นิทานธรรมบท

กระต่ายใต้เงาจันทร์


เรื่องที่  ๙๘  อนาถบิณฑิกเศรษฐี
มีเรื่องเล่าว่า  อนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น   ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา   ถึงกับสละเงิน  ๕๔  โกฏิสร้างพระเชตะวันมหาวิหาร   เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตะวันนี้ท่านก็ไปสู่ที่บำรุง  ๓  แห่งของพระองค์ทุกวัน   มิได้ขาดโดยการไปทุก ๆ  วันตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว
ต่อมาท่านเศรษฐีกลับยากจนลง  เงิน  ๑๘  โกฏิที่พวกพ่อค้ายืมไปประกอบการค้าก็สูญหาย  รวมทั้งเงิน  ๑๘  โกฏิที่เป็นสมบัติแห่งตระกูลของเศรษฐี  ที่ฝังไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำ  ก็ถูกน้ำเซาะพัดลงมหาสมุทรไปด้วย   เศรษฐียากจนลงด้วยประการฉะนี้
แต่อย่างไรก็ตาม   ถึงแม้ว่า   ท่านจะยากจนข้นแค้นสักปานใด   ท่านก็ยังถวายทานแก่พระสงฆ์เรื่อยไป   ผิดอย่างเดียวที่ไม่สามารถจะทำให้ประณีตได้เท่านั้นเอง   จนกระทั่งเทวดาซึ่งสถิตอยู่  ณ  ซุ้มประตูของเศรษฐี   เห็นเศรษฐียากจนลง   กลางคืนก็ไปปรากฏตัวอยู่ในห้องเศรษฐี   บอกให้เศรษฐีเลิกการถวายทานเสีย  มิฉะนั้น  ต่อไปจะลำบาก   แต่เศรษฐีกลับไม่พอใจ   ขับไล่เทวดานั้นออกจากล้านของตน
	เดือดร้อนหนักแล้วคราวนี้   เทวดากลายเป็นผู้ไม่มีที่อยู่จึงสำนึกได้  คิดจะให้เศรษฐีอดโทษให้   เพื่อจะได้กลับมาอยู่ในที่เดิมอีก   จึงเข้าไปหาเทพบุตรองค์หนึ่ง เพื่อให้บอกอุบาย   แต่เทพบุตรองค์นั้นไม่สามารถจะบอกอุบายให้ได้จึงเข้าไปหาท้าวมหาราชทั้ง  ๔  ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน   ลงท้ายจึงเข้าไปหาท้าวสักกะ
	ท้าวสักกะราชเทวราชก็ทรงบอกว่า   พระองค์ไม่มีอุบายอะไรที่จะให้เศรษฐีนั้นอดโทษแต่เธอได้   นอกไปกว่าการให้เทวดานั้นแปลงเพศเป็นเสมือนของเศรษฐี   ให้ใครนำหนังสือสัญญากู้เงินจากมือเศรษฐี   นำไปให้เขาชำระทรัย์  ๑๘  โกฏิที่พวกพ่อค้ายืมเอาไป   และเงินอีก  ๑๘  โกฏิซึงจมลงในมหาสมุทร   พร้อมทั้งเงินอีก  ๑๘  โกฏิซึ่งไม่มีเจ้าของ   ฝังอยู่  ณ  ที่แห่งหนึ่ง   รวบรวมมาบรรจุไว้ในเรือนคลังของเศรษฐีแล้วจึงไปขอขมาเศรษฐี
	เทวดาปฏิบัติตามคำของท้าวสักกะทุกประการ   แล้วเข้าไปหาเศรษฐีที่ห้องนอนอีก   ขอโทษกับเศรษฐี  เล่าเรื่องที่ตนนำเงิน  ๕๔  โกฏิมาให้เศรษฐีตามเดิม
	ฝ่ายเศรษฐีก็นำเทวดานั้นไปเฝ้าพระศาสดา   กราบทูลเล่าเรื่องที่เทวดานั้นกระทำทั้งหมดถวายพระศาสดา   เทวดาทูลขอขมากับพระศาสดาแล้วให้เศรษฐีอดโทษ
	พระศาสดาได้ตรัสว่า   ดูก่อนคฤหบดี   แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้   ย่อมเห็นว่าบาปดี   ตลอดเวลาที่บาปยังไม่เผล็ดผล   แต่เมื่อบาปของเขาเผล็ดผล   เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้  ๆ ฝ่ายบุคคลผู้ทำกรรมดีย่อมเห็นกรรมดีว่าตลอดเวลาที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล   แต่เมื่อกรรมดีของเขาเผล็ดผลแล้ว  เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่า  ดีจริง  ๆ  แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
	แม้คนทำบาป  ย่อมเห็นว่าบาปดี   ตลอดเวลาที่บาปยังไม่เผล็ดผล   แต่เมื่อบาปเผล็ดผล   เขาย่อมเห็นว่าบาปชั่ว   ฝ่ายคนทำกรรมดี  ย่อมเห็นกรรมดีตลอดเวลาที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล  แต่เมื่อกรรมดีเผล็ดผล  เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่า   ดียิ่ง
	ในเวลาจบเทศนา   เทวดานั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ฯ
คติจากเรื่องนี้
การจะเตือนคนอื่น  โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  หากไม่จำเป็นจริง  ๆ  ไม่ควรทำดีกว่า
เรื่องที่   ๑๖๖   นางวิสาขาอุบาสิกา
	เรื่องมีอยู่ว่า  นางวิสาขานั้น  ตั้งนางกุมาริกาชื่อสุทัตตีผู้เป็นหลานสาวของตน  ไว้ในหน้าที่ของตน  ให้ทำการขวนขวายแก่ภิกษุสงฆ์ในเรือน   ต่อมา   นางกุมาริกานั้นตายไป  นางวิสาขาจัดแจงฝังศพของนางแล้ว   ไม่สามารถจะอดกลั้นความโศกไว้ได้   มีทุกข์เสียในจึงไปสู่สำนักพระศาสดา  ถวายบังคมแล้ว   นั่ง  ณ  ส่วนข้างหนึ่ง
	ลำดับนั้น   พระศาสดาได้ตรัสถามเธอ  เธอกราบทูลถึงเรื่องนั้นโดยละเอียด  พระองค์ได้ตรัสถามว่า
	วิสาขา   ในกรุงสาวัตถีนี้   มีมนุษย์ประมาณเท่าไร  ?
	๘   โกฏิ   พระเจ้าข้า  นางวิสาขาทูล
	ถ้าคนมาเท่านี้  พึงเป็นเหมือนหลานของเธอ  เธอพึงปรารถนาเขาหรือไม่  ?
	ปรารถนา  พระเจ้าข้า      ก็คนในเมืองสาวัตถีตายวันละกี่คน  ?
	มาก   พระเจ้าข้า
	เมื่อเป็นเช่นนี้  พระศาสดาตรัสถามต่อไป   เวลาที่เธอไม่เศร้าโศกก็จะไม่พึงมีมิใช่หรือ  ?   เธอพึงเที่ยวเดินร้องไห้อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนทีเดียว
	ข้อนั้นยกไว้เถิด  พระเจ้าข้า   นางวิสาขาทูล  หม่อมฉันทราบแล้ว
	ลำดับนั้น  พระศาสดาจึงตรัสว่า   ถ้ากระนั้น  เธออย่าเศร้าโศก    ความโศกก็ดี  ความกลัวก็ดี   ย่อมเกิดจากความรัก   แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
	ความโศก  ย่อมเกิดแต่ความรัก  ภัยย่อมเกิดจากความรัก   ความโศกไม่มีแก่ผู้พ้นจากความรักแล้ว   ภัยจักมีแต่ไหน ?
คติจากเรื่องนี้
การร้องไห้โศกเศร้าเพราะการตายของคนใดคนหนึ่ง   ย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง   
เพราะอย่างไรเขาก็ไม่มีวันกลับคืนมา  เสียน้ำตาเปล่า
ที่  ๑๔๕   นางจิญจมาณวิกา
	มีเรื่องเล่าว่า   ในสมัยนั้นลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าเป็นอันมาก  ฝ่ายพวกเดียรถีย์น้อยลง  ราวกับแสงหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น   พวกเดียรถีย์จึงประชุมตกลงกันออกอุบายให้นางจิญจมาณวิกา   ปริพพาชิกาผู้มีรูปงามคนหนึ่งไปทำลายพระศาสดา
	นางจิญจมาณวิกาได้ทำทีเป็นเดินเข้าเดินออกในเวลาเช้าตรู่และเวลาเย็น   ทำให้พวกอุบาสกผู้ไปฟังธรรมสงสัยนางบอกว่า  ได้ร่วมพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมยิ่งทำให้คนพวกนั้นสงสัยขึ้นอีก
	ต่อมา  นางได้เอาผ้าพันท้อง   ทำเป็นคล้ายคนมีท้องได้  ๘-๙  เดือนจวนจะคลอด  เมื่อพระตถาคตกำลังประทับนั่งแสดงธรรมอยู่บนธรรมาสน์นั่นเอง   ได้ไปสู่ธรรมสภา   ทูลพระองค์ว่า
	มหาสมณะ  พระองค์ดีแต่พูดเท่านั้น   เสียงของพระองค์ไพเราะ  พระโอษฐ์ของพระองค์สนิท  ส่วนหม่อมฉันอาศัยพระองค์ได้เกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว   พระองค์ไม่ทรงทราบที่คลอดของหม่อมฉัน   ไม่ทรงทราบเครื่องบริหารครรภ์แก่หม่อมฉัน  เมื่อไม่ทรงทำเอง   ก็ไม่ตรัสบอกพระเจ้าโกศลอนาถบิณฑิกะ   หรือนางวิสาขาคนใดคนหนึ่ง   แล้วพระตถาคตต่าง  ๆ  นานาในท่ามกลางบริษัท
	ฝ่ายท้าวสักกะ   เมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงสั่งให้เทพบุตรมาทำลายพิธีของนาง   โดยให้แปลงเป็นลูกหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ไว้   ลมพัดเลิกผ้าห่มขึ้น   ไม้กลมพลัดตกลงบนหลังเท้าของนาง   ปลายเท้าทั้ง  ๒  ข้างแตก   มนุษย์ทั้งหลายก็พูดว่า   นางกาลกัณณี   เจ้าด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ่มเขฬะลงบนศีรษะ   ขับออกจากวิหาร
	นางวิ่งเตลิดเปิดเปิงไป   พอล่วงคลองพระจักษุของพระตถาครเท่านั้น   ก็ถูกแผ่นดินสูบตกในอเวจีมหานรก  ลาภสักการะของพวกเดียรถีย์เสื่อมลง   แต่ของพระทศพลยิ่งเจริญขึ้นโดยยิ่ง
	ในวันรุ่งขึ้น   พวกภิกษุได้สนทนากันในโรงธรรมถึงเรื่องนางจิญจมาณวิกา   พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม   เมื่อทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว   ตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  มิใช่เพียงแต่บัดนี้เท่านั้น   ถึงในกาลก่อนนางจิญจมาณวิกานั้นก็ด่าเราด้วยคำไม่จริง   และถึงความพินาศเหมือนกัน   แล้วตรัสมหาปทุมชาดกในทวาทสนิบาตว่า
	ในกาลนั้น   นางจิญจมาณวิกาเป็นผู้ร่วมสามีของพระโพธิสัตว์   ได้เชื้อเชิญพระองค์ไม่ทรงยินยอม   นางได้แสร้งลวงว่าเป็นไข้   จึงกราบทูลแด่พระราชาว่าพระราชโอรสของพระองค์  ข่มขืนหม่อมฉัน   พระราชากริ้ว   ให้ทิ้งพระมหาสัตว์ไปในเหวที่ทิ้งโจร   แต่เทวดาผู้สิงอยู่ท้องภูเขานั้นรับไว้ทัน  นำพระองค์ไปสู่พิภพของพระยานาค   พระองค์อยู่ที่นั้นปีหนึ่งก็ขึ้นมาสู่โลกอีก   มาบวชอยู่  ณ  หิมวันตประเทศ   ต่อมาพรานไพรผู้หนึ่งเห็นพระมหาสัตว์   ได้กราบทูลแด่พระราชา    พระราชาเสด็จไป  ณ  ที่นั้น  ทรงทราบประพฤติเหตุทั้งหมดแล้ว  ทรงเชิญพระองค์ให้กลับมารับราชสมบัติ   แต่พระมหาสัตว์ไม่ปรารถนา   จำเป็นต้องกลับมา   พอเสด็จกลับมาถึงได้รับสั่งให้จับพระอัครมเหสีทิ้งไปในเหวทิ้งโจร   ถึงแก่ความตาย
	ครั้นทรงประกาศเนื้อความนี้แล้ว   ตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย  ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม   คนผู้ละคำสัตย์แล้วตั้งอยู่ในมุสาวาท   ละปรโลกแล้ว   ไม่พึงทำย่อมไม่มี   แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
	บาปอันชนผู้ก้าวล่วงธรรมอย่างเอกเสีย  ผู้มักพูดเท็จ   ผู้มีปรโลกล่วงเลยเสียแล้วไม่พึงทำย่อมไม่มี
คติจากเรื่องนี้
การใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นด้วยคำอันไม่เป็นจริง  ตนเองย่อมถึงความพินาศฉิบหายอย่างแน่นอน
เรื่องที่  ๒๑๑   นางกีสาโคตรมี
