ศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ********************* นับแต่อดีตกาลนานนับพันปีที่แล้ว ประเทศอินเดียเคยเป็นศูนย์กลางสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งนักปราชญ์ในสมัยนั้นจะใช้วิธีถ่ายทอดความรู้ต่อกันโดยผ่านทางคัมภีร์ที่มีอยู่หลากหลาย อาทิเช่น ปรัชญา, ศาสนา, การรักษาโรค, วรรณกรรม, ละครและศิลปะ, โหราศาสตร์, คณิตศาสตร์และสังคมวิทยา งานเหล่านี้ก็ถูกสอนและถูกเขียนขึ้นภายใต้อิทธิพลของพระพุทธศาสนา การศึกษาและค้นคว้าเริ่มขยายออกไปอย่างกว้างขว้างโดยเฉพาะแก่ผู้สนใจค้นคว้า และสถาบันที่มีมาตรฐานและมีชื่อเสียงก็ได้เกิดจากสถานที่อันนักค้นคว้าในสมัยนั้นเองพำนักอยู่ (ในสมัยนั้นมีแต่วัดและสถานทีอันเกี่ยวข้องกับศาสนา) จะเห็นได้จากมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกก็คือมหาวิทยาลัยนาลันทา และวิกรมศิลา แม้กระทั่งตักกสิลา (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) ก็เป็นสำนักที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น พูดถึงนาลันทามหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงพุทธศักราชที่ 5 ถึง 13 ตามบันทึกของพระถังซัมจั๋ง (ตามหลักฐานที่ค้นพบ กล่าวได้ว่าท่านมีตัวตนจริง ๆ และท่านเคยไปเรียนที่นั่น เมื่อประมาณ พ.ศ 700) ท่านเล่าว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีคณาจารย์และนักเรียนนับหมื่น ๆ และยังมีนักศึกษาจากชาติต่าง ๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ศรีลังกา จีน และชาติอื่น ๆ ก็มีเป็นจำนวนมาก ล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 11 ชาวมุสลิมเริ่มมีบทบาทอย่างมากโดยพากันก่อสร้างโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาเรียกว่า "Madrassahs" หรือวิทยาลัย ในขณะเดียวกันนั้นเองชาวมุสลิมยังเริ่มสร้างมหาวิทยาลัย เช่น ที่เมืองเดลี (ปัจจุบันยังเหลืออาคารหลงเหลือให้เห็นเป็นจำนวนมาก) ลัคเนาและ อัลละหะบัด และพากันใช้ภาษาอาหรับเป็นส่วนกลางในการสอน ระหว่างระยะเวลายุคกลางนี้เอง ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้น โดยเกิดการผสมผสานกันระหว่างศิลปวัฒนธรรมอินเดียและศิลปวัฒนธรรมอิสลามในเกือบทุก ๆ เรื่องของสายความรู้อาทิเช่น เทววิทยาศาสนา, ปรัชญา, วิจิตรศิลป์, สถาปัตยกรรม, คณิตศาสตร์, การแพทย์และดาราศาสตร์ สถาบันการศึกษาแบบตะวันตก (สมัยใหม่) เริ่มมีขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของชาวอังกฤษ โดยการนำเข้ามาพร้อมกับการเผยแพร่ของเหล่ามิชชันนารี ในปี 1817 ก่อตั้งวิทยาลัยชาวฮินดูในกรุงกัลกัตตา ปี 1834 ก่อตั้งสถาบัน Elphinstone ในเมืองท่าของอินเดีย (บอมเบย์) ปี 1857 ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น 3 แห่งที่กรุงกัลกัตตา, Madras และ Bombay ตั้งแต่นั้นมา การศึกษาทางด้านตะวันตกก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากถึง 291 แห่ง และสถาบันต่าง ๆ นับพันก็เกิดขึ้นและขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยเหล่านี้ วิทยาลัยวิศวกรรม 428 แห่ง และสถาบันเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากกว่า 100 แห่ง วิทยาลัยการแพทย์ และสถาบันที่เกี่ยวกับความชำนาญการจำนวนมากก็เกิดขึ้น สถาบันเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนและนักเรียนประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้ใคร่ศึกษาจากนานาชาติ ในปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยในอินเดียและสถาบันการศึกษาระดับสูง เริ่มเบนความสนใจไปในเรื่องของวิทยาศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ วิชาฟิสิกส์ประยุกต์และวิชาเคมี คณิตศาสตร์ และในด้านเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นสูงกำลังทำหน้าที่ที่จะเปลี่ยนรูปประเทศให้ทันสมัย โดยมุ่งให้เป็นรัฐอุตสาหกรรม หรือรัฐที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี่ ระบบการเรียน ในประเทศอินเดีย ระบบการศึกษาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยและสถาบันที่ศึกษาเจาะจงเฉพาะด้านเป็นศูนย์กลางสำหรับการเรียนรู้ในระดับสูง การศึกษาและหลักการของสถาบันเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงเนื้อหาของวิศวกรรม-คอมพิวเตอร์-การค้นคว้าอวกาศ และก็มีมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากที่พยายามจะสร้างโครงข่ายและรับสมาชิกที่เป็นสถาบันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้เข้ามาอยู่ในสังกัด โดยทั่วไปวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่ๆ และสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ นั้นจะนิยมสอนวิชาในระดับปริญญาตรีซึ่งจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การศึกษาระดับที่สูงกว่าระดับปริญญาตรีนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางวิทยาลัยอีกชนิดหนึ่งที่เปิดสอนในทุกระดับชั้นซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะไม่มีวิทยาลัยที่ขึ้นต่อตัวเอง มหาวิทยาลัยและสถาบันอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเปิดสอนวิชาชีพและวิชาเทคนิคต่างๆ ซึ่งเปิดสอนเช่นเดียวกับสถาบันที่กล่าวมาข้างต้น เช่น IIT AIIMS IFRI IIM เป็นต้น สถาบันเหล่านี้เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมากทั้งในอินเดียและเอเชีย ลักษณะเฉพาะของการศึกษาที่อินเดีย คือการเปลี่ยนแปลงได้ยืดหยุ่นง่ายแต่มีคุณภาพ และคุณภาพของการศึกษาชั้นสูงนี้เองได้ดึงดูดนักเรียนระหว่างประเทศมาที่มหาวิทยาลัยในอินเดีย หลักสูตรและปริญญา 1.หลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยทั่วไป จะเรียนกัน 3 ปี หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยจะมอบปริญญาให้ ซึ่งมีหลายสาขา อาทิเช่น สายศิลปะ วิทยาศาสตร์ พาณิชย์ อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เป็นสาขาเกี่ยวกับความชำนาญและเชี่ยวชาญ เช่น วิศวกรรม แพทย์ศาสตร์ ทันตกรรมและเภสัชศาสตร์ เหล่านี้จะต้องศึกษากันถึง 4 ปี ถึง 5 ปีครึ่ง 2.หลักสูตรปริญญาโท วิชาในสายศิลปะ,วิทยาศาสตร์และแพทย์ศาสตร์นั้นจะเรียนกัน 2 ปี ก็จะถือว่าจบปริญญาโท ในบางสาขา เช่น ในด้านการศึกษา นักศึกษาที่จบมาจากสาขาอื่นๆนี้ สามารถจะศึกษาต่อได้ในสาขานี้(โดยปกติต้องเรียนต่อสาขาที่จบมา) บางมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาบางแห่งจะเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรและหลักสูตรระยะสั้น ในสาขาต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี่ วิศวกรรม แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่หลักสูตรจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะกำหนดระยะเวลาการศึกษา เช่น 3 หรือ 6 เดือน 3.หลักสูตรปริญญาเอก โดยปกติจะเวลาเรียน3ถึง 5 ปี การศึกษาในระดับปริญญาเอกนี้ไม่ต้องเข้าชั้นเรียน มีบางมหาวิทยาลัยต้องเรียน M. Phill เช่น มหาวิทยาลัยเดลี เพื่อเป็นการเตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ การเขียนวิทยานิพนธ์นั้นจำเป็นต้องไปพบที่อาจารย์ที่ปรึกษา หรือต้องไปเซ็นซื่อที่คณะ หรืออาจจะทำการตกลงกับอาจารย์ ว่าขอกลับมาเขียนงานที่เมืองไทยก็ได้ สถาบันระดับมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน ประเทศอินเดียมีสถาบันระดับมหาวิทยาลัยจำนวน 291 แห่ง (เป็นมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ เปิดสอนเป็นบางคณะจำนวน 70 แห่ง) ในจำนวนนี้ 17 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงทรัพยากรณ์มนุษย์ (Ministry of Human Resource Department) 162 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (รวมทั้งสถาบันศึกษาเฉพาะด้าน 34 แห่ง) และอื่น ๆ เป็นสถาบันอาชีวศึกษาและเทคนิค มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม (รวมทั้งการป่าไม้, โรงรีดนม, การประมง, และสัตวแพทย์) 40 แห่ง เกี่ยวกับแพทยศาสตร์ 18 แห่ง เกี่ยวกับวิศวกรรมและเทคโนโลยี 33 แห่ง และเกี่ยวกับ IT (Information Technology) 3 แห่ง และยังมีวิทยาลัย 12,342 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นวิทยาลัยสำหรับสตรี 1,525 แห่ง คุณสมบัติผู้สมัคร สำหรับหลักเกณฑ์ในการรับสมัครเข้าในระดับปริญญาตรีนั้น นักศึกษาต้องจบการศึกษาหรือเทียบเท่า ม.6 หรือต้องเรียนในโรงเรียน 12 ปี และต้องผ่าน 5 วิชาหลัก พร้อมทั้งได้เกรดเฉลี่ย 60-70% แต่สำหรับผู้ต้องการเข้าศึกษาต่อสาขาวิทยาศาสตร์ต้องมีคะแนน 75-80% ขึ้นไป และต้องผ่านสายวิทยาศาสตร์มาเท่า แต่ในสาขาเหล่านี้ก็มีจำกัดสำหรับนักเรียนทั่วไป แต่นักศึกษาต่างชาติก็มีโอกาส โดยอาจจะเข้าเรียนในฐานะโควตาตามหลักเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดก็ได้ การเข้าศึกษาในสายวิทยาศาสตร์และในด้านบริหาร หรือ MBA นักศึกษาต้องได้รับการรับรองเข้าเรียนต่อจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของอินเดียก่อน แม้กระทั่งบางแห่งนักศึกษาต้องแสดงใบผลการสอบภาษาอังกฤษด้วย หลักฐานการศึกษา เอกสารที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการยื่นสมัครเรียน มีดังต่อไปนี้ ในระดับปริญญาตรี 1.เอกสารแสดงผลการเรียน(Transcripts)ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6หรือใบเทียบ ม.6 (สำหรับผู้ที่ใช้วุฒิ ป.ธ.5/6 ขอเทียบวุฒิจากสำนักงานพระศาสนาแห่งชาติ) 2.เอกสารใบส่งตัวนักศึกษา(Migration Certificate)จากสถาบันต้นสังกัด 3.เอกสารหนังสือเดินทาง(Passport)หน้าที่มีรูป พร้อมเอกสารตรวจลงตราสำหรับการศึกษา(Student Visa)อย่างละ1 ชุด 4.รูปถ่ายขนาด2 นิ้ว จำนวน1 โหล ในระดับปริญญาโท 1.เอกสารแสดงผลการเรียน(Transcripts)ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6หรือใบเทียบ ม.6(สำหรับผู้ที่ใช้วุฒิ ป.ธ.5/6 ขอเทียบวุฒิจากสำนักพระศาสนาแห่งชาติ) 2.เอกสารแสดงผลการเรียน(Transcripts)และใบปริญญาบัตรระดับปริญญาตรี 3.เอกสารใบส่งตัวนักศึกษา(Migration Certificate)จากสถาบันต้นสังกัด 4.เอกสารหนังสือเดินทาง(Passport)หน้าที่มีรูป พร้อมเอกสารตรวจลงตราสำหรับการศึกษา(Student Visa)อย่างละ1 ชุด 5.รูปถ่ายขนาด2 นิ้ว จำนวน1 โหล สำหรับผู้จบเปรียญธรรม 9 ประโยค(ป.ธ.9) สามารถสมัครเรียนได้ ในระดับปริญญาเอก 1.เอกสารแสดงผลการเรียน(Transcripts)ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6หรือใบเทียบ ม.6(สำหรับผู้ที่ใช้วุฒิ ป.ธ.5/6 ขอเทียบวุฒิจากสำนักพระศาสนาแห่งชาติ) 2.เอกสารแสดงผลการเรียน(Transcripts)และใบปริญญาบัตรระดับปริญญาตรี 3. เอกสารใบส่งตัวนักศึกษา(Migration Certificate)จากสถาบันต้นสังกัดและใบปริญญาบัตรปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด 4.เอกสารหนังสือเดินทาง(Passport)หน้าที่มีรูป พร้อมเอกสารตรวจลงตราสำหรับการศึกษา(Student Visa)อย่างละ1 ชุด 5.รูปถ่ายขนาด2 นิ้ว จำนวน1 โหล 6.บทคัดย่อหัวข้อวิทยานิพนธ์(Synopsis of Ph.D. Thesis) หมายเหตุ: -เอกสารการสมัครเรียนแต่ละมหาวิทยาลัยอาจต้องการแตกต่างกันบ้าง -สำหรับผู้ขอสมัครเรียนในระดับปริญญาตรีนั้นอายุต้องไม่เกิน 22 ปี -เอกสารทุกฉบับต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ -ในวันเดินทางไปศึกษา ต้องนำเอกสารตัวจริง(Original Document)ทุกฉบับติดตัวไปด้วย -ในกรณีที่ยังไม่ได้Student Visa ขอให้ทำหนังสือเดินทาง(Passport)ให้เรียบร้อยก่อน หลังจากได้ยื่นใบสมัครแล้วและทางมหาวิทยาลัยรับรองว่า ผู้สมัครมีคุณสมบัติที่จะเรียนตามคณะนั้นๆได้เขาจึงออกหนังสือให้(Eligibility Certificate)เพื่อยื่นขอ Student Visa ที่สถานทูตอินเดีย แต่มีบางมหาวิทยาลัยสามารถออก Student Visaได้เลย ส่วนTourist Visaจะไม่ไดรับการพิจารณาออกAdmissionให้เข้าเรียนโดยเด็ดขาด -เอกสารแสดงผลการเรียน(Transcripts)ของชั้น ม. 6ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษต้องระบุด้วยว่าเป็นเกรด 12 สามารถทำได้ที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ วันเปิด-ปิดภาคการเรียน การเปิด-ปิดภาคการศึกษาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศไทยโดยจะเริ่มเปิดประมาณต้นเดือน กรกฎาคม และสิ้นสุดการเรียนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ในระหว่างภาคการศึกษานั้นมีวันหยุดดังนี้ -Autumn Vacation .........1st October to 15th October -Winter Vacation ....... 24th December to 7th January -Summer Vacation .........1st May to 15th July สภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนไทย ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนไทยในประเทศอินเดียมีวิถีชีวิตไม่แตกต่างกับนักศึกษาของไทยมากนัก คือเน้นเรื่องการศึกษา และการใช้ชีวิตในวัยเรียน แต่ในเรื่องของวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ตลอดจนอาหารจะแตกต่างอย่างมาก เช่น คนที่นั่นจะไม่นิยมใส่กระโปรงสั้น จะนิยมทานมังสวิรัติและอื่นๆอีกมากมาย แต่สภาพแวดล้อมตามมหาวิทยาลัย ยังคงความเป็นธรรมชาติ เช่น จะมีสัตว์ชนิดต่าง ๆ อาทิเช่น กระรอก นกเหยี่ยว อยู่ภายในบริเวณของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ส่วนในเรื่องของอาหาร นักเรียนไทยจะมีทางเลือกอยู่ คือปรุงอาหารด้วยตัวเอง เช่นพักตามบ้านเช่า และรับประทานอาหารเหมือนนักศึกษาอินเดีย เช่นนักศึกษาที่อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย ที่พักของนักศึกษาในประเทศอินเดียแบ่งเป็นสามประเภท คือ 1.หอพักของสถานศึกษา โดยส่วนมากทุกมหาวิทยาลัยในอินเดียจะมีหอพักประจำ แยกเป็นหอพักหญิง หอพักชาย แต่ในบางครั้งการสมัครเข้าหอพักจะมีความยากลำบากเพราะมีห้องจำนวนจำกัด เช่น มหาวิทยาลัยเดลี 2.การพักอาศัยกับครอบครัวชาวอินเดียไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่การศึกษาในด้านภาษาอังกฤษพิเศษจะนิยมพักกับครอบครัวชาวอินเดีย เพราะประหยัดและปลอดภัยกว่าการพักอยู่โดยลำพังในบ้านเช่าด้วยตนเอง 3.การพักตามบ้านเช่าจะมีทั่วไปตามบริเวณรอบมหาวิทยาลัย ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าการพักหอพัก แต่ก็มีข้อดีคือ มีอิสระในการใช้ชีวิต และมีสภาพที่ดีกว่า เกณฑ์การเลือกสถาบัน (ข้อแนะนำบางประการ) การตัดสินใจไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาให้รอบคอบทั้งเรื่องหลักสูตร คุณวุฒิ ระยะเวลาในการเรียน และงบประมาณ ซึ่งในประเทศอินเดียนั้นสถาบันต่าง ๆ ในด้านวิชาการแล้ว ไม่ค่อยจะแตกต่างกันเท่าไร แต่ในด้านสิ่งก่อสร้างอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง สิ่งที่เราควรพิจารณาลำดับต้น ๆ คือจุดประสงค์หลักในด้านอาชีพว่าหลังจากเราได้ตัดสินใจเลือกหลักสูตรที่จะเรียนได้แล้วนั้น หลักสูตรการเรียนควรจะสอดคล้องกับอาชีพในอนาคตของเราหรือไม่ โดยสิ่งที่เราเลือกนั้นควรอยู่บนพื้นฐานของความชอบและรักในสิ่งที่เราได้เรียนมากกว่าการทำตามอย่างคนอื่น เมื่อเราเลือกหลักสูตรได้แล้วควรดูที่คุณวุฒิในการเข้าศึกษาต่อของแต่ละสถาบัน ว่าคุณวุฒิของเราตรงตามกับความต้องการของทางสถาบันหรือไม่ และระยะเวลาของแต่ละหลักสูตรว่าใช้เวลาในการเรียนมากน้อยแค่ไหน เพื่อสามารถนำไปคำนวณงบประมาณ ในการเรียนได้ อีกอย่างคือเมืองที่จะไปเรียนในประเทศอินเดียนั้น มีอากาศที่แตกต่างกัน เพราะเป็นประเทศที่ใหญ่ อากาศจึงแตกต่างกันไป เช่นทางภาคใต้จะมีฝนตกเพราะติดทะเล ทางภาคเหนือเมื่อถึงฤดูหนาวบางแห่งจะมีหิมะตก การเรียนที่เมืองใหญ่ ๆ ค่าครองชีพก็จะสูงตามเมืองไปด้วย เช่น บอมเบย์ เดลี หรือ ปูเน่ เป็นต้น การเรียนเมืองเล็กๆ ค่าครองชีพจะถูกกว่า เช่น พาราณสี อาครา เป็นต้น ฉะนั้นการตัดสินใจเลือกสถาบัน ควรจะเลือกให้ดี ตามความเหมาะสมของความเป็นจริงของเรา ทั้งด้านความรู้ ค่าใช้จ่าย และสภาพของเรานั้นเอง..
29 มกราคม 2553 10:15 น. - comment id 113897
อีกวิชาเดียว...ที่เรียนอยู่ที่เมืองไทยนี่...ก็ยังจะเอาไม่รอดเลยอ่ะค้าๆๆพี่สาววว... แหะ ๆ ..อ่านเพลินดีค่ะ...
29 มกราคม 2553 11:38 น. - comment id 113898
เขาว่า คอมพิวเตอร์ ต้องเรียนที่อินเดีย เจ๋งสุด ได้ยินมาค่ะ
29 มกราคม 2553 12:12 น. - comment id 113899
คงไม่มีวาสนา จะได้เรียนแล้วอะ..
21 พฤษภาคม 2553 03:29 น. - comment id 117064
ผู้ช่วยทางการเรียนรู้สู่อินเดีย >>> เรียนต่ออินเดีย นึกถึง studyhelper.net บริการข้อมูลและข่าวสารการศึกษาต่อประเทศอินเดีย ดื่มด่ำกับข้อมูลที่มากมาย จุใจและเต็มอิ่ม ทั้งข่าวสารทางการศึกษาและท่องเที่ยว อย่างจริงใจและจริงแท้แน่นอน มาร่วมพูดคุยกับเราได้ Studyhelper.net ยินดีให้บริการค่ะ ติดต่อ webmaster@studyhelper.net MSN : studyhelper@windowslive.com ขณะนี้ทาง studyhelper.net เปิดสอนภาษาอังกฤษทาง skype ฟรี ทุกๆ วันอาทิตย์เวลา 20.30 -21.30 ท่านใดสนใจสามารถเข้าร่วม ห้องเรียนภาษาอังกฤษ English on Skype โดย add skype name มาที่ studyhelper แล้วเจอกันค่ะ