ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
ลุงเอง
ผู้ครองเรือน
๑. ความเป็นผู้ครองเรือน
สำหรับพวกเราได้ล่วงมาถึงเวลา ๒๐.๓๐ น.แล้ว เวลา ที่จะได้พูดกันต่อไป คือ ทำความเข้าใจในเบื้องต้นทั่วๆ ไป. ในครั้งนี้ก็จะขอโอกาสกล่าวในลักษณะ ที่เป็นอารัมภกถา เพื่อให้เข้าใจเรื่องทั่วไปโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจะได้กล่าวถึงด้วยหัวข้อว่า “ความเป็นฆราวาส”.
ปัญหาที่พวกคุณเขียนส่งมา ล้วนแต่เป็นเรื่องสำหรับฆราวาสหรือคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักความหมายของคำว่า “คฤหัสถ์” หรือ “ฆราวาส” นี้. สำหรับคำว่า “ฆราวาส” หรือ “คฤหัสถ์” นี้ก็ดูเหมือนจะเข้าใจผิดกันอยู่บ้างบางอย่าง : โดยทั่วไปมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามจากเรื่องธรรมะ หรือศาสนา หรือเหมาเอาว่าเป็นเพศที่ยังต่ำทรามเกินไปจาก ธรรมะ หรือศาสนา; ถ้าเคยเข้าใจอย่างนี้ก็ควรเข้าใจกันเสียใหม่
เกิดมาเพื่อมีธรรม
ในครั้งที่แล้วมา เราได้พูดกันจนเป็นที่เข้าใจว่า เกิดมานี้ เกิดมาเพื่อมีธรรมะ เพราะว่าเราเกิดมาจากพระธรรม พระธรรมสร้างเรามา.ความมุ่งหมายของพระธรรมก็คือ เพื่อให้เรามีธรรมะ; เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับลักษณะนี้ ว่าการเกิดมานี้ ไม่มีอะไรอื่นดีไปกว่า ที่เกิดมาเพื่อมีธรรมะ. ทีนี้ เมื่อเกิดมา ไม่มีใครเป็นพระ เป็นนักบวช มาแต่ในท้อง มันต้องเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่เรื่อยๆ มาในลักษณะที่เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นฆราวาส; บางคนก็เป็นอย่างนั้นไปจนตาย ไม่เคยบวชเป็นพระแล้วจะเอาเวลาไหนมาเป็นเวลาสาหรับที่จะมีธรรมะ ถ้าไม่เอาเวลาที่เป็นฆราวาส หรือเป็นคฤหัสถ์นั่นเอง.
เราจะเห็นได้ว่า พอเกิดมา แล้วก็เติบโตเรื่อยไป จนกระทั่งตายทั้งหมดนั้นเป็นเวลาที่จะต้องมีธรรมะ ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ; ฉะนั้นเราจึงเกิดมาในลักษณะสำหรับจะเข้าโรงเรียนศึกษาธรรมะ จะเรียกว่า เข้าโรงเรียนของพระธรรมก็ได้. เข้าโรงเรียนของพระเจ้าก็ได้. คุณต้องเข้าใจความข้อนี้ให้ดีๆ ว่าแม้เราจะไม่มีโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย อย่างที่เขามีๆ กันอยู่เดี๋ยวนี้ ชีวิตนี้ก็เป็นการเข้าโรงเรียนอยู่ในตัวมันเอง. ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคนป่าสมัยหิน ก็ไม่มีทางที่จะเป็นบรรพบุรุษ ของพวกเราได้ คนป่าสมัยหินคุณก็รู้ดีอยู่ว่า เป็นอย่างไร ทำไมจึงคลอดลูกออกมาเป็นพวกเราได้; เพราะว่าชีวิตมันเป็นโรงเรียนเป็นบทเรียน เป็นการสอบไล่อยู่ในตัวเสร็จ. มนุษย์เพิ่งรู้จักตั้งโรงเรียนแบบที่มีกันอยู่ ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง; แต่แล้วก็ไม่รู้อะไรมาก หรือไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ เช่นไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม? เป็นต้น.
การเป็นฆราวาสคือการเข้าโรงเรียนชีวิต
ผมอยากจะให้ทุกคนถือว่า แม้ความเป็นฆราวาสนี้ ก็เป็นการเข้าโรงเรียนของพระเจ้า ซึ่งไม่ต้องมีตึกเรียน มีอาจารย์ มีชั่วโมงเรียนเหมือนกับที่คุณเรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย. มันเป็นการเรียนอยู่ในตัวชีวิต คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน มันเป็นการสอนอย่างดีที่สุด คือรู้จริง แจ่มแจ้งจริง ไม่เหมือนกับเรียนหนังสือ หนังสือ นั้นมันเป็นการเรียนชนิดที่ท่องจำ หรือฝากความเข้าใจไว้กับเหตุผล เป็นทำสของความจำ เป็นทำสของเหตุผล อย่างที่เราเป็นๆกันอยู่.
ถ้าเรียนจากชีวิตจริงๆ แล้ว มันไม่เกี่ยวกันเลย เช่นคุณทำมีดบาดมือมันสอนอะไรให้บ้าง ไม่เกี่ยวกับความจำ ไม่เกี่ยวกับเหตุผล มันเจ็บอย่างไรก็รู้ดี ต้องระมัดระวังอย่างไรก็รู้ดี. หรือเราทำผิดในเรื่องที่ใหญ่โตกว่านั้น กี่อย่างๆ ดีชั่วอย่างไร เราก็รู้ดี. ขอให้มองเห็นว่า นี่เป็นการศึกษาที่แท้จริง. ตอนนี้ มันก็เป็นการเรียนธรรมะจากพระธรรมหรือจากธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาแตกดับของสังขาร.ความเป็นฆราวาสก็มีความหมายเป็นการศึกษา ธรรมะอยู่ในตัว; เมื่อเราเกิดมา จึงเกิดมาเพื่อเรียนธรรมะไปจนตลอดชีวิต.
ธรรมะ คือ หน้าที่
ค่าว่า “ธรรมะ” ก็เกิดเป็นคำที่มีความหมาย หรือมีความสำคัญขึ้นมาสาหรับเราจะต้องรู้. ผมอยากจะบอกว่า คุณจะต้องจำคำว่า “ธรรมะ” นี้ไว้ให้ดีๆ. “ธรรมะ” คำนี้ถ้าเป็นภาษาทั่วไปหมายถึง “หน้าที่” ถ้าคุณไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็จงได้ยินเสียเดี๋ยวนี้ว่า คำว่าธรรม แปลว่าหน้าที่ ที่ต้องปฎิบัติ. คุณลองนึกดูซิว่า คำว่า “ธรรมะ” จะเกิดขึ้นมาในโลก ในภาษาพูดของมนุษย์ได้อย่างไร? มนุษย์ในสมัยหินมันก็ไม่มีคำๆนี้ใช้; แล้วมนุษย์ต่อมาเจริญ เจริญจนรู้จักคำพูดคำนี้ใช้ขึ้นมา เขาเล็งถึงอะไร? คำพูดคำนี้เกิดขึ้นที่ริมฝีปากมนุษย์ พูดกันเป็นครั้งแรก มันเล็งถึง หน้าที่ ที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ มันเลยกลายเป็นของดีที่สุดไปเลย เพราะไม่ทำ ไม่ได้ ต้องทำ คำว่า “ธรรมะ” จึงแปลว่า “หน้าที่”.ส่วนที่เรามาแปลกันว่า คำสั่งสอน หรืออะไรออกไปนี้ มันเป็นเรื่องทีหลัง; สั่งสอนเรื่องอะไร? ก็สั่งสอนเรื่องหน้าที่. ถ้าว่าธรรมในฐานะที่เป็น มรรค ผล นิพพาน มันก็คือผลของหน้าที่; เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวกับหน้าที่ของมนุษย์. มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ ทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ดี นับตั้งแต่หน้าที่ชั้นต่ำๆ ธรรมดาสามัญที่สุด เช่นจะกินข้าว อาบน้ำ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อะไรก็ตาม เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ และต้องทำให้ดี.
ทีนี้ เราก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติ คือหาเลี้ยงชีวิต ซึ่งต้องทำให้ถูกต้อง. ถ้าจะต้องมีคู่ครอง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ตามปกติหรือสัตว์ตามปกติ มันก็ต้องทำให้ถูกต้อง. มีครอบครัวขึ้นมา ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ล้วนแต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้อง สูงขึ้นไป-สูงขึ้นไป จนกระทั่งทางจิตใจ ก็ต้องทำจิตทำใจ ให้ถูกต้อง กระทั่งว่าจะตายไป ก็ให้มันตายอย่างถูกต้อง. ทั้งหมดนี้มันอยู่ในคำๆ เดียวว่า“หน้าที่” เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ธมฺม” ในภาษาสันสกฤตว่า “ธรฺม”ภาษาไทยว่า “ธรรม”. เมื่อรู้ว่า ธรรม คือหน้าที่อย่างนี้แล้ว มันก็ง่ายเข้าที่จะรู้ว่า ฆราวาสนั้นมีหน้าที่อย่างไร?
อาศรม ๔ : ระยะของชีวิต
เรามองกันทีเดียวให้ครอบคลุมหมดไปเสียเลยดีกว่า โดยถือตามหลักที่เขากล่าวไว้มาแต่บรมโบราณ. ในประเทศอินเดีย เป็นต้นตอของวัฒนธรรมสายนี้ ซึ่งไทยเรากลับเอามานี้ เขาถือกันว่ามนุษย์ที่ฉลาดที่สุดคนแรกๆของโลกคือ พระมนู ได้กล่าวหลัก อาศรม ๔ไว้ อาศรม ๔ คือ ความเป็นพรหมจารี ความเป็นคฤหัสถ์ ความเป็นวนปรัสถ์ ความเป็นสันยาสี.
อาศรมที่ ๑ ความเป็นพรหมจารี คีอเด็ก ๆรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ยังไม่ครองเรือน ที่ยังไม่มีสามีภรรยา เขาเรียก “พรหมจารี” ตั้งแต่เกิดมา จนถึงวาระสุดท้ายของการที่เป็นโสด เรียกว่า พรหมจารี
อาศรมที่ ๒ ถัดจากพรหมจารีก็มีสามีภรรยา ครองเรือนก็เรียกว่า คฤหัสถ์ หรือ ฆราวาส
อาศรมที่ ๓ คฤหัสถ์ผู้มีสติปัญญา ต่อมารู้สึกเบื่อ รู้สึกเอือมระอาต่อความซ้ำชากของความเป็นคฤหัสถ์ จึงหลีกออกไปสู่ที่สงัด บำเพ็ญตนเป็นนักบวช คือไม่ยุ่งเรื่องเหย้าเรือนอีกต่อไป เรียกว่า วนปรัสถ์ แปลว่า อยู่ป่า คืออยู่ในที่สงบสงัด
อาศรมที่ ๔ เมื่อพอใจในความเป็นอย่างนั้นแล้ว ในที่สุดก็ออกเที่ยวสั่งสอน ท่องเที่ยวไปในหมู่มนุษย์อีก แต่ไม่ใช่ไปอย่างผู้ครองเรือน ไม่ใช่สึกไปครองเรือนเหมือนพวกเราสมัยนี้ เขาเที่ยวสั่งสอนประชาชน เรียกว่า สันยาสี หรือ สันยาส คือผู้ที่ท่องปะปนไปในหมู่ประชาชน
ลองพิจารณาดูเถิดว่า ชีวิตนี้ถ้าสมบูรณ์แบบจริงๆ แล้ว ก็แบ่งเป็น ๔ ระยะ : ระยะพรหมจารี ระยะคฤหัสถ์ ระยะวนปรัสถ์ ระยะสันยาสี เดี๋ยวนี้คุณทุกองค์นี้ ก็เป็นผู้ที่อยู่ในอาศรมพรหมจารี หมายความว่าจะต้องศึกษาและจะต้องประพฤติปฏิบัติระเบียบวินัยต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดที่สุด เขาเรียกว่าพรหมจารี เป็นสังคม ๆ หนึ่ง หรือว่าเป็นขั้นตอนชนิดหนึ่ง ลักษณะหนึ่งของชีวิตในชั้นนี้ ระหว่างที่เป็นคนโสดอย่างนี้ ถ้าเรียกให้ถูกเขาไม่เรียกว่าคฤหัสถ์หรือฆราวาส เขาเรียกว่า พรหมจารี ฟังดูก็น่าฟัง; แต่แล้วเราก็มักจะเรียกพวกเราว่า ฆราวาส หรือ คฤหัสถ์ไปเสีย. อย่างพวกคุณอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ก็จัดตัวเองเป็นฆราวาส หรือเป็นคฤหัสถ์; ที่แท้ยังไม่ใช่.
ฆราวาส หรือคฤหัสถ์ หมายถึงผู้ที่ครองเรือน คือมีครอบครัวส่วนเรายังเป็นพรหมจารี ยังไม่ถึงขั้นนั้น. ถ้าเราเข้าใจผิด เราก็คงไปทำอะไรผิดๆเข้าแล้ว; ฉะนั้นรู้เสียใหม่จะได้ไม่ ประมาท จะได้สำรวมระวัง ให้มีลักษณะของความเป็นพรหมจารี. และขอให้รู้เสียด้วยว่าคำว่า “พรหมจารี” ในที่นี้มีความหมายไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปเขาพูดกัน. คนที่มีการศึกษาแคบๆ น้อยๆ ก็เข้าใจว่า พรหมจารีหมายถึงผู้หญิงในระดับที่ยังไม่มีครอบครัว ยังประพฤติอะไรเคร่งครัดอย่างใดอย่างหนึ่งตามขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ที่จริงคำนี้ไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายทั้งหญิง ทั้งชาย ตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นเด็กจนกระทั่งเป็นหนุ่มสาว
“พรหมจารี” แปลว่าประพฤติอย่างพรหม คือไม่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามหรือคู่ครอง ต้องทำตัวเป็นผู้สำรวมรระวังอย่างดี ในการที่จะไม่ไปข้องแวะกับเพศตรงกันข้าม เพื่อจะได้มีการศึกษาที่แท้จริงที่บริสุทธิ์สะอาด หรือเต็มที่นั่นเอง เขาจึงมีระเบียบให้ประพฤติอย่างพรหม อย่าไปเกี่ยวข้องเรื่องเพศตรงกันข้าม เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ไม่รู้จักตัวเอง ทำตัวเป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก ไปเกี่ยวข้องเรื่องเพศตั้งแต่เล็กนี่คือ คนที่ไม่รู้จักตัวเอง ว่าอยู่ในอาศรมชื่ออะไร ไม่รู้ว่าอยู่ในอาศรมพรหมจารี.
ครั้นเมื่อเลื่อนชั้นขึ้นไปชั้นหนึ่ง ก็ถึงอาศรม “คฤหัสถ์” คือมีครอบครัวครองเรือน หน้าที่การงานมันก็เปลี่ยนไป; เช่นการศึกษาก็สิ้นสุดลง อย่างที่คนหนุ่มคนสาวจะต้องเรียน มันเปลี่ยนไปมีการงานทำหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนไม่ใช่หน้าที่ศึกษาอย่าง นักเรียนแล้ว กลายเป็นหน้าที่ คือการงานอย่าง พ่อบ้านแม่เรือน มันต่างกันลิบ ฉะนั้นเขาจึงแยกเป็นอาศรมอีกอันหนึ่ง เรียกว่าคฤหัสถ์ ทำหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนไปกระทั่งมีบุตรมีหลานออกมา เป็นเรื่องที่หนักที่สุดในชีวิตของคนเรา.
ทีนี้เมื่อได้ทำไปๆ มันก็สอนให้เอง จนรู้สึกเบื่อขึ้นมาเองได้คือมองเห็นว่าอย่างนี้มันเป็นการทรมาน เราไม่ควรจะเป็นอย่างนี้จนกระทั่งวันตาย ควรจะได้รับการพักผ่อน หรือได้อะไรที่ดีกว่านี้ฉะนั้นจึงเปลี่ยนระบบของชีวิตไปเป็นผู้อยู่ในที่ วิเวกทางกาย วิเวกทางจิต; ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่ที่บ้าน เขาก็เปลี่ยนลักษณะการเป็นอยู่ ชนิดที่ไม่สูสีกับชาวบ้าน หรือไม่สูสีกับใคร หลีกไปหามุมสงบตามริมรั้วบ้าน กอไผ่กอกล้วยอะไรก็ได้ หรือจะไปอยู่ป่าหิมพานต์เลยก็ได้ ตามใจไม่มีใครว่า แต่การงานมันเปลี่ยนไปหมด. ส่วนใหญ่ไปอยู่เพื่อทบทวนรำพึงถึงเรื่องชีวิตจิตใจเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องกิเลสเรื่องความทุกข์. เขามานั่งดูชีวิตนั่งค้นหาความจริงของชีวิตในส่วนลึกเรื่อยๆ ไปจนได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ หรือได้นึกสิ่งที่ไม่เคยนึก.
คุณลองคิดดูเถิดว่า เรื่อง data หรือ meterial สำหรับเอามาคิดมานึกนี้จะเอามาจากไหน? มันก็ต้องเอามาจากสิ่งที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่แรกเกิดมา จนเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นพ่อบ้าน แม่เรือน จนมีลูกมีหลาน. รายละเอียดต่างๆ มันก็อยู่ในเรื่องที่ได้ผ่านมาแล้วในชีวิตมันจึงเอามาคิดได้อย่างถูกต้อง; รู้ความจริงของชีวิต รู้ความลับของชีวิต รู้เรื่องที่มนุษย์ควรจะทำอย่างไร? ควรจะได้อะไร? ควรจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไหน? คนสูงอายุปูนนี้บางคนจึงมีความสว่างไสวในเรื่องของชีวิต ยิ่งกว่าพวกพรหมจารี หรือพวกคฤหัสถ์. เพื่อความสะดวก จึงมีการออกบวช ไปเสียจากบ้านจากเรือน ไปอยู่อย่างนักบวชไปครองชีวิตแบบนักบวช มันสะดวกที่จะคิดพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกกันว่า ทำสมณธรรม ทำกัมมัฏฐาน ทำวิปัสสนา อะไรก็ตามเรื่องของนักบวช หรือ “วนปรัสถ์” มันเป็นอย่างนี้.
เดี๋ยวนี้ เราโดยเฉพาะพวกคุณหนุ่มๆ กระโดดข้ามมาเป็นวนปรัสถ์ มันก็ยากที่จะให้มีความรู้สึก ความเข้าใจ อย่างที่เขาเป็นกันมาตามลำดับ คือเป็นพรหมจารี เป็นคฤหัสถ์ แล้วจึงมาเป็นวนปรัสถ์มันก็มีทางจะเป็นไปได้เหมือนกัน ถ้าสติปัญญามีมากพอ ออกบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม ยังเล็กนี้ ก็ทำได้. แต่ไม่สะดวก ไม่ดีเท่า ไม่จริงเท่าคนที่ได้ผ่านชีวิตมาตามลำดับ. ฉะนี้แหละ พระหนุ่มๆ บวชเข้าแล้ว มันจึงกระสับกระส่าย เพราะมีอะไรที่ยังอยากลองอยากรู้ รบกวนความสงสัยอยู่มาก; จึงมักจะต้องสึกออกไปมีบุตรภรรยา มีอะไรกันไปตามเรื่อง จึงสู้พวกที่ผ่านมาอย่างถูกต้อง ตามลำดับ ตามหน้าที่ของธรรมะนี้ไม่ได้
ครั้นเป็นวนปรัสภ์จนเป็นที่พอใจแล้ว หรือว่าถึงที่สุดของการค้นคว้าเรื่องนี้แล้ว แต่ชีวิตยังมีอยู่ ยังไม่ตาย ก็คิดถึงผู้อื่น; เพราะตัวเองมันหมดเรื่องก็เลยนึกถึงผู้อื่น ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น. เราใช้สำนวนพูดว่า “แจกของส่องตะเกียง” “แจกของ” ก็คือเที่ยวทำประโยชน์ให้เขา. “ส่องตะเกียง” คือทำความรู้ ความสว่างให้เขา จนกว่าจะแตกดับลงไป.
คุณลองคิดดูว่า มันสมบูรณ์ หรือไม่สมบูรณ์ และมันต่างกันอย่างเปรียบกันไม่ได้. พรหมจารีไปอย่างหนึ่ง คฤหัสถ์ไปอย่างหนึ่ง วนปรัสถ์ก็ไปอย่างหนึ่ง สันยาสีก็ไปอีกอย่างหนึ่ง; นั่นคือชีวิตที่สมบูรณ์ แบ่งออกเป็น ๔ ตอน. ทุกคนอาจจะทำได้ เว้นไว้แต่จะโง่มากเกินไป หรือมีอะไรมาทำให้โง่มากเกินไป จึงไม่ผ่านไปได้ถึงตอนที่ ๔โง่เกินไปก็ไปติดจมอยู่ในเรื่องยั่วยวน ไม่สามารถจะผ่านอาศรมเหล่านี้ไปตามลำดับๆ ได้. น่าสงสารในข้อที่ว่า เกิดมาทีหนึ่ง ก็ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ หรือไม่ไปจนถึงจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต ที่พระธรรมได้กำหนดไว้.
อย่าลืมว่า เราเคยพูดมาแล้ว ในข้อที่ว่า เกิดมาเพื่อมีธรรมะ เพื่อประพฤติธรรม; เพราะว่าพระธรรมบันดาลให้เราเกิดมา. มีธรรมะในที่นี้หมายความว่า มีถึงจุดปลายทางขั้นสุดท้าย.มีธรรมะอย่างพรหมจารี มีธรรมะอย่างคฤหัสถ์ มีธรรมะอย่างวนปรัสถ์มีธรรมะอย่างสันยาสี ก็สูงสุด; มนุษย์ได้เพียงเท่านั้น. ทีนี้พวกคุณเรียนจนสำเร็จไปทำราชการ หรือทางานอะไรก็ตาม มีทรัพย์สมบัติมีเกียรติยศชื่อเสียง มีครอบครัว อะไรๆ ที่ต้องการก็พอจะมีได้; แต่แล้วจะไปถึงวนปรัสถ์ได้หรือไม่นั้น ก็ลองคาดคะเนดูเอาเอง. แล้วจะมีใจกว้างพอ มีเมตตากรุณามากพอ ที่จะเป็นสันยาสี เที่ยวแจกของส่องตะเกียงได้หรือไม่ ก็ลองคิดดู.
ที่จริง เป็นสิ่งที่คนเราทำได้ เช่นเราทำการงานมา จนอายุพอสมควรแล้ว อย่างที่เขาเรียกว่าเกษียณอายุแล้ว เงินบำนาญบำเหน็จก็มีพอเลี้ยงชีวิต; ถ้าต้องการชีวิตวนปรัสถ์ ก็หลบไปอยู่ตามมุมบ้าน ที่กอไผ่ กอกล้วย รำพึงถึงชีวิตในด้านในได้. แต่เดี๋ยวนี้พวกเกษียณพวกกินบำนาญ เหล่านั้น ยังไปเที่ยวไนท์คลับ ยังไปเที่ยวอะไรอยู่เหมือนเด็กๆ ไม่ถือเอาโอกาสนี้สำหรับบำเพ็ญชีวิตวนปรัสถ์; มันก็เลยไม่ต้องพูดถึงสันยาสี. เพราะไม่มีความรู้ความสว่างอย่างแท้จริง อย่างแจ่มแจ้งในเรื่องของชีวิต แล้วจะเอาอะไรไปสอนใครจะเอาแสงตะเกียงที่ไหนมาส่องให้คนอื่น. แล้วคุณก็ดูซิ ในประเทศไทยเรามีใครบำเพ็ญชีวิตครบริบูรณ์ทั้ง ๔ อาศรมนี้บ้าง; เราเองกำลังเป็นอย่างไรก็ลองวาด ๆ ไว้ดู ทำนายล่วงหน้าไว้ดูก็ได้.