การเสนอแนวความคิดในการวิเคราะห์สังคมแบบวัตถุนิยมวิภาษนี้ มีความมุ่งหมายที่จะล้มล้างแนวความคิดแบบจิตนิยม ซึ่งแยกจิตกับสภาพทางวัตถุออกจากกันโดยถือว่า จิตหรือความคิดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ และมีอยู่โดยอิสระโดยแยกออกจากสภาพทางวัตถุ วัตถุนิยมวิภาษเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่ดำรงอยู่นั้นเกิดขึ้นและพัฒนากฎการเคลื่อนไหวของวัตถุ นักคิดไทยในสำนักวัตถุนิยมวิภาษวิธี มีความเห็นว่าความคิดแบบจิตนิยมซึ่งเชื่อในความลึกลับของมนุษย์ไม่สามารถจะหยั่งรู้หรืออธิบายได้นั้นก่อให้เกิดการครอบงำทางความคิดที่ไร้เหตุผล ช่วยให้คนเชื่อในไสยศาสตร์และเกิดความงมงาย ข้อสำคัญก็คือ ทำให้คนเรามีความรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตและแก้ไขสภาพชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากผลของกรรมเก่า ความเชื่อที่มีรากฐานมาจากความคิดแบบจิตนิยม เป็นผลทำให้มนุษย์ไม่สามารถเชื่อมโยงความยากไร้ในสภาพชีวิตกับระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มีส่วนทำให้มีการกดขี่ขูดรีดประโยชน์จากประชาชนผู้งมงายของระบบสังคมนิยม ว่าเป็นสังคมที่พึงปรารถนาและเป็นกฎความเคลื่อนไหวที่ทุกสังคมจะบรรลุถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักคิดสำนักมาร์กซิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิตร ภูมิศักด์ (ในหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย) อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ (ในวิจัยสังคมไทย) ตลอดจนการวิเคราะห์สังคมไทยตามทัศนะของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สรุปความเห็นว่าสังคมไทยปัจจุบัน มีลักษณะเป็นสังคมกึ่งศักดินา-กึ่งเมืองขึ้น จากทัศนะดังกล่าวนี้ จึงได้มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นลักษณะเด่นของสังคมศักดินาไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยปลายสุโขทัยและดำเนินมาติดต่อกันโดยไม่ขาดตอนในสมัยอยธยา รัตนโกสินทร์ และในสมัยรัตนโกสินทร์ นับแต่การเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของสังคมไทย (โดยเฉพาะกรุงเทพ ฯ และเมืองใหญ่ ๆ ) ได้เข้าสู่ระบบทุนนิยม โดยที่อิทธิพลทางแนวความคิดความเชื่อของประชาชนยังคงถูกครอบงำโดยระบบศักดินา การอธิบายและตีความ ระบบศักดินา เป็นการตีความอย่างกว้างและพิจรรณาจากระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตทั้งหมดของสังคม สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์) มีความเห็นว่า ศักดินา นอกจากจะหมายถึงอำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากินซึ่งเป็นความหมายทางด้านเศรษฐกิจ และนอกจากจะหมายถึงอำนาจอิทธิพลของมนุษย์ที่มีมากหรือน้อยตามขนาด หรือปริมาณของที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน ซึ่งเป็นความหมายทางด้านการเมืองแล้วมันยังหมายคลุมไปถึงอำนาจที่กำหนดรูปแบบของชีวิตซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจในที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน ซึ่งเป็นความหมายในด้านวัฒนธรรมอีกด้วย การอธิบายลักษณะสังคมไทยว่าเป็นศักดินานั้นอาจแสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัดจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฐานะและตำแหน่งของบุคคลในสมัยอยุธยากับจำนวนการถือครองที่ดิน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระอัยการตำแหน่งนายทหาร และพลเรือน ( สมัยพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1998) แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าพระอัยการศักดินา กำหนดที่ดินตามที่มีการถือครองเป็นเจ้าของอยู่จริง หรือเป็นเพียงแต่ กฎหมายลม กล่าวคือ ผู้ถือศักดินาอาจไม่ได้มีที่ดินเป็นจำนวนมากเท่ากับที่มีปรากฎอยู่ในพระอัยการดังกล่าวนั้นจริง แต่ที่แน่ชัดก็คือ ระบบศักดินาสมัยอยุธยาเป็นวิธีการกำหนดฐานะ สิทธิ และหน้าที่ของบุคคลในสังคม โดยมีลำดับชั้น และความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิและหน้าที่ ผู้มีศักดินาเกินกว่า 400 ไร่ขึ้นไป ถือว่าเป็นขุนนาง หรือผู้ดี ส่วนผู้มีศักดินาต่ำกว่านั้นถือว่าเป็นไพร่ สิทธิพิเศษของขุนนางที่มีเหนือไพร่ก็คือ การที่ตัวขุนนางและครอบครัวไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อมีคดีความก็สามารถแต่งทนายไปว่าความแทนได้ และมีสิทธิเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักคิดสำนักมาร์กซิสต์สนใจที่จะชี้ให้เห็น ไม่ใช่ลักษณะศักดินาทางเศรษฐกิจซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถจะเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากวิวัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการขยายตัวในกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินมากขึ้น โดยมิได้มีที่ดิน ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือคน ๆ เดียว หรือชนกลุ่มเล็ก เหมือนกับแต่ก่อน หากเป็นทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่อ ซึ่งเป็นผลอันเกิดจากระบบศักดินาทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่น ระบบศักดินาทางเศรษฐกิจซึ่งมีวิวัฒนาการอันยาวนาน และมีความต่อเนื่องตลอดมานับแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีผลทำให้คนในสังคมไทยแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ขุนนาง และราษฎรทั่วไป อำนาจของขุนนางและอิทธิพลของระบบราชการสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ครอบคลุมสังคมไทยโดยไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงไปได้ ดังที่มีผู้กล่าวว่าผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้ใจคนในสังคมนั้นผูกมัดอยู่กับราชการแต่อย่างเดียว เมื่อคิดจะหาดีก็หาดีในราชการนั้น เมื่อมีความทุกข์ร้อนหรือเกิดปัญหาอย่างใด สิ่งแรกที่คิดคือให้ทางราชการเข้ามาช่วยเหลือตนไม่คิดที่จะช่วยตนเองหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นให้ลุล่วงไปด้วยตนเองหรือด้วยปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของทางราชการ สภาพจิตใจเช่นนี้เป็นสภาพจิตใจของสังคมสมัยอยุธยาเป็นผลจากระบอบสังคมของอยุธยา แต่ถ้าหากว่าจะพิจารณาดูสังคมไทยในปัจจุบันให้ดี ๆ แล้ว บางทีก็อาจจะเห็นว่าความเป็นไปในสังคมและสภาพจิตใจแห่งสังคมไทยในปัจจุบัน ก็ยังมิได้เปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อราชการไทยในปัจจุบันนั้นยังครอบคลุมสังคม และยังมีอำนาจเหนือสังคมอย่างหนักแน่นไม่น้อยไปกว่าสมัยอยุธยาเท่าใดนัก ระบบเศรษฐกิจและการเมืองดั้งเดิมที่อำนาจสิทธิ์ขาดตกอยู่ในมือคน ๆ เดียว หรือคนกลุ่มน้อยได้สร้างวัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคมที่สนับสนุนฐานะทางอำนาจและระบบนั้นไว้ด้วยเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงของระบบระยะยาว ความเชื่อ และประเพณีนิยมหลายอย่างของไทย มีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อระบบการปกครองที่มีศูนย์อำนาจอยู่กับบุคคลกลุ่มเล็กและสอดคล้องกับการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ความคิดและความเชื่อที่แพร่หลายอยู่มากกว่า คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกันนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากชีวิตในภพก่อน ซึ่งตามติดมากำหนดสภาพชีวิตและฐานะของบุคคลแต่ละคนในปัจจุบัน ( กรรม - พรหมลิขิต ) เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมหมายความต่อไปว่า ความไม่เท่าเทียมกันนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของแต่ละคนที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ โครงสร้างทางสังคมตามระบบศักดินา จึงมีการกำหนดฐานะและบทบาทของบุคคลต่าง ๆ ขึ้นไว้ในทางกฎหมาย (ตามพระอัยการศักดินา) และฐานะทางกฎหมายนี้ถูกจรรโลงไว้และปลอดจากการท้าทายจากกลุ่มชนที่เสียเปรีบยโดยระบบค่านิยมและความเชื่อบางอย่าง ความคิดความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้มีผู้เรียกว่า อุดมการณ์ศักดินา ซึ่งมีส่วนสร้างนิยมหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นปกครอง เช่น การย้ำเรื่องความกตัญญูรู้คุณ การเชื่อมั่นในประเพณีเดิม โดยไม่ตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่มีอยู่และถือปฏิบัติกัน หรือเชื่อกันต่อ ๆ มา การมีชีวิตโดยไม่ดิ้นรนต่อสู้ เพราะถือว่าไม่สามารถจะกำหนดวิถิชีวิตของตนเองได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไร้อำนาจในการต่อรองกับรัฐบาล (sense of powerlessness) และความรู้สึกที่แยกตัวเองออกจากภาวการณ์ทางสังคมและการเมือง (alienation) ความไม่ยินดียินร้ายในกิจการของบ้านเมือง (political apathy) ความคิดความเชื่อหรือ อุดมการณ์ศักดินา ดังกล่าวนี้ถูกย้ำให้เห็นจริงโดยสภาพชีวิตในสังคมไทย ซึ่งเป็นชีวิตชนบทที่ทำมาหากินขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่อำนาจรัฐและกลุ่มชนชั้นสูงมีการจัดระเบียบองค์การที่รัดกุมแน่นหนา มีการควบคุมกำลังคนและกำลังอาวุธที่เข้มแข็งกว่าประชาชนที่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยส่วนรวม อำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นผลิตผลของระบบศักดินาทางเศรษฐกิจ (ซึ่งมีความหมายถึงการควบคุมกำลังคนอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด สำหรับระบบเศรษฐกิจยุคที่วิทยาการยังไม่ก้าวหน้า) จึงคงตัวอยู่ได้โดยมีความต่อเนื่อง ปราศจากการท้าทาย มีแต่จะดูดซึมเอาพลังต่อต้านที่ก้าวหน้าเข้ามาผนึกเป็นกำลังสำคัญ ให้แก่ระบบงานมากกว่าที่จะปล่อยให้พลังงานนั้นก่อตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและมีความสามารถในการล้มล้างระบบเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้ของอุดมการณ์ใหม่ซึ่งท้าทายระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงมุ่งเข้ามาสู่การทำลายระบบความเชื่อและค่านิยมดั้งเดิมในระดับของการเรียกร้องให้มีการ ปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์อันไม่พึงปรารถนา ซึ่งเกิดจากการยึดมั่นหรือการติดอยู่กับความคิดเก่าเป็นอันดับแรก แทนที่จะเร่งล้มล้างระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเมืองก่อน เพราะนักคิดสำนักมาร์กซิสต์ได้มองเห็นบทเรียนประวัติศาสตร์แล้วว่าการเปลี่ยนอำนาจรัฐจากผู้ถืออำนาจเดิม (กษัตริย์) มาสู่กลุ่มนักปฏิวัติใหม่ยังไม่เกิดขึ้นนั้น เป็นการปฏิวัติที่มีมิติทางการเมืองแต่เพียงด้านเดียว และยิ่งนานวันเข้าสภาพสังคมและระบบความเชื่อดั่งเดิมที่ยังไม่ถูกกระทบกระเทือนย่อมก่อตัวเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนระบบการเมืองให้กลับกลายไปสู่ลักษณะเดิม เช่น การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ซึ่งนักคิดสำนักมาร์กซิสต์มีความเห็นว่ามีลักษณะการปฏิวัติแบบประชาธิปไตย ของชนชั้นนายทุนที่พ่ายแพ้ เพราะในที่สุดอำนาจรัฐต้องตกไปอยู่ในมือของชนชั้นเจ้าที่ดินศักดินาและขุนศึกรุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว ความคิดชี้นำของปรีดี พนมยงค์ ในคณะก่อการเสื่อมบทบาทลงโดยเร็ว และอิทธิพลของปัญญาชนแห่งชนชั้นนายทุนชาติในอำนาจรัฐตกต่ำลงโดยเร็ว บทเรียนจากประวัติศาสตร์ทำให้นักคิดสำนักมาร์กซิสต์ตระหนักว่าการยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธก่อนแล้ว จัดเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจใหม่โดยวิธีการของสังคมนิยมซ้ายจัด โอนกิจการทางเศรษฐกิจเป็นของรัฐ ล้มล้างกรรมสิทธิเอกชน ฯลฯ นั้น พลังต่อต้านที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การต่อต้านด้วยกำลังอาวุธจากผู้เสียอำนาจ แต่เป็นพลังต่อต้านซึ่งเกิดจากระบบความเชื่อ วิธีคิด และทัศนคติแบบดั้งเดิม ซึ่งยังมีอิทธิพลอยู่ ดังนั้นทิศทางใหม่ของนักคิดฝ่ายซ้าย จึงไม่ใช่ การปลดปล่อยประชาชนทางการยึดอำนาจรัฐ แต่เป็น การสร้างความสำนึกใหม่ สร้างระบบความเชื่อ และค่านิยมใหม่ ซึ่งเป็น การปลดปล่อยทางวัฒนธรรม ยุทธวิธีปลดปล่อยประชาชนทางวัฒนธรรมนี้ เป็นวิธีการที่เหนือกว่าการต่อสู้ทางอาวุธย่อมได้รับการต่อต้านทางอาวุธจากรัฐ แต่การปลดปล่อยทางวัฒธรรม อาจทำได้โดยผู้ถืออำนาจรัฐมีข้อจำกัดในการปราบปราม เพราะอาจดำเนินการไปได้ควบคู่กับการพัฒนาทางการเมืองซึ่งผู้ใช้อำนาจรัฐเองต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น เช่น การให้เสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงความคิด การให้สิทธิทางการรวมกลุ่มและเผยแพร่ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นต้น การปลดปล่อยทางวัฒนธรรมดำเนินได้ในหลายระดับ กับประชาชนหลายกลุ่ม และมีการต่อเนื่อง เช่นในด้านการศึกษา ในด้านการท้าทายวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งรวมตลอดถึงศิลปวรรณกรรมทางด้านการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ( กรรมกร ชาวนา ) ทางการเมืองทั้งระดับพรรคและในระบบ (รัฐสภา) ในขณะเดียวกันการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเมื่อแพร่หลายขยายตัวออกไปประกอบกับการเปลี่ยนแปลงจากลัทธิเผด็จการเข้าสู่ประชาธิปไตย ทำให้ยุทธวิธีต่อสู้สามารถทำได้ทั้งในระบบและนอกระบบ (การปลดปล่อยโดยการใช้กำลังอาวุธ) การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์มาร์กซิสต์ กับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยในสังคมไทย ปัจจุบันเป็นการต่อสู้ทางแนวความคิด การเปลี่ยนระบบความคิดและความเชื่อ รวมตลอดไปถึงวิธีการที่ใช้ในการต่อสู้นั้นด้วย นับเป็นระยะแรกในประวัติการเมืองไทยที่การต่อสู้ดังกล่าวก่อตัวให้เห็นอย่างเด่นชัดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คำประกาศของเสรีนิยม ของชุมนุมพระพุทธศาสน์และวัฒนธรรมไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นถึง แนวทางการปลดปล่อยทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน คือ เยาวชนนักเรียนต้องตระหนักชัดว่าเสรีภาพในโรงเรียนนั้นก็หาใช่ได้มาด้วยการวิงวอนขอต่ออาจารย์ระดับบริหารไม่ ตรงกันข้ามจะได้มาก็ด้วยการที่เยาวชนนักเรียนผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นแล้วเข้าประสานกับประชาชนทำการต่อสู้เพื่อโค่นล้มทำลายระบบสังคมที่เหลวแหลกเน่าเฟาะและปฏิกิริยาลงเท่านั้น จึงสามารถสถาปนาสังคมใหม่ที่มีเอกราชและมีเสรีอย่างแท้จริง. และ ณ ที่นี้ คำประกาศสงครามได้เริ่มขึ้น นับตั้งแต่การต่อสู้ในระบบการศึกษาของผู้กดขี่เราถูกยัดเยียดให้ แน่นอนเสียงประสานรับจะดังก้องทั่วไป ในเมืองไทย ในท้องทุ่งนาและในโรงงาน พลังของประชาชนและเยาวชนเท่านั้นที่จะกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง การต่อสู้อุดมการณ์ทางฝ่ายซ้ายในแนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรมและระบบความคิดนี้ได้เคยมีขึ้นอย่างประปรายในระหว่างปี พ.ศ. 2490-2500 โดยนักคิดนักเขียนจำนวนน้อยและอยู่ในวงจำกัด (เช่น ศรีบูรพา, เสนีย์ เสาวพงศ์, สุภา ศิริมานนท์, นายผี, เปลื้อง วรรณศรี, ทั้งที่เป็นผลงานในรูปหนังสือกวีนิพนธ์และบทความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อักษรสาส์น ต่อมาในระยะหลังมี จิตร ภูมิศักดิ์ เข้าร่วมอยู่ด้วย การเคลื่อนไหวทางแนวความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอยู่บ้างในหมู่นิสิตนักศึกษา แต่ได้ขาดตอนไปเพราะผู้นำทางความคิดหลายคนถูกกวาดล้างจับกุมในสมัยต่อมาหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ครองอำนาจ การเคลื่อนไหวทางความคิดในปัจจุบัน มีลักษณะของการกลับไปฟื้นฟูความคิดก้าวหน้าในสมัย 2490 - 2500 งานหลายชิ้นของนักคิดก้าวหน้ารุ่นเก่าได้ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่เฉพาะหลังตุลาคม 2516 เป็นเวลานานพอสมควรก่อน 2516 และอาจกล่าวได้ว่า แนวความคิดเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อผู้นำนิสิตนักศึกษาที่เป็นแกนนำการปฏิวัติในเดือนตุลาคม 2516 ในปัจจุบันการเคลื่อนไหวทางแนวความคิดขยายขอบเขตมากขึ้นกว่าเดิม ครอบคลุมไปในเขตชนบทด้วย และมีวิธีการเผยแพร่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีแนวทางแตกต่างไปจากแนวความคิดก้าวหน้าทางประชาธิปไตย กล่าวคือ ในขณะที่แนวความคิดประชาธิปไตยจำกัดวงอยู่เฉพาะการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แนวควมคิดก้าวหน้าของฝ่ายซ้ายย้ำการปฏิวัติวัฒนธรรมและความคิดควมเชื่อแบบดั้งเดิมเป็นลำดับแรก (มีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมในสาธารณรัฐประชาชนจีน ของขบานการย่ามแดง คือ มุ่งทำลายล้างของเก่าสี่ประการคือ ประเพณีเก่า วัฒนธรรมเก่า ความคิดเก่า และทัศนะนิสัยเก่า ๆ ) ในเอกสารประกอบนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมทาส ซึ่งชุมนุมวรรณศิลป์ อมช. ฝ่ายวัฒนธรรม อมช. และแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ผู้จัดได้กำหนดขอบเขตของเรื่องไว้ดังนี้ ลักษณะของเรื่องในนิทรรศการ ถือเอาหลักเกณฑ์การวิวัฒนาการในทางชนชั้นเป็นลำดับ โดยเน้นเนื้อหาที่ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ถูกยัดเหยียด ถูกมอมเมาความคิด ถูกกดให้เป็นทาสและชนชั้นต่ำอย่างไร ชี้ให้เห็นถึง ศิลปวัฒนธรรมของฝ่ายชนชั้นปกครองทั้งศักดินา ทุนนิยม และจักรวรรดินิยมที่พยายามให้ชนชั้นผู้ถูกปกครองยอมรับ และชี้ให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมที่ชนชั้นผู้ถูกปกครอง ผู้ถูกกดขี่สร้างขึ้นเองเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานในการสร้างอำนาจแก่คนส่วนใหญ่เพื่อขุดโค่นวัฒนธรรมอันสกปรกโสมมและล้าหลัง แล้วสถาปนาศิลปวัฒนธรรมแห่งมวลชนในสังคมแห่งความเท่าเทียมกัน ในบทนำของเอกสารนี้ผู้จักทำมีความเห็นว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะมีศิลปวัฒนธรรมของประชาชนอย่างแท้จริง ขึ้นมาได้ก็ต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐให้อยู่ในกำมือของประชาชนก่อนเท่านั้น 3. การสร้างแนวร่วมพันธมิตร การแพร่หลายอุดมการณ์และดำเนินมาร์กซิสต์เข้าสู่เป้าหมายในไทย ให้บรรลุถึงเป้าหมายของอุดมการณ์ การท้าทายทางอุดมการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นการท้าทายของอุดมการณ์มาร์กซิสต์ ซึ่งมีลักษณะการจัดตั้งองค์การนำเพื่อแพร่ขยายอุดมการณ์ที่เข้มแข็ง และดำเนินการหลายระดับ ทั้งด้านการต่อสู้ทางกำลังอาวุธกับการต่อสู้ทางความคิดเพื่อล้มล้างระบบความเชื่อดั้งเดิมที่หล่อเลี้ยงระบบการปกครองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน การมีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ลักษณะทางชนชั้น การพิจารณาบทบาท ภารกิจ ภววิสัย และทัศนะวิสัยของชนชั้นต่าง ๆ แล้วจึงแยกแยะส่วนที่จะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการแพร่ขยาย และปฏิบัติตามเป้าหมายของอุดมการณ์ พร้อมกับโจมตีต่อสู้กับส่วนที่เป็นศัตรูขัดขวางการแพร่ขยายอุดมการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นพลังนำไปปฏิวัติ มีความเห็นว่าฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องกำหนดบทบาทของชนชั้นต่าง ๆ โดยแบ่งแยกกลุ่มคนในสังคมออกเป็น 1. จักรพรรดินิยม ชนชั้นเจ้าที่ดิน ชนชั้นนายทุนขุนนาง และนายทุนนายหน้า 2. ชนชั้นนายทุนชาติ 3. ชนชั้นนายทุนน้อย แบ่งออกเป็น ปัญญาชน เยาวชน นักเรียนนักศึกษา ชาวเมืองที่ยากจน พนักงาน หัตถกรรม เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ค้าน้อย 4. ชนชั้นชาวนา 5. ชนชั้นกรรมมาชีพ การวิเคราะห์ลักษณะของชนชั้นต่าง ๆ เป็นการพิจารณาทางด้านความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของชนชั้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับความพยายามที่จะแพร่ขยายอุดมการณ์และหาวิธีการในการจัดตั้งแนวร่วมพันธมิตรโดยวิเคราะห์ถึงด้านบวกและด้านลบของชนแต่ละชั้น แล้วหาประโยชน์จากคุณลักษณะด้านบวก พร้อมกับต่อสู้กับคุณลักษณะด้านลบ เช่น โดยธาตุแท้แล้ว จักรพรรดินิยม ชนชั้นเจ้าที่ดิน ชนชั้นนายทุน ขุนนาง และนายทุน นายหน้าเป็นเป้าหมายของการปฏิวัติมิใช่เป็นกำลังดันของการปฏิวัติ แต่ในบางระยะของการปฏิวัติเราอาจใช้ความขัดแย้งระหว่างพวกเขา ให้เป็นประโยชน์ หรืออาจร่วมมือกับบางส่วนของพวกเขาได้ (ตามหลักยุทธวิธีช่วงชิงส่วนมากโจมตีส่วนน้อย ใช้ความขัดแย้งทำลายทีละส่วน) เพื่อทำลายศัตรูสำคัญเฉพาะหน้าและเพื่ออำนวยความสะดวกบางอย่างแก่การขยายกำลังชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนาและนายทุนขุนนางและนายทุนนายหน้าบางส่วน ในขอบเขตที่เป็นผลต่อการทำลายศัตรูสำคัญเฉพาะหน้า และเป็นผลดีต่อการขยายกำลังพื้นฐาน...... สำหรับชนชั้นนายทุนชาตินั้น โดยลักษณะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งต้องพึ่งจักรพรรดินิยม ศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนางในด้านการจัดหาวัตถุดิบ เครื่องจักร เงินกู้ ในขณะเดียวกัน ก็ทำการค้าลงทุนโดยขูดรีด กดขี่ ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นนายทุนชาติจึงมีลักษณะโลเลและประนีประนอม ด้านหนึ่งก็ไม่พอใจจักรพรรดินิยม ศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนาง ด้านหนึ่งก็อยากได้ประชาชนเพื่อเป็นเครื่องมือ สำหรับช่วงชิงอำนาจชนชั้นจักรพรรดินิยม ศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนาง แต่ก็ยังหวาดกลัวประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้กำหนดยุทธวิธีในความสัมพันธ์กับชนชั้นนี้ว่า จะต้องดำเนินนโยบายสองหน้าให้สอดคล้องกับลักษณะสองหน้าของนายทุนชาติ กล่าวคือ ยอมให้ชนชั้นนี้เข้าร่วมการปฏิวัติได้ แต่ไม่อาจให้นำการปฏิวัติได้และพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องใช้นโยบายสองด้านที่ต้องมีทั้งสามัคคีทั้งต่อสู่กับชนชั้นนี้ ชนชั้นนายทุนชาติมีลักษณะสองหน้า หน้าหนึ่งมีลักษณะปฏิวัติ อีกหน้าหนึ่งมีลักษณะโลเลประนีประนอม ลักษณะสองหน้าของชนชั้นนายทุนชาติ กำหนดให้บางระยะชนชั้นนายทุนชาติอาจเข้าร่วมการปฏิวัติ เป็นกำลังดันของการปฏิวัติได้ แต่บางระยะก็อาจหันหลังให้แก่การปฏิวัติ เดิมตามพวกปฏิกิริยาได้เช่นกัน ลักษณะสองหน้าของชนชั้นนายทุนกำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องใช้นโยบายสองด้านที่ทั้งสามัคคี ทั้งต่อสู้กับชนชั้นนายทุนชาติ สามัคคีกับลักษณะปฏิวัติของพวกเขาต่อสู่กับลักษณะโลเลประนีประนอมของพวกเขา มีแต่สนใจต่อสู้กับลักษณะโลเลประนีประนอมของชนชั้นนายทุนชาติเท่านั้น ความสามัคคีจึงจงคงอยู่ ถ้าเอาแต่ประนีประนอมความสามัคคีก็จะแตก การปฏิบัติก็จะพ่ายแพ้ 3.1 ชนชั้นนายทุนน้อย ชนชั้นนายทุนน้อยเฉพาะชาวนาที่ยากจน พนักงานชั้นผู้น้อย หัตถกรรมและผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ค้าน้อย เป็นพันธมิตรกับชนชั้นกรรมาชีพ เพราะโดยสภาพทางเศรษฐกิจแล้วชนชั้นนี้ได้รับการกดขี่ขูดรีดจากจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง แต่ก็ไม่อาจจะเป็นพลังนำมาในการปฏิวัติได้ เพราะขาดความสามัคคี ขาดถาวรกลุ่มจัดตั้งและขาดวินัย นอกจากนั้นยังมีความโลเลอีกด้วย ชนชั้นนายทุนน้อย ประเภท ปัญญาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษาโดยทั่วไปแล้วก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน กล่าวคือ ถูกกดขี่ ขูดรีดจากจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยม ขุนนาง (ในระยะหนึ่ง) พวกนี้ขาดเสรีภาพในการพูดการเขียน การพิมพ์ การชุมนุมและการตั้งสมาคมจึงไม่พอใจในสภาพสังคม ปัญญาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษามีความรู้สึกไวต่อการเมือง มีลักษณะเร่าร้อนสูง (โดยเฉพาะเยาวชน) ซึ่งในหลายโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นกองหน้าและสะพานเชื่อของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ชนชั้นนี้แบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งเป็นบุตรหลานของครอบครัวที่ยากจน จึงสามารถใกล้ชิดกับชนชั้นกรรมกรชาวนาได้ง่าย อีกส่วนหนึ่งนั้นแม้จะเป็นลูกหลานของชนชั้นขูดรีด แต่ระหว่างเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนก็ไม่ได้มีประสบการณ์หรือเข้าร่วมการขูดรีดของครอบครัว เมื่อเรียนจบแล้ว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายแรงงานทางสมอง ดังนั้นก็อาจใกล้ชิดชนชั้นกรรมกรชาวนาได้เช่นกัน แม้ว่าชนชั้นนี้จะมีลักษณะที่อาจใช้เป็นประโยนชน์ในการปฏิบัติได้ แต่ก็มีจุดอ่อนหลายประการ ซึ่งจุดอ่อนนี้เกิดจากลักษณะและอิทธิพลของระบบค่านิยมดั้งเดิมของสังคม คือ 1. มีแต่ทฤษฎีแต่เหินห่างจากการปฏิบัติ ในระยะเวลาที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเสียสละเพื่อรับใช้ประชาชน ยังไม่มีโอกาสหล่อหลอมตัวเองในการต่อสู้ของประชาชน และยังไม่ได้รับการเปลี่ยนรสนิยมและวิถีชีวิตให้เป็นแบบเดียวกับชาวนาและกรรมกร ความคิดของปัญญาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษามักว่างเปล่า เพ้อฝัน และมักดูถูการใช้แรงงาน 2. มีจิตใจโลเล สืบเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแตกต่างกับชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นกรรมกาชีพไม่มีปัจจัยการผลิต ไม่มีข้อกังวลในการต่อสู่ กล่าวคือ ไม่มีทางออก แต่ปัญญาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษามีทางออกส่วนตัว ดังนั้นเมื่อการต่อสู่ประสบอุปสรรค จึงมักจะโลเลท้อแท้ เฉื่อยชา และสู้เป็นพัก ๆ ในระยะที่การต่อสู้ราบรื่น ไม่มีอุปสรรค ก็มักจะเอียงไปอีกทางหนึ่ง หรือระมัดระวังตัวจนไม่กล้าทำอะไรเลย 3. มีลักษณะบูชาลัทธิวีรชนเอกชน คือ นิยมชมชอบในตัวผู้นำ แทนที่จะต่อสู้ บูชาสัจจธรรมของชนชั้น มีความเชื่อมั่นในความรู้ภูมิปัญญาของตนเอง ดูถูกผู้อื่น 4. มีลักษณะโน้มไปในทางชอบเสรี ขาดลักษณะสามัคคี และลักษณะวินัย มีความรู้สึกว่าวินัยเป็นเครื่องผู้มัดบุคคลิกภาพของตน 3.2 ชนชั้นชาวนา ชนชั้นชาวนาประกอบไปด้วยชาวนาหลายประเภท หลายชั้น ไม่มีชนชั้นที่มีเอกภาพกล่าวคือมีทั้งชาวนารวย ชาวนากลาง ชาวนาจน และชาวนารับจ้าง ชาวนาจนและชาวนารับจ้างมีจำนวนมากที่สุด วิธีการที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้ในการสร้างแนวร่วมในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวนาเป็นวิธีการที่เกิดจากการวิเคราะห์ลักษณะของชาวนาแต่ละระดับความเป็นอยู่ กล่าวคือ พยายามมุ่งเข็มไปที่ชาวนารับจ้างให้มากที่สุด เพราะชาวนารับจ้างไม่มีที่ดิน ไม่มีเครื่องมือการผลิต ไม่มีทุนหมุนเวียน ต้องขายแรงงานและไม่ขูดรีดใคร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นขาดหลักประกัน และไม่มีฐานะทางการเมืองเลย ชาวนารับจ้างจึงเป็นพันธมิตรที่สามารถให้ความไว้วางใจได้มากที่สุด อย่างไรก็ดีในการปลดปล่อยประชาชนนั้น จะต้องมีการสร้างพันธมิตรระหว่างชาวนาและกรรมกรอย่างแน่นแฟ้น โดยการวางแนวทางการสร้างพันธมิตรตามลักษณะของกลุ่มชาวนา แต่ละระดับคือ เดินแนวทางชนชั้นในชนบทที่อาศัยชาวนาจน ชาวนารับจ้าง สามัคคีชาวนากลาง ดึงชาวนารวย โจมตีเจ้าที่ดินอย่างเข้มงวด การสร้างความสำนึกทางชนชั้น และการแสวงหาพันธมิตรร่วมข้ามชนชั้น ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้พยายามกระทำมาตลอดเวลานับตั้งแต่การก่อตั้งพรรค ในปี พ.ศ. 2548 เป็นงานที่ยากลำบากยิ่งและจะต้องใช้เวลาอันยาวนาน แม้ว่าวิธีการต่อสู้ล้มล้างระบบสังคมดั้งเดิมจะใช้การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และสภาพทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจอย่างรอบคอบและมีระบบมีเป้าหมายที่แน่ชัด แต่พลังความคิดเก่าแก่ที่มีความต่อเนื่องมาเป็นเวลาพัน ๆ ปีในสังคมไทยทำให้อุดมการณ์ใหม่อย่างอุดมการณ์มาร์กซิสต์ ซึ่งเพิ่งจะเกิดในสังคมไทยและไม่สามารถจะทำทางเผยแพร่ได้อย่างเต็มที่ในระยะแรก ๆ เพราะรัฐบาลใช้วิธีปราบปรามผู้มีความคิดล้างหน้าอย่างรุนแรงจนแนวความคิดทางสังคมนิยมนี้ขาดความต่อเนื่องไปในระยะหนึ่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ และยุคต้นของจอมพลถนอม) ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จึงมีการทบทวน เป้าหมายและนโยบายอยู่เสมอโดยพยายามต่อสู้ภายในขอบเขตอันจำกัด และเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลในสมัยต่าง ๆ เป็นผู้กำหนดและพรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายเลือกยุทธโยบายในการท้าทายเฉพาะส่วน ดังที่พรรคคอมมิวนิสต์เองได้ให้ความเป็นไว้ว่า เนื่องจากศัตรูของการปฏิวัติประเทศไทยใหญ่โต เข้มแข็งและเหี้ยมโหด ทำให้การปฏิวัติประเทศไทยต้องคดเคี้ยว บางระยะคลื่นสูง บางระยะคลื่นต่ำ บางระยะรุก บางระยะถอย บางระยะเสมอ คำขวัญอย่างหนึ่ง บางระยะเสมอคำขวัญอีกอย่างหนึ่ง บางระยะใช้รูปการจัดตั้งและวิธีการต่อสู้อย่างหนึ่ง บางระยะใช้รูปการจัดตั้งและวิธีการต่อสู้อีกอย่างหนึ่ง บางระยะคัดค้านจักรพรรดินิยมเป็นจุดหนัก (เช่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) บางระยะคัดค้านศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนางเป็นจุดหนัก (ระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ขึ้นครองอำนาจ) และบางระยะก็คัดค้านทั้งจักรพรรดินิยมศักดินาและทุนนิยมขุนนาง พร้อมกันไป.... จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ จะเป็นได้ว่าในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีอุดมการณ์มาร์กซิสต์ เป็นแกนความคิดนำที่เคร่งครัด เป็นสัจจธรรม แต่วิธีการหรือยุทธวิธี ซึ่งทำให้บรรลุถึงเป้าหมายที่บรรจุอยู่ในแกนความคิดนำนั้นมีลักษณะยืดหยุ่น ปรับวิธีการให้เข้ากับสภาพทางเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นระยะ ๆ และแยกเข้าซึมลึกในส่วนของสังคมทุกระดับ ในแง่นี้ อุดมการณ์มาร์กซิสต์ซึ่งต่อมาได้รับอิทธิพลทางด้านยุทธวิธีมาจาก เมาเซตุงในระยะหลัง ๆ จึงเป็นอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่มีอยู่อันแน่วแน่ อุดมการณ์สามารถแปรรูปออกเป็นเป้าหมายที่แน่นอนเด่นชัด และย้ำการปฏิบัติการมากกว่าทฤษฎีอันเลื่อนลอยที่ขาดมิติทางการปฏิบัติ เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะเสียเปรียบในด้านการถูกจำกัดขอบเขตปฏิบัติการทางกฎหมาย แต่แนวทางเข้าถึงมวลชน ทำให้พรรคมีโอกาสที่จะช่วงชิงประชาชนได้มากกว่าพรรคการเมืองในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แม้ว่าการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในระยะต้นจะมีลักษณะสุ่มเสียงเร่งร้น และข่มขู่ด้วยการคุกคามชาวบ้านโดยที่ไม่มีการเดินแนวทางมวลชน วางแผนและศึกษาสภาพความเป็นไปของหมู่บ้านโดยละเอียดรอบคอบเสียก่อนก็ตาม แต่ในระยะต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนวิธีการเข้าถึงมวลชนและลดความใจร้อนลง หันมาใช้ยุทธวิธีสงครามยืดเยื้อรอคอยเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป การพยายามเอาชนะใจชาวบ้านในเขตต่าง ๆ เป็นไปอย่างช้าง ๆ มีขั้นตอนและได้ผลมากขึ้นจนในปัจจุบันมีรายงานฉบับหนึ่งกล่าว่า การต่อสู่ด้วยกำลังอาวุธกระจายไปถึง 38 จังหวัด นับรวมได้ 76 อำเภอ จากถ้อยคำของสมาชิกแนวร่วมรักชาติ (น.ร.ท.) ซึ่งเป็นองค์การมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2508) ได้ยืนยันว่า เดี๋ยวนี้เราติดต่อประสานงานกันโดยผ่านทางกรุงเทพฯ เขตของเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่เราควบคุมเวลากลางคืน (1 ใน 8 ของภาคอีสาน 1 ใน 10 ของภาคเหนือ และ 1 ใน 20 ของภาคใต้) และประเภทที่เราควบคุมอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่ใช่เขตที่เราถือว่าเป็นเขตปลดปล่อย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบาลยังเข้ามาได้ ซึ่งที่จริงกว่าจะเข้ามาได้ก็ต้องมีกำลังคุ้มกันอย่างแน่นหนา ว่ากันไปแล้วทางการควบคุมเขตเหล่านี้ไม่ได้เลย เก็บภาษีก็ไม่ได้เกณฑ์ทหารก็ไม่ได้ นอกจากนั้นชาวบ้านยังไม่ให้ความร่วมมือ.... ในขณะนี้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเขตปลดปล่อยแล้วในหลายส่วนของประเทศ จนถึงกับเริ่มมีการจัดระบบการบริหารเขตเหล่านั้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คืออำเภอหนึ่ง ๆ มี 3 หมู่บ้าน จังหวัดหนึ่ง ๆ มี 3 อำเภอ ภาคหนึ่ง ๆ มี 3 จังหวัด การบริหารเหล่านี้มีคณะกรรมการภายใต้การนำของเลขาธิการพรรค สมุดปกขาวของกองอำนวยการป้องกันและปราบปามคอมมิวนิสต์ ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2515 เปิดเผยชื่อผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่ามีบุคคล เช่น สง หรือทรง นพคุณ เจริญวรรณงาม, พโยม จุฬานนท์, อุดม ศรีสุวรรณ, วิรัช อังคถาวร, อัศนีย์ พลจันทร์, ประสิทธิ เทียนศิริ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้มีอายุอยู่ในวัย 50 ปี และส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเท่าใดนัก (เว้นแต่ เปลื้อง วรรณศรี และอัศนีย์ พลจันทร์ เป็นนักคิด นักเขียน และกวีที่มีผลงานปรากฏอยู่ในช่วง พ.ศ. 2490-2495) การเปิดเผยชื่อผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ นายทรง นพคุณ นี้ ทำให้เกิดความรู้สึกประมาณกำลังของพรรคและความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ นางทรง นพคุณ นี้ ทำให้เกิดความรู้สึกประมาทกำลังของพรรคและความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในหมู่ผู้มีบทบาทหน้าที่ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และแม้แต่ในนักเขียนที่สนใจเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า เมื่อสำรวจดูรายชื่อคนสำคัญของพรรคแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลที่จะจัดได้ว่ามีชื่อเสียงหรือเป็นผู้นำ เป็นปัญญาชนพอที่จะเทียบได้กับคนอย่าง โฮจิมินห์ หรือ เมาเซตุง เลยแม้แต่คนเดียว และสรุปว่าขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่มีความสำคัญอะไรมากมายนัก นอกจากเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ในชนบทเท่านั้น เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ของ กอ.ปค. หรือ กอ.รม.