บทวิจารณ์ภาพยนตร์ญี่ปุ่น

pigstation

( ภาพยนตร์รางวัล Nippon Motion  Picture  Festival ปี 2003 )
แสดงนำ  อันโดะ  ทาดาโอะ  ,  เนเนโกะ  ซาดาโกะ
กำกับ  กิโตะคุโนะ   โตมัสซึริ
	
	เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ครั้งสุดท้ายที่ร้องไห้อย่างเต็มสุขและอิ่มเอมตอนไหน  ไม่ยากคงเป็นตอนที่ได้เห็นลูกชายคนแรกถือกำเนิดออกมาจากคนรักของผมเอง ไม่อายที่ผู้ชายตัวโตๆอย่างผมจะปล่อยน้ำตาไหลปรี่มาเมื่อยินเสียงแรกของเขา ดวงใจ ดวงหนึ่งที่หล่อหลอมจากความรักของผู้เป็นพ่อเป็นแม่
	เช่นกันภาพยนตร์เรื่อง  the  PAINTER  ได้สร้างรอยประทับใจให้กรีดรอยลึกลงกลางรอยหยักสมองว่า ความรัก ความงาม นั้นคือ การลงฑัณฑ์ทรมานอีกอย่างหนึ่ง ในยามสูญเสียซึ่งการครอบครอง ของรัก ไป จะด้วย มัจจุราชแห่งอายุขัย หรือ โรคภัยไข้เจ็บ ล้วนตรงกับคำพระที่ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย
	อันโดะ  ทาดาโอะ ( นักร้องนำรูปหล่อมากความสามารถแห่งวงร็อคนามกระเดื่องวง ครัวซองต์ )  รับบทเป็น อิจิ จิตรกรวัยเยาว์ผู้กำลังมีอนาคตสดใสกับวิชาชีพของตัว แต่ต้องประสบภาวะความเป็นความตายจากความบกพร่องทางอวัยวะสำคัญ นั่นคือ ภาวะ ลิ้นหัวใจรั่ว
	เพื่อนรักข้างบ้าน คือ นัทซึมิ (แสดงโดย เนเนโกะ) ที่เติบโตมาด้วยกัน เห็นสภาพของ อิจิ แล้ว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอมุ่งมั่นจะเป็นศัลยแพทย์หญิงมือดี เพื่อคอยดูแลเยียวยาเพื่อนรัก (คนรัก ?) ของเธออย่างสุดความสามารถ
	ในที่สุดแม้จะคาดเดาได้ว่า สุดท้าย ความตายอันเป็นนิรันดร์จะต้องพรากทั้งสองจากกัน และทั้งสองไม่อาจจะครองรักกันเช่น คู่อื่นๆได้ แต่วิธีการดำเนินการทางความรักของทั้งสองนั้น มันช่างนุ่มนวลต่อเนื้อเยื่อหัวใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยรู้ว่า อิจิ มีความเปราะบาง และไวต่อความเจ็บปวด    ซึ่งนัทซึมิ คือ ยาใจคุณภาพเยี่ยม ที่หล่อเลี้ยงสภาพคล่องของการเต้นเพื่อยังชีพของ อิจิ ในการลงมือสร้างงานอันงามล้ำ
	ด้วยการประคับประคอง ชีวิต อันแตกต่างไปจากผู้อื่นของ อิจิ มันแสดงให้เห็นถึง การเต้นของหัวใจที่เค้นเอาแต่ความเจ็บปวดเท่าทวี ช่างต่างจากคนอื่นที่หัวใจเต้นเพื่อเสพสุข สายตาของ อิจิ จึงเห็นความงามอันแตกต่าง และรู้ซึ้งถึงทุกอะตอมของออกซิเจน  และเข้าใจว่าเลือดแต่ละหยดคือคุณค่าที่แลกมาอย่างปวดปร่า
	ในวัยเด็กแทนที่ อิจิ จะได้ไปวิ่งเล่นกระโดดโลดแล่นกลางแจ้ง เขาต้องเฝ้ามองเพื่อนอยู่ห่างๆ ด้วยสภาพร่างกายไม่เอื้อให้ เขาจึงหันมา เล่น บนแผ่นกระดาษ แต่ละเส้นคือตัวแทนของความรู้สึกทั้งมวลที่อัดแน่น กระดาษเป็นกองๆในฉากที่ อิจิ ขีดเขียน ลงสีนั้น มันช่างสื่อความหมายให้เห็นถึง แรงเค้นทางชีวภาพ เมื่อพละกำลังทางกายภาพไม่อนุญาติให้ได้มีโอกาสเลือกกระทำ
	ส่วน นัทซึมิ นั้น ได้แต่เฝ้าเพียรพับนกกระสา นับแต่จำความได้ ตัวแล้วตัวเล่า พร้อมคำอธิษฐานให้ ปาฏิหารย์สักวันว่า อิจิ จะหายเป็นปลิดทิ้ง
	ทั้งสองคือ หัวใจสองดวงที่เต้นจังหวะเดียวกัน แต่ต่างกันที่หัวใจหนึ่งเต้นเพื่อพออยู่ได้บนความสาหัส แต่อีกดวงเต้นเพื่อส่งผ่านความหวังให้กันและกัน
	กาลเวลารุดหน้าผ่านไป จากรอยแผลแรกจากการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจที่กรีดประทับแหวกทรวงอกของ อิจิ ในวัยเด็ก จนยามวาระอันแสนทรมานใจกว่าเมื่อ รอยกรีดมีดจากอาจารย์หมอนารุฮิโต้ ศัลยแพทย์มือหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ริวกิว และ เธอ นัทซึมิ ศัลยแพทย์หญิง ผู้ประสบอุบัติเหตุบนเส้นทางการจราจรในสภาพโคม่า และก่อนดับสูญ เธอยินดีมอบหัวใจเธอ เพื่อ อิจิ  และการเร่งรีบดำเนินการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจ ตัดสลับกับภาพปลายภู่กันตวัดลงเส้นระบายสีบนผ้าใบ มันช่างตัดบาดอารมณ์ให้แยกขาดเป็นริ้ว ทั้งความงามแห่งเนื้อเยื่อ และ เนื้อสี มันกระทบเอาทั้ง ความประณีต ความปวดแปลบ ในคาบเกี่ยวเวลาเดียวกัน 
ทั้งสองร่างเคียงคู่กันในขณะที่หัวใจดวงหนึ่งที่บกพร่องกำลังจะได้รับการเปลี่ยนถ่ายจากหัวใจอีกดวงที่เปี่ยมรัก สองคน แต่ต่อจากนี้จะมีเพียงหัวใจเดียวเท่านั้นที่จะต้องเต้นอยู่ต่อไปตามลำพัง
แม้อิจิจะฟื้นคืนมาพร้อมดวงใจของ นัทซึมิ มาอยู่ในทรวงอกของเขาแล้วก็ตาม แต่เมื่อสิ้นเธอไป ทุกอย่างก็ล้วนพร่าเลือนลงไป กี่เรี่ยวแรงที่มี เขาถาโถมลงสู่งานจิตรกรรมอย่างไม่รู้วันรู้คืน จนกระทั่ง ลมหายใจห้วงสุดท้ายในเรือนร่างที่ทรุดโทรมของเขา
 ณ หัวใจนัทซึมิ ใจกลางร่างกายอันบอบบางของเขาหยุดนิ่งลงแล้ว สายใยความรักพุ่งตัวม้วนบรรจบเข้าหากันไปสู่ความนิรันดร์เบื้องปลาย ณ สัมปรายภพ
	ฉากสุดท้ายที่มีแต่นิทรรศการศิลปะอันมีเพียงผลงานเท่านั้น ส่วนจิตรกรได้อำลาจากไปแล้ว ส่วนบนพื้นเต็มไปด้วยนกกระเรียนกระดาษ มันคือความงามที่บาดลึกเร้นลงไป ความงามไม่อาจสูญเสียตัวมันเองไปได้ และความเจ็บปวดนั้นก็ไม่คงทนเท่าความรักที่หนาแน่นอันมีไว้เป็นเกราะกันภัย ซึ่งทั้งสองได้ประคับประคองมาด้วยกันแต่เยาว์วัย
	ระหว่าง หัวจิต หัวใจนั้น  ความเป็นศัลยแพทย์ และจิตรกร ต่างใช้มันได้อย่างละเอียดอ่อนวิจิตรบรรจง ผ่านทาง มือ ออกมาแต่งเสกสรรค์ปั้นแต่งสร้างผลงาน ผ่านความคิด ผ่านปัญญา เราจึงไม่อาจเจ็บปวดถาวรได้ เพราะความงามมันไม่เคยสูญเสียตัวมันเองให้กับอุปสรรคหรือความเลวร้ายใดๆ หากมีความรักเป็นที่ตั้ง
	แล้วคนที่หัวใจแข็งแรงสมบูรณ์ทุกประการอย่างเรา นอกจากการเต้นเพื่อหล่อเลี้ยงชีพตัวเองให้คงอยู่แล้ว เคยเผื่อแผ่น้ำใจออกไปสู่คนรอบข้างบ้างหรือเปล่า ลองตั้งคำถามกับตัวเองดู
	หมายเหตุ  ในนัยยะแห่งถ้อยคำ กลับสืบพบว่าเมื่อออกเสียง PAIN/PAINT คือ ความเจ็บปวด / การระบาย  ซึ่งล้วนถูกบีบออกมากโพรงประสาท/กรวยความรู้สึก   จึงมีแรงดาลใจเขียน กวีให้แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้ สักบท
		น้ำตาระบายไหลออกมาพร้อมความเจ็บช้ำ
		กาลเวลาส่งผ่านความแข็งแกร่งสู่จิตใจ
		แม้เธอจักเจ็บปวดปานใด
		หัวใจฉันเจ็บปวดปานนั้น
		เรารับรู้ เรียนรู้ ร่วมกัน
		
		มือหนึ่งของเธอจักระบายโลก
		มือหนึ่งของฉันจักรักษาร่าง
		แล้วหัวใจของเราก็เต้นพร้อมกัน
		แม้นเธอเจ็บปวด ระบายมันออกมา
		หัวใจฉันพร้อมรับ และรู้สึกตามได้
		เพราะเรามีหัวใจที่บรรจุรักไว้เต็มเปี่ยม
จึงไม่มีความทุกข์ใดมาแผ้วพาลได้ นิรันดร์.				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน