ประเพณีสงกรานต์ไทย ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำเดือนห้าเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่มาแต่ครั้งโบราณ ราชการจะกำหนดนักขัตฤกษ์สงกรานต์ 3 วัน คือวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน โดยถือวันที่ 13 เป็นวันต้น วันที่ 14 เป็นวันกลาง และวันที่ 15 เป็นวันสุดท้าย ถือเป็นวันขึ้นศักราชใหม่ อย่างไรก็ตามในแต่ละท้องถิ่นจะมี วันไหล สรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำของตนเอง วันที่ 14 เมษายน ปีนี้เป็นปีแรกที่มีโอกาสสรงน้ำพระและก่อพระเจดีย์ เนื่องในวันสงกรานต์ ที่จังหวัดเชียงราย หรือคนในพื้นที่เรียกว่า ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ชาวบ้านต่างนำน้ำส้มป่อยใส่น้ำอบน้ำหอม เพื่อสรงน้ำพระ เนื่องในวันปี๋ใหม่เมือง และนำทรายไปก่อพระเจดีย์ทราย เนื่องจากมีความเชื่อว่า เมื่อเข้าวัดอาจมีเศษดิน ทราย ติดเท้าออกมา กลัวว่าจะเป็นบาป จึงนำทรายมาคืนวัด สำหรับความเชื่อของชาวบ้านที่อยู่ในเทศบาลเชียงราย นิยมสรงน้ำและก่อพระเจดีย์ทราย ถ้าจะให้ได้บุญมากจะต้องไปให้ครบ ๙ วัด อันไปประกอบไปด้วย ๑.วัดพระธาตุดอยจอมทอง ตั้งอยู่บนดอยจอมทอง ริมน้ำกกด้านทิศตะวันตกของศาลากลางจังหวัด ๒ . วัดงำเมือง ( วัดดอยงำเมือง ) ตั้งอยู่ถนนอาจอำนวย บ้านฮ่อมดอย ( ชุมชนราชเดชดำรง ) ๓ . วัดพระแก้ว ( พระอารามหลวง ) วัดพระแก้วเป็นพระอารามหลวงสามัญ ชั้นตรี ๔ . วัดมุงเมือง ตั้งอยู่ถนนอุตรกิจ ทิศใต้จดตลาดสดเทศบาล ทิศตะวันออกจดทางเข้าตลาดสดเทศบาล ๕ . วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ เป็นวัดไทใหญ่ สมัยก่อนมีชุมชนไทยใหญ่อยู่เรียกว่า วัดเงี้ยวหรือ วัดช้างมูบ ( ช้างหมอบ ) วัตถุโบราณของวัดมีบ่อน้ำโบราณ เรียกว่า บ่อน้ำช้างมูบ เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่มีซุ้มครอบไว้บนหลังช้าง ช้างมูบที่มาสันนิษฐานว่า บรรทุกพระสาริกธาตุมาบนหลังช้างแล้วมาประดิษฐานในเจดีย์ ๖ . วัดศรีเกิด ตั้งอยู่บ้านศรีเกิด ๗ . วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่ถนนสิงหไคล ๘ . วัดกลางเวียง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเวียงเชียงราย ในสมัยที่เรียกกันว่ายุคสถาปนานับตั้งแต่ พ . ศ . ๒๓๘๖ เป็นต้นมา ที่นับเนื่องเช่นนี้มาจากการที่เมืองเชียงรายเคยสร้างมาก่อน เป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ปี และถูกทับถมทำลายโดยธรรมชาติระหว่างที่รกร้างและได้มารับการบูรณะใน พ . ศ . ๒๓๘๖ เป็นต้นมาเมื่อเริ่มสร้างกำแพงเมืองเชียงราย พ . ศ . ๒๔๐๐ และแล้วเสร็จบริบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๑๗ การเฉลิมฉลองเมืองเชียงราย พ . ศ . ๒๔๑๘ ได้มีการเปลี่ยนจากวัด เดิม คือ จันทน์โลก หรือจั๋นต๊ะโลก มาเป็นวัดจันทน์โลกกลางเวียงซึ่งที่มาของ ชื่อกลางเวียงเพราะยุคนั้นวัดจันทน์โลกกลางเวียง คือศูนย์กลางของ เวียงเชียงราย เป็นที่ตั้งของ " สะดือเวียงเชียงราย " ๙ . วัดพระสิงห์ ( พระอารามหลวง ) วัดพระสิงห์ด้านหน้าติดถนนท่าหลวง ด้านข้างติดกับถนนสิงหไคล สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าพรหมได้มาครองเมืองเชียงราย ระหว่างปี พ . ศ . ๑๘๘๘ - ๑๙๔๓ สันนิฐานว่าวัดนี้คงสร้างในปี พ . ศ . ๑๙๒๘ คำว่าพระสิงห์ หมายถึงวัดซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์เป็นพระนาม พระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่ง เป็นพระนามของ พระพุทธรูปอันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ สงกรานต์ปีนี้ หลายคนอาจไม่มีความสุขกันนัก แต่วัฒนธรรมประเพณีไทย เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ควรรักษาให้คนรุ่นหลัง สืบสาน ประเพณี เชียงรายนับเป็นจังหวัดหนึ่ง ที่ยังคงรักษาประเพณี ที่ดีงาม และ การเล่นน้ำ อย่างสุภาพ และคิดว่าหลายจังหวัดก็เป็นเช่นนี้ เช่นกัน โดยเนื้อแท้ของนิสัยคนไทยแล้ว จะเป็นคนโอบอ้อมอารี มีเมตตา จึงคิดและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเป็นคนไทยและนิยามกับคำว่า สยามเมืองยิ้ม และมิตรไมตรีจะกลับมาเยือนทั่วไทยอีกครั้ง ไม่ว่าใครจะอยู่ฝ่ายไหน ก็อยู่ในผืนแผ่นดินไทยทั้งสิ้น ขอให้มีความสุขกันทุกท่านทุกคนค่ะ
ขบวนรถแห่นางสงกรานต์
ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง ที่เจียงฮาย
นักท่องเที่ยวกำลังสนุกสนานกับโฟม
นำทรายจากแม่น้ำกก ไปก่อพระเจดีย์ทราย
ก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระธาตุดอยทอง
พระเจดีย์ทรายที่ชาวบ้าน มาร่วมกันก่อขึ้น ทรายที่ได้วัดจะได้นำไปก่อสร้างต่อไป
พระสิงห์ พระคู่เมือง จังหวัดเชียงราย
หลังจากที่ขนทรายเข้าวัดแล้ว ประชาชนจะก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นในวัด ชาวบ้านนิยมนำยอดฉัตรหรือตุง มาปักบนยอดเจดีย์ทราย ส่วนมากนิยมใช้ตุงไทยหรือตุงไส้หมูมาปัก
สระน้ำวัดพระสิงห์
การขนทรายเข้าวัด เพื่อทำเป็นพระเจดีย์ทรายถวาย โดยยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ ส่วนผลที่ทางวัดจะได้รับคือทำให้วัดสะอาด สวยงาม นอกจากนั้นยังใช้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆได้อีกด้วย และคนโบรารยังถือว่าการขนทรายเข้าวัดนั้นเป็นการทดแทนทรายที่เราเหยียบย่ำออกไปเมื่อครั้งที่เรามาทำบุญ หรือมาทำพิธีต่างๆที่วัด
16 เมษายน 2553 16:15 น. - comment id 116556
ที่อยากรู้คือประวัติวัดพระแก้ว พระแก้วมรกตแตกออกมาจากเจดีย์ไหน เจดีย์นั้นยังอยู่หรือเปล่าใครเป็นคนสร้างวัดนี้ ตลอดจนการเดินทางของพระแก้วมรกตกว่าจะมาอยู่กรุงเทพฯ และอีกพระธาตุหนึ่งธาตุ ดอยเขาควายที่สนามบินเก่าสร้างนานหรือยังไม่เป็นที่นับถือหรือไง ที่ตอบในกลอนฝันดีไม่เห็นบอกว่ายินดีต้อนรับเลยนี่
16 เมษายน 2553 22:12 น. - comment id 116559
ประวัติวัดพระแก้ว เดิมเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่บริเวณนี้มีกอไผ่ชนิดหนึ่งคล้ายไผ่สีสุก แต่ไม่มีหนาม ชาวบ้านนิยมนำไปทำคันธนู และหน้าไม้ คงจะมีมากในบริเวณนี้ ชาวเชียงรายจึงเรียกว่า วัด ป่าเยี้ยะ หรือวัดป่าญะ ต่อมาในปี พ.ศ.1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเสียใหม่ว่า วัดพระแก้ว" ปัจจุบันชาวเชียงรายได้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหม่ขึ้นแทน เรียกว่าพระหยกเชียงราย หรือ พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล ซึ่งสร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ ครบ 90 พรรษา ตำนานพระแก้วมรกต ตามตำนานโบราณ (พระภิกษุพรหมราชปัญญา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้เมื่อ พ.ศ. 2272) ชื่อหนังสือรัตนพิมพวงศ์พระนาคเสนเถระเป็นผู้สร้างด้วยแก้วอมรโกฏิที่เทวดานำมาจากพระอินทร์นำมาถวาย ที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจจุบัน เมืองปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย) ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐ์สถาน ยังที่ต่างๆ ดังนี้ 1. เกาะลังกา 2. กัมพูชา 3. อินทาปัฐ (นครวัต) 4. กรุงศรีอยุธยา 5. ละโว้ (ลพบุรี) 6. วชิรปราการ (กำแพงเพชร) 7. เชียงราย (พ.ศ.1934-1979 ประดิษฐาน 45 ปี) 8. ลำปาง (พ.ศ. 1979-2011 ประดิษฐาน 32 ปี) 9. เชียงใหม่ (พ.ศ. 2011-2096 ประดิษฐาน 85 ปี) 10. เวียงจันทน์ (พ.ศ.2096 -2321 ประดิษฐาน 225 ปี) 11. กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2321-ปัจจุบัน) ปัจจุบันประดิษฐานอยุ่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พรบรมมหาราชวัง ได้รับพระราสชทานนามว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล เนื่องในมหามงคลสมัย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระเจริญมายุ 90 พรรษา จังหวัดเชียงรายได้จัดสร้าง พระพุทธรูปหยก ขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 ซม. สูง 65.9 ซม. สร้างด้วยหยก จากประเทศแคนาดา (มร. ฮูเวิร์ด โล เป็นผู้บริจาค) แกะสลักโดยโรงงานหยก วาลินนานกู มหานครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พระพุทธรูปหยกองค์นี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นองค์แทนพระแก้วมรกต เพราะพระแก้วมรกต ได้ถูกค้นพบ ณ พระเจดีย์วัดพระแก้วเป็นแห่งแรก (พ.ศ.1977) และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่ง พระองค์ท่านได้พระราชทานนามถวายว่า พระพุทธรตนากรนวุติวัสสานุสรณ์ แปลว่าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา และโปรดเกล้าให้เรียกนามสามัญว่า พระหยกเชียงราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 และจังหวัดเชียงราย ได้ประกอบพิธีแห่เข้าเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2534 ตอบพี่กฤษ์ค่ะ
16 เมษายน 2553 22:19 น. - comment id 116560
http://www.chiangraitouristpolice.com/travelView.php?id=5&aid=1 อ่านตามลิงค์นี้ค่ะเรื่องพระธาตุดอยเขาควาย
20 เมษายน 2553 11:04 น. - comment id 116676
จังหวัดเชียงรายเป็นของประเทศไทยค่ะพี่ฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ใครจะไปจะมาคนเชียงรายใจดีน่ารักทุกคน คงยินดีต้อนรับกันอยู่แล้ว เชียงราย ไม่ใช่ของกระต่ายนี่นา เป็นคนคนไทยทั้งประเทศค่ะ