วรรณคดีที่ประทับใจ

สุชาดา โมรา

ท่านสุนทรภู่เกิดเมื่อวันจันทร์ที่  ๒๖  มิถุนายน  ๒๓๒๙  ท่านประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นมาในสมัยที่รับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  โดยแต่งเป็นตอน ๆ และมาแต่งจบในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  วัตถุประสงค์ในการแต่งเรื่องนี้คือสมัยนั้นท่านต้องโทษถูกจองจำในคุกหลวงก็เลยต้องขายผลงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
                 เนื้อเรื่องกล่าวถึงการผจญภัยแต่ใช้ตัวละครคือพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ ซึ่งถูกพระราชบิดาไล่ออกจากเมืองรัตนา  เพราะไปเรียนวิชาที่ไม่เกี่ยวกับการปกครองเมืองหรือวิชาความรู้ของกษัตริย์  จากนั้นก็เป็นการเริ่มต้นของการผจญภัยเมื่อได้เดินทางต่อมาก็ไปเจอพราหมณ์ทั้งสาม  มีวิเชียร  โมรา  สานนท์  และถูกนางผีเสื้อสมุทรจับไปเป็นพระสวามี  มีลูกด้วยกันชื่อสินสมุทร  ต่อมาเมื่อเจอนางเงือกก็วางแผนหนี  และทำสำเร็จได้ไปอยู่เกาะแก้วพิสดารตอนนี้พระอภัยมณีได้เป่าปี่ทำให้นางยักษ์ตาย  จากนั้นก็ได้กับนางเงือกมีลูกชื่อสุดสาครแต่พระอภัยมณีไม่รู้เพราะได้เดินทางจากนางเงือกออกมาแล้ว  ส่วนศรีสุวรรณนั้นหลังจากที่ออกตามหาพระอภัยมณีจึงได้พบกับนางเกษราที่เมืองรมจักร  ได้ไปช่วยรบทำให้ได้อภิเษกกับนางและเดินทางออกตามหาพระอภัยมณีจนมาอยู่ที่เมืองผลึก  ซึ่งเมืองนี้ท้าวสิลราชครองเมืองอยู่มีธิดาชื่อนางสุวรรณมาลีได้หมั้นหมายกับอุศเรนโอรสเจ้าเมืองลังกาซึ่งมีน้องชื่อนางระเวงวันฬา  ตอนนั้นท้าวสิลราชออกไปเที่ยวทะเลกับธิดา  ถูกพายุพัดไปถึงเกาะแก้วพิสดารพระฤาษีได้ฝากพระอภัยมณีให้เดินทางมาด้วย  นางสุวรรณมาลีกับพระอภัยมณีจึงได้พบกันและเกิดเป็นความรัก ต่อมาเรือที่ออกมาจากเกาะแก้วพิสดารนั้นถูกนางยักษ์รังควานจนเรือแตก  พระอภัยมณีต้องสวดมนต์ป้องกันตัวและเป่าปี่จนทำให้นางยักษ์ตาย ต่อมาสินสมุทรก็ได้สู้รบกับอุศเรนจนอุศเรนแพ้  นางระเวงวันฬาจึงมาแก้แค้นโดยการทำเสน่ห์จนพระอภัยมณีคลุ้มคลั่งและกักตัวไว้  และในที่สุดสุดสาครก็ตามมาช่วยแก้ปมปัญหาที่มีอยู่  พระอภัยมณี  นางสุวรรณมาลี  และนางระเวงวันฬาจึงออกบวชไปถือศีลอยู่ที่เขาสิงคุตร
                      ลักษณะคำประพันธ์ในเรื่องนี้แต่งเป็นนิทานคำกลอนแปดหรือกลอนสุภาพ  มีสัมผัสในสัมผัสนอกที่ทำให้บทกลอนมีความไพเราะ  การใช้ภาษานั้นเป็นภาษาที่ง่าย ๆ ซึ่งชาวบ้านอ่านได้โดยที่ไม่ต้องมาตีความมากนักและส่วนใหญ่ท่านจะใช้คำแผลงเพื่อหาสัมผัส  การดำเนินเรื่องนั้นท่านใช้วิธีการผูกเรื่องเพื่อให้เรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ ทำให้เรื่องนั้นมีความสมจริงโดยเฉพาะการยกสถานที่จริงขึ้นมาทำให้บางคนคิดว่าเกาะแก้วพิศดารหรือเกาะเสม็ดนั้นมีนางเงือกจริง ๆ 
                    ในการนำเสนอของท่านนั้นเป็นการนำเสนอที่แปลก  กล่าวคือ  ท่านมีแนวคิดใหม่ ๆ หลายด้าน  มีแนวจินตนาการที่ล้ำยุคล้ำสมัย  เช่น  การเทิดทูนวิชาความรู้และศิลปะเป็นสำคัญ  พราหมณ์พี่เลี้ยงมีความรู้ความชำนาญในด้านวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนนางสุวรรณมาลีนั้นก็เรียนรู้เรื่องวิธีทำสงคราม  นางวาลีรอบรู้เรื่องตำราพิชัยสงคราม  และนางละเวงวันฬาเรียนรู้เรื่องการปกครองและกลอุบายต่าง ๆ นับเป็นความคิดที่ก้าวหน้ายิ่งในสมัยนั้น  โดยเฉพาะการแต่งให้ตัวละครที่เป็นสตรีมีความเก่งกาจ  มีความรู้ความสามารถอันเป็นการยกย่องเพศหญิงให้เทียบเท่ากับเพศชาย  ซึ่งยังไม่เคยมีปรากฏในวรรณคดีเรื่องใดมาก่อนในสมัยนั้น  นอกจากนี้ท่านยังมีแนวคิดที่ก้าวหน้าเหมือนกับการคาดเอาอนาคตว่าจะต้องเป็นเช่นนี้  เช่นเรือของอุศเรนซึ่งสมัยนั้นผู้คนก็อาจจะว่า  ว่าสุนทรภู่บ้ามีเรือที่ไหนจะบรรจุคนได้เป็นร้อยและมีหลากหลายห้อง  ทำให้ชนรุ่นใหม่เกิดความคิดทำเรือที่ใหญ่บรรจุคนได้มากและอาจจะมากกว่าที่ท่านสุนทรภู่คิดไว้เสียอีก
                     คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องนี้คือ  พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีที่ท่านสุนทรภู่ใช้จินตนาการสูงในการแต่ง  ทั้งการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่มองเห็นได้เด่นชัด  ลึกซึ้งกินใจ  มีความไพเราะ  ทำให้เกิดจินตนาการคล้อยตาม   การใช้ถ้อยคำและภาษาที่อ่านง่ายเข้าใจง่าย  การเล่นคำที่สละสลวยใช้โวหารมาแต่งทำให้มีรสแห่งคำประพันธ์มากยิ่งขึ้น  จึงทำให้เรื่องนี้ประทับใจแก่ผู้คนทุกยุกทุกสมัย นอกจากนี้ท่านยังได้แทรกข้อคิดและคติธรรมที่มาพร้อมกับความสนุกสนานไว้ด้วยดังนี้  
	แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์		
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด			
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน			
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน				
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ			
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา				
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
                    บทกลอนตอนนี้หยิบยกมาจากตอน  ฤาษีมาช่วยสุดสาครขึ้นจากเหวหลังจากที่ถูกชีเปลือยหลอกและผลักตกเหวหมายจะให้ตายเพื่อชิงไม้เท้าและม้านิลมังกร  ซึ่งเป็นคติและข้อคิดที่ท่านสุนทรภู่ได้แทรกไว้เกี่ยวกับการสอนใจคนว่าคนเรานั้นรู้หน้าไม่รู้ใจ  ไม่มีใครรักเราได้เท่ากับพ่อแม่ของเราหรอก  และยังสอนให้รู้จักเอาตัวรอด  รวมทั้งการศึกษาด้วยเพราะถึงแม้ว่าเราจะรู้มากเพียงไรแต่ก็ไม่เท่ากับการศึกษาเล่าเรียน  จึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข				
comments powered by Disqus
  • เอกมาศ

    30 กรกฎาคม 2547 22:30 น. - comment id 75748

    .........ดีครับ พระอภัยมณี......แต่ผมว่านะครับ ( อันนี้ความเห็นผมคนเดียวนะครับ ) พระอภัยมณีนี่เป็นผู้ชายที่ไม่มีความเป็นผู้นำเลย.....สุมทรภู่อาจเป็นคนเช่นนั้นก็ได้...ที่สำคัญ คือเจ้าชู้ยักษ์ เจ้าเล่ห์นะครับ แต่มีข้อดีคือเป็น ชายที่ละเอียดอ่อนนัก....ยากต่อการเข้าใจ..รักจริงแต่หลายคน...........เป็นความแปลกของเนื่อหาที่ ตัวเอกเป็น ศิลปิน และชายผู้อ่อนไหว มิใช่นักรบอย่างแต่ก่อน.......และเป็น ปูมความรู้ในสมัยนั้น...ว่าด้วยเรื่อง ฝรั่งล่าอาณานิคม.........
    .            ...ผมคาดว่าจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นสมัย ร.๔  เพราะนั่นเป็นช่วงที่ ขับขันที่สุดของสยามเป็นการเจรจาที่น่ากลัวที่สุด แต่ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง......แต่กระนั้นแสดงว่าถ้าเป็นอย่างที่ผมคาดนั้น ตัวสุนทรภู่เองคงเขียนเมื่อแก่ตัวแล้ว.....งานเขียนจึงมีความ...ปลงวิตกกับชีวิตและมีข้อคิดมากมาย และเกินกว่าที่คนสามัญ จะล่วงรู้ถึงความอันตรายนอกราชอาณาจักร......
    .                 ..น่าจะตรงกับช่วงที่เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ ของพระราชวังบวร  สมเด็จฯพระปิ่นเกล้า......
           ผมให้ข้อคิดนะครับ คุณ สุชาดา แต่อาจไม่เป็นความจริงก็ได้นะครับ แค่ข้อคิด  แต่ก็โอเคครับ    งานของคุณ ดูอิงความเป็นไทยนิยมเกินไปซะด้วย...ดูเหมือนกับ พระอภัยมณ๊ ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ตอนเย็นๆ   ไร้ความเป็นวรรณคดีจริงๆดูแล้วเสียอารมณ์...ถ้าดูแล้ว ดูฟ้าใหม่ นี่เยี่ยมเลยครับ         วรรณคดียังไงก็เป็นจินตนาการ คงยากที่จะสนอง จินตนาการของผู้ชมนะครับ ผมเข้าใจแต่ จะวิจารณ์

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน