกันในทฤษฏีดังกล่าว มนุษย์เราก็ย่อมจะสามารถย้อนวิวัฒนาการกลับ หรือ re-evolution ด้วยการย้อนกลับของวิวัฒนาการดังกล่าว มนุษย์ก็จะกลับไปมีสภาพที่สามารถดำรงชีพอยู่ใต้น้ำได้อีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน นอกจากจะเป็นการช่วยธำรงสภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้สมบูรณ์แล้วยังเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระบบนิเวศวิทยาทางน้ำของมนุษย์อีกด้วย ซึ่งถือเป็นพัฒนาการก้าวหน้าของศาสตร์ทางระบบนิเวศเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นนักสมุทรศาสตร์ก็จะได้นำเอาความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเลมาพยากรณ์สภาพแวดล้อมประจำวัน เพื่อให้การดำรงชีวิตใต้ท้องทะเลเป็นไปด้วยความราบรื่น เฉกเช่นกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์สภาพอากาศให้พวกเราได้รับทราบเป็นประจำวันบนแผ่นดินโลกนั่นเอง ที่สำคัญเวลานี้ ผลงานการตัดต่อยีนหรือพันธุกรรมที่เป็นอวัยวะช่วยหายใจใต้น้ำหรือที่เป็นส่วนเหงือกของสัตว์จำพวกปลา สามารถนำมาประกอบเข้ากับยีนของมนุษย์ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเร็วๆนี้เอง ทารกทดลองซึ่งมีเหงือกเหมือนปลาตรงใต้คาง ก็เพิ่งจะคลอดออกมาและกำลังอยู่ภายใต้การอภิบาลของทางโรงพยาบาลมัจฉารักษ์แห่งสยามชาติ และสิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ทารกน้อยคน(หรือตัวหรือตน...ก็ไม่ค่อยจะแน่ใจในสรรพนามใหม่ที่ควรจะใช้เรียก)นั้น สามารถสงบนิ่งอยู่ใต้น้ำภายหลังจากที่คลอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติราวกับลูกอ๊อดลูกปลา โดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะจมน้ำหรือสำลักน้ำตาย แม้แต่น้อย...”

“เดี๋ยว...ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน” ศาสตราจารย์ขัดจังหวะขึ้นมาอย่างฉับพลัน

“มีอะไรผิดไปรึครับ” ข้าพเจ้ายังงงๆ

“ยู ไม่มีอะไรผิดหรอก แต่ผมคาดคะเนจากรายงานของยูเพียงแค่นี้ก็พอจะสรุปได้สองหรือสามประเด็นคือ          

๑. การย้ายเมืองหลวงคงเป็นไปได้ยากมากหรือแทบไม่ได้เอาเสียเลย เพราะติดปัญหาเรื่องการเมือง และผู้คนยังไม่พร้อม

๒. วิวัฒนาการย้อนศร หรือ re-evolution ทำท่าจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาแล้ว

๓. เป็นความหนักใจอย่างยิ่งที่ผมจะต้องหารือกับทางสำนักราชบัณฑิตยสถานเป็นการด่วน”

“ท่าน ศ. มีอะไรหนักใจหรือครับ” ข้าพเจ้าเรียกชื่อท่านแต่เพียงย่อๆเพื่อลดความเป็นทางการลงเสียบ้าง

“ยู ยังมองไม่เห็นความสับสนหลังจากนั้นเหรอ ก็เวลานี้พวกนักการเมืองและสื่อมวลชนต่างๆก็พากันอ้างว่าตนเองทำงานเพื่อ กู้ชาติ ในขณะที่ยังมีผืนแผ่นดินให้เดินอยู่ แต่ต่อไปในอนาคตเมื่อผืนแผ่นดินต้องจมจ่อมอยู่ใต้น้ำ และผู้คนต้องแหวกว่ายอยู่ไปมาไม่แตกต่างจากฝูงปลา การทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองจะเรียกว่าอะไรกันล่ะ ยู อย่าบอกนะว่าพวกนักการเมืองและสื่อมวลชนบางกลุ่มจะต้องอ้างว่าพวกตนทำงานเพื่อ จมชาติ

“แหม...ท่าน ศ. ก้อ ถ้าถึงขั้นนั้น หากไม่สามารถจะย้ายเมืองหลวงขึ้นไปอยู่บนบกได้จริงๆ เราก็เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเสียใหม่ไปซะเลยก็...ด๊าย” ข้าพเจ้าพลอยผสมโรง

“ยู ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ไอ จะนำชื่อใหม่นี้ไปเรียนเสนอท่านเลขาสำนักราชบัณฑิตยสถานเพื่อรับไว้พิจารณา” พูดพลางท่านศาสตราจารย์ก็นำแผ่นใส ที่มีลายมือหงิกๆงอๆเพราะเป็นความพยายามของคนต่างชาติที่จะเขียนตัวหนังสือไทย วางทาบลงไปบนโอเวอร์เฮดแล้วก็สับสวิทช์ฉายขึ้นสู่จอ พลางท่านก็หันมายิ้มให้กับข้าพเจ้าเหมือนกับเป็นการแสดงความภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนเสนอแนะชื่อใหม่ของเมืองหลวงในอนาคต ซึ่งดูจะเหมาะสมกับภูมิทัศน์และปัจจัยแวดล้อมของหมู่ชนคนไทยไปในภายภาคหน้า

นครเทพมัจฉา อมราวดีศรีคงคา มิ่งนคราบาดาลพิภพ นพรัตน์ธานี วารีนคเรศ สยามประเทศชลธาร บริบาลสินสมุทร ปริสุทธ์หยาดพิรุณ นพคุณมไหศวรรย์ ชาละวันอารักขา โลมามิ่งมิตร ฉลามประชิดทุกทิศา ปวงประชามนุษย์กบ  ...ฮา (ไม่ออก เพราะดันท่วมจริงๆ นะสิ เมื่อปี ๒๕๕๔)

....................................................

(เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2008/๒๕๕๑)

comments powered by Disqus
  Prayad

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน