อย่าเพิ่งเชื่อ

หนูสน

ความดีเด่นของกาลามสูตร
   กาลามสูตร  เป็นพระสูตรสำคัญสูตรหนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ จากนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน แท้ที่จริง ในพระไตรปิฎก ชื่อกาลามสูตรไม่ได้มีปรากฏอยู่ หากมีแต่ชื่อว่า เกสปุตตสูตร  ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกาลามะ ซึ่งอยู่ในเกสปุตตนิคม เพราะฉะนั้น จึงตั้งชื่อพระสูตรนี้ตามชื่อของนิคมนี้ว่า เกสปุตตสูตร แต่คนที่อยู่ในนิคมหรือ ตำบลนี้เป็นเชื้อสาย หรือมีสกุลเดียวกัน คือ สกุลกาลามะ  เขาจึงเรียกประชาชนเหล่านี้ว่ากาลามชน   ซึ่งมีโคตรอันเดียวกัน สกุลเดียวกัน คือ  กาลามโคตร   เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกพระสูตรนี้ว่า เกสปุตตสูตร  แต่ชาวโลกทั่วไป มักจะเรียกพระสูตรนี้ว่า   กาลามสูตร  เพราะรู้สึกว่าจะเรียกได้ง่ายกว่า
พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ไม่ยาว แต่มีใจความลึกซึ้งน่าคิดประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งผู้นับถือ พระพุทธศาสนาหรือผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาควรจะได้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้เหตุผลตามหลัก วิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับกฎทางวิทยาศาสตร์ 
พระสูตรนี้มีความเป็นมาโดยย่อว่า ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยัง
เกสปุตตนิคม อันเป็นที่ อยู่ของพวกชาวกาลามโคตรหรือกาลามชน ชาวกาลามชนในเกสปุตตนิคมทราบข่าวมาก่อนแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดังอย่างไรก่อนที่พระองค์จะได้เสด็จมายังหมู่บ้านของพวกเขา จึงต่างก็พากันไปเฝ้าเป็น จำนวนมาก เพราะชื่อเสียงของพระพุทธเจ้าดังก้องไปว่า
อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทธโธ" เป็นต้น ดังที่เราสวดสรรเสริญกันในบทสวดมนต์ ซึ่งปรากฏมากในพระสูตรต่าง ๆว่า"แม้เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์, เป็นผู้ตรัสรู้ เองโดยชอบ, เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ, เสด็จไปดีแล้ว, เป็นผู้รู้แจ้งโลก, เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า, เป็นผู้รู้ เป็นผู้เบิกบานเป็นผู้จำแนกธรรม เป็นต้น"
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่เกสปุตตนิคมนั้น มีประชาชนมาเฝ้ากันมากคนอินเดียมีเรื่อง แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักบวชนับถือลัทธินิกายใด หรือว่าพวกเขาจะไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตามแต่พวกเขา ก็อยากจะฟังความรู้ความเข้าใจ และต้องการปัญญา
ดังนั้น พวกที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ เป็นพวกที่ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาปก็มี พวกที่ไม่นับถือ พุทธศาสนาก็มีพวกที่สงสัยอยู่ก็มี พวกที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งอยู่แล้วก็มี เพราะฉะนั้น ประชาชนที่ไปเฝ้า พระพุทธเจ้าในสมัยนั้นจึงมีลักษณะอาการที่ไปเฝ้าแตกต่างกัน ซึ่งอาการที่ไปเฝ้าของประชาชนเหล่านั้น มีลักษณะ ดังนี้
   บางพวกเมื่อได้ทราบเสร็จแล้วก็นั่งนิ่ง ไม่พูดจาอะไร
   บางพวกเป็นเพียงแต่แสดงความยินดีแล้วก็นั่งนิ่งอยู่
   บางพวกกล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่งนิ่งอยู่
   บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตนว่า ตนเองชื่ออะไร โคตรอะไรแล้วก็นั่งนิ่งอยู่
   บางพวกก็ไม่กล่าวอะไร ไม่แสดงอาการอะไร ได้แต่นั่งเฉย ๆ
   บางพวกเป็นเพียงแต่ประนมมือไหว้ แล้วก็นั่งเฉยอยู่ 
เพราะฉะนั้น ประชาชนที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีวรรณะใด ก็สามารถเข้าเฝ้า ได้อย่างใกล้ชิด เพราะพระพุทธเจ้ามิได้ทรงถือชั้นวรรณะ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นโอรสกษัตริย์ประสูติอยู่ใน วรรณะกษัตริย์ แต่พระองค์ถือว่าคนไม่ได้ประเสริฐเพราะสกุลกำเนิดแต่จะประเสริฐได้ก็เพราะการกระทำของ ตนเองดังนั้นจึงมีประชาชนไปเฝ้าพระองค์เป็นจำนวนมากและเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด 
ประชาชนที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ได้กราบทูลขึ้นว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในเกสปุตตนิคมนี้ มีสมณพราหมณ์คือนักบวชในศาสนาต่าง ๆ เดินทางเข้ามาเผยแพร่คำสอนศาสนาของตนอยู่เสมอๆและสมณพราหมณ์ นักสอนศาสนาเหล่านั้นได้กล่าวยกย่อง คำสอนแห่งศาสนาของตน แต่ได้ติเตียนดูหมิ่น เหยียดหยาม คัดค้านศาสนาของคนอื่นแล้วสมณพราหมณ์นักสอน ศาสนาเหล่านี้ก็จากเกสปุตตนิคมไป