น. ใหม่นี้ คงไม่รู้ว่าบุคคลชั้นสมองของพรรค คือ อัศนีย์ พลจันทร์ เป็นผู้นำทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อนิสิตนักศึกษากลุ่มก้าวหน้ามากที่สุดตามบทกวี อีสาน เราชนแล้ว แม่จ๋า เรื่องสั้นต่าง ๆ และการวิจารณ์วรรณคดีไทย ในนามปากกา อินทรายุทธ นายผี กุลิศ อิณทุศักดิ์ สายฟ้า เกี่ยวกับทัศนคติประมาณกำลังของพรรคคอมมิวินสต์แห่งประเทศไทยต่ำโดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เราน่าจะตั้องข้อสังเกตได้ว่าเมื่อมีการเปิดเผยชื่อผุ้นำของเวียดกงและเขมรแดงนั้น บุคคลเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแต่อย่างใดในเวียดนามในเขมร หรือต่อชาวโลก แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวียดกงและเขมรแดงสามารถเอาชนะอเมริกันได้ทั้ง ๆ ที่ มีผู้นำขบวนการที่ไม่ค่อยจะได้ยินชื่อเสียงเลย ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือกำลังความสามารถและความสำเร็จของพรรค เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้นำเพียงไม่กี่คน แต่อยู่ที่ลักษณะพิเศษของพรรค ลักษณะการเคลื่อนไหว ยุทธวิธีที่ใช้และการต่อสู้กันยืดเยื้อยาวนาน มีเป้าหมายอันแน่ชัดดังที่เราจะได้พิจารณาโดยละเอียดต่อไป ลักษณะเด่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่แตกต่างไปจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาอื่น ๆ คือ 1. มีการประสานทฤษฎีมาร์กซิสม์ เลนินนิสม์-เมาอิซิสม์ เข้ากับการปฏิบัติ โดยนำทฤษฎีดังกล่าว เป็นแกนนำหรือเข็มทิศนำสัจจธรรมทั่วไปของทฤษฎีและบทเรียนของการเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ มาประสานเข้ากับการปฏิบัติของการปฏิวัติของประเทศไทย มีการฉีดป้อนแนวความคิดทางลัทธิอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำและทดลองปฏิบัติตามทฤษฎี ในการต่อสู้ทั้งระดับการใช้กำลังอาวุธ และการเผยแพร่แนวความคิดตามอุดมการชี้นำ โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพของสังคม และระดับความไม่สม่ำเสมอของความรู้สึกสำนึกทางการเมืองของประชาชน 2. มีความสัมพันธ์กับมวลชนอย่างแน่นแฟ้น ตามทัศนะ มวลชน 4 ประการ คือ รับใช้ประชาชนด้วยชีวิตจิตใจ โดยคำนึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เริ่มต้นจากผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมวลชนเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวมวลชน ในประการที่สองรับผิดชอบต่อประชาชน ถือว่าการรับผิดชอบต่อประชาชน คือ การับผิดชอบต่อพรรคประการที่สาม เชื่อมั่นในพลังก้าวหน้าของมวลชน มีศรัทธาต่อมวลชนว่าประชาชนสามารถปลดแอกตนเองได้ โดยพยายามคะเนความตื่นตัวของมวลชน และอาศัยระดับการตื่นตัวนี้ มาเป็นเครื่องกำหนดวิธีการและจังหวะก้าวของการทำงาน ทำให้มวลชนตื่นตัวสมัครใจลงมือทำเอง ทำให้ภารกิจของพรรคกลายเป็นภารกิจของมวลชน ในประการที่สี่ ศึกษาจากประชาชน ฟังเสียงของประชาชน 3. การวิจารณ์ และวิจารณ์ตนเอง การวิจารณ์ตนเอง (Self criticism) เป็นวิธีการที่ใช้ในการ ฟอกความคิดดั้งเดิม ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ มากจากชนชั้นนายทุนน้อย จึงติดเอาความคิดแบบดั้งเดิมและความเคยชินตลอดจนทัศนคติในสังคมเก่ามาเป็นธรรมดา 4. การมีระเบียบวินัยที่เคร่งครัด วินัยเป็นเครื่องประกันความสามัคคีและเอกภาพทางควมคิดและทางการกระทำของพรรค สมาชิกต้องปฏิบัติตามมติของพรรคอย่างเคร่งครัด ป้องกันการแตกแยกออกมาเป็นกลุ่มเป็นพวก ถือประโยชน์ของพรรคเหนือประโยชน์และความรู้สึกส่วนตัว จากลักษณะการจัดตั้งและเลือกใช้ยุทธวิธีการต่อสู้ตามจังหวะของการตื่นตัว และการเคลื่อนไหวของมวลชนดังกล่าว ปัญหาของการต่อสู้ในระดับสูงขึ้นไปคือการช่วงชิงอำนาจรัฐจึงเป็นปัญหาของการเลือกใช้ วิธีการสองอย่างคือ แนวทางสันติและแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธว่าจะย้ำแนวทางใดโดยไม่ละทิ้งอีกแนวทางหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการต่อสู้ของพรรคจะต้องประสานแนวทางทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่จะต้องเลือกสภาพการณ์และพื้นที่ที่จะปฏิบัติการตามจังหวะเวลาและความสุกงอมของสถานการณ์ ลักษณะสำคัญของแนวทางการต่อสู้คือ เดินแนวทางมวลชนใช้วิธีจากมวลชน และไปสู่มวลชน โดยใช้ยุทธวิธีช่วงชิงส่วนมากโจมตีส่วนน้อย ใช้ความขัดแย้ง ทำลายทีละส่วนและประมาณกำลังทั้งของศัตรู และกำลังความตื่นตัวของมวลชน การย้ำยุทธวิธีทั้งสองประการนี้ เป็นจุดที่ก่อให้เกิดความแตกต่างทางความคิดเห็นในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ออกเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนการเร่งใช้กำลังการใช้แนวทางสันติกับกลุ่มผู้ที่ยังยึดมั่นอยู่ในทัศนะเดิม ซึ่งพยายามประเมินสภาพการณ์และเลือกใช้ยุทธวิธีด้วยความรอบคอบ ตัวอย่างของแนวความคิดทั้งสองนี้เห็นได้เจนจากการโต้ตอบระหว่าง ปิตุภูมิ กับอำนาจ ยุทธวิวัฒน์ในหนังสือ ปล้นทฤษฎี อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ : แนวทางมวลชนคือแนวทางที่มาจากมวลชน กลับไปสู่มวลชนเริ่มต้นของมวลชน ทั้งกลุ่มก้าวหน้า กลุ่มกลาง และกลุ่มล้าหลัง(ข้อนี้สอดคล้องกับทัศนะที่แสดงไว้ในเอกสาร ปัญหาการปฏิวัติของประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2508 และทัศนะของเมาเซตุงในเรื่องว่าด้วยนโยบายในสรรนิพนธ์เมาเซตุง ว่าด้วยนโยบาย แปลโดย ( อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ซึ่งกลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อสังคมนิยมจัดพิมพ์, 2518) ปิตุภูมิ : แนวทางมวลชนไม่จำเป็นต้องเริ่มจากความเรียกร้องต้องการของมวลชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวลชนล้าหลัง เพราะโดยปกติมวลชนกลุ่มนี้มีลักษณะที่จะไม่ปฏิวัติอยู่แล้ว ถ้าจะปฏิวัติโดยฟังความเรียกร้องของมวลขนล้าหลังก็ไม่ได้ปฏิวัติเสียที เพราะจะถูกท้วงติงอยู่เสมอ ดังนั้นการเดินแนวทางมวลชนจึงจะต้องสามัคคีกลุ่มก้าวหน้า อาศัยกลุ่มก้าวหน้าไปยกระดับกลุ่มกลางและช่วงชิงกลุ่มล้าหลัง อำนาจ (วิพากษ์ข้อวิจารณ์) : จำเป็นที่ต้องคำนึงถึงพวกล้าหลัง ทิ้งไม่ได้ พวกล้าหลังเปลี่ยนเป็นพวกก้าวหน้าได้ อิทธิพลของพวกล้าหลังมีมากพอควรในกลุ่มของเขาเองและยังมีอิทธิพลต่อส่วนหนึ่งของพวกล้าหลังมีมากพอควรในกลุ่มของเขาเองและยังมีอิทธิพลต่อส่วนหนึ่งของพวกกลางอีกด้วย ดังนั้นใครก็ตามที่มองพวกล้าหลังว่าต่ำเกินไปจะผิดพลาดอย่างมาก นอกจานี้การที่จะช่วงชิงกลุ่มล้าหลังได้ก็ต้องฟังกลุ่มล้าหลัง อย่างน้อยก็ทำให้เป็นกลาง (neutralize) ไม่ให้กลุ่มล้าหลังไปเข้ากับพวกปฏิกิริยา การฟังกลุ่มล้าหลังไม่ใช่เพื่อเชื่อฟังทุกประการ แต่เพื่อพิจารณาผลประโยชน์และข้อคิดเห็นของกลุ่มล้าหลังไม่ใช่เพื่อเชื่อฟังทุกประการ แต่เพื่อพิจารณาผลประโยชน์และข้อคิดเห็นของกลุ่มล้าหลังว่าอะไรปฏิบัติตามได้ อะไรปฏิบัติตามไม่ได้ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดจังหวะในการทำงานว่าอะไรควรอยู่ในขั้นโฆษณาและอะไรควรอยู่ในขั้นปฏิบัติการ ลักษณะการขัดแย้งทางความคิดและการวิจารณ์และวิพากษ์เช่นนี้ เป็นจุดเด่นของอุดมการณ์มาร์กซิสต์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่กำลังเป็นการต่อสู้ในระดับความคิดของผู้เผยแพร่อุดมการณ์ ซึ่งมีแกนนำความคิดเหมือนกัน แต่ขัดกันในการเลือกใช้ยุทธวิธี ความคิดในปิตุภูมิปฏิเสธยุทธิวิธีที่เคยเป็นที่ยอมรับกันในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในระยะ ปี พ.ศ. 2508 โดยมีอำนาจ ยุทธวิวัฒน์เป็นนักยุทธวิธีคนสำคัญ ซึ่งในขณะนี้ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมกับทางราชการ และ ซี ไอ เอ เมื่อพิจารณาเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์ในระยะ 10 ปีที่แล้วกับข้อความหรือบทความของฝ่ายซ้ายในปี 2517 แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่สในเวลานี้มีผู้ร่วมคิดคิดที่จะย้ำแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ มากกว่าการเดินแนวทางสันติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทความหรือบทกวีของฝ่ายซ้าย ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้มีแนวโน้มไปในทางหลังมากขึ้นดังเช่น บทนำเรื่อง แนวทางการต่อสู้ ของหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่าแนวทางมองศัตรูเป็นบุคคลไม่ได้มองที่ชนชั้น วิธีการนี้ล้มเหลวไม่ได้ผล แนวทางปฏิรูป คือ ดำเนินการต่อสู้ เรียกร้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายและระบบรัฐสภา ใช้วิธีเจรจาต่อรอง จัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการชะลอไข้ บิดเบือนเป้าหมายของการต่อสู้ ความเห็นของบทนำมีว่ามีอยู่หนทางเดียวที่จะทำให้การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ ประสบชัยชนะได้ คือ จะต้อง มีองค์การจัดตั้งที่เข้มแข็ง เรียนรู้ทฤษฎีและแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีศูนย์การนำที่ดำเนินยุทธวิธีเหมาะสมกับภววิสัยและเหตุการณ์ มีกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมจะยืดอำนาจรัฐ มีการสร้างแนวร่วมประชาชาติอย่างกว้างขวาง และคำประกาศสงครามประชาชนของชุมนุมพุทธศาสน์ และวัฒนาธรรมไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย น้ำเลือดที่ราวฟ้า คือน้ำตาประชาหาญ ตามถมมานมนาน เพื่อกู่ขานอำนาจคืน วันวานผ่านพ้นผัน ความกดดันจึงคลี่คลื่น จรยุทธ อาวุธ ปืน จึงชี้ช่องประชาชน สงครามได้ก่อกฎ ระบุบพระบายพล เลือดเปื้อนลงแปดปน เพื่อพิทักษ์ธวัชชัย มหาประชาชนยุทธ ก็จ่อจุดหนทางใหม่ ประกาศความเกรียงไกร ฝ่าหมอกมืดโสมมมวล สงครามประชาชน ทุกแห่งหนก็ไห้หวน ปราการต้านเรรวน การกดขี่จึงคลี่คลาย เร่งร่วมกันเถิดรา ถ้วนมหาประชาหลาย หนทางสว่างพราย เปิดรอพร่างล้างเผ่าพาล สงครามประชาชน คือผลิตผลมวลชนหาญ ชนชาติจึงจักจาร จารึกไว้ในแดนดิน และบทกวีบางตอนในหนังสือ ศิลปะปฏิวัติ ภาพปั้นของผู้ถูกกดขี่ (บทกวีบรรยายรูปปั้นดินเหนียวในเมืองต้ายี มณฑลเสฉวน สาธารณะรัฐประชาชนจีน แสดงสภาพการกดขี่เอารัดเอาเปรียบชาวนาจากนายทุนเจ้าของที่ดิน) เริ่มปฏิวัติสลัดแอก บ่าแบกปัจจุบันนั้นไฉน จากมืดมาสว่างทางไกล ปฏิวัติเพื่อได้อุดมการ มันปีนเราก็ปีน ทุกคนยืนประจัญสู้ ประกาศต่อศัตรู ว่าเราไทมิใช่ทาส มวลชนอันเนืองแน่น ทั้งดินแดนจะหวั่นไหว เปล่งเสียงอันเกรียงไกร จะกวาดล้างสังคมทราม ต่อสู้ด้วยกมล ยุวชนเยาวนารี ระบอบที่อัปรีย์ จะอับปางลงทันใด ข้างหลังคือธงชัย จำรับรุ่งและเรืองรอง ความทุกข์ประชาชน คือแรงดลพลังผอง น้ำตากที่บ่านอง คือมานะจะฟาดฟัน ยากกายหรือตายนั้น สิใครพรั่นสิใครพรึง เจ้าที่ดินจักสูญสิ้น ต้องด่าวดิ้นลงก่ายกอง เชิญเพื่อนชาวนาผอง จับปืนสู้ปลดแอกพลัน มวลชนติดอาวุธ จรยุทธก็เกรียงไกร ยืนหยัดมิหวั่นไหว เข้ากวาดล้างพวกกาลี ปฏิวัติต้องหลั่งเลือด แม้ถูกเชือดก็ยินดี อำนาจรัฐบังเกิดมี จากปากปลายกระบอกปืน มวลชนปฏิบัติ กระหน่ำซัดส่ำศัตรู ใครขี่และข่มขู่ จักต้องโทษประชาทัณฑ์ มวลชนจักเร่งชัย จะโลดแล่นเข้าโรมรัน คว้าชัยชนะพลัน ด้วยทฤษฎีคอยชี้นำ บทกวีหรือข้อเขียนในลักษณะเดียวกันนี้ กำลังจะปรากฏอยู่ตามวารสาร หนังสือพิมพ์ และหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่โดยทั่วไป จนอาจกล่าวได้ว่า การตื่นตัวทางความคิดซ้ายอย่างรุนแรงได้ปรากฏในระยะหลัง ๆ นี้ (เริ่มจากการสิ้นยุคสกฤษดิ์เป็นต้นมา) และเร่งจังหวะรุกเร้ามากขึ้นในระยะหลังการปฏิวัติของนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ภายหลังที่ได้ซบเซาไประยะหนึ่ง (ระหว่าง พ.ศ. 2500 - 2508) โดยที่ก่อนหน้านั้นได้เบ่งบานอยู่เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานพอสมควร (2490 - 2500) ความรู้สึกสำนึกทางชนชั้นที่ระบายออกมาในรูปของกวีนิพนธ์และข้อเขียนนี้ มาจากคนหนุ่มรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ และมาจากผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ได้รับอิทธิของแนวความคิดมาร์กซิสม์ เลนินนิสม์ เมาอิซิสม์ โดยเฉพาะจากนักคิดไทยที่มีจุดยืนดังกล่าวเช่น นายผี เปลื้อง วรรณศรี, จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งทุกคนเป็นนักคิด นักต่อสู้เมื่อ 20 ปีกว่า และต่อมาได้เข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แม้ว่าคนรุ่นใหม่หลายคนไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ก็ได้เข้าร่วมจัดตั้งองค์การที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในลักษณะที่ยืดแนวทางมวลชนเช่นเดียว กับพรรคคอมมิวนิสต์และในการบรรยายความรู้สึกและวิธีการต่อสู้บางอย่างได้ก้าวไปไกลกว่า และรุนแรงกว่าแนวทางที่พรรคคอมมิวนิสต์ยึดถือ ( อย่างน้อยก็ไกลกว่าแนวทางมวลชนตามที่ปรากฏในเอกสารปี 2508) แนวทางมวลชนของนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้แก่การเข้าร่วมพันธมิตรกับกรรมกรและชาวนา ช่วยแนะนำจัดตั้งร่วมกันและเป็นแกนนำสำคัญในการตอสู้เรียกร้องต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมา ( ตุลาคม 2516 - มิถุนายน 2518 ) การตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา เยาวชน ชาวนาและกรรมกรไทยในปัจจุบันต่อกับการตื่นตัวทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา ในลักษณะสำคัญที่สุด การขยายขอบเขตของการต่อสู้ที่พ้นเหนือระดับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมไปสู่ระดับการปฏิเสธระบบสังคมปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านค่านิยม วัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจและทางด้านการเมือง ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในระบบสังคมและการเมืองไทย เป็นการท้าทายอุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีนิยมอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อท่าทีและแนวความคิดของชนรุ่นเก่าและสถาบันทางการเมือง ตลอดจนอุดมการประชาธิปไตยตลอดจนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมอย่างเห็นได้ชัด ปรากฏอยู่แล้วว่าพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคได้เริ่มเปลี่ยนทีท่าและปรับแนวคิดทางอุดมการประชาธิปไตยเสรีนิยมให้ใกล้กับแนวคิดทางสังคมนิยมมากขึ้น ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ คือ (1) ระบบการปกครอง และการจัดระบบเศรษฐกิจนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ยังมีลักษณะของการที่คนกลุ่มมีอำนาจผูกขาดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ไม่แตกต่างอะไรเนื้อหาที่สำคัญไปจากสภาพการณ์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (2) ระบบการเมืองขาดความชอบธรรม สถาบันทางการเมืองซึ่งระบบประชาธิปไตยเป็นอุดมการสำคัญประสบความล้มเหลว จากการแทรกแซงทางการเมืองนอกเหนือกติกาทางรัฐธรรมนูญ เสรีภาพทางความคิดเห็น การชุมนุมทางการเมือง การรวมกลุ่มเป็นสมาคมการเมืองหรือสหพันธกรรมการขาดช่วง ไม่มีความต่อเนื่อง รัฐบาลที่กุมอำนาจแต่ละสมัย ปฏิเสธการให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่สมบูรณ์ พรรคการเมืองขาดการจัดตั้งและไม่ประสานอย่างแนบแน่นกับมวลชน โดยเฉพาะในเขตชนบทผู้แทนราษฎรไม่ได้รับศรัทธาจากประชาชน รัฐสภาล้มลุกคลุกคลาน (3) ระบบการเมืองแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางภายใต้คณะผู้นำที่ตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวและพรรคพวกและระบบราชการที่เต็มไปด้วยข้าราชการที่กดขี่ ฉ้อราษฎร์บังหลวงทำให้ประชาชนที่ไม่มีกำลังและฐานะทางสังคมต้องถูกข่มเหงรังแก ก่อให้เกิดสภาพการณ์ที่ประชาชนในชนบทและในเมืองส่วนใหญ่ มีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ ระบบ (4) ระบบเศรษฐกิจแบบนายทุนเสรีนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เอื้อประโยชน์จากการพัฒนาแก่ชนกลุ่มน้อยในขณะที่ชนกลุ่มใหญ่จนลง การผันผวนทางเศรษฐกิจของโลกทำให้ฐานะของประชาชนย่ำแย่ลงกว่าเก่า การควบคุมการลงทุนจากนายทุนต่างชาติไม่รัดกุมพอและไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศในส่วนรวม (5) การขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและสงครามในอินโดจีน กับการที่ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวพันกันอย่างมากจนถึงกับมีฐานทัพในประเทศทำให้ภาพพจน์ของ "จักรวรรดินิยม" เห็นเด่นชัดขึ้น การเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ไทยต้องทบทวนนโยบายใหม่ เป็นผลทำให้การเมืองภายในประเทศได้รับผลโดยตรง (6) การขายตัวของเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ในอัตราและขอบเขตที่รวดเร็วและกว้างขวางกว่าการพัฒนาชนบท ก่อให้เกิดการไหลบ่าของแรงงานจากชนบทสู่เมือง สภาพชีวิตในเมืองทำให้ชนชั้นกรรมาชีพที่มาจากชนบทสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างชนนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงความยากแค้นกับการมีรัฐบาล มีระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในอำนาจของคนกลุ่มน้อยได้ง่ายขึ้น (8) การเสื่อมโทรมของสถาบันทางศาสนา ซึ่งไม่สามารถสละละทิ้งความเชื่อทางศาสนาแบบดั้งเดิมและบิดเบือนไร้เหตุผล (บุญกรรม การผสมปนเปของไสยศาสตร์กับศาสนาพุทธ ฯลฯ) ให้กลับไปเป็นปรัชญาพุทธที่แท้จริง ก่อให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายและไม่เห็นคุณค่าของศาสนาในคนรุ่นใหม่จำนวนมาก และทำให้คนเหล่านี้ปฏิเสธศาสนาทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง และหันไปแสวงหาปรัชญาและอุดมการณ์ใหม่ (8) ระบบความเชื่อดั้งเดิม ค่านิยม ประเพณีของสังคมถูกท้าทาย ด้วยความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลในขณะที่ชนรุ่นเก่าไม่สามารถปรับตัวหรือรับความคิดใหม่ได้ ทำให้เกิดการประจัญหน้าระหว่างคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ การประจัญหน้าระหว่างค่านิยมดั้งเดิม (การถืออาวุโสเชื่อฟังผู้ใหญ่ ฯลฯ) กับแนวความคิดใหม่ ( การถือหลักเหตุผล การตั้งข้อสงสัยในประเพณีเก่า วัฒนธรรมเก่า ) เป็นผลทำให้เกิดการปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมทั้งหมด โดยไม่เลือกบางส่วนที่ก้าวหน้าไว้บ้าง และก่อให้เกิดความรู้สึกต่างหาก ( alienation ) การขัดแย้งทางเอกลักษณ์ ( identity conflict ) ของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย สภาพการณ์ดังกล่าวมานี้เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบสังคมไทยที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และมีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาลในหมู่ประชาชน จนปะทุเป็นเหตุการณ์รุนแรงเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 การเปลี่ยนแปลงภายหลังเดือนตุลาคมมีลักษณะสำคัญหลายประการ ซึ่งอยู่ในขอบเขตความสนใจ และวัตถุประสงค์ของการศึกษาของเรา คือ (1) การเปลี่ยนแปลงในเดือนตุลาคม 2516 มีลักษระของการเคลื่อนไหวโดยพลังมวลชนอันมหาศาลอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย มีขอบเขตของการเคลื่อนไหวทั้งในนครหลวงและชนบท มีลักษณะต่อสู้อย่างรุนแรง มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ และมีลักษณะแนวร่วม (2) การเปลี่ยนแปลงในเดือนตุลาคม 2516 ก่อให้เกิดความรู้สึกสำนึกทางการเมืองใหม่ อย่างน้อยในแง่จิตวิทยาฝูงชนที่ยังเกิดความเชื่อมั่นในวิธีการรวมพลังผนึกกันต่อสู้ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ที่ชัดเจน ผลของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนั้น นอกจากจะทำให้ผู้มีอำนาจสูงสุดต้องออกจากประเทศไปแล้ว ยังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นทัศนคติที่ว่า ประชาชนไม่มีอำนาจ (sense of powerlessness) หรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตของตนได้ มากเป็นทัศนคติที่เชื่อมั่นในพลังของการเคลื่อนไหวมากขึ้น ว่าจะสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลได้ การมีอำนาจเด็ดขาดทั่วไป (ommipotent) ของรัฐบาล และสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ (ตำรวจ ทหาร ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ) ถูกล้มล้างลง ประชาชนไม่เฉพาะแต่ในเขตเมืองหลวง แต่ในเขตชนบทมีการเคลื่อนไหวท้าทายอำนาจรัฐสูง ดังจะเห็นได้ว่า ภายหลังเดือนตุลาคม 2516 มีการประท้วงหยุดงานเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีการเดินขบวน รวมกลุ่มประท้วงนโยบายของรัฐบาลนับไม่ถ้วน มีการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง (กรณีพลับพลาไชย การณีนครศรีธรรมราช) และมีลักษณะการจัดตั้งแนวร่วมนิสิตนักศึกษา กรรมกร นิสิตนักศึกษา - ชาวนา และแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษา - กรรมกร และชาวนาในรูป สามประสาน (3) (เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2518) กล่วาโดยสรุปแล้วประชาชนผู้เสียเปรียบทางสังคมมีการตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น เข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น จากการรวบรวมจำนวนการชุมนุมเดินขบวนต่าง ๆ นับตั้งแต่พ้นวิกฤติการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ในบทความเรื่อง การชุมนุมเดินขบวนในต่างจังหวัด ของสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ ได้ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2516 จนถึงเดือนกันยายน 2517 ได้มีการชุมนุมเดินขบวนเกิดขึ้นในภาคต่าง ๆ รวม 67 จังหวัดด้วยกัน ตามตารางข้างต้นนี้ ภาคที่มีการชุมนุมเดินขบวนมากที่สุดได้แก่ภาคกลาง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกตามลำดับในระยะเวลา 5 เดือนหลังจากเดือนตุลาคม 2516 เป็นระยะเวลาที่มีการเดินขบวนเกิดขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2516 และมกราคม 2517 มีการชุมนุมเดินขบวนถึง 217 ครั้ง ในจำนวนการชุมนุมเดินขบวนทั้งหมดรวม 322 ครั้ง หรือเป็นจำนวนถึง 84% ของจำนวนทั้งหมด เมื่อจัดแยกประเภทของเรื่องที่เป็นเป้าหมายการชุมนุมเดินขบวนแล้วการประท้วงการบริหารโจมตีขับไล่ผู้บริหารมีจำนวนสูงถึง 154 ครั้ง ในจำนวนนี้การประท้วงโจมตีขับไล่ข้าราชการเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (45 ใน 154 ครั้ง) และภาคใต้ (42 ใน 154 ครั้งมากที่สุด การประท้วงเรื่องการบริหารงานการศึกษาเป็นลำดับรองลงไปคือมีทั้งหมด 55 ครั้ง ในจำนวนการประท้วงทั้งหมด 322 ครั้ง และเกิดขึ้นในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคติวันออกเฉียงเหนือ ในจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน คือ 14 , 15 และ 13 ครั้งตามลำดับ การประท้วงอื่น ๆ ได้แก่ การประท้วงปัญหาแรงงานและการบริหารของเอกชน การต่อต้านสินค้าแพง กักตุนสินค้า และการชุมนุมเผยแพร่ประชาธิปไตย ตามรายละเอียดที่ปรากฏข้างล่างนี้ การชุมนุมเดินขบวนตามสถิติข้างต้นนี้ไม่ได้รวมถึงการชุมนุมเดินขบวนที่เกิดขึ้นในเขตนครหลวงกรุงเทพ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้มีการชุมนุมนัดหยุดงานหลายร้อยตามสถิติของกรมแรงงาน การนัดหยุดงานในปี พ.ศ. 2516 ปีเดียวมีจำนวนรวมกันถึง 520 ครั้ง (ทั่วประเทศ) (1) แม้ว่าจะมีผู้กล่าวอยู่เสมอ ๆ ว่า "หลังตุลาคม 2516 แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวบุคคล แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวระบบ คำกล่าวนี้เป็นความจริงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่เป็นความจริงในส่วนที่เกี่ยวกับระบบความนึกคิดและความเชื่อ ซึ่งในระยะ 2 ปีที่ผ่านมานี้ได้เร่งรุดไปรวดเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการเมือง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของอุดมการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมโดยตรง ในระยะยาวถ้าสถาบันการเมืองเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบประชาธิปไตย เสรีนิยม ไม่สามารถแก้ปัญหาของกลุ่มผู้เสียเปรียบ (ชาวนากรรมกร) ได้อย่างฉับไวพอ เราเชื่อแน่ว่ากลุ่มการเมืองที่มีอุดมการสังคมนิยม และสังคมนิยมรุนแรง (การเชื่อในการต่อสู้นอกระบบด้วยกำลังอาวุธ) จะผละตัวออกจากการต่อสู้ภายในระบบการเมือง และหันไปใช้วิธีการต่อสู้นอกแบบ โดยใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นว่ากลุ่มการเมืองเหล่านี้จะต้องเข้าไปร่วมกับขบวนการของพรรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเสมอไป (2) ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ระบบพรรคการเมืองและการปฏิบัติของผู้แทนราษฎรในสภาฯ มีแนวโน้มไปในทางที่เสื่อมสมรรถภาพลง และยังไม่สามารถเรียกร้องศรัทธาจากประชาชนให้สนับสนุนสถาบันทางการเมืองเหล่านี้ได้เช่นเดียวกับที่เป็นมาแล้วใน 40 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ถ้าจะพิจารณาระบบพรรคการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกลสำคัญในการเชื่อมโยงผลประโยชน์ของประชาชนกับรัฐแล้วจะเห็นว่า ระบบพรรคการเมืองในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยยังไม่สมารถเจาะทะลวงไปในส่วนของสังคมที่เสียเปรียบ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่หรือเกือบทุกพรรคขาดการจัดตั้งที่ดี มีการปฏิบัติงานระดับเมืองหลวงหรือเขตเมืองใหญ่ที่มีความเจริญแล้ว มากกว่าการจัดตั้งสาขาที่เข้มแข็งในระบบหมู่บ้าน ความสำคัญของการเมืองและระดับของการตู่สู้ทางการเมืองยังคงจำกัดวงอยู่ในเมืองหลวงในขณะที่พรรคการเมืองนอกระบบ (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งมีสมาชิกพรรคจำนวนน้อย แต่เป็นพรรคที่มีระเบียบวินัยสูง มีนโยบายเดินแนวทางชนชั้นมุ่งปฏิบัติงานชนบทมาหาเมือง ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองในระบบซึ่งปฏิบัติงานจากเมืองไปสู่ชนบทการมีพรรคการเมืองในสภามากถึง 23 พรรค ทำให้ฐานะของรัฐบาลผสมของสหพรรคไม่มั่นคง และสหพรรคขาดอุดมการณ์ร่วม สมาชิกของพรรคยังมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม ( การแก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตำแหน่งการเมืองต่าง ๆ ในทำเนียบรัฐบาล) ผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นนายทุนอุตสาหกรรม ยังมีประโยชน์ร่วมอย่างสนิทสนมแนบแน่นกับนายทุนอุตสาหกรรม และนายทุนต่างชาติ และดูเหมือนจะไม่มีความสำนึกร่วมในการสร้างชาติ ตลอดจนประมาทกำลังของพรรคนอกระบบ โดยไม่พยายามแข่งขันในด้านการจัดตั้งพรรคให้มีประสิทธิภาพโดยใช้แนวทางมวลชน กลับยึดนโยบายปราบปรามทางกฎหมาย และกำลังอาวุธเป็นสำคัญ หรือไม่ก็หันไปสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอิทธิพลปลุกความรู้สึกชาตินิยมรุนแรง เช่น กลุ่มนวพล เพื่อหวังทานพลังนักศึกษาประชาชน แทนที่จะมุ่งสร้างพรรคการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น (3) การแพร่ขยายของแนวความคิดทางสังคมนิยม และการต่อสู้เรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนผู้เสียเปรียบ (กรรมกร - ชาวนา) โดยมีนักเรียนนิสิตนักศึกษาพรรคการเมืองบางพรรคเข้าร่วมด้วย และแสดงออกในรูปของการอภิปราย การเดินขบวน ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งมีอยู่เสมอภายหลังการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 นี้ กระทบกระเทือนฐานะทางอำนาจของกลุ่มทหาร - ข้าราชการทั้งทางตรงและทางอ้อม (ทางตรงได้แก่การเรียกร้องให้ยุบหน่วยงานของทหารบางหน่วย เช่น กอ. รมน. การเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง และการข่มเหงหรือเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในชนบท ทางอ้อมได้แก่การปลุกความรู้สึกนึกคิดใหม่ให้ประชาชนเลิกกลัวอำนาจรัฐ) นอกจากผลที่มีต่อกลุ่มอำนาจดั้งเดิมแล้ว การแพร่ขยายและปฏิบัติงานของกลุ่มสังคมนิยมยังมีผลทางด้านจิตวิทยา ต่อปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลซึ่งไม่ใช่ผู้ที่เคยมีอำนาจในระบบการเมือง แต่เคยชินกับแนวความคิด - ความเชื่อแบบดั้งเดิม และมีความเชื่อ (อาจโดยบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ก็ได้) ว่าแนวความคิดและวิธีการที่กลุ่มสังคมนิยมใช้ในการเรียกร้องความคิดธรรมในสังคม เป็นอันตรายและเป็นภัยต่อประเทศชาติ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากคนในสังคมไทยมีลักษระติดแน่นอยู่กับความคิดความเชื่อดั้งืเดิม ที่ไม่ต้องการความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางด้านความคิด หรือความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่แน่ชัด ตลอดระยะเวลาที่สังคมไทยที่มีระบบการเมืองที่เป็นความนิยมยกย่องเกรงกลัว ยอมสยบต่อผู้มีอำนาจ ทำให้บุคคลหลายฝ่ายไม่สามารถจะปรับความรู้สึกเก่าให้เข้ากับความรู้สึก ความเชื่อใหม่ที่ย้ำแนวทางการเปลี่ยนแปลงแบบยึดหลักความขัดแย้งว่าเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่ชั่วร้ายแต่พึงปรารถนาสำหรับความก้าวหน้าของประชาชนในชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อแนวความคิดทางสังคมนิยม จึงมีลักษณะที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อโต้แย้งทางอุดมการ แต่แปรรูปเป็นชิงชังเคียดแค้น อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาในรูปนี้มิใช่จะเกิดขึ้นลอย ๆ แต่เป็นผลจากวิธีการของักศึกษสังคมนิยมบางกลุ่มที่ไม่แยกมิตรแยกศัตรู หากมุ่งโจมตีบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ได้เปรียบ และบุคคลทั่วไปยังปรับความรู้สึกดั้งเดิมให้เข้ากับความรู้สึกได้ช้าอย่างตีเหมารวม ๆ กันไป แทนที่จะแยกพิจารณาช่วงเชิงกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแนวความคิดก้าวหน้า สามัคคีนายทุน ข้าราชการที่ไม่ขูดรีดหรือกดขี่ข่มเหงประชาชน เป็นเหตุให้เกิดการรวมตัวของบุคคล ที่ยังไม่เคยชินกับแนวความคิดใหม่ทางสุดขั้วด้านหนึ่งประจัญหน้ากับกลุ่มสังคมนิยม ในลักษณะของการจัดตั้งขบวนการต่อต้านแบบ กลุ่มล้างกลุ่ม ของขบวนการนวพลเป็นต้น และตรบใดที่ทั้งสองกลุ่มที่อยู่ขั้วปลายสุดของขวาและซ้ายนี้ยังไม่สามารถปรับความขัดแย้งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของความชิงชันต่อกันให้ไปสู่ระดับของการแสดงหาเหตุผล ข้อเปรียบเทียบในแง่อุดมการและกลุ่มปีกขวาอาจนำลัทธิชาตินิยมรุนแรงมาใช้เป็นอุดมการในการต่อสู้และกวาดล้างปีกซ้าย ในขณะที่กลุ่มปีกซ้ายจะค่อย ๆ ผละออกจากการต่อสู้ภายในระบบไปใช้วิธีการต่อสู้นอกระบบ นอกกติกาการเมืองแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเป็นลำดับ ทัศนคติที่ต่อต้านฝ่ายซ้ายโดยปราศจากเหตุผลของการต่อสู้ทางแนวความคิดแต่ใช้ความเกลียดชังสนับสุนการกวาดล้างฝ่ายซ้ายด้วยวิธีการอันรุงแรงนี้มีปรากฏอยู่ทั่วไป ดังตัวอย่างจดหมายผู้อ่านถึงคอลัมน์สีน้ำในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2518 (4) สถาบันทางสังคมอื่น ๆ ยังอยู่ไประหว่างการปรับตัวให้เข้ากับสภาพทางความคิด ความเชื่อของกลุ่มในรุ่นใหม่อยู่ แต่ก็ยังเป็นไปอย่างช้าง (เช่นการปฏิรูปการศึกษาซึ่งยังชะงกงันอยู่) ความรู้สึกต่อสถาบันศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไป ภายในคณะสงฆ์เอง เริ่มมีการเรียกร้องให้ปฏิวัติระบบการปกครองคณะสงฆ์ ความสามัคคีระหว่างชนในชาติที่เคยเป็นสโลแกนเก่าเป็นไปในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมใหม่ กล่าวคือ ผู้เรียกร้องให้คนในชาติมีความสามัคคี ต้องการทำให้ความสามัคคีในชาติกับเอกภาพทางความคิดเป็นสิ่งเดียวกันซึ่งได้รับการต่อต้านจากชนรุ่นใหม่ หรือพิจารณาตัวอย่างของความตื่นตัวอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงความเชื่อว่าความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคม 2516 นั้น เกิดจากการยุยงปลุกปั่นและแทรกแซงบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ได้เสนอแนะให้ใช้ความรุนแรงดังที่จดหมายข้างต้นเขียนมาหากขอให้มีการปรับปรุงตนเอง จดหมายเวียนในลักษณะนี้มีมากขึ้นในปี พ.ศ. 2518 โดยเฉพาะภายหลังที่ประเทศในอินโตจีนเปลี่ยนระบบการปอครองเป็นคอมมิวนิสต์ดังตัวอย่างสาส์นสัมพันธ์สมัยนี้ เรามีความเห็นว่า สังคมไทยเวลานี้มีสถาบันเก่าแก่ดั้งเดิมเหลืออยู่เพียงสถาบันเดียวที่ยังได้รับความเชื่อถือและศรัทธาจากประชาชนอยู่ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่สถาบันอื่น ๆ กำลังตกต่ำอย่างมาก การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงแข็งแกร่งอยู่นี้ไม่ใช่เป็นเพราะการได้รับความเคารพและนับถือจากประชาชนในแง่ของสมมติเทวราช หรือความเชื่อในบุญญาภินิหาร แต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การปรับตัวของสถาบันนี้ให้เข้ากับสภาพความเป็นไปของสังคมอย่างเฉียบไว โดยองคลักษณ์ที่มีพระบารมีมาเป็นผู้นำมวลชน (mass leader) ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา อย่างติดต่อกัน โดยมีลักษณะของความต่อเนื่องมากกว่าสถาบันอื่น ข้อได้เปรียบของสถาบันเก่าแก่ที่มีต่อความต่อเนื่องในการปรับบทบาท ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังเช่น สถาบันพระมหากษัตริย์นี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดี สำหรับสถาบันทางการเมืองเช่นกัน เราจะเห็นได้ในเวลาที่มีวิกฤตการณ์หรือความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรงนั้น สถาบันทางการเมืองซึ่งดดยธรรมชาติจะต้องมีบทบาทอย่างยิ่งในการขนัดข้อขัดแย้งนั้นกับไปอยู่ในฐานะที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในกระบวนการต่อรองประนีประนอมได้ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเพราะสถาบันทางการเมืองเช่น พรรคการเมือง หรือรัฐสภา ที่ผ่านมาจะมีประสบการณ์น้อย เพราะขาดการติดต่อกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผลจากเหตุนี้ยังทำให้สถาบันทางการเมืองเหล่านี้ขาดศรัทธา ความเชื่อถือจากประชาชนและกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ อีกด้วย ดังนี้จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่วิกฤตการณ์หลายครั้งในระบบการเมืองไทยเกิดขึ้นและสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้ามามีบทบาทในการขจัดข้อขัดแย้งนั้นแทน กรณี 14 ตุลาคม 2516 เป็นตัวอย่างดี การล้มเลิกสภานิติบัญญัติและจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ ตลอดจนความขัดแย้งเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญล้วนแต่แสดงให้เห็นชัดถึง บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นทางด้านการเมืองในขณะที่สถาบันทางการเมือง และผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางการเมืองประสิทธิภาพในการขจัดข้อขัดแย้งต่ำลงทุกขณะ การที่องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นทั้งผู้ด้านสัญลักษณ์และผู้นำมวลชนด้วยในขณะเดียวกันนี้ นับว่าเป็นกรณีพิเศษและเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยที่ขาดผู้นำมวลชน อย่างไรก็ดี เมื่อระบบรัฐสภาดำเนินไปติดต่อกันไม่ชงักขาดตอนแล้ว ความจำเป็นที่ผุ้ทำการเมืองจะต้องพยายามไปสู่ประชาชน คลุกคลีเยี่ยมเยียนฟังความคิดเห็นและทุกข์ยากของประชาชนในเขตบทบาท ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสุนบทบาทที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติอยู่อีกทางหนึ่ง หาไม่แล้วในระยะข้อขัดแย้งทางการเมืองจะเบนมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น โดยประชาชนมุ่งให้องค์พระมหากษัตริย์เข้าไไปแก้ไขข้ดขัดแย้งเหล่านั้นโดยตรง และการขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีลักษณะเป็นฝักเป็นฝ่าย มีการได้ประโยชน์การเสียประโยชน์ มีความพอใจมีความไม่พอใจ บทบาทขององค์พระมหากษัตริย์มีสัญลักษขณ์ของความเป็นกลางอยู่ จึงจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงและเลือกเรื่องที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองมากกว่าผู้นำทางการเมืองอาชีพ การที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชนในชาติที่สำคัญที่สุดได้รับความจงรักภักดี เคารพรักนับถือจากประชาชนเหนือกว่าสถาบันอื่นใด (แม้แต่สถาบันศาสนา) จึงมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่พยายามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดการเคลื่อนไหลของขบวนการฝ่ายซ้ายและบรรดาพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลาย โดยการพยายามทำให้บุคคลทั่วไปเชื่อว่า ฝ่ายซ้ายต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัดว่า ฝ่ายซ้ายมีความประสงค์เช่นนั้นจริง การนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาอ้าง ในทุกกรณีที่มีการประจัญหน้าทางความคิดระหว่างฝ่ายซ้าย - ฝ่ายขวานี้นับว่าเป็นอันตรายโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะถูกนำเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ โดยที่พระองค์เองไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของฝ่ายขวาด้วย 4. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและแรงผลักดันที่ทำให้เกิดความคิดก้าวหน้า กลุ่มแรกที่แสดงความไม่พอใจ ต่อการเปลี่ยนแปลงคือทหารผู้น้อยและนักเรียนโรงเรียนนายร้อยทหาร เด็กหนุ่มนักอุดมการเหล่านี้ ไม่พอใจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกองเสือป่า ซึ่งประกอบด้วยขุนนางและเชื้อพระวงศ์วัยหนุ่ม ทหารรู้สึกว่าเป็นการดูถูกความสามารถของตน ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดี ทหารหนุ่มเหล่านี้เห็นตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่พัฒนากองทัพอย่างแข็งแกร่ง จนสามารถพิชิตรัฐเซียในปี ค.ศ. 1975 และกองทัพจีนที่ประกอบด้วยทหารหนุ่มที่เปลี่ยนการปกครองของประเทศ จีนเป็นสาธารณะรัฐในปี ค.ศ. 1911 จึงมีความคิดที่จะทำตามดังกล่าวปลายปี ค.ศ. 1911 ทหารหนุ่มไทยประมาณ หนึ่งร้อยคน ได้ประชุมลับเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปีต่อมาแต่แผนการถูกเปิดเผย เพราะมีการหักหลังกัน ทหารหนุ่มเหล่านีถูกจับ และถูกจำคุกตลอดชีวิต กบฎกลุ่มนี้เรียกกันว่า กบฎ ร.ศ. 130 แต่ถึงแม้ว่ากบฎขณะนี้จะล้มเหลว ความพยายามของทหารหนุ่ม ก็เป็นแรงดลใจให้กับนักปฎิวัติรุ่นต่อมา ( ยวงรัตน์ วีเด็ล,2540 :239 ) 4.1 การพัฒนาประเทศไทย พระมหากษัตริย์ไทย เป็นผู้สร้างผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยพัฒนาประเทศ โดยการส่งนักเรียนที่ฉลาด ลูกขุนนาง พระราชวงศ์ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทั้งขุนนางและสามัญชนเห็นพ้องต้องกันว่า อารยธรรม และวิชาการของชาวตะวันตกก้าวไปได้ไกลเกินกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีและด้านวิชาการความรู้ของไทยมาก ทำให้ประเทศไทยที่ล้าหลังต้องไปรับรู้รับแนวความรู้จากชาวตะวันตกมาพัฒนาประเทศของไทยเรา สาเหตุที่ทำให้ดูแล้วประเทศไทยล้าหลัง เห็นได้จากประเทศแถบเอเซียด้วยกันที่ยังยึดประเพณีโบราณ จนต้องพ่ายแพ้แก่อนุภาพกองทัพอันทันสมัยของชาวตะวัยตก และระบอบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าของมหาอำนาจตะวันตก ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าความคิดชาวตะวันตก ในเรื่องการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และความเสมอภาคของประชาชน ดูแล้วหน้าที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ ที่แบ่งคนเป็นคนชั้นสูง และต่ำ ทั้งที่คนแต่ละคนมีความสามารถ และการศึกษาเท่าเทียมกัน ดังที่ ประยูร ภมรมนตรี คนหนึ่งในจำนวนผู้ริเริ่มก่อการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1932 กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้น มีความเสมอภาคในหมู่ประชาชน โดยปราศจากการแบ่งชั้น วรรณะ การแยกแยะชนชั้น และการใช้คำพูดซึ่งเป็นที่น่าขมขื่นในแผ่นดินเราเอง เมื่อนักศึกษาเหล่านี้กลับประเทศ และเข้ารับราชการก็ยิ่งแสดงความคิดที่ก้าวหน้า และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น บทความในหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็เริ่มแสดงความคิดเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยมีนักหนังสือพิมพ์บางคนรวมด้วยบางคน เช่น เทียนวรรณ ถูกสังจำคุก 4.2 การล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี ค.ศ. 1925 นักเรียนไทยที่ได้รับทุนในฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง ได้ประชุมกันเพื่อหาทางพัฒนาให้นำสมัยขึ้น ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ได้ และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก ผู้นำนักเรียนไทยกลุ่มนี้ คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งกำลังศึกษากฎกมายที่ปารีส กับนายทหารหนุ่มที่สนับสนุนความคิดนี้ คือ นายแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งทั้งสองมีทบบาทใน การเมืองไทย ทั้งทางปฏิบัติ และทางความคิดเป็นเวลามากกว่าสามสิบปีต่อมา นาย ปรีดี ได้เป็นผู้นำของการเคลื่อนไหวของผู้มีความคิดก้าวหน้า ที่พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้องระบอบไทยอย่างถอนรากถอนโคน นาย แปลกพิบูลสงคราม พยายามปรับปรุงรูปแบบเก่า ให้เป็นรูปแบบเผด็จแบบพ่อลูก ที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นพื้นฐาน และเมื่อดูจากประวัติศาสตร์การปกครองไทยก็เห็นได้ว่าจอมพล แปลก ประสบความสำเร็จในกรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนไทยมากกว่านาย ปรีดี ( ยวงรัตน์ วีเด็ล,2540:2540 ) งานศึกษาเกียวกับปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้อธิบายสาเหตุของการปฏิวัติในครั้งที่นี้ว่ามี 2 ประการด้วยกัน คือ สาเหตุของอุดมการณ์ และปัจจัยทางการเศรษฐกิจในการอธิบายสาเหตุในทางอุดมการณ์นั้น งานศึกษาต่างยอมรับว่า มีรากฐานมาจากการปฎิรูปการปกครองสยาม ให้มีความทันสมัยอย่างชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นสิ่งที่ได้เติบโตขึ้นไปพ้อมๆกับการปกครองการปฏิรูปการปกครอง ก็คือ จำนวนผู้ที่มีการศึกษาแบบใหม่ และสถาบันราชการแบบตะวันตกผลสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ให้ทำให้เกิดแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของความต้องการที่จะให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา หรือแม้กระทั่งไปไกลถึงที่จะปกครองประเทศเป็นแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ทั้งนี้เป็นไปตามแบบอย่างความเหมาะสมของประเทศที่ มีความ ศิวิไลซ์ ดังนั้นในกณณีที่มีผู้ที่แสดงเจตนาที่กราบบังคมทูลให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกลุ่มพระราชวงศ์ และขุนนางเมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2427 ( ร.ศ. 130 ) และกรณีคณะกบฎ ร.ศ. 130 ( พ.ศ. 2454 ) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปทั้ง 2 กรณีที่ไม่สำเร็จนี้ ถูกอธิบายเพียงเป็นพวก ใจเร็วด่วนได้ โดยได้รับเอาแนวความคิดของชาวตะวันตกมาคิดโดยมิได้มาคิดไตร่ตรองว่า ระบอบนี้เหมาะสมกับการปกครองของไทยหรือไม่เพียงใด ตรงกันข้ามกับ ผู้นำทางการเมือง (ร.5 และร.6) ได้รับเอาสิ่งที่เป็นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคแผนวิทยาการสมัยใหม่นำมาใช้กับปกครองพัฒนาประเทศไทย การเลือกรับเอาอิทธิพลชาวตะวันตกนี้เป็นไปในทางปฏิบัตินิยม คือรับเอาสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จะเป็นประโยชน์โดยตรงมากกว่า คตินิยมนามธรรมที่เป็นคุณค่า และยังไม่สามารถที่จะเห็นผลได้ในระยะใกล้ กระนั้นก็ตาม จาก พ.ศ. 2427 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ความคิดเห็นทางการเมือง มีความโน้มเอียงไปในทางวิจารณ์ระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ที่มีอยู่ติดต่อกันอย่างไม่ขาดสายในขณะที่ผู้นำทางการเมืองปรับระบบอย่างเชื่องช้า และขาดตอนอย่างไม่ต่อเนื่อง ในที่สุดประชาชนและคณะทหารและบุคคลที่เรียกตนว่า คณะปฏิวัติจึงเริ่มทำการปฏิวัติ เมื่อ พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ตาม สาเหตุทางด้านอุดมการณ์ของการปฎิวัติก็ถูกถอดถอนให้เป็นเพียงผลของ กลุ่มนักเรียนนอก จำนวนน้อยที่ได้รับเอาแนวความคิดและประสบการณ์ในโลกตะวันตกกลับสู่กลับมาสู่ประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นมูลเหตุความไม่พอใจและขัดแย้งกันเป็นการส่วนตัวระหว่าง กลุ่มนักเรียนนอก กับ พระราชวงศ์ อันนำมาสู่การเกิดการปฏิวัติ สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจ งานศึกษาต่างๆ จะดูลงรอยกว่าการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร อยู่ในจังหวัดที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะต้องลงรอยกว่าการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำลังถูกรุกรานท้าทายด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และความล้มเหลวในทางนโยบาย และมาตรการที่จะแก้ไขในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนี้ ของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้กล่าวเป็นปัจจัยเฉพาะหน้า หรือตัวเร่งให้ยึดอำนาจที่แท้จริงแล้ว ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเจ้าอยู่ หัว โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการคลังของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในสมัยของพระองค์ และเป็นความล้มเหลวในการผลิตข้าวเมื่อปี พ.ศ. 2462 เนื่องจากฝนแล้ง ได้มีผลต่อสภาวเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่งที่ต้องผึ่งพาอาศัยรายได้ที่มาจากทางด้านการเกษตรกรรม คือ ข้าวเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ความล้มเหลวของการผลิตข้าวครั้งนี้ทำให้ปีทัดมาประเทศต้องขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงถึง 69.2 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การค้าของประเทศอยู่ในลักษณะเกินดุลเสมอมา ผลโดยรวมก็คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา งบประมาณรายรับรายจ่ายประจำปีของรัฐ ก็อยู่ในสภาวะเกิดดุลมาตลอดปลายปี พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ได้ทรงยอมรับปัญหาการขาดแคลนเงินของรัฐบาล จึงทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ให้เป็นกรรมการองคมนตรี ตรวจจัดงบประมาณราบจ่ายของรัฐบาลพยามดำเนินมาตรการ ที่จะต้องตัดทอนรายจ่ายในด้านการบริการ โดยเฉพาะฝ่ายผลเรือนอย่างเต็มที่ แต่พระองค์ก็ไม่ทรง ไม่เคยคล้อยตามกรรมการองคมนตรีชุดนี้ ที่เห็นว่าราชสำนักควรเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้จ่ายเงิน หรือตัดรอนงบประมาณราชสำนักลงบ้าง การเปลี่ยนแปลง รัชกาลสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผลให้นโยบายเกี่ยวกับรายจ่ายในราชสำนัก ได้รับการเปลี่ยนแปลงตลอดมาตราการต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญ ช่วยให้คณะกรรมการองคมนตรีประสบความสำเร็จ ในการที่จัดดุลงบประมาณเป็นครั้งแรก พ.ศ.2469 อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้ รัฐบาลประสบความสำเร็จ ในดุลงบประมาณรายรับรายจ่าย แต่ปีเดียวกันนี้รัฐบาลก็ได้รับผลกระทบ จากการปั่นป่วนทางเศรษฐกิจภายนอกอีก เมื่อสภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี พ.ศ. 2472 ทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก มาตราการตัดทอนรายจ่าย ดุลการค้าราชการออกการเพิ่มภาษี และชนิดของภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จในตอนนั้นได้นำกลับมาใช้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2473 ผลผลิตทางการเกษตรก็มิได้ผลดี ดีบุกที่เคยทำรายได้ให้ประเทศที่สำคัญอย่างหนึ่งก็ราคาตก มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการคลังของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตัดทอนยุบหน่วยงานรัฐเพื่อลดการขาดดุล หรือประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีรายเดือน ยังส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ถูกดุลออกได้รับความเดือดร้อน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการปลดข้าราชการนั้นมิได้ดำเนินการไปอย่างยุติธรรม ผู้ที่ถูกปลดนั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งยังผูกกรทบกระเทือนด้วยเงินภาษีเงินเดือนอีก นอกจากนี้ยังจัดเก็บภาษีโรงเรือนอีก และที่ดิน และเพิ่มภาษีอัตราภาษีแสตมป์ ทำให้กลุ่มพ่อค้าได้รับผลกระทบกระเทือนทำเศรษฐกิจทางการค้าขายซบเซา การผลิตข้าวที่ไม่เคยได้รับผลผลิตที่เต็มที่ที่ทำให้ชาวนาเป็นจำนวนมากได้ทำฏีการ้องทุกข์ ร้องขอให้รัฐบาลลดย่อนผ่อนผันภาษี และหามาตราการช่วยเหลือชาวนา (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ,2543:34) 4.3 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดช ได้เขียนบทความแสดงควมไม่พอใจ ที่บรรดาเชื้อพระวงศ์มีอำนาจมากเกินไป ในขณะที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ประเทศไม่มั่นคงอย่างนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเจ้าเจ้าอยู่หัวหามิได้แสดงความสามารถและปรีชาญาณในการแก้ปัญหาสถานการณ์ของประเทศให้ดีขึ้น พระองค์ทรงมุ่งแต่การแก้สถานการณ์ปรับปรุงสถานภาพของเจ้านายต่างๆ ที่เสื่อมลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดีขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแต่งตั้งพระราชวงศ์ให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งหมดอยู่ในมือ ของบรรดาเจ้านายหรือพระราชวงศ์ทั้งสิ้น ประชาชนจึงกลัวเกรงบรรดาเจ้านายและพระบรมราชวงศ์ เหมือนหนูกลัวแมว พระยาทรงสุรเดชประกาศว่า เป็นความสำเร็จปอย่างสูงที่ประชาชนมีการเรียนรู้ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระบบเดิมให้ไปสู่ระบบใหม่ที่ทำให้ประชาชนนั้นมีการเรียนรู้ มีสิทธิ มีอิสระที่จะไม่ต้องกลัวเกรงเหล่าขุนนางต่างๆ แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างกว้างขวาง ทุกชนชั้น จะคำนึงถึงแต่การเปลี่ยนมือการใช้อำนาจผู้นำตามประเพณี ไปเป็นผู้นำกลุ่มใหม่ที่มีความสามารถ โดยอ้างว่าเพื่อให้เหมาะกับการความสลับซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม นายปรีดี และกลุ่มพลเรือนที่ร่วมในการปฏิวัติได้วางแผนการที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ที่กว้างขวางกว่าพระยาทรงฯ มากนัก ขณะที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ปรีดีมีความคุ้นเคยกลับข้อเขียนของมาร์ก ( Mark ) และเองเกลส์ ( Engels ) เป็นอย่างดี เขาได้มีโอกาสร่วมประชุม การถกเถียงเกี่ยวกับความคิดใหม่ ๆ ที่ทำให้รัสเซียชนะระบบเก่า เขาจึงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระดับสูงเท่านั้น แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมทั้งสังคม โดยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่หน้าสังเกต คือ ในการวางแผนเพื่อการปฏิวัติ ค.ศ. 1932 มิได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ สมาชิกที่ร่วมในการปฏิวัติต่างก็กลัวว่า การปฏิวัติจะไม่เป็นผลสำเร็จ และมุ่งสนใจกับการปฏิวัติ โดยมิได้คำนึงถึงความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นใน การจัดรูปแบบในการปกครอง หรือการจัดระบบสังคมที่จะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัตประสบความสำเร็จ แล้วทุกคนจะวางแผนอย่างระเอียด สรุปแล้วการปฏิวัติเกิดขึ้น โดยมิได้มีการตกลงกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของประเทศ ( ยวงรัตน์ วีเด็ล, 2540 : 241 ) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือน จำนวน 102 นาย ซึ่งขนานนามตัวเองว่า คณะราษฎร ได้ทำการยึดอำนาจจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองสยาม จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบกษัตริย์โดยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สาเหตุของการยึดอำนาจครั้งนี้มาจากการปฏิรูป 2435/1892 กล่าวคือ การปฏิรูปทำให้เกิดการขยายระบบราชกาลของสยาม และมีผลทำให้ต้องการคนที่มีการศึกษาแบบใหม่เข้าทำงานราชการ ดังนั้น รัฐบาลสยามจึงได้จัดตั้งสถานศึกษาใหม่ๆ ขึ้น เช่น โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมายและโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ฯลฯ ภายในระยะเวลา 40 ปี ระบบราชการไทยประกอบด้วยนักเรียนหัวใหม่เหล่านี้ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการศึกษา สยามที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้จากการเปิดให้มีการค้าเสรี ทำให้ชาวสยามส่วนหนึ่ง กับชาวสยามเชื้อสายจีนที่มีมาตั้งแต่สมัยเก่าได้ก่อตัวขึ้นเป็น ชนชั้นกลาง ขนาดเล็ก และชนชั้นกลางนี้มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บุตรหลานของชนชั้นกลางนี้ จำนวนไม่น้อยที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ และได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการแบบใหม่ในขณะเดียวกันนอกเหนือจาก การศึกษาแบบใหม่ในประเทศแล้ว รัฐสยามก็ยังได้คัดเลือกบรรดานักเรียนที่เรียนเก่งเป็นพิเศษ ส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาแบบใหม่ทั้งในและนอก ได้สร้างคนรุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการเรียนรู้ หรือมีประสบการโดยตรง เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยของตะวันตก (สมาชิกส่วนหนึ่งของ คณะราษฎร ดังกล่าวเป็นนักเรียน ที่ได้รับการศึกษาภายในประเทศฝรั่งเศส และเริ่มคบคิดวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองกันตั้งแต่ สมัยที่อยู่ในกรุงปารีสเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 หรือต้นราชกาลที่ 7 ) คนรุ่นใหม่นี้มีความเห็นว่าลักษณะการปกครอง แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสิ่งที่ล้าหลังไปแล้ว การดำรงอยู่ของระบอบเก่าที่รวมอำนาจเข้าศูนย์กลาง และอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะขัดขวางต่อการเจริญก้าวหน้าของประเทศ ( แม้ว่า ร. 7 จะแสดงท่าทีว่าเห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยรวมยังคงความอนุรักษ์นิยมอย่างสูง ไม่เปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงจากเบี้องบนได้ เมื่อสยามต้องเผชิญต่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลกในช่วงศตวรรษ 2470 1930 ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ประสบโอกาสในการที่จะยึดอำนาจและการยึดอำนาจก็ปราศจากการนองเลือด การยึดอำนาจ 2475 มีเป้าหมายที่จะจำกัดอำนาจของ พระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การขยายตัวของการศึกษา การเพิ่มบทบาท และสิทธิให้แก่สตรี แต่ระบอบประชาธิปไตยของสยามก็ยังอยู่ในวงจำกัดอยู่ เช่น ครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมาจากการแต่งตั้งไม่มีการอนุญาตให้จัดตั้พรรคการเมือง และเป็นประชาธิปไตยที่ยังขาดฐานสนับสนุนจากมวลชน ปัญหาของรัฐบาลใหม่หลังการยึดอำนาจเหล่านี้ หันไปหาลัทธิชาตินิยม และลัทธิทหาร เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนการปกครองของตน ในตอนนี้ชื่อของประเทศก็ถูกเปลี่ยนจากสยามประเทศเป็นประเทศไทย (2482) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางลัทธิชาตินิยม-ลัทธิทหารมากขึ้น (ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม 2481-2487) ตลอดทั้งได้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจลัทธิชาตินิยม เพื่อที่จะตัดอิทธิพลทางการค้าของชาวจีนและชาวตะวันตก ขณะเดียวกันในด้านนโยบาย ต่างประเทศไทย ก็หันไปเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และก้าวสู่วงโคจรแห่งอำนาจใหม่ซึ่งทำให้เกิดการขัดผลประโยชน์ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของอังกฤษ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,2538:18-20) 4.3.1 การจัดตั้งคณะราษฏร ประมาณปี ค.ศ. 1920 นายปรีดี พนมยงค์ กับ นายแปลก พิบูลสงคราม ร่วมมือกันที่จะล้มเลิกระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้จัดตั้งคณะราษฏร์ขึ้นในปี ค.ศ. 1927 เมื่อทั้งสองเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ก็ได้ดำเนินตามแผนการที่วางไว้ในฝรั่งเศส นายปรีดีได้เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรมและขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนกฏหมาย ได้พยายามรวบรวมความความคิดของนักเรียน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้า ส่วนนายแปลก เป็นผู้ริเริ่มการทหารและรวบรวมทหาร ที่ต้องการร่วมในการปฏิวัติ ซึ่งต่อมาก็เป็นนายทหารชั้นสูง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ทหารรุ่นหนุ่มเห็นความสำคัญของการพัฒนาทางเทคโนโลยี และเห็นว่ากองทหารที่นำโดยกษัตริย์ตามโลกไม่ทัน ทหารที่เป็นนายพลสูงสุดมาจากพระราชวงศ์ การที่พระมหากษัตริย์พยายามครอบครองอำนาจทางทหาร สร้างความไม่พอใจให้กับทหารอาชีพยิ่งนัก พระยาทรงสุรเดช ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติของคณะราษฏร ให้เหตุผลในการปฏิวัติว่ามีเพียงสองอย่างคือ (1) พระมหากษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ (2) ข้าราชการชั้นสูงเกือบทั้งหมดทำงานเพียง เพื่อให้เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตรย์เท่านั้น (ยวงรัตน์ วีเด็ลม,2540:241) การก่อตัวและการขยายตัวของคณะราษฏร เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองของสยาม โดยวิธียึดอำนาจแบบฉับพลันนั้น ในด้านหนึ่งนั้นได้แสดง ให้เห็นว่าการแสวงหาสมาชิกคณะราษฏร์เป็นไปอย่างลับ ๆ นั้น ได้กำเนิดไปท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเก่าอย่างเปิดเผย และสมาชิกได้รับการชักชวนให้ เข้าร่วมด้วยนั้นได้รับการแนะนำให้ความรู้ความคิดทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจากหัวหน้าสายคณะราษฏรต่าง ๆ ที่มีฐานะเป็นครู-อาจารย์ อีกด้านหนึ่งนั้น ในกระบวนการแสวงหาสมาชิกใหม่ของแต่ละสายนั้นมีลักษณะ ที่ได้จัดแบ่งกลุ่มภายในคณะราษฏรค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะสายทหารบกที่มีกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช นายทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้นำ และกลุ่มที่มี พ.ต.หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้นำ กลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเล็กของ ร.อ.หลวงทัศไนยนิยมศึก ผู้นำกลุ่มนายทหารม้าส่วนสายทหารเรือค่อนข้างมีเอกภาพ แต่สายพลเรือนค่อนข้างหลากหลาย กลุ่มต่าง ๆ ในคณะราษฏรเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยหนึ่งของความผันแปร ทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติ สมาชิกคณะราษฏร 102 นั้น เกือบทั้งหมดรับราชการ ที่ไม่ได้รับราชการ เช่น นายวาณิช ปานะนนท์ เจ้าของบรษัท เอส. วี. บราเดอร์ส ซึ่งค้าน้ำมันเชื้อเพลิงกับต่างประเทศ นายบรรจง ศรีจรูญ และนายประเสริฐ ศรีจรูญ เป็นเจ้าของร้านขายปืน สิ่งที่น่าสนใจในการเลือกสรรสมาชิกคณะราษฏร คือ ไม่มีสมาชิกแม้แต่คนเดียวที่เคยมีประวัติว่าถูกดุลออกจากอาชีพรับราชการ ซึ่งเป็นปัญหาในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างน้อยสิ่งนี้น่าจะพิจารณาได้ว่า เป็นเจตนาของคณะราษฎร ที่เตรียมป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการถูกใช้เป็นประเด็น โจมตีจากฝ่ายตรงข้ามที่อาจมีขึ้นได้ว่า คณะราษฏรเปลี่ยนระบอบการปกครอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง วัตถุประสงค์หลักใหญ่ของคณะราษฏร คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ หรือปรากฏอยู่ใน ประกาศคณะราษฏร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่า คณะราษฏรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ต้องอยู่ใต้กฏหมายธรรมนูญการ ปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฏร นอกจากยังวางแนวทาง การปกครองซึ่งคณะราษฏรจะพึงกระทำ ก็คือจะต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเสมือนคนตาบอด เช่น รัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว ซึ่งเรียกกันว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฏร ประกาศคณะราษฏรฉบับนี้ แม้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าคณะราษฏรสายพลเรือน ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น มันสมอง ของคณะจนเป็นผู้ร่างคำประกาศ แต่ก็ดูเป็นการคาดเดาที่ไกลเกินไป หากกล่าวว่าสาระในคำประกาศคณะราษฏรเป็นเพียงความคิดเห็นของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีสมาชิกของคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำของคณะราษฏรนั้น ได้มีส่วนร่วมในเจตนารมณ์อันนี้ ดังที่ได้แสดงให้เห็นข้างต้น ในช่วงการแสวงหาสมาชิกคณะราษฏรแล้วว่า ก่อนที่จะชักชวนบุคคลใดเป็นสมาชิกนั้น ได้มีการเผยแพร่ปัญหาของบ้านเมืองและเจตนารมณ์ของคณะราษฏรด้วย อย่างไรก็ตามก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นอกเหนือจากหลักการเรื่องระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว หลัก 6 ประการของหลักเสรีภาพ และอิสรภาพ และหลักการศึกษานั้น เป็นความเห็นร่วม หากแต่ส่วนแผนการหรือโครงการที่คิดว่า จะดำเนินต่อไปหลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองสำเร็จนั้น น่าจะเป็นเพียงเรื่องที่พูดคุยกัน แต่ยังไม่เป็นที่ตกลงยอมรับถึงวิธีการอย่างแน่นอนลงไป (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์,2543:32-34) 4.3.2 ประกาศของคณะราษฏร คำประกาศของ คณะราษฏร์ค่อนข้างจะคลุมเครือ และสอดคล้องถึงความคิดที่เพ้อฝัน ที่ให้สัญญากับประชาชนว่า จะนำเสรีภาพ และอิสรภาพมาสู่ประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ คือ การพยายามแย่งอำนาจจากพระมหากษัตริย์คำประกาศที่นายปรีดีมีส่วนในการร่างที่น่าสนใจ คือ การให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนว่าจะดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยการหางานให้ทุกคนทำ และจะร่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการอดตาย ซึ่งฝ่ายทหารที่ร่วมในคณะราษฏร์เห็นว่า เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น แต่สำหรับนายปรีดีแล้ว มิใช่เป็นเพียงคำโฆษณา ขณะนั้น นายปรีดีมีอายุเพียง 32 ปีเป็นพลเรือนที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นนักคิดก้าวหน้าคนแรกที่สามารถนำความคิดมาปฏิบัติได้มากกกว่าคนอื่น (ยวงรัตน์ วีเด็ล, 2540:239-243) เนื้อหาของคำประกาศคณะราษฏรมีดังต่อไปนี้ ราษฏรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฏรได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฏรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาได้เป็นไปตามความหวังที่คิดไม่ กษัตริย์ทรงอำนาจอยู่เหนือกฏหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์ และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฏร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฏร ปกครองโดยขาดหลักวิชาปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ในการตกต่ำของเศรษฐกิจ และความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฏรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฏรเป็นทาสไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ แต่พวกเจ้ากับนอนกินกันอย่างเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ 5. มาร์กซิสต์ไทยและการปราบปราม การโต้แย้งเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประชาชน และระดับผู้นำรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางความคิด ระหว่างกลุ่มนิยมความก้าวหน้า กลุ่มทหารหัวเก่าที่ร่วมในการปฏิวัติ และกลุ่มนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการแสดงความอิจฉาริษยา ในการก้าวสู่การเมืองของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ยังเยาว์วัย การมีอคติ ต่อความคิดใหม่ ๆ เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นฝักเป็นฝ่าย และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับกลุ่มทหาร ในเรื่องร่างแผนการเศรษฐกิจ ปรีดีจึงตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก ความคิดของปรีดียิ่งเป็นที่น่าสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1933 ซึ่งหั้คำจำกัดความของลัทธิคอมมิวนิสต์ว่า ระบอบหรือทฤษฎีเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวกับการยกเลิกสิทธิ ในการมีกรรมสิทธิส่วนตัวบางส่วนหรือทั้งหมด ชุมชนทั้งมวล หรือรัฐเท่านั้น ที่มีความเป็นเจ้าของที่แท้จริง และหลักการคอมมิวนิสต์ หมายถึงหลักการใดก็ตามที่สนับสนุนการทำให้ที่ดินเงินทุน หรือแรงงาน เป็นของรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการต่อต้านโครงร่างทางเศรษฐกิจของปรีดี ที่จะให้ทุกคนเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นการเอาแรงงานมาเป็นของรัฐ ตาม พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์นั้นทำผิดกฎหมาย จะถูกลงโทษโดยถูกจำคุกไม่เกิน 10 ปี และจำถูกปรับถ้า แสดงการสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือหลักกการคอมมิวนิสต์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด การเขียน หรือโดยวิธีการใด ๆ ก็ตามเนื้อหาของพระราชบัญญัติ ครอบคลุมกว้างขวางมากพอที่จะ เปิดช่องให้มีการปราบปรามโดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมีการกระทำที่เพียงแต่ส่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ไทยคนแรกที่ถูกจับใน กบฎสันติภาพ คือ สุพจน์ด่านตระกูล ผู้ เจริญรอยตามปรีดี พนมยงค์ สุพจน์สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และมีคณะกรรมการประชาชนที่จะควบคุมการบริหารจากส่วนกลางเห็นด้วยกับปรีดีที่ควรบังคับให้เจ้าของที่ดินขายที่ดินแก่รัฐบาล สุพจน์ปฏิเสธว่าตนเป็นคอมมิวนิสต์ และเห้นว่าลัทธิคอมมูนิสต์มิได้เป้นปีศาจร้ายอย่างที่คนไทยได้รับการปลูกฝังมา เขาเห็นว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นระบบทางสังคมเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายให้มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เขาเขียนว่า ประชาธิปไตยหมายถึง การที่มวลชนเป็นเจ้านายทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม สุพจน์มีความเห็นคล้ายปรีดี และกุหลาบในเรื่องศาสนา คือเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปและปรับปรุงสังคมแบบสังคมนิยม ระบอบสังคมนิยมจะทำให้คนรวยขึ้นทางด้านวัตถุ ขณะเดียวกานศาสนาพุทธจะทำให้คนร่ำรวยด้วยความสุขในจิตใจนี่คือสภาวะที่ทุกคนต้องการ มาร์กซิสต์เป้นที่รู้จักในยุคนั้นอีกคนคือ เปลื้อง วรรณศรี ตอนถูกจำคุกมีอายุ ๓๐ ปี เปลื้องมาจากครอบครัวยากจนบิดาเป็นครูประคมจากภาคอีสาน เปลื้องย้ายเข้ามาในกรุงเทพ ฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และดำเนินชีวิตคล้ายกับนักคิดก้าวหน้าส่วนใหญ่คือเป็นนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์เปลื้องไม่พอใจที่รัฐบาลซึ่งนำโดยทหารมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นทุกที เขาเป็นผู้นำนักศึกษาที่ร่วมเดินขบวนต่อต้าน รัฐบาลที่ใช้ทหารควบคุมมหาวิทยาลัยภายหลังกบฎแมนฮัตตัน ตอนถูกจับเปลื้องมิได้ดำเนินการอะไรที่ส่อให้เห็นว่ากีดการปฏิวัติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตามข้อหา มาร์กซิสต์ไทยคนหนึ่งที่หนีไปได้คือ อัศนี พลจันทน์ มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย บิดาเป็นข้าราชกาลชั้นผู้ใหญ่ อัศนีเรียนจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบและเรียนจบนิติศาสตร์จากมหาลัยธรรมศาสตร์ในปี ค.ศ. 1940 ประกอบอาชีพเป็นอัยการ ใช้นามปากกา นายผี ในการเขียนกาพย์กลอน เรื่องสั้นที่แสดงให้เห็นถึงการกดขี่ประชาชนและเรียกร้องให้ประชาชนรวมพลังกันต่อต้านการกดขึ่ของอภิสิทธิ์ชน เมื่อจอมพลแปลกทำการจับกุมและปราบปรามนักเขียนที่เขียนโจมตีรัฐบาลในปี ค.ศ. 1952 อัศนีได้หลบหนีการจับกุมและหลบซ่อนอยู่ 5 ปีจนรัฐบาลจอมพลแปลกหมดอำนาจในปี ค.ศ. 1957 ขณะที่มาร์กซิสต์ไทยที่แสดงผลงานการเขียนของตนออกมาสู่ประชาชนถูก รัฐบาลปราบปรามจิตร ภูมิศักดิ์ มาร์กซิสต์ไทยคนสำคัญขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ จิตรได้แสดงความไม่พอใจต่อระบบสังคมไทยตั้แต่ยังเป็นนักศึกษา เขามาจากครอบครัวที่ยากจน บิดาเป็นเสมียนจากภาคอีสาน ในปี ค.ศ.1950มีการพิมพ์ผลงานของปรีดี และกุหลาบออกมา เผยแพร่ซึ่งก่อให้เกิดการถูกเถียงกันอย่างคึกคักในกลุ่มนักวิชาการ จิตรยอมรับความคิดก้าวหน้าไทยรุ่นก่อน ๆนอกจากนี้จิตรเป็นผู้มีความสามารถทางวรรณคดีมีความรอบรู้ในภาษาขอม บาลีสันสกฤตและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากอาจารย์เก็ดนี่ (Dr. William Gedney)ซึ่งเป็นอาจารย์อเมริกันที่เชี่ยวชาญทางภาษาไทย และทำวิจัยอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจิตรพำนักอยู่กับอาจารย์เก็ดนี่ขณะที่ศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคงได้อ่าน และศึกษาหนังสือในห้องสมุดของอาจารย์เก็ดนี่และได้เรียนรู้ทางภาษาอย่างละเอียดแต่เขมีความคิดเป็นของตัวเอง จิตรวิจารณ์วรรณคดีไทยอย่างเผ็ดร้อนซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่คณาจารย์และนักศึกษาอย่างมาก ในขณะที่เรียนอยู่ปีที่ 3 จิตรเขียนบทความโจมตีการคอรัปชั่นของพระสงฆ์และ การกดขี่สตรี นักศึกษากลุ่มที่ไม่พอใจจับเขาทุ่มบกจนเขาบาดเจ็บสาหัสและถูกลงโทษให้หยุดเรียนชั่วคราว ในช่วงนี้จิตรได้ทำงานกับนักเขียนที่เป็นลูกศิษย์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และสอนที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1957 จิตรกลับมาเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1957 จิตรประท้วงค่านิยม ศักดินาโดยปฏิเสธไม่ยอมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จิตร ภูมิศักดิ์ สุพจน์ ด่านตระกูล และนักเขียนนักคิดก้าวหน้านับร้อยถูกจับและพากันหลบหนี หรือหลบซ่อนกันหมดเมื่อมีการปราบปรามอย่างรุนแรงและรวดเร็วเกิดขึ้นอย่างไม่มีการคาดหมายมาก่อน เปลื้อง วรรณศรี เพิ่งกลับจากต่างประเทศเมื่อมาถึงก็ถูกจับเข้าคุก กุหลาบ สายประดิษฐ์ กำลังเยือนประเทศจีนต่อไป อัศนี พลจันทน์ หนีไปหลบซ่อนหายเงียบไปอีกครั้งปรากฏว่า จอมพลสฤษดิ์ซึ่งประชาชนคาดว่าจะเป็นจอมพลหัวเอียงซ้ายที่ช่วยให้หลุดพ้นจากการกดขี่ของจอมพลแปลก กลับกลายเป็นผู้ที่ดำเนินปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพกว่าทหารรุ่นก่อน ๆ จอมพลสฤษดิ์ใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์กำจัดทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและการบริหารของรัฐบาล ออกกฏอัยการศักที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีคือตนเอง ในการสั่งประหารชีวิตคนได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล เรียกกฏหมายนี้ว่ามาตรา 17 ซึ่งทำให้นักคิดหัวก้าวหน้ารู้แน่ว่าการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีเป็นไปได้ยาก ในขณะที่ปรีดีพำนักอยู่ประเทศจีน และกำลังของตนต่างก็หลบซ่อนกระจัดกระจายและถูกจำคุกก็ไม่น้อย (ยวงรัตน์ วีเด็ล, 2540 : 257-265) 5.1 การขึ้นเป็นนายกของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม สมุดบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัย 24 มิถุนายน 2475 เพิ่งพลิกไปได้ไม่กี่หน้าก็มาถึงยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อยู่บัลลังก์อำนาจได้นานที่สุดเป็นเวลาใกล้สองทศวรรษ แม้ว่าช่วงเวลาจะไม่ติดต่อกัน ในปี 2481 พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หลังจากที่กรำอยู่กับการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะราษฏรไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ภายหลังที่ยุบสภาและมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2481 ขอดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงตำแหน่งเดียว พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) นักปฎิวัติหนุ่มไฟแรงก็โดดเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบทอดจากหัวหน้าคณะราษฏรทันที ในเรื่องที่หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ พล อ. หลวงอดุลเดชจรัส ได้เปิดเผยต่อคณะกรรมการสอบสวนคดีอาชญากรสงครามว่า ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ข้าฯ ทราบว่ามีนายทหารและพลเรือนประชุมปรึกษาหารือกันที่วังบางขุนพรหม เพื่อจะร้องขอให้พระยาพหลฯ แม้จอมพล ป. จะมิได้ลงมือเองแต่ก็มีการเตรียมการเคลื่อนไหว เพื่อเป้าหมายของการอยู่เหมือนกัน เมื่อทราบผลการเลือกตั้งวันที่ 12 พฤศจิกายนแล้ว สภาได้เปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารต่อไป ประธานสภาผู้แทนราษฏรพระยามานวราชเสวี ได้เชิญสมาชิกสภา ฯ ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ปรึกษาหารือเป็นการภายใน พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ขอเข้าพบประธานสภาฯ ก่อนแล้วแจ้งให้ทราบว่า จะไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นอันขาดขออย่าได้เสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย ประธานสภา ฯ ได้นำข้อเสนอของพระยาพหลพลพยุหเสนาดังกล่าวแจ้งให้ที่ประชุมสภาทราบ และหลังจากปรึกษาหารือกันแล้ว พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบกก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (ประจวบ อัมพะเศวต,2543 : 76) 5.2 การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษด์ เป็นลักษณะที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอนได้วางแผนการปูอำนาจเป็นขั้น ๆ และทำการอย่างรัดกุมที่สุด เช่น แม้จะมีตำแหน่งใหญ่ขึ้นก็จะรักษาตำแหน่งเก่าเอาไว้ระยะหนึ่งก่อนเรียกว่าไม่มีการ ตีนลอย ตามที่ทหารมักเรียกผู้มียศตำแหน่งทางทหารสูงขึ้นแต่ไม่มีทหารในบังคับบัญชา อีกประการหนึ่ง ที่แสดงถึงการเตรียมการขึ้นสู่อำนาจสูงสุดของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ก็คือการที่ท่านได้ไปหนุนหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับคือ สารเสรีและไทยรายวัน ซึ่งหนังสือสองฉบับนี้จะยกย่องจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์เสมอหนังสือสารเสรีออกตอนเช้า ส่วนไทยรายวันนั้นออกตอนบ่ายทั้ง 2 ฉบับมีสำนักงานอยู่ที่เดียวกันคือใกล้สี่แยกบางขุนพรหม หนังสือสองเล่มนี้ทรงอิทธิพลมาก สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ปิดตัวไปหลังจากการถึงอนิจกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้ไม่นาน เมื่อใกล้จะกระทำการโค่นอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นนักหนังสือพิมพ์จะถามท่านถึงโอกาสที่เกิดรัฐประหารหรือโอกาสที่ท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองแต่จอมพลสฤษดิ์จะปฏิเสธเสมอ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2500 มีหนังสือพิมพ์ถามว่ามีข่าวว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะให้จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์เป็นแทนจริงหรือไม่ จอมพลสฤษดิ์ตอบว่า อย่าพูดเรื่องตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับตนเลย ตนจะขอมีนายเพียงคนเดียวคือ จอมพล ป. พิบูลสงครามและจะไม่ขอวัดรอยเท้ากับจอมพล ป. ในวันที่ 13 มีนาคม จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้ถูกถามเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีการรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ ตอบว่า การปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่าน ๆ มาก็รู้สึกเอน็จอนาถใจมากที่คนไทยต้องฆ่าฟันเลือดเนื้อกันเอง และผมมักจะตกที่นั่งอำนวยการปราบปรามทุกครั้งอย่าง เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาทหารราบต้องเสียชีวิตไป 12 คนเห็นแล้วอนาถใจทำไปทำมาเป็นเครื่องมือของคนเห่อเหิมแล้วได้อะไรขึ้นมา มันเป็นการกระทำเพื่อใครและเพื่ออะไร ผมไม่เห็นมีประโยชน์อะไรที่บุคคลมีกำลังอำนาจอยู่ในมือแล้วแย่งชิงอำนาจกันเอง ประชาชนเป็นผู้รับบาป ผมขอปฏิญาณว่าผมจะไม่กระทำเป็นอันขาด ในการโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ไม่กี่เดือนเป็นช่วงที่คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพกำลังชื่นชมกับระบบประชาธิปไตยถึงกับมีการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ก็มองเห็นถึงความสำคัญของประชาชนไม่ได้มองแต่พลังทางทหารแต่ฝ่ายเดียว เขามักจะแสดงออกว่าเคารพความคิดเห็นของประชาชนหรือทำเพื่อประชาชนอยู่เสมอ ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2500 มีหนังสือพิมพ์ถามจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ ไม่ควรเอานักการเมือง หรือรัฐมนตรีคนใดที่ประชาชนไม่ชอบพฤติการณ์เข้าร่วมคณะด้วย จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ตอบว่า ผมเห็นว่ารัฐบาลที่ดีควรฟังเสียงความต้องการของประชาชน ในวันที่ 5 มีนาคม 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้แสดงความเห็นกับหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับรัฐบาลที่สภาผู้แทนราษฏรให้การรับรองแต่ประชาชนไม่ยอมรับ การเลือกตั้งไม่สุจริตก็ต้องฟ้องร้องกันตามกฏหมายให้กฏหมายตัดสินสุดแล้วแต่กฏหมาย ส่วนรัฐบาลนั้น ถ้าเดินคนละทางกับประชาชนบ้านเมืองก็จะไปไม่รอด ผมเองก็อยากได้รัฐบาลที่ประชาชนทั้งบหลายเขาต้องการ แม้ตัวผมเองทำอะไรก็คิดถึงใจประชาชนว่าเขาจะด่าว่าผมอย่างไรบ้างถ้าประชาชนไม่ต้องการผม ก็ต้องออกไปไม่ว่าตำแหน่งไหนประชาชนไม่เอาด้วย จะอยู่ดูหน้าคนได้ยังไงออกดีกว่าขืนดึงดันอยู่ก็เผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป้นผู้นำทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อโค่นล้มได้ก็ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าทำเพื่อประเทศชาติ มิได้ทำเพื่อตนเอง คณะรัฐประหารได้ตั้ง นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่บริสุทธิ์ยุติธรรม กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลังจากเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏรได้เสนอชื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรีแต่จอมพลสฤษดิ์ไม่ยอมรับเหตุเพราะว่าสุขภาพท่านไม่ดี จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นคนที่จอมพลสฤษดิ์ ไว้ใจและเป็นกำลังสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ มาตลอดตั้งแต่เข้าสู่การเมืองหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางไปรักษาโรคม้ามที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2501 การเจ็บป่วยของจอมพลสฤษดิ์นั้นท่านก็คงจะป่วยมามิฉะนั้นคงไม่ไปรักษาถึงประเทศอื่น อีกประการหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ฉลาดที่จะเลือกคนซื่อสัตย์ที่สุดคือจอมพลถนอม กิตติขจร ให้คุมอำนาจทางการเมืองไว้ ซึ่งถ้าไว้ใจกันไม่ได้ยึดอำนาจไว้เสียเองจอมพลสฤษดิ์ก็จะลำบากเพราะไม่ได้อยู่ในประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ไปรักษาตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ จอมพลสฤษดิ์ กลับเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ได้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติทำการยึดอำนาจอีกครั้งโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำการยึดอำนาจประกาศยุบสภาและยกเลิกรัฐธรรมนูญเสีย จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ร่วมเป็นรองประธานคณะปฏิวัติด้วย เมื่อยุบรัฐธรรมนูญแล้วจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ลงนาม โดยออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติรวม 57 ฉบับ ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 เหตุที่หยุดใช้ประกาศคณะปฏิวัติตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม เพราะว่าคณะปฏิวัติได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอานาจักรในวันนี้ ธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักรให้อำนาจเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรีอย่างมาก กล่าวคือมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรได้เขียนไว้ว่า ในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เป็นบอนทำราย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือการกระทำใดๆ ได้ และได้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฏหมายและวางคนและวางธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนรัรัชต์ ก็ไดรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชติ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 โดยมีคณะรัฐมนตรีเพียง 14 นาย (ไม่นับนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีที่มี แต่รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเท่านั้น ไม่มีรัฐมนตรีช่วยหรือ รัฐมนตรีซึ่งแสดงถึงการมีอำนาจเด็ดขาดอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องเอาใจใคร นับจากการรัฐประหารเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มาจนถึงการขึ้นเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นับกินเวลา 12 ปี ในระหว่างที่จอมพลสฤษดิ์ ได้ใช้วิธีการวางรากฐานอำนาจสำหรับช่วงชิงอำนาจสูงสุดทางการเมืองมาเป็นของตน การทำงานเป็นขั้นตอนด้วยความระมัดระวังจึงไม่มีอะไรผิดพลาดและเมื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่มีการกบฎเกิดขึ้นจนกระทั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 (ณรงค์ สินสวัสดิ์ ,2542:144) 5.3 ญี่ปุ่นรุกรานไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสงครามรุกรานมาถึงภาคตะวันออกไกลนี้ราวกลางปี พ.ศ. 2483 กรุงเทพได้กลายเป็นศูนย์กลางที่ชุมชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศมากที่สุดและเพิ่มขึ้นทุกทีจนเป็นที่น่าสังเกต นอกจากเป็นผู้แทนของบริษัทสื่อข่าวต่างๆ แล้ว ก็ยังเป็นผู้แทนของบริษัทวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นต่างๆ เช่น เยอรมัน อังกฤษ และที่มากที่สุดคือ ญี่ปุ่น หลั่งไหลเข้ามาเกือบทุกวัน เราจะได้รับข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทยบ่อยๆ และมี หลายครั้งที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นข่าวบางข่าวว่า ไม่มีมูลข่าวที่มีความจริง เพราะข่าวเหล่านี้หลายข่าวเป็นข่าวที่ผู้อ่านเข้าใจไปว่า ไทยมรนโยบายเอนเอียงไปทางประเทศที่กำลังทำสงครามอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สงครามโฆษณาที่กำลังต่อสู้กันทางอาวิธ หรือกำลังจะเข้าสู่สงครามด้วยเป็นไปอย่างกว้างขวาง และตอนค่ำวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 วิทยุกระจายเสียงสิงคโปร์ได้ออกข่าวการเคลื่อนไหว ของขบวนเรือลำเลียงทหารยืดยาวของญี่ปุ่นจากตอนให้ของอินโดนีจีน มุ่งไปในทางตอนใต้ของไทย เมื่อเวลาประมาณ 20ซ30 ของวันที่ 7 ธันวาคม นาย ทวี บุณเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับจากโทรศัพท์จาก พลตำรวจเอกอดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีซึ่งตอนนั้นอยู่ตรงข้ามกับวังสวนกุหลาบ นาย ทวี บุณยเกตุ ได้สั่งให้ติดต่อรัฐมนตรีทุกคนทางโทรศัพท์ แต่ว่ากว่าจะได้ตัวรัฐมนตรีมาเกือบครบก็เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน บางคนไม่อยู่บ้านและบางคนไปต่างจังหวัดเป็ฯที่หน้าสังเกตที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีศึกษาธิการ และแม่ทัพเรือก็ไปตรวจราชการ ระหว่างที่รอการประชุมของรัฐมลตรีนั้นก็ได้รับข่าวทางโทรเลขบ้างวิทยุโทรทัพท์บ้างว่า กองทหารญี่ปุ่นได้ยกพลบุกเข้ามาดินแดนไทยตามจุดต่างๆ อยู่เลื่อยๆและทุกจุดที่กองทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามานั้น ได้ประทะกับหน่วยทหารไทยบ้าง ตำรวจไทยและยุวชนไทยบ้าง จนเวลาเกือบ 01ซ00 น. ของวันที่ 8 กรกฏาคม การประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้เริ่มขึ้นได้ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุม เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่อยู่ไปตรวจแนวป้องกันทางทหารที่จังหวัดตะบอง เพราะได้ทราบระแคะระคายว่าญี่ปุ่นจะบุกไทย และนองนายกรัฐมนตรีได้โทรเลขขอร้องให้รีบกลับด่วนและยังส่งเครื่องบินไปรับด้วย แต่จอมพล ป. อาจเห็นว่าไม่ใช่เรื่องด่วนอย่างไรไม่มีใครทราบ เพราะปรากฎว่านายกรัฐมนตรีไม่ยอมกลับทางองบิน แต่ดินทางกลับทางรถยนต์ ส่วน พล.ร.อ. สินธ์ กมลนาวิน ก็เช่นกัน รองนายกรัฐมนตรีสั่งให้เครื่องบินไปรับที่สัตหีบก็ไม่ยอมกลับเครื่องบินก็ยังกับทางรถอย่างเดิมเมื่อมาถึงบางปูก็ถูกญี่ปุ่นจับกักตัวไว้จนมาประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินได้เวลา 10ซ00 น. ของวันรุ่งขึ้น พรองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ประชุมทราบว่า ผู้แทนญี่ปุ่นมีเอกอัครราชทูตและทูติทหารพร้อมเจ้าหน้าที่ นำบันทึกมายื่นต่อรัฐบาลขอเดินทรัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตรีอังกฤษทางแหลมมลายู และญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบว่าญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจะโจมตรีพร้อมๆกัน ขออย่าให้ไทยขัดขวาง เขารับรองว่าจะไม่ทำรายอธิปไตยของไทยเลยเพียงแค่เขาจะขอนำกำลังทหารผ่านกรุงเทพและเมืองบางเมืองเท่านั้น ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ ก็ได้มีรายงานเข้ามาเรื่อยๆว่า กองกำลังญี่ปุ่นได้ปะทะกับกำลังทหารและตำรวจของไทยแล้วหลายแห่ง บางแห่งได้เข้าชั้นรุนแรง บางส่วนเด็กยุวชนทหารก็เข้าช่วยสู้รบกองทหารญี่ปุ่น อันเป็นการแสดงกากล้าหารและรักชาติ (ประจวบ อัมพะเศวต, 2543:121) 6. ผลงานแนวมานุษยวิทยามากซิสต์ของไทย นอกเหนือไปจากการนำเอาทฤษฎีมากซิสม์มาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง ดังผลงานที่เราได้พิจารณาไปแล้วบางส่วนในตอนต้น การศึกษาสังคมไทยแนวมานุษยวิทยามากซิสต์ของนักมานุษยวิทยาชาวไทยสองท่าน คือ อานันท์ กาญจนพันธ์ และ ชยันต์ วรรธนะภูติ นับเป็นผลงานที่ควรค่าแก่การศึกษาและติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการบุกเบิกแนวทางการศึกษาแนวใหม่ และนำเอามโนคติของมากซิสม์มาประยุกต์ใช้วิเคราะห์สังคมอย่างเป็นระบบและในแง่มุมที่เแปลกใหม่ (ดร.ยศ อันตสมบัติ , 2538 : 226) วิทยานิพนธ์เรื่อง The Partial Commercialization of Rice Production in Northern Thailand ( 1900-1981) ของ อานันท์ กาญจนพันธ์ (1984) เป็นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตและการค้าในหมู่บ้านภาคเหนือของไทย โดยเน้นที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการใช้ที่ดินและแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างระบบเศรษฐกิจของหมู่บ้านและระบบเศรษฐกิจการตลาดของภูมิภาค ประเทศ และระบบทุนนิยมโลก ตลอดจนพลวัตสังคมและความขัดแย้งในความสัมพันธ์ทางการผลิต สิ่งที่น่าสนใจที่สุดประการหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ การนำเอา ความสัมพันธ์ทางการผลิต ซึ่งเป็นมโนคติของมากซิสม์ มาประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจในหมู่บ้าน งานชิ้นนี้มิได้อธิบายความสัมพันธ์ทางการผลิตเพียงในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของเครื่องมือการผลิตและผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ทางการผลิตกับความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ การพึ่งพาอาศัยในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อกลไกของตลาดและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมค่อย ๆ แทรกตัวเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจเดิมท้องถิ่น ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1900 ยังผลให้ระบบเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ถูกดูดกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก อานันท์ได้แบ่งพัฒนาการาของระบบเศรษฐกิจของ บ้านสันปอง ออกเป็นสี่ช่วงด้วยกัน ช่วงแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 - 1920 อันเป็นยุคสมัยที่รัฐบาลอังกฤษเข้ามาทำการค้าและนำเอา ระบบเงินตรา เข้ามาในหมู่บ้านภาคเหนือ รัฐบาลไทยได้พยายามนำเอาระบบรวมศูนย์อำนาจเข้ามาใช้ เพื่อป้องกันการแพร่ขยายอิทธิพลของมหาอำนาจยุโรป มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค และนำเอาระบบการเสียภาษีอากรในรูปของ เงิน เข้ามาใช้ ช่วงที่สอง เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 ซึ่งเป็นปีที่ทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่สร้างเสร็จสมบูรณ์ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1955 ในช่วงเวลานี้ รัฐบาลมิได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบบการผลิตและการค้าในหมู่บ้านภาคเหนือมากนัก พ่อค้าชาวจีนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมตลาดและสินเชื่อ เพื่อกำหนดและสนับสนุนให้ชาวนาภาคเหนือผลิตพืชผลตามความต้องการของตลาดภายนอก ภาษีส่งออกข้าวที่รัฐบาลเก็บในอัตราที่สูง ทำให้โอกาสที่ชาวนาจะมีส่วนร่วมในตลาดข้าวเป็นไปได้น้อยมาก ช่วงที่สามของพัฒนาการเศรษฐกิจของหมู่บ้าน คือ ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1955- 1973 ในช่วงนี้ รัฐบาลไทยโดยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ริเริ่มโครงการพัฒนาชนบทหลายโครงการด้วยกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ชาวนาภาคเหนือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก การให้สินเชื่อการเกษตร การแนะนำเทคนิคการเพาะปลูกแบบใหม่ ๆ เช่น การใช้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกันศัตรูพืชทำให้ระบบเศรษฐกิจของชาวนาไทยภาคเหนือเปลี่ยนแปลงไป จากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการค้าในอัตราที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วงสุดท้าย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยภายใต้การแนะนำของธนาคารโลก ได้พยายามกระจายทุนและเทคโนโลยีไปสู่ชนบทของประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลก็ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินขนาดเล็ก ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยแรงงานภายในครัวเรือนและแรงงานจากเพื่อนบ้านดุจดังเดิม การจ้างแรงงานมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมิได้พัฒนาเข้าสู่ระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานด้วยเงินตราอย่างสมบูรณ์ การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและกลไกของตลาดที่เข้าควบคุมการผลิตเอื้อผลประโยชน์ให้แต่เฉพาะเจ้าของที่ดินรายใหญ่และชาวนาที่ร่ำรวย ซึ่งสามารถลงทุนเพาะปลูกพืชผลหลายชนิดเพื่อเป็นสินค้า และมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้ามากกว่าชาวนาที่ยากจนและเจ้าของที่ดินรายย่อย แม้กระนั้นก็ดี การลงทุนเพื่อผลผลิตทางการเกษตรก็ยังมีอยู่น้อยมากเจ้าของที่ดินรายใหญ่มักให้ชาวนาที่ไร้ที่ดินเช่าที่ทำกิน และนำเงินมาลงทุนทางด้านการค้าหรือการให้เช่าอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ มากกว่าการที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรโดยตรง นอกจากนั้น ระบบสินเชื่อการเกษตรยังคงให้ผลประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินรายใหญ่และชาวนาร่ำรวยมากกว่าชาวนายากจน งานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การยึดครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวได้พัฒนาขึ้นมาในสังคมล้านนาเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง อันเป็นผลมากจากการจำกัดสิทธิในการถือครองที่ดินและการควบคุมบังคับโดยรัฐบาลไทย เจ้า ผู้ปกครองท้องถิ่นซึ่งได้สูญเสียอำนาจไปเนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาล ได้กว้านซื้อและยึดเอาที่ดินมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวทั้งนี้เพื่อรักษาระดับรายได้ และทำให้ระบบการเช่าที่นาซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์เริ่มพัฒนาขึ้นมา ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1922 1954 ระบบการค้าเสรีได้ช่วยให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ตักตวงผลกำไรและขยายกำลังทุนและที่ดินของตนเพิ่มมากขึ้น ในห้วงเวลานี้ ความต้องการข้างของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การรับจ้างเจ้าของที่นาทำนาเพิ่มมากขึ้น การรับจ้างทำนายังผลให้เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ได้กำไรจากการค้าข้าวและมีกำลังทุนเพื่อกว้านซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยให้ฐานะและอำนาจของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในหมู่บ้านสูงขึ้นตามลำดับ การเช่านาและการรับจ้างทำนาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ สามารถตักตวงผลประโยชน์และผลผลิตส่วนเกินจากชาวนาที่ยากจนได้การนำปุ๋ยและสารเคมีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตคงเอื้ออำนวยประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น เมื่อที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเจ้าของที่ดินเพียงไม่กี่คน ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองจำต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานและขายแรงงานของตนเป็นกรรมกร อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของตลาดแรงงานยังคงมีข้อจำกัดอยู่หลายประการด้วยกัน ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดคือ ความต้องการของแรงงานในตลาดแรงงานมักไม่มีความคงที่ และชาวนาส่วนใหญ่ยังคงสามารถทำกินบนที่ที่มาซึ่งเช่าจากผู้อุปถัมภ์ของตนได้ ระบบอุปถัมภ์ การเช่าที่นาโดยจ่ายค่าเช่าเป็นอัตราส่วนของผลผลิตที่ได้ และการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างเพื่อนบ้าน ยังคงเป็นส่วนสำคัญของระบบการผลิตของหมู่บ้าน ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1955 1973 ความขัดแย้งที่เกิดจากการกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวนาที่ร่ำรวยและชาวนายากจนได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ชาวนาไร้ที่ดินจำต้องของแรงงานของตนและกลายเป็นกรรมกรเพิ่มมากขึ้น ชาวนาชั้นกลางยังคงทำการแลกเปลี่ยนแรงงานกับเพื่อนบ้านของตน ในขณะที่ชาวนาร่ำรวยยังจำต้องให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือชาวนายากจนเพื่ออาศัยแรงงานทำการเพาะปลูก แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา การทำนาปีละสามครั้งและการใช้เครื่องมือเครื่องจักรสมัยใหม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องการว่าจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน เจ้าของที่ดินขนาดย่อมก็ยังคงต้องสามารถรักษาที่ดินของตนเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผูกขาดที่ดินของชาวนาร่ำรวย นอกจากนั้น การอพยพโยกย้ายไปรับจ้างทำนา ทำให้เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ยังคงต้องทำตนเป็น ผู้อุปถัมภ์ ต่อชาวนายากจน เพื่อเป็นหลักประกันว่า ตนจะมีแรงงานช่วนในาการผลิตอย่างสม่ำเสมอ กล่าวโดยสรุปแล้ว งานวิจัยของอานันท์ได้ชี้ให้เห็นว่า การแทรกแซงของระบบทุนนิยมเข้าไปในหมู่บ้านภาคเหนือ ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาตัวของตลาดเพื่อซื้อขายที่ดิน แรงงาน และทุน ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบการค้าเสรี แต่พัฒนาการของระบบการค้าดังกล่าวยังไม่มีความสมบูรณ์ เพราะคุณค่าส่วนเกินที่ได้จากผลผลิตถูกนำกลับไปลงทุนด้านการเกษตรเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ความช่วยเหลือจากรัฐเอื้ออำนวยผลประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่มากกว่าชาวนาที่ยากจน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวชนบท จำต้องเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาในด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน การใช้แรงงาน และการกระจายระบบสินเชื่ออย่างทั่วถึง แทนที่จะคำนึงถึงการเพิ่มผลผลิตแต่เพียงอย่างเดียว งานวิจัยแนวมานุษยวิทยามากซิสต์ที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของนักวิชาการชาวไทย คือ Cultural and Ideological Reproduction in Rural Northern Thailand ของ ชยันต์ วรรธนะภูติ (1984) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลักษณะการสืบทอดปลูกฝังอุดมการณ์และวัฒนธรรมในชุมชนชนบททางภาคเหนือของไทย แม้ว่าการศึกษาครั้งนี้จะเป็นการนำเอากรอบแนวความคิดของนักวิชาการตะวันตกมาใช้ (Chayan) 1984 :23 91) แต่งานวิจัยของชยันต์ก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากผลงานของนักวิชาการตะวันตกที่แล้ว ๆ มาอยู่หลายประการด้วยกัน คือ ประการแรก งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาการสืบทอดทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ในชุมชนหรือหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซึ่งวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมและแบบทุนนิยมดำรงอยู่เคียงคู่กันไป ประการที่สอง ผลงานชิ้นนี้มิได้ศึกษาแต่เฉพาะโรงเรียนในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการปลูกฝังและสืบทอดอุดมการณ์และค่านิยมทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ครอบครัว สถาบันศาสนา และการชักจูงของรัฐ ชยันต์เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์พัฒนาการทางประวัติศาส่ตร์ของการจัดรุปแบบสังคมล้านนาไทย การแทรกซึมของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามาในหมู่บ้านล้านนา การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของรัฐบาล และอิทธิพลของบริษัทการค้าของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการค้าไม้สักทางภาคเหนือ ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากสัญญาเช่าระหว่างผู้ปกครองท้องถิ่นกับบริษัทต่างชาติ ยังผลให้รัฐบาลไทยต้องเข้ามาแทรกแซงและเริ่มทำการเก็บภาษีหลายชนิด ทำให้เกิดการกบฏและการประท้วงของชาวนาขึ้นหลายครั้งด้วยกัน ในราวต้นคริสต์ศวรรษที่ 20 การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเริ่มดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการปูพื้นฐานให้กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาในสังคมล้านนา ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา ชาว บ้านช้าง เริ่มทำการเพาะปลูกยาสูบเพื่อขายให้กับบริษัทต่างชาติเพิ่มเติมจากการผลิตเพื่อยังชีพของตน และในระหว่างปี ค.ศ. 1950 1960 ยาสูบได้กลายมาเป็นพืชผลทางการค้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของหมู่บ้าน นอกจากนั้นก็ยังมีการลักลอบตัดไม้เพื่อขายให้กับผู้ซื้อจากภายนอกหมู่บ้าน ชยันต์ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางการผลิตในบ้านช้างเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินหรือพ่อเลี้ยง ที่ตักตวงเอาผลประโยชน์จากผู้เช่าที่ดินและกรรมกร ผู้เช่าที่ดินต้องจ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิต 50% ของผลผลิตทั้งหมดอิทธิของระบบทุนนิยมที่แผ่ขยายเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการที่ดินเพาะปลูกทวีสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินแทบทั้งหมู่บ้านถูกผูกขาดโดยเจ้าของที่ดินหรือพ่อเลี้ยงเพียงไม่กี่คนซึ่งร่ำรวยขึ้นจากการค้ายาสูบ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและอำนาจรัฐที่แพร่ขยายเข้าไปในหมู่บ้าน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน รวมทั้งการรวมตัวทางชนชั้น แม้กระนั้นก็ดี ความขัดแย้งและการรวมตัวทางชนชั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เพราะชาวนาขาดผู้นำ นอกจากนั้น ชาวบ้านช้างยังได้รับการปลูกฝังและยัดเยียดค่านิยมจากหน่วยงานและกลไกของรัฐ เช่น ครอบครัว โรงเรียน วัด สื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งการครอบงำทางความคิดจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่นลูกเสือชาวบ้าน อันยังผลให้การรวมตัวทางชนชั้นมิได้มีลักษณะทีสมบูรณ์และต่อเนื่อง ระบบความคิดและอุดมการณ์ของชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาติ ที่ได้รับการบำรุงรักษาและสืบทอดจากกลไกที่เชื่อมโยงจากส่วนกลางไปยังชุมชนและหมู่บ้านในชนบท และทำหน้าที่ดำรงรักษาและสืบทอดจากกลไกรัฐที่เชื่อมโยงจากส่วนกลางไปยังชุมชนและหมู่บ้านในชนบท และทำหน้าที่ดำรงรักษาอุดมการณ์ของชาติเอาไว้ ครอบครัวเป็นองค์กรสำคัญอันหนึ่งซึ่งทำหน้าที่สืบทอดและปลูกฝังอุดมการณ์และวัฒนธรรมในหมู่บ้าน ชยันต์เชื่อว่า ประเพณีและพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ เป็นตัวอย่างอันดีที่ช่วยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวดำรงรักษาระบบเอาไว้ และช่วยในการควบคุมที่ดินและแรงงานของครอบครัว ในทำนองเดียวกัน ความเชื่อเรื่องการทำบุญ ทำหน้าที่ดำรงรักษาความมั่นคงทางการเมืองและความสมานฉันท์ ความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ความเชื่อเหล่านี้กลายมาเป็นพื้นฐานของระบบศีลธรรมและพฤติกรรที่ถูกต้องดีงามในระดับหมู่บ้าน อุดมการณ์ทางพุทธศาสนาได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังโดยภิกษุ สามเณร ประเพณีการทำบุญและงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้น อุดมการณ์เหล่านี้ยังได้รับการปลูกฝังจากครู สื่อมวลชน วัด และโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น ลูกเสือชาวบ้าน แม้กระนั้นก็ดี เรามิอาจสรุปได้ว่า ชาวบ้านทุกคนยอมรับอุดมการณ์ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังจากองค์กรของรัฐ ชาวบ้านทุกคนมิได้อธิบายสาเหตุของความยากจนของพวกเขาว่ามาจากกรรมแต่ชาติปางก่อน ความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ว่า โครงสร้างของระบบเอื้ออำนวยผลประโยชน์แก่คนรวยและเอาเปรียบคนจน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การปลูกฝังถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐนั้นมิได้มีความสมบูรณ์ หรือเป็นตัวกำหนดอุดมการณ์ทั้งหมดของชาวบ้าน ชาวบ้านช้างและชาวบ้านอื่น ๆ ทางภาคเหนือของไทยมีส่วนในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของตนเองด้วยเช่นกัน การศึกษาสังคมวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงสังคมของนักมานุษวิทยามากซิสต์ชาวไทยในปัจจุบัน ดังที่เราได้พิจารณามาโดยสรุป เป็นความพยายามที่จะนำเอากรอบทฤษฎีสังคมทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีมากซิสม์มาดัดแปลงและประยุกต์ใช้ศึกษาสังคมไทย ในอดีตนั้น การศึกษาสังคมไทยโดยใช้กรอบของทฤษฎีมากซิสม์ มักเป็นการรับเอาทฤษฎีมากซิสม์มาทั้งหมด และนำเอาข้อมูลมาใช้เพื่อพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของทฤษฎี ดังเช่น การใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ระบบศักดินาไทยของ จิตร ภูมิศักดิ์ และอุดม ศรีสุวรรณ หรือการศึกษาพัฒนาการของสังคมเพื่อพิจารณาว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบใด กึ่งศักดินา กึ่งเมืองขึ้น กึ่งเมืองขึ้น - กึ่งทุนนิยม หรือทุนนิยมแบบพึ่งพาและด้อยพัฒนา (กนกศักดิ์และสมเกียรติ, 2524 : ง) ดังเช่นงานของนักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มองภาพของสังคมไทยในรูปของสังคมส่วนรวมผลงานเหล่านี้แตกต่างไปจากงานของนักมานุษยวิทยาที่เน้นศึกษาชุมชนหรือหมู่บ้านเล็ก ๆ ศึกษาโครงสร้างและพัฒนาการของหมู่บ้าน ดดยพิจารณาถึงความเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านกับจังหวัด ภูมิภาค ประเทศ และอิทธิพลภายนอกที่มากำหนดพัฒนาการของสังคม โดยนำเอามโนคติของมากซิสม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมากซิสม์แนวอัลทูแซร์ มาดัดแปลงประยุกต์ใช้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชนบทกับระบบทุนนิยม ผลงานของนักทฤษฎีมากซิสม์ชาวไทยรุ่นใหม่เป็นความพยายามที่จะเลือกเอามโนคติและทฤษฎีมากซิสม์บางส่วนมาประยุกต์ใช้ศึกษาสังคมไทย แทนที่จะรับเอาทฤษฎีทั้งหมดมาใช้เป็นแม่บทของการวิเคราะห์ดังเช่นงานรุ่นเก่า ผลงานของนักมานุษยวิทยาชาวไทย เช่น อานันท์ กาญจนพันธ์ ยังมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับงานของนักมานุษยวิทยาอเมริกัน เช่น อีริค วูล์ฟ และ ซิดนีย์ มินซ์ ซึ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมชาวนาและระบบทุนนิยม แนวโน้มที่นักมานุษวิทยาชาวไทยรุ่นใหม่ได้เริ่มหันมาสนใจทฤษฎีมากซิสม์และนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาชุมชนเล็ก ๆ ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของมานุษวิทยามากซิสม์ในประเทศไทยกำลังเริ่มต้น ด้วยการนำเอามโนคติที่สำคัญ ๆ ของมากซิสม์ เช่น วิธีการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิต ความขัดแย้ง จิตสำนึกและอุดมการณ์มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์สังคมไทยต่อไป 7. สรุป มาร์กซิสต์ไทย ถือว่าเป็นลัทธิทางการเมืองอีกลัทธิหนึ่ง ที่มีความสำคัศญและเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับประเทศไทย และคนในสังคมไทยอย่างมาก ดังจะเห็นได้ในโครงร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ ของปรีดี พนมยงค์ โดยมีสาระสำคัญ มุ่งไปที่การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และถือว่ารัฐธรรมนูญ เปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎร ได้มีส่วนมีเสียงในการปกครอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นอกจากนั้นมาร์กซิสต์ไทย ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ ของสังคมไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
18 กรกฎาคม 2546 18:32 น. - comment id 69243
เจ้าคงนามรัฐศาสตร์ศาสตร์แห่งสิทธิ์ เจ้าจงคิดทรนงทรงศักดิ์ศรี เจ้าจงนำค้ำหนุนคุณความดี เจ้าจงมีจิตสำนึกตรึงปวงชน การปกครองผองรัฐขจัดภัย ปกถิ่นไทยไพบูลย์สุขถ้วนแห่งหน ใช้ความรู้ควรคู่กับตัวตน ส่งก่อผลเสริมค่าให้ก้าวไกล ความสัมพันธ์ต่างรัฐระหว่างเขต หลากประเทศหลายถิ่นกระจ่างใส ด้วยการทูตปลูกสายไมตรีใจ ประยุกต์ใช้ความคิดติดเหตุการณ์ บริหารยุติธรรมเป็นแกนหลัก เจ้าพิทักษ์คุณธรรมบัลลังก์ศาล ประพฤตินำกฎหมายคงยืนนาน ด้วยห้าวหาญป้องราษฎร์ชนชาติไทย รัฐกิจรัฐประศาสนศาสตร์ ดำเนินราชหน่วยรัฐงานแก้ไข อำนวยสุขบรรเทาทุกข์องค์กรไทย ตระหนักในคุณค่าราชการ
20 พฤษภาคม 2549 15:51 น. - comment id 90816
มาร์กซิสต์ไทย ถือว่าเป็นลัทธิทางการเมืองอีกลัทธิหนึ่ง ที่มีความสำคัศญและเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับประเทศไทย และคนในสังคมไทยอย่างมาก ดังจะเห็นได้ในโครงร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ ของปรีดี พนมยงค์ โดยมีสาระสำคัญ มุ่งไปที่การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และถือว่ารัฐธรรมนูญ เปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎร ได้มีส่วนมีเสียงในการปกครอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นอกจากนั้นมาร์กซิสต์ไทย ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ ของสังคมไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
20 พฤษภาคม 2549 15:51 น. - comment id 90817
มาร์กซิสต์ไทย ถือว่าเป็นลัทธิทางการเมืองอีกลัทธิหนึ่ง ที่มีความสำคัศญและเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับประเทศไทย และคนในสังคมไทยอย่างมาก ดังจะเห็นได้ในโครงร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ ของปรีดี พนมยงค์ โดยมีสาระสำคัญ มุ่งไปที่การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และถือว่ารัฐธรรมนูญ เปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎร ได้มีส่วนมีเสียงในการปกครอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นอกจากนั้นมาร์กซิสต์ไทย ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ ของสังคมไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
28 มกราคม 2552 20:07 น. - comment id 103585
ยาวชีพหายเลย แต่ก็ใช้ได้นะ