ร่วมพิธีตักบาตรพระอุปคุต วันเป็งปุ๊ด (ตักบาตรเที่ยงคืน) ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อกล่าวถึง วันเป็งปุ๊ด หรือการตักบาตรพระอุปคุตตอนเที่ยงคืน สำหรับผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นหลายท่านอาจจะไม่เคยได้ยินว่ามีการตักบาตรกลางคืน เพราะตลอดชีวิตของเราเคยเห็นแต่พระภิกษุออกบิณฑบาตตอนเช้าเท่านั้น ผู้เขียนได้ยินคำว่าตักบาตรพระอุปคุตตอนเที่ยงคืน ตั้งแต่มาใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงรายใหม่ๆ แต่ยังไม่เคยไปร่วมตักบาตรสักครั้ง ปีนี้ได้ฟังเสียงโฆษณาเชิญชวนจากทางเทศบาลเชียงรายให้ร่วมไปตักบาตรเที่ยงคืน จึงมีความสนใจและอยากจะไปดูบรรยากาศสักครั้ง เวลาห้าทุ่มครึ่ง จึงได้เดินทางไปวัดมิ่งเมืองซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน เมื่อเดินทางถึงวัดก็ได้เห็นความคึกคัก ชาวพุทธมารอตักบาตรเป็นจำนวนมาก โดยมีพระภิกษุ สามเณร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามเณร มารอบิณฑบาต ประมาณ ๔๐๐ รูป เส้นทางบิณฑบาต เริ่มต้นจากหน้าวัดมิ่งเมือง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนธนาลัย ตรงไปถึงแยกธนาคารออมสิน เข้าถนนบรรพปราการ ผ่านหอนาฬิกา สำหรับเป็งพุธ หรือ เป็งปุ๊ด นั้นทางล้านนาจะออกเสียง พ.พาน เป็น ป.ปลา จึงเรียกว่า เป็งปุ๊ด คำว่า เป็ง มีความหมายถึงพระจันทร์เต็มดวง เดือนเพ็ญ เพ็ญพโยม ดวงแข ศศิธร หรือวันขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันศีลหรือวันพระ วันเดือน ปีใดที่วันขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ นั่นคือ วันเป็งปุ๊ด สำหรับวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ เชื่อกันว่าจะมีพระอรหันต์ที่ชื่อพระอุปคุตจะออกมาบิณฑบาตแต่เช้ามืด ผู้ใดที่ได้ใส่บาตท่านจะได้บุญและโชคดีสูงสุด บางปีมี "เป็งปุ๊ด" ชาวพุทธถือว่าพระอุปคุตมาโปรดเมื่อเริ่มเข้าเวลาของวันพุธ คือตั้งแต่เวลา 00.00 น. ไปจนถึงก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น ผู้คนจะพากันใส่บาตเพื่อความเป็นศิริมงคล ผู้ที่จะมารับบิณฑบาตนี้จะเป็นเฉพาะสามเณรเท่านั้น ไม่มีพระภิกษุสงฆ์ เพราะสามเณรได้รับการอุปโหลกเป็นตัวแทนพระอุปคุต คติความเชื่อของชาวบ้านถือว่าพระอุปคุต บำเพ็ญตนอยู่ในเกษียณสมุทร เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มีอิทธิฤทธิ์ปราบภัยมาร และป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายมากล้ำกรายได้ ช่วยบันดาลให้สิ่งที่เลวร้ายได้บรรเทาเบาลง สำหรับปี 2552 นี้ พบว่าได้มีวันเพ็ญ ที่ตรงกับวันพุธ มีเพียงครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้พุทธศานิกชนได้นำข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องใช้ที่จำเป็นมาร่วมทำบุญตักบาตรกันเป็นจำนวนมาก การตักบาตรกลางคืน ช่วงเวลาสุดท้ายของคืนวันอังคาร ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกไม้ธูปเทียน ปัจจัย มีความเชื่อกันว่าเมื่อผู้ใดได้ทำบุญกับพระอุปคุตแล้ว จะบังเกิดผลคือ ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะบรรเทาหายเร็ววัน เด็ก ๆ จะเพิ่มสติปัญญา หนุ่มสาวจะสมพรในคำอธิฐานของเขา ส่วนคนทั่วไปแล้วจะเป็น ศิริมงคลตลอดไป นอกจากนี้ยังมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องเรืองวิชาอีกด้วย ชาวบ้านยังเชื่ออีกว่า ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระบัญชาให้พระอุปคุตคอยดูแลสอดส่องชาวโลก อย่าให้ภัยมารมารบกวนได้ เมื่อถึงเวลาวันเป็งปุ๊ด พระอุปคุตจึงออกมาโปรดและปราบภัยมารต่าง ๆ อีกทั้ง ยังมีคืนวันพุธราหูเข้ามาเกี่ยวข้องอีก จึงเพิ่มความขลังขึ้นมาให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ปี๒๕๕๒ นี้เทศบาลนครเชียงราย ได้ร่วมกับวัดมิ่งเมืองจัดงานประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน เป็นปีแรก จึงมีพุทธศานิกชนใน จังหวัดเชียงราย และนักท่องเที่ยวร่วมหมื่นคนได้ร่วมกันนำข้าวสารอาหารแห้ง มาพร้อมกันทำบุญตักบาตรเที่ยงคืน เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวล้านนาที่มีมาตั้งแต่ในอดีต เป็นภาพที่น่าอนุโมทนาบุญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๓ วันเป็งปุ๊ด จะตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน ดังนั้นจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีตักบาตรพระอุปคุต เนื่องในวันเป็งปุ๊ด ที่จังหวัดเชียงราย โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลและศึกษาวัฒนธรรมแบบล้านนา
พระจันทร์เต็มดวงเหนือโบสถ์วัดมุงเมือง