ต่อมาไม่นาน ก็มีสมณพราหมณ์ นักสอนศาสนาพวกอื่นได้เข้ามายังนิคมนี้ แล้วก็กล่าวยกย่อง เชิดชูศาสนาของตนแต่ดูหมิ่น เหยียดหยาม ติเตียน คัดค้านศาสนาของคนอื่น
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกข้าพระองค์ก็มีความสงสัยเกิดขึ้นว่าบรรดาศาสดาหรือนักสอนศาสนาเหล่านั้น ใครเป็นคนพูดจริงใครเป็นคนพูดเท็จ ใครถูกใครผิดกันแน่"
พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อประชาชนเหล่านั้นว่า"ชาวกาลามะทั้งหลาย น่าเห็นใจที่ ท่านทั้งหลายตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ พวกท่านทั้งหลายควรสงสัยในเรื่องที่ควรสงสัยเพราะท่านทั้งหลายตกอยู่ใน ฐานะที่ต้องสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ แต่เราเองจะบอกให้ ชาวกาลามะทั้งหลาย"
   สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ   
พระพุทธเจ้าแทนที่จะตรัสเหมือนกับสมณพราหมณ์เหล่าอื่นที่เคยพูดมาแล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงสรรเสริญคำสอนของพระองค์ และก็ไม่ทรงติเตียนคำสอนศาสนาของผู้อื่นแต่พระองค์กลับตรัสอีกแบบหนึ่ง การพูดแบบนี้เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน คือพระองค์ได้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการโดยตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงฟัง
    มา อนุสฺสวเนน           อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
    มา ปรมฺปราย             อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
    มา อิติกิราย               อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
    มา ปิฏกสมฺปทาเนน     อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
    มา ตกฺกเหตุ               อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
    มา นยเหตุ                 อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
    มา อาการปริวิตกฺเกน     อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
    มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา  อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
    มา ภพฺพรูปตา            อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
    มา สมโณ โน ครูติ      อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
   สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุ 10 ประการนี้  
ข้อความประเภทนี้ตรงกับกฎทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อถ้าเขายังไม่ได้ ทดสอบหรือพิจารณาเหตุผลให้ปรากฏก่อน และข้อความเช่นนี้ไปตรงกันได้อย่างไรในข้อที่ไม่ให้เชื่อเพราะเหตุ เหล่านี้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราควรจะเชื่อแบบใดเมื่อปฏิเสธไปหมดเลยทั้ง 10 ข้อ และเราควรจะเชื่ออะไรได้บ้าง
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของเหตุและผล ไม่โจมตีศาสนา ไม่โจมตีผู้ใด 
ชี้แต่เหตุและผลที่ยกขึ้นมา อธิบายเท่านั้น
พระพุทธวจนะทั้ง 10 ประการข้างต้นนั้น ท่านทั้งหลายฟังดูแล้วอาจคิดว่า ถ้าใครถือตามแบบ นี้ทั้งหมดก็มองดูว่าน่าจะเป็นมิจฉาทิฎฐิ คือ ไม่เชื่ออะไรเลย แม้แต่ครูของตนเอง แม้แต่พระไตรปิฎกก็ไม่ให้เชื่อ พิจารณาดูแล้ว น่าจะเป็นมิจฉาทิฎฐิ แต่ก็ไม่ใช่
คำว่า   "มา"  อันเป็นคำบาลีในพระสูตรนี้ เป็นการปฏิเสธมีความหมายเท่ากับNoหรือนะคืออย่า แต่โบราณาจารย์กล่าวว่า ถ้าแปลว่า อย่าเชื่อ เป็นการแปลที่ค่อนข้างจะแข็งไปควรแปลว่า"อย่าเพิ่งเชื่อ" คือให้ ฟังไว้ก่อน สำนวนนี้ ได้แก่สำนวนแปลของสมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส นักปราชญ์ รูปหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ แต่บางอาจารย์ให้แปลว่า"อย่าเพิ่งปลงในเชื่อ" แต่บางท่านแปลตามศัพท์ว่า "อย่าเชื่อ" ดังนั้น การแปลในปัจจุบันนี้จึงมีอยู่ 3 แบบคือ
1. อย่าเชื่อ 
2. อย่าเพิ่งเชื่อ 
3. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ
การแปลว่า "อย่าเชื่อ" นั้น เป็นการแปลที่ค่อนข้างจะแข็งเป็นการไม่ค่อยยอมกัน ส่วนการ แปลอีก  2 อย่างนั้น คือ "อย่าเพิ่งเชื่อ" และ "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ" นั้นก็มีความหมายเหมือนกันแต่คำว่า "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ" นั้นเป็นสำนวนแปล
ที่ค่อนข้างยาว ดังนั้น คำว่า "อย่าเพิ่งเชื่อ" เป็นสำนวนที่สั้นกว่า ง่ายกว่าและเข้าใจได้ดีกว่า  ฉะนั้น การที่จะแปลให้ฟังง่ายและเหมาะสมก็ต้องแปลว่า "อย่าเพิ่งเชื่อ" 
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครจะพูดก็พูดไปเราก็ฟังไป อย่าไปว่าหรือค้านเขา แต่อย่าเพิ่งเชื่อ    ต้องพิจารณาดูก่อนว่าถูกหรือผิด  เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสอีกมากในพระสูตรนี้แต่ในที่นี้จะขออธิบายความหมายของ ข้อแนะนำทั้ง 10 ประการเสียก่อน เพราะเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากของพระสูตรนี้ และได้รับการแปลออกเป็น ภาษาต่างๆ หลายภาษา เพราะเขาถือว่าเป็นกฏทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่คาดคิดเลยว่าจะมีกล่าวไว้ในครั้งสมัยเมื่อ ประมาณ 2,600ปีมาแล้ว ที่ใช้ความคิดแบบอิสระอย่างนี้ เป็นความคิดที่มีเหตุผล 10 ประการ คือ
1. อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา บางคนเมื่อฟังตามกันมาก็เกิดความเชื่อ เมื่อคนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ ก็เชื่อตามกันไป โดยบอกว่า "เขาว่า"ปัจจุบันนี้การเชื่อตามเขาว่านี้ ถ้า ไปเป็นพยานในศาลจะไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะการที่ "เขาว่า" นั้น มันไม่แน่การฟังตามกันมาก็เชื่อตามกันมา ฉะนั้นสุภาษิตปักษ์ใต้จึงมีอยู่บทหนึ่งว่า
"กาเช็ดปาก คนว่ากาเจ็ดปาก ปากคนมากกว่าปากกาเป็นไหนๆ" 
สุภาษิตนี้หมายความว่า ชายคนหนึ่งเห็นกากินเนื้อแล้วเช็ดปากที่กิ่งไม้ ก็มาเล่าให้เพื่อนฟังว่า "ฉันเห็นกาเช็ดปาก"เพื่อนคนนั้นฟังไม่ชัด กลายเป็นว่า"ฉันเห็นกาเจ็ดปาก" ก็ไปเล่าต่อว่า คนโน้นเล่าให้ฟัง เมื่อวันก่อนว่าเขาเห็นกาเจ็ดปาก ก็เล่าต่อกันมาเรื่อย ๆ ว่า กามีเจ็ดปาก นี่เป็นการเชื่อตามคำเขาว่า ซึ่งบางคนก็ฟังมาไม่ชัด เพราะฉะนั้น ก็อาจฟังผิดได้ การที่เขาว่าจึงอาจจะถูกหรือผิดได้ เช่น บัตรสนเท่ห์ เขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ว่าตามที่เขาว่านั้น ซึ่งมีจริงบ้างไม่จริงบ้าง ปนกันอยู่
เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อตามที่เขาว่า แต่ให้ฟังไว้ก่อนชาวพุทธจะไม่ปฏิเสธการที่เขาว่า แต่จะฟังไว้ ก่อน โดยยังไม่เชื่อทีเดียว บางทีก็ฟังตามกันมาตั้งแต่โบราณ เช่น สมมุติว่าฝนแล้งก็ต้องแห่นางแมวแล้วฝนจะตก เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าแห่นางแมวแล้วฝนจะตก บ้างก็ว่าเป็นเรื่องที่เขาเล่ากันมาอย่างนี้ คือเชื่อตามเขาว่า ซึ่งก็ อาจจะไม่เป็นจริงตามเขาว่าก็ได้ ดังนั้น เราต้องเชื่อตามเหตุผล อย่าเชื่อตามเขาว่า 
2. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดว่าเป็นของเก่า เล่าสืบๆ กันมา บางคนบอกว่าเป็นของเก่า เป็นความเชื่อ ตั้งแต่สมัยโบราณเราควรจะเชื่อ เพราะเป็นของเก่า ถ้าไม่เชื่อ เขาก็หาว่าจะทำลายของเก่า บางคนเห็นผีพุ่งไต้ ก็บอกว่านั่นแหละวิญญาณจะลงมาเกิด อย่าไปทัก เพราะเป็นความเชื่อกันมาตั้งแต่โบราณ เมื่อมีแผ่นดินไหว คนโบราณจะพูดว่าปลาอานนท์พลิกตัว หรือเวลามีฟ้าผ่าก็บอกว่ารามสูรขว้างขวาน ฟ้าแลบก็คือนางเมขลา ล่อแก้วเข้าตารามสูร รามสูรโกรธ จึงขว้างขวานลงมาเป็นฟ้าผ่า
ความเชื่อเช่นดังกล่าวมานี้เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล ดังนั้นความเชื่อของคนโบราณนั้นไม่ใช่ว่าจะถูกหรือดีเสมอไป แต่เป็นความเชื่อปรัมปรา เราจึงไม่ควรจะเชื่อ ถ้ายังไม่แน่ใจถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องนำสืบๆกันมา
3. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเป็นข่าวเล่าลือ หรือตื่นข่าว เรื่องข่าวนั้นมีมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวทันโลก ข่าวช่วงเช้า ข่าวช่วงเย็น ข่าวเขาว่า ซึ่งมีอยู่มากมาย ถ้าเราไปเชื่อตามข่าว เราก็อาจจะเป็นคนโง่ได้ เช่น บางคน อ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ก็คิดว่าเป็นเรื่องจริงแน่แล้ว แต่ข่าวจากหนังสือพิมพ์นั้น บางทีลงข่าวตรงกันข้าม จากข่าวจริง ๆ เลยก็มี หรือมีจริงอยู่บ้างเพียงบางส่วนก็มี เราจึงควรพิจารณาให้ดีเสียก่อน เพราะข่าวบางข่าวนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นต้องมาลงขอขมากันภายหลังที่ลงข่าวผิด ๆ ไปแล้วก็มี ดังนั้น ข่าวลือจึงมีมาก เช่น ลือว่าจะมีการปฏิวัติ ลือว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งบางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง หรือลือกันว่าคนเกิดวันนั้นวันนี้ จะตายในปีหน้า ต้องรีบทำบุญเสีย ก็เลยพากันเฮมาทำบุญกัน นี้ก็เพราะฟังเขาลือกันมา บางคนก็ลือกันแบบ กระต่ายตื่นตูมเป็นข่าวเขาว่าไม่ใช่ข่าวเราว่า เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งเชื่อ
4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา ถ้าใครเอาตำรามาอ้างให้เราฟัง เราก็อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะตำราก็อาจจะผิดได้บางคนอาจจะค้านว่า "ที่เราพูดถึงกาลามสูตรนี้ ไม่ใช่ตำราหรอกหรือ" จริงอยู่ เราก็อ้าง กาลามสูตรซึ่งเป็นตำราเหมือนกัน แต่ท่านว่า อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอาจจะผิดได้ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเอาตำราอะไรก็ตามมาอ้างเราก็ต้องอย่าเพิ่งเชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้พิจารณาดูก่อน บางคนกล่าวยืนยันว่าตนเอง อ้างตามตำรา ซึ่งแท้จริงแล้วเขาไม่ได้อ่านตำรานั้นเลย แต่ว่าเอามาอ้างขึ้นเอง บางคนก็ต้องการ โดยการอ้างตำรา ดังมีเรื่องเล่ากันมาว่า
"อุบาสก 2 คนเถียงกัน ระหว่างสัตว์น้ำกับสัตว์บกอย่างไหนมีมากกว่ากัน
อุบาสกคนหนึ่งบอกว่า สัตว์บกมีมากกว่า เพราะบนบกนั้นมีสัตว์นานาชนิด เช่น มีแมลงต่างๆ มีมดต่างๆ มากมาย
ส่วนอีกคนหนึ่งค้านว่า สัตว์น้ำมีมากมายหลายชนิดนับไม่ถ้วน แม้แต่กุ้ง ปลา ก็นับไม่ถ้วนเสียแล้ว สัตว์น้ำต้องมากกว่าสัตว์บกแน่นอน
ทั้งสองคนจึงไม่อาจตกลงกันได้
อุบาสกคนหนึ่งหัวไวได้ยกบาลีมาอ้างว่า "พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์น้ำมีมากกว่าสัตว์บก ดังพระบาลีที่ว่านัตถิ เม สรณัง อัญญัง แปลว่า สัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก" 
อุบาสกอีกคนหนึ่งไม่กล้าค้านเพราะกลัวจะตกนรก
แท้ที่จริง คำว่า "นัตถิ เม สรณัง อัญญัง" นั้น ไม่ได้แปลว่า "สัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก" แต่แปลว่า "ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี" ผู้อ้างคิดแปลเอาเองเพื่อให้คำพูดของตนมีหลักฐานการอ้างตำรา อย่างนี้จึงไม่ถูกต้องถ้าใครหลงเชื่อก็อาจถูกหลอกเอาได้
นอกจากนี้ ตำราบางอย่างก็อ้างกันมาผิด พวกที่ไม่รู้ภาษาบาลี เมื่อเห็นเขาอ้างก็คิดว่าจริง เช่น นักหนังสือพิมพ์ บางคนกล่าวว่า "ทุกขโต ทุกขถานัง ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตน" ซึ่งคำกล่าวนี้เป็นบาลีที่ไม่ถูกต้อง เป็น ประโยคที่ไม่มีประธาน ไม่มีกริยา เป็นภาลีที่แต่งผิด ซึ่งอาจารย์บางท่านเรียกบาลีเช่นนี้ว่า "เป็นบาลีริมโขง" แต่คนกลับคิดว่าเป็นคำพูดที่ซึ้งดี เพราะฟังดูเข้าที่ดี นี้ก็เป็นการอ้างตำราที่ผิด ถึงแม้ว่าตำรานั้นจะเขียนถูกแต่ถ้าหาก ว่าไม่มีเหตุผล เราก็ไม่ควรเชื่อ
ปัจจุบันนี้ มีการโฆษณาหนังสือยอดกัณฑ์พระไตรปิฎกว่า ถ้าถ้าใครสวดเป็นประจำก็จะร่ำรวยเป็น เศรษฐี ได้ทรัพย์สมบัติและจะปลอดภัย ปลอดโรคต่าง คนก็พากันสวดและพิมพ์แจกกันมาก ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่ ทราบว่าจะทำอย่างไรเมื่อมีผู้นำหนังสือนี้มาถวายให้ จะเผาทิ้งก็ติดที่มีคำบาลีอยู่ด้วย หนังสือนี้ได้พิมพ์ต่อเนื่องกัน มาผิด ๆ และไม่มีพระสงฆ์รูปใดสวดยอดกัณฑ์พระไตรปิฎก นอกจากในหมู่ฆราวาส บางคนที่ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาดังนั้นใครอ้างบาลี เราก็จงอย่าเพิ่งเชื่อต้องพิจารณาดูให้ดีว่ามีอะไรถูกหรือผิดบ้างเสียก่อน
5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง ท่านใช้คำว่า ตักกเหตุ คือ การตรึก หรือการคิด ตรรกวิทยาเป็นวิชา แสดงเรื่องความคิดเห็น อ้างหาเหตุผล แต่พระพุทธเจ้าทรงกล้าค้านตรรกวิทยาได้ว่า การอ้างหาเหตุผลโดยการ คาดคะเนนั้นอาจจะผิดก็ได้การอ้างหาเหตุผลนั้นไม่ใช่ว่าจะถูกไปเสียทุกอย่าง
การนึกคาดคะเนหรือการเดาเอาของคนเรานั้นผิดได้ เช่นหลักตรรกวิทยากล่าวว่า "ที่ใดมีควัน ที่นั้นมีไฟ" ซึ่งก็ไม่ แน่เสมอไป เดี๋ยวนี้ที่ใดมีควัน ที่นั้นอาจจะไม่มีไฟก็ได้ เช่น เขาฉีดสารเคมี พ่นยาฆ่าแมลง ก็มองดูว่าเป็นควันออกมา แต่หามีไฟไม่
หรือบางคนก็คิดเดาเอาเองว่าคงจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ คำว่า คงจะ นั้น มันไม่แน่ เพราะฉะนั้น เราก็อย่าเพิ่งตัดสินว่าเรื่องนี้ถูกแน่นอนแล้ว คำว่า คงจะ นั้นเป็นการนึกเดาเอา
6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยการคิดคาดคะเนหรืออนุมานเอา ตัวอย่างเช่น เราคิดว่าเราจะแซงรถคันหน้าพันถ้าเรา ขับรถเร็วกว่านี้ ซึ่งเป็นการคาดคะเนเอา บางทีเราคาดคะเนความเร็วไม่ถูก ก็อาจจะชนรถคันหน้าที่วิ่งสวนมา โครมเข้าไปเลยก็ได้ การคาดคะเนหรืออนุมานเอาอย่างนี้ ทำให้คนตายมามากแล้ว การอนุมานเอานี้มันไม่แน่
บางคนคิดว่าฝนคงจะตกแน่เพราะเห็นเมฆดำก่อตัวขึ้นมาก็เป็นการอนุมานเอาว่าฝนคงจะตก แต่บางที ลมก็จะพัดเอาเมฆนี้ลอยพ้นไปเลยก็ได้ ซึ่งก็ไม่แน่เพราะอนุมานเอา
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้อนุมานเอาก็อย่าเพิ่งเชื่อ
7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ คือเห็นอาการที่ปรากฏแล้วก็คิดว่าใช่แน่นอน เช่น เห็นคนท้องโตก็คิดว่าเขาจะมีลูก ซึ่งก็ไม่แน่ บางคนแต่งตัวภูมิฐานก็คิดว่าคนนี้เป็นคนใหญ่โต ร่ำรวย ซึ่งก็ไม่แน่ อีกบางทีก็เป็นขโมย แต่งตัวเรียบร้อยมาหาเรา บางคนทำตัวเหมือนเป็นคนบ้าคนใบ้มานั่งใกล้กุฏิพระ คนก็ไม่สนใจนึกว่าเป็นคนบ้า แต่พอพระเผลอก็ขโมยของของพระไป ดังนั้น เราจะดูอาการที่ปรากฏก็ไม่ได้ บางคนปวดหัว ก็คิดว่าเป็นโรคอะไรที่หัว แต่ก็ไม่แน่ สาเหตุอาจจะเป็นที่อื่นแล้วทำให้เราปวดหัวก็ได้ เช่น ท้องผูก เป็นต้นหรือเราขับรถมาถึงสะพานซึ่งมองดูแล้วคิดว่าสะพานนี้น่าจะมั่นคงพอจะขับข้ามไปได้ แต่ก็ไม่แน่ สะพานอาจจะพังลงมาก็ได้
8. อย่าเพิ่งเชื่อว่าต้องกับลัทธิของตน คือ เข้ากับความเชื่อของตน เพราะตนเชื่ออย่างนี้อยู่แล้ว เมื่อใครพูดอย่างนี้ให้ฟัง ก็ยอมรับว่าใช่และถูกต้อง ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไป เพราะสิ่งที่เราเชื่อมาก่อนนั้นอาจผิดก็มี บางทีคนอื่นก็มาหลอกเรา เพราะเห็นว่าเราเชื่ออยู่ก่อนแล้ว จึงอาศัยความเชื่อของเรา เป็นเหตุมันจึงไม่แน่เสมอไป
บางคน เมื่อมีใครมาพูดตรงกับความคิดเห็นของตนก็เชื่อแล้ว ตัวอย่างเช่น เราไม่ชอบใครอยู่สักคนหนึ่ง พอใครมาบอกเราว่าคน ๆ นั้นไม่ดี ก็เชื่อว่าเป็นคนชั่วแน่ เพราะตนเองก็ไม่ชอบหน้าเขาอยู่แล้ว เรื่องอย่างนี้ก็ไม่ แน่เสมอไป เพราะคนที่เราไม่ชอบอาจจะเป็นคนดีก็ได้ แต่ว่ามีคนอื่นมาพูดยุยงให้เราเข้าใจไปอย่างนั้น เราจึง มองผิดไปได้
หรือคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก หรือเรื่องเครื่องรางของขลัง พอมีใครมาพูดเรื่องเช่นนี้ก็เชื่อสนิท เพราะไปตรงกับความเชื่อของตน
เพราะฉะนั้น จงอย่าเพิ่งเชื่อ แม้ในกรณีดังกล่าวมานี้
9. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ คือ เห็นว่าคนที่เป็นคนใหญ่คนโตนั้น พูดจาควรเชื่อถือได้ เช่น เป็น ถึงชั้นเจ้า หรือตำแหน่งสูง เราก็ควรจะเชื่อคำพูดของเขา แต่มันก็ไม่แน่ แม้แต่พระสงฆ์ก็ไม่แน่ เราจึงต้องฟังดูให้ ดีเสียก่อน แม้แต่คณะรัฐมนตรีเองก็ไม่แน่ อย่าเพิ่งไปเชื่อคำพูดของท่านเหล่านั้นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ว่าผู้พูด มียศมีตำแหน่งอย่างนี้แล้ว จะพูดเรื่องน่าเชื่อถือได้เสมอไป เราควรจะฟังหูไว้หู ฟังให้ดีเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วจะ ถูกหลอกได้ง่าย
อย่าเพิ่งเชื่อในที่นี้ มิได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อ แต่ควรจะพิจารณาดูก่อนแล้วถึงจะเชื่อ
10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดเป็นครูของเรา ข้อนี้แรงมาก คือ แม้แต่ครูของตนก็ไม่ให้เชื่อ ทั้งนี้ เพราะครูของเราก็อาจจะพูดผิดหรือทำผิดได้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องฟังให้ดี
ไม่มีศาสนาใดสอนเราไม่ให้เชื่อครูของตน แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนว่าไม่ให้เชื่อ แต่ ทรงสอนว่าอย่าเพิ่งเชื่อต้องพิจารณาดูเสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ
    พระพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุผลในข้อที่อย่าเพิ่งเชื่อดังกล่าวมาดังนี้ โดยตรัสว่า " ดูก่อน ชาวกาลามะทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ ก่อความทุกข์ เดือดร้อน วิญญูชนติเตียน ถ้าประพฤติเข้าแล้วเป็นไปเพื่อความทุกข์เดือดร้อน ท่านทั้งหลายจงละทิ้งสิ่งเหล่านี้เสีย " พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าดีหรือไม่ดี แต่ให้พิจารณาดูว่าถ้าไม่ดีก็ทิ้งเสีย
    พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสต่อไปว่า " ชาวกาลามะทั้งหลายท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ความโลภ ซึ่งเกิดขึ้นในใจของคนเราแล้ว เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความโลภเป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่ใช่ประโยชน์ " 
    ชาวกาลามะก็ทูลตอบว่า "ไม่เป็นเพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า" 
    "เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว ทำให้คนฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ประพฤติผิดในกามบ้าง และสิ่งใดที่ ไม่เป็นประโยชน์เขาจะชักนำให้ทำสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่จริง" พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อ
    ชาวกาลามะก็ทูลตอบว่า "จริง พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามอีกว่า "แต่ถ้าจริงแล้ว ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนี้เป็นไฉน เมื่อความโลภเกิด ขึ้นในใจของคนแล้ว เป็นเหตุให้เขาฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามและชักชวนให้คนทำชั่วแล้ว ความ โลภนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "แล้วมีโทษหรือไม่มี" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "มีโทษ พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อว่า "วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ติเตียน พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "เป็นไปเพื่อความสุขหรือเป็นไปเพื่อความทุกข์" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นไปเพื่อความทุกข์ พระเจ้าข้า" 
    พระสูตรนี้มีลักษณะของการถามตอบ คือให้ผู้ที่ถูกถามคิดเอาเอง ไม่ได้ยัดเยียดความคิดให้ หรือ บังคับให้ตอบ
ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสถามเกี่ยวกับความโกรธบ้างว่า "ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ เป็นไฉน คนที่ถูกความโกรธครอบงำเข้าแล้ว อาจจะฆ่าคนก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ประพฤติผิดในกามก็ได้ สิ่งใด ที่มีโทษ เขาก็ชักชวน
แนะนำให้คนอื่นทำสิ่งนั้นก็ได้ ดังนั้น ความโกรธนี้ดีหรือไม่ดี" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ไม่ดี พระเจ้าข้า" 
   พระองค์ตรัสถามว่า"แล้วคนที่ความโกรธเข้าครอบงำแล้วนั้นความโกรธเป็นกุศลหรืออกุศล"
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นอกุศล พระเจ้าข้า"
   พระองค์ตรัสถามว่า"มีโทษ หรือไม่มีโทษ"
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า"มีโทษ พระเจ้าข้า"
   พระองค์ตรัสถามว่า"วิญญูชนติเตียนหรือไม่"
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ติเตียน พระเจ้าข้า"
   พระองค์ตรัสถามว่า "แล้วเป็นไปเพื่อความทุกข์หรือความสุข" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นไปเพื่อความทุกข์ พระเจ้าข้า" 
   ต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามถึงความหลงต่อไปว่า"คนที่ถูกความหลงเข้าครอบงำนั้น ความหลง เป็นกุศลหรืออกุศล"
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า  "เป็นอกุศล พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "คนที่ถูกความหลงเข้าครอบงำนั้น ทำดีหรือทำชั่ว" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ทำชั่ว พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "วิญญูชนติเตียนหรือไม่" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ติเตียน พระเจ้าข้า"
   พระพุทธองค์ตรัสถามว่า"แล้วเขาชักนำคนอื่นไปในทางดีหรือทางชั่ว"
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ทางชั่ว พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อน ชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านจงอย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา อย่าเพิ่งเชื่อ โดยฟังตามกันมา อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังพูดสืบ ๆ กันมา" จนกระทั่งถึงข้อสุดท้ายว่า "อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดเป็น ครูของเรา" ซึ่งเป็นการตรัสย้ำครั้งที่สองในเรื่องของการเชื่อ
    ดังนั้นก็เกิดคำถามว่า ถ้าเราไม่เชื่อดังเหตุผลประการต่าง ๆ นี้แล้ว เราจะเชื่อใครได้
    คำตอบก็คือให้เชื่อตัวเอง โดยการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ว่าสิ่งที่เขาพูดกันนั้นดีหรือไม่ดี
ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
    พระพุทธองค์ได้ตรัสถามชาวกาลามะต่อไปอีกว่า
    "ชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านจะพิจารณาเห็นความข้อนี้เป็นไฉน ความไม่โลภนั้นดีหรือไม่ดี เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลวิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ เป็นไปเพื่อความสุขหรือความทุกข์ ผู้ที่ไม่โลภ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ชักนำผู้อื่นไปในทางที่เสียหาย ดังนั้น ความไม่โลภนั้นจึงเป็นกุศลหรือ อกุศล" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นกุศล พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "มีโทษหรือไม่มีโทษ" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "วิญญูชนสรรเสริญหรือติเตียน" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "สรรเสริญ พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "เป็นไปเพื่อความสุขหรือความทุกข์" 
    ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นไปเพื่อความสุข พระเจ้าข้า" 
    พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามต่อไปถึงความไม่โกรธ ความไม่หลง ในทำนองเดียวกันอีกว่า "คนที่ไม่โกรธ ไม่หลงนั้น จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ชักนำคนอื่นไปในทางที่เสีย ชักนำคนอื่นไป ในทางที่ดี ก็ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นกุศล พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "มีโทษหรือไม่มีโทษ" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "วิญญูชนสรรเสริญหรือติเตียน" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "สรรเสริญ พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "เป็นไปเพื่อความสุขหรือความทุกข์" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นไปเพื่อความสุข พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าจึงได้สรุปต่อไปว่า "ชาวกาลามะทั้งหลายเพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูด้วย ตนเอง ท่านอย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา อย่าเชื่อโดยพูดสืบๆ กันมา จนถึงข้อสุดท้ายว่า อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดเป็น ครูของเรา" 
   พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาดูว่า "สิ่งเหล่านี้ดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีก็ทิ้งเสีย ถ้าดีก็ทำตาม พระองค์ ไม่ได้บังคับให้เชื่อแต่ให้พิจารณาดูเอาเอง เหมือนคนที่ขายอาหาร หรือขายของโดยให้ผู้ซื้อได้เลือกซื้อหรือ พิจารณาเอาเอง แล้วก็ถามเรื่องความเห็นว่าดีหรือไม่ดี ชี้แจงเหตุผลให้ฟัง" 
   ในที่สุด พระพุทธเจ้าก็ทรงสรุปให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่า อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา อย่าเชื่อโดยนำสืบๆกันมา แล้ว จนกระทั่งอย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดเป็นครูของเรา
ข้อความที่กล่าวย้ำเช่นนี้ในกาลามสูตรมีถึง 4 ครั้ง เฉพาะ 10 ข้อนี้ และในที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    "ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย อริยสาวกในศาสนานี้ มีเมตตาจิต ไม่โกรธ ไม่พยาบาทใคร แผ่เมตตา ไปทิศเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องต่ำ เบื้องสูง เบื้องขวาง ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีภัย การแผ่เมตตา อย่างนี้มีโทษหรือไม่มีโทษ" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "เป็นกุศลหรืออกุศล" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นกุศล พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "วิญญูชนสรรเสริญหรือติเตียน" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "สรรเสริญ พระเจ้าข้า" 
   พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "เป็นไปเพื่อความสุขหรือความทุกข์" 
   ชาวกาลามะทูลตอบว่า "เป็นไปเพื่อความสุข พระเจ้าข้า" 
พระพุทธเจ้าตรัสเช่นเดียวกันถึงเรื่อง กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หรือพรหมวิหารทั้ง 4 ที่แผ่ไปยัง คนอื่น สัตว์อื่นและตรัสถามว่า เมื่อประกอบด้วยความไม่มีเวรเช่นนี้ มีความไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตใจหมดจดอย่างนี้ ก็ย่อมจะได้ความอุ่นใจ 4 ประการคือ
1. ถ้าหากว่าชาติหน้ามีจริง บาปบุญที่ทำไว้มีจริง ก็เมื่อเราทำแต่ดี ไม่ทำชั่ว เราจะชื่นใจว่าเราจะไป เกิดในสุคติโลกสวรรค์แน่นอน นี้เป็นความอุ่นใจข้อที่หนึ่ง 
2. ถ้าหากว่าชาติหน้าไม่มีจริงบาปบุญที่คนทำไว้ไม่มีจริงก็เมื่อเราไม่ทำชั่ว ทำแต่ดีชาตินี้เราก็สุข แม้ชาติหน้าจะไม่มีก็ตามนี้เป็นความอุ่นใจข้อที่สอง
3. ถ้าหากว่าบาปที่คนทำไว้ ชื่อว่าเป็นอันทำ คือได้รับผลของบาป ก็เมื่อเราไม่ทำบาปแล้ว เราจะได้ รับผลของบาปที่ไหน นี้เป็นความอุ่นใจข้อที่สาม 
4. ถ้าหากว่าบาปที่คนทำแล้วไม่ได้เป็นบาปอันใดเลยหรือไม่เป็นอันทำ ก็เมื่อเราไม่ได้ทำบาป เราก็ พิจารณาตนว่าบริสุทธิ์ทั้งสองส่วน คือ ส่วนที่เราไม่ได้ทำชั่ว และในส่วนที่เราทำดี เราก็มีความสุขในปัจจุบัน 
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ทำชั่ว นรกสวรรค์จะมีหรือไม่มีบาปบุญจะมีหรือไม่มี เขาก็ได้ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่คนที่ทำชั่วนรกสวรรค์จะมีหรือไม่มี บาปบุญจะมีหรือไม่มี เขาก็เดือดร้อนทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าหากว่าสวรรค์มีจริง เขาก็ไม่ได้ขึ้นสวรรค์ ถ้านรกมีจริง เขาก็ต้องลงนรก ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริง เราก็ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะ เราไม่ได้ทำชั่วในปัจจุบัน และเราก็มีความสุขในปัจจุบัน เพราะเราทำดี การให้พิจารณาอย่างนี้ เป็นการพิจารณา ที่สร้างเหตุสร้างผลขึ้น
ท่านทั้งหลายจงพิจารณาข้อความนี้ดูว่า ในกาลามสูตรนี้ถ้าหากคณาจารย์อื่น ๆ มาพบชาวกาละมะเข้า อาจจะพูดเหมือนบรรดาอาจารย์อื่น ๆ ที่เคยผ่านมา คือ พูด ติเตียนศาสนาอื่นแล้วยกย่องศาสนาของตนเอง แต่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงกระทำเช่นนั้นคือ ไม่โจมตีศาสนาอื่นเลย แม้แต่สักคำเดียว พระองค์เพียงแต่บอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อถ้าใครพูดชักนำมา ทรงเตือนว่าอย่าเพิ่งเชื่อและให้พิจารณา ด้วยตนเองเท่านั้น เมื่อได้พิจารณาด้วยตนเองแล้วเห็นว่าเป็นกุศล ก็ให้ทำตาม แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย
ยกตัวอย่างเช่น โลภ โกรธ หลง นั้นเป็นอกุศล ไม่ดี มีโทษ วิญญูชนติเตียน เป็นไปเพื่อทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ละเสีย แต่ถ้าหากเห็นว่า ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนั้นเป็นกุศลไม่มีโทษ วิญญูชน สรรเสริญ เป็นไปเพื่อความสุข พระพุทธเจ้าทรงสอนให้บำเพ็ญ โดยให้ชาวกาลามะพิจารณาเห็นด้วยตนเอง จากการที่พระองค์ทรงตั้งคำถามให้ชาวกาลามะ คิดพิจารณาเอาเอง โดยไม่ให้งมงาย คือ พระองค์มิได้ทรงบอก ว่าท่านต้องเชื่อหรือบอกว่าถ้าท่านไม่เชื่อท่านต้องตกนรกหมกไหม้หรือว่าท่านต้องเชื่อแล้วท่านจะได้ขึ้นสวรรค์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสอย่างนี้แต่ตรัสบอกให้พิจารณาเอาเอง
ในที่สุด พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าเราทำดีโดยการมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาแล้ว เราจะมี ความอุ่นใจถึง4 อย่าง ซึ่งคนทำชั่วนั้นจะไม่มีความอุ่นใจดังกล่าวเลย 
การพิจารณาอย่างนี้เป็นข้อความสำคัญในกาลามสูตร แท้ที่จริง ยังมีข้อความอื่นอีกในพระสูตรนี้ แต่เป็นข้อปลีกย่อย จึงไม่ได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้
ในปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ นักคิดชาวตะวันตก ได้สรรเสริญพระพุทธศาสนาในแง่ของการมีเหตุผล ไว้มาก เพราะเป็นคำสอนอันมีเหตุผลและสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ของพระพุทธศาสนา
ดังนั้น กาลามสูตรจึงเป็นพระสูตรที่ให้อิสระในด้านความคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เราเชื่อ แต่ให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน แล้วจึงค่อยเชื่อ อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา แม้แต่พระคัมภีร์ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้พิจารณา ดูเสียก่อน ถ้าทำได้อย่างนี้ ถือว่าสมกับการเป็นชาวพุทธ ไม่เชื่ออะไรอย่างไร้เหตุผล โดยไม่พิจารณาว่าควรเชื่อ หรือไม่เพียงไร 
เราจึงควรภูมิใจที่เราได้นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่มีเหตุผล สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ในโลกปัจจุบันไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น และเป็นไปเพื่อความ สิ้นทุกข์ในที่สุด แม้ทุกข์ยังไม่หมด แต่ก็มีความสงบสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น เมื่อเราได้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามพุทธธรรม ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา 
ที่มา :หนังสือความดีเด่นของกาลามสูตร และ คำสดุดีพระพุทธศาสนาของนักปราชญ์ชาวตะวันตก โดย พระธรรมวิสุทธิกวี วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร 
http://www.dopa.go.th/religion/tammar.html				
comments powered by Disqus
  • ปลายตะวัน

    23 เมษายน 2553 18:31 น. - comment id 116744

    อนุโมทนาครับ
    59.gif46.gif
  • ฉางน้อย

    24 เมษายน 2553 01:55 น. - comment id 116750

    11.gif.......ขอบคุณที่ไปกินเลี้ยงงานวันเกิดฉางน้อยนะคะ
    
    อิอิ ว่าแต่ว่า เมาป่ะ เมาไวน์แดงของพี่อ้อย555520.gif46.gif
  • สุนันยา

    25 เมษายน 2553 15:41 น. - comment id 116783

    ตามมาอ่านค่ะ
    เก่งจัง 
    29.gif
  • แก้วประภัสสร

    25 เมษายน 2553 16:25 น. - comment id 116784

    ขอบคุณที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านกันค่ะ
    36.gif36.gif16.gif
  • ฅนเขียนรูป

    26 เมษายน 2553 11:03 น. - comment id 116806

    36.gif36.gif36.gif
    
    อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะเห้นว่าเขาหน้าตาดี
    
    อิอิอิ33.gif33.gif33.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน