นิทานธรรมบท(เรื่องที่9 ท้าวสักกะ)

กระต่ายใต้เงาจันทร์

เรื่องที่  ๙  ท้าวสักกะ
	ความพิสดารว่า  เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ  อยู่ในเมืองเวสาลี  พระองค์ทรงสดับธรรมเทศนาในสักกปัญหาสูตรของพระตถาคตแล้ว  ทรงดำริว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ย่อมตรัสสมบัติของท้าวสักกะไว้มากมาย  พระองค์ทรงเห็นแล้วจึงตรัสหรือว่าไม่ทรงเห็น  ทรงรู้จักท้าวสักกะหรือไม่หนอ  เราจักทูลถามพระองค์ดู	
	ครั้งนั้น   เจ้าลิจฉวีพระนามว่า  มหาลิ  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแระทับอยู่  ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว   จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่ง  ณ  ที่สมควร  ได้กราบทูลพระศาสดาว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ท้าวสักกะจอมแห่งเทพทั้งหลาย  พระองค์ทรงเห็นแล้วหรือ  มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  อาตมภาพเห็นแล้ว  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ก็ท้าวสักกะนั้น  จักเป็นท้าวสักกะปลอมเป็นแน่  เพราะว่าบุคคลอื่นเห็นได้โดยยากเหลือเกิน  พระพุทธเจ้าข้า  มหาลิ  อาตมภาพรู้จักท้าวสักกะและธรรมที่ทำให้เป็นท้าวสักกะ  ท้าวเธอสมาทานธรรมชนิดใด  ธรรมชนิดนั้น  อาตมารู้จักดี
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  เมื่อครั้งเป็นมนุษย์มีชื่อว่ามฆะ  เพราะฉะนั้น  เขาจึงเรียกว่า  ท้าวมฆวา  
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  เมื่อเป็นมนุษย์ได้ให้ทานก่อนคนอื่น  เพราะฉะนั้น  เขาจึงเรียกว่า  ปุรินททะ  
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยเคารพ   ฉะนั้น  เขาจึงเรียกว่า  สักกะ
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พักอาศัย  ฉะนั้น  เขาจึงเรียกท่านว่า  ท้าววาสวะ  
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  ทรงดำริข้อความตั้งพันได้โดยครู่เดียวฉะนั้น  เขาจึงเรียกว่า   สหัสสเนตตะ
	มหาลิ  นางอสุรกัญญา  ชื่อสุชาดา  เป็นศรีภรรยาของท้าวสักกะ  ผู้เป็นจอมแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย  ฉะนั้น  เขาจึงเรียกท่านว่า   ท้าวสุชัมบดี
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย  เสวยราชสมบัติ  อันเป็นอิสสริยาธิปัตย์  แห่งเทพทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์   ฉะนั้น  เขาจึงเรียกท่านว่า   เทวานมินทะ
	มหาลิ  ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย  พระองค์ทรงบำเพ็ญวัตตบท  ๗  ประการให้บริบูรณ์แล้ว  ก็วัตตบททั้ง  ๗  นั้น  มีอยู่ดังต่อไปนี้
	เราพึงเป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต  เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลเป็นนิตย์  จนตลอดชีวิต  เราจะพูดจาอ่อนหวานและอ่อนโยนตลอดชีวิต  เราจะไม่พูดส่อเสียดต่อผู้อื่นตลอดชีวิต  เราจะมีจิตปราศจากมลทิน  คือความตระหนี่  มีเครื่องบริจาคอันสละแล้ว  มีฝ่ามืออันล้างสะอาดดีแล้ว   ยินดีแล้วในอันเสียสละ  ควรแก่การขอ  ยินดีในการจำแนกแจกจ่ายทาน  พึงอยู่ครอบครองเรือตลอดชีวิตเราจะกล่าวแต่คำสัตย์ตลอดชีวิต  เราจะเป็นผู้ไม่โกรธตลอดชีวิต  ถ้าความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา  เราพึงหักห้ามมันเสียโดยเร็วทีเดียว
	พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  มหาลิ  กรรมนี้ท้าวสักกะทรงกระทำไว้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นมฆมาณพ  ดังนี้แล้ว  อันเจ้ามหาลิใคร่จะทรงสดับข้อปฏิบัติของท้าวสักกะนั้นโดยพิสดาร  จึงทูลถามโดยความเคารพอีกว่า  มฆมาณพปฏิบัติอย่างไร  พระเจ้าข้า ?  จึงตรัสว่า  ถ้าอย่างนั้น  ขอมหาบพิตรจงตั้งในฟังต่อไปเถิด  เจ้ามหาลิตั้งใจคอยฟังต่อไปด้วยความเคารพ
	ในกาลล่วงมาแล้วช้านาน  มาณพชื่อฆมะ  อาศัยอยู่ในบ้านอจลคาม  ในแว่นแคว้นมคธ  ไปสู่สถานที่ทำงานในบ้าน  พร้อมด้วยเครื่องมือหลายอย่างผลุงผลัง  พอไปถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง  ซึ่งเห็นว่าพอจะทำให้เป็นที่พักพาอาศัยแก่คนอื่นได้แล้ว  เป็นต้องลงมือทำลงไปโดยทันที  พอลงมือทำเสร็จแล้วเท่านั้น   คนอื่นมาเห็นก็แบ่งเอาของแกไปแกน่าจะโกรธให้แก่เขาคนนั้น  แต่แล้วมาณพผู้นี้หาได้แสดงอาการโกรธขึ้นมาแม้แต่น้อยไม่  ยินดีสละให้แล้ว  ตนเองก็ไปทำสถานที่อื่นต่อไป  แกตั้งใจทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาหลายวัน   เมื่อบุรุษคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นก็รู้สึกสงสัยในการกระทำของเขาครั้งนี้   จึงตรงเข้าไปถามว่า  เพื่อน ..............นั้น แกทำอะไร  มาณพรีบตอบอย่างไม่ได้คิดว่า  ถากถางหนทางไปสู่สวรรค์  บุรุษผู้นั้นได้ยินเพียงคำว่า   สวรรค์เท่านั้น  ก็มีจิตเลื่อมใส  ขอเข้าร่วมทำงานชิ้นนี้ต่อไป  ผลสุดท้ายมาณพนี้ได้เพื่อนร่วมงานถึง  ๓๓ คน  เพื่อนเหล่านั้น  ต่างคนต่างก็ตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็ง  เพราะมุ่งที่จะไปสู่สวรรค์กันทั้งนั้น  ครั้นต่อมาวันหนึ่ง  มาณพเหล่านี้ได้พร้อมใจกันทำงานอยู่  ณ  ที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้บ้านอจลคาม  นายคามโภชกะชักไม่พอใจ  และไม่เห็นชอบด้วยในการกระทำของมาณพเหล่านี้  จึงได้นำตัวของมาณพทั้งหมด  เข้าไปเฝ้าพระราชา  พระราชาโดยที่ไม่ได้คิดหาเหตุผลอะไร  จึงใช้ให้นายคามโภชกะ  พร้อมด้วยราชบุรุษ  นำช้างไปเหยียบพวกมาณพเหล่านั้น  แต่แล้วช้างหาได้เข้าใกล้มาณพพวกนั้นไม่  เพราะอาศัยอานุภาพเมตตาของมาณพ  ถึงแม้จะใช้ความพยายามสักแค่ไหน  และโดยวิธีใด  ช้างก็หาได้เหยียบพวกมาณพนั้นไม่  ด้วยความแค้นใจ  นายคามโภชกะ  ก็ได้นำเอาข้อความนั้นมากราบทูลแก่พระราชา  ท้าวเธอก็รับสั่งให้เรียกพวกมาณพเหล่านั้นให้เข้ามาเฝ้า  ตรัสถามความเป็นไปนั้นทั้งหมดมฆมาณพผู้เป็นหัวหน้า  จึงได้กราบทูลเรื่องที่เป็นมาแล้วทั้งหมดถวาย   พระราชาทรงเลื่อมใสในกิจการงานนั้น  จึงทรงมอบช้างเชือกนั้น   พร้อมทั้งนายคามโภชกะให้เป็นข้าทาสบริวารต่อไป   เมื่อเสร็จจากกิจนี้แล้ว   เหล่ามาณพก็ได้กราบทูลพระราชาไปปฏิบัติกิจ  อันจะนำประโยชน์มาให้แก่ตนและคนอื่นต่อไป  ต่อเมื่อได้ช้างมาแล้ว  จึงปรึกษากันที่จะสร้างศาลาให้เป็นที่พักของผู้สัญจรไป ๆ มา  ๆ  และให้เป็นประโยชน์แก่ผู้จะไปสู่ทิศานุทิศ  เมื่อตกลงกันเป็นเอกฉันท์แล้วก็ได้ลงมือสร้างศาลาตามความประสงค์ของตน  แต่ศาลาหลังนี้เป็นหลังใหญ่   จำเป็นต้องว่าจ้างให้นายช่างมาทำ  พอนายช่างสร้างศาลาจวนจะเสร็จแล้ว   จึงได้ทักท้วงขึ้นว่า  อุ๊ย ............ตาย ?  ขาดช่อฟ้า   พวกมาณพตกใจในเสียงของเขา  จึงรีบเข้ามาถามว่า  เป็นไรไปหรือนายช่าง ?  นายช่างจึงอธิบายให้มาณพเหล่านั้นเข้าใจความสำคัญของช่อฟ้า  และในที่สุดก็ใช้ให้พวกมาณพไปมาหา   แต่จะหาได้จากที่ไหนเล่า ?  นอกจากเรือนของนางสุธัมมาเท่านั้น  แต่แล้วมาณพกลับไปบอกแก่นายช่าง  และนายช่างเตือนต่อไปว่า   อย่าเลยมาณพเอ๋ยเว้นเทวโลก  พรหมโลกเสีย   ที่ไหนเว้นสตรี  สถานที่นั้นก็เป็นป่าช้า   หาความสนุกสนานมิได้เลย   เมื่อเป็นเช่นนี้  พวกท่านจะทำอย่างไร ?  พวกมาณพเกิดน้อยใจ  กลัวศาลาจะไม่เรียบร้อย  จึงพร้อมใจกันไปเอามาจากเรือนนของนางสุธัมมา  ตามาคำบอกของนายช่าง  เมื่อศาลาสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ปรากฏว่ามีแต่ชื่อนางสุธัมมาเท่านั้น  ส่วนมาณพ  ๓๓  คน  หาได้ปรากฏชื่อไม่  อาศัยผลกรรมที่ตนได้สะสมไว้เป็นอันมาก   ครั้งตายแล้วก็ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์โดยพร้อม ๆ กันทั้ง  ๓๓  คน  ส่วนช้างก็ไปเกิดเป็นเทพบุตร  ซึ่งมีนามว่า    เอราวัณ  สำหรับมฆมาณพเล่า  เมื่อจุติจากมนุษย์โลกแล้ว  ก็ได้บังเกิดเป็นใหญ่กว่าเทพเจ้าทั้งหลายในชั้นดาวดึงห์  มีพระนามว่า   ท้าวสักกเทวราช มีเอราวัณเทพบุตรเป็นพาหนะ
	ส่วนนางสุธัมมา  อาศัยว่าตนเป็นผู้มีความฉลาด  จึงได้สร้างช่อฟ้า  ร่วมบุญกุศลกับพวกมาณพเหล่านั้น  เมื่อละอัตตภาพ  ความเป็นมนุษย์แล้ว  ก็ได้ไปบังเกิดในดาวดึงสพิภพเช่นกัน  และศาลาก็ปรากฏขึ้นไปเกิดให้แก่นางด้วย  ซึ่งมีนามว่า  ศาลาสุธัมมา  ฉะนั้น  พอถึงวันธัมมัสสวนะเทพเจ้าทั้งหลาย  จึงเอาสถานที่นั้นเป็นที่ฟังธรรม
	ฝ่ายนางสุนันทา  คิดว่าตนเองมิได้ทำอะไรให้เป็นบุญกุศลร่วมในศาลาหลังนี้   ส่วนนางสุธัมมา  เขามีปัญญามากจึงได้ทำช่อฟ้าปลัง  แต่เรานี้สิโง่   จึงไม่ได้ทำอะไร  เอกเถอะเราจะจ้างคนให้มาขุดสรวะไว้ใกล้  ศาลาหลังนี้  เผื่อมาพักอาศัย  ก็จะได้ลงอาบน้ำให้สบายใจ  เมื่อนางทำเสร็จแล้ว  ก็ได้อุทิศให้เป็นส่วนกุศลเฉพาะตน  อาศัยบุญกุศลมีประมาณเท่านี้  ครั้งนางตายแล้วก็ได้ไปเกิดในดาวดึงส์ร่วมกับสามีของตน  ซึ่งได้นามว่า  สระโบกขรณีศระสุนันทา   เป็นที่อาบและที่เล่นของพวกเทพเจ้าเหล่าเทวดาทั้งหลาย
	ฝ่ายนางสุจิตราภรรยาคนที่  ๓  ของมาณพเล่า  สร้างบุญกรรมอะไรไว้  เปล่าเลย   นางไม่ได้ทำอะไร  แต่นางมาคิดว่า  นางสุธัมได้สร้างอะไรหนอ  จึงจะมีประโยชน์แก่เราและคนอื่น  เอาละ   เราจะสร้างสวนดอกไม้ให้มีนานาชนิด  เมื่อคนมาพักศาลา  ลงอาบน้ำแล้ว  ต้องเข้าไปเที่ยวชมสวน  เพื่อเลือกเก็บดอกไม้ต่าง ๆ มาประดับ  บุญก็จะเกิดแก่เรามิใช่น้อย  จึงไปว่าจ้างให้ช่างมาทำสวนดอกไม้   ไม่นานนักก็สำเร็จสมดังความปรารถนา  นางก็ได้อุทิศส่วนบุญกุศลให้มีแก่ตนและคนทั่วไป  พอสิ้นบุญกรรมของนางเท่านั้น  ก็ได้ไปเกิดร่วมสามีบนดาวดึงส์เหมือนกัน  ส่วนสวนของนางก็ปรากฏว่าไปบังเกิดให้นางเช่นกัน   และมีชื่อว่า   สวนจิตราลดาวัลย์   เป็นสถานที่ตกแต่งประดับประดาของเหล่าเทพเจ้า
	ส่วนนางสุชาดาศรีภรรยาของมฆมาณพคนที่  ๔  นั่นเองนางได้สร้างสมบุญกุศลอะไรไว้บ้าง ?  เปล่าเลย  นางไม่ได้ทำอะไรไว้  ได้แต่คิดว่า  สามีของเราทำแล้ว  ก็เป็นอันแล้วไป  เราไม่ต้องทำละ  นางแต่งเนื้อแต่งตัวโดยไม่ต้องทำอะไรไว้เลย  ครั้นตายแล้วก็ไปเกิดเป็นนางนกยางอยู่ที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง  ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาไม่น่าดูเลย  และไม่เป็นที่ปรารถนาของคนทั่งไป  เรื่องนี้ทำให้เดือดร้อยไปถึงท้าวสักกะผู้เป็นสามี  ท้าวเธอจึงได้จำแลงแปลงกายไปหานางนกยางด้วยความสงสารเอ็นดู  และได้ทรมานนางหลายอย่าง  มีให้นางอดอาหาร  รักษาศีล๕  นางได้ไปบังเกิดเป็นลูกสาวของนายช่างหม้อ  อยู่ในกรุงสาวัตถี  อาศัยนางใช้ความพยายามรักษาศีลมิได้ขาด  เมื่อจุติจากชาตินั้นแล้ว  ก็ได้ไปบังเกิดเป็นลูกสาวของอสูรในภพอสูร   เมื่อนางมีอายุ  ๑๕  ๑๖  แล้ว  บิดาก็จัดการให้มีการเลือกคู่ครองแก่นาง  ในขณะนั้น  ท้าวสักกะเทวราช  ก็ได้ปลอมแปลงเป็นอสูรแก่ไปอยู่ท้าย ๆ ของเหล่าอสูร  พอลูกสาวอสูรเห็นได้ที  ก็ทิ้งพวงมาลัยไปยังอสูรแก่  เมื่ออสูรแก่ได้โอกาสก็รีบนำอสูรกัญญาสุชาดาไปสู่ภพของตน  ทำให้อสูรหนุ่มทั้งหลายต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน  เพราะเหตุอะไรหรือท่าน  ก็เพราะเหตุว่า  ปุพเพกตปุญญตา  ไงเล่า ?   ผลสุดท้าย  นางก็ได้ไปอยู่ในอ้อมกอดของสามีด้วยความสุขารมย์   พร้อมด้วยศรีภรรยาทั้ง  ๓  คือ  สุธัมมา  สุนันทา   สุจิตรา  และมีสุชาดาเป็นคนสุดท้าย
	พระศาสดาตรัสว่า  มหาลิ  มฆมาณพปฏิบัติอัปปมาทปฏิปทาอยู่อย่างนี้  ก็แลมฆมาณพไม่ประมาทอย่างนี้  จึงถึงความเป็นใหญ่เห็นปานนี้  ทรงเสวยราชย์ในเทวโลกทั้ง  ๒  ชื่อว่าความไม่ประมาทนั้น  บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว  เพราะว่า  การบรรลุคุณวิเศษ  ซึ่งเป็นโลกิยะและโลกุตตระแม้ทั้งหมด  จะมีได้ก็เพราะอาศัยความไม่ประมาทอย่างเดียว   ดังนี้แล้ว  ทรงตรัสพระคาถานี้ว่า
	ท้าวมฆวะ  ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย  เพราะความไม่ประมาท  บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท  ความประมาท  อันท่านติเตียนแล้วทุกเมื่อ
คติจากเรื่องนี้
ความขวนขวายในการบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ  และชาติภาษา  แม้จะไม่พบความร่ำรวยเป็นเศรษฐี  ในปัจจุบันก็ตาม  แต่นักปราชญ์ไม่ได้ประณามว่าประมาท  ปล่อยชีวิตให้เป็นหมันกลับสรรเสริญว่า  เป็นการเสริมสร้างความไม่ประมาท  เขาผู้นี้จักถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์  และเทพเจ้าเพราะความขวนขวาย  บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะนั้นโดยไม่สงสัย				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน