ความหมายของความตาย 2
ลุงเอง
๒
การปฏิบัติ ต่อผู้ที่กำลังสิ้นใจ ในวัฒนธรรมไทย
สำหรับคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกนั้น ย่อมประพฤติตนด้วย ทาน ศีล ภาวนา เป็นแนวทางของการปฏิบัติ
ทาน คือ การให้
(๑) ให้วัตถุสิ่งของ ตั้งแต่ให้ส่วนเกิน จนให้สิ่งซึ่งเรารักและหวงแหนอย่างที่สุด เพื่อเอาชนะความเห็นแก่ตัว เพราะพุทธศาสนาแนะแนวทางเพื่อแปรความโลภให้เป็นทาน
(๒) ให้สัจจะ ให้ความรู้ที่เป็นจริง โดยเฉพาะก็ในสังคมที่เต็มไปด้วยความโกหก ตอแหล กึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จ แม้ผู้พูดวาจาสัตย์จะเดือดร้อนเพียงใด ก็พึงให้ธรรมเป็นทาน ซึ่งสูงส่งกว่าอามิสทาน
(๓) อภัยทาน เอาความกลัวออกไปจากตัวตน จนอาจเข้าถึงความไม่กลัว มีนัยได้ว่าเป็นการกระทำที่สูงสุดสำหรับชีวิตมนุษย์ และนี่ก็คือการเอาชนะความตายนั่นเอง
ศีล คือ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น ซึ่งพูดง่าย แต่ทำยาก
ภาวนา คือ การทำใจให้สงบ ให้สะอาด ให้สว่าง เพื่อรู้ชัดว่า ความประพฤติเช่นไรคือการเอาเปรียบหรือไม่เอาเปรียบ เพราะบ่อยครั้ง เรานึกว่าเรารับใช้ผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่เราเอาเปรียบเขา ยังโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงก็เปิดโอกาสให้คนรวยเอาเปรียบคน จน คนมีอำนาจเอาเปรียบคนไร้อำนาจ อย่างมักจะไม่รู้ตัว ดังผู้ชายที่เอาเปรียบผู้หญิง ครูที่เอาเปรียบศิษย์ แม้จนพระที่เอาเปรียบฆราวาส ฯลฯ นั่นเอง จำเพาะการภาวนาที่นำจิตใจไปถึงความไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้น ที่ทานและศีลจึงจะบริสุทธิ์จริง ๆ หาไม่ภาวนาก็เป็นโทษได้เช่นกัน
ในวัฒนธรรมไทยพุทธนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งทางทาน ศีล และภาวนา อย่างมีสติและสัมปชัญญะอยู่เสมอนั้น ย่อมรู้ตัวเองว่าจะสิ้นใจเมื่อไร ในประสบการณ์ของข้าพเจ้านั้นเคยรู้จักขุนเกษม บิดาของป้าสะใภ้ ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม ท่านผู้นี้เป็นคหบดี ชาวสวน หากไม่ติดยึดในสมบัติวัสดุ ให้ทานและรักษาศีลอยู่เนืองนิตย์กับภาวนาเป็นอาจินต์ พอถึงเวลาจะตาย ท่านเรียกลูกหลานมาบอก แล้วท่านก็เจริญอานาปานสติจนสิ้นลมปราณ นี่ไม่ใช่ตัวอย่างเดียว ตัวอย่างเช่นนี้มีมากในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม
สาทิศ กุมาร บรรณาธิการนิตยสาร Resur-gence ที่อังกฤษ และเป็นผู้ก่อตั้ง Schumacher College ที่ประเทศนั้น เขียนเล่าไว้ว่า มารดาของเขาที่อินเดียเป็นคนถือศาสนาชินะ ซึ่งใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก เธอรู้ตัวว่าถึงอายุขัยแล้ว ก็ลาญาติมิตร แล้วเริ่มอดอาหาร จนตายจากไปอย่างไม่ทรมาน และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ
ที่สวนโมกข์ ก็มีอุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งแทบไม่มีใครรู้จัก หากปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นมานาน ครั้นถึงกาลอวสาน ก็บอกคนให้ไปเรียนท่านอาจารย์พุทธทาส ให้มาดูการตายของท่าน ซึ่งภาวนาด้วยการเดินลมหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม จนหมดลมไป
ที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญ ในกรณีของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน อย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้น เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แต่เมื่อยังเป็นพระยาบุรุษยรัตนราชมานพ ได้จดหมายรายละเอียดวาระที่สุดของพระองค์ท่านไว้อย่างน่าสำเหนียก ดังนี้
ครั้นเวลา ๒ ทุ่ม ๖ นาที จึงรับสั่งเรียก พระยาบุรุษย์ว่าพ่อเพ็งจ๋า เอาโถมารองเบาให้พ่อที พระยาบุรุษย์จึงเชิญโถพระบังคนขึ้นไปบนพระแท่นถวาย ลงพระบังคนเบาแล้วก็ทรงพลิกพระองค์ ไปข้างทิศตะวันออก รับสั่งว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วพลิกพระองค์หันพระพักตร์ไปข้างทิศตะวันตก รับสั่งบอกอีกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว ทรงภาวนาว่า อรหังสัมมาสัมพุทโธ ทรงอัดนิ่งไป แล้วผ่อนอัสสาสะปัสสาสะเป็นคราว ๆ ยาว แล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อย ๆ หางพระสุรเสียงมีสำเนียงดังโธ ๆ ทุกครั้ง สั้นเข้า เสียงโธ ก็เบาลงทุกที ตลอดไปจนยามหนึ่งจึงดังครอกเบา ๆ พอระฆังบนหอทัศนัยย่ำยาม ๑ นกตุ๊กร้องขึ้นตุ๊กหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต เวลายาม ๑ กับ ๕ นาที พระอิริยาบถที่ทรงบรรทมเหมือนพระพุทธไสยาศน์ พระสิริร่างกายแลพระหัตถ์พระบาทจะได้ไหวติงกระดิกกระเดี้ยเหมือนสามัญชนทั้ง ปวงนั้นหามิได้ ในขณะนั้นมีหมอกกลุ้มมัวเข้าในพระที่นั่งทั่วไป พระเจ้าลูกเธอแลท่านข้างในที่ห้อมล้อมอยู่นั้น สงบสงัดเงียบ ไปจนยามเศษ พระยาบุรุษย์ จึงกราบทูลพระเจ้าลูกเธอแลบอกท่านข้างในว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว
ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมตายอย่างมีสติ และไม่ได้เอ่ยถึงพระสงฆ์องค์เจ้าเอาเลย แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญที่อ่อนทางด้านทาน ศีล ภาวนาแล้วไซร้ เมื่อเวลาใกล้ตาย ตามวัฒนธรรมไทยโดยทั่ว ๆ ไปจะใช้ ๒ วิธีคือ
(๑) บอกพระอรหัง คือให้คนใกล้ตายได้ยินถ้อยคำอันวิเศษสุดในทางพุทธศาสนา เพราะอรหังสัมมาสัมพุทธะ หมายถึง พระบรมศาสดาผู้หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง หาไม่ก็หมายถึงพระอริยสาวก ซึ่งได้เข้าถึงความดับทุกข์ตามรอยพระพุทธบาท ถ้าผู้ใกล้ตายได้ยินถ้อยคำเช่นนี้ จนน้อมน้าวเข้ามาไว้ในใจ จิตย่อมเป็นกุศล แม้เคยทำบาปกรรมมา เวลาตายจากไป ก็ย่อมไปในทางของสุคติได้ เพราะอำนาจของพระพุทธคุณหรือพระสังฆคุณ (พระธรรมคุณอาจเป็นนามธรรมมากเกินไปสำหรับคนธรรมดาสามัญ)
(๒) ให้เอาดอกบัวไปใส่มือผู้ใกล้ตาย แล้วกระซิบข้าง ๆ หู อย่างดัง ๆ ว่า ฝากเอาดอกบัวไปบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ เพราะชาวพุทธเชื่อว่า เมื่อพระมหาสัตว์ตัดพระเมาลี ตอนออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทรงเพศเป็นบรรพชิตนั้น พระอินทร์รับเอาเส้นพระเกศา ที่เรียกกันว่าพระจุฬามณีไปก่อเป็นพระเจดีย์ไว้บนดาวดึงส์สวรรค์ ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำบุญไว้เพียงพอ ย่อมขึ้นไปไม่ถึงสวรรค์ชั้นนั้น แต่เพราะรับปากไว้ในใจกับคนที่เขาฝากดอกบัวไปบูชาพระ จึงต้องแข็งใจตะเกียกตะกายขึ้นบันไดสวรรค์ไปจนได้ไหว้องค์พระอย่างสมใจ คือคนเป็นใช้อุบายช่วยให้คนตายได้ขึ้นสวรรค์นั่นเอง
ที่ญี่ปุ่น พุทธศาสนิกส่วนใหญ่มักไม่ได้ปฏิบัติธรรม หากสังกัดในนิกายชินมากกว่านิกายอื่น ๆ ทางนิกายนี้เน้นให้เอารูปพระอมิตพุทธมาตั้งไว้ให้คนใกล้ตายได้เห็น เพื่อจิตจะได้น้อมนำไปที่พระพุทธานุภาพ แล้วจะได้ไปเกิดในแดนสุขาวดีของพระอมิตพุทธ
สำหรับไทยเรา วิธีทั้งสองที่กล่าวมานี้ ดูจะใช้กันแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธที่เป็นชาวบ้าน ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาบอกพระอรหัง หรือให้ใครเอาดอกบัวมาใส่มือแล้วมากระซิบกระซาบสั่งความ เพราะท่านนั้น ๆ ต้องการความสงบ ต้องการเจริญสติ ความเงียบจะช่วยได้มาก
ในกรณีที่ไม่ต้องการความเงียบ การที่ผู้ใกล้ตายได้ยินเสียงสวดมนต์ก็ถือว่าเป็นการช่วยให้ผู้ใกล้ตายได้ เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ในพระรัตนตรัย เป็นการปูทางไปสู่สุคติได้ แม้ผู้ใกล้ตายจะไม่เข้าใจความหมายของบทสวดเลยก็ตาม แต่ที่นิมนต์พระมาสวดนั้น มักนิยมสวดโพชฌังคปริตต์ ทั้ง ๆ ที่ข้อความในบทสวดนี้ ช่วยให้ผู้ที่ได้ฟังและรู้ความหมาย เจริญสติตามไปด้วย ย่อมเอาชนะความป่วยไข้และความตายเสียได้ก็ตาม
ไม่ว่ากรณีใด ๆ วัฒนธรรมทางฝ่ายพุทธเสนอไม่ให้ร้องไห้ฟูมฟาย แสดงความเสียอกเสียใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ใกล้ตายเกิดความหงุดหงิดจนตั้งสติไม่ได้ หรือถ้าโกรธขึ้งขึ้นมาในตอนใกล้ตาย อาจไปเกิดในอบายภูมิได้ง่าย
แม้ตายแล้ว คนรอบข้างก็ควรเจริญสติ แผ่เมตตาให้ผู้ตาย หรือแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์
เป็นที่น่าเสียใจว่าวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ง่อนแง่นคลอนแคลนลงไป มากแล้ว เพราะคนไทยสมัยนี้ไม่ตายที่บ้าน หากไปตายในโรงพยาบาลอย่างฝรั่ง ซึ่งบางทีมีสายระโยงระยางต่าง ๆ ยังการปั้มหัวใจ ฯลฯ และบางแห่งก็ห้ามญาติเข้าไปในห้องของผู้ป่วย โดยเฉพาะก็ห้อง ICU โดยที่ทั้งหมดนี้เป็นโทษกับผู้ตายทั้งนั้น
น่ายินดีที่คนสมัยใหม่ที่ปฏิเสธวัฒนธรรมกระแสหลักของตะวันตก ได้หันมาหากระบวนการใกล้ตาย และการเตรียมตัวตายอย่างธิเบตกันยิ่ง ๆ ขึ้น แม้นี่จะไม่ใช่พื้นเพเดิมของวัฒนธรรมไทย แต่ก็มีความใกล้เคียงกันทางความเป็นพุทธ จนหนังสือประเภทนี้มีตีพิมพ์ออกมามากยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที เริ่มแต่ที่ข้าพเจ้าแปลและเรียบเรียงชื่อ เตรียมตัวตายอย่างมีสติ และก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ดังข้าพเจ้าได้ทำบัญชีไว้ท้ายปาฐกถานี้ เพื่อแจกท่านที่สนใจ
อนึ่ง ทางมหายาน มีอนาถปิณฑิกสูตร ที่ใช้อ่านให้คนป่วยฟังอย่างน่านิยมยกย่องยิ่ง แม้นี่จะยังไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมไทย หากข้าพเจ้าได้แปลพระสูตรนั้นเป็นไทยแล้ว อยู่ในเรื่อง พิธีกรรมสำหรับพุทธศาสนิกร่วมสมัย กล่าวโดยย่อ พระสูตรนี้เล่าเรื่องว่า พระสารีบุตรและพระอานนท์ ได้ไปเยี่ยมท่านอุบาสกอนาถปิณฑิกะ ซึ่งกำลังเจ็บป่วยถึงอาการใกล้ตายอยู่แล้ว พระเถระสอนท่านอนาถปิณฑิกะให้สำรวมใจ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุดอย่างไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ถ้าตายไปตอนนี้ ก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ถ้ายังคงมีสติอยู่ ให้ภาวนาต่อไปในความเป็นอนัตตา ว่าตาไม่ใช่ตัวเรา หูไม่ใช่ตัวเรา จมูกไม่ใช่ตัวเรา ลิ้นไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ใจไม่ใช่ตัวเรา ฯลฯ เพื่อปล่อยวางอย่างไม่ติดยึด โดยมีราย--ละเอียดเป็นข้อ ๆ อย่างน่าสนใจ ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเจริญสติตามไปได้ เพื่อเกิดการปล่อยวาง จนเข้าได้ถึงความจริงที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุและปัจจัย ทุกสิ่งที่เป็นอยู่ มีธรรมชาติที่ไม่เกิดและไม่ตาย ที่จะไม่มาและไม่ไป เมื่อตาเกิดขึ้น มันก็สักแต่เกิด มันไม่ได้มาจากไหนเลย เมื่อตาดับ มันก็สักแต่ว่าดับ มันไม่ได้หายไปไหนเลย ไม่ใช่ว่าไม่มีตา ก่อนตาจะเกิดขึ้น และก็ไม่ใช่ว่าตามีอยู่ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น เพราะเหตุต่าง ๆ รวมตัวกัน เมื่อเหตุและปัจจัยพร้อม ตาก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุและปัจจัยไม่พร้อม ตาก็ปลาสนาการไป และก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันกับหู จมูก ลิ้น กายและใจ ดังเช่นกับที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิด ตลอดจนการเห็น การได้ยิน การรับรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ฯลฯ ไม่มีอะไรเลยที่จะเรียกได้ว่าเป็นตัวตนของเรา หรือถือได้ว่าเป็นบุคคล เป็นอาตมัน เพราะอวิชชาปิดบังไม่ให้เห็นสัจจะ เมื่อมีอวิชชา ย่อมมีแรงกระตุ้นที่ผิด ย่อมมีการรับรู้ที่ผิด เมื่อมีการรับรู้ที่ผิด ย่อมมีการรับรู้และผู้รับรู้ เมื่อมีผู้รับรู้และการรับรู้ ย่อมมีข้อแตกต่างระหว่างอายตนะทั้ง ๖ เมื่อมีข้อแตกต่างระหว่างอายตนะทั้ง ๖ ย่อมมีการสัมผัส สัมผัสก่อให้เกิดความรู้สึก ความรู้สึกก่อให้เกิดความกระหาย ความกระหายก่อให้เกิดความติดยึด การติดยึดก่อให้เกิดการมีการเป็นหรือการแปรสภาพเป็นโน่นเป็นนี่ การแปรสภาพก่อให้เกิดการเกิด การตาย และความทุกข์ต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ท่านอนาถปิณฑิกะ ได้ภาวนาตามคำสอนดังกล่าว จนรู้แจ้งว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก็เพราะเหตุและปัจจัย ไม่มีอะไรเป็นตัวตน การภาวนาดังนี้เรียกว่า ภาวนาอยู่ในศูนยตา นับเป็นการภาวนาอย่างสูงสุดและประเสริฐสุด