ความหมายของความตาย
ลุงเอง
๑
ความหมายของความตาย
ตามตำนานทางพุทธศาสนากล่าวไว้ชัดเจนว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะนั้น ต้องพระประสงค์จะเอาชนะความทุกข์ ที่มีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นประเด็นที่สำคัญ นอกเหนือไปจากการพลัดพรากไปจากของรักก็เป็นทุกข์ เผชิญกับสิ่งซึ่งไม่รัก ไม่พึงประสงค์ก็เป็นทุกข์ โดยที่พุทธศาสนิกเชื่อว่า การออกบวชของสิทธัตถะ ที่ทิ้งความเป็นเจ้าชายอันหรูหราและฟุ้งเฟ้อ ออกไปเป็นพระสมณโคดม ผู้ไม่ต้องการความสุดโต่งของนักบวชที่ทรมานกายทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงค้นพบสภาวะของความไม่ตาย หรือความเป็นอมตะ คือทรงตื่นขึ้นจากการครอบงำ และการติดยึดต่าง ๆ ในทางความโลภ โกรธ หลง จนทรงปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างสิ้นเชิง นี้แลคือความเป็นพุทธะ หรือความตื่น ที่ปราศจากความกลัว ไม่ว่าจะกลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย หรือความกลัวอย่างอื่น ๆ เช่น กลัวว่าจะไม่มีคนยอมรับ กลัวจะไม่ได้รับความสำเร็จในชีวิต กลัวความโดดเดี่ยวเดียวดาย กลัวความเหงา ฯลฯ ซึ่งล้วนพอกพูนกับความเห็นแก่ตัวอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ในศาสนาพุทธใช้คำว่า มาร ว่าเป็นประหนึ่งตัวเลวร้ายที่คอยขัดขวางความเจริญงอกงามในทางสติปัญญา มารมักมาชักชวนให้หลงใหลได้ปลื้มไปกับลาภ ยศ สุข สรรเสริญต่าง ๆ ในทางโลก แท้ที่จริง มาร คำนี้ กับ มรณะ ความตาย เป็นไวพจน์กัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า มารย่อมมองไม่เห็นผู้ที่ไม่กลัวตาย
ท่านอาจารย์พุทธทาสมักสอนศิษยานุศิษย์อยู่เสมอให้รู้จักตาย เสียแต่ก่อนตาย กล่าวคือความตายไม่ได้หมายความเพียงว่าเป็นเวลาที่เราสิ้นใจหรือสิ้นอายุขัย หรือหมดลมหายใจ นั่นเป็นเพียงกระบวนการอย่างหนึ่งในทางธรรมชาติ แต่ถ้าเรารู้จักฝึกปรือให้มีความตื่น อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เนืองนิตย์ จนไม่ติดยึดในความเป็นเรา เป็นเขา เป็นกู เป็นมึง หากเข้าใจซึ้งถึงความเป็นอิทัปปัจจยตา คือความโยงใยถึงกันและกันอย่างปราศจากอัตตา นี่เท่ากับว่าเราฆ่าตัวกูให้ตายเสียได้แล้ว เมื่อหมดความเห็นแก่ตัว เราก็เท่ากับว่าเราตายแล้วในทางตัวตน กู มึง หากเราดำรงสติอยู่อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมเพื่อจะรับใช้สรรพสัตว์ เท่าที่ชีวิตหรือลมปราณยังดำรงอยู่ ตัวตนหมดไปแล้ว มีแต่ความต่อเนื่องในทางธรรมชาติ ที่ผู้ซึ่งไม่เห็นแก่ตัว ย่อมสามารถเต็มเปี่ยมไปได้ด้วยความกรุณาหรือความรัก พร้อม ๆ ไปกับปัญญา หรือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและอย่างเป็นองค์รวม ถึงสภาวะสัตย์ที่แท้ ที่เป็นตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง
ผู้ที่เข้าถึงสภาวะดังกล่าว ศัพท์ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า ตถาคต ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า ผู้เข้าถึงความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ดังพระสมณโคดม สัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้ตายเสียสนิทจากความเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เมื่อวันตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา หากได้เสด็จสั่งสอนเวไนยนิกรต่อไปอีก ๔๕ พรรษา ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตื่นอย่างเต็มที่ จนถึงขั้นนิพพาน ตายแล้วก็ย่อมเกิดอีก เป็นวัฏฏสงสารอย่างไม่รู้จักจบสิ้น โดยจะไปเกิดดีกว่าหรือเลวลง ขึ้นอยู่กับกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ที่ได้กระทำมาเมื่อยังมีชีวิตอยู่
อนึ่ง ผู้ที่มีสติ คือ กำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายอย่างรู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่เนืองนิตย์ ทั้งยังประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างชัดเจน ย่อมอาจกำหนดได้ว่าจะตายเมื่อไร และจะเกิดเมื่อไร ที่ใด ทั้งนี้เพียงเพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ด้วยโพธิสัตวธรรมบารมี โดยไม่หวังที่จะเกิดใหม่ ด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ดังทางธิเบตถือว่า ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน ได้กลับชาติมาเกิดในสถานะประมุขของศาสนาจักรและอาณาจักรของธิเบตมาเป็นครั้ง ที่ ๑๔ แล้ว ดังนี้เป็นต้น
จะอย่างไรก็ตาม นี้เป็นเพียงเรื่องของความเชื่อ ซึ่งไม่ได้บังคับให้ใคร ๆ ต้องเชื่อตาม และความเชื่อดังกล่าวให้คุณก็ได้ ให้โทษก็ได้ พร้อมกันนั้น ตามแนวทางธรรมปฏิบัติของฝ่ายพุทธ ก็เสนอให้ใครที่สนใจในเรื่องนี้ ให้ลองปฏิบัติดู ด้วยการใช้วิธีง่าย ๆ โดยสมมติว่ากลางวันวันนี้ คือชีวิตนี้ ตอนนอนหลับคือความตาย ระหว่างที่หลับและฝันนั้น ถือได้ว่าเป็นอันตรภพ หรือสภาวะระหว่างตายกับเกิด พอตื่นขึ้นในวันใหม่ ก็ถือได้ว่าเป็นการเกิดใหม่ ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติธรรม อาจเจริญสติและสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน จนกำหนดความฝันได้ และกำหนดได้ว่าตอนตื่นขึ้นมา จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น เพื่อประกอบกุศลจรรยาได้ยิ่ง ๆ ขึ้น หากทำได้ในวันหนึ่งและคืนหนึ่ง ฉันใด ก็ทำได้ในตอนตายหรือใกล้ตาย กับตอนเกิดฉันนั้น
ที่ว่ามานั้น เจาะจงอยู่กับการตายแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งตามปกติแล้วยากลำบากมิใช่น้อย โดยทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถึงขนาด ย่อมไม่อาจกำหนดได้ ว่าตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับกุศลหรืออกุศล ซึ่งได้ประพฤติปฏิบัติมาในชีวิต ความข้อนี้ พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เขียนอธิบายตามคัมภีร์ของฝ่ายพุทธศาสนาไว้แล้วใน เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง หรือ เตภูมิกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญสุดของไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย
ภพหรือภูมิทั้งสามนี้ได้แก่
๑) กามภพ ของสัตว์ ผู้ยังเสวยกามคุณ ได้แก่ อบาย ๔ (คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน) มนุษย์โลก ๑ และกามวจรสวรรค์ ๖ (จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี)
๒) รูปภพ ของสัตว์ที่เจริญสมาธิภาวนาเข้าถึงรูปฌาน ได้แก่ รูปพรหมทั้ง ๑๖
๓) อรูปภพ ของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่อรูปพรหม ๔
พุทธศาสนาถือว่าสัตว์ในภพทั้งสามนี้ก็ล้วนถึงความตายได้ด้วย กันทั้งนั้น แม้พรหมก็หมดความเป็นพรหมได้ เช่นเทวดาหมดความเป็นเทพ และมนุษย์ ตลอดจนสัตว์นรกก็หมดสภาพนั้น ๆ ได้เช่นกัน จะไปเกิดใหม่ให้ดีกว่าเก่าหรือเลวกว่าเก่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างหลายประการ
ที่กล่าวมานั้น เป็นทฤษฎีในทางพุทธศาสนาที่มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน และผู้ที่เข้าใจได้อย่างแท้จริง ต้องปฏิบัติธรรมในทางจิตสิกขา คือไม่ใช้แต่ความเข้าใจในทางหัวสมอง หรือติดยึดในตัวคัมภีร์เท่านั้น หากต้องเปิดหัวใจให้กว้างอย่างเจริญสติให้ตื่นจากความเห็นแก่ตัวได้มาก เท่าไร จึงจะลดอคติที่ครอบงำตนเองได้มากเท่านั้น แล้วจึงจะแลเห็นความวิเศษมหัศจรรย์ อย่างสลับซับซ้อนของชีวิต ที่มีรหัสยนัย ในทาง Mysticism อันล้ำลึก ยิ่งคนสมัยนี้ด้วยแล้ว ถูกวิทยาศาสตร์กระแสหลัก และเทคโนโลยีอันทันสมัยต่าง ๆ ประหัตประหารความเชื่อดั้งเดิม จนทำลายความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ไปอย่างน่าเสียดาย มนุษย์ก็เลยกลายไปเป็นเครื่องยนต์กลไก นับถือวัตถุ อำนาจ เงินตรา ยิ่งกว่าสิ่งอันประเสริฐสุด ซึ่งไปพ้นโลกมนุษย์อย่างสูงส่งดีงาม จนไม่อาจสามารถนิยามได้ตามภาษาคน ซึ่งในทางพุทธศาสนาใช้คำว่าโลกุตระ
สำหรับพุทธศาสนิกชนคนธรรมดา ๆ นั้น มุ่งที่วิถีชีวิตในสามระดับคือ
๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์สุขในชาตินี้ ชีวิตนี้หรือในปัจจุบันนี้
๒) สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์สุขสำหรับชาติหน้า หลังจากแตกกายทำลายขันธ์หรือตายไปแล้ว
๓) ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด คือความดับสนิทจากกองทุกข์ทั้งปวง โดยไม่จำต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ทั้งสามประการนี้ มีคำสอนเป็นแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติได้เป็นขั้น ๆ