ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ๒
ลุงเอง
๒ ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
ธรรมะ สำหรับ ฆราวาส
ต่อไปนี้ ก็มีข้อที่จะต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำว่า “ธมฺม”หรือ “ธรรมะ” นี้ต่อไปอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า ธรรมนี้มี ๒ ประเภท : ประเภทหนึ่งเป็นตัวหลัก ที่เราจะต้องปฏิบัติโดยตรง; เป็นวัตถุประสงค์เป็นความมุ่งหมายอย่างนั้นๆ โดยเฉพาะ. ประเภทที่สอง เป็นธรรมะในลักษณะที่เป็นเหมือนเครื่องมือ ที่ช่วยให้เราปฏิบัติ ตามที่เราต้องการนั้นได้สำเร็จ. ธรรมะทำหน้าที่ต่างกันอยู่อย่างนี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าที่เรารู้ว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรแล้ว ก็จริง; แต่ว่า เราบังคับตัวเองไม่ได้.ตามปรกติทั่วๆ ไปนั้น คนเราบังคับตัวเองไม่ได้; เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีธรรมะที่จะใช้บังคับตัวเองให้ได้ เพื่อปฏิบัติตามที่เราต้องการให้ได้ อีกทีหนึ่ง. กล่าวโดยตรงก็คือว่า เราบังคับจิตของเราไม่ได้; คือมิติหลักเช่นว่า จะเลิกสูบบุหรี่ เลิกกินเหล้า; นี่เป็นหลัก ที่จะต้องปฏิบัติ. แต่ทีนี้เราบังคับตัวเองไม่ได้ ทั้งที่รู้อยู่ก็บังคับไม่ได้; ฉะนั้นจะต้องมีธรรมะอะไรอีกประเภทหนึ่ง ที่ช่วยให้บังคับตัวเองได้.
นี่โดยส่วนใหญ่ก็แบ่งธรรมะออกเป็น ๒ ประเภทอย่างนี้แล้วก็มีส่วนประกอบอย่างที่เป็นส่วนย่อยๆ ลงไปอีก ตามที่มันจำเป็นเพราะฉะนั้นเรื่องที่เราจะต้องรู้ก็คือ ธรรมะที่เราจะต้องปฏิบัตินั้น อย่างไร? ธรรมะที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราปฏิบัติได้ตามนั้นอย่างไร? ถ้าในเรื่องชั้นสูงก็มีธรรมะ ที่ช่วยให้จิตสงบเสียก่อน เช่นเป็นสมาธิ เป็นต้น แล้วจึงเอาไปใช้ปฏิบัติ เพื่อให้รู้ส่วนที่จะต้องรู้จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน.
คุณพอจะสังเกตเห็นได้เองว่า การที่ไม่ประสบความสำเร็จของเราในเวลานี้โดยทั่วๆ ไป ก็ดูจะอยู่ที่ เราไม่สามารถบังคับตัวเอง ให้ทำตามที่เรารู้อยู่ว่าจะต้องทำ. เช่นรู้ว่า ขี้เกียจไม่ดี เราก็ยังบังคับไม่ได้มันก็ยังขี้เกียจอยู่; ก็แปลว่า มันขาดธรรมะประเภทหลัง ประเภทที่เป็นเครื่องมือ . โดยเฉพาะสำหรับฆราวาส ซึ่งมีเรื่องยั่วยวนมาก มันก็ยิ่งลำบากที่จะบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะทำ; เพราะฉะนั้นขอให้สนใจให้มาก ในธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือด้วย อีกอย่างหนึ่ง
ฆราวาสธรรม
ในที่นี้ เราจะพูดถึงตัวธรรมะที่จะต้องปฏิบัติก่อน แล้วจะพูดธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ทีหลัง. สำหรับฆราวาสก็แปลว่าผู้ครองเรือน คฤหัสถ์ก็แปลว่าผู้ที่อยู่ที่บ้านเรือน.ก็มีเรื่องที่เขาบัญญัติไว้เฉพาะ เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” . แต่ขอเตือนว่า อย่าลืมว่าแม้เป็นเรื่องฆราวาสธรรมมันก็มีความมุ่งหมายที่จะไปให้ถึงที่สุด ของธรรมทั้งหมดอยู่นั่นเอง; ดังที่เราได้พูดกันเมื่อวานนี้ ฆราวาสก็เป็นเพียงขั้นหนึ่งในทุกขั้น ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถึง คือเป็นพรหมจารี แล้วเป็นคฤหัสถ์ แล้วเป็นวนปรัสถ์แล้วก็เป็นสันยาสีถ้าเป็นฆราวาสหรือเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ได้ก็หมายความว่า สอบไล่ในชั้นมัธยมศึกษาตก; แม้ว่าจะผ่านขั้นพรหมจารี ที่เป็นขั้นประถมศึกษามาได้ ก็มาตกที่ขั้นนี้; ดังนั้น จะต้องทำให้ดีที่สุดด้วยเหมือนกัน จึงจะผ่านไปถึงขั้นสุดท้า พอเรามองในลักษณะ อย่างนี้ก็จะพบว่า ฆราวาสธรรม เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่จะไปนิพพาน.
ฟังดูแล้วก็น่าขัน หรือมันขัดแย้งกันกับที่เขาพูดๆ กันอยู่ ว่าฆราวาสไปทางหนึ่ง จะไปมรรค ผล นิพพาน ก็ต้องไปอีกทางหนึ่ง;แล้วผมก็มาบอกว่าเป็นสายเดียวกัน เป็นเพียงลำดับขั้นของกัน. ฟัง แล้วก็ขอให้เอาไปคิดดู; และอยากจะพูดว่า ถ้าเป็นฆราวาสให้ดีไม่ได้ก็ไปนิพพานไม่ได้ . และในการศึกษาในขั้นคฤหัสถ์นั่นเอง เป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้เรามีเรื่อง มีความรู้จะไปนิพพานได้. เพราะว่าในชีวิตของคฤหัสถ์นี้ มันมีอะไรมาก ล้วนแต่เป็นอย่างชนิดที่เรียกว่ารุนแรงหรือโชกโชน หรืออะไรทำนองนั้น มากพอที่จะให้รู้ว่าชีวิตนี้น่าเสน่หาหรือน่าเบื่อหน่าย. ถ้าปล่อยไปตามธรรมดามันจะเป็นอย่างไร? เราต้องจัดการกับมันอย่างไร? มันต้องทำให้ถูกต้อง ตั้งแต่ในขั้นเริ่มต้นที่สุดเลย เหมือนเราจะต้องเรียนให้ดีตั้งแต่ขั้น ก ข ,ก กา จึงจะเรียนในขั้นต่อ ๆ ไปได้ดี
ข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาส
ในที่นี้เราจะพูดถึงตัว ฆราวาสธรรม โดยตรง แม้อย่างนั้นก็ยังอยากจะแบ่งออกเป็นขั้น ๆ อีกเหมือนกัน ขั้นต่ำ ๆ อย่างหนึ่ง ขั้นกลาง ๆ ขั้นสูง ๆ สูงสุดอีกอย่างหนึ่ง
คำสั่งสอนเกี่ยวกับฆราวาสที่เป็นขั้นต้นขั้นต่ำ นี้ มันเป็นเรื่องทำมาหากิน เรื่องสังคม. นี่ก็แปลว่าในหลักพุทธศาสนา ก็ยอมรับเรื่องทำมาหากินและเรื่องสังคมจะต้องทำให้ดีให้ถูก. เรื่องทำมาหากินเช่นทิฏฐธัมมิกประโยชน์ :- มีความพากเพียร แสวงหาทรัพย์ - มีความสามารถในการรักษาทรพัย์ -สามารถในการใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้องและในการครองชีวิตที่พอดี - แล้วก็มีมิตรสหายที่ดี. รายละเอียดของเรื่องเหล่านี้คุณจะหาอ่านได้จากหนังสือประเภทนั้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาพูดกันให้เสียเวลาซึ่งมันมีอยู่น้อย.
ข้อต้นเป็นผู้ที่ไม่เหลวไหลในก ารแสวงหาทรัพย์ พูดรวม ๆ กันเป็นเรื่องเดียวก็ว่า ความสำเร็จในการแสวงหาทรัพย์นี้ ก็คือ ทำให้มีทรัพย์ ทำให้มีเกียรติ ทำให้มีเพื่อน เขาให้หัวข้อไว้ ๓ หัวข้อว่า ทรัพย์ เกียรติ เพื่อนที่ดี. ถ้าใครทำได้ครบทั้งสามนี้ก็เรียกว่า คนนั้นก้าวหน้าสอบไล่ได้ขั้นนี้ คุณอย่าทำเล่นกับ ๓ คำนี้ คือทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง แล้วก็เพื่อนหรือสังคมที่ดี มีพร้อมหรือยัง ลองไปสังเกตดูเอง อยากจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คำสอนประเภทนี้มันมีมาแล้วก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำไป หรือก่อนพระพุทธเจ้าก็มีการสอนที่คล้ายกัน หรือลงรอยกันไปได้; หรือแม้แต่ในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ ศาสนาก็มีสอน แล้วมันก็ลงรอยกันได้. คุณไปศึกษา แล้วเปรียบเทียบดูตอนนี้. อย่าได้ทะนงตัวไปด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่า พุทธศาสนาของเราไม่เหมือนใคร ดีกว่าใครไปเสียหมด. ส่วนที่มันเหมือนกันทุกๆ ศาสนานั้นก็มี ส่วนที่ผิดกันนั้นก็มี. แต่มันก็ไม่ได้ผิดกันมากมายนักจนถึงกับว่า หันหลังให้กัน มันก็ไปในสายเดียวกัน มุ่งหมายอย่างเดียวกันอยู่ทั้งนั้น. โดยหลักใหญ่แล้ว ทุกศาสนาต้องการจะกำจัดความ ทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัว อย่างนี้ทุกศาสนาขอให้ไปสังเกตด้วย.
ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ทั้งโดยส่วนตัวบุคคลและโดยส่วนสังคม เพราะะนั้นคำสอนในขั้นต้นๆเกี่ยวกับความเป็นฆราวาสนี้ก็ไม่ต่างกันเลย จะเหมือนกันทุกศาสนาด้วยซ้ำไป เพียงแต่คำพูดหรือตัวหนังสือมันต่างกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่ของสำคัญ
ทีนี้ อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "สังคม" คือต้องขจัดปัญหาส่วนตัวของเรา เรื่องทรัพย์สมบัติอะไรเหล่านี้เสียทีหนึ่ง แล้วก็ยังต้องขจัดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสังคม ปัญหาเกี่ยวกับสังคม พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสวางเป็นหลักไว้เรียกว่า ทิศหก.
“ทิศหก” นั้นมิได้หมายถึงทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศหนือ ทิศใต้ ไม่ได้หมายถึงตัวทิศทำนองนั้น แต่หมายถึงบุคคลประเภทหนึ่งๆ ที่ควรจะเอามาเปรียบกันกับทิศต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราแล้วท่านก็ตรัสไปตามความเหมาะสมว่า ทิศเบื้องหน้า-ทิศเบื้องหลังคู่หนึ่ง ทิศเบื้องขวา-ทิศเบื้องซ้าย อีกคู่หนึ่ง แล้วก็ทิศเบื้องบน-ทิศเบื้องล่าง อีกคู่หนื่ง เป็น ๖ ทิศ พูดอย่างวัตถุ อย่างวิทยาศาสตร์ก็พูดได้ว่า มันเป็น radiation รอบตัว เหมือนกับรัศมีของดวงไฟนั้นมันมีรอบตัว. ข้างหน้าครึ่งหนึ่ง ข้างหลังครึ่งหนึ่ง ข้างซ้ายครึ่งหนึ่งข้างขวาครึ่งหนึ่ง ก็รอบแล้ว ข้างบนครึ่งหนึ่ง ข้างล่างครึ่งหนึ่ง ก็รอบหมดเลย ถ้าเป็นการทำถูกในทิศทั้งหก ก็แปลว่าเราทำถูกหมดรอบด้าน นั่นเอง .
ทิศเบื้องหน้ าคู่กับทิศเบื้องหลัง ก็จำไว้ง่ายๆ ว่าได้แก่ บิดามารดาอยู่ข้างหน้า บุตรภรรยาอยู่ข้างหลัง; ก็ต้องประพฤติถูกต่อบิดามารดา ประพฤติถูกต่อบุตรภรรยา เป็นต้น อย่าได้จำกัดแต่เพียงว่าบิดามารดา ควรต้องเอาญาติผู้ใหญ่ทั้งหมด พี่ ป้า น้า อา ลุง ตาอะไรก็ตาม จะต้องอยู่ข้างหน้า ต้องนึกถึงก่อน. บุตรภรรยาอยู่ข้างหลังก็จะต้องปฏิบัติต่อ ให้ถูกต้องด้วยเหมือนกัน.
ทิศเบื้องขวา เบื้องซ้าย. เบื้องขวาเขาถือว่าเป็นสำคัญกว่าหรือมีเกียรติกว่าเบื้องซ้าย ก็เลยเอาพวกครูบาอาจารย์ไว้ขวามือ เอาเพื่อนฝูง มิตรสหายไว้ทางซ้ายมือ. ทำไมเอาครูกับเพื่อนพาไว้คู่กัน? ก็เพราะว่ามันคล้ายกันมาก ครูบาอาจารย์ช่วยเราในทางฝ่ายวิญญาณเพื่อนช่วยเราในทางฝ่ายวัตถุ. คุณต้องมองดูให้เห็นในข้อนี้ : เพื่อนนั้นคือ ผู้ช่วยทางวัตถุ แต่ครูบาอาจารย์เป็นผู้ช่วยในทางฝ่ายวิญญาณฝ่ายลึก ฝ่ายจิตใจ มันก็เป็นเพื่อนในฝ่ายวิญญาณ. มิตรสหายธรรมดาก็เป็นเพื่อนช่วยทางเรื่องฝ่ายวัตถุ จะช่วยด้วยแรง ด้วยเงิน ด้วยของต่างๆ ก็เลยเป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายร่างกาย เอาความหมายนี้เป็นสำคัญ. ถ้าเพื่อนของเราคนใดคนหนึ่งเกิดช่วยเราในทางฝ่ายวิญญาณขึ้นมา เราต้องจัดเขาไว้ในฝ่ายครูบาอาจารย์; พร้อมกันนั้นเขาก็เป็นเพื่อนในฝ่ายวัตถุร่างกายด้วย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนทางฝ่ายวิญญาณด้วย. เพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนธรรมดาของเรานี้ ถ้าเขาสามารถที่จะตักเตือนฯเรา คุ้มครองเราในเรื่องความดีความชั่ว บุญ บาป อย่างนี้ต้องจัดให้เขาเป็นอาจารย์ด้วย อีกส่วนหนึ่ง คือเป็นเพื่อนผู้ที่ช่วยในฝ่ายวิญญาณ. แต่ถ้ามันแยกทำหน้าที่กันเด็ดขาด ครูบาอาจารย์ก็อยู่ข้างขวา เพื่อนธรรมดาล้วนๆ ก็ อยู่ข้างช้าย.
ถัดไป คือ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้อง บนนั้นคือ สมณะหรือผู้มีคุณธรรมสูงกว่าระดับธรรมดาสามัญ. ส่วนข้างล่างนั้นคือบ่าวไพร่ กรรมกรหรือพวกที่ด้อยกว่าเรา เบื้องบนที่พูดว่าสมณะ หรือสมณพราหมณ์ พระเจ้า พระสงฆ์ เป็นต้น นี้เขาไม่ได้เพ่งเล็งไปในทางเป็นครูบาอาจารย์; ครูบาอาจารย์อยู่ข้างขวาแล้ว. สมณพราหมณ์ อะไรพวกนี้ ยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ คือเป็นปูชนียบุคคลของส่วนรวม หรือของโลก. แม้เขาจะสอนอะไรแก่เราโดยตรงเหมือนครูบาอาจารย์ เพียงแต่เขามีชีวิตอยู่ในโลกเฉยๆ เราก็ยังต้องบูชาต้องเอาใจใส่ ต้องรับรู้อย่างเช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ นี้ แม้ว่าท่านจะไม่เคยเกี่ยวข้องกับเราเลย อยู่กันคนละยุคคนละสมัย อย่างนี้เราก็ยังต้องรับรู้ ต้อง
ใจความสำคัญเรื่องนี้มันอยู่อย่างหนึ่งคือว่า การสอนชนิดที่ไม่ต้องพูดไม่ต้องสอนมันก็มีอยู่ เพียงแต่เขามีอยู่เป็นหลักในโลกนี้มีอยู่เป็นหลักสำหรับการที่จะประพฤติ ปฏิบัติตาม. คือเขาถือว่า เพียงแต่ได้เห็นพระอรหันต์เท่านั้น ก็เป็นการดีอย่างยิ่งเสียแล้ว แม้ไม่ได้พูดจาอะไรกันเลย นี่เขาเรียกว่าเป็นปูนียบุคคลประเภทหนึ่ง จัดไว้ข้างบน เบื้องสูง ตรงกันข้ามกับเบื้องต่ำ คือคนที่ด้อยกว่าเราในทางคุณสมบัติต่างๆ เช่น พวกลูกจ้าง พวกบ่าวไพร่ กรรมกร; พวกคนที่จนกว่า ด้อยกว่า อะไรอย่างนี้ เอาไว้ข้างล่าง.
คุณควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าว่า "ทิศทั้งหก" นี้ให้ถูกต้องเป็นบทเรียนบทใหม่ของฆราวาส; เพราะว่าถ้าทำผิดในหกทิศนี้แล้วอื่นๆ ก็จะพลอยล้มละลายด้วย คือเรื่องการหาทรัพย์สมบัติ การหาเกียรติยศชื่อเสียง การมีเพื่อนฝูงที่ดี ก็พลอยล้มละลายไปด้วย.เพราะฉะนั้น เรารู้เรื่องทิศหก แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้พอก็พอแล้วจะรวบเอาธรรมะหมวดอื่น เข้าไว้ได้หมด ผมจึงขอแนะธรรมะหมวดนี้คือเรื่องทิศหก. ก็ไปหารายละเอียดอ่านเอาเองจากหนังสือประเภทนั้นเช่น หนังสือนวโกวาท เป็นต้น. ในที่นี้บอกแต่ความหมายที่เป็นใจความสำคัญของคำนั้นๆ รวมเรียกด้วยคำเพียงสั้นๆ ว่า "ปัญหาทางสังคม ”
คุณไปเทียบกันดูว่า ปัญหาทางสังคม ตามที่คุณเข้าใจ มันเข้ากันกับ ปัญหาทางสังคม ที่มีอยู่ในพุทธศาสนาหรือไม่? การเล่าเรียนการสั่งสอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อพูดกันถึงปัญหาสังคม เขาหมายถึงอะไร คุณก็รู้; แต่เมื่อพูดทางหลักพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาสังคมเขาหมายถึงอย่างนี้. สังคมเบื้องหน้า-สังคมเบื้องหลัง สังคมเบื้องขวา-สังคมเบื้องซ้าย สังคมเบื้องบน-สังคมเบื้องล่าง. อะไรดีกว่าเราแล้ว ก็สงเคราะห์เข้าไว้เป็นเบื้องบน มีคุณธรรมหรืออะไรที่ดีกว่าเรา สูงกว่าเรา สงเคราะไว้เบื้องบน ต้องสงเคราะห์เจ้านายไว้เบื้องบนด้วย. สงเคราะห์ที่ต่ำกว่าเราไว้เบื้องล่าง. เอาผู้ที่ให้กำเนิดเรามามีหน้าที่ผูกพันที่เราจะต้องทดแทน สนองคุณ บุญคุณ นี้ไว้ข้างหน้า;คือบิดามารดาต้องนึกถึงก่อน ก็เพราะว่ามีบุญคุณ มีพระเดชพระคุณที่ผูกพันก่อนบุคคลใด เราต้องนึกถึงก่อน.
เพราะฉนั้นการที่วางหลักเรื่องทิศหกนี้ มันก็มีเหตุผล หรือมีความหมาย หรือมีเทคนิคอยู่ในตัว; ก็ขอให้สนใจให้ดีๆ จะได้แก้ปัญหาทางสังคมได้หมดสิ้น. และความเป็นฆราวาสตามเรื่องราวของฆราวาสนั้น ก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง. นี่ผมเรียกมันว่าฆราวาสธรรมขั้นต่ำๆ ยังมีธรรมะอีกหลายหมวดหรือหลายสิบหมวดก็ได้ แจกเป็นฝอยละเอียดออกไป หรือว่า จัดกันอย่างนั้นทีอย่างนี้ที แต่แล้วในที่สุดมันก็มาสำคัญอยู่ตรงที่ ปฏิบัติเรื่องทิศทั้งหกนี้ให้ถูกต้อง แล้วธรรมะหมวดอื่นๆ จะง่ายดาย หรือพลอยถูกต้องไปโดยอัตโนมัติ. ขอให้สนใจ เรื่องทิศหกเป็นพิเศษ.
ทีนี้ก็มาถึง ฆราวาสธรรม ที่เป็นขั้นสูงไปกว่านั้น ซึ่งจะเรียกว่าขั้นกลางๆ หรือขั้นสูงสุด. ในสองขั้นนี้จะขอพูดในคราวเดียวกันเสียดีกว่า ว่าขั้นสูงสุดนั้นมันก็สูงถึงเรื่อง มรรค ผล นิพพาน ด้วยเหมือนกัน; ลดต่ำกว่านั้นลงมาก็เป็นขั้นกลางๆ; คือมีฆราวาสกลุ่มหนึ่งไปเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้า ขอให้ช่วยบอกธรรมะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกฆราวาสที่ครองเรือน ที่แออัดอยู่ด้วยบุตรภรรยาพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ธรรมะที่เนื่องด้วยสุญญตา เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ ฆราวาสตลอดกาลนาน. เรื่องสุญญตาคือเรื่องไม่มีตัวตนเรื่องว่างจากตัวตน; ฆราวาสพวกนั้นเขาก็ว่า มันสูงเกินไปสำหรับพวกเขา. พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ลดลงมา เหลือธรรมะ ๔ ข้อคือ :-มี ศรัทธามั่นคงในพระพุทธ ,ศรัทธามั่นคงในพระธรรม, ศรัทธามั่นคงในพระสงฆ์ ,แล้วก็มีศีลชนิดที่ดี จนเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าสี่ข้อนี้ฆราวาสเหล่านั้นเขาก็ทูลขึ้นว่า นี่คือสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้ว. พระพุทธเจ้าก็ตรัสอนุโมทนาว่า ก็ดีอยู่แล้ว. คุณลองพิจารณาเรื่องนี้ดู ว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ชัดเจนอยู่อย่างนี้ ว่ามันเป็นอย่างไร.
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรื่องสุญญตา เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน. ถ้าเขาว่ามันสูงเกินไป ก็ลดลงเหลือ ๔ เรื่องที่เรียวว่า "ปุญญาภิสันทะ”. ปุญญาภิสันทะ แปลว่า ท่อธารเป็นทีไหลออกแห่งบุญ บางทีก็เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ - คือองค์ปฏิบัติที่จะช่วยให้เป็นโสดาบัน. ข้อปฏิบัติ ๔ อย่างนี้ มีชื่อ ๒ อย่างคืออย่าหนึ่งเป็นท่อธารที่ไหลออกแห่งบุญ อย่างหนึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งความเป็นโสดาบัน. ระดับข้อปฏิบัติขั้นนี้ผมเอามาไว้ตรงกลางๆ ระดับกลางๆ; แล้วจัดระดับสูงสุดได้แก่เรื่องสุญญตา.
ข้อปฏิบัติที่เป็นระดับกลางๆ สำหรับผู้เป็นฆราวาส ก็ คือธรรมะ ๔ ข้อนี้เรียกว่า "พุทธอเวจจัปปสัทธา” ความเชื่อที่แน่นแฟ้นไม่หวั่นไหวคลอนแคลนในพระพุทธเจ้า. ธัมมอเวจจัปปสัทธา ความเชื่อที่ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระธรรม. สังฆอเวจจัปปสัทธา คือความเชื่อที่ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระสงฆ์. แล้วก็มีอริยกันตศีลคือศีลชนิดที่รักษาได้ดี จนเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า; นี่เป็นที่ไหลออกแห่งบุญเรื่อยไป จนกระทั่งสูงขึ้นไป กระทั่งพร้อมที่จะเป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่แรกถึงกระแสแห่งนิพพาน. ถ้าสูงไปกว่านั้นก็เป็นเรื่องบรรลุ มรรค ผล นิพพาน. เราอยู่ตรงกลางก็หมายความว่ารู้จักพระพุทธเจ้าดี พระธรรมดี พระสงฆ์ดี จนแน่นแฟ้น มีศรัทธา มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสแน่นแฟ้น ไม่อาจจะทำชั่วทำผิดอะไรได้เพราะมีความเชื่อไม่ง่อนแงน คลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์; แล้วก็พิสูจน์อยู่ด้วยการปฎิบัติ ที่ปฏิบัติอยู่ เป็นอริยกันตศีลศีลบริสุทธิ์ไม่มีที่ติ ตัวเองก็ติตัวเองไม่ได้ คนอื่นมาดูแล้วก็ติไม่ได้นี่เรียกว่าอริยกันตศีล.
ถ้าคุณเป็นฆราวาสก็ดูให้ดี ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า มีศรัทธาไม่คลอนแคลน ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์. เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าน่าระแวงหรือน่าอ้นตราย ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มันยังคลอนแคลน; แม้เขาจะประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ เป็นอะไรอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รับศีลรับสรณาคมน์อยู่ทุกวัน มันก็รับแต่ปากพอจะได้อะไรที่ถูกอกถูกใจหน่อย ก็ทิ้งสรณาคมน์ ไปเอาสิ่งนั้นก็ได้หมายความว่าไปทำชั่วต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้. นี้เรียกว่า ยังไม่แน่นแฟ้น ยังง่อนแง่นคลอนแคลน. มันต้องเป็นถึงขนาดที่ว่า ยอมตายได้ ไม่ยอมเสียข้อปฏิบัติ หรือธรรมะไป จึงจะเรียกว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน. เดี๋ยวนี้มีอะไรมาจ้าง มายั่ว มาล่อสักหน่อยก็ทิ้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปเอาทั้งนั้นแล้วที่นี่ว่าคนหนุ่มสาวคนเฒ่าคนแก่ ก็ยังเป็นอยู่อย่างนี้. ไปดูให้ดี มันก็มีอริยกันตศีลได้ศีลก็ด่างพร้อยลุ่มๆ ดอนๆ
ฆราวาสธรรมที่เป็นระดับกลาง ก็คือแน่นแฟ้น มั่นคง ในพระรัตนตรัย แล้วก็มีการปฏิบัติตัวอยู่ในลักษณะว่า ตัวเองก็ติเตียนตัวเองไม่ได้ ไหว้ตัวเองได้ เคาพตัวเองได้. เขาเป็นผู้ที่บำเพ็ญบุญอยู่อย่างสูงสุด แล้วก็มีความก้าวหน้าเรื่อยไป พร้อมที่จะเป็นพระโสดาบัน นี้ผมเรียกว่าฆราวาสธรรมระดับกลาง.
ฆราวาสธรรมที่เป็นระดับสูง คือ สุญญะตัปปะฏิสังยุตตา -ธรรมะที่เนื่องเฉพาะด้วย สุญญตา. สุญญตา แปลว่า ความว่าง;มันมีเรื่องมาก ไว้พูดกันโดยละเอียดอีกที. คราวนี้จะบอกให้รู้ว่าสุญญตาคือความว่างในจิตใจ ที่ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเรา คือของเรา. ความรู้สึกประเภท egoism นี้คือความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน” ที่มันเนื่องอยู่กับตัวตนนี้ ก็เรียกว่า ของตน. จะเป็นฆราวาส หรือ เป็นบรรชิตก็ตาม มีความทุกข์อย่างลึกซึ้งอยู่ ก็ด้วยอำนาจตัวตนหรือของตน นี้ทั้งนั้น. เพราะฉะนั้นฆราวาสก็ทุกข์มากอยู่ด้วยเรื่องตัวตนของตน จึงเป็นการสมควรที่จะต้องบรรเทาเสียบ้าง
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เรื่องสุญญตานี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน. ท่านเสนออย่างนี้ชาวบ้านกลุ่มนั้นไม่เอา ว่าสูงเกินไป; แต่พอบอกให้ลดลงไปกว่านั้น ก็ปฏิบัติอยู่แล้วอย่างนั้นกันไม่มีทางไปไหน นอกจากจะต้องปฏิบัติเรื่องสุญญตาต่อไปเท่านั้น; ถ้าไปทางอื่นมันก็ไม่มี
เดี๋ยวนี้มาเข้าใจกันเสียว่า เรื่องนี้สูงเกินไปไม่ต้องเอามาสอนฆราวาส; ผมก็เคยถูกห้าม. ผู้หลักผู้ใหญ่เคยห้ามว่า อย่าเอาเรื่องอนัตตา สุญญตามาสอนชาวบ้าน มันสูงเกินไป; บางคนก็เยาะเย้ยถากถางว่า ผมเอาเรื่องที่สูงเกินไปมาสอนชาวบ้าน - เช่นเรื่องจิตว่าง ก็ถูกล้อบ้าง ถูกด่าบ้าง. แต่ผมก็พยายามทำให้ดีที่สุด ให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านแนะไว้ ว่าฆราวาสว็ควรจะมีความรู้เรื่องสุญญตาหรือเรื่องจิตว่างนี้ตามสมควรฆราวาส ควรจะรู้ มันจะได้บรรเทำความทุกข์ยากลำบาก ทางจิต ทางใจ. เพราะว่ามีความจริง หรือข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า คนเรามีความทุกข์อย่างร้ายแรงเนื่องมาจากความดี, ยึดมั่นถือมั่น ในความดี. อย่างคุณสอบไล่ตก มีความรู้สึกเป็นทุกข์มาก นี่ก็เพราะเรายึดมั่นในเรื่องจะสอบไล่ได้ หรือความดี.หรือว่าไม่ได้อะไรตามที่หวังไว้ในทางฝ่ายดี ฝ่ายสูงแล้ว ก็ต้องเสียใจเป็นทุกข์. บางคนไปทำลายตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายก็มี. เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เรื่องอื่นมันช่วยไม่ได้ นอกจากความรู้เรื่องสุญญตาจึงจะช่วยได้.
สุญญตาสำหรับลุนิพพาน
สุญญ ตา จะช่วยเด็ก ไม่ให้เด็กๆ ต้องร้องไห้ เมื่อสอบไล่ตกช่วยผู้ใหญ่ไม่ให้ร้องไห้เมื่อผิดหวังในเรื่องที่หวังไว้มากๆ. พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นอย่างนี้จึงได้ยกเรื่องสุญญตาขึ้นมา ว่าเป็นเรื่องเกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน. เราค่อยไปศึกษาเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตากันอีกทีหนึ่ง โดยละเอียด. เดี๋ยวนี้เพียงยกมาให้เห็นว่ามันเป็นลำดับกันอยู่อย่างไร จะได้ครบชุด. ฆราวาสธรรมอย่างต่ำ สรุปไว้ถึงเรื่องทิศหก ปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับสังคม. สูงขึ้นไปก็เรื่องปุญญา-ภิสันทะ โสตาปัตตยังคะ. สูงสุดก็คือเรื่ องสุญญตา. นี้เป็น ฆราวาสธรรม
เรื่องสุญญตา เป็นเรื่องบรรลุ มรรค ผล นิพพานโดยตรง.คนพวกหนึ่งก็จะคัดค้านว่า ไม่ใช่เรื่องของฆราวาส; ผมก็มีที่อ้างในพุทธภาษิต ในพระไตรปิฎกมีชัดอยู่อย่างนั้น. คุณจะถือเอาหรือไม่ถือเอาก็ไปคิดดู. ถ้าอ้างหลักพระพุทธภาษิต มันก็มีอยู่พระไตรปิฎกอย่างนั้นแหละ. ทีนี้ถ้าเอาเหตุผลส่วนตัวกัน ก็ไปคิดดูซิ. เมื่อฆราวาสร้อนเป็นไฟอยู่ก็ต้องมีน้ำมาดับไฟ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่า เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น; เพราะฉะนั้น ฆราวาสก็จะต้องมีความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าสุญญตา; แล้วก็มีจิตว่างชนิดนี้อยู่พอสมควรกับความเป็นฆราวาส ก็จะเป็นฆราวาสที่ไม่มีความทุกข์ และน่าบูชา เป็นฆราวาสที่ดีที่สุด น่าบูชา .
ขอให้เอาไปนืกด้วยเหตุผลของตนเองอีกทีหนึ่ง คือในพระบาลีที่อ้างไว้ก็มี เหตุผลก็เห็นอยู่ว่าจริงอย่างนั้น ก็ถือปฏิบัติได้. แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เอาเหตุผลของตัว อย่าไปเชื่อว่ามีอยู่ในบาลี เพราะใครเขียนเดิมเข้าไปเมื่อไรก็ได้; ขอให้ใช้ความเห็นอย่างแจ่มแจ้งของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินใจ
วันนี้เราพูดกันถึงตัวฆราวาสธรรมโดยหัวข้อใหญ่ๆ ฆราวาสธรรมชั้นต่ำๆ - กลางๆ -สูงๆ มีอยู่เป็น ๓ ชั้น สามระดับ อย่างนี้ ก็หมดเวลาที่เราจะพูดกันได้ในวันนี้. ขอให้ถือเอาไว้ เป็นหัวข้อที่จะพูดในรายละเอียดเฉพาะเรื่องๆ ต่อไปในวันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องสุญญตา. ทีนี้เหลืออยู่เรื่องธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือ ที่จะทำให้ปฏิบัติลุถึงจุดมุ่งหมายนี้มันอีกพวกหนึ่งเขาเรียกว่า "ฆราวาสธรรม"โดยตรงเหมือนกัน. มีธรรมอยู่ ๔ข้อเรียกว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ๔ อย่างนี้ก็เอาไว้พูดในวันต่อไป.