	เรื่องนางกีสาโคตรมีนี้   พิสดารแล้วในสหัสสวรรค์  ก็ในคราวนั้นพระศาสดาตรัสว่า  กีสาโคตรมี  เมล็ดพันธุ์ผักกาดประมาณหยิบมือหนึ่ง  ท่านได้แล้วหรือ ?   นางโคตรมีไม่ได้หรอกพระเจ้าข้า  เพราะในบ้านทั้งสิ้น  คนตายนั้นแหละมีมากกว่าคนที่มีชีวิตอยู่
	ลำดับนั้น   พระศาสดาตรัสกะเธอว่า  กีสาโคตรมีเธอเข้าใจว่าบุตรของเราเท่านั้นตายแล้ว  ความตายนั้นเป็นธรรมที่เที่ยงของพวกสรรพสัตว์  เพราะมัจจุราช  คร่าสรรพสัตว์ผู้มีอัธยาศัยยังไม่เต็มเปี่ยมเท่านั้น  เหวี่ยงลงไปในสมุทรคืออบาย  ดุจห้วงน้ำใหญ่ฉะนั้น
คติจากเรื่องนี้
มัจจุราชนั้น   ผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์  ผู้มีในข้องในอารมณ์ต่าง  ๆ  ไป  เหมือนห้วงน้ำใหญ่  พัดเอาชาวบ้านผู้หลับไปฉะนั้น
	เรื่องที่   ๒๑๒   นางปฏาจารา
	เรื่องนางปฏาจารานี้   พิสดารแล้วในสหัสสวรรค  ก็ในกาลนั้น  พระศาสดาทรงทราบว่าปฏาจารามีความเศร้าโศกเบาบางแล้ว  จึงตรัสว่า  ปฏาจารา  ชื่อว่าปิยชนทั้งหลายมีบุตรเป็นต้น   ย่อมไม่เป็นผู้สามารถป้องกันหรือต้านทานของบุคคลผู้ไปสู่ปรโลกได้   เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้นแม้มีอยู่   ก็เหมือนไม่มี  อันการที่บัณฑิตชำระศีลให้หมดจดแล้ว  ชำระหนทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานเพื่อตนนั่นแล   จึงควร
คติจากเรื่องนี้
บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ว่า  บุตรทั้งหลายย่อมไม่มีเพื่อต้านทาน  บิดาและพวกพ้องทั้งหลาย  ก็ไม่มีเพื่อต้านทาน  เมื่อบุคคลถูกความตายเข้าครอบงำแล้ว  ความต้านทานในญาติทั้งหลายย่อมไม่มีดังนี้แล้ว  เป็นผู้สำรวมในศีลพึงชำระหนทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานให้หมดจดทีเดียว
เรื่องที่  ๑๓๒   พระเทวทัตต์
	วันหนึ่ง  พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรม   ถึงเรื่องพระเทวทัตต์   เป็นผู้ทุศีล   นิสัยทราม   เกลี้ยกล่อมพระเจ้าอชาตศัตรูให้ปลงพระชนม์พระบิดา    เพื่อจะได้ลาภสักการะร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรู   ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์   ฆ่าพระตถาคตเจ้า   เพราะตัณหาความบ้าระห่ำของตนนานาประการะ
	พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม   เมื่อทรงทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย  มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น   ถึงใจกาลก่อน  เทวทัตต์ตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าเราด้วยวิธีต่าง  ๆ  นานาเหมือนกัน  จึงตรัสชาดกหลายชาดกด้วยกัน   แล้วตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย   ตัณหาที่เกิดขึ้น   เพราะเหตุคือความเป็นผู้ทุศีลหุ้มห่อรวบซัดบุคคลผู้ทุศีล   ล่วงอบายไปเหมือนเถาย่านทรายที่รัดรึงต้นสาละฉะนั้น   แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
	ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน  รวบรัดอัตภาพของบุคคลใด   ดุจเถาย่านทรายรัดรึงต้นสาละฉะนั้นบุคคลนั้นย่อมทำตนอย่างเดียวกันกับที่โจรหัวโจกปรารถนาทำให้ตนฉะนั้น
คติจากเรื่องนี้
ตัณหาราคะ   ความทะยานอยากนั้นเป็นภัยอันร้ายแรง  โทษมหันต์นัก  แก่มนุษย์ชาติทุกคน
เรื่องที่  ๑๓๘  พระเจ้าสุทโธทนะ
	เรื่องมีอยู่ว่า   สมัยหนึ่ง   พระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์   เป็นครั้งแรก   พระองค์ได้รับการต้อนรับจากพระญาติเป็นอันมาก   เมื่อทรงแสดงธรรมทำลายมานะของเจ้าศากยะเหล่านั้นแล้ว  ตรัสเวสสันดรชาดก   จบลง  พวกพระญาติทั้งหลายก็ถวายบังคมลากลับ   โดยไม่มีสักพระองค์หนึ่ง   แม้พระเจ้าสุทโธทนะเอง   จะทรงนิมนต์รับภิกษาของตนในวันรุ่งขึ้น
	ฝ่ายพระศาสดา   พอรุ่งเช้าพระองค์ก็ทรงอุ้มบาตรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  เสด็จออกบิณฑบาตไปตามตรอกน้อยใหญ่ในนครกบิลพัสดุ์   พระนางยโสธราประทับอยู่บนปราสาททอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็รีบไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะ   พระองค์ตกพระทัย  รีบเสด็จออกไปถวายบังคมพระองค์โดยเร็วตรัสว่า
	ลูก   ทำไมท่านจึงทำให้ข้าพเจ้าฉิบหายอย่างนี้เล่าท่านเที่ยวบิณฑบาตให้เราละอายเหลือเกิน
	มหาบพิตร   พระศาสดาตรัส   อาตมภาพให้พระองค์ละอายหามิได้  แต่อาตมภาพประพฤติตามวงศ์สกุลของตน
	พ่อ  วงศ์ตระกูลของเรา   เคยเที่ยวบิณฑบาตหรือ   พระเจ้าสุทโธทนะทูลถาม
	มหาบพิตร  นั่นมิใช่วงศ์ของพระองค์   พระศาสดาตรัสตอบ   แต่นักเป็นวงศ์ของอาตมภาพพระพุทธเจ้าทุก  ๆ  พระองค์   เสด็จเที่ยวบิณฑบาตเป็นอยู่เหมือนกันทุกพระองค์   แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
	บรรพชิตไม่พึงประมาทในก้อนข้าว  อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ   บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริตผู้ประพฤติธรรม   ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า   บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต   ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต   ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
	ในเวลาจบเทศนา   พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
คติจากเรื่องนี้
การบำเพ็ญชีวิตโดยลำบาก  เศร้าหมอง  แต่สุจริต   ย่อมดีกว่าการเป็นอยู่
อย่างฟุ่มเฟือยแต่ทุจริต  เป็นไหน ๆ
เรื่องที่   ๒๖๙   พระสารีบุตรเถระ
	เล่ากันว่า  มนุษย์เป็นอันมาก  ในที่แห่งหนึ่ง  กล่าวคุณกถาของพระเถระว่า  น่าชม  พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราประกอบแล้วด้วยกำลังคือขันติ   เมื่อชนเหล่าอื่นด่าอยู่ก็ตามประหารอยู่ก็ตาม   แม้เหตุสักว่าความโกรธย่อมไม่มี
	ครั้งนั้น   พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง   ถามว่า   ใครนั่น  ไม่โกรธ
	พวกมนุษย์  พระเถระของพวกฉัน
	พราหมณ์   บุคคลผู้ยั่วให้ท่านโกรธ  จักไม่มีกระมัง
	พวกมนุษย์   พราหมณ์  ข้อนั้นหามีไม่
	พราหมณ์   ถ้าเช่นนั้น   เราจักยั่วให้ท่านโกรธ
	พวกมนุษย์   ถ้าท่านสามารถไซร้   ก็จงยั่วให้พระเถระโกรธเถิด
	พราหมณ์นั้นคิดว่า   เอาละ   เราจักรู้กิจที่ควรทำดังนี้แล้ว   เห็นพระเถระเข้าไปเพื่อภิกษา   จึงเดินไปโดยส่วนข้างหลัง  ได้ให้การประหารด้วยฝ่ามืออย่างแรงที่กลางหลัง
	พระเถระ  มิได้คำนึงถึงเลยว่า  นี่อะไรกัน   เดินไปแล้ว  ความเร่าร้อนเกิดขึ้นทั่วสรีระของพราหมณ์  เขาตกลงใจว่า   แหมพระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ด้วยคุณ   ดังนี้แล้วหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ   เรียนว่า  ขอท่านจงอดโทษแก่กระผมเถิดขอรับ   เมื่อพระเถระกล่าวว่า   นี่อะไรกัน ?  จึงเรียนว่า   กระผมประหารท่านเพื่อประสงค์จะทดลองดู
	พระเถระกล่าวว่า   ช่างเถิด  เราอดโทษให้ท่านพราหมณ์จึงเรียนว่า   ท่านผู้เจริญ   ถ้าท่านอดโทษให้กระผมไซร้  ก็ขอจงนั่งรับภิกษาในเรือนของกระผมเถิดดังนี้แล้ว   ได้รับบาตรของพระเถระ   ฝ่ายพระเถระได้ให้บาตรแล้ว   พราหมณ์นำพระเถระไปเรือน  อังคาสแล้ว
	พวกมนุษย์โกรธแล้ว  ต่างก็คิดว่า  พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา   ผู้หาโทษมิได้   ถูกพราหมณ์นี้ประหารแล้วความพ้นแม้จากท่อนไม้  ไม่มีแก่พราหมณ์นั้น   พวกเราจะฆ่ามันเสียในที่นี้แหละ   ดังนี้แล้ว  มีก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นในมือ   ได้ยืนซุ่มอยู่ที่ประตูเรือนของพราหมณ์
	พระเถระลุกขึ้น  เดินไปอยู่  ได้ให้บาตรในมือพราหมณ์
	พวกมนุษย์เห็นพราหมณ์นั้นเดินไปกับพระเถระ  จึงเรียนว่า  ท่านขอรับ  ของท่านจงรับบาตรของท่านแล้วให้พราหมณ์กลับเสีย   พระเถระกล่าวว่า  นี่เรื่องอะไรกัน  ?  อุบาสก
	  พวกมนุษย์  พราหมณ์ประหารท่าน  พวกกระผมจักรู้กิจที่ควรทำแก่เขา
	พระเถระ   ก็ท่านถูกพราหมณ์นี้ประหาร   หรือ  เราถูก  ?
	พวกมนุษย์   ท่านถูก  ขอรับ
	พระเถระกล่าวว่า   พราหมณ์นั่นประหารเราแล้ว (แต่)  ได้ขอขมาแล้ว  พวกท่านไปกันเถิก  ส่งพวกมนุษย์ไปแล้ว   ให้พราหมณ์กลับ   ได้ไปสู่วิหารนั่นเทียว
	ภิกษุทั้งหลายยกโทษว่า  นี่ชื่ออย่างไร ?   พระสารีบุตรเถระถูกพราหมณ์ใดประหารแล้ว  ยังนั่งรับภิกษาในเรือนของพราหมณ์นั้นนั่นแหละ  มาแล้ว  จำเดิมแต่กาลที่พระเถระถูกพราหมณ์นั้นประหารแล้ว   ต่อไปนี้เขาจะไม่ละอายต่อใคร  ๆ    จักเที่ยวตีภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
	พระศาสดาเสด็จมาแล้ว   ตรัสถามว่า   ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ  ?  เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า   ด้วยถ้อยคำชื่อนี้  แล้วตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย  พราหมณ์ชื่อว่าประหารพราหมณ์ย่อมไม่มี   แต่พราหมณ์ผู้สมณะเจ้าเป็นผู้ถูกพราหมณ์  คฤหัสถ์ประหารได้   ขึ้นชื่อว่าโกรธนั่นย่อมถึงความถอนขึ้นได้   ด้วยอนาคามิมรรค   ดังนี้แล้ว   เมื่อจะทรงแสดงธรรมได้ทรงภาษิตพระคาถานี้ว่า
	พราหมณ์ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์  ไม่จอง  (เวร)  แก่เขา   น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จอง เวร  ยิ่งกว่าพราหมณ์ผู้ประหารนั้น  ความเกลียดกันใจจากอารมณ์อันเป็นที่รักทั้งหลายใด   ความเกลียดกันนั่น  ย่อมเป็นความประเสริฐไม่น้อยแก่พราหมณ์   ใจอันสมปยุตด้วยความเบียดเบียน  ย่อมกลับได้จากวัตถุใด  ๆ  ความทุกข์  ย่อมสงบได้เพราะวัตถุนั้น  ๆ  นั่นแล
คติจากเรื่องนี้
สมณะที่มุ่งแต่ประหารกัน   จองล้างจองผลาญกัน   ผู้นั้นจะเรียกว่า   สมณะ   ไม่ได้เลย
เรื่องที่   ๒๗๑   พระสารีบุตรเถระ
	ได้ยินว่า  ท่านพระสารีบุตรนั้น  จำเดิมแต่กาลที่ท่านฟังธรรมในสำนักของพระอัสสชิเถระ   แล้วบรรลุโสดาปัตติผลสดับว่า   พระเถระย่อมอยู่ในทิศนั้นแล
	ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า   พระสารีบุตรเป็นมิจฉาทิฐิถึงวันนี้   ก็เที่ยวนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่   ดังนี้แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระตถาคต
	พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระเถระมาแล้ว   ตรัสถามว่าเธอเที่ยวนอบน้อมทิศทั้งหลาย   แต่เพราะความที่เธอฟังธรรมจากสำนักของพระอัสสชิเถระแล้วบรรลุโสดาปัตติผล  จึงนอบน้อมอาจารย์ของตน   เพราะว่า   ภิกษุอาศัยอาจารย์นั้นได้ย่อมรู้ธรรม   ภิกษุนั้น   พึงนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพเหมือนพราหมณ์นอบน้อมไฟอยู่ฉะนั้น   ดังนี้แล้ว  เมื่อจะทรงแสดงธรรม   จังตรัสพระคาถานี้ว่า
	บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว   จากอาจารย์ใด   พึงนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ   เหมือนพราหมณ์นอบน้อมการบูชาเพลิงอยู่ฉะนั้น
คติจากเรื่องนี้
ผู้ที่กตัญญูต่อครู  อาจารย์  ผู้ประสิทธิประสาทความรู้ให้  ย่อมได้ชื่อว่า     คนดี
เรื่องที่   ๒๗๙   พระสารีบุตร
	เล่ากันว่า  ในกาลนั้น   พระเถระ  เที่ยวบิณฑบาตกับด้วยภิกษุ  ๕๐๐  รูป  ได้ไปยังประตูเรือนของมารดา  ในบ้านนาลกะ
	ครั้งนั้น   นางนิมนต์ให้ท่านนั่งแล้ว   อังคาสอยู่   ด่าว่า   ผู้เจริญ    ท่านไม่ได้ของเคี้ยวเป็นเดน  และน้ำข้าวที่เป็นเดนก็สมควรจะกินน้ำข้าวที่ติดอยู่ทางหลังกระบวย  ในเรือนของคนอื่น   ท่านสละทรัพย์  ๘๐  โกฏิบวชเสียได้    ท่านให้เราฉิบหายแล้ว  บัดนี้  ท่านจงบริโภคเถิด  นางกล่าวพลางถวายภัตต์แม้แก่ภิกษุทั้งหลาย  กล่าวว่า   บุตรของเราถูกท่านทั้งหลายทำให้เป็นคนใช้ของตนแล้ว  บัดนี้   พวกท่านจงบริโภคเถิด   พระเถระรับภิกษาแล้วไปยังวิหารทีเดียว
	ครั้งนั้น   ท่านพระราหุลเอื้อเฟื้อพระศาสดาบิณฑบาตแล้ว  ที่นั้น   พระศาสดาตรัสกะท่านว่า   ราหุล  พวกเธอไป  ณ  ที่ไหน
	พระราหุล    พวกข้าพระองค์ไปยังบ้านของย่า   พระเจ้าข้า
	พระศาสดา   ก็อุปัชฌายะของเธอ   ถูกย่ากล่าวอย่างไร  ?
	พระราหุล   พระเจ้าข้า    พระอุปัชฌายะของข้าพระองค์ถูกย่าด่าแล้ว
	พระศาสดา    อุปัชฌายะของเธอถูกว่าด่าอย่างไร
	พระราหุล    ว่ากล่าวถ้อยคำชื่อนี้    พระเจ้าข้า
	พระศาสดา   ส่วนอุปัชฌายะของเธอว่าอย่างไร  ?
	พระราหุล    ไม่ว่าอะไร  ๆ  เลย   พระเจ้าข้า
	ภิกษุทั้งหลายฟังคำนั้นแล้ว   สนทนากันในโรงธรรมว่า   ผู้มีอายุทั้งหลาย    คุณทั้งหลายของพระสารีบุตรเถระ   น่าอัศจรรย์หนอ   เมื่อมารดาของท่านด่าชื่ออยู่อย่างนั้น   แม้เหตุสักว่าความโกรธ   มิได้มีเลย
	พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า    ภิกษุทั้งหลายบัดนี้   พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยกถาอะไรหนอ ?   เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า   ด้วยเรื่องชื่อนี้   จึงตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย   ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้ไม่โกรธเลยแล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
	เราเรียกผู้ไม่โกรธ  มีวัตร  มีศีล   ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น   ผู้ฝึกแล้ว    มีสรีระในที่สุดนั้นว่าเป็นพราหมณ์
คติจากเรื่องนี้
ผู้ที่ปราศจากความโกรธ  มีวัตรมีศีลงามพร้อม  ย่อมได้ชื่อว่า   พระที่แท้จริง
เรื่องที่   ๒๙๐   พระมหาโมคคัลลานเถระ
ในครั้งพุทธกาล  มีเรื่องที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งซึ่งสร้างความปวดร้าวและเจ็บแสบให้แก่ภิกษุผู้เป็นปุถุชน   ซึ่งยังหนาด้วยกิเลสอย่างยิ่ง   สำกรับพระอรหันต์ก็รู้สึกว่าเป็นของธรรมดา  เรื่องนั้นก็คือ   การติฉินนินทากัน   การบำเพ็ญตนเป็นนักประจบสอพลอ     แก่ฟ้อง    ของภิกษุทั้งหลาย
พระมหาโมคคัลลานะเถระ   ซึ่งนับว่าเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระศาสดา   ก็ถูกฟ้องหาว่า   ท่านเป็นผู้มีความอาลัยยังไม่หมดสิ้นกิเลส   ไม่สมกับเป็นอัครสาวกที่แท้จริง   ทั้งนี้เรื่องนี้ก็เนื่องจากเหตุ  เพียงเล็กน้อย  เกี่ยวกับเสนาสนะของท่านเท่านั้น
พระศาสดาได้สดับเช่นนั้น  ก็ตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลายพระมหาโมคคัลลานะไม่มีตัณหา   แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
ผู้ใดไม่มีความอาลัย  รู้ชัดแล้ว   เป็นผู้หมดความอาลัย   เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์
คติจากเรื่องนี้
ผู้ที่หมดสิ้นความอาลัย  ตัณหาย่อมได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่แท้จริง  ส่วนผู้มีความอาลัย
ตัณหา  ย่อมหาใช่สมณะที่แท้จริงไม่   ได้ชื่อเพียงแต่ว่าผู้บวชเพื่อกิน   เพื่อทำลายศาสนาเท่านั้น
เรื่องที่   ๒๙๓   พระสีวลีเถระ
	เล่ากันว่า   พระธิดาของพระโกลิยวงศ์   พระนามว่าสุปปวาสา   ทรงพระครรภ์ถึง  ๗  ปี   หลังพระครรภ์มาอีก  ๗  วัน   นางได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า   ทรงอดกลั้นทุกข์นั้นด้วยการรำลึกถึงพระศาสดา   พระธรรม   และพระสงฆ์   พระนางทรงส่งพระสวามีไปเฝ้าพระศาสดา   พระศาสดาได้ตรัสว่า   พระธิดาโกลิยวงศ์พระนามว่าสุปปวาสาจงเป็นสุข   ปราศจากโรค   ประสูติพระโอรสซึ่งปราศจากโรคเถิด   พอพระศาสดาตรัสเช่นนั้น   พระนางก็ประสูติพระโอรสผู้ปราศจากโรคแล้วทรงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน   ถวายทานถึง   ๗  วัน
	นับแต่วันที่พระโอรสของพระนางประสูติแล้ว   พระโอรสของพระนาง  สามารถถือเอาธรรมกรกกรองน้ำ   ถวายภิกษุสงฆ์ได้   ต่อมา   เธอได้บวชบรรลุพระอรหันต์แล้ว
	ต่อมาวันหนึ่ง   พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า   ผู้มีอายุ   พวกท่านจงดู   ภิกษุที่พร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เช่นนี้    ยังเสวยทุกข์ในท้องของมารดาถึงขนาดนี้จะป่วยกล่าวไปใยถึงพวกปุถุชนเหล่าอื่น   ภิกษุนี้ได้ถอนทุกข์ขึ้นเป็นอันมาก
	พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม   เมื่อทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว   ได้ตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย   ถูกแล้ว   บุตรของเราพ้นจากทุกข์ประมาณเท่านี้   บัดนี้  บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว
คติจากเรื่องนี้
ผู้ที่ล่วงทุกข์ทางอ้อม   หล่ม  สงสารและโมหะ   นี้ไปแล้ว   ข้ามไปได้ถึงฝั่งเพ่งหากิเลสเครื่องหวั่นไหวมิได้   ไม่มีความสงสัย   ไม่ถือมั่น   ดับแล้วนั้นเราเรียกว่าเป็นพราหมณ์
เรื่องที่  ๑๓๙  ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา
	เรื่องมีอยู่ว่า   พวกภิกษุ  ๕๐๐  รูป   เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้ว   เข้าไปป่า   แม้จะพยายามอย่างไร   ก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้   จึงคิดว่า   พวกเราจักเรียนกัมมัฏฐานให้ดีกว่านี้   จึงเดินกลับมาเฝ้าพระศาสดา   พอมาถึงระหว่างทางได้เห็นพยับแดด  เจริญกัมมัฏฐานมีพยับแดดเป็นอารมณ์   จนกระทั่งถึงวิหาร   พอเข้าไปในวิหารเท่านั้นฝนก็ตกลงมา   ภิกษุเหล่านั้นยืนอยู่ที่หน้ามุขนั้น  ๆ  เห็นฟองน้ำทั้งหลาย   ซึ่งตั้งขึ้นแล้วแตกไปอยู่ด้วยความเร็วแห่งสายน้ำ  ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า   อัตตภาพนี้เป็นเหมือนกับฟองน้ำ  เพราะอรรถว่า   เกิดขึ้นแล้วแตกไปเหมือนกัน   พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี    ทรงแลดูภิกษุเหล่านั้นแล้วทรงแผ่พระรัศมี   เหมือนตรัสอยู่ตรงหน้าของภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสพระคาถานี้ว่า 
	พระยามัจจุราช  ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก   เหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำและเหมือนคนเห็นพยับแดด
	ในเวลาจบเทศนา   ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุพระอรหันต์
คติจากเรื่องนี้
คนฉลาด  เหตุการณ์แวดล้อมเฉพาะหน้าแม้ว่าจะเล็กน้อย  ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่เขาทั้งสิ้น
อาจารย์สัญชัย 
 
จากหนังสือธรรมะเอกเขนก (ขวัญ เพียงหทัย)
ปานอรุณคลานเข่าเข้าไปวางพวงมาลัยลงบนพาน หยอดเงินใส่ตู้บำรุงวัด แล้วคลานกลับมาหาอุ่นฤดี ซึ่งกราบพระเสร็จแล้ว นั่งคอยอยู่ 
ในโบสถ์สงบเงียบ วันนี้ไม่มีคนมามากนัก พระประธานสีทององค์ใหญ่ ทอดพระเนตรอันเมตตาลงมาด้วยพระพักตร์อันสงบเย็น ปานอรุณเงยหน้ามองนิ่งอยู่นานด้วยความรู้สึกเคารพบูชา เธอกราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ช้าๆ ๓ ครั้ง ทุกครั้งที่หน้าผากจรดปลายนิ้วบนพื้น มีความตื้นตันเต็มอยู่ในหัวใจ เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ปานประหนึ่งว่า น้ำตาจะซึมออกมาจากใจ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนกตัวเล็กๆ ที่บินฝ่าสายฝนอันหนาวเย็น จนตัวสั่นงันงก และได้เข้ามาสู่รวงรังที่ปลอดภัยและอบอุ่น 
กราบเสร็จแล้ว ก็ยังคงนั่งมองพระพุทธรูปอยู่เป็นนาน จนกระทั่ง อุ่นฤดี กระเถิบเข้ามาใกล้และกระซิบถาม 
ข้างหน้ามีพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ นี้คือใครรู้มั้ย 
ปานอรุณพยักหน้า 
องค์ทางขวา คือพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตร อีกองค์คือพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือพระมหาโมคคัลลานะ 
เป็นอัครสาวก คล้ายๆ คำว่าผู้ช่วยในสมัยนี้หรือเปล่า อุ่นฤดีถาม ปานอรุณหัวเราะเบาๆ 
ถ้าสมัยนี้พระพุทธเจ้าเป็นประธาน พระอัครสาวกก็เป็นรองประธาน นั่นแหละ 
แสดงว่า ท่านคงจะบวชก่อนเป็นรุ่นแรกๆ อุ่นฤดี เดา 
ไม่ใช่หรอก ตอนท่านมาบวชมีพระเยอะแยะแล้ว แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ใครเป็นรองประธาน รอจนสองท่านนี้มา พอพระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นก็เอ่ยเลยว่า อัครสาวกของเรามาแล้ว 
ทำไมอย่างนั้นล่ะ อุ่นฤดีสงสัย 
เพราะว่าท่านทั้งสองเคยอธิษฐานตั้งความปรารถนามาในชาติก่อนๆ ว่าจะขอมาเป็นพระอัครสาวก จึงได้เป็น เรื่องนี้เหล่าพระทั้งหลายก็ท้วงถามเหมือนกัน ว่าทำไมไม่ให้พระที่บวชก่อนเป็น อย่างเช่น ท่านโกณฑัญญะ 
พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่าแต่ละคนเขาได้ตำแหน่งกันไปตามที่เคยตั้งความปรารถนาไว้ดีแล้ว และเหมาะแก่บารมีของตนแล้ว 
อุ่นฤดีอยากฟังเรื่องประวัติความเป็นมาของท่านทั้งสองปานอรุณจึงเล่าให้ฟัง 
เดิมท่านพระสารีบุตรชื่อ อุปติสสะ พระมหาโมคคัล-ลานะชื่อ โกลิตะ เป็นเพื่อนรักกัน เป็นคนรวยทั้งสองคน พ่อของอุปติสสะเป็นผู้ใหญ่บ้านในอุปติสสคาม ส่วนพ่อของโกลิตะเป็นผู้ใหญ่บ้านในโกลิตคาม สองตระกูลนี้สนิทกันมา ๗ รุ่นแล้ว 
ท่านอุปติสสะ กับท่านโกลิตะ ก็สนิทกัน เป็นเพื่อนเรียนกันด้วย ชอบไปดูละครด้วยกันบ่อยๆ ก็เที่ยวไปเหมือนคนหนุ่มทั่วไป 
แต่วันหนึ่ง อุปติสสะมีอาการแปลกไป คือดูละครแล้วนั่งเฉย เหมือนคิดอะไรที่ลึกซึ้ง โกลิตะจึงถาม ท่านตอบว่า ข้าพเจ้าคิดอยู่ว่า คนเหล่านี้ไม่ถึงร้อยปีก็ตายกันหมด จะเพลิดเพลินอะไรกันอยู่ เราน่าจะแสวงหาโมกขธรรม 
โกลิตะบอกว่า เราคิดอย่างนั้นเหมือนกัน เราออกแสวงหาโมกขธรรมกันเถอะ 
อุ่นฤดี แทรกขึ้นว่า โมกขธรรมคืออะไรจ๊ะ 
คือธรรมอันเป็นทางให้พ้นทุกข์จ้ะ แล้วสองคนก็เลยออกบวช ไปบวชในสำนักอาจารย์สัญชัยปริพาชก เป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากในสมัยนั้น 
อ้อ ยังไม่พบพระพุทธเจ้า อุ่นฤดีเอ่ย 
ยัง เรียนกับอาจารย์สัญชัยไป ๒-๓ วันจบแล้ว 
อุ่นฤดีหัวเราะเบาๆ ปานอรุณเล่ายิ้มๆ 
ก็เลยออกไปเที่ยวแสวงหาต่อ ใครว่าที่ไหนมีบัณฑิต ทั้งสองก็ไปถกปัญหาด้วย ปัญหาที่บัณฑิตถามมา ท่านตอบได้หมด แต่พอถามกลับบัณฑิตตอบไม่ได้ ก็เที่ยวไปทั่วชมพูทวีปเลย แต่ไม่พบสิ่งที่แสวงหา 
ในที่สุด เลยกลับมาสำนักอาจารย์สัญชัยอีก แล้วบอกกันว่า ใครได้บรรลุธรรมก่อน ให้มาบอกกัน 
พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนเหรอตอนนั้น อุ่นฤดีถาม 
ทรงอยู่กรุงราชคฤห์ วัดเวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสาร สร้างถวาย 
วันหนึ่ง พระสาวกหนึ่งในปัญจวัคคีย์ คือพระอัสสชิ ออกบิณฑบาต เช้าวันนั้นอุปติสสะออกแต่เช้าเหมือนกัน ได้เห็นพระอัสสชิมีกิริยาสงบสำรวม น่าเลื่อมใส ก็คิดว่า นักบวชอย่างนี้ เราไม่เคยพบเลย คงจะเป็นรูปหนึ่งรูปใดในบรรดาผู้บรรลุแล้วซึ่งอรหัตผล ทำยังไงจะเข้าไปสอบถามได้ 
เขาคิดว่าเวลานี้ยังไม่ควร เพราะกำลังบิณฑบาต จึงติดตามไปข้างหลัง เห็นพระเถระได้อาหารพอสมควรแล้ว เตรียม จะไปหาที่นั่งฉัน เขาก็เข้าไปดูแลจนฉันเสร็จ รินน้ำถวายแล้ว ได้โอกาสจึงถามว่า 
ท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร 
พระอัสสชิ คิดว่า 
ปกติ ปริพาชกย่อมเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระพุทธศาสนา เราจะแสดงความซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพาชกนี้ ท่านได้กล่าวถ่อมตนก่อนว่า 
ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมอย่างละเอียดได้ 
อุปติสสะเรียนว่า 
ข้าพเจ้าชื่อ อุปติสสะ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวธรรมตามสามารถเถิด จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ การจะเข้าใจธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น 
แหม ประทับใจ คนสมัยนี้มีแต่ว่าจะให้อาจารย์ป้อนข้อมูลให้หมด ยังกะตัวเองเป็นกล่องคอมพิวเตอร์ แล้วยังให้ป้อนความเข้าใจด้วย พอตัวเองไม่เข้าใจ โทษครู แทนที่จะโทษตัวเอง 
แต่ครูก็ต้องให้ความเข้าใจได้ก่อนด้วย ครูบางคนสอนไม่เข้าใจก็มี มันต้องช่วยกันและกัน ปานอรุณให้ความเห็นแล้วเล่าต่อ 
พระอัสสชิจึงแสดงหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาทั้งปวงอันรวมเอาหลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาทไว้ด้วย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หลักแห่งเหตุผล โดยกล่าวว่า 
สิ่งใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งสิ่งนั้นไว้ด้วย ความดับทุกข์อันใดมีอยู่ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งการดับทุกข์นั้นไว้ด้วย พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งทุกข์ (คือสมุทัย) และเหตุแห่งความดับทุกข์ (คือมรรค) ท่านแสดงอริยสัจ ๔ โดยย่อด้วยพระคาถานี้ 
(พูดให้ง่ายขึ้นคือ ทุกข์เกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าตรัสบอกเหตุที่เกิดทุกข์ และวิธีดับทุกข์ไว้ด้วย) 
อุปติสสะฟังเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระเถระกล่าวจบลง เขาเรียนว่า 
ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนามากกว่านี้แล้ว ข้าพเจ้าอยากทราบว่า พระศาสดาประทับที่ใด 
พระอัสสชิบอกว่าอยู่วัดเวฬุวัน อุปติสสะบอกว่าจะไปหาเพื่อนก่อน เพราะสัญญากันไว้ แล้วจะพาไปหาพระพุทธเจ้า แล้วเขาก็รีบไปหาโกลิตะ 
โกลิตะพอเห็นเพื่อนเดินมา หน้าผ่องเชียว รู้เลยว่าพบธรรมดีแล้วแน่ๆอุปติสสะบอกข้อธรรมที่พระอัสสชิกล่าวโกลิตะ ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเลยเหมือนกัน 
โอ้โฮ ช่างเก่งอะไรอย่างนี้ อุ่นฤดีอุทาน มิน่าเล่า ถึงได้เป็นพระอัครสาวก 
แต่ทั้งสองก็ยังแวะไปชวนอาจารย์สัญชัยนะให้ไปด้วยกัน แต่อาจารย์ไม่ยอมไป บอกว่าเป็นอาจารย์คนอื่นแล้ว มีลูกศิษย์มากมาย จะไปเป็นลูกศิษย์คนอื่นอีกได้ยังไง 
แล้วก็ถามว่า โลกนี้คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมีมากกว่ากัน ทั้งสองตอบว่า คนโง่มากกว่า 
อาจารย์สรุปว่า ขอให้พวกฉลาดๆ ไปหาพระพุทธเจ้าเถิด คนโง่จงมาหาเรา 
พอเห็นว่าชวนไม่สำเร็จ สองคนก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีลูกศิษย์คนอื่นๆ ตามกันมาเกือบหมดเลย อาจารย์สัญชัยเห็นแล้วเสียใจ อาเจียนเป็นเลือดเลย ลูกศิษย์เห็นก็สงสารเลยกลับมาเสียบ้างก็มี 
พอไปหาพระพุทธเจ้า ท่านก็ทักว่าเป็นอัครสาวกของท่านเลยใช่มั้ย อุ่นฤดีถาม 
ใช่ ท่านตรัสอย่างนั้น แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งทันทีหรอก เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ จึงแต่งตั้ง 
อ้าว ไม่สำเร็จทันทีเหรอ อุ่นฤดีสงสัย 
ไม่หรอก พอขบวนทั้งท่านอุปติสสะ โกลิตะมาถึง พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนามุ่งเอาอุปนิสัยของบริวารที่ตามมาก่อน พอจบเทศนา บริวารทั้งหมดก็สำเร็จอรหัตผล 
แต่สองท่านนี้ยัง เพราะอะไร ท่านว่าสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่ ต้องมีคุณมากมาย เปรียบเหมือนการเสด็จของพระราชา ย่อมต้องมีการเตรียมการมากกว่าสามัญชน 
อีกอย่างคนมีปัญญามาก ย่อมไตร่ตรองมาก ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ตรองเห็นเหตุผลแล้วจึงเชื่อ 
อ๋อ เข้าใจแล้วจ้ะ อุ่นฤดีคลายใจ 
หลังบวชแล้ว อุปติสสะได้นามใหม่ว่า พระสารีบุตร คือลูกของพราหมณีชื่อสารี ส่วนโกลิตะได้นามใหม่ว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นลูกของพราหมณีชื่อ โมคคัลลี 
พระโมคคัลลานะบวชได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรที่บ้านกัลลวาลมุตตะ อยู่ในแคว้นมคธ 
ท่านเป็นคนที่ชอบง่วง พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมเกี่ยวกับการบรรเทาความง่วง แสดงธาตุกรรมฐาน จนพระโมคคัลลานะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
แสดงว่า พระสารีบุตรยัง อุ่นฤดีคะเน 
ยัง พระสารีบุตรบวชได้ ๑๕ วัน ไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตากับพระพุทธเจ้าบนเขาคิชฌกูฏ วันนั้นท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธเจ้าอยู่ มีหลานชายเป็นปริพาชกชื่อทีฆนข แปลว่าเล็บยาว มาเฝ้าพระพุทธเจ้า 
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อ เวทนาปริคหสูตร เป็นสูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา ให้แก่ทีฆนข 
ตอนนั้น พระสารีบุตรก็พลอยฟังไปด้วย ส่งใจไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ 
ดีจังนะ ฟังเทศน์คนอื่น ตัวเองก็ได้ด้วย อุ่นฤดีชื่นใจ 
บ่ายวันนั้นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศให้ทั้งสองเป็นอัครสาวก 
น่าเสียดาย อาจารย์สัญชัยไม่มา อุ่นฤดีพูดคล้ายบ่น 
ถ้ามาอาจจะได้เป็นพระอรหันต์ไปด้วย 
พระสารีบุตรเล่าเรื่องอาจารย์สัญชัยให้พระพุทธเจ้าฟังเหมือนกัน ตรัสว่า สัญชัยถือสิ่งที่ไม่เป็นสาระเอามาเป็นสาระ แต่กลับถือสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่มีสาระ เพราะมีมิจฉาทิฏฐิ คือมีความเห็นในทางที่ผิด ทำให้ไม่อาจพบสิ่งที่เป็นสาระได้ 
ส่วนเธอทั้งสองเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระสิ่งไม่เป็นสาระก็ว่าไม่เป็นสาระ 
อย่างนี้มีความคิดที่ถูก ทำให้สามารถพบสิ่งที่เป็นสาระได้ 
จริงนะ คนเราบางทีเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็จับเอามาให้เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต แต่บางเรื่องที่ดีที่จริงจัง กลับมองข้ามไปเสียนี่ อุ่นฤดีคล้อยตามคำสอน 
ปานอรุณพยักหน้ารับ ความคิดเป็นสิ่งสำคัญ ท่านว่าความคิดนำโลกไป ใครจะทำดี ทำชั่ว มันเริ่มที่ความคิดก่อน 
ดังนั้น เราจึงควรระวังความคิด ต้องคิดแต่สิ่งที่ดีที่เป็นกุศล ถ้าเริ่มคิดอกุศลต้องหยุดคิดทันที เตือนตัวเองให้ทัน แล้วคิดสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะนำชีวิตให้อยู่ในทางที่ดีได้ แล้วจะนำความสุขมาให้
จบบริบูรณ์
	
พระสรศักดิ์    อภิวฑฒฺโน
				
comments powered by Disqus
  • คนบาป

    22 พฤษภาคม 2553 14:02 น. - comment id 117074

    อ่านจบ บรรลุเลยตู เอิ๊กๆๆ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน