เส้นทางชีวิต
สุชาดา โมรา
จากอดีตสู่ปัจจุบันสังคมของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดและสิ่งที่เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ในทุกวันนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการการเมือง ๑๔ ตุลา หลาย ๆ คนคงจะจดจำความเจ็บปวดได้ดี แต่อีกหลาย ๆ คนก็ไม่อาจจะรับรู้เลยว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเช่นไร ดิฉันจึงขอย้อนความหลังหลังจากที่ได้ไปศึกษามาว่า เมื่อครั้งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลานั้นเป็นปรากฏการณ์ ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ เยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ร่วมกับประชาชนจำนวนแสน เรียกร้องให้รัฐบาลคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส- ณรงค์ ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง ๑๓ คน ที่ถูกจับกุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหาว่ากระทำการผิดกฏหมาย มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทาง การเมืองในสาธารณะเกินกว่า 5 คน เป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐเป็นกบฏภภายในพระราชอาณาจักร และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ในระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ชุมนุมประท้วง โดยสันติวิธี ณ มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ ในวันเสาร์ที่ ๑๓ ประชาชนเดินขบวน สำแดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ที่ดูประหนึ่งว่ากระแสคลื่นมนุษย์จักท่วม ท้นถนนราชดำเนิน ในวันที่ ๑๔-๑๕ ถัดมาก็เกิดความรุนแรง เยาวชนคนหนุ่มสาวถูกปราบปรามด้วยอาวุธร้าย เป็นผลให้เกิดการลุกขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่อมาเผด็จการก็ล้มลง ผู้นำคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส- ณรงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยสมาชิกประมาณ ๑๐ คน เปิดแถลงข่าวที่บริเวณสนามหญ้าท้องสนามหลวง ด้านอนุสาวรีย์ทหารอาสา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว จัดหลักสูตรสอนอบรมรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน กระตุ้นประชาชนให้สำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ ธีรยุทธ บุญมี นำรายชื่อผู้ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ๑๐๐ คนแรกประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ มาเปิดเผย เช่น พล.ต.ต สง่า กิตติขจร นายเลียง ไชยกาล นายพิชัย รัตตกุล นายไขแสง สุกใส นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ดร.เขียน ธีรวิทย์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ ดร.ชัยอนันต์ สมุทรทวณิช อาจารย์ทวี หมื่นนิกร เป็นต้น รวมทั้งจดหมายเรียกร้องจากนักเรียนไทยในนิวยอร์ค ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะสร้างความสูญเสียถึงขนาดทำให้นิสิตนักศึกษาต้องจบชีวิตลงราวกับใบไม้ร่วงโดยที่ไม่มีใครออกมารับผิดชอบก็ตามแต่ประเทศไทยก็มีประชาธิปไตย ซึ่งการเมืองนั้นเปรียบดั่งก้อนหินที่แข็งแกร่ง ถ้าหากว่าวันใดก้อนหินถูกกัดเซาะจนบุบสลาย การเมืองไทยจะอยู่ได้อย่างไร...
การเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยทั้งแผ่นดิน เมื่อมีก้อนหินที่แข็งแกร่งถูกเจียรนัยให้มีความมั่นคงงดงามแล้ว การเมืองก็จะไปได้ด้วยดี และทางด้านอื่น ๆ ของชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ การเกษตร หรืออื่น ๆ นั้นก็จะมีเสถียรภาพที่มั่นคงซึ่งเป็นเหตุมาจากการเมืองที่มีรากเง้าดั่งก้อนหินที่เจียรนัย
เอกสารอ้างอิง
วัฒน์ วรรลยางกูร.๒๕๔๓, ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก.กาญจนบุรี.สำนักพิมพ์ปลายนา